ข้ามไปเนื้อหา

โรงแรมเอราวัณ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
โรงแรมเอราวัณในปี พ.ศ. 2503

โรงแรมเอราวัณ (อังกฤษ: The Erawan Hotel) เป็นอดีตโรงแรมหรูในกรุงเทพมหานคร เป็นโรงแรมสมัยใหม่แห่งแรกที่สร้างขึ้นเพื่อรองรับการขยายตัวของธุรกิจการบินระหว่างประเทศ ดำเนินการโดยบริษัท สหโรงแรมไทยและการท่องเที่ยว จำกัด เปิดให้บริการในปี พ.ศ. 2499 หลังจากเกิดความล่าช้าหลายครั้งซึ่งส่งผลให้มีการก่อสร้างศาลพระพรหมเอราวัณ เพื่อปัดเป่าเคราะห์ร้าย

หลังจากประสบปัญหาในช่วงปีแรกของการดำเนินงาน โรงแรมเจริญรุ่งเรืองในทศวรรษ 1960 ภายใต้การบริหารของพลเอกเฉลิมชัย จารุวัสตร์ ผู้ให้ความสำคัญกับบรรยากาศแบบไทยในการตกแต่งและการบริการ แต่โรงแรมเข้าสู่ภาวะเสื่อมถอยในทศวรรษต่อมา เนื่องจากต้องเผชิญกับการแข่งขันที่สูงขึ้น โรงแรมถูกรื้อถอนในปี พ.ศ. 2531 เพื่อสร้างโรงแรมขึ้นมาใหม่ในชื่อ แกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ

ประวัติ

[แก้]

การก่อตั้ง

[แก้]

ในช่วงหลัง สงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐบาลของนายกรัฐมนตรี จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้มีนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมการบริการ เพื่อรองรับธุรกิจการบินระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้น ต่อมาประยูร ภมรมนตรีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในขณะนั้น ได้ริเริ่มโครงการก่อสร้างโรงแรมหรูที่ทันสมัย เพื่อรองรับการเป็นเจ้าภาพการประชุมสหภาพรัฐสภา ครั้งที่ 45 ในปี พ.ศ. 2499 โดยดำเนินการผ่านบริษัท สหโรงแรมไทยและการท่องเที่ยว จำกัด ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2496 โดยมีพลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ เป็นประธานกรรมการคนแรก[1]

เดิมบริษัทมีแผนจะสร้างโรงแรมที่สวนลุมพินี แต่แนวคิดนี้ถูกปฏิเสธ จึงเลือกสถานที่บริเวณมุมตะวันออกเฉียงใต้ของแยกราชประสงค์ ซึ่งเดิมสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์เป็นผู้ให้บริษัท โรงแรมพระนคร จำกัด กู้เงินซื้อสำหรับสร้างโรงแรม แต่ไม่สามารถตกลงเจรจากันได้ รัฐบาลจึงได้ซื้อที่ดินดังกล่าวมูลค่า 6.6 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นหุ้นให้สำนักงานทรัพย์สินฯ จำนวน 5 ล้านบาท และชำระเป็นเงินสด 1.6 ล้านบาท อนึ่ง สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ เจ้าของที่ดินดังกล่าว ได้เข้าถือหุ้นของบริษัทสหโรงแรมไทยฯ ด้วย[1]

การก่อสร้างเริ่มขึ้นหลังจากนั้นไม่นาน แต่โครงการประสบกับความล่าช้าและอุบัติเหตุหลายครั้ง ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจากแผน 20 ล้านบาท เป็น 100 ล้านบาท มีกระแสข่าวลือที่ว่าความล้มเหลวนั้นเกิดจากสาเหตุเหนือธรรมชาติ ต่อมาบริษัทได้เชิญพลเรือตรี หลวงสุวิชานแพทย์ (อั๋น สุวรรณภาณุ) ผู้เชี่ยวชาญด้านโหราศาสตร์เข้ามาเพื่อหาฤกษ์ในการเปิดโรงแรม

พล.ร.ต. หลวงสุวิชานแพทย์ ท้วงติงว่า ในการก่อสร้างโรงแรมไม่ได้มีการทำพิธีบอกกล่าวสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในบริเวณนั้นก่อน ฤกษ์ในการวางศิลาฤกษ์ของโรงแรมก็ไม่ถูกต้อง อีกทั้งชื่อของโรงแรม "เอราวัณ" นั้น เป็นชื่อของช้างทรงของพระอินทร์ ถือเป็นชื่อที่ศักดิ์สิทธิ์ จำเป็นต้องมีการบวงสรวงที่เหมาะสม วิธีการแก้ไขจะต้องขอพรจากพระพรหมเพื่อช่วยให้อุปสรรคหมดไป และจะต้องสร้างศาลพระพรหมขึ้นทันทีหลังจากการก่อสร้างโรงแรมแล้วเสร็จ และสร้างศาลพระภูมิขึ้นไว้ในโรงแรม[2][3][4]

อาคารโรงแรมออกแบบด้วยสถาปัตยกรรมไทยประยุกต์ [5] มีหลังคาจั่วประดับบนโครงสร้างสี่ชั้นซึ่งมีห้องพัก 175 ห้อง (ต่อมาขยายเป็น 250 ห้อง) โดยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้เดินทางมาทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2499[2] [3]

การดำเนินงาน

[แก้]

ในช่วงแรกของการดำเนินงาน โรงแรมประสบปัญหาเนื่องจากขาดความเชี่ยวชาญในหมู่พนักงานชาวไทย แต่กลับประสบความสำเร็จเมื่อพลเอกเฉลิมชัย จารุวัสตร์ ที่เพิ่งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยคนแรก (ปัจจุบันคือ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย) ได้รับการว่าจ้างให้บริหารโรงแรมในปี 2503 เฉลิมชัยปรับปรุงโรงแรมโดยเน้นภาพลักษณ์ความเป็นไทยซึ่งสร้างเอกลักษณ์เฉพาะตัวของโรงแรม[2] การปรับปรุงนี้รวมถึงการตกแต่งภายในโรงแรม ส่งเสริมภาพลักษณ์พนักงานต้อนรับโดยใช้สตรีวัยรุ่น การให้บริการอาหารไทยในร้านอาหาร และการสวมชุดไทยของพนักงาน ซึ่งแนวทางดังกล่าวได้นำไปใช้ที่โรงแรมสยามอินเตอร์คอนติเนนตัล และโรงแรมดุสิตธานี ในเวลาต่อมา[6]

โรงแรมเอราวัณเจริญรุ่งเรืองในทศวรรษ 1960 โดยมีบุคคลสำคัญและคนดังจากต่างประเทศจำนวนมาก แต่ได้เสื่อมถอยในช่วงทศวรรษ 1970 เนื่องจากไม่สามารถเผชิญกับการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นจากโรงแรมเอกชนอื่น ๆ ภาครัฐมีความพยายามฟื้นฟูกิจการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2522 จนกระทั่งคณะรัฐมนตรี มีมติเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2528 ให้กระทรวงการคลัง ดำเนินการปรับปรุงกิจการโรงแรมเอราวัณ โดยการร่วมทุนกับภาคเอกชน ซึ่งบริษัทที่ได้เข้าร่วมทุนในครั้งนั้นคือ บริษัท อัมรินทร์ดิเวลลอปเม้นท์ จำกัด (ปัจจุบันคือกลุ่มเอราวัณ) โดยมีการแถลงข่าวร่วมทุน เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2530 เพื่อดำเนินการจัดตั้งบริษัท โรงแรมเอราวัณ จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทร่วมทุน และปิดกิจการโรงแรมเอราวัณเดิม เมื่อวันที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2531[1][7] เพื่อก่อสร้างโรงแรมใหม่ คือ โรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ เปิดตัวในปี พ.ศ. 2534 โดย Hyatt Hotels and Resorts Corporation.

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 1.2 "ประวัติบริษัทฯ ยุคแรกปี พ.ศ. 2499–ปี พ.ศ. 2530". www.sahathaihotel.com. The Syndicate of Thai Hotels and Tourists Enterprises. สืบค้นเมื่อ 3 September 2021.
  2. 2.0 2.1 2.2 Ünaldi, Serhat (2016). Working Towards the Monarchy: The Politics of Space in Downtown Bangkok. Honolulu: University of Hawaii Press. pp. 128–129. ISBN 9780824855758.
  3. 3.0 3.1 Grossman, Nicholas, บ.ก. (2009). "Erawan Hotel opens after series of delays". Chronicle of Thailand: Headline News Since 1946. Singapore: Editions Didier Millet. p. 89. ISBN 9789814217125.
  4. "เทวดาสี่แยกราชประสงค์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-03-28. สืบค้นเมื่อ 2022-03-18.
  5. ชาตรี ประกิตนนทการ (2004). Kānmư̄ang læ sangkhom nai sinlapa sathāpattayakam : Sayām samai Thai prayuk chātniyom การเมืองและสังคมในศิลปสถาปัตยกรรม สยามสมัย ไทยประยุกต์ ชาตินิยม. Bangkok: Matichon. p. 432. ISBN 9743233237.
  6. Chua, Lawrence (2021). Bangkok Utopia: Modern Architecture and Buddhist Felicities, 1910–1973. Honolulu: University of Hawaii Press. p. 181. ISBN 9780824887735.
  7. Grossman, Nicholas, บ.ก. (2009). "Landmark Erawan Hotel closes its doors". Chronicle of Thailand: Headline News Since 1946. Singapore: Editions Didier Millet. p. 281. ISBN 9789814217125.