ข้ามไปเนื้อหา

คณะกรรมการการเลือกตั้ง (ประเทศไทย)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง

ที่ทำการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง
ภาพรวมหน่วยงาน
ก่อตั้ง9 มิถุนายน พ.ศ. 2541; 26 ปีก่อน (2541-06-09)
เขตอำนาจประเทศไทย
สำนักงานใหญ่120 หมู่ 3 ชั้น 2 อาคารรัฐประศาสนภักดี ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร 10210
ฝ่ายบริหารหน่วยงาน
ลูกสังกัดหน่วยงาน
เว็บไซต์www.ect.go.th

คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือย่อว่า กกต. (ECT) เป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มีหน้าที่หลักเป็นผู้ควบคุมและดำเนินการจัดหรือจัดให้มีการเลือกตั้งหรือการสรรหาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น แล้วแต่กรณี รวมทั้งการออกเสียงประชามติ ให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ซึ่งในคณะกรรมการการเลือกตั้งมีสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นสำนักงานเลขานุการ

หน้าที่

[แก้]

คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. มีอำนาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ ดังนี้

  1. ควบคุมดูแลและดำเนินการจัด หรือจัดให้มีการเลือกตั้งและการออกเสียงประชามติ ตามที่กฎหมายกำหนด ให้เป็นไปโดยสุจริต และเที่ยงธรรม
  2. ออกระเบียบ ประกาศ ข้อกำหนดทั้งหลายอันจำเป็นแก่การปฏิบัติงาน ตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ และกฎหมายการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น
  3. มีคำสั่งให้ข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยงานราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น หรือเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ ปฏิบัติการทั้งหลายอันจำเป็นในการเลือกตั้ง
  4. ดูแลการดำเนินงานของพรรคการเมืองตามกฎหมาย
  5. ดำเนินการแบ่งเขตเลือกตั้งสำหรับการเลือกตั้งที่ใช้วิธีการแบ่งเขตเลือกตั้ง และจัดให้มีบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง
  6. สืบสวนหรือไต่สวนเพื่อหาข้อเท็จจริงและวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาหรือข้อโต้แย้งเกี่ยวกับการเลือกตั้ง
  7. สั่งระงับ ยับยั้ง แก้ไขเปลี่ยนแปลง หรือยกเลิกการเลือกตั้ง การเลือก การออกเสียงประชามติ และสั่งให้มีการเลือกตั้ง เลือก ออกเสียงประชามติใหม่ในหน่วยเลือกตั้งบางหน่วยหรือทุกหน่วยเลือกตั้งเมื่อมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่ามีการทุจริตการเลือกตั้ง
  8. เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งและดำเนินคดีอาญากับผู้สมัคร หัวคะแนน และผู้เกี่ยวข้อง (ให้ใบเหลือง หรือ ใบแดง) สั่งระงับการใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้สมัครไว้เป็นการชั่วคราวเมื่อมีหลักฐานอันควรเชื่อว่าผู้นั้นกระทำหรือรู้เห็นกับการกระทำของบุคคลอื่นที่มีลักษณะเป็นการทุจริตหรือทำให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม
  9. การดำเนินคดีในศาลเกี่ยวกับความผิดการเลือกตั้งหรือพรรคการเมือง
  10. ประกาศผลการเลือกตั้งหรือการออกเสียงประชามติ
  11. มีอำนาจแจ้งพนักงานสอบสวน เพื่อดำเนินการสอบสวนและให้มีอำนาจฟ้องคดีต่อศาล ไม่ว่าในเรื่องทางแพ่ง หรืออาญา หรือทางปกครอง แก่ผู้กระทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ตลอดจนให้ชดใช้ค่าเสียหาย ในการเลือกตั้งใหม่แก่ผู้ถูกใบแดง และผู้ที่เกี่ยวข้อง
  12. ส่งเสริม สนับสนุนให้หน่วยงานของรัฐ สถาบันการศึกษาและองค์กรเอกชนในการสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องให้แก่ประชาชนเกี่ยวกับการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริยฺ์ทรงเป็นประมุข การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน หรือให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบการเลือกตั้งและความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ
  13. การรับรองและการแต่งตั้งผู้แทนองค์กรเอกชนเพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบการเลือกตั้ง
  14. ดำเนินการหรือประสานงานกับหน่วยราชการ ส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ หรือสนับสนุนองค์การเอกชน ในการให้การศึกษาแก่ประชาชน เกี่ยวกับการปกครองระบอบประชาธิปไตย ระบุว่าหน้าที่ของ กกต. คือการให้การศึกษาแก่ประชาชนเรื่องการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข
  15. จัดทำรายงานผลการปฏิบัติงานประจำปีและข้อสังเกตเสนอต่อรัฐสภา
  16. ดำเนินการเรื่องอื่นๆตามที่รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายกำหนด[1]

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ม. ๒๒๔,๒๒๕,๒๒๖[2] และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. ๒๕๖๐ ม. ๒๒-๓๘[3]

รายนามคณะกรรมการการเลือกตั้ง

[แก้]

ชุดแรก (พ.ศ. 2540–2544)

[แก้]

เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2540 ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ พระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการการเลือกตั้ง[4] โดยประกอบไปด้วย

ลำดับที่ ชื่อ-นามสกุล ตำแหน่ง วาระการดำรงตำแหน่ง
1 ธีรศักดิ์ กรรณสูต ประธานกรรมการการเลือกตั้ง 27 พฤศจิกายน 2540 - 26 พฤษภาคม 2544
2 สวัสดิ์ โชติพานิช กรรมการการเลือกตั้ง
(ฝ่ายสืบสวนสอบสวนและวินิจฉัย)
27 พฤศจิกายน 2540 - 26 พฤษภาคม 2544
3 ยุวรัตน์ กมลเวชช กรรมการการเลือกตั้ง
(ฝ่ายจัดการการเลือกตั้ง)
27 พฤศจิกายน 2540 - 26 พฤษภาคม 2544
4 วิสุทธิ์ โพธิแท่น กรรมการการเลือกตั้ง
(ฝ่ายกิจการพรรคการเมือง)
27 พฤศจิกายน 2540 - 4 กุมภาพันธ์ 2543
5 โคทม อารียา กรรมการการเลือกตั้ง
(ฝ่ายการมีส่วนร่วมของประชาชน)
27 พฤศจิกายน 2540 - 26 พฤษภาคม 2544

ต่อมาเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2543 นายวิสุทธิ์ โพธิแท่น ได้ขอลาออกจากตำแหน่งกรรมการการเลือกตั้ง และเมื่อวันที่ 13 เมษายน 2543 ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ นายจิระ บุญพจนสุนทร ดำรงตำแหน่งแทน

โดยมี ร้อยตรีวิจิตร อยู่สุภาพ เป็นเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง ได้รับการแต่งตั้งเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2541 และปฏิบัติหน้าที่ถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2546

ชุดที่สอง (พ.ศ. 2544–2549)

[แก้]

มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2544 วาระการดำรงตำแหน่ง วันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2544 - 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2549[5]

  • พลเอก ศิรินทร์ ธูปกล่ำ ประธานกรรมการการเลือกตั้ง (วันที่ 21 ตุลาคม 2544 - 15 พฤษภาคม 2545) (พลเอกศิรินทร์ ธูปกล่ำ ได้ลาออกจากตำแหน่งเมื่อ 15 พฤษภาคม 2545) และเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2545 ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ พลเอกจารุภัทร เรืองสุวรรณ กรรมการการเลือกตั้ง ฝ่ายกิจการพรรคการเมือง แทน พลเอกศิรินทร์ ธูปกล่ำ และพลเอกจารุภัทร เรืองสุวรรณ ได้ยื่นหนังสือลาออก เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2549
  • พลตำรวจเอก วาสนา เพิ่มลาภ กรรมการการเลือกตั้ง ฝ่ายกิจการพรรคการเมือง (ภายหลังจากการแต่งตั้ง พลเอกจารุภัทร เรืองสุวรรณ แล้ว คณะกรรมการการเลือกตั้งได้เลือก พลตำรวจเอกวาสนา เพิ่มลาภ เป็นประธานกรรมการการเลือกตั้ง โดยมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2545)
  • นายจรัล บูรณพันธุ์ศรี กรรมการการเลือกตั้ง ฝ่ายสืบสวนสอบสวนและวินิจฉัย (ถึงแก่อนิจกรรม เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2548)
  • นายวีระชัย แนวบุญเนียร กรรมการการเลือกตั้ง ฝ่ายการมีส่วนร่วมของประชาชน
  • นายปริญญา นาคฉัตรีย์ กรรมการการเลือกตั้ง ฝ่ายบริหารการเลือกตั้ง

โดยมี พลตำรวจตรี เอกชัย วารุณประภา เป็นเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง ได้รับการแต่งตั้งเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2547 และลาออกจากตำแหน่ง เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2549

การปรับระบบการทำงาน หลังการเสียชีวิตของนายจรัล บูรณพันธุ์ศรี

[แก้]

ภายหลังการเสียชีวิตของนายจรัล บูรณพันธุ์ศรี และยังไม่มีการสรรหาบุคคลใหม่มาทดแทน กกต.ที่เหลืออยู่ 4 คน ได้แบ่งหน้าที่ใหม่ จากเดิมที่แบ่งตามลักษณะงานตามความเชี่ยวชาญของ กกต. แต่ละคน ออกเป็น 4 เขตพื้นที่ให้ กกต. แต่ละคนดูแล โดยแต่ละคนต่างก็มีอำนาจเด็ดขาดทั้งการบริหาร การเลือกตั้ง การจัดการเลือกตั้ง การสืบสวนสอบสวน และวินิจฉัย ในเขตพื้นที่ที่ตนรับผิดชอบ คือ

  • พลตำรวจเอก วาสนา เพิ่มลาภ ดูแลภาคกลางและกรุงเทพ
  • นายปริญญา นาคฉัตรีย์ ดูแลภาคใต้
  • นายวีระชัย แนวบุญเนียร ดูแลภาคเหนือ
  • พลเอก จารุภัทร เรืองสุวรรณ ดูแลภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ทั้งนี้ได้มีการเพิ่มบุคลากรทั้งในสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง และสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัด เพื่อขับเคลื่อนภารกิจและการทำงานของ กกต. ให้สำเร็จ

มีการปรับโครงสร้างหน่วยงานการวินิจฉัยสืบสวนสอบสวน จากเดิมที่มีสองส่วน เพื่อการตรวจสอบและคานอำนาจ คือ

  • สำนักสืบสวนสอบสวน มีหน้าที่รับเรื่องร้องเรียน และสอบสวนหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการทุจริตเลือกตั้ง
  • สำนักวินิจฉัย มีหน้าที่พิจารณากลั่นกรองพยานหลักฐานจากเจ้าหน้าที่สำนักสืบสวนสอบสวนสืบสวนก่อนเสนอคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่ามีมูลหรือไม่ หากหลักฐานไม่เพียงพอ ก็ส่งเรื่องให้เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้งหรือรองเลขาธิการที่ได้รับมอบหมายเพื่อให้เจ้าหน้าที่สืบสวนสอบสวนหาหลักฐานเพิ่มเติม แล้วจึงส่งเรื่องให้คณะอนุกรรมการวินิจฉัยเป็นผู้พิจารณาก่อนส่งความเห็นในเรื่องนั้นต่อให้ กกต.กลาง วินิจฉัยชี้ขาดขั้นสุดท้าย แต่ในกรณีที่มีความเร่งด่วน ก็อาจส่งเรื่องให้ กกต.กลางวินิจฉัยได้

การจัดโครงสร้างเดิม คล้ายกับการบริหารงานในกระบวนการยุติธรรม ที่มีสำนักสืบสวนสอบสวนทำหน้าที่คล้ายตำรวจ สำนักวินิจฉัยทำหน้าที่คล้ายอัยการ คณะอนุกรรมการวินิจฉัยทำหน้าที่คล้ายเป็นศาลชั้นต้น และ กกต.กลางทำหน้าที่คล้ายกับเป็นศาลสูงสุด

แต่หลังจากที่ กกต. ชุดที่สองเข้ามาดำเนินการไม่นาน ก็มีการปรับให้หน่วยงานทั้งสองมารวมเป็นสำนักเดียวกัน คือ สำนักสืบสวนและวินิจฉัย แต่แบ่งพื้นที่การทำงานเป็นภาค ไม่ได้แบ่งเนื้อหาสาระของการทำงาน มีลักาณะการทำงานคล้ายตำรวจภูธรภาค ไม่มีอัยการ (สำนักวินิจฉัย)

กรณีคำพิพากษาของศาล

[แก้]

เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2549 ศาลอาญาได้ตัดสินตามคำฟ้องของโจทย์คือ นาย ถาวร เสนเนียม ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ ในข้อหาการปฏิบัติหน้าที่ไม่ชอบของ กกต. โดยการเอื้อประโยชน์ให้กับพรรคไทยรักไทย ตามมาตรา 24 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2541 มีโทษตามมาตรา 42 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฉบับเดียวกัน (ไม่ได้ลงโทษตามมาตรา 157 แห่งประมวลกฎหมายอาญา) ศาลได้มีคำตัดสินว่าให้คณะกรรมการสามคนได้แก่ พลตำรวจเอกวาสนา เพิ่มลาภ นายปริญญา นาคฉัตรีย์ และนายวีระชัย แนวบุญเนียร ต้องคำพิพากษาศาลอาญา ให้จำคุก 4 ปี โดยไม่รอลงอาญา ส่งผลให้ต้องพ้นจากตำแหน่ง กกต. เนื่องจากขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญ และต่อมาศาลฎีกาได้มีคำพิพากษายกฟ้อง

ชุดที่สาม (พ.ศ. 2549–2556)

[แก้]

เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2549 คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ได้ออกประกาศฉบับที่ 13 แก้ไขโดยประกาศฉบับที่ 16 ให้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2541 ยังคงมีผลใช้บังคับต่อไป รวมทั้งให้นายอภิชาต สุขัคคานนท์ นายประพันธ์ นัยโกวิท นางสดศรี สัตยธรรม นายสมชัย จึงประเสริฐ และนายสุเมธ อุปนิสากร เป็นประธานกรรมการและกรรมการการเลือกตั้ง ชุดที่ 3 ตามความที่ประธานวุฒิสภาเคยนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งบุคคลทั้งห้าเป็นประธานกรรมการการเลือกตั้งและกรรมการการเลือกตั้ง เพื่อทำหน้าที่จัดการเลือกตั้งท้องถิ่น แม้จะยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ไปแล้ว

วาระการดำรงตำแหน่งวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2549 – วันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2556 และ รักษาการจนถึงวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2556

  • นายอภิชาต สุขัคคานนท์ ประธานกรรมการการเลือกตั้ง รับผิดชอบด้านบริหารกลาง
  • นายประพันธ์ นัยโกวิท กรรมการการเลือกตั้ง รับผิดชอบงานด้านการบริหารงานเลือกตั้ง
  • นายสมชัย จึงประเสริฐ กรรมการการเลือกตั้ง รับผิดชอบด้านการสืบสวนและสอบสวน
  • นางสดศรี สัตยธรรม กรรมการการเลือกตั้ง รับผิดชอบด้านกิจการพรรคการเมืองและออกเสียงประชามติ
  • นายสุเมธ อุปนิสากร กรรมการการเลือกตั้ง รับผิดชอบด้านการมีส่วนร่วม โดยพ้นตำแหน่งด้วยเหตุอายุครบ 70 ปี เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2552 และเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2552 ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายวิสุทธิ์ โพธิแท่น เป็นกรรมการการเลือกตั้ง รับผิดชอบด้านการมีส่วนร่วม แทนนายสุเมธ อุปนิสากร

โดยมี ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เป็นเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง ได้รับการแต่งตั้งเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2549 และลาออกจากเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2554 เพื่อไปดำรงตำแหน่ง กรรมการ กสทช. คณะกรรมการการเลือกตั้งจึงมีมติแต่งตั้งให้ นายภุชงค์ นุตราวงศ์ เป็นเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2555[6]

ชุดที่สี่ (พ.ศ. 2556–2561)

[แก้]

คณะกรรมการการเลือกตั้งชุดที่สี่ ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2556 และทำพิธีรับพระบรมราชโองการแต่งตั้งและเข้าปฏิบัติหน้าที่ เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2556

วาระการดำรงตำแหน่ง 13 ธันวาคม พ.ศ. 2556 - 12 สิงหาคม พ.ศ. 2561[7]

เมื่อวันที่ 30 ก.ย. ที่ห้องประชุมศาลฎีกา ได้เรียกประชุมผู้พิพากษาศาลฎีกา ทั้ง 139 คน เพื่อประชุมใหญ่ มีผู้ออกเสียงทั้งหมด พิจารณาสรรหาบุคคลที่สมควรถูกเสนอชื่อให้เป็นคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แทนที่ประชุมจะเลือกคณะกรรมการเลือกตั้งทั้งหมด 2 ตำแหน่ง ซึ่งครั้งนี้ได้เพียง 1 ตำแหน่ง โดยจะเรียกประชุมผู้พิพากษาศาลฎีกา อีกครั้ง ในวันที่ 9 ตุลาคม และอีก 3 ตำแหน่ง จะมาจากการประกาศรับสมัครจากบุคคลทั่วไป จะมีการคัดเลือกของคณะกรรมการสรรหากกต. 6 คน ซึงประกอบไปด้วย 1.ประธานศาลฎีกา 2.ประธานศาลปกครอง 3.ประธานสภาผู้แทนราษฎร 4.ผู้นำฝ่ายค้าน 5.ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาเลือกมา 1คน ที่ไม่ใช่ตุลาการ 6.ที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุดเลือกมา 1 คน โดยที่ไม่ใช่ตุลาการ

  • นาย ศุภชัย สมเจริญ ประธานกรรมการการเลือกตั้ง รับผิดชอบด้านกิจการบริหารกลาง
  • นาย บุญส่ง น้อยโสภณ กรรมการการเลือกตั้ง รับผิดชอบด้านกิจการสืบสวนสอบสวนและวินิจฉัย
  • ว่าที่ร้อยตรี ดร.ประวิช รัตนเพียร กรรมการการเลือกตั้ง รับผิดชอบด้านกิจการการมีส่วนร่วม
  • ดร.ธีรวัฒน์ ธีรโรจน์วิทย์ กรรมการการเลือกตั้ง รับผิดชอบด้านกิจการพรรคการเมืองและการออกเสียงประชามติ
  • รองศาสตราจารย์ สมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง รับผิดชอบด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง (13 ธันวาคม 2556 - 20 มีนาคม 2561)[8]

ผลงานสำคัญของคณะกรรมการการเลือกตั้งชุดนี้คือ

  1. การจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557
  2. การจัดการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา เมื่อวันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2557
  3. การรับสมัครบุคคลเข้ารับการสรรหาเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ
  4. การจัดการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ปี พ.ศ. 2559

การจัดการเลือกตั้งทั่วไปปี 2557

[แก้]

คณะกรรมการการเลือกตั้งชุดนี้ ได้เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ในกระบวนการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่จะมีขึ้นในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 แต่ไม่สามารถเปิดให้มีการลงคะแนนเลือกตั้งได้ทุกหน่วยเลือกตั้ง และได้กำหนดวันลงคะแนนเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 2 มีนาคม 2557 เพื่อจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้สำเร็จตามที่กฎหมายให้อำนาจไว้

ต่อมาผู้ตรวจการแผ่นดินได้เสนอเรื่องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 และศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยการเลือกตั้งที่ 5/2557 เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2557 ว่าการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

หลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยให้การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 108 วรรคสอง คณะรัฐบาล กกต. และผู้ขัดแย้งได้มีการประชุมเพื่อหารือในประเด็นการจัดการเลือกตั้ง ส.ส.ครั้งใหม่ ในขณะนั้นความขัดแย้งก็มีอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่ง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ประกาศกฎอัยการศึก ด้วยการอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ. 2457 และจัดตั้งกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย และได้เชิญตัวแทนจาก 7 ฝ่าย เข้าร่วมประชุมที่สโมสรกองทัพบก เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2557 โดยผลการประชุมในวันนั้น แต่ละฝ่ายไม่สามารถหาทางออกที่ดีที่สุดของประเทศได้

ต่อมาวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ได้มีการประชุมอีกครั้ง โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก เป็นหัวหน้าคณะ ประกาศยึดอำนาจ นับเป็นการรัฐประหารครั้งที่ 13 ในประวัติศาสตร์ไทย

หลังจากนั้นได้มีประกาศให้สมาชิกวุฒิสภาสิ้นสุดลง และให้งดการจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นไปจนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงทำให้สถานการณ์ของประเทศ ณ ขณะนั้นได้บรรเทาความร้อนแรงและการปะทะที่จะให้เกิดการเสียเลือดเสียเนื้อของประชาชนคนไทยแล้วเดินหน้าเข้าสู่การปฏิรูปประเทศอย่างจริงจัง ก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง ต่อมามีคำสั่งคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่22/2559 เรื่อง การได้มาซึ่งสมาชิกสภาท้องถิ่นเป็นการชั่วคราวในกรณีที่มีการยุบสภาท้องถิ่น โดยให้มีการแต่งตั้ง คณะกรรมการสรรหาคณะหนึ่งทำหน้าที่คัดเลือกบุคคลเพื่อแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นในกรณีที่มีการยุบสภาท้องถิ่น[9]มีนายกองเอกกฤษฎา บุญราชเป็นประธานกรรมการคณะกรรมการสรรหา

ชุดที่ห้า (พ.ศ. 2561–2566)

[แก้]

ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 บัญญัติไว้ดังนี้

มาตรา 222 คณะกรรมการการเลือกตั้งประกอบด้วยกรรมการจำนวนเจ็ดคนซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภา จากบุคคลดังต่อไปนี้ (๑) ผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญในสาขาวิชาการต่างๆ ที่จะยังประโยชน์แก่การบริหารและจัดการการเลือกตั้งให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม และมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ซึ่งได้รับการสรรหาจากคณะกรรมการสรรหา จำนวนห้าคน (๒) ผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ด้านกฎหมาย มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์และเคยดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดีผู้พิพากษา หรือตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดีอัยการมาแล้วเป็นเวลา ไม่น้อยกว่าห้าปี ซึ่งได้รับการคัดเลือกจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา จำนวนสองคน ผู้ซึ่งจะได้รับการสรรหาเป็นกรรมการการเลือกตั้งตาม (๑) ต้องมีคุณสมบัติตามมาตรา ๒๓๒(๒) (๓) (๔) (๕) (๖) หรือ (๗) หรือเป็นผู้ทำงานหรือเคยทำงานในภาคประชาสังคมมาแล้วเป็นเวลา ไม่น้อยกว่ายี่สิบปี ทั้งนี้ ตามที่คณะกรรมการสรรหาประกาศกำหนด

และมาตรา 223 กรรมการการเลือกตั้งมีวาระการดำรงตำแหน่งเจ็ดปีนับแต่วันที่พระมหากษัตริย์ ทรงแต่งตั้ง และให้ดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว

คณะกรรมการการเลือกตั้งชุดปัจจุบัน มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2561[10]และวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2561[11]

  1. อิทธิพร บุญประคอง ประธานกรรมการการเลือกตั้ง (12 สิงหาคม พ.ศ. 2561 - ปัจจุบัน)
  2. ศาสตราจารย์ ดร. สันทัด ศิริอนันต์ไพบูลย์ กรรมการการเลือกตั้ง (12 สิงหาคม พ.ศ. 2561 - ปัจจุบัน)
  3. ฉัตรไชย จันทร์พรายศรี กรรมการการเลือกตั้ง (12 สิงหาคม พ.ศ. 2561 - 27 มิถุนายน พ.ศ. 2566)[12]
  4. ปกรณ์ มหรรณพ กรรมการการเลือกตั้ง (12 สิงหาคม พ.ศ. 2561 - ปัจจุบัน)
  5. เลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ กรรมการการเลือกตั้ง (4 ธันวาคม พ.ศ. 2561 - ปัจจุบัน)
  6. ดร.ฐิติเชฏฐ์ นุชนาฏ กรรมการการเลือกตั้ง (4 ธันวาคม พ.ศ. 2561 - ปัจจุบัน)


การจัดการเลือกตั้งทั่วไปปี 2562

[แก้]

คณะกรรมการการเลือกตั้งชุดปัจจุบันนี้ได้เข้ามาปฏิบัติหน้าที่หลังจากการเผยแพร่พระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2562 โดยมีการจัดการเลือกตั้งล่วงหน้าขึ้นในวันที่ 17 มีนาคม 2562[13] บทบาทของ กกต. ในการเลือกตั้งครั้งนี้ถูกวิจารณ์อย่างกว้างขวางตั้งแต่ที่มา การเลือกปฏิบัติต่อผู้สมัครจากพรรคพลังประชารัฐเมื่อเทียบกับพรรคอื่น การวินิจฉัยให้บัตรเลือกตั้งจากต่างประเทศที่ส่งมาล่าช้าเป็นบัตรเสียทั้งหมด การประกาศผลการเลือกตั้งล่าช้า "บัตรเขย่ง" ตลอดจนการเลือกใช้สูตรคำนวณ ส.ส. บัญชีรายชื่อที่ทำให้พรรคอนาคตใหม่เสียประโยชน์ เป็นผลให้มีประชาชนเข้าชื่อออนไลน์กว่า 800,000 รายชื่อ ตลอดจนมีการเคลื่อนไหวขององค์การนอกภาครัฐและเครือข่ายประชาสังคมให้ถอดถอน กกต.

ในปี 2562 กกต. สั่งแจกใบส้มแก่สุรพล เกียรติไชยากร ผู้ชนะการเลือกตั้ง ส.ส. เชียงใหม่ เขต 8 โดยอ้างว่าเข้าข่ายผิด พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 73(2) เกี่ยวกับการซื้อเสียง[14] อย่างไรก็ตาม ในปี 2565 ศาลสั่งให้คณะกรรมการการเลือกตั้งชดใช้เงินแก่เขาจำนวน 70 ล้านบาท เป็นค่าเสียหายและเยียวยาฐานทำให้เสียชื่อเสียงจากการถูกแจกใบส้ม ภายหลังศาลฎีกาพิพากษายกฟ้องคดีบูชาเทียนว่าไม่ใช่การซื้อเสียง[15]

การจัดการเลือกตั้งในปี 2565

[แก้]

คณะกรรมการการเลือกตั้งถูกวิจารณ์ว่ารับรองผลการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2565 ล่าช้า แม้ กกต. จะยืนยันว่าตนมีอำนาจประกาศผลการเลือกตั้งได้ภายใน 30–60 วัน แต่ก็มีอาจารย์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2 คน ออกมาวิจารณ์ว่าเป็นความล่าช้าโดยไม่มีเหตุอันควร และไกลเกินกว่าเหตุอย่างชัดเจน[16][17] ความไม่พอใจดังกล่าวทำให้เกิดแฮชแท็ก #กกตเป็นเหี้ยอะไร ติดเทรนด์ทวิตเตอร์[18] ก่อนหน้านั้นในการเลือกตั้ง ส.ส. ราชบุรี เขต 3 แทนตำแหน่งที่ว่าง ซึ่งผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์ชนะ กกต. ใช้เวลารับรองผลอย่างเป็นทางการ 9 วัน[19] ขณะที่ในการเลือกตั้ง ส.ส. กรุงเทพมหานคร เขต 9 แทนตำแหน่งที่ว่าง ซึ่งพรรคเพื่อไทยชนะ กกต. ใช้เวลารับรองเกือบ 2 เดือน[20]

ในเดือนกันยายน 2565 กกต. ประกาศระเบียบการหาเสียงเลือกตั้ง 180 วันซึ่งมีกำหนดจัดขึ้นไม่เกินเดือนพฤษภาคม 2566 หากนับตามอายุสภาผู้แทนราษฎรและกฎหมายเลือกตั้ง[21] ขณะที่เกิดเสียงวิจารณ์ว่าอาจมีการเลือกปฏิบัติในการบังคับใช้[22]

ชุดที่หก (พ.ศ. 2567-ปัจจุบัน)

[แก้]

ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) พุทธศักราช 2564 บัญญัติไว้ดังนี้มาตรา 83 สภาผู้แทนราษฎรประกอบด้วยสมาชิกจำนวนห้าร้อยคน โดยเป็นสมาชิกซึ่งมาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งจำนวนสี่ร้อยคน และสมาชิกซึ่งมาจากการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อจำนวนหนึ่งร้อยคน ชุดที่หกมีผลตั้งแต่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2561

  1. อิทธิพร บุญประคอง ประธานกรรมการการเลือกตั้ง (12 สิงหาคม พ.ศ. 2561 - ปัจจุบัน)
  2. ศาสตราจารย์ ดร. สันทัด ศิริอนันต์ไพบูลย์ กรรมการการเลือกตั้ง (12 สิงหาคม พ.ศ. 2561 - ปัจจุบัน)
  3. ปกรณ์ มหรรณพ กรรมการการเลือกตั้ง (12 สิงหาคม พ.ศ. 2561 - ปัจจุบัน)
  4. เลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ กรรมการการเลือกตั้ง (4 ธันวาคม พ.ศ. 2561 - ปัจจุบัน)
  5. ดร.ฐิติเชฏฐ์ นุชนาฏ กรรมการการเลือกตั้ง (4 ธันวาคม พ.ศ. 2561 - ปัจจุบัน)
  6. ชาย นครชัย กรรมการเลือกตั้ง (2 ตุลาคม 2566 – ปัจจุบัน)
  7. สิทธิโชติ อินทรวิเศษ (19 มีนาคม 2567 - ปัจจุบัน)[23]

ปัจจุบัน นายแสวง บุญมี เป็นเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง มี พันตำรวจโท ระพีพงษ์ จิรพัฒนาลักษณ์ พันตำรวจตรี ณัฐวัฒน์ เสงี่ยมศักดิ์รร้อยตำรวจเอก ชนินทร์ น้อยเล็ก เป็นรองเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง

ข้อวิจารณ์

[แก้]

หลังจากมีการจัดเลือกตั้งล่วงหน้าในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2566 นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ได้ออกมาโพสต์เฟซบุ๊กโดยระบุว่า "กลโกงเลือกตั้งล่วงหน้า กกต. ใบ้กิน!" ซึ่งระบุรายละเอียดว่า การลงทะเบียนล่วงหน้ามีมากกว่าปกติ ผู้สูงอายุถูกหลอกจากเครือข่ายหัวคะแนน และผู้สมัครได้นำเอาบัตรประชาชนไปลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าผ่านระบบออนไลน์โดยไม่ยินยอม เนื่องจากชูวิทย์ระบุว่ามีการจ่ายเงิน 500 บาท และขอเก็บบัตรประชาชน [24] ต่อมาชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์อยากขอเสนอให้ผลการเลือกตั้งล่วงหน้าในส่วนของคะแนนเป็นโมฆะ [25]

อ้างอิง

[แก้]
  1. อำนาจหน้าที่ของกกต.ตามรัฐธรรมนูญ
  2. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐[ลิงก์เสีย]
  3. พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. ๒๕๖๐
  4. ประกาศแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการการเลือกตั้ง ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๔ ตอนพิเศษ ๑๑๓ ง หน้า ๓-๔ วันที่ ๓ ธันวาคม ๒๕๔๐
  5. http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2544/E/114/1.PDF
  6. http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2555/A/028/11.PDF
  7. ai
  8. "คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 4/2561" (pdf). ราชกิจจานุเบกษา. กรุงเทพฯ: สลค. 135 (64 ง). 2018-03-20. สืบค้นเมื่อ 2018-03-20.
  9. http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2559/E/102/13.PDF
  10. พระราชโองการ ประกาศ แต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการการเลือกตั้ง
  11. http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2561/E/310/T_0001.PDF [ลิงก์เสีย]
  12. นับคะแนนใหม่ 47 หน่วย ราบรื่น ผลเลือกตั้งไม่เปลี่ยน
  13. เลือกตั้งล่วงหน้า 17 มีนา 62 คึกคักคิวยาวทุกพื้นที่
  14. https://www.posttoday.com/politic/news/587207
  15. "ศาลสั่ง กกต.ชดใช้ "อดีต ส.ส.เชียงใหม่ พท." รวม 70 ล้าน เหตุแจกใบส้มไม่รอบคอบ". ผู้จัดการออนไลน์. 20 April 2022. สืบค้นเมื่อ 21 April 2022.
  16. "ดร.พรสันต์ : ความยุติธรรมที่ล่าช้า ย่อมเป็นความอยุติธรรมในตัวเอง". มติชนออนไลน์. 30 May 2022. สืบค้นเมื่อ 31 May 2022.
  17. "อ.จุฬาฯ ชี้ร้องเรียนเลือกตั้งไม่สุจริต คนฟ้องต้องรับผิดชอบ ยันกม.ไม่ให้ร้องเรื่อยเปื่อย". ข่าวสด. 30 May 2022. สืบค้นเมื่อ 31 May 2022.
  18. "สรุป แฮชแท็ก #กกตเป็น…อะไร และความเคลื่อนไหว ก่อน กกต.เคาะรับรอง 'ชัชชาติ' เป็นผู้ว่าฯ กทม. หรือไม่ บ่ายนี้". workpointTODAY. สืบค้นเมื่อ 31 May 2022.
  19. "กกต. ประกาศรับรอง "ชัยทิพย์ กมลพันธ์ทิพย์" เป็น ส.ส.ราชบุรี เขต 3 แล้ว". ไทยรัฐ. 30 May 2022. สืบค้นเมื่อ 31 May 2022.
  20. ""สุรชาติ เทียนทอง" เฮ! กกต.รับรองผลเลือกตั้ง ส.ส.กทม.หลักสี่". กรุงเทพธุรกิจ. 29 March 2022. สืบค้นเมื่อ 31 May 2022.
  21. "กกต. แจงระเบียบ 180 วัน หาเสียงเลือกตั้ง ก่อนสภาครบวาระ". คมชัดลึกออนไลน์. 27 September 2022. สืบค้นเมื่อ 30 September 2022.
  22. "เลขาฯกกต.ลั่นไม่หนักใจทัวร์ลงยับกฎเหล็กคุมเข้มหาเสียง 180 วัน!". เดลินิวส์. สืบค้นเมื่อ 30 September 2022.
  23. ราชกิจจานุเบกษา.ประกาศแต่งตั้งกรรมการการเลือกตั้ง. เล่ม 141 ตอนพิเศษ 83ง หน้า 3 วันที่ 22 มีนาคม 2567.
  24. "เลือกตั้ง 2566 : "ชูวิทย์" ชี้พิรุธโกงเลือกตั้งล่วงหน้า? ซัดหลายเคสผิดชัดแต่กกต.ใบ้กิน". pptvhd36.com. สืบค้นเมื่อ 11 May 2023.
  25. "เลือกตั้ง 2566 : "ชูวิทย์" เสนอกกต.ประกาศผลเลือกตั้งล่วงหน้าโมฆะ แฉโกงทุกรูปแบบ!". pptvhd36.com. สืบค้นเมื่อ 11 May 2023.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]