ข้ามไปเนื้อหา

มหาวิทยาลัยฟาฏอนี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
มหาวิทยาลัยฟาฏอนี
ชื่อย่อมฟน. / FTU
คติพจน์นำสัจธรรม สร้างสังคมสันติสุข
บัณฑิตมีภาวะผู้นำ คุณธรรม จริยธรรม และมุ่งพัฒนาสังคมสันติสุข
ประเภทสถาบันอุดมศึกษาเอกชน
สถาปนา3 เมษายน พ.ศ. 2541 (26 ปี 221 วัน)
อธิการบดีรศ.ดร.อิสมาอีลลุตฟี จะปะกียา
นายกสภาฯวันมูหะมัดนอร์ มะทา
ผู้ศึกษา2,678 คน (2566)[1]
ที่ตั้ง
วิทยาเขตยะลา
203/3 หมู่ 7 ตำบลบุดี อำเภอเมืองยะลา จังหวัดยะลา 95000
วิทยาเขตปัตตานี
135/8 หมู่ 3 ตำบลเขาตูม อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี 94160
ต้นไม้ประจำสถาบันพิกุล
สี   เขียว-ขาว
เว็บไซต์www.ftu.ac.th/

มหาวิทยาลัยฟาฏอนี[2] เป็นสถาบันอุดมศึกษาเอกชนอิสลามแห่งแรกในประเทศไทย จัดตั้งขึ้นโดยนักวิชาการอิสลามและผู้ทรงคุณวุฒิด้านอิสลามศึกษาในภูมิภาค ซึ่งมีเจตนารมณ์ในการส่งเสริมและพัฒนาด้านอิสลามศึกษาและศาสตร์อื่นๆ สอนตามแนวทางกิตาบุ้ลลอฮฺและซุนนะห์

มหาวิทยาลัยฟาฏอนี จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2541 มีชื่อว่า "วิทยาลัยอิสลามยะลา" ภายหลังเป็น "มหาวิทยาลัยอิสลามยะลา" โดยมูลนิธิเพื่อการอุดมศึกษาอิสลามภาคใต้ เปิดรับนักศึกษารุ่นแรก ระดับปริญญาตรี จำนวน 200 คน ใน 2 สาขาวิชา คือ สาขาวิชาชะรีอะฮ์ (กฎหมายอิสลาม) และสาขาวิชาอุศูลุดดีน (หลักการศาสนาอิสลาม) ซึ่งมหาวิทยาลัยฟาฏอนี ได้รับการสนับสนุนงบประมาณด้านอาคาร และสิ่งก่อสร้างจากธนาคารอิสลามเพื่อการพัฒนา (LDB)

ต่อมาได้เปลี่ยนสถานะเป็นมหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2550[3] และเปลี่ยนชื่อเป็น "มหาวิทยาลัยฟาฏอนี" ในวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2556[2]

ประวัติ

[แก้]
ตราสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยอิสลามยะลา

มหาวิทยาลัยอิสลามยะลา ตั้งอยู่ที่บ้านปารามีแต ตำบลบุดี อำเภอเมือง จังหวัดยะลา บนเนื้อที่ 43 ไร่ ห่างจากตัวเมืองยะลาบนเส้นทางสายยะลา–เบตง และสายยะลา–รามันประมาณ 7 กิโลเมตร ประกอบด้วยอาคารต่าง ๆ ซึ่งได้รับเงินสนับสนุนการก่อสร้างจากธนาคารอิสลามเพื่อการพัฒนา ประเทศซาอุดีอาระเบีย (IDB) ทั้งหมด 6 อาคาร ได้แก่ อาคารมัสยิด อาคารเรียน อาคารหอพัก 3 หลัง นับเป็นวิทยาเขตแรกที่วิทยาลัยได้ดำเนินการเปิดสอนระดับอุดมศึกษา ปัจจุบันวิทยาเขตยะลา เป็นที่ตั้งของสถาบันภาษานานาชาติ

มหาวิทยาลัยอิสลามยะลาเป็นสถาบันอุดมศึกษาเอกชนที่มีจุดมุ่งหมาย เพื่อเป็นแหล่งความรู้ด้านอิสลามและสาขาวิชาอื่น ๆ ผลิตบัณฑิตในสาขาวิชาที่ตรงกับความต้องการของสังคม โดยมุ่งเน้นบัณฑิตที่จบจากวิทยาลัยจะต้องมีคุณธรรมและจริยธรรมที่เป็นแบบอย่างที่ดีต่อสังคม สร้างความเข้าใจอันดี ความกลมเกลียว ความร่วมมือระหว่างคนในชาติ และแก้ปัญหาต่าง ๆ โดยสันติวิธี

ความคิดที่จะดำเนินการจัดตั้งสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษามีขึ้นโดยกลุ่มนักศึกษาที่กำลังศึกษาระดับปริญญาโท และปริญญาเอกในประเทศซาอุดีอาระเบีย นำโดย นายอิสมาอีลลุตฟี จะปะกียา, นาย อิสมาแอ อาลี, นายอับดุลฮาลิม ไซซิง, นาย ญิฮาด บูงอตาหยง, นาย มูฮำหมัด หะยีสาอิ, นายอาหมัดอุมาร์ จะปะเกีย โดยเห็นว่าสังคมมุสลิมในประเทศไทยมีความจำเป็นที่จะต้องมีสถาบันอุดมศึกษาอิสลามเพื่อทำหน้าที่ผลิตบัณฑิตให้มีความรู้คู่คุณธรรม อันเป็นรากฐานสำคัญสู่ความก้าวหน้าและมีความสงบสันติดังเจตนารมณ์ของอิสลามสืบต่อไป

ด้วยแนวคิดของกลุ่มนักศึกษาเหล่านี้ ได้รับการสนับสนุนจากบุคคลบางคนในประเทศซาอุดีอาระเบีย เช่น นาย อับดุลลอฮฺ อัลบูซีย์ ช่างแกะสลักแหวนตามบาทวิถีในนครรียาด และได้บริจาคเงินรายได้จากการทำงานผ่าน นายอิสมาอีลลุตฟี จะปะกียา จำนวน 30,000 เรียล (ประมาณ 210,000 บาท) และเงินจำนวนนี้ได้ดำเนินการจัดซื้อที่ดินโดยคณะกรรมการก่อตั้งโครงการวิทยาลัยอิสลามเอกชนภาคใต้ จำนวน 70 ไร่ 32 ตารางวา ณ บ้านโสร่ง ตำบลเขาตูม อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี เพื่อเป็นสถานที่ก่อตั้งวิทยาลัย[4]

มหาวิทยาลัยอิสลามยะลา ได้ดำเนินการจัดการเรียนการสอนในระดับปริญญาตรี โดยรับนักศึกษารุ่นแรก จำนวน 200 คน เมื่อปี พ.ศ. 2541 ใน 2 สาขาวิชา คือ สาขาวิชาชะรีอะฮ์ (กฎหมายอิสลาม) และ สาขาวิชาอุศูลุดดีน (หลักการศาสนาอิสลาม) มหาวิทยาลัยได้จัดวันสถาปนาวิทยาลัยขึ้นเมื่อวันที่ 8–9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2541 เพื่อประกาศถึงการก่อตั้งสถาบันอุดมศึกษาอิสลามเอกชนแห่งแรกในประเทศไทยอย่างเป็นทางการ โดยมีเจ้าชายอมีรตุรกี บินฟัฮด บินญัลวี อาลิซูอูด ประธานองค์การสงเคราะห์มุสลิมนานาชาติ ให้เกียรติเสด็จเป็นประธานในพิธี ฯพณฯ วันมูหะมัดนอร์ มะทา นายกสภามหาวิทยาลัยอิสลามยะลา และประธานรัฐสภา (ตำแหน่งในขณะนั้น) เป็นประธานจัดงาน

ปี พ.ศ. 2544 มหาวิทยาลัยอิสลามยะลาได้รับการอนุมัติให้เปิดหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิต สาขาวิชาการสอนอิสลามศึกษา จากทบวงมหาวิทยาลัย โดยมีนักศึกษารุ่นแรก จำนวน 49 คน

ปี พ.ศ. 2545 มหาวิทยาลัยได้รับการอนุมัติให้เปิดหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาภาษาอาหรับ

ปี พ.ศ. 2546 มหาวิทยาลัยได้รับการอนุมัติให้เปิดหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรบัณฑิต สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์

วันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2546 มหาวิทยาลัยอิสลามยะลา วิทยาเขตปัตตานี ได้วางศิลารากฐาน 2 อาคาร คือ อาคารวิทยบริการและอาคารเศรษฐศาสตร์และการจัดการ โดยมีอุปทูตคูเวตประจำประเทศไทยเป็นประธานในพิธี และ ฯพณฯ วันมูหะมัดนอร์ มะทา รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะนายกสภามหาวิทยาลัยให้การต้อนรับพร้อมด้วยแขกผู้มีเกียรติอย่างคับคั่ง

วันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2546 จัดพิธีประสาทปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาประจำปีการศึกษา 2002 จำนวน 249 คน โดยมีท่านจุฬาราชมนตรี นายสวาสดิ์ สุมาลยศักดิ์ เป็นประธานในพิธี

วันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2547 พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะดำรงพระอิสริยยศเป็น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยหม่อมศรีรัศมิ์ มหิดล ณ อยุธยา ทรงเปิดมหาวิทยาลัยอิสลามยะลาวิทยาเขตปัตตานีอย่างเป็นทางการ โดยมีคณะผู้บริหาร คณาจารย์ บุคลากรมหาวิทยาลัยอิสลามยะลา ข้าราชการ หน่วยงานภาครัฐ เอกชน และประชาชนทั่วไป พร้อมใจร่วมให้การรับเสด็จฯ และได้รับเกียรติจากท่านจุฬาราชมนตรีได้เดินทางมาร่วมพิธีเปิดในครั้งนี้ด้วย

ในภาคการศึกษาที่ 1 ปี พ.ศ. 2547 มหาวิทยาลัยได้รับการอนุมัติให้เปิดหลักสูตรเศรษฐศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์การเงินและการธนาคาร และหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ (หลักสูตรนานาชาติ) จากทบวงมหาวิทยาลัย

ในปี พ.ศ. 2548 มหาวิทยาลัยได้อนุมัติให้เปิดหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาชะรีอะฮ์ และสาขาวิชาประวัติศาสตร์และอารยธรรมอิสลาม และได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา

ในภาคการศึกษาที่ 1 ปี พ.ศ. 2549 มหาวิทยาลัยได้รับการอนุมัติให้เปิดหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ และหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาภาษาอังกฤษ (หลักสูตรนานาชาติ) จากสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา

ปัจจุบันมหาวิทยาลัยอิสลามยะลาได้ย้ายหน่วยงาน ส่วนใหญ่ไปตั้งที่วิทยาเขตปัตตานี ซึ่งตั้งอยู่ ณ หมู่ที่ 3 บ้านโสร่ง ตำบลเขาตูม อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี บนที่ดินจำนวน 283 ไร่ ประกอบด้วย สำนักงานอธิการบดี คณะอิสลามศึกษา คณะศิลปศาสตร์และสังคมศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มัสยิดฮารอมัยน์ สำนักวิทยบริการ สำนักบริการการศึกษา สำนักกิจการนักศึกษา และอาคารหอประชุมวันมูหะมัดนอร์ มะทา

วันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2550 มหาวิทยาลัยได้รับการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาให้ เปลี่ยนประเภทจาก วิทยาลัยอิสลามยะลาเป็น "มหาวิทยาลัย อิสลามยะลา" อย่างเป็นทางการ และ ได้รับการอนุมัติให้เปิดหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาอิสลามศึกษา และศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาภาษามลายู (หลักสูตรนานาชาติ) ปี พ.ศ. 2551 สภามหาวิทยาลัยได้อนุมัติให้เปิดหลักสูตรบริหารธุรกิจ สาขาวิชาการจัดการ

ในปี พ.ศ. 2551 สภามหาวิทยาลัยอนุมัติให้เปิด หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิตสาขาวิชาภาษาอาหรับและวรรณคดี และหลักสูตรรัฐศาสตรมหาบัณฑิตสาขาวิชาการปกครอง ในภาคการศึกษาที่ 1 ปี พ.ศ. 2552 สภามหาวิทยาลัยได้อนุมัติให้เปิดหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเคมีประยุกต์[5]

สัญลักษณ์มหาวิทยาลัย

[แก้]

สีประจำมหาวิทยาลัย

[แก้]
  • สีเขียว หมายถึง ความเป็นผู้นำ นักเคลื่อนไหว เป็นพลวัตรของนักศึกษามหาวิทยาลัย
  • สีขาว หมายถึง ความบริสุทธิ์ของอิสลาม

ต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัย

[แก้]

ต้นพิกุล เป็นต้นไม้ที่เจริญเติบโตได้ทุกภาคของไทย นิยมปลูกกันมากในภาคใต้ จนกลายเป็นสัญลักษณ์ของมุสลิมในสี่จังหวัดชายแดนภาคใต้

ทำเนียบอธิการบดี

[แก้]
ผู้อำนวยการวิทยาลัยอิสลามยะลา
รายนามผู้อำนวยการ วาระการดำรงตำแหน่ง
อิสมาอีลลุตฟี จะปะกียา 3 เมษายน พ.ศ. 2541 – 14 มิถุนายน พ.ศ. 2550
อธิการบดีมหาวิทยาลัยอิสลามยะลา
รายนามอธิการบดี วาระการดำรงตำแหน่ง
อิสมาอีลลุตฟี จะปะกียา 14 มิถุนายน พ.ศ. 2550 – 3 ตุลาคม พ.ศ. 2556
อธิการบดีมหาวิทยาลัยฟาฏอนี
รายนามอธิการบดี วาระการดำรงตำแหน่ง
รองศาสตราจารย์ อิสมาอีลลุตฟี จะปะกียา 3 ตุลาคม พ.ศ. 2556 – ปัจจุบัน

การศึกษา

[แก้]

คณะ

[แก้]

สถาบัน

[แก้]

สำนัก

[แก้]

งานวิจัย

[แก้]

อันดับและมาตรฐานของมหาวิทยาลัย

[แก้]

วันสำคัญของมหาวิทยาลัย

[แก้]

พิธีประสาทปริญญา

[แก้]

บุคคลจากมหาวิทยาลัย

[แก้]

วิทยาเขตและสถานที่ตั้ง

[แก้]
  • วิทยาเขตยะลา

203/3 หมู่ 7 ตำบลบุดี อำเภอเมืองยะลา จังหวัดยะลา

  • วิทยาเขตปัตตานี

เมื่อวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2547 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร (พระอิสริยยศในขณะนั้น) เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาฯ (พระยศในขณะนั้น) ทรงเปิดวิทยาลัยอิสลามยะลา วิทยาเขตปัตตานี ที่ตำบลเขาตูม อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี

อ้างอิง

[แก้]
  1. สถิติอุดมศึกษา กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
  2. 2.0 2.1 สรุปมติการประชุมคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) ครั้งที่ 8/2556 วันที่ 3 ตุลาคม 2556 (Report). กลุ่มงานเลขานุการคณะกรรมการการอุดมศึกษา สำนักอำนวยการ. p. 2.
  3. "ราบชื่อสถาบันอุดมศึกษา". สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (XLS)เมื่อ 28 เมษายน 2011.
  4. "ข้อมูลเบื้องต้นประวัติมหาวิทยาลัยอิสลามยะลา สืบค้น ณ วันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2557". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-02-23. สืบค้นเมื่อ 2014-07-08.
  5. "ข้อมูลเบื้องต้นประวัติมหาวิทยาลัยฟาฏอนี". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2014. สืบค้นเมื่อ 8 กรกฎาคม 2014.

ดูเพิ่ม

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]