คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

นี่คือบทความคุณภาพ คลิกเพื่อดูรายละเอียดเพิ่มเติม
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

คณะสหเวชศาสตร์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
Faculty of Allied Health Sciences,
Chulalongkorn university
สัญลักษณ์คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ชื่อเดิมภาควิชาเทคนิคการแพทย์
สถาปนา16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2534; 32 ปีก่อน (2534-11-16)
คณบดีรองศาสตราจารย์ ดร.ปาลนี อัมรานนท์
ที่อยู่
154 อาคารจุฬาพัฒน์ 1 ซอยจุฬาลงกรณ์ 12 ถนนพระรามที่ 1 แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330
วารสารวารสารสหเวชศาสตร์
(J. Lab Med)
สี███ สีม่วงคราม
มาสคอต
งูพันเป็นรูป AHS บนฝ่ามือ
สถานปฏิบัติหน่วยปฏิบัติการบริการ
วิทยาศาสตร์สุขภาพ
(ศูนย์สุขภาพสหเวชศาสตร์)
เว็บไซต์ahs.chula.ac.th

คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีประวัติความสืบเนื่องจากการเปิดสอนหลักสูตรเทคนิคการแพทย์ของโรงเรียนเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ (ปัจจุบัน คือ คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล) ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เมื่อปี พ.ศ. 2502 ซึ่งต่อมาได้มีการโอนคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดลในส่วนที่ตั้งอยู่ภายในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์มาสังกัดแผนกวิชาเวชศาสตร์ชันสูตร คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี พ.ศ. 2514 และมีการพัฒนาขึ้นเป็นภาควิชาเทคนิคการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จนกระทั่ง จัดตั้งเป็นคณะสหเวชศาสตร์เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2534 ซึ่งนับเป็นคณะลำดับที่ 17 ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและถือเป็นคณะสหเวชศาสตร์แห่งแรกของประเทศไทย โดยมีหน้าที่ในการผลิตบัณฑิตสาขาวิชาในกลุ่มวิทยาศาสตร์สุขภาพต่าง ๆ ทั้งเทคนิคการแพทย์ กายภาพบำบัด และรังสีเทคนิคเป็นต้น

ปัจจุบัน คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดสอนหลักสูตรระดับปริญญาบัณฑิตใน 4 สาขาวิชา ได้แก่ สาขาวิชาเทคนิคการแพทย์ สาขาวิชากายภาพบำบัด สาขาวิชาโภชนาการและการกำหนดอาหาร และสาขาวิชารังสีเทคนิค นอกจากนี้ยังเปิดสอนในระดับบัณฑิตศึกษา แบ่งเป็น ระดับปริญญาโท 5 สาขาวิชาและระดับปริญญาเอก 5 สาขาวิชา

ประวัติ[แก้]

มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ (มหาวิทยาลัยมหิดล ในปัจจุบัน) เริ่มร่างหลักสูตรเพื่อผลิตบุคลากรในด้านการตรวจทดสอบทางห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ โดยใช้หลักสูตรจากสหรัฐอเมริกาเป็นแบบอย่างและได้ตั้ง "โรงเรียนเทคนิคการแพทย์" ขึ้นในปี พ.ศ. 2499 เพื่อจัดการเรียนการสอนในระดับอนุปริญญาเทคนิคการแพทย์และให้บริการการตรวจทางห้องปฏิบัติการให้แก่ผู้ป่วย โดยมีสถานที่ตั้งอยู่ 2 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลศิริราชและโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์[1]

ในส่วนของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์นั้นเริ่มเปิดให้บริการตรวจทางห้องปฏิบัติการด้านจุลทรรศน์ศาสตร์คลินิกและเคมีคลินิกในวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2501 โดยมี ศาสตราจารย์ นายแพทย์เชวง เดชะไกศยะ เป็นผู้รับผิดชอบ และเริ่มจัดการเรียนการสอนทางเทคนิคการแพทย์ในปี พ.ศ. 2502 โดยจัดการเรียนการสอนในหลักสูตรอนุปริญญา 3 ปี จนกระทั่ง พ.ศ. 2513 จึงยกเลิกหลักสูตรเทคนิคการแพทย์ ระดับอนุปริญญา 3 ปี เปลี่ยนเป็นหลักสูตรเทคนิคการแพทย์ ระดับปริญญาตรี 4 ปีแทน[2]

เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2511 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้มีหนังสือถึงมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ขอโอนคณะเทคนิคการแพทย์ส่วนที่ตั้งอยู่ในบริเวณโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ไปรวมกับสาขาวิชาพยาธิวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อตั้งเป็นแผนกวิชาเวชศาสตร์ชันสูตร โดยยังไม่เป็นที่ตกลง แต่มีมติที่ประชุมร่วมของทั้งสองมหาวิทยาลัยให้มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์รับนักศึกษา ชั้นปีที่ 1 ปีการศึกษา 2513-2514 จำนวน 70 คน โดยให้นักศึกษาจำนวน 30 คนสมัครใจไปศึกษาต่อชั้นปีที่ 3 ในส่วนที่อยู่บริเวณจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เมื่อ พ.ศ. 2514 เกิดการปฏิวัติการปกครองแผ่นดินขึ้น และได้มีประกาศของคณะปฏิวัติให้โอนคณะเทคนิคการแพทย์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัยมหิดล ไปเป็น "แผนกวิชาเวชศาสตร์ชันสูตร" คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย[3]

ต่อมา ในปี พ.ศ. 2521 ศาสตราจารย์กิตติคุณ นายแพทย์ศริพร วณิเกียรติ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ แต่งตั้งคณะทำงานขอข้อมูลเรื่องการศึกษาสาขาวิชาเทคนิคการแพทย์ เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาจัดตั้งคณะเทคนิคการแพทย์ โดยคณะแพทยศาสตร์ได้เสนอโครงการจัดตั้งคณะเทคนิคการแพทย์ แต่ได้รับการบรรจุให้ดำเนินการจัดตั้งเป็น "ภาควิชาเทคนิคการแพทย์" คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแทน

รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ยาใจ ณ สงขลา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มีคำสั่งลงวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2527 แต่งตั้งคณะกรรมการจัดทำโครงการการจัดตั้งคณะเทคนิคการแพทย์อีกครั้ง โดยทางมหาวิทยาลัยเห็นว่า คณะใหม่ควรจะประกอบด้วยหลายสาขาวิชา คณะกรรมการจึงได้พิจารณาในรายละเอียดเพิ่มเติมว่าควรจะมีสาขาวิชาที่เป็นกลุ่มวิทยาศาสตร์สุขภาพอยู่ด้วยกัน เช่น สาขาวิชากายภาพบำบัด สาขาวิชารังสีเทคนิค ดังนั้น จึงพิจารณาเรื่องชื่อของคณะใหม่ โดยได้เรียนเชิญศาสตราจารย์พิเศษ นายแพทย์ทองจันทร์ หงส์ลดารมย์ มาร่วมพิจารณาด้วย และนำเสนอชื่อคณะหลากหลาย ในที่สุด คณะกรรมการมีมติเห็นชอบว่าสมควรจะเป็นชื่อ "คณะสหเวชศาสตร์" และใช้ชื่อทางภาษาอังกฤษว่า "The Faculty of Allied Health Sciences"

คณะแพทยศาสตร์จึงได้มีประกาศลงวันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2529 แต่งตั้งคณะกรรมการโครงการจัดตั้งคณะสหเวชศาสตร์ เพื่อรับผิดชอบในการผลิตบัณฑิตสาขาวิชาเทคนิคการแพทย์ จำนวนปีละ 60 คน สาขาวิชากายภาพบำบัดจำนวนปีละ 30 คน สาขาวิชารังสีเทคนิคจำนวนปีละ 30 คน และจะต้องเพิ่มจำนวนการผลิตบัณฑิตขึ้นอีกตามความต้องการของประเทศในด้านการพัฒนาสาธารณสุข

ในการประชุมของคณะกรรมการทบวงมหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2533 ได้มีมติเห็นชอบในการจัดตั้งคณะสหเวชศาสตร์โดยให้แยกออกมาจากภาควิชาเทคนิคการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมีพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งคณะสหเวชศาสตร์ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2534[4] ประกอบด้วย 5 ภาควิชา ได้แก่ ภาควิชากายภาพบำบัด ภาควิชาเคมีคลินิก ภาควิชาจุลทรรศน์ศาสตร์คลินิก ภาควิชาเวชศาสตร์การธนาคารเลือด และภาควิชารังสีเทคนิค นับเป็นการจัดตั้งคณะสหเวชศาสตร์แห่งแรกของประเทศไทย[5][6]

ในปีการศึกษา 2548 คณะสหเวชศาสตร์ได้เปิดหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาโภชนาการและการกำหนดอาหาร โดยได้เปิดรับนิสิตเป็นรุ่นแรก เพื่อต้องการผลิตบัณฑิตในวิชาชีพนักกำหนดอาหาร ในปีเดียวกันนี้เองคณะสหเวชศาสตร์ได้พัฒนาด้านอาคารสถานที่ โดยได้ปรับปรุงภูมิทัศน์พื้นที่รอบอาคารจุฬาพัฒน์ 1 และพื้นที่ระหว่างอาคารจุฬาพัฒน์ 1 จุฬาพัฒน์ 2 จุฬาพัฒน์ 3 และจุฬาพัฒน์ 4[7]

พ.ศ. 2551 หลังจากที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้เป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ ทำให้คณะสหเวชศาสตร์ได้ปรับปรุงการบริหารหน่วยงานภายในใหม่ โดยในการประชุมของสภามหาวิทยาลัยครั้งที่ 733 เมื่อวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2554 จึงอนุมัติให้ออกข้อบังคับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยว่าด้วยการแบ่งหน่วยงานภายในคณะสหเวชศาสตร์ พ.ศ. 2554 โดยได้ปรับปรุงภาควิชาใหม่ ประกอบด้วย 5 ภาควิชา ได้แก่ ภาควิชากายภาพบำบัด ภาควิชาเคมีคลินิก ภาควิชาจุลทรรศน์ศาสตร์คลินิก ภาควิชาเวชศาสตร์การธนาคารเลือดและจุลชีววิทยาคลินิก และภาควิชาโภชนาการและการกำหนดอาหาร[8]

ต่อมาในปีการศึกษา 2558 คณะสหเวชศาสตร์ได้เปิดหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชารังสีเทคนิค โดยเป็นการปรับปรุงหลักสูตรระดับประกาศนียบัตรของโรงเรียนรังสีเทคนิค สังกัดภาควิชา/ฝ่ายรังสีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยซึ่งได้ปิดทำการเรียนการสอนตั้งแต่ปีการศึกษา 2554 โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญในการผลิตบัณฑิตในวิชาชีพนักรังสีเทคนิค [9]

หน่วยงานและการศึกษา[แก้]

ภาควิชา[แก้]

เมื่อเริ่มจัดตั้งคณะมีการแบ่งส่วนราชการภายในออกเป็น 5 ภาควิชา ได้แก่ ภาควิชากายภาพบำบัด ภาควิชาเคมีคลินิก ภาควิชาจุลทรรศน์ศาสตร์คลินิก ภาควิชารังสีเทคนิค และภาควิชาเวชศาสตร์การธนาคารเลือด เพื่อรองรับการจัดการเรียนการสอนในสาขาวิชากายภาพบำบัด เทคนิคการแพทย์ และรังสีเทคนิค[10] อย่างไรก็ตาม ทางคณะยังไม่สามารถเปิดหลักสูตรระดับปริญญาบัณฑิต สาขารังสีเทคนิคได้ จนกระทั่ง มีการจัดแบ่งหน่วยงานภายในคณะขึ้นใหม่ในปี พ.ศ. 2554 ได้มีการยุบ เพิ่ม และเปลี่ยนชื่อภาควิชาบางส่วนเพื่อความมีประสิทธิภาพในการดำเนินการตามวัตถุประสงค์และพันธกิจของคณะ ปัจจุบัน คณะสหเวชศาสตร์มีการจัดแบ่งภาควิชาออกเป็น 6 ภาควิชา[11] ดังนี้

  • ภาควิชากายภาพบำบัด[12]
  • ภาควิชาเคมีคลินิก[13]
  • ภาควิชาจุลทรรศน์ศาสตร์คลินิก[14]
  • ภาควิชาเวชศาสตร์การธนาคารเลือดและจุลชีววิทยาคลินิก[15]
  • ภาควิชาโภชนาการและการกำหนดอาหาร
  • ภาควิชารังสีเทคนิคและฟิสิกส์ทางการแพทย์

หลักสูตรการศึกษา[แก้]

คณะสหเวชศาสตร์ ประกอบด้วย 5 ภาควิชา เปิดการเรียนการสอนในระดับปริญญาตรีใน 4 สาขาวิชาชีพ ได้แก่ เทคนิคการแพทย์ กายภาพบำบัด โภชนาการและการกำหนดอาหาร และรังสีเทคนิค โดยหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเทคนิคการแพทย์ และหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชากายภาพบำบัด ได้ผ่านการรับรองจากสภาเทคนิคการแพทย์และสภากายภาพบำบัดเป็นที่เรียบร้อยแล้วทำให้บัณฑิตสามารถขอขึ้นทะเบียนสอบและขอรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพดังกล่าวได้[16][17]

ทั้งนี้ การเรียนการสอนในหลักสูตรปริญญาบัณฑิตใช้เวลาในการศึกษาตลอดหลักสูตรไม่ต่ำกว่า 4 ปี แต่ไม่เกิน 8 ปี เป็นไปตามระเบียบและข้อบังคับของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย[18] นอกจากนี้ ยังเปิดโอกาสให้นิสิตสามารถลงทะเบียนเรียนกลุ่มวิชาโทที่เปิดสอนในคณะสหเวชศาสตร์หรือกลุ่มวิชาโทข้ามสาขาในต่างคณะได้ 1 สาขาวิชา (15 หน่วยกิต) ตามความสามารถและความสนใจของนิสิต[19]

ทางคณะยังจัดการเรียนการสอนในระดับบัณฑิตศึกษา ได้แก่ ระดับปริญญาโท 5 หลักสูตร[20] และระดับปริญญาเอก 3 หลักสูตร[21] และได้ร่วมมือกับบัณฑิตวิทยาลัย คณะแพทยศาสตร์ คณะทันตแพทยศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ และคณะสัตวแพทยศาสตร์ จัดการเรียนการสอนในระดับปริญญาเอก 1 สหสาขาวิชา ได้แก่ สหสาขาชีวเวชศาสตร์[22] โดยหลักสูตรที่คณะเปิดการเรียนการสอน มีดังนี้

ปริญญาตรี ปริญญาโท ปริญญาเอก

หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต

  • สาขาวิชาเทคนิคการแพทย์
  • สาขาวิชากายภาพบำบัด
  • สาขาวิชาโภชนาการและการกำหนดอาหาร
  • สาขาวิชารังสีเทคนิค

หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต

  • สาขาวิชาชีวเคมีคลินิกและอณูทางการแพทย์
  • สาขาวิชาวิทยาศาสตร์โลหิตวิทยาคลินิก
  • สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ระดับโมเลกุลทางจุลชีววิทยาทางการแพทย์และวิทยาภูมิคุ้มกัน
    (หลักสูตรนอกเวลาราชการ)
  • สาขาวิชากายภาพบำบัด
    • แขนงวิชากายภาพบำบัดทางระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ
    • แขนงวิชาการภาพบำบัดด้วยวิธีการดัดดึง
    • แขนงวิชาการภาพบำบัดทางระบบประสาท
    • แขนงวิชาการภาพบำบัดในเด็ก
    • แขนงวิชาการภาพบำบัดทางระบบทางเดินหายใจและหัวใจ
  • สาขาอาหารและโภชนาการ (นานาชาติ)[23]
    • แขนงวิชาโภชนบำบัดทางการแพทย์
    • แขนงวิชาโภชนชีวเคมี
    • แขนงวิชาอาหารและโภชนาการประยุกต์

หลักสูตรวิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิต

  • สาขาวิชาชีวเคมีคลินิกและอณูทางการแพทย์
  • สาขาวิชากายภาพบำบัด
    • แขนงวิชากายภาพบำบัดทางระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ
    • แขนงวิชาการภาพบำบัดด้วยวิธีการดัดดึง
    • แขนงวิชาการภาพบำบัดทางระบบประสาท
    • แขนงวิชาการภาพบำบัดในเด็ก
    • แขนงวิชาการภาพบำบัดทางระบบทางเดินหายใจและหัวใจ
  • สาขาวิชาอาหารและโภชนาการ (นานาชาติ)[24]
    • แขนงวิชาโภชนบำบัดทางการแพทย์
    • แขนงวิชาโภชนชีวเคมี
    • แขนงวิชาอาหารและโภชนาการประยุกต์
  • สหสาขาชีวเวชศาสตร์

การรับบุคคลเข้าศึกษา[แก้]

ผู้ที่มีสิทธิ์เข้าศึกษาในระดับปริญญาบัณฑิตทุกหลักสูตรต้องเป็นผู้กำลังศึกษาหรือสำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 สายวิทยาศาสตร์หรือเทียบเท่า[18] โดยรับสมัครนักเรียนเข้าศึกษาต่อผ่านระบบต่าง ๆ ดังนี้

  • การคัดเลือกเข้าศึกษาโดยระบบกลาง

การคัดเลือกเข้าศึกษาโดยระบบกลางหรือระบบแอดมิชชัน เป็นความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยกับสมาคมอธิการบดีแห่งประเทศไทยเพื่อคัดเลือกนักเรียนเข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย สำหรับเกณฑ์การคัดเลือกผู้สมัครเข้าศึกษาต่อในคณะสหเวชศาสตร์พิจารณาจาก GPAX 20%, O-NET (8 กลุ่มสาระ) 30%, GAT (General Aptitude Test) 20% และ PAT2 (Professional Aptitude Test) 30%[25]

  • รับตรงแบบปกติ

คณะสหเวชศาสตร์เปิดรับบุคคลเข้าศึกษาโดยวิธีรับตรง (แบบปกติ) ในสาขาวิชากายภาพบำบัด รับประมาณ 40 คน และสาขาวิชารังสีเทคนิคและฟิกส์ทางการแพทย์ รับประมาณ 20 คน โดยผู้สนใจสมัครเข้าศึกษาต่อในคณะสหเวชศาสตร์จะต้องได้คะแนนเฉลี่ย 5 ภาคการศึกษาไม่ต่ำกว่า 2.75 และเงื่อนไขอื่น ๆ ตามที่มหาวิทยาลัยกำหนด[26]

  • รับตรงแบบพิเศษ
    • โครงการจุฬาฯ-ชนบท เป็นโครงการของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่จะรับนักเรียนจากชนบทจากจังหวัดที่มหาวิทยาลัยกำหนดเพื่อเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยโดยจะได้รับทุนอุดหนุนจนสำเร็จการศึกษาตามหลักสูตร สำหรับผู้สนใจสมัครเข้าศึกษาต่อในคณะสหเวชศาสตร์จะต้องได้คะแนนเฉลี่ยกลุ่มวิทยาศาสตร์ไม่ต่ำกว่า 2.75 กลุ่มวิชาภาษาอังกฤษไม่ต่ำกว่า 2.75 และกลุ่มวิชาอื่น ๆ แต่ละกลุ่มวิชาไม่ต่ำกว่า 2.00 และเงื่อนไขอื่น ๆ ตามที่มหาวิทยาลัยกำหนด โดยคณะสหเวชศาสตร์เปิดรับ 3 สาขาวิชา ได้แก่ สาขาวิชาเทคนิคการแพทย์ รับประมาณ 15 คน สาขาวิชากายภาพบำบัด รับประมาณ 6 คน และสาขาวิชาโภชนาการและการกำหนดอาหาร รับประมาณ 3 คน[27]
    • โครงการพัฒนาเครือข่ายห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ฮาลาลในเขตแผนการพัฒนาเศรษฐกิจสามฝ่ายอินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (IMT-GT) โดยรับนักเรียนมุสลิมจาก 5 จังหวัดชายแดนใต้ ได้แก่ จังหวัดยะลา จังหวัดปัตตานี จังหวัดนราธิวาส จังหวัดสตูล และจังหวัดสงขลา (เฉพาะเขตอำเภอเทพา อำเภอนาทวี อำเภอจะนะ และอำเภอสะบ้าย้อย) โดยผู้ที่มีสิทธิ์เข้าศึกษาจะต้องมีคุณสมบัติตรงตามเงื่อนไขของโครงการต่าง ๆ กำหนดไว้ ได้แก่ เป็นผู้นับถือศาสนาอิสลาม สำหรับสาขาวิชาเทคนิคการแพทย์และสาขาวิชากายภาพบำบัดต้องได้ผลการเรียนเฉลี่ยสะสมไม่ต่ำกว่า 2.50 และสาขาโภชนาการและการกำหนดอาหารไม่ต่ำกว่า 2.75 และสาขาวิชากายภาพบำบัดต้องเป็นเพศชายเท่านั้น เป็นต้น โดยจำนวนที่เปิดรับนิสิตเข้าศึกษา ได้แก่ สาขาวิชาเทคนิคการแพทย์ รับประมาณ 1 คน สาขาวิชากายภาพบำบัด รับประมาณ 2 คน สาขาวิชาโภชนาการและการกำหนดอาหาร รับประมาณ 1 คน และสาขาวิชารังสีเทคนิคและฟิสิกส์ทางการแพทย์ รับประมาณ 1 คน[28]

สำหรับผู้สนใจศึกษาต่อในหลักสูตรปริญญามหาบัณฑิตและหลักสูตรดุษฎีบัณฑิตนั้น ทางคณะเปิดรับสมัครผ่านบัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประมาณเดือนตุลาคมของทุกปี[18]

สถานที่[แก้]

กลุ่มอาคารจุฬาพัฒน์[แก้]

อาคารจุฬาพัฒน์ 1

คณะสหเวชศาสตร์ได้ใช้อาคารต่าง ๆ เป็นที่ตั้งของห้องบรรยาย ห้องปฏิบัติการ และภาควิชา ดังนี้
- อาคารจุฬาพัฒน์ 1 เป็นที่ตั้งของที่ทำการคณะสหเวชศาสตร์ สโมสรนิสิตคณะสหเวชศาสตร์ ภาควิชาเคมีคลินิก ภาควิชาจุลทรรศน์ศาสตร์คลินิก ภาควิชาเวชศาสตร์การธนาคารเลือดและจุลชีววิทยาคลินิก ภาควิชาโภชนาการและการกำหนดอาหาร และภาควิชารังสีเทคนิคและฟิสิกส์ทางการแพทย์
- อาคารจุฬาพัฒน์ 2 เป็นที่ตั้งของห้องบรรยาย ห้องปฏิบัติการ และภาควิชากายภาพบำบัด
- อาคารจุฬาพัฒน์ 13 เป็นอาคารเรียนรวมที่ใช้ร่วมกันระหว่างคณะจิตวิทยา คณะสหเวชศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ และคณะวิทยาศาสตร์การกีฬา
- อาคารจุฬาพัฒน์ 14 เนื่องจากบริเวณคณะกลุ่มวิทยาศาสตร์สุขภาพ ยังขาดห้องปฏิบัติการที่ได้มาตรฐานระดับชาติ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องก่อสร้างอาคารปฏิบัติการดังกล่าว ซึ่งลักษณะเมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จจะเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กสูง 16 ชั้น พื้นที่ใช้สอยอาคารรวมประมาณ 43,062 ตารางเมตร ประกอบด้วย ส่วนอาคารปฏิบัติการ เป็นการใช้งานร่วมกันของกลุ่มวิทยาศาสตร์สุขภาพ (ได้แก่ คณะพยาบาลศาสตร์ คณะจิตวิทยา คณะสหเวชศาสตร์ และคณะวิทยาศาสตร์การกีฬา) ส่วนอาคารอเนกประสงค์ประกอบด้วยห้องกิจกรรมนิสิต ร้านอาหาร ที่จอดรถและสนามเทนนิส ให้บริการแก่บุคลากร และนิสิต สำหรับคณะสหเวชศาสตร์ได้เข้าใช้พื้นที่อาคารจุฬาพัฒน์ 14 ตั้งแต่ชั้นที่ 2-7 และชั้นที่ 14-15 โดย
ชั้นที่ 2 เป็นที่ตั้งของห้องปฏิบัติการภาควิชาโภชนาการและการกำหนดอาหาร
ชั้นที่ 3 เป็นที่ตั้งของห้องปฏิบัติการภาควิชาจุลทรรศน์ศาสตร์คลินิก และภาควิชาโภชนาการและการกำหนดอาหาร
ชั้นที่ 4 เป็นที่ตั้งของห้องปฏิบัติการภาควิชาเคมีคลินิก และภาควิชาเวชศาสตร์การธนาคารเลือดและจุลชีววิทยาคลินิก
ชั้นที่ 5-7 เป็นที่ตั้งของห้องปฏิบัติการวิจัย สังกัดงานวิจัย นวัตกรรมและวิรัชกิจ
ชั้นที่ 14 เป็นที่ตั้งของคลินิกกายภาพบำบัด และคลินิกเทคนิคการแพทย์ (เจาะเลือด) สังกัดหน่วยปฏิบัติการบริการวิทยาศาสตร์สุขภาพ
ชั้นที่ 15 เป็นที่ตั้งของคลินิกเทคนิคการแพทย์ และคลินิกโภชนาการและการกำหนดอาหาร สังกัดหน่วยปฏิบัติการบริการวิทยาศาสตร์สุขภาพ [29]

การวิจัย[แก้]

ปัจจุบัน คณะสหเวชศาสตร์มีหน่วยวิจัยเพื่อรองรับการพัฒนาของสาขาวิชาต่าง ๆ ดังนี้[30]

  • ศูนย์วิจัยลิพิดและไขมัน
  • ศูนย์ความเป็นเลิศโอมิกส์-นาโน เมดิคัล เทคโนโลยี
  • ศูนย์นวัตกรรมเพื่อทำการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีวินิจฉัยเฉพาะทางห้องปฏิบัติการทางการแพทย์
  • ศูนย์พัฒนาและวิจัยทางโลหิตระดับโมเลกุล
  • ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านการจัดการปัญหาความเจ็บปวด และความผิดปกติทางการเคลื่อนไหวด้วยวิธีทางกายภาพบำบัด
  • ศูนย์วิจัยพัฒนาสุขภาพเท้า
  • ศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารทางการแพทย์

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยได้ทำการประเมินคุณภาพผลงานวิจัยเชิงวิชาการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของสถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทย ประจำปี 2554 เพื่อทำให้ทราบถึงความเข้มแข็งและพัฒนาการของการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในสาขาวิชาต่าง ๆ ของสถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทยและนำข้อมูลไปใช้เป็นแนวทางสนับสนุนการวิจัยของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ในส่วนของคณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่า ภาควิชากายภาพบำบัดและภาควิชาโภชนาการและการกำหนดอาหารได้รับการประเมินในระดับที่ 4 จาก 5 ระดับ ซึ่งนับเป็นระดับที่ดีที่สุดในสาขาวิชากายภาพบำบัดและสาขาวิชาสาธารณสุขศาสตร์ (ไม่มีหน่วยงานใดในสาขาวิชาดังกล่าวได้รับการประเมินในระดับ 5)[31][32][33]

บุคคล[แก้]

หัวหน้าภาควิชาและคณบดี[แก้]

หัวหน้าภาควิชาเทคนิคการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ลำดับ รายนาม วาระการดำรงตำแหน่ง อ้างอิง
1.
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ กล้าหาญ ตันติราษฎร์ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2527 - 27 ธันวาคม พ.ศ. 2531 [34]
2.
รองศาสตราจารย์ ดร.รัชนา ศานติยานนท์ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2531 - 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2534 [34]
คณบดีคณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ลำดับ รายนาม วาระการดำรงตำแหน่ง อ้างอิง
1.
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปิยพร ณ นคร 28 สิงหาคม พ.ศ. 2535 - 31 สิงหาคม พ.ศ. 2543 (ดำรงตำแหน่ง 2 วาระ) [35]
2.
รองศาสตราจารย์ ดร.วินัย ดะห์ลัน 1 กันยายน พ.ศ. 2543 - 31 สิงหาคม พ.ศ. 2551 (ดำรงตำแหน่ง 2 วาระ) [35]
3.
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วนิดา นพพรพันธุ์ 1 กันยายน พ.ศ. 2551 - 31 สิงหาคม พ.ศ. 2555 [36]
4.
ศาสตราจารย์ ดร.ประวิตร เจนวรรธนะกุล 1 กันยายน พ.ศ. 2555 - 31 สิงหาคม พ.ศ. 2559 [37]
5.
รองศาสตราจารย์ ดร.ปาลนี อัมรานนท์ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2559 - ปัจจุบัน (ดำรงตำแหน่ง 2 วาระ)

คณาจารย์และนิสิตเก่า[แก้]

ดูเพิ่มที่:รายนามบุคคลจากคณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยทำหน้าที่ผลิตบัณฑิตเทคนิคการแพทย์มาตั้งแต่ พ.ศ. 2514 จนกระทั่ง มีการจัดตั้งคณะสหเวชศาสตร์ขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2535 โดยได้เริ่มจัดการเรียนการสอนในสาขากายภาพบำบัดในปี พ.ศ. 2538 และสาขาโภชนาการและการกำหนดอาหารในปี พ.ศ. 2548 โดยมีคณาจารย์และนิสิตเก่าที่สร้างคุณประโยชน์แก่วิชาชีพเทคนิคการแพทย์ กายภาพบำบัด และโภชนาการและการกำหนดอาหารหลายท่าน เช่น

นอกจากนี้ นิสิตเก่ายังได้รับรางวัลนักเทคนิคการแพทย์รางวัลนักเทคนิคการแพทย์ดีเด่นจากสมาคมเทคนิคการแพทย์แห่งประเทศไทยฯ หลายท่าน เช่น ทนพญ.ศิริรัตน์ ตัณฑเวชกิจ ลิกานนท์สกุล (พ.ศ. 2556)[44] ทนพญ.อาภรณ์ หงษ์ยันตรชัย (พ.ศ. 2557)[45]

กิจกรรม[แก้]

นอกจากการเรียนภายในคณะ ยังมีกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้นิสิตได้เข้าร่วมเพื่อให้นิสิตมีประสบการณ์อื่น ๆ นอกจากการเรียน ซึ่งมีทั้งกิจกรรมที่จัดขึ้นระหว่างมหาวิทยาลัยหรือคณะ และกิจกรรมที่จัดขึ้นภายในคณะ โดยกิจกรรมต่าง ๆ ที่นิสิตได้จัดขึ้นหรือเข้าร่วม ได้แก่

ด้านกีฬา[แก้]

ด้านวิชาการ[แก้]

  • งานการนำเสนอผลงานปริญญานิพนธ์นิสิต-นักศึกษาเทคนิคการแพทย์ เป็นงานประชุมวิชาการและการนำเสนอผลงานในระดับปริญญานิพนธ์ของนิสิตนักศึกษาเทคนิคการแพทย์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยบูรพาโดยในงานมีทั้งการนำเสนองานวิจัยด้วยลายลักษณ์อักษรและการนำเสนอด้วยวาจา งานประชุมดังกล่าวจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีและสลับกันเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม[47]
  • การประชุมทางวิชาการกายภาพบำบัดรวม 3+1 สถาบัน เดิมเป็นงานประชุมวิชาการที่จัดขึ้นโดยคณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยรังสิต, ภาควิชากายภาพบำบัด คณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสาขากายภาพบำบัด คณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ซึ่งเป็นสถาบันในเขตจังหวัดปทุมธานีและจังหวัดนครนายก โดยภาควิชากายภาพบำบัด คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้เข้าร่วมงานประชุมดังกล่าวเป็นครั้งแรกในการจัดการประชุมฯ ครั้งที่ 3 เมื่อปีการศึกษา 2556 โดยงานดังกล่าวเป็นงานประชุมวิชาการที่มีการนำเสนอผลงานวิจัยของนิสิตระดับปริญญาบัณฑิตจากทั้ง 4 สถาบัน[48]

ด้านสังคม[แก้]

  • ค่ายเพื่อนกาวน์ เป็นค่ายแนะแนวการศึกษาเพื่อแนะนำคณะสหเวชศาสตร์ให้นักเรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายและบุคคลทั่วไปได้รู้จักเกี่ยวกับคณะให้มากขึ้น รวมทั้ง การแนะนำแนวทางการประกอบวิชาชีพที่คณะเปิดสอนหลังจากจบการศึกษาแล้ว[49][47]
  • ค่ายอาสาพัฒนาชนบท เป็นการออกค่ายเพื่อบำเพ็ญประโยชน์ของนิสิต
  • ค่ายอนามัยชุมชน เป็นค่ายที่เกิดจากความร่วมมือของคณะในสายวิทยาศาสตร์การแพทย์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้แก่ คณะแพทยศาสตร์, คณะทันตแพทยศาสตร์, คณะสัตวแพทยศาสตร์, คณะเภสัชศาสตร์, วิทยาลัยพยาบาลสภากาชาดไทย และคณะสหเวชศาสตร์ เพื่อเป็นการนำวิชาชีพของตนมาสร้างประโยชน์โดยการจัดให้มีออกหน่วยบริการทางสาธารณสุขประกอบด้วยนิสิตแพทย์ พยาบาล ทันตแพทย์ เภสัชกร เทคนิคการแพทย์ กายภาพบำบัด โภชนาการและการกำหนดอาหาร รวมทั้งสัตวแพทย์[50][51]
  • โครงการสหเวชฯ จุฬาบริการประชาชน เป็นโครงการที่ให้นิสิตระดับปริญญาตรีชั้นปีที่ 4 ออกฝึกปฏิบัติการภาคสนามให้บริการวิชาการแก่ชุมชนในด้านเทคนิคการแพทย์ กายภาพบำบัด และโภชนาการและการกำหนดอาหาร ในขอบเขตของสาขาวิชาชีพที่พึงกระทำได้[52]

อ้างอิง[แก้]

  1. เกี่ยวกับคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล, เข้าถึงวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2557
  2. เทคนิคการแพทย์โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ พ.ศ. 2502-2514, เข้าถึงวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2557
  3. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๒ มีสถานะเทียบเท่าพระราชบัญญัติ ให้โอนบรรดากิจการ ทรัพย์สิน หนี้สิน ข้าราชการ ลูกจ้าง และเงินงบประมาณของมหาวิทยาลัยมหิดลในส่วนที่เกี่ยวกับราชการของคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล เฉพาะส่วนที่อยู่ ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ไปเป็นของคณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, เล่ม ๘๘, ตอน ๑๔๓ ก ฉบับพิเศษ, ๒๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๔, หน้า ๑
  4. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งคณะสหเวชศาสตร์ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทบวงมหาวิทยาลัย พ.ศ. ๒๕๓๔, เล่ม ๑๐๘, ตอน ๑๙๙ ก ฉบับพิเศษ, ๑๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๓๔, หน้า ๖๔
  5. คณะสหเวชศาสตร์ในทศวรรษแรก พ.ศ. 2535-2544, เข้าถึงวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2557
  6. คณะสหเวชศาสตร์, ข่าวสดรายวัน, ปีที่ 20, ฉบับที่ 7291, วันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553, เข้าถึงวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2557
  7. คณะสหเวชศาสตร์, คณะสหเวชศาสตร์ยุคครึ่งทศวรรษที่สอง พ.ศ. 2545-2549
  8. สภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ข้อบังคับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยว่าด้วยการแบ่งหน่วยงานภายในคณะสหเวชศาสตร์ พ.ศ. 2554
  9. http://radiology.md.chula.ac.th/?page_id=129 ประวัติโรงเรียนรังสีเทคนิค (หลักสูตรนี้ได้ปิดทำการเรียนการสอนแล้ว)]
  10. ประกาศทบวงมหาวิทยาลัย เรื่อง การแบ่งส่วนราชการในคณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. ๒๕๓๔ , เล่ม ๑๐๘ , ตอน๒๑๗ ก, ๑๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๔ , หน้า ๑๒๒๔
  11. ภาควิชา, เข้าถึงวันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2560
  12. ภาควิชากายภาพบำบัด คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, เข้าถึงวันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2557
  13. ภาควิชาเคมีคลินิก คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, เข้าถึงวันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2557
  14. ภาควิชาจุลทรรศน์ศาสตร์คลินิก คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, เข้าถึงวันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2557
  15. ภาควิชาเวชศาสตร์การธนาคารเลือดและจุลชีววิทยาคลินิก คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, เข้าถึงวันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2557
  16. ประกาศ รายชื่อสถาบันผลิตบัณฑิตเทคนิคการแพทย์ที่สภาเทคนิคการแพทย์รับรอง ณ วันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2557 เก็บถาวร 2013-10-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เข้าถึงวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2557
  17. ประกาศ ! 16 รายชื่อสถาบันการศึกษาที่ผ่านการรับรองปริญญาในวิชาชีพกายภาพบำบัด เก็บถาวร 2016-03-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เข้าถึงวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2557
  18. 18.0 18.1 18.2 การรับเข้าศึกษาต่อในคณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, เข้าถึงวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2557
  19. หลักสูตรปริญญาบัณฑิต, เข้าถึงวันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2557
  20. หลักสูตรปริญญามหาบัณฑิต, เข้าถึงวันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2557
  21. หลักสูตรวิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิต, เข้าถึงวันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2557
  22. Biomedical Sciences (Ph.D.), เข้าถึงวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2557
  23. หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาอาหารและโภชนาการ (นานาชาติ), เข้าถึงข้อมูลวันที่ 19 ตุลาคม 2557
  24. หลักสูตรวิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาอาหารและโภชนาการ, เข้าถึงข้อมูลวันที่ 19 ตุลาคม 2557
  25. แผ่นพับองค์ประกอบ และค่าร้อยละ Admissions 2557 เก็บถาวร 2013-12-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เข้าถึงวันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2557
  26. การรับสมัครคัดเลือกนักเรียนเข้าศึกษาในหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต คณะสหเวชศาสตร์ โดยวิธีรับตรง (แบบปกติ) ปีการศึกษา 2558, เข้าถึงวันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2557
  27. การรับสมัครคัดเลือกนักเรียนจากชนบทเข้าศึกษาในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (โครงการจุฬาฯ -ชนบท), เข้าถึงวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2557
  28. การรับสมัครคัดเลือกนักเรียนเข้าศึกษาในหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต คณะสหเวชศาสตร์, เข้าถึงวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2558
  29. [http://www.prm.chula.ac.th/projects15.html สำนักบริการระบบกายภาพ: โครงการอาคารปฏิบัติการรวมและอาคารอเนกประสงค์กลุ่มวิทยาศาสตร์สุขภาพ
  30. สหเวชวิจัย
  31. การประเมินคุณภาพผลงานวิจัยเชิงวิชาการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของสถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทย (30) เก็บถาวร 2020-09-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เข้าถึงวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2557
  32. สกว.ประกาศผลการประเมินคุณภาพผลงานวิจัยของสถาบันอุดมศึกษาไทย[ลิงก์เสีย], เข้าถึงวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2557
  33. โครงการการประเมินคุณภาพผลงานวิจัยเชิงวิชาการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของสถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทย ปี 2554 เก็บถาวร 2016-08-26 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เข้าถึงวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2557
  34. 34.0 34.1 อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ AHSCU2
  35. 35.0 35.1 คณะสหเวชศาสตร์ในทศวรรษแรก พ.ศ. 2535-2544, คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, เข้าถึงวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2556
  36. ประวัติและผลงาน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. วนิดา นพพรพันธุ์, ภาควิชาเคมีคลินิก คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, เข้าถึงวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2556
  37. คำสั่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่ 3140/2555 เรื่อง แต่งตั้งคณะสหเวชศาสตร์, สารบรรณ ศูนย์บริหารกลาง สำนักงานมหาวิทยาลัย, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, เข้าถึงวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2556
  38. https://www.amtt.org/about/award
  39. สมชาย วิริยะยุทธกร, 50 ปี สมาคมเทคนิคการแพทย์แห่งประเทศไทย, วารสารเทคนิคการแพทย์, ปีที่ 41 ฉบับที่ 3 ธันวาคม 2556
  40. ขอแสดงความยินดีแด่ รศ.ดร.รัชนา ศานติยานนท์ เก็บถาวร 2015-10-30 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เข้าถึงวันที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2557
  41. คณะกรรมการบริหารสมาคมเทคนิคการแพทย์แห่งประเทศไทย วาระปี 2555-2558, เข้าถึงวันที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2557
  42. Curriculum Vitae of Worachart Sirawaraporn เก็บถาวร 2015-12-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, Department of Biochemistry, Faculty of Science, Mahidol University, เข้าถึงวันที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2557
  43. “รองศาสตราจารย์ ดร.วินัย ดะห์ลัน” มุสลิมผู้ทรงอิทธิพลต่อโลกปี 2012 เก็บถาวร 2013-12-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, สำนักข่าวไทยมุสลิม, เข้าถึงวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2557
  44. วารสารสหเวชจุฬาสานสัมพันธ์, ปีที่ 5, ฉบับที่ 4, เข้าถึงวันที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2557
  45. พิธีมอบรางวัลนักเทคนิคการแพทย์ดีเด่น ประจำปี 2557, เข้าถึงวันที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2557
  46. วารสารสหเวชจุฬาสานสัมพันธ์, ปีที่ 5, ฉบับที่ 9, เข้าถึงวันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2557
  47. 47.0 47.1 วารสารสหเวชจุฬาสานสัมพันธ์, ปีที่ 5, ฉบับที่ 10, เข้าถึงวันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2557
  48. วารสารสหเวชจุฬาสานสัมพันธ์, ปีที่ 6, ฉบับที่ 3, มีนาคม พ.ศ. 2557, เข้าถึงวันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2557
  49. "เพื่อนกาวน์ : กว่าจะมาเป็นค่าย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-10-08. สืบค้นเมื่อ 2007-08-26.
  50. ค่ายอนามัยชุมชนจุฬาฯปั้นบัณฑิต"จิตอาสา"-แทนคุณแผ่นดิน เก็บถาวร 2009-12-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, คมชัดลึก, ประจำวันศุกร์ที่ 20 พฤศจิกายน 2552, เข้าถึงวันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2557
  51. ค่ายอนามัยชุมชนจุฬาฯ"คนไข้สุขใจ"ความภูมิใจในวิชาชีพ[ลิงก์เสีย], คมชัดลึก, ประจำวันอาทิตย์ที่ 19 ธันวาคม 2553, เข้าถึงวันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2557
  52. วารสารสหเวชจุฬาสานสัมพันธ์, ปีที่ 5, ฉบับที่ 8, เข้าถึงวันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2557

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]