พรรคความหวังใหม่
พรรคความหวังใหม่ | |
---|---|
หัวหน้าพรรค | นายชิงชัย มงคลธรรม |
เลขาธิการพรรค | นายธนวัสถ์ นิลธนะพันธุ์ |
คำขวัญพรรค | เลิกทาสทางความคิด ติดอาวุธทางปัญญา นำพาชาติพ้นภัย |
ก่อตั้ง | 11 ตุลาคม พ.ศ. 2533 |
ที่ทำการพรรค | 486/3 ซอยทรัพย์ประชา ถนนประชาอุทิศ แขวงลาดพร้าว เขตลาดพร้าว กรุงเทพมหานคร 10230 |
จำนวนสมาชิก (ปี 2562) | 3,004 คน[1] |
สี | สีเหลืองพราว |
เว็บไซต์ | |
http://www.nap.or.th | |
การเมืองไทย รายชื่อพรรคการเมือง การเลือกตั้ง |
พรรคความหวังใหม่ (อังกฤษ: New Aspiration Party; ย่อว่า ควม.) เป็นพรรคการเมืองหนึ่งในประเทศไทย เคยมีบทบาททางการเมืองระดับประเทศระหว่างปี พ.ศ. 2535–44 และเคยเป็นพรรคการเมืองแกนนำของรัฐบาล
ประวัติ[แก้]
พรรคความหวังใหม่ ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2533 [2] โดยทำการเปิดตัวที่โรงแรมเจบี อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา[3] และมีที่ทำการพรรคแห่งแรกที่สำนักงานกฎหมายธรรมนิติในสังกัดของนายไพศาล พืชมงคล ที่เขตบางซื่อ[4] ในขั้นต้นมีนายวีระ สุวรรณกุล เป็นหัวหน้าพรรคคนแรกและมีนางสาวปราณี มีอุดร เป็นเลขาธิการพรรคคนแรกต่อมาในวันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2533 ได้มีการจัดประชุมใหญ่สามัญครั้งแรกของพรรคที่ประชุมมีมติเลือก พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ อดีต ผู้บัญชาการทหารบก และอดีต ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นหัวหน้าพรรค [5]
พรรคความหวังใหม่ ลงเลือกตั้งครั้งแรกเมื่อวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2535 โดยมี พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เป็นหัวหน้าพรรค ร่วมด้วยนักการเมืองที่มีชื่อเสียงเช่น นายเสนาะ เทียนทอง นายจาตุรนต์ ฉายแสง และ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา มีสัญลักษณ์พรรคคือ ดอกทานตะวัน และมีคำขวัญพรรคว่า ประเทศมั่นคง ประชาชนมั่งคั่ง ได้เป็นฝ่ายค้าน และหลังจากนั้นไม่นานก็เกิด เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ และ พรรคความหวังใหม่ เป็นหนึ่งในบรรดา 4 พรรคการเมือง ที่เรียกกันในช่วงเวลานั้นว่า พรรคเทพ ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่ร่วมกันคัดค้าน การขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.สุจินดา คราประยูร
พรรคความหวังใหม่ประสบความสำเร็จในการเลือกตั้งเมื่อปลายปี พ.ศ. 2539 ได้ที่นั่ง ส.ส. จำนวน 125 ที่นั่ง โดยเฉือนชนะ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคคู่แข่งสำคัญไปเพียง 2 ที่นั่ง ส่งผลให้ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ หัวหน้าพรรคขึ้นดำรงตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี
พรรคความหวังใหม่ มีฐานเสียงส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ชนบท โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคอีสาน หลังจากพล.อ.ชวลิต ได้ประกาศลาออกจากตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี จากภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำเป็นอย่างมากในปี พ.ศ. 2540 จากการประกาศลดค่าเงินบาท และทำให้ระหว่างปี พ.ศ. 2540-44 พรรคความหวังใหม่ต้องเปลี่ยนสถานะไปเป็น พรรคฝ่ายค้าน
๒๕๔๕ ความหวังใหม่ ยุบมารวมกับ พรรคไทยรักไทย ตาม ม.73 เมื่อ 22 มีนาคม 2545
(สมาชิกสภาผู้แทนราษฏรทั้งแบบเขต และบัญชีรายชื่อ ย้ายมาสังกัดพรรคไทยรักไทย มีเพียง ชิงชัย มงคลธรรม สมาชิกสภาผู้แทนราษฏรระบบบัญชีรายชื่อ ขออยู่ฟื้นฟู พรรคความหวังใหม่/ และ ร้อยตำรวจเอก เฉลิม อยู่บำรุง สมาชิกสภาผู้แทนราษฏรบัญชีรายชื่อ ขอไปฟื้นฟู พรรคมวลชน/ ฐิฏา รังสิตพล มานิตกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฏรบัญชีรายชื่อ ย้ายไปอยู่พรรคประชาธิปัตย์)
ตามกรอบของ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2541[6]
รายนามหัวหน้าพรรค[แก้]
- นายวีระ สุวรรณกุล (11 ตุลาคม พ.ศ. 2533 - 16 ตุลาคม พ.ศ. 2533)
- พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ (16 ตุลาคม พ.ศ. 2533 - 28 มีนาคม พ.ศ. 2545)
- นายโยธินทร์ เพียรภูเขา (7 พฤษภาคม พ.ศ. 2545 - 30 สิงหาคม พ.ศ. 2545)
- นายชิงชัย มงคลธรรม (7 กันยายน พ.ศ. 2545 - ปัจจุบัน)
รายนามเลขาธิการพรรค[แก้]
- นางสาวปราณี มีอุดร (11 ตุลาคม พ.ศ. 2533 - 22 ธันวาคม พ.ศ. 2534)
- นายพิศาล มูลศาสตรสาทร (22 ธันวาคม พ.ศ. 2534 - 9 เมษายน พ.ศ. 2538)
- นายสุขวิช รังสิตพล (9 เมษายน พ.ศ. 2538[7] - 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2540)
- นายเสนาะ เทียนทอง (14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2540[8] - 27 เมษายน พ.ศ. 2542)
- นายจาตุรนต์ ฉายแสง (27 เมษายน พ.ศ. 2542[9] - 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2543)
- นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา (15 พฤๅภาคม พ.ศ. 2543[10] - 28 มีนาคม พ.ศ. 2545)
- นางสาวนันทกาล ตาลจินดา (7 พฤษภาคม พ.ศ. 2545 - 30 สิงหาคม พ.ศ. 2545)
- พลเอก กิตติศักดิ์ รัฐประเสริฐ (7 กันยายน พ.ศ. 2545 - 14 มกราคม พ.ศ. 2546)
- พลตรี พีรพงษ์ สรรพพากย์พิสุทธิ์ (5 เมษายน พ.ศ. 2546 - 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2548)
- นายจารึก บุณไชย (12 ตุลาคม พ.ศ. 2550 - ปัจจุบัน)
รายนามโฆษกพรรค[แก้]
- จาตุรนต์ ฉายแสง (1 มีนาคม 2538 - พ.ศ 2542)
- สราวุธ ทองเพ็ญ (มีนาคม 2545 - พ.ศ. 2555)
- อธิวัฒน์ บุญชาติ (เมษายน พ.ศ. 2555 - 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2557)
การยุบรวมกับพรรคไทยรักไทย[แก้]
หลังการเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2544 พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร หัวหน้าพรรคไทยรักไทยขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พรรคความหวังใหม่ได้เข้าร่วมรัฐบาล หลังจากนั้นไม่นาน มีการควบรวมพรรคความหวังใหม่ เข้ากับ พรรคไทยรักไทย[11] โดยที่สมาชิก พรรคความหวังใหม่ ส่วนใหญ่ไปเข้าร่วมกับพรรคไทยรักไทย พร้อมกับ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ หัวหน้าพรรค
พรรคความหวังใหม่ยุคหลัง พ.ศ. 2545[แก้]
นายชิงชัย มงคลธรรม และสมาชิกอีกจำนวนหนึ่ง ได้จดทะเบียนพรรคความหวังใหม่ขึ้นมาอีกครั้ง เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2545[12] ปัจจุบัน พรรคความหวังใหม่ ยังคงดำเนินกิจการทางการเมืองอยู่ โดยที่มีหัวหน้าพรรคคือ นายชิงชัย มงคลธรรม โดยที่ไม่เกี่ยวข้องกับผู้บริหารพรรคชุดเดิม และได้เปลี่ยนสัญลักษณ์พรรคใหม่ ในการเลือกตั้งปี พ.ศ. 2548 ทางพรรคก็ได้ส่งผู้สมัครลงในพื้นที่อีสาน แต่ไม่ได้รับการเลือกตั้งเลยแม้ที่นั่งเดียว รวมทั้งการเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2550 ด้วย ต่อมาในการเลือกตั้งซ่อม ส.ส. กรุงเทพมหานคร เขต 6 เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2553 พรรคความหวังใหม่ได้ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง คือ นายอนุสรณ์ สมอ่อน หมายเลข 3 แต่ได้รับคะแนนเพียง 684 คะแนน และ ในปี พ.ศ. 2554 พรรคความหวังใหม่ได้ส่ง นายอธิวัฒน์ บุญชาติ นักเคลื่อนไหวทางการเมือง และ พิธีกรรายการทีวีชื่อดัง ลงสมัครรับเลือกตั้ง ในเขต 9 บุรีรัมย์
ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2554 ได้ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. โดยได้รับหมายเลขประจำพรรค คือ หมายเลข 34 ซึ่งการเลือกตั้งในครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจากพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรี และอดีตหัวหน้าพรรคความหวังใหม่ เข้ามาทำหน้าที่ประธานที่ปรึกษาพรรค[13] แต่ผลปรากฏว่าไม่ได้รับเลือกตั้งทั้งในระบบเขต และระบบบัญชีรายชื่อ
ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2562 ได้ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง แต่ไม่ได้รับเลือก
อ้างอิง[แก้]
- ↑ ข้อมูลพรรคการเมืองที่ยังดำเนินการอยู่ ณ วันที่ 13 มีนาคม 2562
- ↑ ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง จดทะเบียนพรรคการเมือง (พรรคความหวังใหม่)
- ↑ "ถอนพิษ 23 05 58". ฟ้าวันใหม่. 23 May 2015. สืบค้นเมื่อ 24 May 2015.
- ↑ "วิเคราะห์คอลัมนิสต์ 09 05 61". ฟ้าวันใหม่. 9 May 2018. สืบค้นเมื่อ 9 May 2018.
- ↑ http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2533/A/222/473.PDF
- ↑ http://archive.li/uMrWf
- ↑ ประกาศสำนักงานนายทะเบียนพรรคการเมือง เรื่อง พรรคความหวังใหม่เปลี่ยนแปลงคณะกรรมการบริหารพรรค
- ↑ ประกาศสำนักงานนายทะเบียนพรรคการเมือง เรื่อง พรรคการเมืองเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการบริหารพรรคความหวังใหม่ (จำนวน 74 ราย)
- ↑ ประกาศนายทะเบียนพรรคการเมือง เรื่อง ตอบรับการเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการบริหารพรรคความหวังใหม่
- ↑ ประกาศนายทะเบียนพรรคการเมือง เรื่อง ตอบรับการเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการบริหารพรรคความหวังใหม่
- ↑ การยุบพรรคซบไทยรักไทย
- ↑ ข้อมูลพรรคการเมืองที่ยังดำเนินการอยู่ (จำนวน 51 พรรคการเมือง) ณ วันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2553
- ↑ พล.อ.ชวลิต หวนนั่งประธานที่ปรึกษา พรรคความหวังใหม่สืบค้นวันที่ 6 มิถุนายน 2554
แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]