ข้ามไปเนื้อหา

พิเชษฐ สถิรชวาล

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พิเชษฐ สถิรชวาล
ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี
ทำหน้าที่ผู้แทนการค้าไทย
ดำรงตำแหน่ง
30 สิงหาคม พ.ศ. 2554 – 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557
นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
ดำรงตำแหน่ง
17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2544 – 3 ตุลาคม พ.ศ. 2545
นายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร
ก่อนหน้าวุฒิชัย สงวนวงศ์ชัย
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม
ดำรงตำแหน่ง
3 ตุลาคม พ.ศ. 2545 – สิงหาคม พ.ศ. 2546
นายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร
ก่อนหน้าประชา มาลีนนท์
นิกร จำนง
ถัดไปวิเชษฐ์ เกษมทองศรี
นิกร จำนง
เลขาธิการคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย
ดำรงตำแหน่ง
พ.ศ. 2549 – 29 กันยายน พ.ศ. 2553
ก่อนหน้าเด่น โต๊ะมีนา
ถัดไปสุรินทร์ ปาลาเร่
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด8 ธันวาคม พ.ศ. 2485 (81 ปี)
อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี ประเทศไทย
ศาสนาอิสลาม
พรรคการเมืองกิจสังคม (2519–2538)
ชาติไทย (2538)
ความหวังใหม่ (2539–2544)
ไทยรักไทย (2544–2549)
สันติภาพไทย (2549–2550)
รวมใจไทยชาติพัฒนา (2550–2551)
เพื่อไทย (2551–2561)
ประชาธรรมไทย (2561–2564)
พลังประชารัฐ​ (2564–2566)
เปลี่ยน (2566)
ไทยศรีวิไลย์ (2566–ปัจจุบัน)
คู่สมรสสุรีย์ สถิรชวาล

พิเชษฐ อับดุรฺรอชีด สถิรชวาล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ[1]พรรคพลังประชารัฐ[2] อดีตที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีทำหน้าที่ผู้แทนการค้าไทย อดีตแกนนำพรรคเพื่อไทย เป็นอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมและอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมในรัฐบาล ดร.ทักษิณ ชินวัตร อดีตเลขาธิการคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย และอดีตผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และอดีตหัวหน้าพรรคประชาธรรมไทย

พิเชษฐ มีบทบาททางการเมืองในปี 2565 โดยถูกกล่าวถึงในฐานะหัวหน้ากลุ่ม 16[3]

ประวัติ

[แก้]

พิเชษฐ สถิรชวาล เกิดเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2485 ที่อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี ศึกษาในระดับมัธยมศึกษาที่โรงเรียนประจำจังหวัดเพชรบุรีและในระดับหลักสูตรอาชีวศึกษาโรงเรียนพณิชยการตั้งตรงจิต จากนั้นจึงศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีที่แคลิฟอร์เนีย คอลเลจ ออฟ คอมเมอร์ซ สหรัฐอเมริกา และในระดับปริญญาโทบริหารธุรกิจที่มหาวิทยาลัยปาล์มบีช ฟลอริดา สหรัฐอเมริกา[4]

สมรสกับนางสุรีย์ สถิรชวาล (สกุลเดิม นภากร น้องสาวนายทวี นภากร อิหม่ามศูนย์กลางอิสลามแห่งประเทศไทย) ขณะกำลังศึกษาที่สหรัฐอเมริกาด้วยกัน แต่เดิมนายพิเชษฐนับถือศาสนาพุทธ ภายหลังจึงเปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลามตามภรรยา

การทำงาน

[แก้]

เริ่มทำงานปี 2508 ที่ธนาคารไทยทนุ จำกัด ก่อนจะลาออกเมื่อปี 2511 เพื่อไปศึกษาต่อที่สหรัฐอเมริกา หลังจากสำเร็จการศึกษาแล้วก็เข้าทำงานในภาครัฐกระทั่งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2527 ซึ่งขณะดำรงตำแหน่งได้ริเริ่มนำคอมพิวเตอร์มาใช้ใน ขสมก.และกลยุทธ์ขึ้นค่าโดยสารด้วยการปรับเปลี่ยนสีตัวรถของรถเมล์ ขสมก.จากสีครีม-น้ำเงินเป็นสีครีม-แดง เพื่อใช้เป็นข้ออ้างในปรับขึ้นค่าโดยสาร หลังจากนั้นได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม ตั้งแต่ปี 2531-2538[4]

การเมือง

[แก้]

ใน พ.ศ. 2518 ได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคกิจสังคมและใน พ.ศ. 2519 ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสระบุรีในนามพรรคกิจสังคมแต่ก็ไม่ได้รับเลือก ต่อมาในปี พ.ศ. 2538 ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเพชรบุรีในนามพรรคชาติไทยแต่ก็ไม่ได้รับเลือกอีก จนกระทั่งในการเลือกตั้งวันที่ 17 พฤศจิกายน 2539 ก็ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเพชรบุรี พรรคความหวังใหม่

พิเชษฐ สถิรชวาล เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคความหวังใหม่[5] และได้รับโปรดเกล้าฯแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมในรัฐบาลพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตรในโควตาพรรคความหวังใหม่ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2544 และต่อมาหลังจากมีการยุบพรรคความหวังใหม่รวมกับพรรคไทยรักไทยและการปฏิรูปกระทรวง ทบวง กรมในปี 2545 ก็ได้รับโปรดเกล้าฯแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการการกระทรวงคมนาคมในวันที่ 3 ตุลาคม 2545[6]

ในเดือนสิงหาคม 2546 ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยให้พิเชษฐพ้นจากความเป็นรัฐมนตรีเนื่องจากจงใจยื่นบัญชีทรัพย์สินอันเป็นเท็จ รวมถึงห้ามไม่ให้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี[7] โดยช่วงเวลาห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้เปลี่ยนการนับถือศาสนาพุทธเป็นศาสนาอิสลาม จากนั้นจึงผันตัวเองไปทำงานด้านกิจการศาสนาอิสลามในตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย

หลังจากพ้นช่วงเวลาการห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมืองก็ได้จัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นโดยมีชื่อว่าพรรคสันติภาพไทยซึ่งเป็นพรรคการเมืองแนวมุสลิม[8] โดยพิเชษฐดำรงตำแหน่งประธานที่ปรึกษาพรรค อย่างไรก็ตามนายสมัคร สุนทรเวชหัวหน้าพรรคพลังประชาชน ในขณะนั้นได้เชิญพรรคสันติภาพไทยเข้าร่วมกับพรรคพลังประชาชน[9] ต่อมาสมาชิกพรรคสันติภาพไทยได้ตั้งกลุ่มการเมืองชื่อกลุ่มสันติภาพไทยซึ่งพิเชษฐเป็นประธานที่ปรึกษากลุ่มแล้วเข้าสังกัดพรรครวมใจไทยชาติพัฒนา[10]โดยที่ไม่ได้เข้าสังกัดพรรคพลังประชาชน อย่างไรก็ตามในการเลือกตั้งวันที่ 23 ธันวาคม 2550 กลุ่มสันติภาพไทยไม่ได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

เมื่อศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้ยุบพรรคพลังประชาชนทำให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคพลังประชาชนเดิมเข้าสังกัดพรรคเพื่อไทย ซึ่งต่อมาพิเชษฐก็เข้าสังกัดพรรคเพื่อไทยโดยได้รับแต่งตั้งให้เป็นประธานภาคใต้พรรคเพื่อไทย ต่อมาเมื่อพลเอกชวลิต ยงใจยุทธเข้าสมัครเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทยและได้รับแต่งตั้งเป็นประธานพรรคและประธานภาคใต้ของพรรคเพื่อไทยพลเอกชวลิตก็ได้แต่งตั้งพิเชษฐเป็นประธานโซนอันดามันพรรคเพื่อไทย[11]

ในปี พ.ศ. 2554 พิเชษฐได้รับการแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีทำหน้าที่ผู้แทนการค้าไทยในรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร[12]

ต่อมาพิเชษฐได้มายื่นจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ชื่อ พรรคประชาธรรมไทย[13] เมื่อวันศุกร์ที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2561 ต่อ คณะกรรมการการเลือกตั้ง มีพิเชษฐเป็นหัวหน้าพรรค โดนชูนโยบายแก้ไขปัญหา 3 จังหวัดชายแดนใต้ [14] ในปี พ.ศ. 2564 เขาและกรรมการบริหารพรรค ได้ร่วมประชุมและมีมติยุบพรรคประชาธรรมไทย และย้ายเข้าสังกัดพรรคพลังประชารัฐ ในเวลาต่อมา

ในปี 2565 เขามีบทบาทสำคัญในฐานะหัวหน้ากลุ่ม 16 ซึ่งเป็นกลุ่มการเมืองของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่สังกัดพรรคการเมืองขนาดเล็กในสภาผู้แทนราษฎรไทย ชุดที่ 25[15] และในปี 2566 เขาได้ย้ายไปร่วมงานกับพรรคเปลี่ยน[16] ก่อนจะย้ายไปพรรคไทยศรีวิไลย์ ในเวลาต่อมา[17]

การศาสนา

[แก้]

ขณะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม พิเชษฐได้กำกับดูแลบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งจุฬาราชมนตรีก็ได้แต่งตั้งพิเชษฐเป็นที่ปรึกษาเพื่ออำนวยความสะดวกในการช่วยเหลือผู้ที่เดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ประเทศซาอุดิอาระเบีย ทำให้พิเชษฐเริ่มมีความสัมพันธ์กับผู้นำศาสนาอิสลามในประเทศไทย

เมื่อถูกห้ามไม่ให้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิเชษฐก็ได้ผันตัวเองมาทำงานศาสนาอิสลามด้วยการสมัครเป็นกรรมการอิสลามประจำจังหวัดเพชรบุรีและได้รับเลือกเป็นกรรมการอิสลามประจำจังหวัดเพชรบุรี จากนั้นกรรมการอิสลามประจำจังหวัดเพชรบุรีก็เลือกให้พิเชษฐเป็นผู้แทนในคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย เมื่อได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย แล้วคณะกรรมการก็มีมติให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย

หลังจากได้รับเลือกเป็นเลขาธิการคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย นายสวาสดิ์ สุมาลยศักดิ์จุฬาราชมนตรี (ในขณะนั้น) ก็ได้เสนอชื่อให้พิเชษฐเป็นประธานจัดงานเมาลิดกลางแห่งประเทศไทย ฮิจเราะห์ศักราช 1427 ได้รับแต่งตั้งเป็นประธานสถาบันมาตรฐานฮาลาลแห่งประเทศไทย รวมถึงได้รับแต่งตั้งเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนฮัจญ์ทางการไทย (อะมีรุลฮัจญ์)[18]อีกด้วย

อย่างไรก็ดีหลังจากที่นายอาศิส พิทักษ์คุมพลเข้ารับตำแหน่งจุฬาราชมนตรีซึ่งเป็นประธานกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยโดยตำแหน่งไม่นาน คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยก็ได้มีการยกเลิกโครงสร้างของคณะกรรมการสมัยจุฬาราชมนตรีคนก่อน ทำให้พิเชษฐต้องพ้นจากตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยไปด้วย ต่อมาพิเชษฐก็ได้ลาออกจากกรรมการอิสลามประจำจังหวัดเพชรบุรีทำให้พ้นจากตำแหน่งกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยด้วยเช่นกัน

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. "ประกาศคณะกรรมการการเลือกต้ง เรื่อง ผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2019-05-08. สืบค้นเมื่อ 2019-06-03.
  2. พิเชษฐ สถิรชวาล สมัครเข้าเป็นสมาชิก​พรรคพลัง​ประชารัฐ​เรียบร้อย​แล้ว[ลิงก์เสีย]
  3. "กลุ่ม 16" พรรคเล็ก เทียบ"ตำนาน" ย้อนผลงาน โบว์แดง-โบว์ดำ
  4. 4.0 4.1 ประวัติ พิเชษฐ สถิรชวาล
  5. "ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง ผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2022-05-31. สืบค้นเมื่อ 2011-05-26.
  6. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-11-03. สืบค้นเมื่อ 2010-04-08.
  7. นิจฉัยให้พิเชษฐพ้นจากความเป็นรัฐมนตรีเนื่องจากจงใจยื่นบัญชีทรัพย์สินอันเป็นเท็จ[ลิงก์เสีย]
  8. "พรรคสันติภาพไทยซึ่งเป็นพรรคการเมืองแนวมุสลิม". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-11-20. สืบค้นเมื่อ 2010-04-08.
  9. พิเชษฐดำรงตำแหน่งประธานที่ปรึกษาพรรค
  10. เชษฐเป็นประธานที่ปรึกษากลุ่มแล้วเข้าสังกัดพรรครวมใจไทยชาติพัฒนา[ลิงก์เสีย]
  11. แต่งตั้งพิเชษฐเป็นประธานโซนอันดามันพรรคเพื่อไทย
  12. นายกปูตั้ง"บังยี"เป็นผู้แทนการค้าไทย
  13. ประกาศนายทะเบียนพรรคการเมือง เรื่อง รับจดทะเบียนจัดตั้งพรรคประชาธรรมไทย
  14. พิเชษฐ สถิรชวาล ยื่นจองชื่อ'พรรคประชาธรรมไทย' ชู แก้3จังหวัดชายแดนใต้ มติชนออนไลน์ 9 มีนาคม 2561
  15. “พิเชษฐ” ขู่ “กลุ่ม 16” จ่อโหวตสวนปมประมูลท่ออีอีซี ไม่แคร์ถูกขับพ้น พปชร.
  16. "พิเชษฐ สถิรชวาล ลาออกพลังประชารัฐ ย้ายเข้าพรรคของ นอท กองสลากพลัส เผยมีอดีต ส.ส. และอดีต รมต. ย้ายมาเพิ่ม". THE STANDARD. 2023-03-15.
  17. "เลือกตั้ง 2566 : "เต้" เปิดตัว "พิเชษฐ" นั่งทีมเศรษฐกิจพรรคไทยศรีวิไลย์". www.thairath.co.th. 2023-03-23.
  18. ได้รับแต่งตั้งเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนฮัจญ์ทางการไทย[ลิงก์เสีย]
  19. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย เก็บถาวร 2022-05-25 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๑๙ ตอนที่ ๒๑ ข หน้า ๑, ๔ ธันวาคม ๒๕๔๕
  20. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย เก็บถาวร 2017-12-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๑๙ ตอนที่ ๒๒ ข หน้า ๖, ๔ ธันวาคม ๒๕๔๔