การบินไทย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)
IATA ICAO รหัสเรียก
TG THA THAI
ก่อตั้ง29 มีนาคม พ.ศ. 2503 (63 ปี)
เริ่มดำเนินงาน1 พฤษภาคม พ.ศ. 2503 (63 ปี)
AOC #03/2017[1]
ท่าหลักกรุงเทพ-สุวรรณภูมิ
ภูเก็ต
เมืองสำคัญเชียงใหม่
แฟรงก์เฟิร์ต
โซล-อินช็อน
ลอนดอน-ฮีทโธรว์
สะสมไมล์รอยัลออร์คิดพลัส
พันธมิตรการบินสตาร์อัลไลแอนซ์
ขนาดฝูงบิน71
จุดหมาย66
บริษัทแม่กระทรวงการคลัง (47.86%)
การซื้อขายSET:THAI
สำนักงานใหญ่ไทย เลขที่ 89 ถนนวิภาวดีรังสิต แขวงจอมพล เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร
บุคลากรหลักปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์
(ประธานคณะผู้บริหารแผนฯ)
ชาย เอี่ยมศิริ
(ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทฯ)
รายได้เพิ่มขึ้น 44,625 ล้านบาท (Q1 2566)[2]
กำไร
เพิ่มขึ้น 12,513 ล้านบาท (Q1 2566)[2]
สินทรัพย์เพิ่มขึ้น 208,444 ล้านบาท (Q1 2566)[2]
พนักงาน
14,000 (2565)[3]
เว็บไซต์www.thaiairways.com

บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) (อังกฤษ: Thai Airways International Public Company Limited; ชื่อย่อ: ไทย, THAI) เป็นบริษัทฯ มหาชน จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ดำเนินธุรกิจการบินพาณิชย์ในฐานะสายการบินประจำชาติไทย โดยมีฐานการบินหลักที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและท่าอากาศยานภูเก็ต การบินไทยก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2503[4] การบินไทยเป็นสมาชิกร่วมก่อตั้งกลุ่มพันธมิตรการบินสตาร์อัลไลแอนซ์ เคยเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในสายการบินนกแอร์[5]

ณ เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2561 การบินไทยได้ให้บริการการบินไปยังท่าอากาศยานทั้งหมด 62 แห่งใน 32 ประเทศ และประเทศไทย แบ่งเป็นต่างประเทศ 59 สนามบิน ในประเทศไทย 4 สนามบิน ครอบคลุม 3 ทวีปทั่วโลก จากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ด้วยฝูงบินกว่า 81 ลำ การบินไทยเป็นสายการบินลำดับต้นในเอเชีย ที่ทำการบินในเส้นทางกรุงเทพ–ลอนดอน (ท่าอากาศยานฮีทโธรว์)[6]

นอกจากนี้ การบินไทยได้รับรางวัลสายการบินยอดเยี่ยมของโลก ประจำ ปี 2019 จากสกายแทรกซ์ ได้แก่ รางวัลอันดับ 1 สายการบินที่ให้บริการสปาเลาจน์ ยอดเยี่ยมของโลก (World's Best Airline Lounge Spa 2019) รางวัลอันดับ 1 สายการบินที่มีพนักงานให้บริการ ยอดเยี่ยมของเอเชีย (Best Airline Staff in Asia 2019) และรางวัลอื่นๆ จากสกายแทรกซ์รวม 8 รางวัล อย่างไรก็ดี หลังขาดทุนสะสมมาหลายปี และสถานการณ์โควิด-19 ทำให้พ้นฐานะรัฐวิสาหกิจและเข้ารับการฟื้นฟูกิจการในปี 2563

ประวัติ[แก้]

วันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2502 รัฐบาลไทยดำเนินการให้ บริษัท เดินอากาศไทย จำกัด (อังกฤษ: Thai Airways Company Limited; ชื่อย่อ: บดท.; TAC) กับสแกนดิเนเวียนแอร์ไลน์ซิสเต็มทำสัญญาร่วมทุนระหว่างกัน ต่อมาในวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2503 บริษัท การบินไทย จำกัด ได้จดทะเบียนจัดตั้งขึ้นด้วยทุนประเดิม 2 ล้านบาท เพื่อดำเนินธุรกิจสายการบินระหว่างประเทศ มีเที่ยวบินปฐมฤกษ์ไปยังฮ่องกงเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม ปีเดียวกัน

วันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2520 เอสเอเอสคืนหุ้นให้เดินอากาศไทย หลังจากครบระยะเวลาตามสัญญาร่วมทุน แล้วโอนหุ้นให้แก่กระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ตามมติคณะรัฐมนตรี

วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2531 เดินอากาศไทยซึ่งดำเนินธุรกิจสายการบินภายในประเทศได้รวมกิจการเข้ากับการบินไทย เพื่อให้สายการบินแห่งชาติเป็นหนึ่งเดียวตามมติคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ จากนั้นในวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2534 การบินไทยได้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยตามมติคณะรัฐมนตรี และจดทะเบียนแปลงสภาพเป็นบริษัทมหาชนจำกัดเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2537[7]ทะเบียนเลขที่ บมจ.422

วันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2540 การบินไทย ร่วมกับสายการบินลุฟต์ฮันซ่า, แอร์แคนาดา, เอสเอเอส, และยูไนเต็ดแอร์ไลน์ ก่อตั้งสตาร์อัลไลแอนซ์ ซึ่งเป็นพันธมิตรการบินแห่งแรก

วันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2556 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้การบินไทย ดำเนินโครงการลงทุนจัดตั้งสายการบินไทยสมายล์ โดยจัดตั้ง บริษัท ไทยสมายล์แอร์เวย์ จำกัด เป็นบริษัทย่อยในเครือการบินไทย และถือหุ้นทั้งหมด โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้สายการบินไทยสมายล์เป็นสายการบินภูมิภาค มีเครือข่ายการเชื่อมต่อผู้โดยสารทั้งในและต่างประเทศ ทั้งนี้ เนื่องจากการบินไทยในขณะนั้น มีกระทรวงการคลังถือหุ้นร้อยละ 51.03 และมีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจ จึงทำให้บริษัทไทยสมายล์มีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจด้วย[8]

วันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 กระทรวงการคลังจำหน่ายหุ้นจนมีสัดส่วนถือหุ้นทั้งหมดเหลือร้อยละ 47.86 ทำให้บริษัทฯ หลุดพ้นสภาพการเป็นรัฐวิสาหกิจ[9] นอกจากนี้ ในวันที่ 25 พฤษภาคม คณะกรรมการบริษัทการบินไทยฯ ได้มีมติแต่งตั้งให้พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค, บุญทักษ์ หวังเจริญ, ไพรินทร์ ชูโชติถาวร และปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ดำรงตำแหน่งกรรมการบริษัทฯ แทนกรรมการเดิม[10] ไม่กี่วันถัดมา ไพรินทร์ลาออกเพราะเพิ่งพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีจึงไม่เหมาะสมต่อการรักษาธรรมาภิบาลของบริษัท และขัดต่อกฎหมายของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ[11]

ด้วยปัญหาขาดทุนสะสม และวิกฤตโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้ร้องขอให้ศาล ได้พิจารณาฟื้นฟูกิจการ โดยวันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2563 ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้การบินไทยดำเนินการฟื้นฟูกิจการตามที่บริษัทร้องขอ และได้เห็นสมควรให้บริษัท อีวาย คอร์ปอเรทแอดไวซอรี่ เซอร์วิสเซส จำกัด รวมถึงกรรมการบริษัทอีก 6 คน ประกอบด้วย พล.อ.อ.ชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน, นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล. นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค, นายบุญทักษ์ หวังเจริญ, นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ และชาญศิลป์ ตรีนุชกร เป็นผู้ดำเนินการฟื้นฟูกิจการตามที่การบินไทยเสนอมา

วันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2564 ศาลล้มละลายกลางได้กำหนดนัดฟังคำสั่งศาลในการพิจารณาแผนฟื้นฟูกิจการการบินไทย ซึ่งหลังจากที่ศาลล้มละลายกลางได้รับคำคัดค้านแผนฟื้นฟูกิจการของเจ้าหนี้จำนวน 2 ฉบับ คำชี้แจงของผู้ทำแผน ตลอดจนความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในประเด็นต่าง ๆ แล้ว ศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการและแผนที่แก้ไขตามมติของที่ประชุมเจ้าหนี้ เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2564 ซึ่งมีผลให้ผู้บริหารแผนที่ถูกเสนอชื่อตามแผนฟื้นฟูกิจการและแผนที่แก้ไข กล่าวคือ นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ นายพรชัย ฐีระเวช นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ นายไกรสร บารมีอวยชัย และ นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร เป็นผู้บริหารแผนซึ่งจะมีอำนาจหน้าที่ในการบริหารธุรกิจของบริษัทฯ และดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการต่อไป [12]

วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2565 คณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการได้ยื่นคำร้องขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ [13] โดยเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้มีคำสั่งให้กำหนดวันนัดประชุมเจ้าหนี้ในวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2565 ซึ่งมีเจ้าหนี้ที่มีจำนวนหนี้รวมกันร้อยละ 78.59 ของจำนวนหนี้ของเจ้าหนี้ทั้งหมดที่เข้าร่วมประชุมและร่วมออกเสียงยอมรับการแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการดังกล่าว [14] และในวันที่ 20 ตุลาคม 2565 ศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งเห็นชอบด้วยข้อเสนอขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัทการบินไทยฯ [15]

วันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2565 บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้แจ้งการพ้นจากตำแหน่งของผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการบริษัทฯ ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 21 ตุลาคม ดังนี้ 1. นายไกรสร บารมีอวยชัย 2. นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ [16] และจนถึงทุกวันนี้การบินไทย เริ่มแปลงสภาพจากเอกชน เป็นรัฐวิสาหกิจ ตั้งแต่วันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2566 เป็นต้นไป

วันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2566 คณะกรรมการเจ้าหนี้ของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้มีมติเห็นชอบการปรับโครงสร้างการดำเนินธุรกิจกลุ่มธุรกิจการบินของการบินไทยตามแนวทางที่คณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการและฝ่ายบริหารนำเสนอและให้การบินไทย กลับไปเป็นรัฐวิสาหกิจอีกครั้งในวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2567 เป็นต้นไป [17]

กิจการองค์กร[แก้]

ผู้ถือหุ้น[แก้]

  • จำนวนผู้ถือหุ้นทั้งหมด: 111,697 ข้อมูล ณ วันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2563[18]
ผู้ถือหุ้นรายใหญ่
ลำดับที่ รายชื่อผู้ถือหุ้น จำนวนหุ้น % หุ้น
1 กระทรวงการคลัง 1,044,737,191 47.86
2 กองทุนรวม วายุภักษ์หนึ่ง โดย บลจ.เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) 186,513,817 8.54
3 กองทุนรวม วายุภักษ์หนึ่ง โดย บลจ.กรุงไทย จำกัด (มหาชน) 186,513,817 8.54
4 บริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด 56,069,382 2.57
5 ธนาคาร ออมสิน 46,409,885 2.13
6 นาย ทรงศักดิ์ จิตเจือจุน 42,159,900 1.93
7 SOUTH EAST ASIA UK (TYPE C) NOMINEES LIMITED 23,195,271 1.06
8 นาย ธนาธิป วิวัฒนกิจเจริญ 20,000,900 0.92
9 นาย วิชัย คณาธนะวนิชย์ 13,225,500 0.61

สำนักงาน[แก้]

สำนักงานใหญ่ของการบินไทยที่ถนนวิภาวดีรังสิต

สำนักงานการบินไทยในกรุงเทพมหานครแห่งแรก เป็นห้องแถวสามชั้น เลขที่ 1101 ริมถนนเจริญกรุง ซึ่งอยู่ฝั่งตรงกันข้ามเยื้องกับไปรษณีย์กลางบางรัก [19] อันเป็นศูนย์รวมธุรกิจในยุคนั้น เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ลูกค้า ซึ่งส่วนมากเป็นนักธุรกิจและชาวต่างชาติ ต่อมาในปี พ.ศ. 2513 การบินไทยเช่าอาคารเลขที่ 1043 ถนนพหลโยธิน ติดกับซอยลือชา (ซอยพหลโยธิน 3) บริเวณสนามเป้าเป็นสำนักงาน[20] โดยเมื่อปี พ.ศ. 2522 การบินไทยจัดซื้อที่ดินริมถนนวิภาวดีรังสิต เพื่อเป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ และก่อสร้างอาคารหลังแรกขนาด 5 ชั้น ซึ่งเริ่มใช้ปฏิบัติงานเมื่อปี พ.ศ. 2523[21] หลังจากนั้นจึงมีโครงการสร้างอาคารถาวร จนกระทั่งแล้วเสร็จสมบูรณ์ในปี พ.ศ. 2532 ก่อนหน้านี้ การบินไทยเคยมีสำนักงานบริเวณถนนหลานหลวง ใกล้กับแยกผ่านฟ้าลีลาศ ซึ่งเป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่เดิมของเดินอากาศไทย ก่อนการควบรวมกิจการ ต่อมาในปี พ.ศ. 2564 การบินไทยได้ประกาศขายอาคารดังกล่าวพร้อมกับอาคารถนนสีลม อาคารรักคุณเท่าฟ้า ดอนเมือง และอสังหาริมทรัพย์ในต่างจังหวัดอีก 7 แห่ง[22]

เมื่อปี พ.ศ. 2506 การบินไทยเปิดสำนักงานสาขาในต่างประเทศที่กรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก เป็นแห่งแรก ในปี พ.ศ. 2553 สำนักงานสาขาในต่างประเทศของการบินไทย มีทั้งหมด 76 สาขาใน 38 ประเทศ ครอบคลุมทั้ง 5 ทวีป ส่วนศูนย์ซ่อมเครื่องบินของการบินไทย มีอยู่สองแห่งคือ ภายในบริเวณท่าอากาศยานดอนเมือง กรุงเทพมหานคร และภายในบริเวณท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา จังหวัดระยอง

ผลประกอบการ[แก้]

ในปี พ.ศ. 2556 ถึง พ.ศ. 2558 การบินไทยมีผลประกอบการขาดทุน การบินไทยมีผลประกอบการกำไรอีกครั้งในปี พ.ศ. 2559 โดยมีกำไรสุทธิ 15.14 ล้านบาท[23]

2553 2554 2555 2556 2557 2558 2559 2560
รายได้ (ล้านบาท) 184,270 194,342 216,743 207,711 203,889 192,591 181,446 191,946
กำไร/ขาดทุน สุทธิ (ล้านบาท) 14,744 −10,197 6,229 −12,047 −15,612 −13,068 15 −2,072
จำนวนพนักงาน (คน) 25,884 25,848 25,412 25,323 24,952 22,864 21,998 22,370
จำนวนผู้โดยสาร (ล้านคน) 18.2 18.4 20.6 21.5 19.1 21.2 22.2 24.6
อัตราเปลี่ยนแปลงของผู้โดยสาร เพิ่มขึ้น1.3% เพิ่มขึ้น12.1% เพิ่มขึ้น4.3% ลดลง11.2% เพิ่มขึ้น11.% เพิ่มขึ้น4.7% เพิ่มขึ้น10.3%
อัตราการบรรทุกผู้โดยสาร (%) 73.6 70.4 76.6 74.1 68.9 72.9 73.4 79.2
จำนวนอากาศยาน (ณ สิ้นปี) 90 89 95 100 102 95 95 100
อ้างอิง [24] [24] [25] [26][25] [26][25]

บริษัทร่วมทุน[แก้]

เครื่องบิน แอร์บัส เอ320-200 ของการบินไทยสมายล์

การบินไทยเคยถือหุ้นอยู่ในสายการบินนกแอร์อยู่ 49% นับเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่อันดับหนึ่ง[27] ในปี พ.ศ. 2564 สัดส่วนหุ้นนกแอร์ที่ถือโดยการบินไทยลดลงจากเดิมเหลือ 8.91% [28]

นอกจากนั้นบริษัทการบินไทยยังมีบริษัทย่อยดังต่อไปนี้[29]

  1. บริษัท ไทย-อะมาดิอุส เซาท์อีสต์เอเชีย จำกัด ถือหุ้นร้อยละ 55
  2. บริษัท วิงสแปน เซอร์วิสเซส จำกัด ถือหุ้นร้อยละ 49
  3. บริษัท ไทยไฟลท์เทรนนิ่ง จำกัด ถือหุ้นร้อยละ 49
  4. บริษัท ทัวร์เอื้องหลวง จำกัด ถือหุ้นร้อยละ 49
  5. บริษัท ดอนเมือง อินเตอร์เนชั่นแนล แอร์พอร์ต โฮเต็ล จำกัด ถือหุ้นร้อยละ 40
  6. บริษัท ครัวการบินภูเก็ต จำกัด ถือหุ้นร้อยละ 30
  7. บริษัท โรงแรมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จำกัด ถือหุ้นร้อยละ 30
  8. บริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ถือหุ้นร้อยละ 7.06
  9. บริษัท เทรดสยาม จำกัด ถือหุ้นร้อยละ 3.5
  10. บริษัท สหโรงแรมไทยและการท่องเที่ยว จำกัด ถือหุ้นร้อยละ 1.25
  11. บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด ถือหุ้นร้อยละ 0.90
  12. บริษัท ขนส่งน้ำมันทางท่อ จำกัด ถือหุ้นร้อยละ 0.00026

การบินไทยคาร์โก[แก้]

โบอิง 747-400BCF ของ การบินไทยคาร์โก้ (HS-THJ)

บริษัทการบินไทยเคยทำกิจการขนส่งเฉพาะสินค้า โดยมีเครื่องบินขนส่งสินค้าเป็นของบริษัทเองในช่วง ปี พ.ศ. 2522 ถึง พ.ศ. 2526 ด้วยเครื่องบิน Douglas DC-8-62F ทะเบียน HS-TGS

และในระหว่างวันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2555 - 27 มีนาคม พ.ศ. 2558 ทำการบินโดย B747-400BCF ทะเบียน HS-TGH และ HS-THJ เส้นทางบินได้แก่ทางกรุงเทพแวะเชนไนไปอัมสเตอร์ดัม TG898 กรุงเทพแวะไฮเดอราบัดสิ้นสุดที่แฟรงเฟิร์ต TG890 กรุงเทพแวะไฮเดอราบัดสิ้นสุดที่แฟรงเฟิร์ต TG894 กรุงเทพไปซิดนีย์ TG865 กรุงเทพไปนะริตะ TG862 นะริตะไปเทเปกลับกรุงเทพ TG863 เส้นทางจาก แฟรงเฟิร์ต แวะ เซี่ยเหมิน สิ้นสุดที่ กรุงเทพ TG897[30]

นอกเหนือจากนั้นเป็นเครื่องบินที่บริษัทเช่าทำการบินโดยสายการบินอื่น อีก 3 ลำ ได้แก่เครื่องบินทะเบียน N552MC ใช้บินระหว่าง พ.ศ. 2539 ถึง พ.ศ. 2542 เครื่องบินทะเบียน N774SA N775SA ใช้ในปี พ.ศ. 2553 ถึง พ.ศ. 2554 รวมการบินไทยเคยทำการบินเฉพาะขนส่งสินค้าทั้งหมด 6 ลำ

ครัวการบินไทย[แก้]

ครัวการบินไทย (อังกฤษ: THAI Catering Service) เริ่มดำเนินกิจการเมื่อวันที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2503 โดยเช่าโรงซ่อมบำรุงรักษาเครื่องบิน และอาคารเล็กอย่างละหนึ่งหลัง ภายในบริเวณท่าอากาศยานกรุงเทพ ที่ดอนเมืองเป็นแห่งแรก เพื่อทำการผลิตและให้บริการอาหารชนิดต่าง ๆ สำหรับสายการบินไทย และสายการบินอื่นอีกมากกว่า 50 สายการบิน[31]

สำนักงานของครัวการบินไทย มีสองแห่งคือ อาคารขนาดใหญ่บนพื้นที่ 90,000 ตารางเมตร ภายในบริเวณท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ ซึ่งใช้เทคโนโลยีการผลิตอันทันสมัย เพื่อผลิตอาหารสำหรับรองรับในส่วนของสายการบินไทย และคำสั่งจากลูกค้าทุกสายการบิน โดยปัจจุบันมีกำลังการผลิตอาหารจำนวนมากกว่า 87,000 มื้อต่อวัน ส่วนสำนักงานอีกแห่งหนึ่ง ตั้งอยู่ภายในบริเวณท่าอากาศยานดอนเมือง เพื่อสนับสนุนการกลับมาเปิดดำเนินการบินอีกครั้ง ตลอดจนรองรับความต้องการของเที่ยวบินภายในประเทศ รวมทั้งกิจการภาคพื้นดินอย่างการผลิตขนมอบ (Bakery) และการจัดเลี้ยงต่าง ๆ [31] โดยมีศักยภาพผลิตอาหารได้สูงสุด 49,000 มื้อต่อวัน

ครัวการบินไทยมีผลงานที่สำคัญคือ เป็นผู้ดำเนินการผลิตและให้บริการอาหารและเครื่องดื่ม แก่นักกีฬาและเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง ในการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 13 เมื่อปี พ.ศ. 2541, เฟสปิกเกมส์ ครั้งที่ 7 เมื่อปี พ.ศ. 2542 และกีฬามหาวิทยาลัยโลกฤดูร้อน ครั้งที่ 24 เมื่อปี พ.ศ. 2550 ที่กรุงเทพมหานคร รวมถึงในงานไอฉิเอ็กซโป (Aichi Expo) เมื่อปี พ.ศ. 2548 ที่ประเทศญี่ปุ่นด้วย[31]

ภัตตาคารเยลโล ออร์คิด[แก้]

ภัตตาคารเยลโล ออร์คิด (อังกฤษ: Yellow Orchid Restaurant) เปิดให้บริการเป็นแห่งแรก ภายในท่าอากาศยานดอนเมือง เมื่อปี พ.ศ. 2515 และเริ่มให้บริการสาขาแรก ภายในท่าอากาศยานเชียงใหม่ เมื่อปี พ.ศ. 2529

พัฟแอนด์พาย[แก้]

ร้านขนมอบพัฟแอนด์พาย (อังกฤษ: Puff & Pie Bakery House) ก่อตั้งขึ้นราวปลายปี พ.ศ. 2538 โดยครัวการบินไทย และเริ่มเปิดทำการเป็นแห่งแรก เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2540 บริเวณหน้าอาคารรักคุณเท่าฟ้า ด้วยวัตถุประสงค์เพื่อสร้างรายได้เพิ่ม ตลอดจนบริหารบุคลากรและอุปกรณ์ที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เนื่องจากครัวการบินไทยต้องสูญเสียรายได้ จากการบริการอาหารบนเครื่องบิน (Uplift) เนื่องจาก บมจ.การบินไทย มีนโยบายงดให้บริการอาหารบนเที่ยวบินที่ไม่ตรงเวลาอาหาร ดังนั้นจึงทดลองเปิดขายขนมชนิดต่าง ๆ ปรากฏว่าได้รับความนิยมจากลูกค้าอย่างรวดเร็ว เป็นผลให้ครัวการบินไทยมีรายได้เพิ่ม เกินกว่าเป้าหมายที่กำหนด จึงเพิ่มความสำคัญอย่างจริงจัง โดยมีเป้าหมายในการสร้างรายได้จากกิจการพัฟแอนด์พาย ให้เป็นรายได้หลักอีกทางหนึ่ง นอกเหนือจากงานจัดเลี้ยง รวมถึงจากการผลิตและบริการอาหารบนเที่ยวบิน

ครัวการบินไทยจึงดำเนินการขยายสาขาของร้านพัฟแอนด์พาย โดยแผนระยะแรก จะเปิดขายในพื้นที่ของ บมจ.การบินไทยก่อน เพื่อเป็นสวัสดิการของพนักงาน ทว่าต่อมาได้รับการเรียกร้องจากลูกค้าภายนอก ให้ขยายสาขาเพิ่มขึ้นในที่ต่าง ๆ เพื่อความสามารถในการให้บริการอย่างทั่วถึง ครัวการบินไทยจึงพิจารณาขยายสาขา ในสถานที่ราชการและรัฐวิสาหกิจอื่น ตลอดจนร้านพัฟแอนด์พายเฉพาะกิจ ภายในศูนย์การค้าและงานแสดงสินค้าต่าง ๆ ซึ่งได้รับความนิยมจากลูกค้าเป็นอย่างมากและต่อเนื่อง ครัวการบินไทยจึงพิจารณาขยายตลาด โดยเปิดโครงการ Puff & Pie Whole Sales โดยให้บุคคลภายนอกที่สนใจกิจการ เข้าร่วมประกอบธุรกิจในชื่อ "Puff & Pie Supreme Bakery Delight" ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2550 เป็นต้นมา

สำหรับรูปแบบของร้านพัฟแอนด์พายส่วนมาก จะสร้างเป็นร้านค้าขนาดเล็ก (Kiosk) มีหลังคาผ้าใบสีขาวและเหลืองเป็นสัญลักษณ์ จำหน่ายอาหารไทย อาหารจีน และอาหารฝรั่งชนิดปรุงสำเร็จ ในชื่อผลิตภัณฑ์ซื้อกลับบ้าน (Take Home) รวมทั้งผลิตภัณฑ์เอื้องหลวง ที่ฝ่ายผลิตและบริการภาคพื้นเป็นผู้ผลิต วางจำหน่ายร่วมด้วย[32]

อัตลักษณ์องค์กร[แก้]

การบินไทยเป็นหนึ่งในไม่กี่สายการบินที่เคยมีระเบียบการเปลี่ยนเครื่องแบบในตลอดการเดินทาง โดยพนักงานต้อนรับหญิงประจำเที่ยวบินระหว่างประเทศจะต้องเปลี่ยนเครื่องแบบจากชุดสูทสีม่วง (สำหรับแต่งกายนอกห้องโดยสาร) เป็นชุดไทยประเพณี (เห็นได้จากโฆษณาของสายการบิน) ขณะต้อนรับผู้โดยสารที่ขึ้นเครื่องบิน และต้องเปลี่ยนกลับเป็นชุดสูทเมื่อนำผู้โดยสารออกจากเครื่องบิน ซึ่งระเบียบนี้ได้ยกเลิกไปในปี พ.ศ. 2567 ทั้งนี้ ทุกเที่ยวบินของการบินไทยตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมของปีดังกล่าว พนักงานต้อนรับหญิงจะสวมใส่ชุดไทยที่ทอจากผ้าไหมผสมเส้นใยจากขวดพลาสติกตลอดการเดินทาง[33] ส่วนชุดสูทสีม่วงยังคงใช้เป็นเครื่องแบบสำหรับพนักงานภาคพื้นเช่นเดิม

เว็บไซต์อาสค์เมนจัดอันดับ สุดยอดแอร์โฮสเตทสาวที่ฮอทที่สุด 10 สายการบินทั่วโลก โดยการบินไทยได้อันดับที่ 7 เว็บไซต์อาร์คเมนส์ ให้เหตุผลว่า พนักงานต้อนรับหญิงบนเครื่องบินดูดีในชุดเครื่องแบบโทนสีม่วง-ทอง รูปร่างหน้าตาสวยงาม การบริการระหว่างการเดินทางดี นอกจากนี้ยังยิ้มแย้มแจ่มใส เป็นมิตรและมารยาทงามอีกด้วย[34]

นอกจากนี้ การบินไทยเคยได้รับการจัดอันดับให้เป็นสายการบินที่ดีที่สุด ลำดับ 5 ของโลก[35] ทั้งนี้ การบินไทยเป็นสายการบินที่คำนึงถึงสุขภาพผู้โดยสารเป็นสำคัญ โดยที่ผ่านมาการบินไทยได้นำเครื่องลงจอดฉุกเฉินที่ท่าอากาศยานนาฮะ[36]

อย่างไรก็ตามเป็นที่ยอมรับ[37] ว่าการบินไทยมีการแทรกแซงจากผู้มีอำนาจทางการเมืองโดยข้อเท็จจริงการบินไทยมีกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ 17 คน (นับถึงปี พ.ศ. 2559) [38]

ตราสัญลักษณ์[แก้]

เมื่อวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2503 การบินไทยเปิดตัวตราสัญลักษณ์แบบแรก เป็นภาพตุ๊กตารำไทยซึ่งออกแบบโดย หม่อมเจ้าไกรสิงห์ วุฒิไชย นักออกแบบที่มีชื่อเสียงในสมัยนั้น ซึ่งเป็นผู้ออกเครื่องแบบพนักงานต้อนรับชุดแรกด้วย ต่อมาในปี พ.ศ. 2515 การบินไทยจัดจ้างวอลเตอร์ แลนเดอร์ แอนด์ แอสโซซิเอทส์ (อังกฤษ: Walter Landor & Associates) บริษัทโฆษณาระดับโลก ให้ออกแบบตราสัญลักษณ์ใหม่[39]

จากนั้นราวปลายปี พ.ศ. 2517 คณะผู้แทนการบินไทยเดินทางไปพิจารณาเลือกแบบ ซึ่งคณะผู้ออกแบบนำเสนอกว่าสิบภาพ โดยภาพดอกบัวโดดเด่นที่สุด เนื่องจากมีสีสันกลมกลืนสดใส แต่มีผู้แทนคนหนึ่งเห็นว่า การบินไทยใช้ชื่อบริการว่าเอื้องหลวง หากใช้สัญลักษณ์ดอกบัวก็เป็นการขัดกัน จึงเสนอแนะแก่คณะผู้ออกแบบไว้[39] ซึ่งต่อมาในวันที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2520 เดินอากาศไทยนำภาพดอกบัวดังกล่าว มาใช้เป็นตราสัญลักษณ์ใหม่ แทนภาพช้างเอราวัณสามเศียรอยู่กลางตราอาร์ม สองข้างซ้ายขวาประกอบด้วยภาพปีกนกซ้อนทับบนปีกเครื่องบิน

โดยในปีถัดมา (พ.ศ. 2518) คณะผู้ออกแบบพยายามดัดแปลงแก้ไขจากแบบที่เลือกไว้แล้ว จึงได้แบบที่คณะผู้แทนการบินไทยเห็นชอบเป็นเอกฉันท์ จึงนำมาใช้เป็นตราสัญลักษณ์ใหม่ ซึ่งคณะผู้ออกแบบอธิบายว่าเป็นภาพใบเสมา ซึ่งพบเห็นทั่วไปในประเทศไทย โดยจับวางตะแคงข้าง เพื่อต้องการสื่อถึงความเร็ว เนื่องจากนำมาใช้กับสายการบิน สำหรับสีทองมาจากแสงอร่ามของวัดวาอารามไทย สีม่วงสดมาจากกล้วยไม้ ดอกไม้สัญลักษณ์ของการบินไทย ส่วนสีชมพูมาจากดอกบัว[39]

ทั้งนี้ มักใช้ประกอบกับตัวอักษรชื่อ "ไทย" หรือ "Thai" ตามรูปแบบเดียวกับที่ประกอบอยู่ในตราสัญลักษณ์ใหม่ของเดินอากาศไทย สำหรับตราสัญลักษณ์นี้มักมีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า มีความคล้ายคลึงกับลักษณะของดอกรักเสียมากกว่า ผิดแต่เพียงสีที่แท้จริงของดอกรักเป็นขาว โดยตราสัญลักษณ์ดังกล่าวใช้มาถึง 30 ปี จนกระทั่ง พ.ศ. 2548 การบินไทยจัดจ้าง ห้างหุ้นส่วนอินเตอร์แบรนด์ (อังกฤษ: Interbrand Partnership) เป็นผู้ออกแบบลวดลายภายนอกตัวเครื่องบิน พร้อมทั้งเปลี่ยนแปลงสีสันภายในตราสัญลักษณ์ให้สดใสขึ้นกว่าเดิม และปรับปรุงตัวอักษรชื่อที่ประกอบอยู่กับตราสัญลักษณ์ โดยออกแบบขึ้นใหม่ และใช้อักษรอังกฤษตัวพิมพ์ใหญ่ทั้งหมด[39]

ตราสัญลักษณ์ของการบินไทย (2548-ปัจจุบัน)

คำขวัญ[แก้]

คำขวัญภาษาไทยของการบินไทยคือ รักคุณเท่าฟ้า ปรากฏเป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2521 เป็นชื่อใหม่ของวารสารภายใน ซึ่งเปลี่ยนจากเดิมคือ ข่าวการบินไทย (เริ่มเมื่อ พ.ศ. 2519) โดยวลีดังกล่าวมีที่มาจาก วิถีชีวิตของชาวไทย ดังที่พ่อแม่มักตั้งคำถามกับลูกว่า รักพ่อแม่แค่ไหน แล้วลูกก็มักตอบว่า "รักพ่อแม่เท่าฟ้า" ซึ่งสื่อความหมายถึงความรักที่กว้างใหญ่ไพศาลไปสุดขอบฟ้า จึงนำมาใช้เชิงเปรียบเทียบกับบริการของการบินไทย ทั้งนี้ คำขวัญของการบินไทยดังกล่าว เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายในประเทศไทย จากผลงานเพลงชื่อเดียวกัน ของวงดนตรีเพื่อชีวิต คาราบาว ซึ่งเผยแพร่เป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2528 ส่วนคำขวัญภาษาอังกฤษใช้ว่า Smooth as Silk ซึ่งแปลเป็นภาษาไทยได้ว่า นุ่มละมุนดุจแพรไหม มีชื่อเสียงมาจากเพลงชื่อเดียวกัน ที่กระจายเสียงภายในเครื่องก่อนเริ่มเที่ยวบิน และที่นำมาใช้ประกอบรายการการบินไทยไขจักรวาล

จุดหมายปลายทาง[แก้]

ณ เดือนมีนาคม พ.ศ. 2567 การบินไทยให้บริการเที่ยวบินสู่จุดหมายปลายทาง 66 แห่งทั่วโลก โดยแบ่งเป็นจุดหมายปลายทางในประเทศ 10 แห่งและระหว่างประเทศ 56 แห่ง[40]

พันธมิตรการบิน[แก้]

แอร์บัส เอ350-900 ของการบินไทยในลวดลายสตาร์อัลไลแอนซ์

การบินไทยเป็นสมาชิกร่วมต่อตั้งพันธมิตรทางการบินที่ใหญ่ที่สุดในโลก สตาร์อัลไลแอนซ์ ในวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2540[41]

ข้อตกลงการบินร่วม[แก้]

การบินไทยทำข้อตกลงการบินร่วมกับสายการบินต่าง ๆ ดังต่อไปนี้:[42]

ฝูงบิน[แก้]

ณ เดือนมีนาคม พ.ศ. 2567 การบินไทยมีเครื่องบินประจำการในฝูงบินดังนี้:[44]

ฝูงบินปัจจุบันของการบินไทย
เครื่องบิน แบบ ประจำการ จัดหา ผู้โดยสาร หมายเหตุ
F C U Y รวม
แอร์บัส เอ320-200 320 6 12 156 168 รับโอนจากการบินไทยสมายล์
32S 14 150 162
แอร์บัส เอ321นีโอ TBD 22[45] รอประกาศ เริ่มส่งมอบกลางปี 2568[46]
แอร์บัส เอ330-300 33R 3 31 263 294 นำกลับมาใช้งานบางส่วนหลังจากปลดประจำการ
TBD 2[47] รอประกาศ เช่าจาก CDB Aviation ส่งมอบในเดือนกันยายน - ตุลาคม 2567[48]
แอร์บัส เอ350-900 359 12 32[a] 289 321
35B 3 1 33[b] 301 334 เช่าระยะยาว – ใช้ผังที่นั่งเดิมจากไห่หนานแอร์ไลน์
35C 2 30[c] 309 339 เช่าระยะยาว – ใช้ผังที่นั่งเดิมจากเซาท์แอฟริกันแอร์เวส์
35D 2 2 33[a] 301 334 เช่าระยะยาว – ใช้ผังที่นั่งเดิมจากฮ่องกงแอร์ไลน์
TBD 6[47][49] รอประกาศ
โบอิง 777-200อีอาร์ 77E 5 30 262 292
โบอิง 777-300อีอาร์ 77B 14 42 306 348
77Y[50] 3 8 40 255 303 ทดแทน โบอิง 747[51]
โบอิง 787-8 788 6 22 234 256
โบอิง 787-9 789 2 51[52] 30 268 298 สั่งซื้อพร้อม 35 ตัวเลือก
หนึ่งลำเช่าจาก AerCap ส่งมอบภายในปี 2567
รวม 71 82

การบินไทยมีอายุฝูงบินเฉลี่ย 9.4 ปี

การจัดหา/ปลดระวาง[แก้]

ภาพเครื่องบินของการบินไทยที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

ณ พ.ศ. 2560 อายุการใช้งานเฉลี่ยของฝูงบินของการบินไทยอยู่ที่ 9.3 ปี[53] และจากแผนฟื้นฟูกิจการของการบินไทย นอกจากการประกาศขายเครื่องบินแล้ว ทางบริษัทได้ระบุว่าจะทำการลดรุ่นของฝูงบินเหลือเพียง 6 รุ่น คือ A350XWB, B777-300ER, B787-8, B787-9, A320 ของไทยสไมล์ และนำ A330 จำนวน 3 ลำ กลับมาให้บริการ และลดรุ่นของเครื่องยนต์ของเครื่องบินที่ใช้เหลือ 5 รุ่นเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567 การบินไทยได้ลงนามในสัญญาจัดหาเครื่องบินพาณิชย์ โบอิง 787 ดรีมไลเนอร์ ร่วมกับโบอิง และจีอี เอโรสเปซ คำสั่งซื้อดังกล่าวมีขึ้นหลังพบคำสั่งซื้อเครื่องบิน B787-9 ปริศนาจากบุคคลไม่เปิดเผยนามปรากฎบนเว็บไซต์ของโบอิงเป็นจำนวนมาก สัญญาดังกล่าวโบอิงจะจัดหาเครื่องบิน B787-9 ให้กับการบินไทยทั้งหมด 45 ลำ โดยมีรายละเอียดเหมือนกับเครื่องบิน B787-9 เดิมที่การบินไทยใช้งานอยู่ แต่เปลี่ยนตัวเลือกเครื่องยนต์จากเดิมที่ใช้โรลส์-รอยซ์ มาเป็นเครื่องยนต์ จีอีเอ็นเอ็กซ์ (GEnx) ของบริษัทจีอี เอโรสเปซแทน พร้อมกันนี้การบินไทยสามารถปรับเปลี่ยนตัวเลือกเครื่องบินบางส่วนจาก B787-9 เป็น B787-10 ได้ตามความต้องการ หรือขยายขนาดคำสั่งซื้อเป็น 80 ลำ และเปลี่ยนเป็น B777X ที่เป็นเครื่องบินลำตัวกว้างพิสัยไกลซึ่งยังอยู่ในระหว่างการพัฒนาได้ในอนาคต โดยคำสั่งซื้อดังกล่าวเป็นการจัดหาเครื่องบินเพื่อทดแทนเครื่องบินชุดเดิมที่จะทยอยปลดระวางตั้งแต่ พ.ศ. 2570 เป็นต้นไป และเครื่องบินลำแรกจากคำสั่งซื้อนี้จะเริ่มจัดส่งถึงประเทศไทยใน พ.ศ. 2570[54]

และอีก 1 วันถัดมา การบินไทยได้ลงนามในสัญญาเช่าเครื่องบินอีก 17 ลำจาก บริษัทจัดหาเครื่องบิน AerCap ประกอบด้วยเครื่องบิน แอร์บัส A350-900 4 ลำ, แอร์บัส A320-NEO 10 ลำ และโบอิง B787-9 3 ลำ เพื่อเป็นการขยายขีดความสามารถในการดำเนินการในระยะสั้น ก่อนที่เครื่องบินชุดใหญ่จากโบอิงจะเริ่มจัดส่ง โดยเครื่องบินลำแรกจากสัญญาเช่านี้จะเริ่มจัดส่งถึงประเทศไทยใน พ.ศ. 2567[55]

ฝูงบินในอดีต[แก้]

การบินไทยเคยให้บริการเครื่องบินดังต่อไปนี้:

ฝูงบินในอดีตของการบินไทย[56]
เครื่องบิน จำนวน ประจำการ ปลดประจำการ เครื่องบินทดแทน หมายเหตุ
เอทีอาร์ 42-320 2 พ.ศ. 2533 พ.ศ. 2541 ไม่มี
เอทีอาร์ 72-201 2 พ.ศ. 2533 พ.ศ. 2552 ไม่มี
แอร์บัส เอ300บี4 14 พ.ศ. 2520 พ.ศ. 2541 แอร์บัส เอ300-600อาร์
แอร์บัส เอ300-600อาร์ 21 พ.ศ. 2528 พ.ศ. 2557 แอร์บัส เอ330-300
โบอิง 787-8
แอร์บัส เอ310-200 1 1988 2001 แอร์บัส เอ300-600อาร์ โอนย้ายจากเดินอากาศไทย
1 1998 เกิดอุบัติเหตุในเที่ยวบินที่ 261
แอร์บัส เอ310-300 1 1990 1993
1 1992 เกิดอุบัติเหตุในเที่ยวบินที่ 311
แอร์บัส เอ320-200 5 พ.ศ. 2557 พ.ศ. 2559 ไม่มี โอนย้ายไปยังการบินไทยสมายล์

กลับมาให้บริการอีกครั้งเมื่อ พ.ศ. 2566 หลังควบรวมกิจการของการบินไทยสมายล์

แอร์บัส เอ330-300 12 พ.ศ. 2537 พ.ศ. 2560 แอร์บัส เอ350-900 ใช้เครื่องยนต์แพรตแอนด์วิตนีย์ พีดับเบิลยู 4000
12[57] พ.ศ. 2552 พ.ศ. 2563 ใช้เครื่องยนต์โรลส์-รอยซ์ เทรนต์ 700
ปลดประจำการก่อนเวลา เนื่องจากการระบาดของเชื้อไวรัส โควิด-19
บางส่วนนำมาให้บริการอีกครั้ง โดยการปรับปรุงห้องโดยสารใหม่
แอร์บัส เอ340-500 3[57] 2005 2012 แอร์บัส เอ350-900
1 จำหน่ายให้กับกองทัพอากาศไทย
แอร์บัส เอ340-600 6[57] 2005 2015
แอร์บัส เอ380-800 6 2012 2020 ปลดประจำการก่อนเวลา เนื่องจากการระบาดของเชื้อไวรัส โควิด-19[58]
ทั้งหมดจะถูกจำหน่าย[59]
โบอิง 737-200 3 พ.ศ. 2531 พ.ศ. 2536 โบอิง 737-400 โอนย้ายจากเดินอากาศไทย
โบอิง 737-400 9 พ.ศ. 2533 พ.ศ. 2561 แอร์บัส เอ320-200
1 พ.ศ. 2544 ระเบิดในเที่ยวบินที่ 114
โบอิง 747-200B 6 พ.ศ. 2522 พ.ศ. 2540 โบอิง 747-400
โบอิง 747-200F 1 พ.ศ. 2539 พ.ศ. 2542 โบอิง 777F
โบอิง 747-300 2 พ.ศ. 2530 พ.ศ. 2550 โบอิง 747-400
โบอิง 747-400 16 พ.ศ. 2533 พ.ศ. 2563 แอร์บัส เอ350-900
โบอิง 777-300อีอาร์
ปลดประจำการก่อนเวลา เนื่องจากการระบาดของเชื้อไวรัส โควิด-19[60][61]
2 พ.ศ. 2554 ไม่มี ปรับเปลี่ยนเป็นเครื่องบินขนส่งสินค้าและประจำการกับการบินไทยคาร์โก
โบอิง 747-400BCF 2 พ.ศ. 2555 พ.ศ. 2558 ไม่มี ปรับเปลี่ยนจากเครื่องบินโดยสาร 747-400
HS-TGJ ขายให้กับ Terra Avia (ER-BAG)

ปลดประจำการก่อนเวลา เนื่องจากการระบาดของเชื้อไวรัส โควิด-19

โบอิง 777-200 8 พ.ศ. 2539 พ.ศ. 2563 แอร์บัส เอ350-900
โบอิง 777-300อีอาร์
ปลดประจำการก่อนเวลา เนื่องจากการระบาดของเชื้อไวรัส โควิด-19
โบอิง 777-200อีอาร์ 8 พ.ศ. 2534 พ.ศ. 2567 แอร์บัส เอ320-200
โบอิง 777-300 6 พ.ศ. 2541 พ.ศ. 2563 แอร์บัส เอ350-900
โบอิง 777-300อีอาร์
ปลดประจำการก่อนเวลา เนื่องจากการระบาดของเชื้อไวรัส โควิด-19
โบอิง 777-300อีอาร์ 6 พ.ศ. 2541 พ.ศ. 2563 แอร์บัส เอ350-900 เช่าจากเจ็ตแอร์เวย์
โบอิง 777F 2 พ.ศ. 2553 พ.ศ. 2555 โบอิง 747-400BCF เช่าจากเซาเทิร์นแอร์เวย์
บีเออี 146-100 1 พ.ศ. 2532 พ.ศ. 2534 โบอิง 737 คลาสสิก
บีเออี 146-200 1 พ.ศ. 2532 พ.ศ. 2533 โบอิง 737 คลาสสิก
บีเออี 146-300 9 พ.ศ. 2532 พ.ศ. 2541 โบอิง 737 คลาสสิก
บอมบาร์ดิเอร์ ชาเลนเจอร์ ซีแอล-601 1 พ.ศ. 2534 ไม่ทราบ ไม่มี
คอนแวร์ 990 โคโรนาโด 1 พ.ศ. 2505 ไม่ทราบ ไม่มี ดำเนินการโดยสแกนดิเนเวียนแอร์ไลน์
ดักลาส ดีซี-8-33 7 พ.ศ. 2513 พ.ศ. 2521 ไม่มี
ดักลาส ดีซี-8-63 3 พ.ศ. 2517 พ.ศ. 2527 แอร์บัส เอ300
ดักลาส ดีซี-8-60F 5 พ.ศ. 2520 พ.ศ. 2528 ไม่มี
แมคดอนเนลล์ ดักลาส ดีซี-9-41 2 พ.ศ. 2513 พ.ศ. 2515 ไม่มี
แมคดอนเนลล์ ดักลาส ดีซี-10-30 6 พ.ศ. 2518 พ.ศ. 2530 แอร์บัส เอ310
แมคดอนเนลล์ ดักลาส ดีซี-10-30อีอาร์ 3 พ.ศ. 2530 พ.ศ. 2541 แอร์บัส เอ310
แมคดอนเนลล์ ดักลาส เอ็มดี-11 4 พ.ศ. 2534 พ.ศ. 2548 โบอิง 777-200อีอาร์
ชอร์ต 330 4 พ.ศ. 2531 พ.ศ. 2535 โบอิง 737 คลาสสิก โอนย้ายจากเดินอากาศไทย
ชอร์ต 360 2 พ.ศ. 2531 ไม่ทราบ โบอิง 737 คลาสสิก โอนย้ายจากเดินอากาศไทย
ซูว์ดาวียาซียง แอ็สเออ-210 การาแวล 3 5 พ.ศ. 2507 ไม่ทราบ ไม่มี

บริการ[แก้]

ห้องโดยสาร[แก้]

การบินไทยแบ่งการให้บริการภายในห้องโดยสาร ออกเป็น 4 ระดับ ได้แก่

รอยัลเฟิร์สคลาส (ชั้นหนึ่ง)[แก้]

ที่นั่งชั้นรอยัลเฟิร์สคลาสบนแอร์บัส เอ380

ในเครื่องบินแอร์บัส เอ 380-800 ที่นั่งโดยสารถูกออกแบบให้เป็นห้องพักผ่อนส่วนตัว มีความห่างระหว่างแถว 83 นิ้ว ความกว้างที่นั่ง 26.5 นิ้ว สามารถปรับเอนนอนเป็นแนวราบได้ถึง 180 องศาและติดตั้งอุปกรณ์สาระบันเทิงอย่างครบครันด้วยจอภาพ AVOD ระบบสัมผัสขนาด 23 นิ้ว ติดตั้งระบบ Wi-Fi อินเทอร์เน็ตสามารถเชื่อมต่อโทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์สื่อสารได้ทุกชนิด พร้อมปลั๊กไฟส่วนตัวสำหรับคอมพิวเตอร์วางตักไว้บริการผู้โดยสาร นอกจากนี้การบินไทยยังติดตั้งห้องน้ำที่มีขนาดใหญ่เป็น 2 เท่าของห้องน้ำปกติ โดยออกแบบให้มีพื้นที่ส่วนตัวสำหรับให้ผู้โดยสารชั้นหนึ่งแต่งตัวได้อย่างสะดวกสบายด้วยเช่นกัน และในชั้นรอยัลเฟิร์สคลาสนี้สามารถเลือกเมนูอาหาร จากเมนูต่าง ๆ ทั้ง 22 รายการก่อนขึ้นเครื่องได้อีกด้วย[62][63]

ปัจจุบันการบินไทยติดตั้งที่นั่งชั้นรอยัลเฟิร์สคลาสในเครื่องบินโบอิง 777-300ER จำนวน 3 ลำ ในเส้นทางลอนดอน โตเกียว และโอซากา

รอยัลซิลค์ (ชั้นธุรกิจ)[แก้]

ที่นั่งชั้นรอยัลซิลค์บนแอร์บัส เอ350-900

เปิดตัวครั้งแรกพร้อมกับแอร์บัส A340-500 มาในลักษณะแบบเปลือกหอย มีการติดตั้งชั้นธุรกิจนี้ในเครื่องบินโบอิง B747-400, 777-300, 777-200, 777-200ER, 777-300ER ความห่างระหว่างที่นั้ง 60-62 นิ้ว และความกว้างของที่นั่ง 20-21.5 นิ้ว สามารถปรับเอนได้สูงสุดถึง 170 องศา ในทุก ๆ ที่นั่งจะมีระบบนวด.โทรทัศน์ส่วนตัวระบบสัมผัส 10.4 และ 15 นิ้ว (ในเก้าอี้แบบใหม่) สามารถปรับเอนนอนเป็นแนวราบได้ถึง 180 องศา และยังมีที่นั่งแบบใหม่ที่ถูกติดตั้งบนแอร์บัส เอ 380 และโบอิง 777-300ER โดยจอ IFE มีขนาดใหญ่ถึง 17 นิ้ว และติดตั้งเข็มขัดนิรภัยแบบคาดผ่านเอว นอกจากนี้บนเครื่องบินแอร์บัส เอ 380 ยังมีรอยัลซิลค์ บาร์บริการอาหารและเครื่องดื่มอีกด้วย

อนึ่ง A330-300 รุ่นใหม่จะมีการปรับเปลี่ยนชั้นธุรกิจเป็นแบบใหม่จะมีในรุ่นแบบ A330 และ A33H ในเครื่องบินแบบ A330-343E มีบริการทั้งหมด 15 ลำแบ่งเป็น A330 8 ลำ A33H 7 ลำ ให้บริการในทวีปเอเซีย

พรีเมียมอีโคโนมี (ชั้นประหยัดพิเศษ)[แก้]

เป็นการนำที่นั่งชั้นรอยัลซิลค์ในช่วงแถวหลังจากประตูคู่ที่สองของเครื่องบินลงมา มาขายในราคาที่ถูกลง แต่ในส่วนของการให้บริการอื่นๆ จะเหมือนกับชั้นประหยัดปกติ โดยให้บริการเฉพาะเที่ยวบินในแถบสแกนดิเนเวีย ที่ทำการบินโดยเครื่องบินรุ่น โบอิง B777-300ER

ชั้นประหยัด[แก้]

ที่นั่งชั้นประหยัดบนโบอิง 787 ดรีมไลเนอร์ (จัดเรียงแบบ 3-3-3)

ขนาดที่นั่งในชั้นประหยัดของการบินไทย มีขนาดใหญ่ถึง 36 นิ้ว ต่างจากโดยทั่วไปที่มีขนาด 34 นิ้ว โดยแถวที่นั่งจะถูกจัดวางในรูปแบบดังต่อไปนี้

  • แบบ 3-4-3 ในเครื่องบินแอร์บัส เอ 380-841 (ชั้นล่าง)
  • แบบ 3-3-3 ในเครื่องบินโบอิง 787-8 และ 777-300ER
  • แบบ 2-4-2 ในเครื่องบินแอร์บัส เอ 330-343, เอ 380-841 (ชั้นบน)

ทุกที่นั่งในชั้นประหยัดบนเครื่องบิน แอร์บัส A330-300 จะถูกติดตั้งระบบมัลติมีเดีย (AVOD) หน้าจอระบบสัมผัส 9 นิ้ว ในทุกที่นั่ง แอร์บัส A33H 7 ลำ, A380-800 4 ลำ, โบอิง B777-300ER จะถูกติดตั้งระบบมัลติมีเดีย (AVOD) ระบบปฏิบัติการ หน้าจอระบบสัมผัส 10.6 นิ้ว และเครื่องบินแบบ โบอิง B787-8 จะถูกติดตั้งระบบมัลติมีเดีย (AVOD) ระบบปฏิบัติการ หน้าจอระบบสัมผัส 11 นิ้ว

นิตยสารประจำเที่ยวบิน[แก้]

นิตยสาร "สวัสดี"

นิตยสารประจำเที่ยวบิน (Inflight Magazine) ของการบินไทย มีชื่อว่า "สวัสดี " (อังกฤษ: Sawasdee) ออกเป็นฉบับปฐมฤกษ์เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2514 เนื้อหาส่วนมากนำเสนอบทความสารคดี ว่าด้วยความเป็นไทย โดยเฉพาะประเพณีและวัฒนธรรม ที่เขียนขึ้นใหม่โดยเฉพาะเป็นภาษาอังกฤษทั้งฉบับ มิได้นำบทความที่เคยตีพิมพ์ในนิตยสารอื่นมาลงซ้ำ นอกจากนั้น ยังมีภาพประกอบที่สวยงามโดดเด่นอีกด้วย

นิตยสารประจำเที่ยวบินของเดินอากาศไทย มีชื่อว่า "กินรี " (อังกฤษ: Kinnaree) ออกเป็นฉบับปฐมฤกษ์เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2527 เนื้อหาส่วนมากนำเสนอบทความสารคดี ว่าด้วยสารบันเทิงปกิณกะ โดยเฉพาะความเป็นไทย ประเพณีและวัฒนธรรมไทย ซึ่งเขียนขึ้นใหม่โดยเฉพาะเป็นภาษาไทยทั้งฉบับ อนึ่ง ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2531 กินรีออกฉบับพิเศษ "41 ปี เดินอากาศไทย" ก่อนที่จะรวมกิจการเข้ากับการบินไทย ในวันที่ 1 เมษายนด้วย

หลังจากนั้น การบินไทยจึงเป็นเจ้าของนิตยสารทั้งสองฉบับ โดยสวัสดียังคงเป็นนิตยสารประจำเที่ยวบินระหว่างประเทศ และกินรีกลายเป็นนิตยสารประจำเที่ยวบินภายในประเทศ จนกระทั่งในเดือนเมษายน พ.ศ. 2552 มีการเปลี่ยนแปลงให้นิตยสารสวัสดี ตีพิมพ์เป็นสองภาษาควบคู่กัน โดยให้บริการทั้งเที่ยวบินระหว่างประเทศและภายในประเทศ ส่วนนิตยสารกินรี การบินไทยขายกิจการไปให้กับธนาคารกรุงเทพ เพื่อใช้เป็นชื่อนิตยสารสำหรับลูกค้าธนาคารที่เป็นสมาชิก

อุบัติเหตุและอุบัติการณ์สำคัญ[แก้]

ซากเครื่องบิน เที่ยวบินที่ 114 หลังเหตุการณ์สงบลง

การบินไทยมีอุบัติการณ์มากกว่าอุบัติเหตุ ซึ่งหมายถึงการทำการบินที่ผู้โดยสารบาดเจ็บเล็กน้อยหรือไม่บาดเจ็บเลย รวมถึงการขู่ว่ามีการวางระเบิด อย่างไรก็ตาม อุบัติการณ์และอุบัติเหตุของการบินไทยน้อยมาก เมื่อเทียบกับสายการบินอื่น ๆ ทั่วโลก

  • 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2535 - การบินไทย เที่ยวบินที่ 311 เครื่องบินแอร์บัส เอ 310-304 ทะเบียน HS-TID ของการบินไทย ชนเทือกเขา 35 กม. ทางเหนือของกาฐมาณฑุ ผู้โดยสาร 113 คนเสียชีวิต (ผู้โดยสาร 99 คน และ พนักงาน 14 คน) สาเหตุเกิดจากปัญหาทางเทคนิคและอาการหลงทิศของนักบินเนื่องจากสภาพอากาศปิด[66]
  • 3 มีนาคม พ.ศ. 2544 – การบินไทย เที่ยวบินที่ 114 เครื่องบินโบอิง 737-4D7 ทะเบียน HS-TDC ของการบินไทย จากกรุงเทพไปเชียงใหม่ เกิดระเบิดขึ้นในขณะที่จอดที่สนามบิน เสียชีวิต 1 คน บาดเจ็บ 8คน สาเหตุเกิดจากน้ำมันกับอากาศเข้าผสมกัน และเกิดการสันดาปขึ้นในส่วนของถังน้ำมันเนื่องจากสภาพอากาศร้อนจัด[68]
  • 8 กันยายน พ.ศ. 2556 - การบินไทยเที่ยวบินที่ 679 เครื่องบิน แอร์บัส 330-300 ทะเบียน HS-TEF ของการบินไทย จากกวางโจวไปกรุงเทพ เกิดอุบัติเหตุล้อหลังด้านขวาของเครื่องบินขัดข้อง ขณะร่อนลงจอดที่สนามบินสุวรรณภูมิ ส่งผลให้เครื่องบินไถลออกนอกรันเวย์มีผู้โดยสารได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย 12 ราย[70]
  • 21 กันยายน พ.ศ. 2559 - การบินไทยเที่ยวบินที่ 221 เครื่องบิน แอร์บัส 350-900 ทะเบียน HS-THB ของการบินไทย จากกรุงเทพไปภูเก็ต เกิดอุบัติการณ์ยางล้อแตกขณะลงจอด[73]
  • 4 ธันวาคม พ.ศ. 2560 - การบินไทยเที่ยวบินที่ 349 เครื่องบินแอร์บัส 330-300 ทะเบียน HS-TES ของการบินไทย เกิดอุบัติการณ์ไถลอกนอกรันเวย์ที่สนามบินอิสลามาบาด[74]
  • 11 เมษายน พ.ศ. 2561 - การบินไทยเที่ยวบินที่ 660 เครื่องบิน โบอิง 747-400 ทะเบียน HS-TGX ของการบินไทย เกิดอุบัติการณ์สัญญาณเตือนของระบบเตือนเครื่องบินใกล้พื้นดิน[75]
  • 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2561 - การบินไทยเที่ยวบินที่ 321 เครื่องบิน โบอิง 777-200 ทะเบียน HS-TJD ของการบินไทย เกิดอุบัติการณ์ยางล้อระเบิดที่ท่าอากาศยานธากา
  • 3 ตุลาคม พ.ศ. 2561 - การบินไทยเที่ยวบินที่ 349 เครื่องบินแอร์บัส 330-300 ทะเบียน HS-TEQ ของการบินไทย เกิดอุบัติการณ์เครื่องบินชนนกขณะลงจอดที่สนามบินอิสลามาบาด[76]
  • 8 ตุลาคม พ.ศ. 2561 - การบินไทยเที่ยวบินที่ 679 เครื่องบิน โบอิง 747-400 ทะเบียน HS-TGF ของการบินไทย จากกวางโจวไปกรุงเทพ เกิดอุบัติการณ์เครื่องลื่นไถลออกนอกรันเวย์
  • 10 มิถุนายน พ.ศ. 2566 - การบินไทยเที่ยวบินที่ 683 เครื่องบิน แอร์บัส เอ330-300 ทะเบียน HS-TEO จากโตเกียวฮาเนดะไปกรุงเทพ เกิดอุบัติการณ์ปลายปีกเฉี่ยวชนกับหางเครื่องบินของอีวีเอแอร์บนทางขับใกล้ทางวิ่ง 16R ที่ท่าอากาศยานฮาเนดะ

การบินไทยไขจักรวาล[แก้]

การบินไทยเป็นผู้สนับสนุนให้มีรายการโทรทัศน์ ประเภทตอบปัญหาชิงรางวัลและทุนการศึกษาแก่เยาวชน ซึ่งมีชื่อว่า "การบินไทยไขจักรวาล" ที่จัดแข่งขันระหว่างนักเรียนระดับชั้นมัธยมผู้แทนโรงเรียนต่าง ๆ กลุ่มละสามคน โดยแต่ละครั้งจะแข่งขันกันระหว่างสองโรงเรียน ดำเนินรายการโดย พลตรีถาวร ช่วยประสิทธิ์ (พ.ศ. 2518-2521) และหม่อมราชวงศ์ถนัดศรี สวัสดิวัตน์ (พ.ศ. 2521-2546) (เวลาต่อมาจึงได้เพิ่ม รัตน์มณี มณีรัตน์ เป็นพิธีกรดำเนินรายการร่วมไปด้วย ซึ่งบางครั้งทำหน้าที่ดำเนินรายการแทนเพียงคนเดียว) ออกอากาศทุกวันอังคาร สัปดาห์ที่ 1 และ 3 ของเดือน เวลา 17:00-17:30 น. (ต่อมาย้ายไปออกอากาศทุกวันศุกร์ สัปดาห์และเวลาออกอากาศเดียวกัน) ถ่ายทอดสดจากห้องส่งสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก เป็นระยะเวลาถึง 28 ปี ระหว่าง พ.ศ. 2518-พ.ศ. 2546 ทั้งนี้ นักเรียนที่ชนะการตอบปัญหาประจำสัปดาห์ จะได้รับทุนการศึกษา ส่วนนักเรียนที่ชนะเลิศการตอบปัญหาประจำปี จะได้รับรางวัลเป็นตั๋วเครื่องบินไปกลับต่างประเทศ พร้อมกิจกรรมทัศนศึกษา ซึ่งการบินไทยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายทั้งหมด

คดีความ[แก้]

การบินไทยได้ฟ้องร้องโคอิโตะ ในกรณีที่มิสามารถติดตั้งเก้าอี้โดยสารภายในเครื่องบินแอร์บัส เอ 330 ในชั้นประหยัดทั้ง 5 ลำได้ส่งผลให้การบินไทยไม่มีโอกาสในการนำเครื่องบินบริการแก่ผู้โดยสาร ค่าเสียโอกาสในการบำรุงเครื่องบินและยังต้องหาบริการอื่นๆเพื่อดำเนินการในการติดตั้งเก้าอี้โดยสารใหม่ กรณีนี้เกิดขึ้นเมื่อการบินไทยว่าจ้างโคอิโตะติดตั้งเก้าอี้ในชั้นประหยัดโดยในระยะแรกเป็นไปด้วยดีแต่เมื่อถึงต้นปี พ.ศ. 2553 บริษัทดังกล่าวไม่ได้การรับรองจากกรมการบินประเทศญี่ปุ่นเนื่องจากการที่ดังกล่าวบริษัทเปลี่ยนมาตรฐาน ส่งผลให้ 2 รายการ จาก 18 รายการ ไม่ได้รับการรับรองความปลอดภัยจากประเทศญี่ปุ่น[77] เรื่องดังกล่าวนอกจากกระทบต้องเครื่องบินแบบแอร์บัส เอ 330 ยังกระทบต่อเครื่องบินแบบโบอิง 777-300 HS-TKE[78] โดยเครื่องบินลำดังกล่าวขายที่นั่งได้น้อยลงเพราะต้องขายเฉพาะที่นั่งที่ติดตั้งจากบริษัทโคอิโตะเพียงส่วนหนึ่งก่อนที่บริษัทดังกล่าวจะถูกถอนใบอนุญาต[79]

กรณีดังกล่าวยังได้ส่งผลกระทบต่อความยากลำบากในการให้บริการบนเครื่องบินแบบแอร์บัส เอ 330 เนื่องจากเครื่องบินมีการจ้างบริษัทที่ติดตั้งเก้าอี้แตกต่างกัน โดย 12 ลำแรก HS-TEA ถึง HS-TEM รหัส เอ333 เป็นการออกแบบที่นั่งแบบหนึ่ง ซึ่งไม่มีจอส่วนตัวให้ผู้โดยสารและจะใช้เครื่องยนต์ พีดับเบิลยู4000 อีกแปดลำต่อมาตั้งแต่ HS-TEN ถึง HS-TEU ก็ใช้การจัดเรียงที่นั่งอีกแบบหนึ่งซึ่งมีจอส่วนตัวให้ผู้โดยสารและใช้เครื่องยนต์โรลส์ รอยซ์ เทรนต์ 700 ส่วนในชุดสุดท้ายเป็นการออกแบบที่นั่งอีกแบบหนึ่งซึ่งทันสมัยมากที่สุดรหัส เอ33H ใช้เครื่องยนต์โรลส์ รอยซ์ เทรนต์ 700 นอกจากนั้นแล้วใน 4 ลำดังกล่าวการบินไทยได้เริ่มใช้รหัสใหม่เป็น HS-TBA ซึ่งโดยปกติแล้วแอร์บัส เอ 330 จะใช้รหัสเป็น HS-TE_ ทั้งนี้เพื่อกันความสับสนของนักบินและลูกเรือซึ่งใน 7 ลำดังกล่าวได้เลิกใช้การติดตั้งเก้าอี้ของบริษัทโคอิโตะในชั้นประหยัด

ดูเพิ่ม[แก้]

เชิงอรรถ[แก้]

  1. 1.0 1.1 จัดเรียงแบบ 1-2-1 : staggered
  2. จัดเรียงแบบ 1-2-1 : reversed herringbone
  3. จัดเรียงแบบ 2-2-2

อ้างอิง[แก้]

  1. "List of Thailand Air Operator Certificate Holders". Civil Aviation Authority of Thailand. 22 March 2021. สืบค้นเมื่อ 22 March 2021.
  2. 2.0 2.1 2.2 "THAI : THAI AIRWAYS INTERNATIONAL PUBLIC COMPANY LIMITED". Stock Exchange of Thailand (SET). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-06-09. สืบค้นเมื่อ 9 June 2023.{{cite web}}: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์)
  3. "'การบินไทย' ลุยท่องเที่ยวไฮซีซัน เพิ่มพนักงาน 'เอาท์ซอร์ส' ระยะสั้น". Bangkok Business News. Bangkok. 12 October 2022. สืบค้นเมื่อ 14 December 2022.
  4. ประวัติ บมจ.การบินไทย เก็บถาวร 2011-11-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จากเว็บไซต์การบินไทย
  5. "บริษัทร่วมทุน นกแอร์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-05. สืบค้นเมื่อ 2014-10-01.
  6. "ผู้จัดการสายการบินแรกที่บินการบินไทย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-09-14. สืบค้นเมื่อ 2010-09-09.
  7. ประวัติบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เก็บถาวร 2014-01-08 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ในเว็บไซต์การบินไทย
  8. หนังสือกรมบัญชีกลาง ลงวันที่ 2 มีนาคม 2559
  9. 'การบินไทย' พ้นสภาพรัฐวิสาหกิจแล้ว หลัง 'คลัง' ขายหุ้นให้วายุภักษ์วันนี้ เว็บไซต์หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ (เผยแพร่เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2563)
  10. การบินไทยตั้งบอร์ดใหม่ 4 คน มีผล 25 พฤษภาคม 2563 จาก ไทยพีบีเอส
  11. "วิษณุ" รับ "ไพรินทร์" ลาออกบอร์ดการบินไทย ลดเสี่ยง-รักษาธรรมาภิบาล จาก ไทยรัฐออนไลน์
  12. aof (2021-06-15). "ศาลล้มละลายเห็นชอบแผนฟื้นฟู "การบินไทย" ตั้ง 5 ผู้บริหารแผน". ประชาชาติธุรกิจ.
  13. การบินไทยรุกยื่นขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการสร้างความเชื่อมั่นรับธุรกิจการบินฟื้นตัว จาก thaiairways.com
  14. การบินไทยแจ้งมติที่ประชุมเจ้าหนี้ในการแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการ จาก thaiairways.com
  15. ศาลล้มละลายกลางเห็นชอบการขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการการบินไทย จาก thaiairways.com
  16. การพ้นจากตำแหน่งของผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) จาก set.or.th
  17. "ที่ประชุมคณะกรรมการเจ้าหนี้เห็นชอบการปรับโครงสร้างการดำเนินธุรกิจกลุ่มธุรกิจการบินของการบินไทย". www.thaiairways.com (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 9 พฤษภาคม 2566. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |access-date= (help)CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  18. "หุ้น บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-07-18. สืบค้นเมื่อ 2020-07-18.
  19. "World Airline Directory." Flight International. 13 April 1961. Page 509.
  20. "World Airline Directory." Flight International. 26 March 1970. Page 503.
  21. "World Airline Directory." Flight International. 26 July 1980. Page 359.
  22. ‘การบินไทย’ ประกาศขายทรัพย์ฯ 10 รายการ เลหลัง ‘สนง.หลานหลวง-อาคารรักคุณเท่าฟ้า’
  23. "งบการเงินการบินไทย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-02-05. สืบค้นเมื่อ 2018-06-13.
  24. 24.0 24.1 "Thai Airways International Public Company Limited : Annual Report 2011" (PDF). Thai Airways International. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2016-03-24. สืบค้นเมื่อ 17 May 2015.
  25. 25.0 25.1 25.2 "Thai Airways International Public Company Limited : Annual Report 2014". Thai Airways International. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-04-28. สืบค้นเมื่อ 17 May 2015.
  26. 26.0 26.1 Kositchotethana, Boonsong (26 May 2015). "Carriers in Asia Pacific stuck in red". Bangkok Post. สืบค้นเมื่อ 2 June 2015.
  27. "กรุงไทยยอม'ทีจี'ขายทิ้งหุ้นนกแอร์165ล้าน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-12-20. สืบค้นเมื่อ 2012-04-09.
  28. AFFILIATES
  29. AFFILIATES
  30. THAI Cargo Adds Xiamen Service from June 2014
  31. 31.0 31.1 31.2 ข้อมูลเกี่ยวกับฝ่ายครัวการบินไทย เก็บถาวร 2012-11-13 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จากเว็บไซต์ฝ่ายครัวการบินไทย
  32. ประวัติความเป็นมาของร้านพัฟแอนด์พาย เก็บถาวร 2012-08-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จากเว็บไซต์พัฟแอนด์พาย
  33. Zero Waste Living การบินไทยมุ่งสู่ความยั่งยืนปี 2050
  34. "'เจ้าจำปี'ติดโผ แอร์สาวสุดฮอต 10 สายการบินทั่วโลก". www.thairath.co.th. 2011-09-29.
  35. การบินไทยผงาดอันดับ7แอร์ฯฮอตสุดของโลก
  36. ผู้โดยสารการบินไทยที่อาการโรคหัวใจกำเริบ ปลอดภัยแล้ว
  37. "การบินไทยมุ่งสู่การยอมรับระดับสากล". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-05-23. สืบค้นเมื่อ 2012-06-14.
  38. 52 ปี การบินไทย นี้ดี[ลิงก์เสีย]
  39. 39.0 39.1 39.2 39.3 สัญลักษณ์การบินไทย เก็บถาวร 2012-09-02 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ในเว็บไซต์การบินไทย
  40. "THAI's destinations". www.thaiairways.com.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  41. "Home". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 4 March 2013. สืบค้นเมื่อ 21 September 2020.
  42. "Profile on Thai Airways". CAPA. Centre for Aviation. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 30 October 2016. สืบค้นเมื่อ 31 October 2016.
  43. Liu, Jim (4 October 2017). "El Al / THAI expands codeshare service from Oct 2017". Routesonline. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 5 October 2017. สืบค้นเมื่อ 5 October 2017.
  44. "Thai Airways Fleet Details and History". Planespotters.net (ภาษาอังกฤษ). 2024-01-04.
  45. "Thai to add A321neos from mid-2025: CEO". FlightGlobal. 2023-06-05. สืบค้นเมื่อ 2023-06-06.
  46. Udol, Indy (2023-06-10). "Thai Airways to add A321neo aircraft in 2025". AviationSource News (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). สืบค้นเมื่อ 2023-06-11.
  47. 47.0 47.1 "Thai Airways details incoming leased aircraft through 2025". ch-aviation.com. 16 November 2023.
  48. "CDB Aviation Leases Two A330-300s to Thai Airways". businesswire.com. 2024-01-02. สืบค้นเมื่อ 2024-01-09.
  49. "Thai Airways Eyes 30 Widebody Airplane Order: What Will It Pick?". Simple Flying (ภาษาอังกฤษ). 2023-06-05. สืบค้นเมื่อ 2023-06-05.
  50. เผยโฉม “โบอิ้ง 777” ฝูงบิน 1 ใน 3 ลำใหม่ของการบินไทย ลำตัวกว้างพิสัยไกล. 9 ธันวาคม 2563. สืบค้นเมื่อ 29 มีนาคม 2564.
  51. Thai Airways puts the brakes on new Boeing 777s. 11 ธันวาคม 2563. สืบค้นเมื่อ 13 ธันวาคม 2563.
  52. "Thai Airways orders 45 Boeing 787s plus options". reuters.com. 8 February 2023.
  53. Thai Airways International Fleet Details and History
  54. Boeing, Thai Airways Announce Order for 45 787 Dreamliners to Grow Fleet and Network
  55. AERCAP ANNOUNCES LEASE AGREEMENTS WITH THAI AIRWAYS FOR FOUR AIRBUS A350-900 AIRCRAFT, THREE BOEING 787-9 AIRCRAFT AND TEN AIRBUS A321NEO AIRCRAFT
  56. "Thai Airways International Fleet" (PDF). เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-11-09. สืบค้นเมื่อ 2018-11-08.
  57. 57.0 57.1 57.2 "THAI sells more planes". Bangkok Post. Bangkok. 21 September 2021. สืบค้นเมื่อ 21 September 2021.
  58. "Thai Airways puts more aircraft up for sale including A380s". Ch-Aviation. สืบค้นเมื่อ 15 December 2020.
  59. Russell, Molly (2023-08-24). "Want An Airbus A380? Thai Airways Is Selling 6!". Simple Flying (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2023-08-25.
  60. Cummins, Nicholas (7 January 2020). "Fewer Jumbos In The Sky: Thai Airways To Retire All 747's By 2024". www.simpleflying.com (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 21 January 2020.
  61. "Thai Airways International Fleet Details and History". www.planespotters.net. สืบค้นเมื่อ 2023-07-30.
  62. Thai Airways A380
  63. "บริการการบินไทย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-12-01. สืบค้นเมื่อ 2012-03-17.
  64. Sud Aviation SE-210 Caravelle III
  65. "Douglas DC-8-33". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-10-20. สืบค้นเมื่อ 2011-05-15.
  66. รายละเอียดเครื่องบินตก 2535
  67. รายละเอียดเครื่องบินตก 2541
  68. รายละเอียดเครื่องบินระเบิด 2544
  69. Accident: Thai A388 at Hong Kong on Aug 30th 2013, turbulence injures 39
  70. Accident: Thai A333 at Bangkok on Sep 8th 2013, runway excursion on landing
  71. Accident: Thai A340 at Bangkok on Feb 26th 2015, turbulence in the airspace
  72. Accident: Thai B777 at Singapore on Apr 12th 2016, turbulence in the airspace
  73. Incident: Thai A359 at Phuket on Sep 21st 2016, temporary runway excursion on landing
  74. Incident: Thai A333 at Islamabad on Dec 4th 2017, overran runway on landing
  75. Boeing 747-4D7
  76. Incident: Thai A333 at Islamabad on Oct 3rd 2018, bird strike
  77. การบินไทยเล็งฟ้องโคดิโตะผลิตเก้าอี้เร่งหารายใหม่แทน
  78. THAI Airways TG103 : CNX-BKK
  79. การบินไทยรักคุณเท่าฟ้า[ลิงก์เสีย]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]