ชมพูพันธุ์ทิพย์
ชมพูพันธุ์ทิพย์ | |
---|---|
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
อาณาจักร: | Plantae |
ไม่ได้จัดลำดับ: | Angiosperms |
ไม่ได้จัดลำดับ: | Eudicots |
ไม่ได้จัดลำดับ: | Asterids |
อันดับ: | Lamiales |
วงศ์: | Bignoniaceae |
สกุล: | Tabebuia |
สปีชีส์: | T. rosea |
ชื่อทวินาม | |
Tabebuia rosea DC. | |
ชื่อพ้อง[1] | |
ชื่อพ้อง
|
ชมพูพันธุ์ทิพย์ (ชื่อวิทยาศาสตร์: Tabebuia rosea) เป็นพืชในวงศ์แคหางค่าง (Bignoniaceae) มีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกากลางและอเมริกาใต้ ตั้งแต่ประเทศเม็กซิโก ไปจนถึงประเทศเวเนซุเอลา และประเทศเอกวาดอร์ เป็นต้นไม้ประจำชาติประเทศเอลซัลวาดอร์[2] หม่อมราชวงศ์พันธุ์ทิพย์ บริพัตรเป็นผู้นำเข้ามาปลูกในประเทศไทย [3]เมื่อ ค.ศ. 1957 (พ.ศ. 2500)[4]
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
[แก้]ชมพูพันธุ์ทิพย์เป็นไม้ยืนต้นผลัดใบ ขนาดกลางถึงใหญ่ เรือนยอดรูปไข่หรือทรงกลม แผ่กว้างเป็นชั้น ๆ เปลือกต้นเรียบสีเทาหรือสีน้ำตาล เมื่ออายุมากเปลือกแตกเป็นร่อง กิ่งเปราะหักง่าย ใบเป็นใบประกอบรูปนิ้วมือ ใบย่อย 5 ใบ ก้านใบรวมยาว 5-30 เซนติเมตร ก้านใบย่อยยาว 0.5-2.5 เซนติเมตร ใบรูปขอบขนานหรือรูปไข่แกมรูปรี กว้าง 3-7 เซนติเมตร ยาว 7.5-16 เซนติเมตร ปลายใบแหลมหรือเรียวแหลม โคนใบมนหรือสอบ ขอบใบเรียบ แผ่นใบหนาสีเขียวเข้ม ดอกมีสีชมพูอ่อน ชมพูสดถึงสีขาว กลางดอกสีเหลือง ออกเป็นช่อแบบช่อกระจุกที่ปลายกิ่ง มีดอกย่อยจำนวนมาก โคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอดปลายแยกเป็น 5 แฉก คล้ายรูปแตร ยาว 5-7 เซนติเมตร ดอกบานเต็มที่กว้าง 5-8 เซนติเมตร มักบานพร้อมกัน ร่วงง่าย ผลเป็นผลแห้ง แตกเป็นฝักกลม ยาว 15-30 เซนติเมตร เมื่อแก่แตกเป็น 2 ซีก เมล็ดแบนสีน้ำตาล มีปีก ขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ดหรือตอนกิ่ง[5]
ประโยชน์
[แก้]ชมพูพันธุ์ทิพย์นิยมปลูกเป็นไม้ประดับเนื่องจากมีสีดอกที่สวยงาม[6] ใบต้มแก้เจ็บท้องหรือท้องเสีย หรือตำให้ละเอียดพอกใส่แผล ลำต้นใช้ทำฟืนและเยื่อใช้ทำกระดาษได้[7]
ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม ในช่วงต้นปีตั้งแต่เดือนมกราคมถึงมีนาคม ชมพูพันธุ์ทิพย์ที่ปลูกที่นั่นประมาณ 600 ต้นจะบานสะพรั่งเป็นสีชมพูงดงาม และได้มีการจัดเป็นงานเทศกาลท่องเที่ยวประจำทุกปี[8]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "The Plant List: A Working List of All Plant Species". สืบค้นเมื่อ June 3, 2014.
- ↑ "Tabebuia rosea | Tree-Nation - Trees". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-05. สืบค้นเมื่อ 2015-08-03.
- ↑ "ชมพูพันธุ์ทิพย์'ม.ร.ว.พันธุ์ทิพย์ บริพัตร'นำเข้า". คมชัดลึกออนไลน์. 2013-03-08. สืบค้นเมื่อ 2020-12-02.
- ↑ "ชมพูพันธุ์ทิพย์". www.thaigoodview.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-01-31. สืบค้นเมื่อ 2020-12-02.
- ↑ "ชมพูพันธุ์ทิพย์.html". agkc.lib.ku.ac.th. สืบค้นเมื่อ 2020-12-02.[ลิงก์เสีย]
- ↑ พรรณพืช - ชมพูพันธุ์ทิพย์[ลิงก์เสีย]
- ↑ ชมพูพันธุ์ทิพย์[ลิงก์เสีย]
- ↑ JJ (2015-02-01). "พาชม 'ดอกชมพูพันธุ์ทิพย์' ม.เกษตร กำแพงแสน 2559". 2Baht Travel. สืบค้นเมื่อ 2020-12-02.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ ชมพูพันธุ์ทิพย์
- ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Tabebuia rosea ที่วิกิสปีชีส์
- Tabebuia rosea Bignoniaceae -- World Agroforestry Centre
- Tabebuia rosea (Bertol.) DC.