คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล
มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช
Faculty of Medicine Vajira Hospital, Navamindradhiraj University
ชื่อย่อพวช.
คติพจน์สพฺเพสํ ชีวิตํ ปิยํ
(ชีวิตย่อมเป็นที่รักของทุกคน)
สถาปนา28 มกราคม พ.ศ. 2536
(วิทยาลัยแพทยศาสตร์กรุงเทพมหานคร)
(31 ปี 51 วัน)
คณบดีผศ.นพ. จักราวุธ มณีฤทธิ์
ที่อยู่
วารสารวชิรเวชสาร
เพลงสดุดีมหาวชิราวุธ
สี  สีน้ำเงิน
สถานปฏิบัติวชิรพยาบาล
เว็บไซต์vajira.ac.th

คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช เป็นโรงเรียนแพทย์ที่ก่อตั้งขึ้นเป็นแห่งที่ 10 ของประเทศไทย ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2536 โดยมีต้นกำเนิดมาจาก วิทยาลัยแพทยศาสตร์กรุงเทพมหานคร และได้พัฒนามาเป็นคณะแรกเริ่มแห่งมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช

ประวัติ[แก้]

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเปิดวชิรพยาบาล
ดูบทความหลักการก่อตั้งวชิรพยาบาลที่ วชิรพยาบาล

วชิรพยาบาล เป็นโรงพยาบาลแห่งแรก ๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย สถาปนาขึ้นโดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงสละพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จัดซื้อที่ดินพร้อมตึกและสิ่งปลูกสร้าง มอบไว้เป็นสาธารณสถานแก่ประชาชนให้เป็นที่พยาบาลผู้ป่วยไข้ต่อไป พระองค์เสด็จพระราชดำเนินมาเปิดโรงพยาบาลเมื่อวันที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2455 (นับปีปฏิทินแบบเก่า) พร้อมทั้งพระราชทานนามโรงพยาบาลว่า "วชิรพยาบาล"

วชิรพยาบาลได้ริเริ่มก่อตั้งโรงเรียนแพทย์ขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2528 ด้วยความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ซึ่งร่วมกันตั้งคณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาลขึ้นภายในวชิรพยาบาล เป็นโรงเรียนแพทย์ที่ก่อตั้งขึ้นแห่งที่ 8 ของประเทศไทย นิสิตจะศึกษาชั้นปรีคลินิกที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒและศึกษาชั้นคลินิกที่วชิรพยาบาล

ภายหลังกรุงเทพมหานครได้มีแนวคิดที่จะเปิดโรงเรียนแพทย์เป็นของตนเอง วิทยาลัยแพทยศาสตร์กรุงเทพมหานคร จึงได้รับการก่อตั้งขึ้น ภายใต้สังกัด สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร โดยมีการประกาศอย่างเป็นทางการลงราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2536[1]

วิทยาลัยแพทยศาสตร์กรุงเทพมหานคร ได้เข้าเป็นสถาบันสมทบของมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งนักศึกษาจะได้ศึกษาระดับปรีคลินิกที่ มหาวิทยาลัยมหิดล กำกับดูแลโดยคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในชั้นปีที่ 1 ถึง ภาคต้นของชั้นปีที่ 3 แล้วเข้ามาศึกษาวิชาปรีคลินิกส่วนที่เหลือ และระดับชั้นคลินิก ที่โรงพยาบาลวชิรพยาบาล บัณฑิตแพทย์จะได้รับพระราชทานปริญญาบัตรจากมหาวิทยาลัยมหิดล[2]

ในครั้งแรก วิทยาลัยแพทยศาสตร์กรุงเทพมหานครดำเนินการสอบรับนักศึกษาร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2536 กรุงเทพมหานครประกาศเปิดรับสมัครสอบคัดเลือกบุคคลเพื่อเข้าศึกษาต่อในวิทยาลัยแพทยศาสตร์กรุงเทพมหานคร ในหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต รุ่นที่ 1 จำนวน 32 คน โดยมีผู้มาสมัครสอบคัดเลือกทั้งสิ้นถึง 936 คน ในปีการศึกษาต่อมาได้รับนักศึกษาผ่านการสอบคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาโดยทบวงมหาวิทยาลัย

โรงพยาบาลวชิระ ที่ตั้งของคณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล

พ.ศ. 2541[3] ได้มีการปรับปรุงโครงสร้างใหม่ โดยได้รวม "วิทยาลัยแพทยศาสตร์กรุงเทพมหานคร" และ "วชิรพยาบาล" เข้าเป็นหน่วยราชการเดียวกันโดยใช้ชื่อว่า "วิทยาลัยแพทยศาสตร์กรุงเทพมหานครและวชิรพยาบาล" (วพบ.) ทำให้วิทยาลัยแพทยศาสตร์กรุงเทพมหานครและวชิรพยาบาลได้รับการบริหารจากวชิรพยาบาลโดยตรง ในเวลานี้วชิรพยาบาลได้มีการพัฒนาและเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากนักศึกษา 32 คนในรุ่นแรก ได้รับนักศึกษาเพิ่มเป็น 50 คน จนกระทั่ง พ.ศ. 2547 ได้รับนักศึกษารุ่นละ 80 คนเป็นต้นมา

จากนั้นในวันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553 ทางวิทยาลัยแพทยศาสตร์กรุงเทพมหานครและวชิรพยาบาล ร่วมกับ วิทยาลัยพยาบาลเกื้อการุณย์ ซึ่งเป็นโรงเรียนพยาบาลในสังกัด สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร ได้ร่วมกันก่อตั้งมหาวิทยาลัยแห่งใหม่ขึ้นมา ในนาม มหาวิทยาลัยกรุงเทพมหานคร ทำให้วิทยาลัยแพทยศาสตร์กรุงเทพมหานครและวชิรพยาบาลมีสถานะเป็นคณะแพทยศาสตร์ในมหาวิทยาลัย โดยใช้ชื่อคณะเป็น "คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยกรุงเทพมหานคร" ได้มีการประกาศอย่างเป็นทางการลงราชกิจจานุเบกษา และมีผลบังคับใช้ใน วันเสาร์ที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553[4] ต่อมาเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2554 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อมหาวิทยาลัยว่า “มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช” โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2556 [5]

หลังจากคณะฯ ได้ยกสถานะตามบทเฉพาะการในพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช พ.ศ. 2553 แล้ว คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล ได้ยกเลิกการเป็นสถาบันสมทบของมหาวิทยาลัยมหิดล โดยมีสถานะเป็นสถาบันร่วมผลิตแพทย์[6] โดยนักศึกษาที่เข้าเรียนตั้งแต่ปีการศึกษา 2554 เป็นต้นไป เมื่อจบการศึกษาจะได้รับพระราชทานปริญญาบัตรจากมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช และ ตั้งแต่ปีการศึกษา 2557 เป็นต้นมา คณะฯ ได้เริ่มย้ายการจัดการเรียนการสอนภาคปรีคลินิก ชั้นปีที่ 3 ภาคต้น ของหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต จากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มาจัดการเรียนการสอนเองโดยภาควิชาพยาธิวิทยาคลินิก และ ภาควิชาพยาธิวิทยากายวิภาค ส่วนรายวิชาปรีคลินิกในชั้นปีที่ 2 อยู่ระหว่างการพัฒนาบุคลากรและสถานที่จัดการเรียนการสอน และยังจัดการเรียนการสอนคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ตามเดิม

ในปีการศึกษา 2557 คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล ได้รับการอนุมัติจากสภามหาวิทยาลัย ให้เปิดดำเนินการเรียนการสอนหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์ อีกหลักสูตรหนึ่ง และต่อมาในปีการศึกษา 2561 คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล ได้รับการอนุมัติจากสภามหาวิทยาลัย ให้เปิดดำเนินการเรียนการสอนหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชารังสีเทคนิค ซึ่งเป็นหลักสูตรวิทยาศาสตร์สุขภาพลำดับที่สอง นับเป็นการขยายขีดความสามารถในการผลิตบัณฑิตในสาขาที่ขาดแคลน และเป็นที่ต้องการของสังคม

ต่อมาในปีการศึกษา 2562 สภามหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช ได้อนุมัติหลักการให้คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล ดำเนินการปรับปรุงหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2562) สำหรับนักศึกษาแพทย์ที่เข้าศึกษาในปีการศึกษา 2562 เป็นต้นไป โดยย้ายสถานที่จัดการเรียนการสอนรายวิชาศึกษาทั่วไป เตรียมแพทย์ และปรีคลินิกจาก มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ในชั้นปีที่ 1 และ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พญาไท ในชั้นปีที่ 2 มาจัดการเรียนการสอนโดยมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราชตลอดทั้งหลักสูตร พร้อมทั้งเพิ่มศักยภาพในการผลิตแพทย์จากเดิม 80 คน เป็น 100 คน โดยแบ่งเป็นปฏิบัติงานในชั้นคลินิกที่วชิรพยาบาล จำนวน 80 คน และ โรงพยาบาลตากสิน สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร อีก 20 คน ทั้งนี้สำหรับนักศึกษาที่เข้าศึกษาก่อนปีการศึกษา 2562 ยังคงศึกษาชั้นปีที่ 2 ที่คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ตามเดิม

ทำเนียบคณบดี[แก้]

ทำเนียบผู้อำนวยการวชิรพยาบาล
รายนามผู้อำนวยการ วาระการดำรงตำแหน่ง
1. เสวกเอก พระยาวิรัชเวช (ดร. ติลลีกี) 2 มกราคม พ.ศ. 2455 - 1 กันยายน พ.ศ. 2474
2. ร้อยเอก หลวงแพทย์โกศล (นายแพทย์ ขำ รักกุศล) 1 กันยายน พ.ศ. 2474 - 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2488
3. นายแพทย์กร เกรียงไกร 14 มีนาคม พ.ศ. 2488 - 1 มิถุนายน พ.ศ. 2494
4. นายแพทย์ประพนธ์ เสรีรัตน์ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2494 - 6 มิถุนายน พ.ศ. 2497
5. นายแพทย์เสนอ ตัณฑเศรษฐี 6 มิถุนายน พ.ศ. 2497 - 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2517
6. นายแพทย์ประเสริฐ นุตกุล 1 ธันวาคม พ.ศ. 2517 - 28 มกราคม พ.ศ. 2519
7. ศาสตราจารย์ นายแพทย์ประพฤติ ธีรคุปต์ 28 มกราคม พ.ศ. 2519 - 30 กันยายน พ.ศ. 2528
8. นายแพทย์ปรีชา ตาปสนันท์ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2528 - 8 มกราคม พ.ศ. 2530
9. นายแพทย์ยศพร จิตตะเสนีย์ 9 มกราคม พ.ศ. 2530 - 31 ธันวาคม พ.ศ. 2530
10. นายแพทย์อุทัย ตู้จินดา 7 มกราคม พ.ศ. 2530 - 1 ตุลาคม พ.ศ. 2532
11. นายแพทย์สุวัฒน์ จันทรจำนง 2 ตุลาคม พ.ศ. 2532 - 9 ตุลาคม พ.ศ. 2533
12. นายแพทย์ธรรมนูญ วานิยะพงศ์ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2533 - 30 กันยายน พ.ศ. 2534
13. นายแพทย์สมัย ขาววิจิตร 1 ตุลาคม พ.ศ. 2534 - 4 มกราคม พ.ศ. 2539
ทำเนียบผู้อำนวยการวิทยาลัยแพทยศาสตร์กรุงเทพมหานคร สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร
รายนามผู้อำนวยการ วาระการดำรงตำแหน่ง
1. ศาสตราจารย์ (พิเศษ) นายแพทย์นคร สมบูรณ์วิทย์ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2539 - 30 กันยายน พ.ศ. 2540
2. ศาสตราจารย์ (พิเศษ) นายแพทย์วีระวัฒน์ หาญทวิชัย 1 ตุลาคม พ.ศ. 2540 - 30 มิถุนายน พ.ศ. 2543
ทำเนียบผู้อำนวยการวิทยาลัยแพทยศาสตร์กรุงเทพมหานครและวชิรพยาบาล สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร
รายนามผู้อำนวยการ วาระการดำรงตำแหน่ง
1. นายแพทย์มาโนชญ์ ลีโทชวลิต 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2543 - 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2544
2. นายแพทย์ธานี บุณยประสิทธิ์ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2544 - 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2546
3. นายแพทย์วิวัฒน์ วนาโรจน์ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2546 - 30 กันยายน พ.ศ. 2548
3. นายแพทย์โอกาส ไทยพิสุทธิกุล 4 ตุลาคม พ.ศ. 2548 - 30 กันยายน พ.ศ. 2549
4. ศาสตราจารย์ (พิเศษ) นายแพทย์มานิต ศรีประโมทย์  1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2549 - พ.ศ. 2550
5. นายแพทย์ชัยวัน เจริญโชคทวี พ.ศ. 2551 - 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553
ทำเนียบคณบดีคณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยกรุงเทพมหานคร
รายนามคณบดี วาระการดำรงตำแหน่ง
1. นายแพทย์ชัยวัน เจริญโชคทวี 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553 - 20 มิถุนายน พ.ศ. 2556
ทำเนียบคณบดีคณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช
รายนามคณบดี วาระการดำรงตำแหน่ง
1. นายแพทย์ชัยวัน เจริญโชคทวี 21 มิถุนายน พ.ศ. 2556 - 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557 [7]
2. นายแพทย์มาโนชญ์ ลีโทชวลิต 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557 - 30 มิถุนายน พ.ศ. 2557 (รักษาการ)
3. รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ประยุทธ ศิริวงษ์ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2557 - 30 เมษายน พ.ศ. 2564
4. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์จักราวุธ มณีฤทธิ์ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2564 - ปัจจุบัน

ภาควิชาและหน่วยงาน[แก้]

หลักสูตรที่เปิดสอน[แก้]

ระดับปริญญาตรี

หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต

  • สาขาวิชาแพทยศาสตร์ (หลักสูตรปริญญาตรี 6 ปี)
  • สาขาวิชาแพทยศาสตร์ โครงการพัฒนาแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวและเวชศาสตร์ฉุกเฉิน (หลักสูตรปริญญาตรี 6 ปี ควบ วุฒิบัตรแสดงความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเวชกรรม สาขาเวชศาสตร์ครอบครัว หรือ เวชศาสตร์ฉุกเฉิน)

หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต

ระดับหลังปริญญา
วุฒิบัตรแสดงความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเวชกรรม

การฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้าน และ การฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านต่อยอด

การเรียนการสอนในหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต[แก้]

หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2554)[17][แก้]

หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2554) ได้ปรับปรุงจากหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2549) เดิม ขณะมีสถานะเป็นสถาบันสมทบของมหาวิทยาลัยมหิดล เล็กน้อย มีศักยภาพในการรับนักศึกษาประมาณ 80 คนต่อปี

หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ. 2554 ได้รับการรับรองมาตรฐานจากสถาบันรับรองมาตรฐานแพทยศาสตรศึกษา (IMEAc) ซึ่งใช้มาตรฐานจากเกณฑ์มาตรฐานแพทยศาสตร์ศึกษาสากล (WFME) โดยได้การรับรองถึงวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565[18]

หลักสูตรนี้มีการแบ่งการเรียนการสอนเป็น 3 ช่วง ได้แก่

ชั้นปีที่ 1 เตรียมแพทยศาสตร์

ศึกษาวิชาพื้นฐานทั่วไปและวิทยาศาสตร์พื้นฐาน ซึ่งศึกษาที่มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา วิชาที่เรียนจะประกอบด้วยวิทยาศาสตร์พื้นฐาน เช่น ชีววิทยา เคมี เคมีอินทรีย์ แคลคูลัส สถิติ และฟิสิกส์ แล้วมีวิชาทางภาษาได้แก่ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และวิชาศึกษาทั่วไป (MUGE) นอกจากนี้ในการชั้นปีที่ 1 ที่นี่จะมีวิชาปรีคลินิกด้วย 1 วิชา คือชีวเคมี นักศึกษาจะได้เรียนร่วมกับนักศึกษาคณะอื่นๆของมหาวิทยาลัยมหิดล รวมถึง คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี กลุ่มนักศึกษาแพทย์สถาบันพระบรมราชชนก คณะทันตแพทยศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ และคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ชั้นปีที่ 2-3 ปรีคลินิก

ศึกษาวิชาแพทย์พื้นฐานและวิทยาศาสตร์การแพทย์ เช่นวิชา กายวิภาคศาสตร์ สรีวิทยา เภสัชวิทยา ที่คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พญาไท การที่ได้เรียนกับคณะวิทยาศาสตร์ นักศึกษาจะได้รับแนวคิดด้านวิทยาศาสตร์และการวิจัยซึ่งเป็นประโยชน์ในการนำไปสู่ ความเป็นเลิศด้านการศึกษาและวิจัย และการพัฒนาศาสตร์การเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง จากนั้นนักศึกษาจะเข้าสู่ปีที่ 3 ได้แก่ วิทยาภูมิคุ้มกัน จุลชีววิทยา เวชพันธุศาสตร์ และพยาธิวิทยา โดยศึกษาที่คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล

ชั้นปีที่ 4-6 คลินิก

ศึกษาและฝึกอบรมที่วชิรพยาบาล สำหรับนักศึกษาปีที่ 6 (extern) จะมีการเรียนเสมือนการทำงานจริง ดูแลควบคุมโดยอาจารย์แพทย์และแพทย์ประจำบ้าน (residence) อย่างใกล้ชิด แล้วจะมีการศึกษาดูงานที่โรงพยาบาลในสำนักการแพทย์กรุงเทพมหานครหลายๆแห่งด้วย

หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2562)[19][แก้]

หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2562) ได้ปรับปรุงจากหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2554) โดยมีการย้ายสถานที่จัดการศึกษามายังมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราชตลอดทั้งหลักสูตร มีศักยภาพในการผลิตนักศึกษาแพทย์ประมาณ 100 คนต่อปี

หลักสูตรได้รับการรับรองมาตรฐานจากสถาบันรับรองมาตรฐานแพทยศาสตรศึกษา (IMEAc) ซึ่งใช้มาตรฐานจากเกณฑ์มาตรฐานแพทยศาสตร์ศึกษาสากล (WFME) โดยได้การรับรองถึงวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2567[18]

หลักสูตรนี้มีการแบ่งการเรียนการสอนเป็น 3 ช่วง

ชั้นปีที่ 1 เตรียมแพทยศาสตร์

จะศึกษาวิชาศึกษาทั่วไปที่มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราชกำหนด เช่น วิชาภาษาอังกฤษ การสื่อสาร วิชาที่สนับสนุนอัตลักษณ์ของบัณฑิตของมหาวิทยาลัย และวิทยาศาสตร์พื้นฐาน เช่น เคมี สถิติ และ ฟิสิกส์ นอกจากนี้ในการชั้นปีที่ 1 ในภาคเรียนที่ 2 จะมีเริ่มเรียนวิชาปรีคลินิกด้วย คือ ชีวเคมีและชีววิทยาโมเลกุล และ ชีววิทยาของเซลล์ รวมทั้งวิชาพื้นฐานวิชาชีพที่เรียนต่อเนื่องตลอดหลักสูตร เช่น วิชาเวชจริยศาสตร์ วิชาระบบสุขภาพเขตเมืองเพื่อส่งเสริมจุดเน้นด้านเวชศาสตร์เขตเมืองของสถาบัน

ชั้นปีที่ 2-3 ปรีคลินิก

เป็นการศึกษาระดับปรีคลินิก จะศึกษาวิชาวิทยาศาสตร์การแพทย์พื้นฐาน โดยมีการบูรณาการวิชาต่าง ๆ เช่น มหกายวิภาคศาสตร์ จุลกายวิภาคศาสตร์ เอมบริโอวิทยา สรีรวิทยา จุลชีววิทยา วิทยาภูมิคุ้มกัน พยาธิวิทยา และ เภสัชวิทยา เป็นตามระบบต่าง ๆ ของร่างกายเพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงกันขององค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์การแพทย์พื้นฐานรวมทั้งการนำความรู้ไปใช้ในระดับชั้นคลินิกต่อไป และศึกษาวิชาพื้นฐานวิชาชีพที่ต่อเนื่องจากชั้นปีที่ 1

ชั้นปีที่ 4-6 คลินิก

เข้าสู่การศึกษาระดับคลินิก ซึ่งศึกษาและฝึกอบรมในโรงพยาบาล แบ่งเป็นศึกษาที่วชิรพยาบาล จำนวน 80 คน และที่โรงพยาบาลตากสิน จำนวน 20 คน สำหรับนักศึกษาปีที่ 6 (extern) จะมีการเรียนเสมือนการปฏิบัติงานจริง ดูแลควบคุมโดยอาจารย์แพทย์และแพทย์ประจำบ้าน นอกจากนี้ยังมีการศึกษาดูงานที่โรงพยาบาลที่มีความร่วมมือกับคณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล

คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาลเป็นโรงเรียนแพทย์ที่มุ่งเน้นไปทางการให้บริการประชาชน (public service) โดยเฉพาะในเขตชุมชนเมือง ดั่งเช่นกรุงเทพมหานคร โดยมีการจัดการเรียนการสอนแบบ Community-Based Learning : CBL (ใช้ชุมชนเป็นฐาน) มีการไปออกชุมชนอยู่อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังเป็นคณะแพทย์แห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทยที่เปิดสอนวิชาเวชศาสตร์เขตเมือง (urban medicine) ซึ่งสอนที่เจาะจงในการแก้ปัญหาสุขภาพชาวเมืองโดยเฉพาะ เป็นการเข้าสู่การมุ่งเน้นในการผลิตแพทย์ที่ทำงานบริการประชาชนเขตเมื่องอย่างแท้จริง

กิจกรรมนักศึกษาแพทย์[แก้]

สโมสรนักศึกษาแพทย์วชิรพยาบาล เป็นหน่วยงานหลักในการจัดกิจกรรมต่างๆของคณะ โดยส่วนมากจะเป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นโดยคณะ นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมที่จัดขึ้นพร้อมกับคณะอื่นในมหาวิทยาลัยมหิดล หรือคณะแพทย์แห่งอื่นๆในประเทศไทย และกิจกรรมที่ทางคณะเข้าร่วม ซึ่งทางสโมสรจะเป็นผู้ติดต่อประสานงานและดำเนิดกิจกรรมต่างๆ

ค่ายเปิดเสื้อกาวน์[แก้]

ค่ายเปิดเสื้อกาวน์ (Opengown Camp) เป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นให้นักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ได้เข้ามาสัมผัสชีวิตการเรียนแพทย์ ชีวิตนักศึกษาแพทย์ การทำงานของแพทย์ ได้รู้จักความเป็นโรงเรียนแพทย์ รู้จักคณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาลมากขึ้น และที่สำคัญคือ ผู้เข้าร่วมโครงการค่ายเปิดเสื้อกาวน์จะสามารถค้นพบตนเองได้ว่า ตนเองนั้นชอบและรักวิชาชีพแพทย์หรือไม่ หรือมีความเหมาะสมในการเรียนแพทย์มากน้อยเพียงใด

กิจกรรมนี่จัดขึ้นในเดือนตุลาคมของทุกปี โดยเริ่มรับสมัครนักเรียนตั้งแต่ช่วงเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคม ค่ายเปิดเสื้อกาวน์เป็นค่ายที่ได้รับความนิยมสูงที่สุดแห่งหนึ่ง มีผู้สมัครเข้าร่วมโครงการเป็นจำนวนมากจากทั่วประเทศ และมีกระแสตอบรับทั้งก่อนและหลังการเข้าค่ายเป็นอย่างดี

รับน้อง & ค่ายฉันจะไปเรียนหมอล่ะ[แก้]

กิจกรรมรับน้อง เป็นกิจกรรมที่ทางสโมสรจัดขึ้นให้นักศึกษาแพทย์ ขั้นปีที่ 1 ที่เข้ามาใหม่ เพื่อให้ได้รู้จักคณะและมหาวิทยาลัยมากขึ้น ให้ปรับตัวให้เข้ากับเพื่อนใหม่ๆ เสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างพี่น้อง กิจกรรมรับน้องนี้รวมไปด้วยหลายๆกิจกรรมที่จัดขึ้นในช่วงปิดภาคเรียนแรก ระหว่างเดือน เมษายน-พฤษภาคม

"แรกพบ-ทวิภพ" เป็นกิจกรรมแรกที่มีขึ้น เป็นการรวมตัวกับครั้งแรกของนักศึกษาแพทย์ ชั้นปีที่1 จัดขึ้นให้นักศึกษาใหม่ได้รู้จักกัน และแนะนำให้รู้จักกับคณะและมหาวิทยาลัย กิจกรรมนี้จะจัดขึ้น 2 วัน ในวันแรกจัดขึ้นที่วชิรพยาบาล ให้ได้รู้จักกับคณะมากขึ้น และในวันที่ 2 จัดที่มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา เป็นการให้นักศึกษาได้รู้จักกับศาลายา เพื่อเตรียมพร้อมกับการศึกษาที่นี่ กิจกรรม "สอนน้องร้องเพลง" เป็นการสอนร้องเพลงคณะเพลงมหาวิทยาลัยและเพลงต่างๆ "ค่ายฉันจะไปเรียนหมอล่ะ" จะจัดขึ้นในช่วงเดือนพฤกษภาคม เสริมสร้างความสัมพันธ์ในรุ่นและคณะนักศึกษา ในงานนี้นักศึกษาจะเข้าใจถึงความเป็น "นักศึกษาแพทย์วชิรพยาบาล" อย่างแท้จริง และกิจกรรมสุดท้ายคือ "Conc day" (วันวิชาการ) เป็นวันแนะแนวการเรียนการสอน ในงานจะมีรุ่นพี่นักศึกษาแพทย์ถ่ายทอดและแนะนำวิธีการเรียนในมหาวิทยาลัย วิธีการอ่านหนังสืออย่างมีประสิทธิภาพ และเตรียมตัวสอบในทุกๆวิชา ให้นักศึกษาได้เตรียมพร้อมกับการเรียนในมหาวิทยาลัยอย่างเต็มตัว

Open House แพทย์วชิระ[แก้]

จัดขึ้นที่คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล เพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียน และผู้สนใจ โดยเฉพาะผู้ที่สนใจจะเข้าศึกษาต่อในสาขาแพทยศาสตร์ ได้เข้าชมคณะ ชมโรงพยาบาล ในงานนี้จะมีกิจกรรมต่างๆจัดขึ้นโดนคณะ ให้ผู้สนใจมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการศึกษาต่อในวิชาชีพแพทย์มากขึ้น สัมผัสกับความเป็นโรงเรียนแพทย์ นอกจากนี้นักเรียนมัธยมยังสามารถปรึกษารับคำแนะนำจากรุ่นพี่นักศึกษา ในการเข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยได้ด้วย

กิจกรรมระหว่างคณะ[แก้]

กีฬาเข็มสัมพันธ์

จัดขึ้นโดย สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแพทย์แห่งประเทศไทย (สพท.) เป็นกิจกรรมกีฬาที่รวมตัวโรงเรียนแพทย์ทุกแห่งในประเทศ

โรงพยาบาลมหาวิทยาลัย[แก้]

โรงพยาบาลมหาวิทยาลัย จังหวัด สังกัด
วชิรพยาบาล เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช
สถาบันร่วมผลิตแพทย์ จังหวัด สังกัด
ศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก โรงพยาบาลตากสิน เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร

ดูเพิ่ม[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. ประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง การแบ่งส่วนราชการภายในหน่วยงานและการกำหนดอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการกรุงเทพมหานคร (ฉบับที่ 16)
  2. ประกาศทบวงมหาวิทยาลัย เรื่อง การรับวิทยาลัยแพทยศาสตร์กรุงเทพมหานครเข้าเป็นสถาบันสมทบของมหาวิทยาลัยมหิดล พ.ศ. ๒๕๓๖
  3. ประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง การแบ่งส่วนราชการภายในหน่วยงานและการกำหนดอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการกรุงเทพมหานคร (ฉบับที่ 38)
  4. พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2553
  5. พระราชบัญญัติ เปลี่ยนชื่อมหาวิทยาลัยกรุงเทพมหานครเป็นมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช พ.ศ. 2556
  6. http://www.op.mahidol.ac.th/oraa/files/joined_institute_annouced_1n.pdf
  7. http://www.ryt9.com/s/bmnd/1864037
  8. หลักสูตรฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้าน เพื่อวุฒิบัตรแสดงความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเวชกรรม สาขากุมารเวชศาสตร์ พ.ศ. 2561
  9. เกณฑ์หลักสูตรการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านเพื่อวุฒิบัตรแสดงความรู้ความชำานาญในการประกอบวิชาชีพเวชกรรม สาขาจักษุวิทยา (หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ. 2560)
  10. หลักสูตรการฝึกอบรมแพทย์ประจาบ้านเพื่อวุฒิบัตรแสดงความรู้ความชานาญในการประกอบวิชาชีพเวชกรรม สาขาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน
  11. หลักสูตรและเกณฑ์การฝึกอบรมแพทย์ประจา บ้าน เพื่อวุฒิบัตรแสดงความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเวชกรรม สาขาศัลยศาสตร์ ราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย ฉบับ พ.ศ. 2560
  12. หลักสูตรและเกณฑ์การฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านเพื่อวุฒิบัตรแสดงความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเวชกรรม สาขาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทยฉบบั พ.ศ. 2561
  13. ภาคผนวก 4 งานวิจัยเพื่อวุฒิบัตรฯ สาขาโสต ศอ นาสิกวิทยา
  14. "มติที่ประชุมโดยย่อ การประชุมคณะอนุกรรมการด้านมาตรฐานการอุดมศึกษา ครั้งที่ 4/2551" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2021-01-22. สืบค้นเมื่อ 2020-01-14.
  15. เกณฑ์หลักสูตรการฝึกอบรมแพทย์ประจาบ้าน เพื่อวุฒิบัตรแสดงความรู้ความชานาญ ในการประกอบวิชาชีพเวชกรรม สาขาออร์โธปิดิกส์ ฉบับ พ.ศ. 2561
  16. มาตรฐานคุณวุฒิความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเวชกรรม สาขาอายุรศาสตร์ ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย
  17. "หลักสูตรแพทยศาสตร์บัณฑิต (หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ. 2554)". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-12-22. สืบค้นเมื่อ 2019-12-22.
  18. 18.0 18.1 Accreditation status from IMEAc
  19. "เนื้อหาสาระสำคัญของหลักสูตรหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต (หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ. 2562) คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2019-12-22. สืบค้นเมื่อ 2019-12-22.
  • หนังสือ 96 ปี วชิรพยาบาล
  • นิทรรศการ ๑๐๐ ปี วชิรพยาบาล