มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์

พิกัด: 17°37′58″N 100°05′35″E / 17.632737°N 100.093151°E / 17.632737; 100.093151
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์
ตราพระราชลัญจกร
สัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัย
ชื่อเดิมโรงเรียนฝึกหัดครูประกาศนียบัตร จังหวัดอุตรดิตถ์
ชื่อย่อมรอ./ URU
คติพจน์เป็นสถาบันอุดมศึกษาที่จัดการศึกษาเพื่อพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจท้องถิ่น
ประเภทสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ
สถาปนา15 มิถุนายน พ.ศ. 2547 (19 ปี)
นายกสภาฯรองศาสตราจารย์ ดร.พินิติ รตะนานุกูล[1]
อธิการบดีรองศาสตราจารย์ ดร.สุภาวิณี สัตยาภรณ์
อธิการบดีรองศาสตราจารย์ ดร.สุภาวิณี สัตยาภรณ์
ที่ตั้ง
มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ ส่วนกลาง
เลขที่ 27 ถนนอินใจมี ตำบลท่าอิฐ อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ 53000

มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ วิทยาเขตหมอนไม้
เลขที่ 162 หมู่ 3 (บ้านหมอนไม้) ตำบลป่าเซ่า อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ 53000
มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ วิทยาเขตลำรางทุ่งกะโล่
ตำบลป่าเซ่า อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ 53000
มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ ศูนย์วิทยบริการจังหวัดแพร่
เลขที่ 167 หมู่ 6 ถนนจรูญลองรัตน์ ตำบลห้วยอ้อ อำเภอลอง จังหวัดแพร่ 54150

วิทยาลัยน่าน มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์
เลขที่ 199 หมู่ 3 ตำบลทุ่งศรีทอง อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน 55110
สี████ สีเขียว สีเหลือง
เว็บไซต์/www.uru.ac.th/

มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ (อังกฤษ: Uttaradit Rajabhat University) เป็นมหาวิทยาลัยของรัฐแห่งแรกและเพียงแห่งเดียวที่ตั้งอยู่ในจังหวัดอุตรดิตถ์ ก่อตั้งเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2479 ในนาม "โรงเรียนฝึกหัดครูประกาศนียบัตร จังหวัดอุตรดิตถ์" ในอดีตสถาบันแห่งนี้เคยเป็นศูนย์กลางทางการศึกษาฝึกหัดครูของภาคเหนือ ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์, แพร่, น่าน, เชียงราย, ลำปาง และอุตรดิตถ์[3] ต่อมาภายหลังได้รับการเปลี่ยนชื่อและฐานะมาตามลำดับจนเป็นที่รู้จักดีในชื่อ วิทยาลัยครูอุตรดิตถ์ ก่อนจะเลื่อนฐานะเป็นสถาบันราชภัฏ จนในปี พ.ศ. 2547 จึงได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นมหาวิทยาลัย

มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ มีรากฐานมาจากการสถาปนา "โรงเรียนฝึกหัดครูประกาศนียบัตร จังหวัดอุตรดิตถ์" ในปี พ.ศ. 2479 เปิดสอนครั้งแรกในหลักสูตรประกาศนียบัตรประโยคครูประถม (ป.ป.) ต่อมาปี พ.ศ. 2518 จึงได้ยกฐานะขึ้นเป็นวิทยาลัยครูอุตรดิตถ์" ตามพระราชบัญญัติวิทยาลัยครู พ.ศ. 2518[4] เปิดสอนถึงระดับปริญญาตรี หลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต[5]

ในปี พ.ศ. 2535 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนาม "สถาบันราชภัฏ" เป็นชื่อสถาบันการศึกษาในสังกัดกรมการฝึกหัดครูกระทรวงศึกษาธิการ ทั้งยังได้พระราชทานตราพระราชลัญจกรประจำพระองค์ให้เป็นตราสัญลักษณ์ประจำสถาบันราชภัฏ และเมื่อได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติสถาบันราชภัฏ[6] เมื่อวันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2538 วิทยาลัยครูอุตรดิตถ์จึงมีชื่อเป็น "สถาบันราชภัฏอุตรดิตถ์"

ในปี พ.ศ. 2547 ได้มีการตราพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฏ[7] และพระราชบัญญัติดังกล่าวได้กำหนดยกฐานะสถาบันราชภัฏขึ้นเป็นมหาวิทยาลัย โดยมีผลนับแต่วันประกาศใช้พระราชบัญญัติในราชกิจจานุเบกษา ยังผลให้สถาบันราชภัฏอุตรดิตถ์ยกฐานะเป็น "มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์" นับแต่วันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2547 เป็นต้นมา

พิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในช่วงเดือนเมษายน โดยพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินมาปฏิบัติพระราชกรณียกิจในการพระราชทานปริญญาบัตร แก่บัณฑิตแห่งมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์จากทุกวิทยาเขต ณ หอประชุมทีปังกรรัศมีโชติ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

ประวัติ[แก้]

มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ มีพัฒนาการมาจากรากฐานของการก่อตั้ง โรงเรียนฝึกหัดครูประกาศนียบัตรจังหวัดอุตรดิตถ์ ในปี พ.ศ. 2479

มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ ก่อตั้งขึ้นเมื่อ วันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2479 ในที่ดินราชพัสดุ ตำบลท่าอิฐ อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์ มีเนื้อที่ 42 ไร่เศษ มีชื่อเรียกว่า "โรงเรียนฝึกหัดครูประกาศนียบัตร จังหวัดอุตรดิตถ์" เปิดสอนหลักสูตรประกาศนียบัตรจังหวัด (ว.) และ เปิดสอนหลักสูตรประกาศนียบัตรครูประชาบาล (ป.ป.) อีกระดับหนึ่ง

ต่อมาในปี พ.ศ. 2485 ได้เป็นชื่อเป็น "โรงเรียนฝึกหัดครูอุตรดิตถ์" เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2491 และ เปิดสอนหลักสูตร ประกาศนียบัตรครูมูล (ป.) เพิ่มขึ้นอีกระดับหนึ่ง

ในปี พ.ศ. 2492 จนถึงปี พ.ศ. 2498 จึงได้เปิดสอนหลักสูตร ประกาศนียบัตรวิชาการศึกษา (ป.กศ.) และเลิกสอนหลักสูตรอื่น ๆ ที่สอนมาแต่เดิม จนกระทั่งวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2511 ได้ยกฐานะเป็น "วิทยาลัยครูอุตรดิตถ์" เปิดสอนถึงระดับประกาศนียบัตรวิชาการศึกษาชั้นสูง (ป.กศ. สูง) และได้ขยายพื้นที่วิทยาลัย เพิ่มขึ้นเป็น 190 ไร่ 1 งาน 79 ตารางวา

ในปีต่อมา ได้มีการขยายปริมาณงานเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เมื่อจำนวนนักเรียนที่ต้องการเข้าเรียนในวิทยาลัยครูมากขึ้น และความต้องการครูมีมาก จนต้องเปิดสอนให้แก่บุคลลากรภายนอก (ภาคค่ำ) เมื่อวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2512 และเปิดสอนหลักสูตรประกาศนียบัตรครูประถม (ป.ป.) เพิ่มขึ้น ตามความต้องการของต้นสังกัดต่างๆ ในปี พ.ศ. 2513

หลังจากที่ได้มีการตราพระราชบัญญัติวิทยาลัยครู พ.ศ. 2518 ขึ้นแล้ว วิทยาลัยครูอุตรดิตถ์ ได้รับการยกฐานะเป็น วิทยาลัยครู ตามพระราชบัญญัตินี้เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2519 ทำให้วิทยาลัยครูมีฐานะเป็นสถาบันอุดมศึกษาผลิตครูระดับ ป.กศ. และป.กศ.ชั้นสูง ตามหลักสูตรสภาการฝึกหัดครู และเปลี่ยน การจัดสอนภาคนอกเวลามาเป็นการสอนฝึกหัดครูต่อเนื่องแทน

ปี พ.ศ. 2521 เริ่มเปิดสอนถึงระดับปริญญาตรี (ค.บ.) เลิกผลิตครูในโครงการฝึกหัดครู ภาคต่อเนื่อง โดยที่สถาบัน ได้เล็งเห็นว่า ครูและบุคลลากร ทางการศึกษา ประจำการ ในจังหวัดอุตรดิตถ์ แพร่ และ น่าน ซึ่งเป็นเขตรับผิดชอบ ของสถาบัน ยังมีวุฒิ ต่ำกว่าปริญญาตรี เป็นจำนวนมาก ประกอบกับต้นสังกัดของ ครูเหล่านี้ มีความต้องการ จะพัฒนาครูของตน ให้มี ความรู้และ สมรรถภาพสูงขึ้น สถาบันโดยความเห็นชอบ ของสภาฝึกหัดครู จึงได้จัดให้มีการอบรมครู และ บุคลากรทางการศึกษาประจำการ (อคป.) ขึ้น เป็นรุ่นแรกใน ปี พ.ศ. 2522

ปี พ.ศ. 2524 ทางวิทยาลัยได้ขอจัดสรรที่ดิน ตำบลหมอนไม้ ประมาณ 400 ไร่ แต่ทางจังหวัดได้ขอจัดสรรให้หน่วยงานอื่นๆ ด้วย และส่วนหนึ่งได้จัดทำเป็นสนามกีฬาจังหวัดอุตรดิตถ์ และได้แบ่งสรรที่ดินให้แก่วิทยาลัยครูอุตรดิตถ์ สถาบันได้เข้าไปปักหลักเขตและวัดพื้นที่เรียบร้อย ในปี พ.ศ. 2530 มีเนื้อที่ 92 ไร่ 2 งาน 8 ตารางวา ซึ่งวิทยาลัยได้พัฒนาที่ดินผืนนี้เป็นศูนย์ฝึกประสบการณ์วิชาชีพทางการเกษตร และเป็นศูนย์วิจัยค้นคว้าทางเกษตรและเทคโนโลยี

ปีการศึกษา 2526 ได้เริ่มเปิดสอนหลักสูตรวิชาเอกเทคนิคการอาชีพ ระดับ ป.กศ. ชั้นสูง 5 สาขาวิชา ซึ่งนับว่าได้เริ่มขยายฐานทางวิชาการและวิชาชีพ ออกไปอีกก้าวหนึ่ง

ปี พ.ศ. 2527 ได้มีการแก้ไขพระราชบัญญัติวิทยาลัยครู พ.ศ. 2518 มีสาระสำคัญให้วิทยาลัยครูเป็นสถาบันศึกษาและวิจัยทางการสอนวิชาการต่างๆ และผลิตครูถึงระดับปริญญาตรี ทำให้วิทยาลัยครูมีฐานะเป็นสถาบันอุดมศึกษาหรือมหาวิทยาลัย จึงได้เปิดสอนวิชาการสาขาอื่นในระดับอนุปริญญาเพิ่มขึ้น ในปีการศึกษา 2528 เป็นปีแรก 4 สาขา ได้แก่ ออกแบบประยุกต์ศิลป์, พืชศาสตร์, ไฟฟ้า และนิเทศศาสตร์

ปี พ.ศ. 2529 ได้จัดการศึกษาสำหรับบุคลกรประจำการ (กศ.บป.) ขึ้นเป็นรุ่นแรก ในสาขาวิชาการศึกษาและสาขาวิชาการอื่น ทั้งระดับอนุปริญญาและระดับปริญญาตรี

ปี พ.ศ. 2530 ได้เปิดโรงเรียนสาธิตชั้นเด็กเล็กและชั้นอนุบาล ตามที่สภาฝึกหัดครูอนุมัติ และมีโครงการขยายเปิดชั้นประถมปีที่ 1 ในปีการศึกษา 2531

ปี พ.ศ. 2533 วิทยาลัยครูอุตรดิตถ์ ได้ร่วมกับสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือนิด้า (NIDA) เพื่อเปิดสอนปริญญาโททางรัฐประศาสนศาสตร์ ภาคพิเศษ เป็นรุ่นแรก ตามโครงการ NIDA-UTC และ ในปี พ.ศ. 2534 วิทยาลัยครูอุตรดิตถ์ ได้ร่วมมือกับหอการค้าจังหวัดอุตรดิตถ์ ในการเปิดสอนภาคพิเศษ สำหรับสมาชิกหอการค้า เพื่อรับปริญญาทางบริหารธุรกิจ และยกมาตรฐานทางการค้าของจังหวัดอุตรดิตถ์ตามโครงการ EBD-UTC

วันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2535 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อ "สถาบันราชภัฎ" แทนวิทยาลัยครู สถาบันราชภัฎอุตรดิตถ์จึงมีฐานะเป็นส่วนราชการหนึ่งของสำนักงานสภาสถาบันราชภัฎ การดำเนินงานของสถาบันขึ้นอยู่กับของข่ายที่กำหนดไว้ตามพระราชบัญญัติสถาบันราชภัฎ พ.ศ. 2537 โดยมีสภาสถาบันราชภัฎ และสภาประจำสถาบันราชภัฎอุตรดิตถ์ดังกล่าวเป็นผู้กำหนด

วันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2547 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้มีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ลงพระปรมาภิไธยในพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฏ พ.ศ. 2547 ซึ่งได้นำประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาในวันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2547 และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2547 เป็นต้นไป มีผลทำให้สถาบันราชภัฏทั่วประเทศได้ยกฐานะขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยราชภัฏจนถึงปัจจุบัน[8]

สัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัย[แก้]

  • ตราสัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัย คือ รูปพระราชลัญจกรประจำพระองค์ รัชกาลที่ 9 มีลักษณะเป็นตรางา รูปไข่ กว้าง 5 เซนติเมตร สูง 6.7 เซนติเมตร รูปพระที่นั่งอัฏฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ ประกอบด้วยวงจักร กลางวงจักรมีอักขระเป็น อุ หรือเลข ๙ รอบ ๆ มีรัศมี แปลความหมายว่า "มีพระบรมเดชานุภาพในแผ่นดิน" ด้านบนของตรามีอักษรข้อความว่า "มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์" ด้านล่างของตรามีข้อความว่า "UTTARADIT RAJABHAT UNIVERSITY"[9] ตรานี้มี 5 สี มีความหมายดังนี้
  • ██ สีน้ำเงิน แทนค่าสถาบันพระมหากษัตริย์ผู้ให้กำเนิด และพระราชทานนาม “มหาวิทยาลัยราชภัฏ” อันแปลว่า นักปราชญ์แห่งพระราชา
  • ██ สีเขียว แทนค่าแหล่งที่ตั้งของมหาวิทยาลัยในแหล่งธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่สวยงาม
  • ██ สีทอง แทนค่าความเจริญรุ่งเรืองทางภูมิปัญญา
  • ██ สีส้ม แทนค่าความรุ่งเรืองทางศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น
  • ██ สีขาว แทนค่าความคิดอันบริสุทธิ์ของนักปราชญ์แห่งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
  • สีประจำมหาวิทยาลัย คือ เขียว - เหลือง หมายถึง มหาวิทยาลัยอุดมศึกษาของท้องถิ่นที่พร้อมด้วยความสงบ ร่มเย็น ความมีระเบียบและสมานสามัคคีเหมาะที่จะเป็นสถานศึกษาหาความรู้ผลิตบัณฑิตที่มีความรู้คุณธรรม
  • ต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัย คือ "ต้นหางนกยูงฝรั่ง"

รายนามผู้บริหารและอธิการบดี[แก้]

มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ มีผู้บริหารนับตั้งแต่เริ่มก่อตั้งใน พ.ศ. 2479 ครั้งยังเป็นโรงเรียนฝึกหัดครูประกาศนียบัตรจนถึงปัจจุบัน (พ.ศ. 2558) นับได้ 79 ปี มีรายนามดังต่อไปนี้

ครูใหญ่โรงเรียนฝึกหัดครูประกาศนียบัตร จังหวัดอุตรดิตถ์
รายนามครูใหญ่ วาระการดำรงตำแหน่ง อ้างอิง
1. นายชอล์ค บัวผ่อง (รักษาการ) 1 สิงหาคม พ.ศ. 2479 - 20 สิงหาคม พ.ศ. 2479 [3]
2. นายต่วน รอดเที่ยง 21 สิงหาคม พ.ศ. 2479 - พ.ศ. 2483 [3]
3. นายพล พิกุลสวัสดิ์ พ.ศ. 2483 - 16 ธันวาคม พ.ศ. 2484 [3]
4. นายพิศาล ชัยเพ็ชร์ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2484 - 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2487 [3]
5. นายทองอินทร์ ปัณฑรานนท์ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2487 - 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2489 [3]
อาจารย์ใหญ่ วิทยาลัยครูอุตรดิตถ์
รายนามอาจารย์ใหญ่ วาระการดำรงตำแหน่ง อ้างอิง
1. นายประกอบ สุวรรณพาณิชย์ (รักษาการ) 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2489 - 20 เมษายน พ.ศ. 2505 [3]
2. นายบุญเลิศ ศรีหงส์ 21 เมษายน พ.ศ. 2505 - 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2514 [3]
ผู้อำนวยการ วิทยาลัยครูอุตรดิตถ์
รายนามผู้อำนวยการ วาระการดำรงตำแหน่ง อ้างอิง
1. นายบุญเลิศ ศรีหงส์ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2514 - 13 มิถุนายน พ.ศ. 2514 (รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการ)
14 มิถุนายน พ.ศ. 2514 - 30 กันยายน พ.ศ. 2515 (ผู้อำนวยการ)
[3]
2. นางสาวบุญเทียม แสงศิริ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2515 - 2 มกราคม พ.ศ. 2516 (รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการ)
3 มกราคม พ.ศ. 2516 - 1 สิงหาคม พ.ศ. 2519 (ผู้อำนวยการ)
[3]
อธิการ วิทยาลัยครูอุตรดิตถ์
รายนามอธิการ วาระการดำรงตำแหน่ง อ้างอิง
1. นางสาวบุญเทียม แสงศิริ (รักษาการ) 2 สิงหาคม พ.ศ. 2519 - 15 ธันวาคม พ.ศ. 2519 [3]
2. นายมังกร ทองสุขดี (รักษาการ) 16 ธันวาคม พ.ศ. 2519 - 31 ตุลาคม พ.ศ. 2520 [3]
3. นายประชุม มุขดี 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2520 - ไม่ทราบ [3]
4. นายสมชัย มณีรัตน์ พ.ศ. 2526 - พ.ศ. 2530 [3]
5. นายจำนรรค์ สุทธาพันธุ์ พ.ศ. 2530 - พ.ศ. 2533 [3]
6. นายสนาม แก้วศรีนาก พ.ศ. 2533 (รักษาการในตำแหน่งอธิการ) [3]
อธิการบดี สถาบันราชภัฏอุตรดิตถ์
รายนามอธิการบดี วาระการดำรงตำแหน่ง อ้างอิง
1. นายมาณพ ภาษิตวิไลธรรม พ.ศ. 2533 - พ.ศ. 2538 (วาระที่ 1)
พ.ศ. 2538 (รักษาการในตำแหน่งอธิการบดี)
พ.ศ. 2538 - พ.ศ. 2542 (วาระที่ 2)
[3]
2. นายเรืองเดช วงศ์หล้า พ.ศ. 2542 - พ.ศ. 2546 [3]
อธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์
รายนามอธิการบดี วาระการดำรงตำแหน่ง อ้างอิง
1. ผศ.สิทธิชัย หาญสมบัติ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2547 - 6 มกราคม พ.ศ. 2552 (วาระที่ 1)
7 มกราคม พ.ศ. 2552 - พ.ศ. 2555 (วาระที่ 2)
[5]
[6]
2. ผศ.ดร.เรืองเดช วงศ์หล้า 7 มกราคม พ.ศ. 2555 - 6 มกราคม พ.ศ. 2559 (วาระที่ 1)
2 มีนาคม พ.ศ. 2560 - 1 มีนาคม พ.ศ. 2564 (วาระที่ 2)
[7]
[8]
3. ผศ.ดร.เจษฎา มิ่งฉาย 7 มกราคม พ.ศ. 2560 - 1 มีนาคม พ.ศ. 2560 (รักษาราชการแทนอธิการบดี)
4. รศ.ดร.สุภาวิณี สัตยาภรณ์ 12 กันยายน พ.ศ. 2564 - ปัจจุบัน (วาระที่ 1)
[9]

การศึกษา[แก้]

คณะในมหาวิทยาลัย[แก้]

มุมมองจากอาคารภูมิราชภัฏด้านทิศเหนือ อาคารหลักของมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์
อาคารมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์

มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ เปิดหลักสูตรการเรียนการสอนในระดับปริญญาตรี ปริญญาโทและปริญญาเอกครอบคลุมทั้งสายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี วิทยาศาสตร์สุขภาพ มนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ โดยมีหลักสูตรการเรียนการสอนทั้งหลักสูตรภาคปกติ ภาคพิเศษ และหลักสูตรนานาชาติ แบ่งเป็นหลักสูตรระดับปริญญาตรี ระดับปริญญาโท และระดับปริญญาเอก

ปัจจุบันมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์มีหน่วยงานในการจัดการเรียนการสอนทั้งหมด 7 คณะ 2 วิทยาลัย (ไม่รวมบัณฑิตวิทยาลัย) ดังต่อไปนี้

กลุ่มมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์[แก้]

กลุ่มวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี[แก้]

กลุ่มวิทยาศาสตร์สุขภาพ[แก้]

  • คณะพยาบาลศาสตร์
  • คณะสาธารณสุขศาสตร์(โครงการจัดตั้ง)

วิทยาลัย[แก้]

การศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา[แก้]

การก่อตั้งคณะ[แก้]

ปีที่ก่อตั้ง คณะ
2527 คณะครุศาสตร์ • คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ • คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี • คณะวิทยาการจัดการ
2538 บัณฑิตวิทยาลัย
2544 คณะเกษตรศาสตร์ • คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม
2549 วิทยาลัยนานาชาติ
2565 คณะพยาบาลศาสตร์

สถาบัน/ศูนย์และหน่วยงานในมหาวิทยาลัย[แก้]

มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ ส่วนกลาง[แก้]

  • สำนักงานอธิการบดี
  • สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ (หอสมุดกลาง)
  • สถาบันวิจัยและพัฒนา เก็บถาวร 2010-02-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  • สถาบันอาเซียนศึกษา
  • ศูนย์คอมพิวเตอร์
  • ศูนย์ภาษา
  • ศูนย์บูรณาการงานวิจัยและบริการวิชาการ
  • หอศิลป์เฉลิมพระเกียรติ
  • หน่วยบ่มเพาะวิสาหกิจ
  • โรงแรมเรือนต้นสัก
  • สวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน (ศูนย์ประสานงาน อพ.สธ. ภาคเหนือตอนล่าง)
  • คลินิกเทคโนโลยี
  • อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ (ศูนย์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี)
  • ศูนย์พัฒนาคุณภาพการศึกษาบูรณาการกับการทำงาน (ศูนย์สหกิจศึกษา)

มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ วิทยาเขตหมอนไม้ศูนย์พัฒนาคุณภาพการศึกษาบูรณาการกับการทำงาน (ศูนย์สหกิจศึกษา)[แก้]

  • ศูนย์ฝึกประสบการณ์วิชาชีพทางการเกษตร

มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ วิทยาเขตลำรางทุ่งกะโล่[แก้]

  • ศูนย์ศึกษาภูมิปัญญาท้องถิ่นล้านนาตะวันออกด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
  • ศูนย์อนุรักษ์กระบือไทย
  • ศูนย์วิจัยพลังงานและสิ่งแวดล้อม

การวิจัย[แก้]

การรับบุคคลเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัย[แก้]

ระดับปริญญาตรี[แก้]

  • ระบบรับตรง (โควตา) มหาวิทยาลัยดำเนินการรับนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ของโรงเรียนทั่วประเทศไทย เฉพาะคณะครุศาสตร์และสาขาสาธารณสุขศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีใช้วิธีการสอบเข้ามีทั้งหมด 3 รอบ สำหรับคณะอื่นๆจะใช้วิธีการสมัครเข้าศึกษาต่อได้ในโควตารอบที่ 1 และ 2 ส่วนโควตารอบที่ 3 จะต้องสอบเข้าเหมือนคณะครุศาสตร์
  • โครงการพิเศษ รับนักศึกษาที่มีความสามารถพิเศษทางด้านกีฬา นาฏศิลป์ และดนตรี

ระดับปริญญาโท[แก้]

  • ระบบรับตรง (โควตา) ผู้สนใจศึกษาต่อในระดับปริญญาโทสามารถสมัครด้วยตนเอง หรือทางไปรษณีย์ โดยสมัครที่บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ โดยมีหลักสูตรที่เปิดสอนดังนี้

คณะครุศาสตร์[แก้]

  • หลักสูตรครุศาสตรมหาบัณฑิต
  • สาขาวิชาการบริหารการศึกษา
  • สาขาวิชาหลักสูตรและการสอน

คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์[แก้]

  • หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต
  • สาขาวิชาพัฒนาสังคมและพันธกิจสัมพันธ์

คณะวิทยาการจัดการ[แก้]

  • หลักสูตรบัญชีมหาบัณฑิต
  • สาขาวิชาบัญชี
  • หลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต
  • สาขาวิชาบริหารธุรกิจ

คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี[แก้]

  • หลักสูตรสาธารณสุขมหาบัณฑิต
  • สาขาวิชาสาธารณสุขศาสตร์

คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม[แก้]

  • หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต
  • สาขาวิชาการจัดการงานวิศวกรรม

ระดับปริญญาเอก[แก้]

  • ระบบรับตรง (โควตา) ผู้สนใจศึกษาต่อในระดับ ปริญญาเอกสามารถสมัครด้วยตนเอง หรือทางไปรษณีย์ โดยสมัครที่บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ โดยมีหลักสูตรที่เปิดสอนดังนี้

คณะครุศาสตร์[แก้]

  • หลักสูตรครุศาสตรดุษฎีบัณฑิต
  • สาขาวิชาวิจัยและประเมินเพื่อพัฒนาการศึกษา

พื้นที่มหาวิทยาลัย[แก้]

พื้นที่การศึกษาในจังหวัดอุตรดิตถ์[แก้]

ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยราชภัฎอุตรดิตถ์ ตั้งอยู่เลขที่ 27 ถนนอินใจมี ตำบลท่าอิฐ อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ ทิศเหนือติดกับถนนอินใจมี ทิศใต้ติดต่อกับบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) จังหวัดอุตรดิตถ์ ทิศตะวันออกติดกับวิทยาลัยสารพัดช่างอุตรดิตถ์และแขวงทางหลวงอุตรดิตถ์ที่ 1 ทิศตะวันตกติดกับถนนเลียบคลองโพธิ์ รวมพื้นที่วิทยาเขตหมอนไม้ และลำรางทุ่งกะโล่ มหาวิทยาลัยราชภัฎอุตรดิตถ์จะมีพื้นที่ทั้งสิ้น 2,270 ไร่ 3 งาน 87 ตารางวา[10]

  • มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ ส่วนกลาง
  • มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ วิทยาเขตหมอนไม้ (คณะเกษตรศาสตร์)
  • มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ วิทยาเขตลำรางทุ่งกะโล่ [11](คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, คณะพยาบาลศาสตร์)
บรรยากาศภายในมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ ส่วนกลาง

มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ ส่วนกลาง[แก้]

มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ ส่วนกลางมีพื้นที่ 190 ไร่ 1 งาน 79 ตารางวา สถานที่นี้นักศึกษาทุกคณะจะต้องมาทำกิจกรรมต่างๆที่วิทยาเขตส่วนกลาง ในส่วนนี้เป็นที่ตั้งของสำนักงานอธิการบดี หน่วยงานต่างๆของมหาวิทยาลัย ที่ตั้งคณะ 4 คณะ 2 วิทยาลัยของมหาวิทยาลัย คือ คณะครุศาสตร์ คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย และวิทยาลัยนานาชาติ และอีกส่วนหนึ่งเป็นโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์

มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ วิทยาเขตหมอนไม้[แก้]

เป็นที่ตั้งของคณะเกษตรศาสตร์ ศูนย์ฝึกประสบการณ์วิชาชีพทางการเกษตร และเป็นศูนย์วิจัยค้นคว้าทางเกษตรและเทคโนโลยี มีเนื้อที่ 92 ไร่ 2 งาน 8 ตารางวา ตั้งอยู่ที่เลขที่ 3 บ้านหมอนไม้ ตำบลป่าเซ่า อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ ส่วนใหญ่จะเป็นอาคารเรียนของคณะเกษตรศาสตร์

มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ วิทยาเขตลำรางทุ่งกะโล่[แก้]

การขยายวิทยาเขตนี้ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ระหว่างการก่อสร้างตั้งแต่ปีพ.ศ. 2553 ถึง2567 รวมระยะเวลา 15 ปี การจัดตั้งเป็นการแก้ไขปัญหาเนื้อที่ของมหาวิทยาลัยส่วนกลางไม่เพียงพอต่อการจัดการเรียนการสอนแก่นักศึกษาจึงขยายวิทยาเขตมาจัดตั้ง ณ บริเวณบึงทุ่งกะโล่ โดยมีแนวคิดว่ามหาวิทยาลัยท้องถิ่น การสร้างอาคารต้องสูงไม่เกิน 3ชั้น และมีความกลมกลืนกับศิลปะของธรรมชาติเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ของคนในชุมชนและท้องถิ่น มีเนื้อที่2,000 ไร่ เป็นที่ตั้งของอาคารต่างๆ เช่น อาคารสาธารณสุขศาสตร์ของสาขาสาธารณสุขศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และอาคารคณะพยาบาลศาสตร์

พื้นที่การศึกษานอกจังหวัดอุตรดิตถ์[แก้]

สถานที่สำคัญภายในมหาวิทยาลัย[แก้]

วิทยาเขตส่วนกลาง[แก้]

ตราสัญลักษณ์มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ ติดตั้งบนหน้าบันอาคารภายในมหาวิทยาลัย
พระพุทธอุตรมงคล
พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ของมหาวิทยาลัย สร้างขึ้นในราวปี พ.ศ. 2518 จากความคิดของชาววิทยาลัยครูอุตรดิตถ์ที่จะจัดสร้างสถานที่อันเป็นศูนย์รวมในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาและประเพณีขึ้น แต่เดิมประดิษฐานอยู่ที่ศาลาพุทธอุตรมงคล แล้วนำย้ายออกมาประดิษฐานบนแท่นพระด้านหน้าอาคารภูมิราชภัฏ ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ที่แท่นพระในศาลาพุทธอุตรมงคล
พระวิษณุกรรม
เทพแห่งวิศวกรรมของไทย ประดิษฐานอยู่ด้านหน้าอาคารคณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม
องค์พระพฤหัสบดี
เทพแห่งวิชาชีพครู สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2558 เป็นแนวคิดของคณะครุศาสตร์ที่ต้องการมีเทพแห่งวิชาชีพครูประดิษฐานอยู่ด้านหน้าของอาคาร เพื่อเป็นที่เคารพสักการะ ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ด้านหน้าอาคารคณะครุศาสตร์หลังใหม่ (ตึกED)
พระพิฆเนศ
เทพแห่งความสำเร็จ ประดิษฐานอยู่ด้านหน้าอาคารเรียนคณะวิทยาการจัดการ
ศาลพ่อปู่ทองดำ และศาลแม่บังอร
สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่มหาวิทยาลัย ตั้งอยู่หน้าอาคารเรียนคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
หอประชุ มมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์
อาคารเอนกประสงค์ทรงไทยประยุกต์ 1 ชั้น มีประตูทางเข้า-ออก 3ประตู เป็นอาคารเรียน สถานที่จัดกิจกรรม ปฐมนิเทศนักศึกษาใหม่ กิจกรรมเฟรชชี่ไนท์ และ การประชุมสัมนาต่างๆ
อาคารภูมิราชภัฏ
อาคาร ภูมิราชภัฏ
อาคาร 9 ชั้น อาคารเรียนสูงที่สุดในมหาวิทยาลัย เป็นที่ตั้งของอาคารเรียนรวม งานประชาสัมพันธ์ งานรับนักศึกษา กองบริการการศึกษา สำนักงานอธิการบดีและหน่วยงานต่างๆของมหาวิทยาลัย สร้างในเปีพ.ศ. 2540 เสร็จปีพ.ศ. 2542
อาคาร URU (ราชภัฏอุตรดิตถ์พลาซ่า)
อาคาร 4 ชั้น สร้างเสร็จในปีพ.ศ. 2555 เป็นที่ตั้งกองพัฒนานักศึกษา ห้องพยาบาล ไปรษณีย์ ธนาคาร ร้านค้า ร้านสะดวกซื้อ ร้านกาแฟ ศูนย์หนังสือ โรงแรม หลักสูตรสาขาธุรกิจและการโรงแรม สมาคมศิษย์เก่าฯ โรงพิมพ์ของมหาวิทยาลัย และใช้สำหรับการจัดกิจกรรมต่าง ๆ
อาคารบรรณราชนครินทร์
อาคาร บรรณราชนครินทร์
อาคาร 6 ชั้น สร้างเสร็จ พ.ศ. 2541 เดิมชื่อ อาคารเฉลิมพระเกียรติ ครบ 72 พรรษาของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ต่อมาในปี พ.ศ. 2545 สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ได้พระราชทานนามให้กับอาคารหอสมุดที่สร้างใหม่แก่สถาบันราชภัฏ 40 แห่งว่า "บรรณราชนครินทร์" ในปัจจุบันเป็นที่ตั้งของสำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยเป็นอาคารที่ 2 ของสำนักวิทยบริการที่มีทางเดิมเชื่อมต่อกับอาคารเก่าของสำนักวิทยบริการ ในส่วนของชั้นที่ 1 เป็นนิตยสาร วารสาร ,ชั้นที่ 2 มีห้องจัดแสดงนิทรรศการถาวรเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจ รูปภาพเกี่ยวกับการพระราชทานนามอาคารว่า บรรณราชนครินทร์ และพระฉายาลักษณ์ของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และหนังสือสาขามนุษยศาสตร์ ,ชั้นที่ 3 หนังสือสาขาสังคมศาสตร์ และห้องสมุดนิติศาสตร์ ,ชั้น 4 หนังสือสาขาวิทยาศาสตร์, ชั้นที่ 5 ของอาคารมีห้องห้องเฉลิมพระเกียรติราชวงศ์จักรี จัดแสดงประวัติ พระราชกรณียกิจ ของพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ ราชวงศ์จักรี ห้องราชภูมิปัญญา (Exhibition Room)จัดแสดงหนังสือเกี่ยวกับภูมิปัญญา วัฒนธรรม ประเพณี และประวัติศาสตร์ท้องถิ่น และให้บริการหนังสือปริญญานิพนธ์ บทคัดย่อ งานวิจัย และตำราวิชาการราชภัฏเฉลิมพระเกียรติ, ชั้นที่ 6 บริการยืม - คืนโสตทัศนวัสดุ บริการเครื่องโทรทัศน์ ห้องบริการเครื่องเล่นโสตทัศนวัสดุ ห้องบริการร้องเพลง ห้องบริการถ่ายทำจัดส่งสัญญาณช่องเคเบิลทีวี และห้องบริการจัดการเรียนการสอน, ประชุม, อบรม, สัมมนา
อาคารกองศิลปวัฒนธรรม
ที่ตั้งพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นของมหาวิทยาลัยเป็นอาคารไม้ทรงไทยประยุกต์ 2 ชั้น มีพื้นด้านล่างลอยอยู่บนน้ำ ชั้นล่างเป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นจัดแสดงภูมิปัญญาและวิถีชีวิตของคนสมัยก่อน เครื่องมือเครื่องใช้สมัยโบราณ เรือนเครื่องผูกจำลอง, ห้องจัดแสดงอาวุธโบราณของสำนักดาบพิชัยรณยุทธ์ และเสื้อผ้า และอาวุธจำลองของพระยาพิชัยดาบหัก, ห้องเกียรติภูมิ จัดแสดงรูปภาพเกี่ยวกับผู้บริหารของมหาวิทยาลัย (อธิการบดี) ตั้งแต่เริ่มแรกจนถึงปัจจุบัน ชุดนักศึกษาสมัยก่อน ชุดรับปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยฯ ในปัจจุบัน และรูปภาพของมหาวิทยาลัยราชภัฏฯ สมัยก่อน ชั้นที่ 2 เป็นที่ตั้งกองศิลปวัฒนธรรม จุดบริการเสื้อผ้า เครื่องแต่งกายที่ใช้ในการแสดง และเดิมเป็นอาคารเรียนหลังแรกของวิทยาลัยครูอุตรดิตถ์
อาคาร ICIT
อาคาร ICIT
อาคาร 4 ชั้น มีโดมกลมอยู่บนหลังคาชั้น 4 ของอาคาร เป็นที่ตั้งของสถาบันอาเซียนศึกษา ศูนย์ภาษา ศูนย์คอมพิวเตอร์ ห้องเรียน วิทยาลัยนานาชาติ และห้องประชุม
อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ
เดิมชื่อศูนย์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สถานที่รวบรวมงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ อุปกรณ์ เครื่องมือ และผลงานต่างๆทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ศาลาแสงศิริ
ศาลาทรงไทยที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่นางสาวบุญเทียม แสงศิริ อธิการวิทยาลัยครูอุตรดิตถ์คนแรก ตั้งอยู่ในสนามกีฬาของมหาวิทยาลัยใช้เป็นสถานที่มอบรางวัลในการแข่งขันกีฬาต่าง ๆ และจัดกิจกรรมต่าง ๆ
หอศิลป์เฉลิมพระเกียรติ
อาคาร 2 ชั้น ทรงล้านนาประยุกต์ สร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 พรรษา ภายในจัดแสดงงานศิลปะ ภาพพิมพ์ ประติมากรรม และจิตรกรรม
โรงแรมเรือนต้นสัก
อาคาร 5 ชั้น: ที่ตั้งของสถาบันวิจัยและพัฒนา โรงแรม ห้องประชุม อาคารเรียน ที่ตั้งศูนย์พัฒนาคุณภาพการศึกษาบูรณาการกับการทำงาน (ศูนย์สหกิจศึกษา) และที่ตั้งหน่วยบ่มเพาะวิสาหกิจ
สวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน
อาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก 2 ชั้น เป็นที่ตั้งของการดำเนินงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียนในโครงการอพ.สธ.ของมหาวิทยาลัย โดยภายในจะมีห้องสมุดทางด้านพฤกษศาสตร์ สถานที่เก็บรวบรวมตัวอย่างพรรณไม้ และสิ่งประดิษฐ์จากวัสดุเหลือใช้จากธรรมชาติ

วิทยาเขตลำรางทุ่งกะโล่[แก้]

ศูนย์วิจัยพลังงานและสิ่งแวดล้อม
แหล่งเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สังกัดคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กจำนวน 3 ชั้น และ2 ชั้น รูปร่างคล้ายอาคารลอยน้ำ เป็นแนวคิดที่สื่อถึงการดำรงชีวิตอยู่ในอนาคตของมนุษย์ หากประสบปัญหาน้ำท่วม
อุทยานซากุระ โคจิม่า
เป็นอุทยานปลูกต้นซากุระสายพันธุ์ Kawazuzakura เพื่อเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ครบรอบ 60 พรรษา

ชีวิตในมหาวิทยาลัย[แก้]

การเรียนในมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ จะใช้เวลาในการเรียนแตกต่างกันตามหลักสูตรในแต่ละคณะ โดยส่วนใหญ่จะใช้เวลาในการเรียน 4 ปี แต่สำหรับคณะครุศาสตร์ จะใช้เวลาเรียน5 ปี การจัดการเรียนการสอนจะมีการเรียนในอาคารเรียนรวม(อาคารภูมิราชภัฏ) อาคารของคณะต่างๆ และอาคารเรียนในรายวิชาของนักศึกษาทำการลงทะเบียนเรียน

กิจกรรมและประเพณีของมหาวิทยาลัย[แก้]

กิจกรรมกีฬามหาวิทยาลัย " หางนกยูงเกมส์ "

เป็นประเพณีการแข่งขันกีฬาของนักศึกษาคณะต่างๆ ในมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ มีการโชว์สปิริตเพลงเชียร์ การประชุมเชียร์ของนักศึกษาชั้นปีที่ 1 การเดินขบวน การแข่งขันกีฬา อาทิเช่น ฟุตบอล ปิงปอง วอลเล่ย์บอล ตะกร้อ บาสเกตบอล เปตอง และการแสดงแสงสีเสียงของคณะต่างๆในมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ จัดขึ้น ณ สนามกีฬามหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์

กิจกรรมวันสถาปนามหาวิทยาลัย

เป็นการจัดกิจกรรมเนื่องในวันสถาปนาของมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ คือ วันที่ 1 สิงหาคมของทุกปี โดยมีกิจกรรม การแข่งขัน กิจกรรมทำบุญตักบาตร และนิทรรศการแสดงประวัติของมหาวิทยาลัย จัดขึ้น ณ บริเวณลานด้านหน้า และชั้นที่ 1 อาคารภูมิราชภัฏ

งานสัปดาห์วันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ ส่วนภูมิภาค

เป็นกิจกรรมของหน่วยงานราชการ เอกชน นักศึกษา และบุคลากรทางการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับงานวิชาการ การจัดการเรียนการสอนทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มาจัดงานเพื่อเผยแพร่ผลงานทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กิจกรรม เกมต่างๆ และการแข่งขันทางด้านวิทยาศาสตร์ โดยจะจัดขึ้นทุกปีบริเวณถนนทางออกของมหาวิทยาลัยตั้งแต่อาคารอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือไปจนถึงอาคารคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

งานวันวิชาการ "มรอ.สัมพันธ์"

เป็นงานวันวิชาการของมหาวิทยาลัย โดยจะมีกิจกรรมการแข่งขัน การออกร้านค้า และการจัดแสดงผลงานต่างๆทางวิชาการของมหาวิทยาลัย โดยจะจัดขึ้นทุกปี ณ บริเวณโดยรอบของมหาวิทยาลัย

กิจกรรมเฟรชชี่ไนท์

เป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นเพื่อเป็นการต้อนรับนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ของมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์เป็นประจำวันทุกปี ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ โดยมีกิจกรรมสำคัญคือ กิจกรรมการประกวดดาว-เดือนของมหาวิทยาลัยในทุกปี

กิจกรรมรับน้อง "ขึ้นดอยยกพระสักการะพระแท่นศิลาอาสน์"

กิจกรรมรับน้องประจำมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ เป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นเพื่อต้อนรับนักศึกษาชั้นปีที่ ๑ ของมหาวิทยาลัยทุกปี เป็นกิจกรรมรับน้องของนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ของมหาวิทยาลัย โดยให้นักศึกษาปีที่ ๑ และนักศึกษาชั้นปีอื่นๆช่วยกันดูแลซึ่งกันและกัน สร้างความสามัคคี ความอบอุ่น เอื้ออารีต่อกัน โดยจะเริ่มเดินทางจากบริเวณหน้าอนุสาวรีย์พระยาพิชัยดาบหัก ศาลากลางจังหวัดอุตรดิตถ์ ผ่านถนนอินใจมี ประตูเมืองลับแล จนถึงวัดพระแท่นศิลาอาสน์ พระอารามหลวง เพื่อสักการะนมัสการพระแท่นศิลาอาสน์ และทำกิจกรรมต่างๆร่วมกัน

การพักอาศัยของนักศึกษา[แก้]

การพักอาศัยนั้นโดยรอบมหาวิทยาลัยและในเขตตัวเมืองอุตรดิตถ์จะมีหอพัก อพาร์ตเม้นต์ แมนชั่นเอกชนต่างๆไว้บริการ และในส่วนของมหาวิทยาลัยจะมีหอพักนักศึกษาทั้งที่เป็นห้องพักปรับอากาศ และห้องพักปกติ (พัดลม) พักห้องละ 2 - 3 คน มีทั้งห้องน้ำรวม และห้องน้ำในตัว จำนวน 6 หอพัก ดังนี้

หอพักชาย[แก้]

  • หอ 9 สายรุ้ง
  • หอ 12 นาคราช

หอพักหญิง[แก้]

  • หอ 10 การเวก
  • หอ 13 ราชาวดี
  • หอ 14 อินทนิล
  • หอ 15 กาสะลอง

พิธีพระราชทานปริญญาบัตร[แก้]

ไฟล์:หอประชุมทีปังกรฯ.jpg
หอประชุมทีปังกรรัศมีโชติ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ สถานที่พระราชทานปริญญาบัตรบัณฑิตแห่งมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์
ไฟล์:ราชภัฏภาคเหนือ.jpg
พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฎ กลุ่มภาคเหนือ ประจำปีการศึกษา 2550 และ 2551 ขณะทรงพระราชอิสริยยศเป็น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร

พิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตแห่งมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ จะถูกจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในช่วงเดือนเมษายน ณ หอประชุมทีปังกรรัศมีโชติ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ โดยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว (เมื่อครั้งดำรงพระราชอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร) เสด็จพระราชดำเนินมาปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ในการพระราชทานปริญญาบัตร แก่บัณฑิตแห่งมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์

เพลงมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์[แก้]

  • ราชภัฏสดุดี
  • พระราชลัญจกร
  • นามพระราชทาน
  • ม.ราชภัฏอุตรดิตถ์
  • มาร์ชเขียวเหลืองสามัคคี
  • อุตรดิตถ์แดนฝัน (เพลงประจำมหาวิทยาลัย)
  • หนึ่งในฝัน
  • ม.ราชภัฏสัมพันธ์
  • Come to cheer ฯ
  • ราชภัฏรักษ์ป่า
  • มาร์ชราชภัฏเกรียงไกร
  • ถิ่นนี้สีเขียว-เหลือง
  • อุตรดิตถ์-URU

การเดินทางสู่มหาวิทยาลัย[แก้]

เดินทางจากกรุงเทพมหานคร ตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 11 ผ่านแยกอุตรดิตถ์เข้าตัวจังหวัด เข้าสู่ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 102(ถนนพาดวารี)เลี้ยวเข้าตัวเมืองสู่ถนนเจริญธรรม ถนนบรมอาสน์ ถนนสำราญรื่น ถนนแปดวา และเข้าสู่ถนนอินใจมี มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์จะตั้งอยู่ทางซ้ายมือ นอกจากนี้สามารถเข้าสู่มหาวิทยาลัยลัยโดยใช้ถนนพาดสนามบิน จนถึงสำนักงานทีโอทีอุตรดิตถ์ เลยตรงไปมหาวิทยาลัยจะอยู่ทางขวามือ หรือจากสำนักงานทีโอทีเลี้ยวซ้ายเข้าสู่ถนนซอยจนสุดถนนแล้วเลี้ยวซ้าย เข้าสู่ประตูข้างของมหาวิทยาลัย สำหรับการเดินทางจากตัวเมืองอุตรดิตถ์มามหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ ทำได้โดย

  • รถจักรยานยนต์รับจ้าง
  • รถสามล้อรับจ้าง มีจุดจอดรับส่งอยู่ที่ สถานีรถไฟอุตรดิตถ์
  • รถแท๊กซี่รับจ้าง มีจุดจอดรับส่งอยู่ที่ สถานีรถไฟอุตรดิตถ์ และสถานีขนส่งจังหวัดอุตรดิตถ์
  • รถรอบเมือง มีจุดจอดรับส่งอยู่ที่สถานีขนส่งจังหวัดอุตรดิตถ์ โรงพยาบาลอุตรดิตถ์ เทสโก้โลตัสอุตรดิตถ์ ตลาด และเกาะกลาง
  • รถตุ๊กตุ๊กรับจ้าง มีจุดจอดรับส่งที่สถานีขนส่งจังหวัดอุตรดิตถ์

สำหรับการเดินทางภายในมหาวิทยาลัยนักศึกษาจะต้องใช้การเดิน หรือใช้รถจักรยานยนต์หรือรถยนต์ส่วนบุคคลในการเดินทางไปเรียนในอาคารเรียนต่างๆ สำหรับวิทยาเขตส่วนอื่นๆของมหาวิทยาลัยภายในจังหวัดอุตรดิตถ์ ทางมหาวิทยาลัยจะมีรถโดยสารสาธารณะรับส่งนักศึกษาของมหาวิทยาลัยไว้บริการ

การจัดอันดับมหาวิทยาลัย[แก้]

ผลจากการจัดอันดับมหาวิทยาลัยจาก “Webometrics Ranking of World Universities" หรือ "Ranking Web of World Universities" เว็บไซด์การจัดอันดับชื่อดังของประเทศสเปน ได้ทำการสำรวจมาตรฐานของมหาวิทยาลัยทั่วโลก รวมถึงมหาวิทยาลัยทั้งหมดในประเทศไทย โดยวัตถุประสงค์ในการจัดทำ Ranking นี้ มีกลุ่มเป้าหมายสำคัญอยู่ที่บรรดาผู้บริหารของมหาวิทยาลัย ในกรณีที่ web performance ของสถาบันการศึกษาใด ได้ลำดับที่ต่ำกว่าความคาดหมาย เมื่อเปรียบเทียบกับความเป็นเลิศทางวิชาการของสถาบันนั้นๆ ผู้บริหารของสถาบันควรมีการพัฒนาและปรับปรุงนโยบายด้านการจัดทำเว็บไซต์เพื่อเพิ่มจำนวนผลผลิตของสิ่งตีพิมพ์เผยแพร่ทางวิชาการ ในรูปแบบ electronic publications ให้มากยิ่งขึ้น จากผลการจัดอันดับมหาวิทยาลัยทั้งหมดในประเทศไทย Life on campus ได้ทำการแยกย่อยออกมาเป็นส่วนของ “มหาวิทยาลัยราชภัฏ” โดยเฉพาะ จัดเป็น 10 อันดับมหาวิทยาลัยราชภัฏชั้นนำในประเทศไทย โดยเรียงจากอันดับในประเทศ โดยมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ได้ลำดับที่ 9

อ้างอิง[แก้]

  1. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งนายกสภามหาวิทยาลัยและกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิของมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์, เล่ม 134, ตอนพิเศษ 219 ง, 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560, หน้า 7
  2. มหาวิทยาลัยราชภัฎอุตรดิตถ์. (2552). เพลงประจำมหาวิทยาลัยราชภัฎอุตรดิตถ์. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก [1] เก็บถาวร 2008-01-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. เข้าถึงเมื่อ 21-8-52
  3. 3.00 3.01 3.02 3.03 3.04 3.05 3.06 3.07 3.08 3.09 3.10 3.11 3.12 3.13 3.14 3.15 3.16 3.17 มณเฑียร ดีแท้. (2523). มรดกทางวัฒนธรรมของชาวอุตรดิตถ์. กรุงเทพฯ: วิเทศธุรกิจการพิมพ์. หน้า 220
  4. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติวิทยาลัยครู พ.ศ. ๒๕๑๘, เล่ม ๙๒, ตอน ๔๘ ก ฉบับพิเศษ, ๒๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘, หน้า ๒๓
  5. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง การแบ่งส่วนราชการในวิทยาลัยครูอุตรดิตถ์ จังหวัดอุตรดิตถ์, เล่ม ๙๓, ตอน ๑๕๐, ๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๙, หน้า ๖๑๕
  6. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติสถาบันราชภัฏ พ.ศ. ๒๕๓๘ (ยกเลิกพระราชบัญญัติวิทยาลัยครู พ.ศ. ๒๕๑๘ และบัญญัติขึ้นใหม่), เล่ม ๑๑๒, ตอน ๔ ก , ๒๔ มกราคม พ.ศ. ๒๕๓๘, หน้า ๑๑๒
  7. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฏ พ.ศ. ๒๕๔๗, เล่ม ๑๒๑, ตอนพิเศษ ๒๓ ก, ๑๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๗ หน้า ๑
  8. มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์. (2552). ประวัติมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก [2] เก็บถาวร 2009-09-24 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. เข้าถึงเมื่อ 21-8-52
  9. มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์. (2552). สัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก [3] เก็บถาวร 2009-09-24 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. เข้าถึงเมื่อ 21-8-52
  10. มหาวิทยาลัยราชภัฎอุตรดิตถ์. (2552). แผนที่สถาบันราชภัฏอุตรดิตถ์. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก [4] เก็บถาวร 2009-04-23 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. เข้าถึงเมื่อ 21-8-52
  11. "มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-05. สืบค้นเมื่อ 2010-05-27.

ดูเพิ่ม[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

17°37′58″N 100°05′35″E / 17.632737°N 100.093151°E / 17.632737; 100.093151