พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าทศศิริวงศ์
พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าทศศิริวงศ์ | |
---|---|
พระวรวงศ์เธอ ชั้น 4 พระองค์เจ้าชั้นตรี | |
หม่อม | หม่อมหลวงเลื่อน จักรพันธุ์ |
พระบุตร | หม่อมราชวงศ์พงศ์พรหม จักรพันธุ์ หม่อมราชวงศ์หญิงสมพันธ์ จักรพันธุ์ หม่อมราชวงศ์หญิงวรรณแวว จักรพันธุ์ หม่อมราชวงศ์แก้วมณี จักรพันธุ์ |
ราชวงศ์ | จักรี |
พระบิดา | สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี กรมพระจักรพรรดิพงษ์ |
พระมารดา | หม่อมหลวงผาด จักรพันธุ์ |
ประสูติ | 23 ตุลาคม พ.ศ. 2427 |
สิ้นพระชนม์ | 20 มีนาคม พ.ศ. 2493 (65 ปี) |
รับใช้ | กองทัพบกสยาม |
---|---|
ชั้นยศ | ![]() |
พลโท พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าทศศิริวงศ์ (23 ตุลาคม พ.ศ. 2427 – 20 มีนาคม พ.ศ. 2493) เป็นพระโอรสในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี กรมพระจักรพรรดิพงษ์ ประสูติแต่หม่อมหลวงผาด จักรพันธุ์[1] (ราชสกุลเดิม ปาลกะวงศ์; ธิดาของหม่อมราชวงศ์สุหร่าย ปาลกะวงศ์)[2]
พระประวัติ (โดยย่อ)[แก้]
พลโท พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าทศศิริวงศ์ เป็นพระโอรส สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี กรมพระจักรพรรดิพงศ์ และหม่อมหลวงผาด (เสนีย์วงศ์) ประสูติที่พระราชวังเดิม (ฝั่งธนบุรี) ในวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2427
เมื่อทรงพระเยาว์ได้ทรงศึกษาหนังสือไทยกับหม่อมมารดา ต่อมาในปี 2440 เข้าทรงศึกษาในโรงเรียนนายร้อย จนจบหลักสูตรในปี 2444 แต่ปรากฏว่ายังมีพระชนม์น้อยอยู่ไม่ครบกำหนดที่ทางราชการจะบรรจุเพื่อรับพระราชทานยศเป็นนายทหารสัญญาบัตรได้ สมเด็จพระบิดาจึงทรงขอร้องให้ทรงศึกษาอยู่ในโรงเรียนนายร้อยต่อไปอีก ภายหลังที่สมเด็จพระบิดาสิ้นพระชนม์แล้ว ทางราชการจึงได้ส่งให้ไปทรงศึกษาวิชาทหารต่อที่ประเทศเยอรมนี ได้เข้าทรงศึกษาในโรงเรียนนายร้อย ณ เมืองโกร๊สลิชเตอร์เฟลเด้ (Gross Lichterfelde) ได้ทรงศึกษาจบหลักสูตรออกรับราชการเป็น แฟนริช (Fähnrich)[3] ในกรมทหารราบที่ 36 ของกองทัพบกเยอรมัน แล้วเข้าศึกษาวิชาในโรงเรียนรบที่เมืองเอนอส ติดแม่น้ำไรน์ (Kriegsschule in Engers am Rhein) พอทรงศึกษาสอบไล่ได้จนจบหลักสูตรของโรงเรียนรบก็ทรงประชวรเป็นโรคปอดอักเสบต้องเข้ารักษาพระองค์อยู่ในโรงพยาบาลเป็นเวลานาน เมื่อหายประชวรแล้วจึงเสร็จกลับประเทศไทย ทางราชการได้บรรจุเข้ารับราชการในตำแหน่งว่าที่ร้อยตรีประจำกองร้อยที่ 4 กรมทหารบกราบกรมที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในวันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2448 และรับราชการทหารมาจนได้รับพระราชทานยศเป็นพลโท ในวันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2469 ในช่วงปี 2471 - 2475 พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าทศศิริวงศ์ทรงย้ายไปรับราชการกระทรวงมหาดไทย เป็นสมุหเทศาภิบาลสำเร็จราชการมณฑลพายัพ[4] และเป็นนายทหารกองหนุนสังกัดกรมจเรทหารบก
นอกจากตำแหน่งราชการประจำ ยังได้ทรงดำรงตำแหน่งหน้าที่พิเศษอื่นอีก อาทิ
- พ.ศ. 2458 รับพระราชทานสัญญาบัตรเป็นองคมนตรี รัชกาลที่ 6
- พ.ศ. 2469 รับพระราชทานสัญญาบัตรเป็นองคมนตรี รัชกาลที่ 7
- พ.ศ. 2470 เป็นกรรมการองคมนตรี
- พ.ศ. 2471 เป็นนายกกองอนุสภากาชาด มณฑลพายัพ และเป็นสภานายกกรรมการจัดการลูกกเสือมณฑลพายัพ
สถาปนาพระอิสสริยยศ[แก้]
จากคำประกาศโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาพระอิสสริยยศเป็น พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า ในพระสุพรรณบัฎ พ.ศ. 2466 พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริห์ดังนี้
“พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงบำรุงเลี้ยง…[หม่อมเจ้าทศศิริวงศ์]…มาตั้งแต่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี กรมพระจักรพรรดิพงศ์ สมเด็จพระบิดาสิ้นพระชนม์เมื่อยังเยาว์ แลัวทรงพระกรุณาโปรดฯ ให้ศึกษาวิชาทหารบกได้เป็นนักเรียนนายร้อยเล่าเรียนวิชาความรู้ในโรงเรียนนายร้อยจนตลอดแล้ว โปรดฯ ให้ส่งไปเล่าเรียนวิชาทหารในประเทศเยอรมัน…จนสอบวิชาชั้นนายร้อยทหารบกของเยอรมันได้ แล้วกลับมารับราชการทหารบกได้รับราชการในตำแหน่งหน้าที่ต่าง ๆ ปรากฏความสามารถตั้งแต่เป็นนายร้อยในกรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์และเป็นนายทหารในกรมสนาธิการ แล้วได้เป็นนายพันผู้บังคับกองพันกรมทหารมหาดเล็กและเป็นผู้บังคับการโรงเรียนนายร้อยชั้นมัธยมโดยลำดับ...[ต่อมาพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็น]...ผู้บังคับบัญชาการกองพลทหารบกที่ 3 ณ มณฑลอยุธยา แล้วเป็นผู้บังคับบัญชาการกองพลที่ 5 ณ มณฑลนครราชสีมา มีบำเหน็จความชอบได้เลื่อนยศขึ้นเป็นนายพลตรีและเป็นราชองครักษ์พิเศษ ต่อมาได้เลื่อนเป็นผู้บัญชาการกองพลทหารบกที่ 4 ณ มณฑลราชบุรี...เพราะทรงคุณวุฒิปรีชาและมีความพากเพียรสม่ำเสมอ ได้รับตำแหน่งหน้าที่ใดก็สามารถจะทำงานการในหน้าที่นั้น ๆ ให้เรียบร้อยเจริญขึ้นทุกหน้าที่ จึงเป็นเหตุได้รับเลือกสรรในเวลาเมื่อต้องการผู้มีความสามารถไปรับราชการในตำแหน่งต่าง ๆ ทุกคราวมา ข้อนี้เป็นเกียรติคุณอันสำคัญของหม่อมเจ้าทศศิริวงศ์ ในส่วนพระองค์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก็ได้ทรงคุ้นเคยทราบคุณวุฒิของหม่อมเจ้าทศศิริวงศ์มาตั้งแต่เมื่อเสด็จดำรงตำแหน่งผู้บังคับการกรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ในรัชชกาลที่ 5 หม่อมเจ้าทศศิริวงศ์เคยอยู่ในบังคับบัญชาใกล้ชิด และมีความจงรักต่อใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ทรงนับว่าเป็นผู้สนิทชิดชอบพระราชอัธยาศัยตั้งแต่ครั้งนั้นตลอดมา...บัดนี้...[หม่อมเจ้าทศศิริวงศ์]...ทรงเจริญไวยวุฒิปรีชาสามารถในราชกิจและรับราชการในตำแหน่งสำคัญอันเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัย กอปด้วยความซื่อสัตย์สุจริตและจงรักภักดีในใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทมั่นคง สมควรจะยกย่องเฉลิมพระเกียรติยศสมเด็จพระปิตุลาธิบดีพระองค์ใหญ่ได้อีกพระองค์หนึ่ง....”
พระองค์ทรงรับราชการเป็นทหารบก ทรงได้รับตำแหน่งผู้บัญชาการกองพลทหารบก ที่ 4 จังหวัดราชบุรี และเป็นแม่ทัพกองทัพน้อยทหารบกที่ 1[5] และสมุหเทศาภิบาลมณฑลพายัพ[6] รวมถึงได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการองคมนตรี ตั้งแต่ 2 กันยายน พ.ศ. 2470 ถึง 31 มีนาคม พ.ศ. 2474[7]
ครอบครัว[แก้]
พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าทศศิริวงศ์ได้ทรงสมรสกับหม่อมหลวงเลื่อน สุทัศน์ บุตรีเจ้าพระยาวิชิตวงศ์วุฒิไกร (หม่อมราชวงศ์คลี่ สุทัศน์และท่านผู้หญิงเผื่อน)[8] โอรสและธิดาของพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าทศศิริวงศ์ มีดังนี้
- หม่อมราชวงศ์พงศ์พรหม จักรพันธุ์ สมรสและหย่ากับหม่อมราชวงศ์มาลัยพรรณ จักรพันธุ์ (พระธิดาในพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าดนัยวรนุช) มีธิดาคือ หม่อมหลวงสมพงษ์วดี (จักรพันธุ์) วิกิตเศรษฐ์
- หม่อมราชวงศ์หญิงสมพันธ์ จักรพันธุ์
- หม่อมราชวงศ์หญิงวรรณแวว สุมิตร์
- หม่อมราชวงศ์แก้วมณี จักรพันธุ์
บั้นปลาย[แก้]
เมื่อได้ทรงออกจากราชการรับพระราชทานบำนาญแล้ว ได้ทรงประชวรเป็นนิ่วในถุงน้ำดี ถึงกับต้องเสด็จออกไปผ่าตัดในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ นับจากนั้นมาสุขภาพได้ทรุดโทรมลงกว่าก่อนเป็นอันมาก และในฤดูหนาวปี 2491 ได้ทรงประชวรพระโรคปอดบวมอย่างหนักอีกครั้งหนึ่ง เมื่อหายจากการประชวรครั้งนี้แล้ว สุขภาพของพระองค์ทรุดโทรมลงยิ่งขึ้น ได้มีโรคพระหทัยและพระวักกะพิการเพิ่มขึ้น ได้ทรงรับการรักษาพยาบาลตลอดมา พระอาการทรุดลงโดยลำดับ
พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าทศศิริวงศ์ สิ้นพระชนม์ในวันจันทร์ที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2493 เวลา 15.40 นาฬิกา สิริพระชันษา 65 ปี พระราชทานเพลิงพระศพ ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาสราชวรวิหาร ในวันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2493
เครื่องราชอิสริยาภรณ์[แก้]
- พ.ศ. ไม่ปรากฏ -
เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นปฐมจุลจอมเกล้า (ป.จ.) (ฝ่ายหน้า)
- พ.ศ. 2470 -
เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 7 ชั้นที่ 2 (ป.ป.ร.2)[9]
- พ.ศ. 2469 -
เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 7 ชั้นที่ 3 (ป.ป.ร.3)
อ้างอิง[แก้]
- ↑ จากหนังสือที่จัดพิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงพระศพ พลโท พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าทศศิริวงศ์ วันที่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๔๙๓ (www.car.chula.ac.th)
- ↑ ศุภวัฒย์ เกษมศรี, พลตรี หม่อมราชวงศ์, และรัชนี ทรัพย์วิจิตร. พระอนุวงศ์ชั้นหม่อมเจ้าในพระราชวงศ์จักรี. กรุงเทพ : สำนักพิมพ์บรรณกิจ, พิมพ์ครั้งที่ 3 พ.ศ. 2549. 360 หน้า. หน้า หน้าที่. ISBN 974-221-818-8
- ↑ เป็นตำแหน่งนายทหารสัญญาบัตรของกองทัพออสเตรียและเยอรมัน
- ↑ สมุหเทศาภิบาลเป็นผู้บังคับบัญชาราชการฝ่ายปกครองในหัวเมืองมณฑล และเขตปกครองของมณฑลพายัพประกอบด้วยเชียงใหม่ ลำพูน แม่ฮ่องสอน เชียงราย แพร่ ลำปาง และน่าน
- ↑ กิตติพงษ์ วิโรจน์ธรรมากูร, ย้อนรอยราชสกุลวงศ์ วังหลวง, ดอกหญ้า, 2549, ISBN 974-941-205-2
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 45 หน้า 209 วันที่ 22 เมษายน 2471http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2471/D/209.PDF
- ↑ http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2470/A/205.PDF
- ↑ หนังสือพิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงพระศพ พลโท พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าทศศิริวงศ์ วันที่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๔๙๓ (www.car.chula.ac.th)
- ↑ http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2469/D/3908_1.PDF