นามสกุลพระราชทาน
นามสกุลพระราชทาน เป็นนามสกุลที่ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขนานนามสกุลขึ้นเมื่อวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2455[1] โดยให้มีผลใช้บังคับในวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2456 อย่างไรก็ตาม ได้มีการเลื่อนเวลาการบังคับใช้กฎหมาย 2 ครั้ง เพื่ออำนวยความการสะดวกแก่เจ้าพนักงานซึ่งจะทำทะเบียนและสะดวกแก่ผู้ที่จะเลือกตั้งนามสกุล โดยพระราชบัญญัติได้บังคับใช้เป็นกฎหมายโดยสมบูรณ์เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2458[2][3]
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามสกุลครั้งแรกเป็นจำนวน 102 นามสกุล เช่น นามสกุล "สุขุม" พระราชทานแก่ เจ้าพระยายมราช (ปั้น), นามสกุล "มาลากุล" พระราชทานแก่ พระยาวิสุทธสุริยศักดิ์ (หม่อมราชวงศ์เปีย) และ พระยาอนุรักษ์ราชมณเฑียร (หม่อมราชวงศ์ปุ้ม) และนามสกุล "พึ่งบุญ" พระราชทานแก่ พระยาประสิทธิ์ศุภการ (หม่อมหลวงเฟื้อ)[4] นามสกุลที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานไว้มีทั้งสิ้น 6464 นามสกุล แยกเป็น
- นามสกุลตามสมุดทะเบียน 6439 นามสกุล (ในสมุดทะเบียนลงลำดับที่นามสกุลที่ได้พระราชทานไปเพียง 6432 นามสกุล)
- นามสกุลพิเศษ 1 นามสกุล คือ นามสกุล ณ พิศณุโลก
- นามสกุลสำหรับราชสกุลรัชกาลที่ 4 อีก 24 นามสกุล [5]
เนื้อหา
รายชื่อนามสกุลที่มีที่มาจากภาษาต่างประเทศ[แก้]
- เศียนเสวี พระราชทาน พระอักษรสมบูรณ (ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระยานนทิเสนสุเรนทรภักดี) เสมียนตรากระทรวงวัง และนายพันตรีในกองทัพบก บิดาเป็นชาวเยอรมัน นามสกุลเดิมว่า “Falck” คือมุ่งว่า “falk” แปลว่าเหยี่ยว แปลกลับเป็นสันสกฤตว่า “เศ์ยน” แผลงเป็นไทยว่า “เศียน”
- เศวตศิลา พระราชทาน พระวันพฤกษ์พิจารณ (ทองคำ) ปลัดกรมป่าไม้ กับพระกรุงศรีบริรักษ์ (ทองย้อย) ปลัดมณฑลกรุงเก่ากระทรวงมหาดไทย เป็นบุตรนายเฮนรี อาลบาสเตอร์ (แปลนามสกุลเป็น “หินขาว”)
- สุมิตร พระราชทาน นายอี สเปนช์ สมิต ผู้ช่วยอธิบดีกรมศึกษาธิการ ขอพระราชทานให้บุตรชายหญิงซึ่งมารดาเป็นไทย
- เวลานนท์ พระราชทาน รองอำมาตย์เอกเกอรช ฟริดริช เวเลอร์ นายตรวจเอก กรมรถไฟหลวงสายเหนือ (ต่อมาถูกถอนสัญชาติและเรียกคืนนามสกุล เมื่อคราวประเทศสยามประกาศสงครามกับประเทศเยอรมนีในสงครามโลกครั้งที่ 1)
- อันตรนิยุกต์ พระราชทาน ขุนทิพรศโอชา (ปีเตอร์) พนักงานครัวเฃ้าต้น กรมมหาดเล็ก นามสกุลเดิม “อันโตนิโอ”
- สีมันตร พระราชทาน ขุนเลขการวิจิตร (แสวง) นายเวรกรมที่ปฤกษา กระทรวงพระคลังมหาสมบัติ บิดาเป็นชาวโปรตุเกส นามสกุลเดิมว่า “ซีโมเอนส์”
- เตชะวณิช พระราชทาน พระอนุวัฒน์ราชนิยม (ฮง) สังกัดกรมมหาดเล็ก แซ่แต้
- อับดุลพันธุ์ พระราชทาน นายหมู่ตรีปุ๋ย ประจำแผนกเกียกกาย กองเสนารักษาดินแดนกรุงเทพฯ ปู่ทวดชื่อเฮเดอรใบ ปู่ชื่อเมียโบ บิดาชื่ออับดุลโคยุม
- อับดุลละบุตร พระราชทาน พระยาพิพิธเสนามาตยาธิบดีศรีสงคราม (นิโอ๊ะ) พระยาเมืองยะหริ่ง ปู่ทวดชื่ออับดุลเลาะ
- คุณะดิลก พระราชทาน พระยาอรรถการประสิทธิ์ (วิลเลียม แอลเฟรด ตีเลกี, William Alfred Tilleke) อธิบดีกรมอัยการ กระทรวงยุติธรรม เขาชื่อเช่นนี้มาแต่เดิมแล้วแต่ต้องการได้รับอนุมัติ จึ่งตกลงให้เขียนว่า“คุณะดิลก”เช่นนี้ เพื่อให้เป็นไทย เดิมเขียนว่า“คุณะติละกะ” (ตัวโรมัน“Guna Tilleke”)
- สิงหลกะ พระราชทาน พระดรุณรักษา (เสงี่ยม) ปลัดบาญชีกรมมหาดเล็ก หลานพระอุดรพิสดาร (สิญญ) ซึ่งเป็นชาวสิงหล
รายชื่อนามสกุลแยกตามรายอาชีพของผู้เป็นต้นสกุล[แก้]
- สืบสกุลจากเจ้าเมือง มีคำราชทินนามนำหน้า อาทิ เจ้าเมืองกำแพงเพชร,พระยากำแพงเพชร ได้รับพระราชทานนามสกุล เช่น รามสูต, รามบุตร, อินทรสูต, พรหมเทพ , นุชนิยม
- สกุลพ่อค้า มีคำว่า วณิช หรือวานิช และ เวส ประกอบในนามสกุลเช่น กมุทวณิช, กัณหะเวส, คุปตะวาณิช, กฤษณวนิช, เตมียาเวส
- สกุลชาวสวน มีคำว่า ผล และ ผลิน ประกอบในนามสกุล เช่น ผลพันธิน, นิตย์อำนวยผล, ผลาชีวะ, มณฑลผลิน
- สกุลชาวนา มีคำว่า กสิกร, เกษตริน และศาลิ ประกอบในนามสกุล เช่น โพธิกสิกร, รัตกสิกร,พงษ์สาริกิจ, สนธิเกษตริน, พฤทธิศาลิกร, ศาลิคุปต
- สกุลทหารบก มีคำว่า โยธิน ประกอบในนามสกุล เช่น พหลโยธิน, พินทุโยธิน,อุตตมะโยธิน,กมลโยธิน, โกษะโยธิน,อัครโยธิน, สว่างโยธิน, วัฒนโยธิน,อินทรโยธิน
- สกุลทหารเรือ มีคำว่า นาวิน และกลิน ประกอบในนามสกุล เช่น กมลนาวิน, กนกนาวิน, วิเศษนาวิน, โรหิตนาวิน, ไอศะนาวิน, อังคะนาวิน, กฤษณกลิน, สุนทรกลิน, บุญยรัตกลิน
- สกุลทหารอากาศ มีคำว่า อากาศ หรือ นภา ประกอบในนามสกุล เช่น รณนภากาศ, วุฒากาศ, อากาศไชย
- สกุลช่างสิบหมู่ มีคำว่า ศิลปิน ประกอบในนามสกุล เช่น เกียรติศิลปิน, เตมียศิลปิน
- ศิลปินโขน มีคำว่า นัฏ ประกอบในนามสกุล เช่น กานตะนัฎ, จารุนัฎ, สมรรคนัฎ
- นักดนตรี มีคำว่า วาทิน ประกอบในนามสกุล เช่น กมลวาทิน, วรวาทิน, สุนทรวาทิน
- กรมพระอัศวราช มีคำว่า อัศวิน ประกอบในนามสกุล เช่น ศวิน โกมลาศวิน, ชยาศวิน, มณฑาศวิน
- สกุลแพทย์ มีคำว่า เวช, ไวทยะ, แพทย์ ประกอบในนามสกุล เช่น บุรณเวช,โกมลเวช, สุนทรเวช, ถาวรเวช, วีระไวทยะ, พัฒนเวชวงศ์, ตีรแพทย์,ไวทยะชีวิน, มิลินทแพทย์, เวชภูติ ,เวชชาชีวะ, ปิณฑะแพทย์ , วิริยเวช , รัตนเวช , ไวทยะกร
- โหรหลวง มีคำว่า โชติ ประกอบในนามสกุล เช่น โชติวิท, เศษโชติ, สุนทรโชติ, หิรัญโชติ
- พราหมณ์ มีคำว่า พราหมณ ประกอบในนามสกุล เช่น จุลละพราหมณ์, พราหมณายน, วินทุพราหมณกุล , วุฒิพราหมณ์ , รัตนพราหมณ์
รายชื่อสกุลที่ขึ้นต้นด้วย "ณ"[แก้]
สกุลที่ขึ้นต้นด้วย "ณ" เป็นนามสกุลพระราชทาน โดยพระราชทานให้แก่ผู้สืบเชื้อสายจากบรรพบุรุษที่มีนิวาสถานตั้งอยู่ในที่แห่งนั้นเป็นเวลานานมาก มีผู้คนรู้จัก และนับถือโดยมาก โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการห้ามไม่ให้ผู้ที่ไม่ได้รับพระบรมราชานุญาตใช้คำว่า "ณ" นำหน้าสกุลเป็นอันขาด[6]
สกุลที่ขึ้นด้วย ณ[แก้]
สกุล | อักษรโรมัน | เลขที่ | พระราชทานแก่ | สืบเชื้อสายจาก | หมายเหตุ |
---|---|---|---|---|---|
ณ กาฬสินธุ์ | na Kâlasindhu | 1190 | พระยาชัยสุนทร (เก) | พระยาชัยสุนทร (โสมพะมิตร) | [7] |
ณ จัมปาศักดิ์ | na Champâsakdi | 1618 | เจ้าศักดิ์ประสิทธิ์ (เบง) และเจ้าศักดิ์ประเสริฐ (อุย) | เจ้ายุติธรรมธร (คำสุก) | [7] |
ณ เชียงใหม่ | na Chiengmai | 1161 | เจ้าแก้วนวรัฐ (แก้ว) | พระเจ้ากาวิละ | [7][8] |
ณ ตะกั่วทุ่ง | na Takuathung | 2289 | หลวงราชภักดี (หร่าย) | พระยาโลหะภูมิพิสัย | [7] |
ณ ถลาง | na Thâlang | 0742 | พระยาสุนทราทรธุรกิจ (หมี), พระอาณาจักรบริบาล (อ้น) และพระพิไสยสุนทรการ (แปลง) | พระยาถลาง (ฤกษ์) | [7] |
ณ นคร | na Nagara | 0103 | เจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิต (แย้ม) | เจ้าพระยานครศรีธรรมราช (น้อย) | [7] |
ณ น่าน | na Nân | 1162 | พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช (สุริยะ) | พญาหลวงติ๋นมหาวงศ์ | [7][8] |
ณ บางช้าง | na Bâng Xâng | 0360 | หลวงขจรเนาวรัฐ (หลำ) และหลวงพิพิธวรรณการ (ม้วน) | พระแม่กลอง (สอน) กับเจ้าคุณหญิงแก้ว | [7] |
ณ ป้อมเพชร์ | na Pombejra | 0150 | พระยาชัยวิชิตวิศิษฏ์ธรรมธาดา (ขำ) | พระยาไชยวิชิต (เผือก) | [7] |
ณ พัทลุง | na Badalung | 2279 | หลวงวิบูลย์บุรขันฑ์ (นพ) | พระยาพัทลุง (ขุน) | [7] |
ณ พิศณุโลก | พิเศษ | หม่อมคัทริน | [7][9] | ||
ณ มโนรม | na Manorom | 2770 | หลวงวินิจสารา (ดวง) | พระยามโนรม | [7] |
ณ มหาไชย | na Mahajai | 0004 | พระยาเทพทวาราวดี (สาย) | พระยานรนารถภักดี | [7] |
ณ ร้อยเอ็จ | na Roi Ech | 1189 | พระยาขัติยะวงษา (เหลา) | เพี้ยพระนคร (คำ) | [7] |
ณ ระนอง | na Ranong | 2345 | พระยารัตนเศรษฐี (ยู่หงี) | พระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี (ซู้เจียง) | [7] |
ณ ลำปาง | na Lampâng | 1166 | เจ้าบุญวาทย์วงษ์มานิต (บุญทวงษ์) | พระยาคำโสม | [7][8] |
ณ ลำภูน | na Lambhûn | 0866 | เจ้าจักรคำขจรศักดิ์ (จักรคำ) | พระยาคำฟั่น | [7] |
ณ วิเชียร | na Vijira | 2803 | พระยาประเสริฐสงคราม (ใจ) | [7] | |
ณ สงขลา | na Sonkhlâ | 0108 | พระยาอภิรักษ์ราชอุทยาน (ฑิตย์) | พระยาสุวรรณคีรีสมบัติ (เหยี่ยง) | [7] |
ณ หนองคาย | na Nonggai | 1181 | พระยาวุฒาธิคุณ (แพ) | พระปทุมเทวาภิบาล (สุวอ) | [7][8] |
ณ อุบล | Na Ubol | 3127 | พระอุบลเดชประชารักษ์ (เสือ) | พระปทุมวรราชสุริยวงศ์ (คำผง) | [7] |
สกุลที่มี ณ อยู่ท้ายสกุล[แก้]
สกุล | อักษรโรมัน | เลขที่ | พระราชทานแก่ | สืบเชื้อสายจาก | หมายเหตุ |
---|---|---|---|---|---|
พรหมสาฃา ณ สกลนคร | Brâhmasâkhâ na Sakolnagara | 1368 | พระยาประจันตประเทศธานี (โง่นคำ) | พระบรมราชา (พรหมา) | [10] |
ภวภูตานนท์ ณ มหาสารคาม | Bhavabhûtânanda na Mahasaragama | 1218 | พระเจริญราชเดช (อุ่น) | พระเจริญราชเดช (กวด) | [11] |
รัตนดิลก ณ ภูเก็ต | Ratnatilaka na Bhuket | 2327 | หลวงวรเทพภักดี (เดช) | พระยาณรงค์เรืองฤทธิ์ (เจิม) | [12] |
สุนทรกุล ณ ชลบุรี | Sundarakul na Jolburi | 4603 | หม่อมหลวงจาบ | กรมขุนสุนทรภูเบศร์ | [13] |
สกุลย่อยที่ใช้ ณ ต่อท้ายสกุล[แก้]
สกุล | อักษรโรมัน | เลขที่ | พระราชทานแก่ | แยกจากสกุล | หมายเหตุ |
---|---|---|---|---|---|
โกมารกุล ณ นคร | Komârakul na Nagara | 0253 | พระยาไชยยศสมบัติ (เฉลิม) | ณ นคร | [14] |
ประทีป ณ ถลาง | Pradîp na Thâlang | 3945 | หลวงราชอาณัติ (กล่อม) | ณ ถลาง | [15] |
สุคนธาภิรมย์ ณ พัทลุง | Sugandhâbhiromya na Badalung | 2425 | สมบุญ | ณ พัทลุง | [13] |
นามสกุลจากราชทินนาม[แก้]
คือ นามสกุลที่ตั้งขึ้นมาโดยมีที่มาจากราชทินนามของขุนนาง ราชทินนาม มีความหมายคือ นามที่ได้รับพระราชทาน ซึ่งแสดงถึงตำแหน่งหน้าที่ทางราชการของขุนนางผู้นั้น นามพระราชทานนี้อยู่ต่อท้ายบรรดาศักดิ์ (อันได้แก่เจ้าพระยา พระยา พระ หลวง ขุน หมื่น พัน ทนาย ฯ)
ในบางกรณี ราชทินนาม พระเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้เจ้ากระทรวงแต่งตั้งให้แก่ชนชั้นขุนนางที่ได้รับบรรดาศักดิ์ ดังนั้นราชทินนาม เป็นความดีความชอบที่มอบให้แก่ชนชั้นปกครอง ซึ่งไม่ได้รับเงินเดือนในสมัยกรุงศรีอยุธยา นอกจากนี้ ราชทินนาม ยังใช้สำหรับสมณศักดิ์ชั้นสัญญาบัตรที่พระเจ้าแผ่นดินพระราชทานแก่พระภิกษุสงฆ์ เช่นเจ้าคณะฯ
ทั้งนี้ การที่จะใช้ราชทินนามขุนนางเป็นนามสกุลได้ต้องนำความกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตก่อน เมื่อโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตแล้ว ผู้ขอใช้ราชทินนามเป็นนามสกุลจึงจะไปแจ้งขอเปลี่ยนนามสกุลได้
ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล มีพระบรมราชานุญาตให้ใช้นามสกุลจากราชทินนาม ตามความในมาตรา 18 แห่งพระราชบัญญัติชื่อบุคคล พุทธศักราช 2484 ว่า "ผู้ใดประสงค์จะขอใช้ราชทินนามของตนทั้งหมดหรือแต่บางส่วนเป็นชื่อสกุล ให้ยื่นเรื่องราวต่อรัฐมนตรีเพื่อถวายต่อพระมหากษัตริย์ ถ้าได้รับพระบรมราชานุญาตและได้นำหลักฐานไปจดทะเบียนต่อกรมการอำเภอ ณ ที่ว่าการอำเภอท้องที่ซึ่งผู้ยื่นเรื่องราวมีภูมิลำเนาแล้ว จึงให้ถือว่าเป็นชื่อสกุลอันชอบด้วยกฎหมาย"
ทันทีที่พระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวนั้นประกาศใช้อย่างเป็นทางการ ได้มีผู้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตใช้ราชทินนามเป็นนามสกุลในครั้งแรก[16] จำนวน 10 คนดังนี้
- จอมพล หลวงพิบูลสงคราม (แปลก ขิตตะสังคะ) ขอใช้นามสกุล พิบูลสงคราม
- พลตำรวจตรี หลวงอดุลเดชจรัส (อดุล พึ่งพระคุณ) ขอใช้นามสกุล อดุลเดชจรัส
- นาวาเอก หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ (ถวัลย์ ธารีสวัสดิ์) ขอใช้นามสกุล ธำรงนาวาสวัสดิ์
- พันเอก หลวงเชวงศักดิ์สงคราม (ช่วง ขวัญเชิด) ขอใช้นามสกุล เชวงศักดิ์สงคราม
- พลโท หลวงพรหมโยธี (มังกร ผลโยธิน) ขอใช้นามสกุล พรหมโยธี
- พลอากาศตรี พระเวชยันตรังสฤษฏ์ (มุนี มหาสันทนะ) ขอใช้นามสกุล เวชยันตรังสฤษฏ์
- นายพันเอก พระบริภัณฑ์ยุทธกิจ (เภา เพียรเลิศ) ขอใช้นามสกุล บริภัณฑ์ยุทธกิจ
- นายพลตรี หลวงเสรีเริงฤทธิ์ (จรูญ รัตนกุล) ขอใช้นามสกุล เสรีเริงฤทธิ์
- หลวงวิจิตรวาทการ (วิจิตร วัฒนปฤดา) ขอใช้นามสกุล วิจิตรวาทการ
- ขุนสมาหารหิตะคดี (โป-ระ โปรคุปต์) ขอใช้นามสกุล สมาหาร
การขอพระราชทานใช้ราชทินนามเป็นนามสกุล เป็นผลสืบเนื่องมาจากการยกเลิกบรรดาศักดิ์ในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรี ที่กำหนดให้ข้าราชการเลิกใช้บรรดาศักดิ์ คงเป็นนายเท่าเทียมกันทั้งหมด จึงทำให้บรรดาข้าราชการที่เคยมีบรรดาศักดิ์และเคยรู้จักกันทั่วไปราชทินนามต่างๆ พากันนำราชทินนามมาใช้ร่วมกับนามและนามสกุลเดิม เช่น
- พระยาภะรตราชา อดีตผู้บัญชาการจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ได้เปลี่ยนมาใช้นามตามรัฐนิยมว่า หม่อมหลวงทศทิศ อิศรเสนา ภะรตราชา
- พระยาอนุมานราชธน ท่านก็เปลี่ยนมาเป็นนายยง เสฐียรโกเศศ อนุมานราชธน
- สกุลเจ้าเมืองจังหวัดสุรินทร์ ก็สามารถใช้ราชทินนาม"พระยาสุรินทร์ภักดีศรีณรงค์จางวาง" มาใช้ร่วมกับนามและนามสกุลพระราชทานตาม รัฐนิยมว่า สุรินทร์ภักดี อินทนูจิตร ได้ ,
- ขุนเสลวาปี ขุนนางในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็มาใช้ราชทินนามร่วมกับนามตาม รัฐนิยม ว่า เสลวาปีนุสรณ์
ต่อมาได้มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขพระราชบัญญัติชื่อบุคคล พุทธศักราช 2484 เป็นพระราชบัญญัติชื่อบุคคล พุทธศักกราช 2505 โดยในมาตรา 19 บัญญัติว่า "ผู้ใดประสงค์จะใช้ราชทินนามของตน ของผู้บุพการีหรือของผู้สืบสันดานเป็นชื่อสกุล ให้ยื่นคำขอต่อนายทะเบียนท้องที่ในท้องที่ที่ตนมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร แล้วให้นายทะเบียนท้องที่นั้นเสนอต่อไปตามลำดับจนถึงนายทะเบียนกลาง เมื่อนายทะเบียนกลางพิจารณาเห็นสมควร ให้เสนอรัฐมนตรีเพื่อนำความกราบบังคมทูล เมื่อได้รับพระบรมราชานุญาตแล้ว จึงให้นายทะเบียนท้องที่รับจดทะเบียนชื่อสกุลนั้น และออกหนังสือสำคัญแสดงการรับจดทะเบียนชื่อสกุลให้แก่ผู้ขอ"
ส่วนหนึ่งของนามสกุลพระราชทานในรัชกาลที่ ๖[แก้]
ลำดับ | นามสกุล (อักษรไทย) | นามสกุล (อักษรโรมัน) | พระราชทานแด่ | วันที่พระราชทาน | หมายเหตุ |
---|---|---|---|---|---|
1 | สุขุม | Sukhum | เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) | 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2456 | * ทรงเขียนให้เอง (สกุลตั้งใหม่) * เสนาบดีกระทรวงนครบาล *เดิม พระยาสุขุมนัยวินิต พระอาจารย์ภาษาไทยในขณะที่รัชกาลที่ 6 ทรงกำลังศึกษาอยู่ที่ประเทศอังกฤษ |
2 | มาลากุล ณ กรุงเทพ | Malakul na Krungdeb | เจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี (หม่อมราชวงศ์เปีย มาลากุล) และเจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี (หม่อมราชวงศ์ปุ้ม มาลากุล) | 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2456 | * ทรงเขียนให้เอง * เดิม พระยาวิสุทธสุริยศักดิ์ (หม่อมราชวงษ์เปีย) เสนาบดีกระทรวงธรรมการ และพระยาอนุรักษ์ราชมณเฑียร (หม่อมราชวงษ์ปุ้ม) เสนาบดีกระทรวงวัง * สำหรับบรรดาผู้ที่สืบสกุลจากสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอชั้น ๒ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์ |
3 | พึ่งบุญ ณ กรุงเทพ | Phungbun na Krungdeb | เจ้าพระยารามราฆพ (หม่อมหลวงเฟื้อ พึ่งบุญ) | 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2456 | *ทรงเขียนให้เอง * เดิม พระยาประสิทธิ์ศุภการ จางวางมหาดเล็กห้องพระบรรทม อธิบดีกรมมหาดเล็กและผู้บัญชาการกรมมหรศพ * สกุลหม่อมไกรสร |
4 | ณ มหาไชย | Na Mahajai | พระยาบำเรอบริรักษ์ (สาย ณ มหาไชย) | 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2456 | * ทรงเขียนให้เอง * เดิม พระยาเทพทวาราวดี (สาย) อธิบดีกรมมหาดเล็ก * สำหรับสกุลพระยานรนารถภักดีด้วย ซึ่งมาจากตำบลมหาไชย * ปัจจุบันยังคงสะกดเป็น "ณ มหาไชย" |
5 | ไกรฤกษ์ | Krairiksh | พระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ (นพ) และเจ้าพระยามหิธร (ลออ ไกรฤกษ์) | 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2456 | * ทรงเขียนให้เอง * เดิม อธิบดีกรมชาวที่ และพระยาจักรปาณีศรีศิลวิสุทธิ์ (ลออ) กรรมการศาลฎีกา และสมุหพระนิติศาสตร์ * สำหรับบรรดาผู้ที่สืบสกุลจากพระยาไกรโกษา (ฤกษ์) |
อ้างอิง[แก้]
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติขนามนามสกุล พุทธศักราช ๒๔๕๖, เล่ม ๒๙, ตอน ๐ ก, ๓๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๕๕, หน้า ๒๘๓
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศ ให้เลื่อนการใช้พระราชบัญญัติขนานนามสกุล, เล่ม ๓๐, ตอน ๐ก, ๑๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๕๖, หน้า ๕๘
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศ การเลื่อนใช้พระราชบัญญัติขนานนามสกุล พระพุทธศักราช ๒๔๕๖, เล่ม ๓๐, ตอน ๐ ก, ๒๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๕๖, หน้า ๔๙๓
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศกระทรวงมุรธาธร เรื่อง ประกาศพระราชทานนามสกุล ครั้งที่ ๑, เล่ม ๓๐, ตอน ๐ ง, ๒๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๕๖, หน้า ๖๔๘
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศกรมราชเลขานุการ เรื่อง พระราชทานนามสกุล สำหรับสืบเชื้อพระวงศ์ พระเจ้าบรมวงศ์เธอชั้น ๔, เล่ม ๓๒, ตอน ๐ ง, ๑๘ เมษายน พ.ศ. ๒๔๕๘, หน้า ๑๓๕
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศ ห้ามมิให้ผู้ที่ไม่ได้รับพระราชทานนามสกุลใช้ "ณ" นำหน้านามสกุล, เล่ม ๓๒, ตอน ๐ ก, ๑๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๘, หน้า ๓๙๕
- ↑ 7.00 7.01 7.02 7.03 7.04 7.05 7.06 7.07 7.08 7.09 7.10 7.11 7.12 7.13 7.14 7.15 7.16 7.17 7.18 7.19 7.20 "นามสกุลพระราชทาน อักษร ณ". พระราชวังพญาไท. สืบค้นเมื่อ 24 กันยายน 2561.
- ↑ 8.0 8.1 8.2 8.3 "ประกาศพระราชทานนามสกุล ครั้งที่ ๑๔ (ลำดับที่ ๑๑๕๖ ถึงลำดับที่ ๑๑๘๒)" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 31 (0 ง): 72. 5 เมษายน 2557. สืบค้นเมื่อ 30 พฤษภาคม 2561.
- ↑ "ประกาศพระราชทานนามสกุลพิเศษ" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 30 (0 ง): 832. 27 กรกฎาคม 2456.
- ↑ "นามสกุลพระราชทาน อักษร พ". พระราชวังพญาไท. สืบค้นเมื่อ 24 กันยายน 2561.
- ↑ "นามสกุลพระราชทาน อักษร ภ". พระราชวังพญาไท. สืบค้นเมื่อ 24 กันยายน 2561.
- ↑ "นามสกุลพระราชทาน อักษร ร". พระราชวังพญาไท. สืบค้นเมื่อ 24 กันยายน 2561.
- ↑ 13.0 13.1 "นามสกุลพระราชทาน อักษร ส". พระราชวังพญาไท. สืบค้นเมื่อ 24 กันยายน 2561.
- ↑ "นามสกุลพระราชทาน อักษร ก". พระราชวังพญาไท. สืบค้นเมื่อ 24 กันยายน 2561.
- ↑ "นามสกุลพระราชทาน อักษร ป". พระราชวังพญาไท. สืบค้นเมื่อ 24 กันยายน 2561.
- ↑ ประกาศกระทรวงมหาไทย เรื่องพระราชทานพระบรมราชานุญาติใช้ราชทินนามเป็นชื่อสกุล ณ วันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2474 สืบค้นวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2557
- เทพ สุนทรศารทูล. นามสกุลพระราชทาน ในรัชกาลที่6 รัชกาลที่7 รัชกาลที่8 รัชกาลที่9. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2555.
แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]
- เว็บไซต์ พระราชวังพญาไท หัวข้อ นามสกุลพระราชทานเรียงลำดับตามอักษร
- พระราชบัญญัติชื่อบุคคล พุทธศักราช 2484 สืบค้นวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2557
- พระราชบัญญัติชื่อบุคคล พุทธศักกราช 2505 สืบค้นวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2557