เรือโดยสารคลองแสนแสบ

เรือโดยสารคลองแสนแสบ เป็นบริการเรือด่วนในคลองแสนแสบ และคลองมหานาค มีเส้นทางระหว่าง ท่าน้ำวัดศรีบุญเรือง ในเขตบางกะปิ จนถึง ท่าสะพานผ่านฟ้าลีลาศ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย โดยมีจุดต่อเรือที่ ท่าประตูน้ำ รวม 28 ท่าเรือ ดำเนินงานโดยกลุ่มเรือหางยาวที่รวมตัวกันในนาม ห้างหุ้นส่วนจำกัด ครอบครัวขนส่ง เปิดให้บริการครั้งแรกในวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2533 จากการชักชวนของ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในสมัยนั้น
เส้นทางการเดินเรือมีความยาวประมาณ 18 กิโลเมตร ให้บริการผู้โดยสารวันละกว่า 4 หมื่นคน เส้นทางการเดินเรือ ออกไปอีก 11 กิโลเมตรถึงมีนบุรี[1] ปี 2562 นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ในรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จัดระเบียบเรือแสนแสบ เพิ่มราวจับรอบโป๊ะท่าเทียบเรือ ติดตั้งกล้องวงจรปิด, จอสมาร์ททีวี ติดตั้งอินเทอร์เน็ตไร้สาย (ไวไฟ) ในทุกท่าเทียบเรือ, รวมทั้งให้ติดตั้งจีพีเอสในเรือจำนวน 55 ลำ ที่ให้บริการในคลองแสนแสบ ทั้งนี้ จะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน[2]
ประวัติ[แก้]
โครงการเดินเรือในคลองมีความคิดริเริ่มมาในช่วงจำลอง ศรีเมือง เป็นผู้ว่ากรุงเทพมหานครสมัยแรก โดยได้หาวิธีแก้ปัญหาการจราจรที่ติดขัดบนท้องถนน ได้มีการศึกษาความเป็นไปได้ในการที่กรุงเทพมหานคร จะใช้การขนส่งทางน้ำผ่านคลองต่าง ๆ ที่มีอยู่เข้ามาช่วย และเริ่มศึกษาโครงการเมื่อปลายปี 2531-2532 โดยทางสำนักงานนโยบายและแผนกรุงเทพมหานครได้ทำการศึกษาเส้นทางเดินเรือในคลองที่มีแนวโน้มความเป็นไปได้ไว้ทั้งหมดประมาณ 16 เส้นคลองได้แก่ คลองแสนแสบ คลองพระโขนง คลองประเวศบุรีรมย์ คลองเปรมประชากร คลองตัน คลองสามวา คลองบางซื่อ คลองบางใหญ่ คลองบางกอกน้อย คลองมอญ คลองชักพระ คลองบางมด คลองภาษีเจริญ คลองทวีวัฒนา คลองมหาสวัสดิ์ และคลองสนามชัย ก่อนจะถูกพัฒนาต่อในยุคจำลอง ศรีเมืองสมัยที่สองโดยเลือกคลองแสนแสบเป็นจุดเดินเรือ
ในระหว่างนั้นมีหลายบริษัทให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก เช่น องค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ ก็สนใจติดต่อมาจะขอทำเรือติดแอร์ แล้วก็เงียบหาย และบริษัทสินสมุทรมีหนังสือมาว่าจะขอทำโดยมีเงื่อนไขสัมปทานจาก กทม. 20 ปี แต่ กทม. ไม่มีอำนาจดังกล่าว แต่กรุงเทพสะดุดตากับบริษัท หจก. ครอบครัวขนส่งที่ยื่นเรื่องเข้ามาโดยไม่มีเงื่อนไขอย่างใดเหนือจากการให้บริการและประโยชน์กับประชาชนสูงสุด จึงถูกเลือกให้เข้ามาทดลองทำการเดินเรือในคลองแสนแสบนี้ เชาวลิต เมธยะประภาส ในนาม หจก. ครอบครัวขนส่งได้คลุกคลีกับเรือมาตั้งแต่เด็ก อาทิการส่งผู้โดยสารจากเจ้าพระยาสู่ปากเกร็ด หรือในครั้งเรียน ม.รามคำแหงเมื่อปี 2514 เชาวลิตมองถึงปัญหาว่ายังไม่มี ขสมก. หรือรถเมล์รับนักศึกษาบริเวณรามคำแหง และได้นำรถวิ่งเส้น ปากคลองตลาด-ม.รามคำแหง อีกทั้งยังนำเรือหางยาวจำนวน 10 ลำมาวิ่งในคลองแสนแสบเพื่อรับส่งนักศึกษาและประชาชนทั่วไป ระหว่างประตูน้ำ กับ มหาวิทยาลัยรามคำแหง [3]
ท่าเทียบเรือ[แก้]
ชื่อท่าเรือ | รหัสท่าเรือ | จุดเปลี่ยนเส้นทาง | |||
---|---|---|---|---|---|
วัดศรีบุญเรือง | E22 | ||||
บางกะปิ | E21 | ||||
เดอะมอลล์บางกะปิ | E20 | สายสีเหลือง สายสีส้ม สายสีน้ำตาล สถานีแยกลำสาลี | |||
วัดกลาง | E19 | ||||
สะพานมหาดไทย | E18 | สายสีส้ม สถานี กกท. (กำลังก่อสร้าง) | |||
มหาวิทยาลัยรามคำแหง | E17 | สายสีส้ม สถานี ม.รามคำแหง (กำลังก่อสร้าง) | |||
วัดเทพลีลา | E16 | ||||
รามคำแหง 29 | E15 | ||||
เดอะมอลล์ 3 รามคำแหง | E14 | สายสีส้ม สถานีรามคำแหง 12 (กำลังก่อสร้าง) | |||
รามคำแหง 1 | E13-1 | สายซิตี้ สายสีแดงอ่อน สถานีรามคำแหง | |||
สะพานคลองตัน | E13 | ||||
โรงเรียนวิจิตร | E12 | ||||
อาคารชาญอิสสระทาวเวอร์ | E11 | ||||
ซอยทองหล่อ | E10 | ||||
สุเหร่าบ้านดอน | E9 | ||||
วัดใหม่ช่องลม | E8 | ||||
อิตัลไทย | E7 | ||||
มศว ประสานมิตร | E6 | ||||
อโศก | E5 | สายเฉลิมรัชมงคล สถานีเพชรบุรี รฟท. ตะวันออก สายซิตี้ สายสีแดงอ่อน สถานีมักกะสัน | |||
นานาชาติ | E4 | ||||
นานาเหนือ | E3 | ||||
สะพานวิทยุ | E2 | ||||
สะพานชิดลม | E1 | ||||
ท่าประตูน้ำ | CEN | เรือโดยสารคลองแสนแสบ ช่วงประตูน้ำ - ผ่านฟ้าลีลาศ สายสุขุมวิท สถานีชิดลม สายสีส้ม สถานีประตูน้ำ (โครงการ) | |||
สะพานหัวช้าง | W1 | สายสุขุมวิท สายสีส้ม สถานีราชเทวี | |||
บ้านครัวเหนือ | W2 | ||||
สะพานเจริญผล | W3 | ||||
ตลาดโบ๊เบ๊ | W4 | เรือไฟฟ้าคลองผดุงกรุงเกษม-ท่ากระทรวงพลังงาน | |||
ผ่านฟ้าลีลาศ | W5 | สายสีส้ม สายฉลองรัชธรรม สถานีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย (โครงการ) | |||
โดยในการเดินเรือจริงจะแบ่งการเดินเรือเป็น 2 ช่วง คือช่วงวัดศรีบุญเรือง - ประตูน้ำ และช่วงประตูน้ำ - ผ่านฟ้าลีลาศ ซึ่งทั้งสองช่วงจะมีจุดเชื่อมต่อที่ท่าเรือประตูน้ำ ผู้โดยสารที่เดินทางผ่านทั้ง 2 ช่วงดังกล่าว (เช่น จากท่าอโศก ไปท่าโบ๊เบ๊ หรือจากท่าผ่านฟ้าลีลาศ ไปท่าเดอะมอลล์บางกะปิ) จะต้องเปลี่ยนเรือที่ท่าประตูน้ำ เพื่อเดินทางต่อไปยังท่าเรือที่ต้องการ
เรือไฟฟ้าคลองแสนแสบ[แก้]
กรุงเทพมหานครร่วมกับกรมเจ้าท่า ได้เปิดให้บริการเรือโดยสารพลังงานไฟฟ้าในคลองแสนแสบ ส่วนต่อขยายตั้งแต่ท่าเรือวัดศรีบุญเรือง-ท่าเรือสำนักงานเขตมีนบุรี ระยะทาง 10.50 กิโลเมตร เปิดให้บริการวันแรกเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565[4] โดยเส้นทางเริ่มจาก
- ท่าเรือสำนักงานเขตมีนบุรี
- ท่าเรือตลาดมีนบุรี
- ท่าเรือประตูน้ำบางชันเหนือ
- ท่าเรือประตูน้ำบางชันใต้
- ท่าเรือชุมชนหลอแหลใหญ่
- ท่าเรือสุเหร่าแดง
- ท่าเรือหมู่บ้านร่มไทร
- ท่าเรือคลองระหัส
- ท่าเรือเสรีไทย 26
- ท่าเรือห้างพาซิโอ (หลังศูนย์การค้าเดอะ พาซิโอ ทาวน์ ถนนรามคำแหง)
- ท่าเรือโรงเรียนพร้อมมิตรวิทยา
- ท่าเรือวัดศรีบุญเรือง
อุบัติเหตุ[แก้]
วันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2555 เวลา 09.45 น. เรือโดยสารคลองแสนแสบเดินทางจากท่าน้ำวัดศรีบุญเรือง ในเขตบางกะปิ จนถึง ท่าสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ระหว่างทางไปจุดต่อเรือที่ ท่าประตูน้ำ ได้เกิดเหตุเพลิงไหม้ห้องเครื่องของเรืออย่างรวดเร็ว ทำให้พนักงานขับเรือ นำเรือเข้าเทียบท่าทองหล่อ[5]
วันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2559 เมื่อเวลาประมาณ 06.20 น. เกิดเหตุเรือโดยสารระเบิดในคลองแสนแสบ บริเวณท่าเรือวัดเทพลีลา ซอยรามคำแหง 39 แขวงหัวหมาก เขตบางกะปิ โดยบนเรือมีผู้โดยสารราว 70 คน จากเหตุระเบิด ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บอย่างน้อย 58 ราย และบาดเจ็บสาหัส 2 ราย ส่วนสาเหตุของเรือโดยสารระเบิดตูมสนั่นทำให้มีผู้บาดเจ็บจำนวนมากนั้น เบื้องต้น คาดว่าเนื่องจากเครื่องยนต์ระเบิด [6] จากเหตุการณ์เรือระเบิดดังกล่าวทำให้ยกเลิกการใช้แก๊ส แก๊สธรรมชาติเหลว (LNG)[7] จึงทำให้ปัจจุบันเรือโดยสารคลองแสนแสบใช้เพียงดีเซลในการขับเคลื่อนเรือ[8]
ดูเพิ่ม[แก้]
อ้างอิง[แก้]
- ↑ ผว.กทม.ตรวจเส้นทางเดินเรือส่วนต่อขยาย วัดศรีบุญเรืองถึงตลาดมีนบุรี [ลิงก์เสีย] สืบค้นเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2552
- ↑ สั่งจัดระเบียบ "เรือแสนแสบ" ติดเพิ่มอุปกรณ์ไฮเทค-ชูชีพ!
- ↑ เชาวลิต ผู้วาดฝันให้ "จำลอง" ในคลองแสนแสบ
- ↑ "เปิดแล้ว! เรือไฟฟ้าคลองแสนแสบ! นั่งฟรี 6 เดือน "วัดศรีบุญเรือง-สำนักงานเขตมีนบุรี"". ผู้จัดการออนไลน์.
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-05-26. สืบค้นเมื่อ 2012-06-07.
- ↑ http://www.thairath.co.th/content/586387
- ↑ "สั่งเรือคลองแสนแสบ 25 ลำ เลิกใช้แก๊ส!! หลังระเบิดผู้โดยสารเจ็บกว่าครึ่งร้อย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-04-27. สืบค้นเมื่อ 2019-06-29.
- ↑ ไขข้อสงสัย LNG เชื้อเพลิงบึมเรือแสนแสบ!? กับปริศนาประกายไฟ
แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]
- เรือต่อรถ รถต่อเรือ กรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี Archived 2007-09-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- รายระเอียดท่าเทียบเรือ Archived 2011-05-10 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จากกรมการขนส่งทางน้ำและพานิชย์นาวี
- อัตราค่าโดยสาร Archived 2011-05-10 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จากกรมการขนส่งทางน้ำและพานิชย์นาวี
- ข้อมูลสถิติเรือโดยสารในคลองแสนแสบ Archived 2011-05-10 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จาก กรมการขนส่งทางน้ำและพานิชย์นาวี
- กลุ่มผู้โดยสารเรือ คลองแสนแสบ จากเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยผู้โดยสารเรือ