ปวีณา หงสกุล

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ปวีณา หงสกุล
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
ดำรงตำแหน่ง
30 มิถุนายน พ.ศ. 2556 – 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557
นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร
ก่อนหน้าสันติ พร้อมพัฒน์
ถัดไปอดุลย์ แสงสิงแก้ว
รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
ดำรงตำแหน่ง
9 กรกฎาคม พ.ศ. 2542 – 6 มิถุนายน พ.ศ. 2543
นายกรัฐมนตรีชวน หลีกภัย
ก่อนหน้าพิทักษ์ อินทรวิทยนันท์
ถัดไปอดิศัย โพธารามิก
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม
ดำรงตำแหน่ง
5 ตุลาคม พ.ศ. 2541 – 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2542
นายกรัฐมนตรีชวน หลีกภัย
ก่อนหน้าประกอบ สังข์โต
ถัดไปวุฒิ สุโกศล
เลขาธิการพรรคชาติพัฒนา
ดำรงตำแหน่ง
7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2546 – 31 สิงหาคม พ.ศ. 2547
ก่อนหน้าสุวัจน์ ลิปตพัลลภ
ถัดไปประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด5 กรกฎาคม พ.ศ. 2492 (74 ปี)
จังหวัดพระนคร ประเทศไทย
ศาสนาพุทธ
พรรคการเมืองเพื่อไทย (2555–ปัจจุบัน)
ชาติไทย (2549–2551)
ไทยรักไทย (2547–2549)
ชาติพัฒนา (2539–2547)
ประชากรไทย (2531–2539)

ปวีณา หงสกุล (เกิด 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2492) ชื่อเล่น ปิ๊ก อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร[1] นักการเมืองสตรีชาวไทย เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม ในรัฐบาลนายชวน หลีกภัย อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานครหลายสมัย เป็นที่รู้จักในบทบาทของนักสังคมสงเคราะห์และผู้ดำเนินงานในนามมูลนิธิปวีณา

การศึกษา[แก้]

ประวัติการทำงาน[แก้]

เริ่มต้นการทำงานที่สถานทูตสหรัฐอเมริกา ต่อมาเข้าทำงานที่ ลุค อีสต์ แม็กกาซีน และเข้าทำงานที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เป็นเวลา10 ปี จนได้เป็นผู้จัดการธนาคาร สาขาลาดพร้าว แล้วลาออกมาเป็น ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการโรงแรมโซฟิเทล หัวหิน ก่อนจะเข้าสู่วงการเมืองในสังกัดพรรคประชากรไทย ของนายสมัคร สุนทรเวช และต่อมาย้ายไปอยู่พรรคชาติพัฒนา

  • อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรุงเทพมหานคร 6 สมัย
  • ประธานมูลนิธิปวีณาหงสกุลเพื่อเด็กและสตรี (องค์การสาธารณประโยชน์)
  • ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี
  • เลขาธิการพรรคชาติพัฒนา
  • รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (กำกับดูแลการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย)
  • ประธานคณะกรรมการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
  • รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม
  • รองประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2542 สภาผู้แทนราษฎร
  • ประธานคณะกรรมาธิการการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสภาผู้แทนราษฎร
  • ประธานคณะกรรมการเร่งรัดและประสานการปฏิบัติงานเยาวชน สตรี ภาครัฐและเอกชนสำนักนายกรัฐมนตรี
  • รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง
  • ประธานชมรมรัฐสภาสตรีไทยคนแรก (ประธานชมรม ส.ส.หญิง-วุฒิสภาหญิง)
  • ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดใหญ่ โรงแรม โซฟิเทล หัวหิน
  • ผู้จัดการธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) สาขาลาดพร้าว

การดำรงตำแหน่งทางการเมือง[แก้]

  • ส.ส. กรุงเทพฯ เขต 13 พรรคประชากรไทย เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2531
  • ลงสมัคร ส.ส. กทม. เขต 12 พรรคประชากรไทย เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2535 แต่ไม่ได้รับเลือก
  • ส.ส. กรุงเทพฯ เขต12 พรรคประชากรไทย เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2535
  • ส.ส. กรุงเทพฯ เขต 12 พรรคประชากรไทย เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2538
  • รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง (นายสมัคร สุนทรเวช) 1 สิงหาคม 2538
  • โฆษกพรรคประชากรไทย และรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง 9 กรกฎาคม 2539
  • ส.ส. กรุงเทพฯ เขต 12 พรรคชาติพัฒนา เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2539 (ลาออกเมื่อ 6 มิ.ย.2543)
  • รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม 5 ตุลาคม 2541 (พ้นตำแหน่ง 9 ก.ค.2542)
  • รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี 9 กรกฎาคม2542 (ลาออกเมื่อ 6 มิ.ย. 2543)
  • รองหัวหน้าพรรคชาติพัฒนา 5 เมษายน 2543
  • ลงสมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ปี พ.ศ. 2543 แต่ไม่ได้รับเลือก
  • เลขาธิการพรรคชาติพัฒนา 15 มีนาคม 2546
  • ส.ส.บัญชีปาร์ตี้ลิสต์ พรรคชาติพัฒนา 6 มกราคม 2544[2]
  • ลาออกจากพรรคชาติพัฒนาเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2547
  • ลงสมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ปี พ.ศ. 2547 ในนามผู้สมัครอิสระ แต่ไม่ได้รับเลือก
  • ส.ส.กรุงเทพฯ เขต 15 พรรคไทยรักไทย เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2548
  • ส.ส.กรุงเทพฯ เขต 15 พรรคไทยรักไทย เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2549 (โมฆะ)
  • กรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย 24 เมษายน 2548
  • รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นของมนุษย์ 30 มิถุนายน 2556

หมายเหตุ : ในการดำรงตำแหน่งทางการเมือง นางปวีณา หงสกุล ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร์ทั้งสิ้น 6 สมัย

ชีวิตส่วนตัวและเส้นทางทางการเมือง[แก้]

นางปวีณาเกิดเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2492 ที่กรุงเทพมหานคร เป็นบุตรคนที่ 4 ในจำนวน 6 คน บิดา คือ น.อ. (พิเศษ) เพิ่ม หงสกุล และมารดา คือ นางเกยูร หงสกุล

นางปวีณามีชื่อเล่นว่า "ปิ๊ก" เป็นน้องสาวของ อาภัสรา หงสกุล ผู้เป็น นางงามจักรวาลชาวไทยคนแรก มีบุตรชายคือ นายษุภมน หุตะสิงห์ ลงเล่นการเมืองระดับท้องถิ่นได้เป็นสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) เขตสายไหม เขต 1 เมื่อปี พ.ศ. 2548 นอกจากนี้มีน้องชายคือ นายฉมาดล หงสกุล ที่เป็น ส.ก. เขตสายไหม เขต 2 และ นายเอกภาพ หงสกุล เป็นประธานสภาเขตสายไหม อีกด้วย

นางปวีณา หงสกุล ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร์ทั้งสิ้น 6 สมัย (2531-2549) และดำรงตำแหน่งที่สำคัญทางการเมือง อาทิ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (กำกับดูแลการท่องเที่ยว) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี และเลขาธิการพรรคหญิงคนแรกของพรรคชาติพัฒนา นางปวีณาเคยลงรับสมัครเลือกตั้งเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร 2 ครั้ง โดยครั้งแรกในวันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2543 ในสังกัดพรรคชาติพัฒนา ได้เบอร์ 5 และครั้งที่ 2 คือ ในวันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2547 โดยไม่สังกัดพรรคการเมืองใด ได้เบอร์ 7 อันเป็นเบอร์เก่าของนายสมัคร สุนทรเวช อดีตผู้ว่าฯ คนก่อน ในการหาเสียงคราวนี้นางปวีณาใช้สีชมพูเป็นสีประจำตัว ซึ่งมีความหมายถึงความอ่อนหวานของผู้หญิง แต่ นางปวีณาต้องพบกับคู่แข่งคนสำคัญจากพรรคประชาธิปัตย์คือ นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ก่อนการลงคะแนน ความนิยมของทั้งคู่คี่สูสีกันมาก จนกระทั่งผลการเลือกตั้งออกมา ปรากฏว่า นางปวีณาได้คะแนนเสียงเป็นอันดับที่ 2 มีคะแนนเสียงมากถึง 6 แสนกว่าคะแนน

หลังจากนี้ นางปวีณาได้เข้าสังกัดกับทางพรรคไทยรักไทย อันเนื่องจากพรรคชาติพัฒนาได้ยุบรวมกับพรรคไทยรักไทย ในการเลือกตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2548 นางปวีณาได้ลงเลือกตั้งในเขตสายไหมและได้รับการเลือกตั้งไปด้วยคะแนนที่ทิ้งห่างคู่แข่งขันอย่างมาก เนื่องจากมีฐานเสียงอยู่บริเวณนี้

ต่อมาในปี พ.ศ. 2550 ได้ถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี เนื่องจากเป็นกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยซึ่งถูกยุบในคดียุบพรรคการเมือง พ.ศ. 2549[3] ภายหลังจึงได้เข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองกับพรรคชาติไทย

ในกลางปี พ.ศ. 2552 ได้ออกมาเปิดเผยกับสังคมว่าป่วยเป็นมะเร็งทรวงอกมานานกว่า 5 ปี โดยที่ไม่มีใครทราบนอกจากคนในครอบครัว โดยได้ต่อสู้กับโรคนี้มาโดยตลอด จนเกือบหายเป็นปกติในปัจจุบัน

ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2556 ได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

การทำงานสาธารณประโยชน์[แก้]

นางปวีณามีภาพลักษณ์ที่ทุกคนรู้จักดี คือ เป็นผู้ที่ทำงานด้านสังคมสงเคราะห์เกี่ยวกับปัญหาผู้หญิงและเยาวชน โดยมีมูลนิธิปวีณาหงสกุลเพื่อเด็กและสตรี (องค์การสาธารณประโยชน์) เป็นองค์กรให้ความช่วยเหลือ ซึ่งมักจะมีผลงานปรากฏตามสื่อมวลชนเป็นระยะ ๆ ซึ่งบทบาทในด้านนี้ของนางปวีณาโดดเด่นมาก จนได้รับการขนานนามว่า "แม่พระ"

มูลนิธิปวีณาหงสกุลเพื่อเด็กและสตรี (องค์การสาธารณประโยชน์) ได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อ 27 เมษายน พ.ศ. 2542 มีนางปวีณา ดำรงตำแหน่งประธานมูลนิธิปวีณาหงสกุลเพื่อเด็กและสตรี (องค์การสาธารณประโยชน์) โดยมูลนิธิฯ มีวัตถุประสงค์ที่จะให้ความช่วยเหลือกับเด็กและสตรีที่ถูกละเมิดสิทธิ ถูกทารุณกรรม ถูกเอารักเอาเปรียบ ในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อให้รับความเป็นธรรมและสามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้เป็นปกติสุขอย่างถาวรสืบไป เป็นการช่วยเหลือรัฐบาลในฐานะพลเมืองดีอีกทางหนึ่ง นอกจากนี้มูลนิธิฯ ยังได้เปิดสายด่วน "1134" และ "ตู้ ปณ.222 ธัญบุรี" เพื่อรับเรื่องร้องทุกข์อีกด้วย

นางปวีณา ได้กล่าวถึงจุดมุ่งหมายในการก่อตั้งมูลนิธิปวีณาหงสกุลเพื่อเด็กและสตรี (องค์การสาธารณประโยชน์) ว่า "จุดมุ่งหมายของมุลนิธิปวีณาหงสกุลเพื่อเด็กและสตรี ที่ตั้งขึ้นมานั้น เราจะทำในกรณีที่ได้รับการร้องขอ ร้องเรียนให้เข้าไปช่วย โดยถ้าเป็นในกรณีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าไปช่วยเหลือแล้วนั้นเราจะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวด้วยเราจะทำอย่างเดียวคือต้องเข้ามาร้องขอให้เราเข้าไปช่วย ไม่ว่าจะเป็นกรณีเด็กถูกข่มขืน โดยทารุณกรรม ถูกละเมิดสิทธิ ใช้แรงงานเด็กผิดกฎหมาย กรณีต่าง ๆ เหล่านี้ เมื่อเราได้รับการร้องทุกข์แล้วขั้นตอนต่อไปก็คือการเชิญเจ้าทุกข์เข้ามาที่มูลนิธิเพื่อให้ข้อมูล ถ้าเห็นว่ามีน้ำหนัก จากนั้นก็จะมีชุดเฉพาะกิจของเราเข้าไปสืบก่อนล่วงหน้าว่าเป็นจริงที่ตามได้รับหารร้องเรียนมาหรือไม่ ถ้าข้อร้องเรียนมีมูลเราก็จะประสานงานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งเจ้าทุกข์ได้ไปแจ้งความไว้แล้วเพื่อดำเนินการต่อไปเป็นการช่วยเหลือทางราชการอีกทางหนึ่ง และเมื่อเราได้ช่วยเหลือเด็กแล้ว ก็จะต้องดูต่อไปว่า เด็กสามารถที่จะอยู่กับครอบครัวได้หรือไม่ ถ้ากรณีเด็กต้องการฟื้นฟูสภาพจิต หรือฝึกอาชีพ เราก็จะประสานงานกับกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมต่อไป แต่สำหรับกระบวนการยุติธรรมต่าง ๆ มูลนิธิฯ จะดูแลต่อไปจนสิ้นคดีนั้น"

การดำรงตำแหน่งอื่น ๆ[แก้]

  • อนุกรรมการแก้ไขปัญหาโสเภณีเด็กของกรรมาธิการเยาวชน สตรี และผู้สูงอายุ สภาผู้แทนราษฎร
  • ประธานคณะอนุกรรมการเยาวชน สภาผู้แทนราษฎร
  • โฆษกกรรมาธิการเยาวชน สตรีและผู้สูงอายุ สภาผู้แทนราษฎร
  • ประธานกรรมาธิการ การวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สภาผู้แทนราษฎร
  • ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน (นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ)
  • ประธานมูลนิธิปวีณาหงสกุลเพื่อเด็กและสตรี (องค์การสาธารณประโยชน์)
  • อาจารย์พิเศษ โรงเรียนนายร้อยตำรวจ

รางวัลและเกียรติยศที่ได้รับ[แก้]

  • "นักการเมืองหญิงที่ประชาชนชื่นชอบมากที่สุด" จาก สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นในหัวข้อ "ที่สุดแห่งปี" ประจำปี 2553 โดยได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทุกสาขาอาชีพ นางปวีณา หงสกุลได้รับการโหวดให้เป็น นักการเมืองหญิงที่ประชาชนชื่นชอบมากที่สุด อันดับ 1 ด้วยผลคะแนน 70.13%
  • "นักการเมืองหญิงที่ประชาชนชื่นชอบมากที่สุด" จาก สวนดุสิตโพล ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นใหัวข้อ "ที่สุดแห่งปี" ประจำปี 2550 โดยได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทุกสาขาอาชีพ นางปวีณา หงสกุลได้รับการโหวดให้เป็น นักการเมืองหญิงที่ประชาชนชื่นชอบมากที่สุด อันดับ 1 ด้วยผลคะแนน 66.25%
  • รางวัลสตรีดีเด่นในพระพุทธศาสนา เนื่องในโอกาสวันสตรีสากลแห่งสหประชาชาติ ปี 2550
  • "นักการเมืองหญิงที่ประชาชนชื่นชอบมากที่สุด" จาก สวนดุสิตโพล ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นในหัวข้อ "ที่สุดแห่งปี" ประจำปี 2549 โดยได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทุกสาขาอาชีพ นางปวีณา หงสกุลได้รับการโหวดให้เป็น นักการเมืองหญิงที่ประชาชนชื่นชอบมากที่สุด อันดับ 1
  • "สุดยอดคนดี 2549" จากศูนย์ประชามติ มหาวิทยาลัยรามคำแหง รามคำแหงโพล ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นในหัวข้อ "นักการเมืองหญิงที่เป็นคนดีมีคุณธรรม" และได้ระบุให้ นางปวีณา หงสกุล ได้คะแนนมากที่สุด
  • "นักการเมืองที่เด็กชื่นชอบมากที่สุด" จากศูนย์ประชามติ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของเด็กอายุไม่เกิน 18 ปี ในเขตกรุงเทพมหานคร จำนวน 1390 คน
  • ได้รับเข็มพระนามาภิไธยย่อ “ส.ธ.” พ.ศ. 2547 จากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพพระรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
  • คณะกรรมการจัดงาน สตรีดีเด่นแห่งปี ได้มอบรางวัล “สตรีดีเด่นตัวอย่างแห่งปี ประจำปี 2545” สาขาเพื่อสิทธิเด็กและสตรีให้ “นางปวีณา หงสกุล”
  • 1 พฤษภาคม 2544 ดุสิตโพล ได้สำรวจความคิดเห็นของผู้ใช้แรงงาน นักการเมืองหญิงที่ผู้ใช้แรงงานเห็นว่าเป็นที่พึ่งได้ อันดับ 1 คือ ส.ส. ปวีณา หงสกุล
  • ผลการสำรวจความคิดเห็น ระหว่างวันที่ 1-30 ธันวาคม พ.ศ. 2544 จากสวนดุสิตโพล สถาบันราชภัฎสวนดุสิต ประชาชนทั่วประเทศ จำนวน 24,891 คน นักการเมืองหญิง ที่ประชาชนชอบมากที่สุด อันดับ 1 คือ ส.ส. ปวีณา หงสกุล
  • ได้รับเครื่องหมายเกียรติยศ กระทรวงมหาดไทย พ.ศ. 2543
  • ได้รับประกาศเกียรติคุณให้มีสิทธิประดับเข็มเครื่องหมายพระปรมาภิไธยย่อ ภปร. จากกองพลทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน พ.ศ. 2543
  • ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกนักโดดร่มกองทัพบก พ.ศ. 2543
  • ผลการสำรวจความเห็นสาธารณะจากธรรมศาสตร์โพล เมื่อ ธันวาคม 2542 ได้รับเลือกเป็น “นักการเมืองเลือดใหม่ยอดนิยมอันดับ 1”
  • ได้รับรางวัล “ยอดหญิง” ปี 2542 จากสมาคมส่งเสริมสถานสภาพสตรี ในพระอุปถัมภ์พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ
  • ได้รับเกียรติเป็นนักบินกิตติมศักดิ์ของกองทัพอากาศ พ.ศ. 2542
  • ผลการสำรวจความเห็นประชาชนทั่วประเทศจากกสวนดุสิตโพล วันที่ 30 ธันวาคม 2541 เรื่อง “ที่สุดแห่งปี 2541” ข้อ 9 นักการเมืองยอดนิยมอันดับ 1 ฝ่ายหญิง ได้แก่ นางปวีณา หงสกุล
  • ผลการสำรวจความเห็นประชาชนจากสวนดุสิตโพล ตุลาคม 2541 หัวข้อ “นักการเมืองที่ซื่อสัตย์ 5 อันดับแรก” ผู้ที่ติด 1 ใน 5 อันดับแรก คือ นางปวีณา หงสกุล
  • ได้รับเกียรติจากสื่อมวลชนรัฐสภา เลือกให้เป็น “ดาวเด่นในสภาปี 2541”
  • ได้รับการยกย่องเป็นสตรีดีเด่นประจำปี 2541 จากสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ในฐานะที่เป็นผู้ช่วยเหลือพิทักษ์สิทธิเด็กและสตรีตลอดมา
  • ได้รับรางวัลนักเหินเวหากิตติมศักดิ์ของกองทัพอากาศ พ.ศ. 2536
  • ได้รับโล่และเข็มเชิดชูเกียรติ เพื่อแสดงว่าเป็นผู้สนับสนุนกิจการของกองทัพอากาศมาด้วยดี
  • ได้รับประกาศนียบัตรแสดงความสามารถในการบินกิตติมศักดิ์ของกรมตำรวจ พ.ศ. 2532

เครื่องราชอิสริยาภรณ์[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. พระบรมราชโองการ ประกาศให้รัฐมนตรีพ้นจากความเป็นรัฐมนตรีและแต่งตั้งรัฐมนตรี (รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ๕)
  2. "ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง ผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2022-05-31. สืบค้นเมื่อ 2011-05-26.
  3. "เปิดรายชื่อ ทั้ง 111 กรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยที่ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองเป็นระยะเวลา 5 ปี !!!". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-11-08. สืบค้นเมื่อ 2011-06-02.
  4. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2015-09-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๑๕ ตอนที่ ๒๓ ข หน้า ๕, ๒ ธันวาคม ๒๕๔๑
  5. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2015-09-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๑๔ ตอนที่ ๒๗ ข หน้า ๒๒, ๓ ธันวาคม ๒๕๔๐

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

ก่อนหน้า ปวีณา หงสกุล ถัดไป
สันติ พร้อมพัฒน์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคม
และความมั่นคงของมนุษย์
(ครม. 60)

(30 มิถุนายน พ.ศ. 2556 - 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557)
พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงห์แก้ว
พิทักษ์ อินทรวิทยนันท์
รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (ครม. 53)
(9 กรกฎาคม พ.ศ. 2542 – 6 มิถุนายน พ.ศ. 2543)
อดิศัย โพธารามิก