ข้ามไปเนื้อหา

สยามสแควร์

พิกัด: 13°44′40″N 100°31′59″E / 13.744430°N 100.533140°E / 13.744430; 100.533140
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

สยามสแควร์
ภาพถ่ายสยามสแควร์และย่านสยาม
แผนที่
ที่ตั้งถนนพญาไท-ถนนพระรามที่ 1 แขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร
พิกัด13°44′40″N 100°31′59″E / 13.744430°N 100.533140°E / 13.744430; 100.533140
ผู้บริหารงานสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ขนส่งมวลชน สยาม
เว็บไซต์www.siam-square.com

สยามสแควร์ หรือภาษาปากว่า สยาม เป็นศูนย์การค้าเปิดโล่งแนวราบในย่านสยาม เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร เนื้อที่ 63 ไร่ ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของถนนพระรามที่ 1 กินพื้นที่ตั้งแต่หัวมุมถนนพญาไทไปจนถึงหัวมุมถนนอังรีดูนังต์ อยู่ในความดูแลของสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ธุรกิจในสยามสแควร์มีความหลากหลาย มีการทดลองสินค้าและกิจกรรมการตลาดที่แปลกใหม่และเข้มข้นที่สุดแห่งหนึ่ง มีจำนวนคนเดินในสยามสแควร์ในวันธรรมดาเฉลี่ยวันละ 20,000 คน วันหยุดไม่ต่ำกว่า 50,000 คน ซึ่งแต่ละคนมีกำลังซื้อเฉลี่ย 1,000 บาท/ครั้ง/คน

สยามสแควร์ในปัจจุบันมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงภายนอก รูปแบบอาคารอยู่เสมอ แต่ระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ รวมถึงภูมิทัศน์ มีการเพิ่มการแพร่ภาพสื่อผ่านทางจอโทรทัศน์ทั่วสยามสแควร์ และทางสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาแนวทางการพัฒนาโครงการศึกษาผังแม่บทสยามสแควร์ขึ้นอย่างจริงจัง และโครงการหลังจากเซ็นเตอร์พอยท์ได้หมดสัญญาลงไป ก็คือโครงการ "ดิจิทัล เกตเวย์" และยังมีโครงการอาคารจอดรถ โครงการโรงแรม 3 ดาวครึ่ง ในอนาคต

สยามสแควร์มีอิทธิพลต่อวัฒนธรรมสมัยนิยมของไทย โดยมีภาพยนตร์ที่มีฉากหรือเนื้อหาเกี่ยวกับสยามสแควร์ เช่น รักแห่งสยาม และ สยามสแควร์ นอกจากนี้มิวสิกวิดีโอต่าง ๆ ก็นิยมใช้สยามสแควร์เป็นฉากในเรื่อง

สถานที่ตั้ง

[แก้]

สยามสแควร์เป็นศูนย์การค้าเปิดโล่งแนวราบขนาดใหญ่ ตั้งอยู่บริเวณย่านสยาม[1] มีพื้นที่ทางทิศเหนือติดกับถนนพระรามที่ 1 ทางทิศตะวันตกติดกับถนนพญาไท ทางทิศตะวันออกติดกับถนนอังรีดูนังต์ และทางทิศใต้ติดกับซอยจุฬาลงกรณ์ 64 มีพื้นที่ติดกับเอ็มบีเค เซ็นเตอร์, สยามดิสคัฟเวอร์รี่, สยามเซ็นเตอร์, สยามพารากอน และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย[2] รวมถึงยังอยู่ใกล้กับสนามศุภชลาศัย, วังสระปทุม และวัดปทุมวนาราม ส่วนการเดินทางมายังสยามสแควร์นั้น ยังสามารถเดินทางมาได้โดยรถไฟฟ้าบีทีเอสถึง 2 สถานี คือสถานีสนามกีฬาแห่งชาติของสายสีลม และสถานีสยามซึ่งเป็นสถานีเปลี่ยนเส้นทางของรถไฟฟ้าบีทีเอสทั้ง 2 สาย คือสายสุขุมวิทและสายสีลม[3]

ภายในสยามสแควร์ ทางทิศเหนือตั้งแต่ทางทิศตะวันตก บริเวณโรงภาพยนตร์สกาลาเดิม คือสยามสแควร์ซอย 1 แล้วไล่ไปทางตะวันออก ถึงสยามสแควร์ซอย 6 คั่นด้วยถนนเชื่อมระหว่างถนนพญาไทและถนนอังรีดูนังต์ คือสยามสแควร์ซอย 7 และไล่จากตะวันตกไปตะวันออก ตั้งแต่สยามสแควร์ซอย 8 จนถึงซอย 11 โดยถนนทั้งหมดเป็นเส้นแบ่งพื้นที่ของโครงการออกเป็น 12 หมุด เรียงตามลำดับตัวอักษรภาษาอังกฤษจากเหนือไปใต้และตะวันตกไปตะวันออก โดยหมุด เอ ถึงหมุด จี อยู่ทางฝั่งเหนือ และหมุด เอช ถึงหมุด แอล อยู่ทางฝั่งใต้[4]

ประวัติ

[แก้]

ช่วงแรกเริ่ม

[แก้]

ที่ดินบริเวณก่อนการสร้างสยามสแควร์ในช่วงปี พ.ศ. 2505 ที่ดินย่านนั้นเป็นสวนผัก เป็นชุมชนแออัด จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ไฟไหม้ ชาวบ้านก็ออกจากพื้นที่ไป และนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเจ้าของที่ดิน[5] ก็มาช่วยกันคุมพื้นที่ไม่ให้ชาวบ้านกลับเข้ามา และในขณะนั้นอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยคือ พลเอก ประภาส จารุเสถียร มีแผนพัฒนาที่ดินบริเวณสยามสแควร์ให้เป็นแหล่งค้าขายเพื่อป้องกันการบุกรุกที่ดินของชุมชนแออัดที่อยู่อาศัยแต่เดิม[6]

ในปี พ.ศ. 2507 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยซึ่งเป็นเจ้าของสถานที่ได้มอบหมายให้บริษัท เซาท์อีสท์เอเซียก่อสร้าง (ซีคอน) พัฒนาที่ดินขนาด 63 ไร่ ขึ้นเป็นศูนย์การค้าแนวราบ พื้นที่เปิดโล่ง พื้นที่ส่วนใหญ่ประกอบด้วยอาคารพาณิชย์ สูง 3-4 ชั้น ชั้นล่างเป็นร้านค้า ชั้นบนเป็นที่อยู่อาศัยโดยมีรองศาสตราจารย์เลิศ อุรัสยนันท์ เป็นสถาปนิก และศาสตราจารย์รชฏ กาญจนวณิชย์ เป็นวิศวกร[7] บริษัทก่อสร้างเสร็จปี พ.ศ. 2507 จำนวน 550 ห้อง มีโรงภาพยนตร์ โรงโบว์ลิ่ง มีไอซ์สเก็ตติ้ง เป็นศูนย์การค้าแนวราบที่ใหญ่สุดของประเทศไทยในขณะนั้น[8] และเพิ่มเป็น 610 ห้อง ในเวลาต่อมา ซึ่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยให้สิทธิซีคอนเก็บผลประโยชน์จากผู้เช่าห้องแถว 10 ปี จากนั้นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นผู้เก็บผลประโยชน์ต่อ[6]

เดิมสยามสแควร์จะใช้ชื่อว่า ปทุมวันสแควร์ มีพลเอก ประภาส จารุเสถียร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในขณะนั้น เป็นประธานวางศิลาฤกษ์ ต่อมาจึงเปลี่ยนชื่อเป็น สยามสแควร์ และในขณะนั้นฝั่งตรงข้ามกำลังสร้างโรงแรมสยามอินเตอร์-คอนติเนนตัล (ปัจจุบันมีการทุบและก่อสร้างใหม่เป็นสยามพารากอน)[8] และศูนย์การค้าที่สร้างใหม่ในบริเวณนั้น ก็ได้รับการตั้งชื่อให้สอดคล้องกัน คือ สยามเซ็นเตอร์ โดยก่อนที่จะเป็นสยามสแควร์เคยมีโรงเรียนเอกชนเล็ก ๆ ชื่อสตรีปทุมวัน [9]

มีการวางผังอาคาร ถนน ที่จอดรถ ระบบสาธารณูปโภค และอาคารขนาดใหญ่ประกอบด้วยโรงภาพยนตร์จำนวน 3 โรง และโรงโบว์ลิ่ง ธุรกิจที่เข้ามาเปิดดำเนินการส่วนใหญ่เป็นร้านอาหาร ร้านหนังสือ ร้านเสื้อผ้า และร้านตัดผม ซึ่งย้ายหรือขยายสาขามาจากย่านอื่น เช่น วังบูรพา สุรวงค์ สีลม[10] จุดเด่นของสยามสแควร์อยู่ที่มีโรงภาพยนตร์ถึง 3 โรง คือ สยาม และลิโด ที่สร้างก่อนแล้วต่อมาจึงสร้างสกาลา บริเวณโรงภาพยนตร์สกาลาเดิมทีจะทำเป็นไอซ์สเก็ตติ้ง แต่ภายหลังเปลี่ยนมาเป็นโรงภาพยนตร์แทน โดยมีกลุ่มเอเพ็กซ์ของพิสิษฐ์ ตันสัจจาเข้ามารับผิดชอบ ส่วนโรงโบว์ลิ่งได้กลุ่มเจริญรัชตะภาคย์ เครือโรงแรมเพรสิเด้นท์มาดำเนินการ[8] ต่อมาในปี พ.ศ. 2527 ได้มีการรื้อโรงโบว์ลิ่งออก สร้างเป็นโรงแรมโนโวเทล สยามสแควร์

ยุคเติบโต

[แก้]
สยามสแควร์

หลังจากนั้นบริเวณสยามสแควร์มีร้านค้าใหม่ ๆ เกิดขึ้นมากมาย ทั้งร้านอาหารมีระดับ หรือร้านอาหารฟาสท์ฟู้ด และมีการสร้างสถานีตำรวจและสถานีดับเพลิงตรงข้ามกับโรงภาพยนตร์สยาม ในปี พ.ศ. 2523 และมีการพัฒนาธุรกิจศูนย์การค้าให้ใหญ่ขึ้น มีธุรกิจใหม่ ๆ เข้ามา มีการพัฒนาธุรกิจอย่างต่อเนื่อง[11]

จนในปี พ.ศ. 2540 เกิดวิกฤตทางด้านเศรษฐกิจในประเทศไทยอย่างหนัก และจากเหตุการณ์สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยปรับราคาค่าเช่าขึ้น 1,200% จากค่าเช่าเซ้งเดิม 10 ปี ราคา 500,000 บาท ปรับขึ้นเป็นราคา 6–7 ล้านบาท ถือเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของผู้ค้าในสยามสแควร์ ถึงขนาดมีการชุมนุมประท้วงใหญ่ จนในที่สุดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยปรับราคาค่าเช่าเหลือ 600%[6] ทำให้ผู้เช่าร้านปิดกิจการไปเป็นจำนวนมาก ร้านตัดเสื้อหลายแห่งเปลี่ยนรูปแบบมาเป็นขายเสื้อผ้าสำเร็จรูปเพื่อให้เหมาะกับกำลังซื้อของลูกค้า ขณะเดียวกันก็เกิดเจ้าของธุรกิจรายเล็ก ๆ เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันทางจุฬาฯ ให้เช่าเพื่อเป็นโรงเรียนกวดวิชา โดยเฉพาะซอย 5-6-7 จากเดิมมีไม่กี่โรงเรียน ก็เพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 50 โรงเรียน และเมื่อมีการก่อสร้างรถไฟฟ้าบีทีเอสแล้วเสร็จยิ่งทำให้สยามสแควร์กลายเป็นศูนย์กลางการเดินทางเข้าถึงได้สะดวกมากขึ้น[5]

เมื่อ พ.ศ. 2541 มีการปรับปรุงพื้นที่บริเวณซอย 5 บนเนื้อที่ 1 ไร่ 41 ตารางวา[12] ให้เป็นศูนย์รวมวัยรุ่น มีลานกิจกรรม ลานน้ำพุ เรียกว่า "เซ็นเตอร์พอยท์" เปิดดำเนินการเมื่อ พ.ศ. 2542 ที่สร้างสีสันและความคึกคักขึ้น มีสินค้าและบริการหลายอย่างที่ต้องการเปิดตัว ก็มักมาทำกิจกรรมที่นี่ อีกทั้งการเปิดตัวของสยามพารากอน และการปรับโฉมของสยามเซ็นเตอร์ มาบุญครอง ก็เอื้อให้จำนวนคนที่แวะเวียนมาในสยามสแควร์มากขึ้น[6]

ในปี พ.ศ. 2548 สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีการปรับขึ้นราคาเช่าพื้นที่เพิ่มขึ้นอีก 600% โดยอ้างว่าไม่ได้ขึ้นค่าเช่ามานานนับสิบปี ทำให้โรงเรียนกวดวิชา ซึ่งปักหลักอยู่ที่นี่มานาน เริ่มหันไปหาทำเลแห่งใหม่ เช่น โครงการศูนย์การศึกษาอาคารวรรณสรณ์ บริเวณหัวมุมตะวันออกเฉียงเหนือของสี่แยกพญาไท[6]

มีการประเมินค่าทรัพย์สินทางด้านอสังหาริมทรัพย์ในไทย โดยทำการสำรวจการเปลี่ยนแปลงราคาที่ดินในเขตกรุงเทพ และปริมณฑล ในปี พ.ศ. 2549 โดยบริเวณสยามแควร์มีราคาสูงสุดที่ตารางวาละ 640,000 บาท เพิ่มขึ้นถึง 16.4% จากที่ในปี พ.ศ. 2548 สำหรับอันดับทำเลที่ดินราคาแพงรองลงมาคือ อันดับ 2 ย่านเยาวราช ตารางวาละ 630,000 บาท ซึ่งเคยเป็นบริเวณที่มีราคาที่ดินแพงที่สุดมาโดยตลอด อันดับที่ 3 คือ ถนนสีลม ราคาตารางวาละ 560,000 บาท โดยสาเหตุที่ศักยภาพทำเลย่านสยามสแควร์เติบโตเร็ว เพราะนอกจากมีรถไฟฟ้าผ่านแล้ว ยังมีการพัฒนา มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอ มากกว่าทำเลอื่น ๆ[13]

31 ธันวาคม พ.ศ. 2550 ถือเป็นวันสิ้นสุดสัญญาเช่าของบริษัท พรไพลิน ในการเช่าพื้นที่บริเวณเซ็นเตอร์พ้อยท์ และสำนักทรัพย์สินจุฬาฯ ได้เปิดประมูลพื้นที่ใหม่[6] โดยมีการจัดงานอำลาในชื่องานว่า "เซ็นเตอร์พ้อยท์ อินฟินีตี้ ปาร์ตี้" เมื่อวันที่ 14-15 ธันวาคม พ.ศ. 2550 โดยในงานมีการปิดถนนหน้า เซ็นเตอร์พ้อยท์ (สยามสแควร์ซอย 7) และจัดคอนเสิร์ต 2 เวที มีศิลปิน นักร้อง ดีเจ วีเจ มาร่วมงานร่วม 300 คน[14][15] และภายหลังจากนี้อีกไม่กี่เดือน จะมีการก่อสร้างอาคารแบบใหม่ ในคอนเซ็ปต์ "ดิจิทัล ซิตี้"[16]

จากข้อมูลเดือนกันยายน พ.ศ. 2551 ข้อมูลผลสำรวจราคาที่ดินในกรุงเทพโดยการสำรวจของเอเจนซี ฟอร์ เรียลเอสเตท สยามสแควร์ยังมีราคากลางสูงสุดที่ 8 แสนบาท/ตร.วา ส่วนซื้อขายจริง 9.5 แสนบาท/ตร.วา[17]

หลังจากที่พื้นที่ 1 ไร่เศษของลานเซ็นเตอร์พ้อยท์ระหว่างซอย 3 และซอย 4 ได้หมดสัญญาลง จึงได้ดำเนินตามผังแม่บทใหม่มีการเปิดประมูลให้เอกชนรายใหม่เข้ามาพัฒนาพื้นที่[18] โดยได้สร้างเป็น "ดิจิทัล เกตเวย์" ที่บริษัท ทีซีซี แลนด์ จำกัด ได้ปรับปรุงพื้นที่ ภายใต้แนวคิดที่ต้องการให้เป็น ดิจิเทนเมนต์ แห่งเรียนรู้เทคโนโลยีรูปแบบใหม่ที่มาพร้อมกับความสนุกสนาน ใช้เงินลงทุนกว่า 500 ล้านบาท โดยมีพื้นที่รวม 8,390 ตารางเมตร[19] และยังเชื่อมจากรถไฟฟ้าสถานีสยามสู่บริเวณชั้น 3 ของ "ดิจิทัล เกตเวย์" โดยเปิดตัวเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2552[20]

จากปัญหาที่จอดรถไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้งาน ทางจุฬาฯ จึงได้ตัดสินใจใช้พื้นที่บริเวณบล็อก L ที่อยู่ตรงข้ามโรงแรมโนโวเทล โดยใช้ชื่อว่า "อาคารสยามกิตติ์" เปิดทำการราวเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2553 โดยใช้เงินลงทุน 800 ล้านบาท โดยเป็นงบประมาณของรัฐบาลจำนวน 80 ล้านบาท[21] ใช้พื้นที่เดิมที่เป็นลานจอดรถที่ 4 และพื้นที่ของอาคารพาณิชย์จำนวน 45 คูหา มีพื้นที่รวมประมาณ 3 ไร่ โดยอาคารมีความสูง 30 ชั้น ส่วนอาคารโพเดียม ความสูง 5 ชั้น ใช้เป็นช็อปปิ้งมอล ตั้งแต่ชั้นที่ 1-5 โดยส่วนใหญ่จะเป็นโรงเรียนกวดวิชา ส่วนที่ 2 เป็นอาคารจอดรถ ตั้งแต่ชั้นที่ 6-11 รวมถึงชั้นใต้ดินอีก 2 ชั้น รวมพื้นที่ใช้สอยทั้งหมด 52,760 ตารางเมตร[22]

ต่อมาสยามสแควร์ได้มีโครงการวีวาทาวน์ เปิดตัวเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 ตั้งอยู่บริเวณทางหนีไฟระหว่างอาคารพาณิชย์ของสยามสแควร์ ซอย 6 กับอาคารพาณิชย์ฝั่งถนนอังรีดูนังต์ ประกอบด้วยร้านค้าทั้งหมด 104 ร้านค้า[23] แบ่งเป็นโซนเสื้อผ้าแฟชั่น 72 ร้านค้า และโซนอาหาร 34 ร้านค้า

สยามสแควร์วันและการพัฒนาในยุคปัจจุบัน

[แก้]
ด้านหน้าของสยามสแควร์วัน

ในปี พ.ศ. 2557 เปิดโครงการชื่อ สยามสแควร์วัน ด้วยพื้นที่กว่า 8 ไร่ มีพื้นที่รวมโครงการ 74,000 ตารางเมตร (บนพื้นที่ทำเลเดิมคือ ในพื้นที่บริเวณ Block E และ D2 ของศูนย์การค้าสยามสแควร์ และโรงภาพยนตร์สยามเก่าซึ่งถูกไฟไหม้ในปี พ.ศ. 2553) โดยเป็นศูนย์การค้าที่มีร้านค้าประเภทแฟชั่น การใช้ชีวิต และดิจิทัล[24]

ต่อมา ค่ายเพลงเลิฟอีส ได้เข้ามาบริหารพื้นที่โรงภาพยนตร์ลิโดเดิมแทนเครือเอเพ็กซ์ ในชื่อใหม่คือ ลิโด้ คอนเน็กต์ และรีโนเวทพื้นที่บางส่วนให้รองรับกิจกรรมที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น[25] โดยเปิดใช้งานในวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2562[26]

อาคารสยามสเคป

เมื่อวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2558 กลุ่มธุรกิจสยามสแควร์ได้รวมตัวกับสยามพิวรรธน์ และบริษัท เอ็มบีเค จำกัด (มหาชน) ก่อตั้งสมาคมการค้าพลังสยามขึ้น เพื่อพัฒนาศูนย์การค้าในย่านสยามให้เป็นย่านค้าปลีกระดับโลก[27][28] โดยจะใช้เงินลงทุนจำนวน 3,000 - 4,000 ล้านบาท เพื่อพัฒนาโครงการในอนาคตดังนี้

  • พัฒนาอาคารสยามกิตติ์เป็นโรงแรมระดับ 3 ดาว บริหารโดยกลุ่มพรินซิเพิล แคปิตอล จำนวน 300 ห้อง มีมูลค่าการลงทุนราว 1,000-2,000 ล้านบาท[22][29]
  • สร้างอาคารแห่งใหม่บริเวณหัวมุมตะวันออกเฉียงใต้ของแยกปทุมวัน ในชื่อ "สยามสเคป" (บริเวณที่ตั้งโบนันซ่ามอลล์เดิม)[30] ซึ่งประกอบด้วย อาคารสำนักงาน ศูนย์การเรียนรู้ สถานเสริมความงาม พื้นที่ค้าปลีก และพื้นที่จอดรถ[31]
  • สร้างอาคารจอดรถบริเวณร้านสุกี้แคนตัน เพื่อรองรับรถเพิ่มอีก 700 คัน รองรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ[30]

ในบริเวณโรงภาพยนตร์สกาลาที่หมดสัญญาและปิดกิจการไปเมื่อปี พ.ศ. 2563 โดยจะพัฒนาเป็นโครงการค้าปลีก[32] และในเดือนกันยายน พ.ศ. 2564 มีการเปิดเผยอย่างเป็นทางการว่าผู้ที่ได้รับสิทธิ์การพัฒนาโครงการคือกลุ่มเซ็นทรัลโดย บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ชนะการคัดเลือกเอกชนเพื่อเข้าดำเนินการพัฒนาโครงการพื้นที่พาณิชย์สยามสแควร์ หลังจากที่มีเอกสารยืนยันผลผู้ชนะการคัดเลือกตั้งแต่เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2564 โดยเซ็นทรัลพัฒนาจะรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินเพื่อเข้าพัฒนาโครงการในปลายปี พ.ศ. 2566 และตั้งเป้าเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการใน พ.ศ. 2569 ทั้งนี้เซ็นทรัลพัฒนาจะพัฒนาโครงการในรูปแบบคอมมิวนิตีมอลล์ตามแนวทางที่ สยามฟิวเจอร์ ดีเวลอปเมนท์ บริษัทย่อยของเซ็นทรัลพัฒนาถนัด พร้อมทั้งรักษารูปแบบอาคาร โครงการ และสถาปัตยกรรมโดยรวมของอาคารเอาไว้ในโครงการใหม่ทั้งหมด[33]

ธุรกิจ

[แก้]

ธุรกิจในสยามสแควร์มีความหลากหลาย ทั้งโลกของแฟชั่น อาหาร พื้นที่โฆษณา โรงเรียนกวดวิชา สังคมเด็กแนว หรือในแวดวงทางการธุรกิจการตลาด เป็นสถานที่ที่มีการทดลองสินค้า และกิจกรรมการตลาดแบบแปลกใหม่และเข้มข้นที่สุดแห่งหนึ่ง มีจำนวนคนเดินในสยามสแควร์ในวันธรรมดาเฉลี่ยวันละ 20,000 คน วันหยุดไม่ต่ำกว่า 50,000 คน ซึ่งแต่ละคนมีกำลังซื้อเฉลี่ย 1,000 บาท/ครั้ง/คน[34]

โรงเรียนกวดวิชา

[แก้]
อาคารวิทยกิตติ์ เป็นที่ตั้งของศูนย์หนังสือจุฬาฯ และโรงเรียนกวดวิชาหลายแห่ง

สยามสแควร์ ถือว่าเป็นสถานที่หนึ่งในกรุงเทพมหานครที่มีโรงเรียนสอนพิเศษ หรือ โรงเรียนกวดวิชาที่มากที่สุดเขตหนึ่ง มีทั้งโรงเรียนขนาดเล็กและขนาดใหญ่รวมประมาณ 30 โรงเรียน โดยทั่วไปจะเปิดสอนรอบเดียวในวันธรรมดามีนักเรียนมาติวประมาณ 10,000-20,000 คน หากเป็นวันเสาร์-อาทิตย์ จะเปิดสอนประมาณวันละ 4 รอบ ซึ่งอาจพูดได้ว่าจะมีนักเรียนเพิ่มขึ้นอีก 4 เท่า หรือถ้านับเฉลี่ยต่อสัปดาห์แล้ว มีผู้เข้ามาเรียนเกือบ 1 แสนคนที่หมุนเวียนมากวดวิชา เหตุเพราะสถานที่ตั้งของสยามสแควร์เป็นทำเลที่เข้าถึงสะดวกสบาย มีรถไฟฟ้ามาถึง ก็ยิ่งทำให้โรงเรียนกวดวิชามีมากขึ้นและหลากหลายประเภท ตั้งแต่การสอนวิชาพื้นฐาน สังคม ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ไปจนถึงวิชาที่ต้องติวเข้มอย่างหนัก อย่างเคมี ฟิสิกส์[35] แม้ว่าในอนาคตจะมีสถาบันกวดวิชาหลายแห่งที่จะย้ายไปตั้งอยู่ในสถานที่แห่งใหม่คือ "อาคารวรรณสรณ์" บนถนนพญาไท ซึ่งจะกลายเป็นแหล่งรวมโรงเรียนกวดวิชาแห่งใหม่ ที่กลุ่มนักเรียน นักศึกษาให้ความนิยมแทนที่สยามสแควร์ ทำให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเจ้าของพื้นที่ในย่านสยามสแควร์ ประกาศไม่ขึ้นค่าเช่าพื้นที่ของโรงเรียนกวดวิชาในย่านสยามสแควร์ เพื่อตรึงโรงเรียนกวดวิชาให้ตั้งอยู่ต่อไป[36]

ทางจุฬาฯ ได้มีการดำเนินการย้ายที่เรียนพิเศษในสยามสแควร์ มายังอาคารสยามกิตติ์ ซึ่งตั้งอยู่หน้าโรงแรมโนโวเทล สยาม ซอย 8 เพื่อเป็นการแยกส่วนโรงเรียนสอนพิเศษและส่วนของร้านค้า มีโรงเรียนสอนพิเศษชื่อดังที่อยู่ที่นี่ เช่น คุณครูสมศรี Sup'k สถาบันวิทย์-คณิต (GSC) นอกจากอาคารสยามกิตติ์แล้ว ยังมีโรงเรียนกวดวิชาที่อาคารวิทยกิตติ์ ซึ่งก็เป็นที่ตั้งของศูนย์หนังสือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยด้วยเช่นกัน

สื่อโฆษณา

[แก้]
จอเช็กเกอร์

พื้นที่บริเวณสยามสแควร์เป็นสนามทดลอง การประชาสัมพันธ์ของแบรนด์สินค้าและบริการใหม่ ๆ อยู่ตลอด

ปัจจุบันนี้สื่อขนาดใหญ่และเด่นที่สุดในพื้นที่สยามสแควร์คือจอ LED ขนาด 4 × 4.5 เมตร มีชื่อเรียกว่า "Shaker Screen" จอนี้ติดตั้งอยู่บนตึกแถวขนาด 4 ชั้น บริเวณร้านมิลค์พลัส ตรงข้ามลานน้ำพุเซ็นเตอร์พ้อยท์ ซึ่งมีการลงทุนสูงกว่า 25 ล้านบาท มีการประเมินว่าทุก ๆ 3-5 นาทีจะมีคนแหงนหน้ามอง ในรูปแบบของรายการเพลง และศิลปินคนดัง ซึ่งมีภาพเคลื่อนไหวตลอดทุก ๆ 15-30 นาที มีระบบเสียงรอบทิศที่มีรัศมีความดังตั้งแต่สยามสแควร์ ซอย 1-7 และมีระยะการชมประมาณ 10-20 เมตร

การขายสื่อบริเวณเซ็นเตอร์พ้อยท์จะนิยมซื้อขายกันเป็นแพ็กเกจ ซึ่งมีราคาอย่างต่ำ 1 ล้านบาท สิ่งที่ได้รับคือโฆษณาบนจอโทรทัศน์ วิทยุ และกิจกรรมต่าง ๆ หรือจะแบ่งเช่าเป็นส่วน ๆ เช่น ค่าเช่าลานกิจกรรมครั้งละ 30,000-100,000 บาท

นอกจากนี้ยังมีสื่ออื่น ๆ ที่เกิดขึ้นมาเป็นสิ่งตกแต่งกลาย ๆ ของสยามสแควร์ไปด้วย[37]

อาหาร

[แก้]

สยามสแควร์ ยังเป็นศูนย์รวมร้านอาหารนานาชาติ และร้านอาหารมากมายและเครื่องดื่ม ที่กระจายตัวอยู่ในพื้นที่ 67 ไร่ มีจำนวนร้านมากถึง 150 ร้าน[38]ไม่ว่าจะเป็นข้าวแกงราคาถูกจนถึงอาหารราคาแพง ในส่วนของชื่อร้านจะถูกตั้งตามสมัยนิยม อย่างเช่นร้านอาหารเมื่อหลายสิบปีก่อน มักจะมีคำว่า เฮ้าส์ ห้องอาหาร ภัตตาคาร อาทิ ยูเอฟเอ็ม เบเกอรี่ เฮ้าส์ นิวไลท์ คอฟฟี่เฮ้าส์ ภัตตาคารหูฉลามสกาล่า และรสดีเด็ด เป็นต้น

เวลาเปิด-ปิดของร้านอาหารในสยามสแควร์ บางร้านอาจเริ่มตั้งแต่หกโมงเช้าเพื่อรองรับมื้อแรกของคนทำงานย่านนั้น เช่น โจ๊ก แต่ส่วนใหญ่จะเปิดบริการก่อนเที่ยงวัน และมีบางร้านปิดบริการเมื่อเข้าสู่วันใหม่ และมีหลายร้านที่เปิดถึง 12 ชั่วโมง เช่น ภัตตาคารหูฉลามสกาล่า เปิดบริการตั้งแต่ 11.00-23.00 น.

สำหรับร้านอาหารแบรนด์ชื่อดัง อย่างเช่น ห้องอาหารสีฟ้า ที่เปิดที่สยามสแควร์มากกว่า 31 ปี (ในปี พ.ศ. 2550), เอ็มเค สุกี้, ก๋วยเตี๋ยวเรือท่าสยาม (เปิดในปี พ.ศ. 2542) และ กาโตว์ เฮ้าส์ ร้านเบเกอรี่ที่เปิดที่สยามสแควร์ซอย 4 เป็นแห่งแรก ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2530 นอกจากนั้นยังมีธุรกิจอาหารประเภทใหม่ อย่างเช่นร้านตำนัว, ไอดิน กลิ่น ครก, เดอะ ครก และกระต๊าก

แบรนด์ดัง ๆ อย่าง เอ็มเค สุกี้ เคเอฟซี พิซซ่าฮัท ดังกิ้นโดนัทจะเช่าพื้นที่บริเวณอาคารซึ่งติดกับถนนพระรามที่ 1 ด้วยพื้นที่เช่า 2-3 ชั้น โดยดังกิ้น โดนัท บริเวณด้านหน้าซอย 4 ถือเป็นสาขาแรกในประเทศไทย และยังมีร้านโอ บอง แปง เกิดขึ้นในอาคารเดียวกัน ดังกิ้นโดนัทสาขาสยามสแควร์ยังคงเป็นสถานที่นัดพบ ติวหนังสือของเด็กนักเรียนย่านนี้ด้วย ส่วนร้านอาหารที่หาทานยากจะพบได้ที่สยามสแควร์ที่เดียวอย่างเช่น เอแอนด์ดับบลิว ตั้งอยู่ตรงข้ามกับน้ำพุเซ็นเตอร์ พ้อยท์ และจุฑารส ซอย 1 เปิดบริการมากว่า 38 ปี และรสดีเด็ด ที่เปิดมาร่วม 30 ปี เป็นต้น ส่วนทางด้านธุรกิจร้านอาหารกลางคืน อย่าง ฮาร์ดร็อกคาเฟ่ ซอย 11 และ กินดื่ม ทูซิท ซอย 3 ที่เป็นร้านอาหารกึ่งผับ เป็นต้น[39]

ร้านตัดผม

[แก้]

สยามสแควร์ถือเป็นสถานที่ที่มีร้านตัดผมมากที่สุดแห่งหนึ่ง โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่มคือ บาร์เบอร์ หรือร้านตัดผมชาย, สถาบันออกแบบทรงผม และ ซาลอน สำหรับบาร์เบอร์ ปัจจุบันมีเหลืออยู่ประมาณ 4 ร้าน ซึ่งเปิดมานานแล้วหลายร้านอย่างร้าน “สกาลาบาร์เบอร์” เป็นร้านตัดผมชายร้านแรก ๆ ของสยาม เปิดมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2515 โดยมีกลุ่มเป้าหมายต่างจากเพชรสยามเพชรสยามบาร์เบอร์ ด้วยความที่ไม่ตามแฟชั่น โดยมีลูกค้าส่วนใหญ่เป็น ”นายทหารและตำรวจชั้นผู้ใหญ่” ในสมัยนั้น ส่วนร้านตัดผมชายอื่น ๆ เช่น แววสยามบาร์เบอร์และเพชรสยามบาร์เบอร์ ที่มีกลุ่มลูกค้าจากลูกค้าประจำ

มีการตั้งสถาบันออกแบบทรงผมในสยามสแควร์อย่างเช่น สถาบันออกแบบทรงผมเรืองฤทธิ์ ตั้งอยู่สยามสแควร์ ซอย 11 เริ่มก่อตั้งมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2524 และยังมีโรงเรียนเกศเกล้า สถาบันอบรมแต่งผมออด๊าซ

สำหรับร้านซาลอน หรือร้านทำผมสมัยใหม่ที่มีจำนวนมากที่สุดในสยาม แต่ก็มีการเปิด-ปิด เปลี่ยนกันไปเช่นเดียวกันกับร้านค้าประเภทอื่นๆ ของสยามสแควร์ เพราะกระแสแฟชั่นที่คาดเดาไม่ได้ของวัยรุ่น ในปัจจุบันรูปแบบร้านทำผมที่ได้รับความนิยมคือร้านทำผมที่ทำผมสไตล์เกาหลี-ญี่ปุ่น อย่างเช่น ร้าน Chic Club, Q Cut, Art Hair เป็นต้น[40]

แฟชั่น

[แก้]

สยามสแควร์มีร้านค้าเสื้อผ้ามากถึงถึงกว่า 150 ร้าน ทั้งเสื้อผ้าสำเร็จรูปราคาถูก ถึงเสื้อแบรนด์นำเข้าจากต่างประเทศ และยังมีร้านรับตัดชุดวิวาห์ซึ่งมีกว่า 20-30 ร้าน [34]

ธุรกิจแฟชั่นเกี่ยวกับเสื้อผ้าในสยามสแควร์มีมานานแล้วและบางร้านก็ยังคงอยู่ อย่างเช่นร้านคิคูย่า ผู้ประกอบการที่ขายผ้าเมตร ในขณะเดียวกันสยามสแควร์ถือเป็นศูนย์รวมแฟชั่นอันหลากหลาย เสื้อผ้าตามกระแสแฟชั่นของวัยรุ่นมากมาย เสื้อผ้าที่ได้รับความนิยมเป็นแฟชั่นจากนักออกแบบรุ่นใหม่ และ ผู้ประกอบการรายเล็กรายย่อย โดยมีมากในบริเวณใต้โรงภาพยนตร์ลิโด และ บนชั้น 2 ของโรงภาพยนตร์,โซนบายพาสใกล้กับศูนย์หนังสือจุฬา มีร้านแฮปปี้ เบอร์รี่ ซึ่งเป็นร้านเสื้อผ้าวัยรุ่นที่ได้รับการโปรโมตผ่านสื่อมากที่สุด[41], ร้าน Dopespot ร้านขายเสื้อผ้าและ สินค้าแนวสตรีทแวร์ ของวงไทยเทเนี่ยม วงที่มีเสื้อผ้าเป็นของตัวเองภายใต้ชื่อแบรนด์ 9 Faces, Thirteen Crowns และ Never Say Cut[42]

ส่วนสินค้าแบรนด์เนมชื่อดัง กลับไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควร หลายรายก็ปิดตัวไปอย่างร้านเพลย์ บอย แต่ก็ยังคงมีร้าน ลาคอสท์ นอติก้า เซอรูติ ที่ยังคงเปิดอยู่[41]

เพลงและโรงภาพยนตร์

[แก้]
โรงภาพยนตร์สกาลา

แผงเทปและแผงซีดีในสยามสแควร์นั้น ร้านที่มีชื่อเสียงคือร้านดีเจสยาม แต่เดิมอยู่บริเวณหน้าดังกิ้นโดนัท จนย้ายมาอยู่ใกล้เซ็นเตอร์พ้อยท์ในปัจจุบัน โดยร้านนี้มี เปี๊ยก ดีเจสยามที่สืบทอดธุรกิจครอบครัวเป็นเจ้าของร้าน มีเทคนิคการขายแบบชวนลูกค้าคุยและเชียร์ซีดีเพลงของศิลปิน รวมถึงมีกิจกรรมต่าง ๆ บริเวณหน้าร้านไม่ว่าจะเป็น แจกลายเซ็นของศิลปิน มินิคอนเสิร์ต เป็นต้น[43] ส่วนอีกร้านที่เปิดมานานกว่า 20 ปีคือร้านโดเรมี มีพนักงานขายหลักที่คนทั่วไปเรียก "ป้าโด" ได้มีการย้ายสถานที่ร้านอยู่หลายครั้ง ตั้งแต่สยามสแควร์ซอย 5 ย้ายมาริมถนนพระรามที่ 1 ใกล้บริเวณรถไฟฟ้าลอยฟ้า จนปัจจุบันที่บริเวณสยามสแควร์ซอย 11 ร้านโดเรมีเคยมีข่าวถูกจารกรรมสินค้าจากร้านเป็นจำนวนมากเมื่อปี 2549[44] นอกจากนี้ยังมีร้านขายซีดีอีกประปรายตามสยามสแควร์ไม่ว่าจะเป็นใต้โรงภาพยนตร์สยาม เป็นต้น

สำหรับโรงภาพยนตร์ในสยามสแควร์นั้น มีอยู่ 3 โรง ในเครือเอเพ็กซ์ คือโรงภาพยนตร์สยาม ลิโด้ และสกาลา โดยโรงภาพยนตร์แรกคือโรงภาพยนตร์สยามที่เดิมทีจะใช้คำว่าโรงภาพยนตร์จุฬา แต่เปลี่ยนเพราะเกรงต่อเสียงตำหนิ มีที่นั่ง 800 ที่นั่ง ทำสัญญาเช่ากับทางจุฬาฯ เมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2510 ต่อมาคือโรงภาพยนตร์ลิโด้ และอีกโรงคือสกาลา ทั้งสองโรงนี้ลงทุนสร้างโดย บริษัท สยามมหรสพ จำกัด ซึ่งเป็นเครือเดียวกับโรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมไทย โรงภาพยนตร์ลิโด้สัญญากับทางจุฬาฯ เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2511 ส่วนโรงภาพยนตร์สกาลา ทำสัญญาเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2513 ต่อมาโรงภาพยนตร์ลิโด้ ได้ปรับปรุงสร้างใหม่ในช่วงปลายปี พ.ศ. 2537 เป็นโรงใหม่ 3 โรง หลังจากเกิดเพลิงไหม้ไปเมื่อวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2536 เสียหายไปกว่า 10 ล้านบาท[45] ต่อมาวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 โรงภาพยนตร์สยามได้เกิดเหตุเพลิงไหม้ อันเนื่องจากเหตุการณ์จลาจล จนต่อมาอาคารได้ทรุดและพังถล่มลงมาปัจจุบันโรงภาพยนตร์ 3 โรงได้ปิดกิจการแล้ว[46]

อื่น ๆ

[แก้]

สำหรับธุรกิจอย่างอื่นที่ได้รับความนิยมอย่างเช่น ร้านถ่ายรูปที่ได้รับความนิยมอย่างมากในช่วงปี พ.ศ. 2543-2544 ที่เป็นการถ่ายแบบสนุกสนาน ได้รับความนิยมในหมู่วัยรุ่น ถึงแม้ความคึกคักในธุรกิจประเภทนี้จะลดลง อันด้วยเทคโนโลยีการถ่ายภาพจากกล้องดิจิทัลและโทรศัพท์มือถือ แต่ก็มีวัยรุ่นส่วนหนึ่งที่นิยมนำรูปที่ถ่ายนี้ไปขึ้นในไฮไฟฟ์และอัลบั้มออนไลน์บนเว็บต่าง ๆ [47]

นอกจากนั้นทางด้านธุรกิจหนังสือ สิ่งพิมพ์ เพราะสยามสแควร์ไม่เพียงแต่เป็นสถานที่ที่มีการแจกแผ่นพับ ใบปลิวประชาสัมพันธ์ทางการค้าอย่างกว้างขวาง จึงได้มีการเติบโตของกลุ่มหนังสือแจกฟรี ที่ได้รับการสนับสนุนจากธุรกิจโฆษณาสินค้าต่าง ๆ อีกที ก็เป็นที่ได้รับความนิยมจากกลุ่มวัยรุ่น ไม่ว่าจะเป็น You Are Here ที่ทำมานาน 3 ปี ที่กำลังต่อยอดไปยังนิตยสารออนไลน์ หรือนิตยสาร Centerpoint Magazine ที่แจกฟรีในเล่มแรกและประสบความสำเร็จดี เจ้าของก็ตัดสินใจทำเพื่อขาย โดยก็เริ่มทำเป็นนิตยสารรายเดือน และนิตยสารแจกฟรีอื่น ๆ เช่น BK แมกกาซีน, Happening และ @Siam เป็นต้น[48]

ส่วนร้านค้าและอาคารประเภทอื่น ๆ ในสยามสแควร์เช่น ธนาคาร คลินิกต่าง ๆ ร้านหนังสือ ร้านขายของขวัญ การ์ด อุปกรณ์ตกแต่งบ้าน ร้านนาฬิกา ร้านแว่นตา ร้านขายยาและเวชภัณฑ์ ร้านดอกไม้ ร้านอัดล้างรูป สำนักงาน และ ร้านนวดแผนไทย[49]

ปัญหา การพัฒนาและปรับปรุง

[แก้]

นับตั้งแต่สยามสแควร์ได้เปิดดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2508 และธุรกิจมีการแข่งขันต่อเนื่อง ทั้งการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงภายนอก รูปแบบอาคารอยู่เสมอ แต่ระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ รวมถึงภูมิทัศน์ ก็ย่อมเสื่อมสภาพและทรุดโทรมตามกาลเวลา ปัญหาที่ผู้ค้าและผู้ใช้บริการต้องประสบอยู่ เช่น สภาพภายนอกอาคารเก่า ทางเดินเท้าที่แคบและชำรุด ความสกปรกของระบบการระบายน้ำเสีย ปัญหาน้ำท่วม การวางระบบสาธารณูปโภคที่ไม่เป็นระเบียบเรียบร้อย เช่นสายไฟฟ้าหรือโทรศัพท์และระบบการกำจัดขยะ เป็นต้น ซึ่งมีการแก้ปัญหาเป็นบางส่วน แต่ระบบสาธารณูปโภคโดยรวมยังไม่ได้มีการวางแผนระยะยาว มีการปรับปรุงดำเนินการปรับปรุงระบบไฟฟ้าแสงสว่างในบริเวณสยามสแควร์ใหม่ทั้งหมด มีการขอความอนุเคราะห์จากสถานีตำรวจนครบาลปทุมวัน ในการจัดเจ้าหน้าที่ตำรวจสายตรวจเพิ่มเติม เพื่อความปลอดภัยของผู้ประกอบการและผู้ใช้บริการ รวมทั้งเจ้าหน้าที่จัดความเรียบร้อยและการจราจรในบริเวณสยามสแควร์ สำหรับในด้านระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานมหาวิทยาลัยได้ดูแล มีการซ่อมบำรุงผิวจราจร จ้างทำความสะอาดกวาดพื้นถนน ทางเท้า ดูแลรักษาบำรุงสวนหย่อม จัดจ้างล้างทำความสะอาดท่อระบายน้ำปีละอย่างน้อย 6 ครั้ง การบริหารจัดการต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัย ในบริเวณสยามสแควร์นั้น[10]

ในปี พ.ศ. 2541 สยามสแควร์ได้เริ่มโครงการ Siam Square Animation Windows คือมีการแพร่ภาพสื่อผ่านทางจอโทรทัศน์ โดยเริ่มจากมีจอโทรทัศน์พลาสม่า จำนวน 8 จุด บริเวณใต้โรงภาพยนตร์สยามและลิโด้[10]

นอกจากนี้ทางสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาแนวทางการพัฒนาขึ้นอย่างจริงจังในปี พ.ศ. 2547 ตาม "โครงการศึกษาผังแม่บทสยามสแควร์" โดยมีผู้วิจัยเข้าร่วมโครงการ มีข้อมูล การศึกษา เพื่อพัฒนาผังแม่บทสยามสแควร์ต่อไปในอนาคต[50]

ในปี พ.ศ. 2548 มีการสำรวจปัญหาเรื่องการมั่วสุมของกลุ่มวัยรุ่น พบว่าสยามสแควร์อยู่ในพื้นที่ใกล้แหล่งมั่วสุมมากที่สุดแห่งหนึ่ง โดยมีแหล่งมั่วสุมอยู่ใกล้ 69 แหล่ง[51] ซึ่งได้มีการพยายามแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยเคยมีแนวความคิดในเชิงสร้างสรรค์ อย่างบริเวณเซ็นเตอร์พอยท์ ให้มีลักษณะเป็นการมั่วสุมในเชิงสร้างสรรค์ โดยเซ็นเตอร์พ้อยท์ที่ปรับเปลี่ยนในครั้งนั้นจะเน้นด้านบันเทิงแบบให้ความรู้ (Edutainment)[52]

ส่วนปัญหาของผู้ค้าคือปัญหาเรื่องค่าเช่า โดยเริ่มจากการขึ้นค่าเช่าในปี พ.ศ. 2540 จากค่าเช่าเซ้งเดิม 10 ปี ราคา 500,000 บาท ปรับขึ้นมาก 600% จากนั้นในปี พ.ศ. 2548 ได้มีการปรับค่าเช่าใหม่อีก 600% อยู่ที่ 80,000-160,000 บาทต่อเดือนต่อคูหา[53] ซึ่งอัตราค่าเช่าจะขึ้นอยู่กับแต่ละทำเล คือบริเวณที่แพงที่สุด (พื้นที่เอบวก) คือติดสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส หรือบริเวณสยามสแควร์ซอย 3-4 มีพื้นที่ให้เช่าทั้งหมด 48 คูหา จากทั้งหมด 610 คูหา จะคิดค่าเช่าขึ้นเป็น 2.5 แสนบาทต่อเดือนต่อคูหา และจะสัญญาใหม่ทุก ๆ 3-5 ปี และหากเป็นทำเลมีศักยภาพมากจะทำสัญญาระยะสั้น 3 ปี สัดส่วนของเกรดทำเลพื้นที่ในสยามสแควร์ คือพื้นที่ระดับเอบวก ที่อยู่บริเวณสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส กับเซ็นเตอร์พอยต์ สยามสแควร์ซอย 3 และ 4 ประมาณ 8% ระดับเอ 22% และที่เหลือคือระดับบีอีก 70%[54]

อัตราการคิดราคาในแต่ละทำเลนั้นไม่ตายตัว โดยจุฬาฯ จะให้ส่วนลดกับผู้เช่าเก่าที่เช่ากับจุฬาฯ โดยตรง และถ้าไม่ได้ปล่อยเช่าช่วงเป็นเวลาตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไปก็จะมีการปรับลดราคาค่าเช่าให้อีก 50% ของค่าเช่าที่ปรับใหม่ การปรับขึ้นราคาครั้งนี้ทำให้ผู้เช่าต่างไม่พอใจกับการขึ้นราคาไม่เป็นธรรมนี้ โดยประเด็นคือ ส่อให้เห็นถึงความไม่โปร่งใสและการกระทำที่ผิดกฎหมายอยู่หลายประเด็น มีการปรับค่าเช่าที่สูงไป และไม่เปิดโอกาสให้ตัวแทนผู้เช่าซึ่งเป็นคู่สัญญาได้เข้าพูดคุยการปรับค่าเช่า[55] ยังก่อให้เกิดปัญหาตามมาไม่ว่าจะเป็นเกิดความระแวงกันเอง ความร้าวฉานระหว่างผู้ประกอบการด้วยกัน ยังมีปัญหากังวลต่อการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ของเจ้าหน้าที่ของสำนักงานจัดการทรัพย์สิน อีกทั้งความเอาแน่เอานอนไม่ได้ในการดำเนินการของผู้บริหารมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นผลต่อการประกอบธุรกิจในสยามสแควร์ในอนาคต[56] อย่างไรก็ดี เหตุผลของทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในการปรับสัญญาเช่าใหม่ เพื่อให้มีรายได้ที่เหมาะสมมาสนับสนุนการจัดการศึกษาในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพราะที่ผ่านมานั้น มีปริมาณเงินหมุนเวียนในธุรกิจแถบสยามสแควร์จำนวนมาก แต่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไม่สามารถดูแลจัดเก็บได้ และมีปัญหารายได้รั่วไหลหลายประการ เช่น ปัญหาการเช่าช่วง ที่เกิดจากการที่ผู้เช่าที่จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำที่ของตนไปเปิดให้เช่าต่อในราคาแพง บางที่มีการเช่าต่อๆ กันถึง 8 ช่วง ทำให้แม้ว่าผู้เช่าลำดับท้ายๆ จะเสียค่าเช่าแพงมาก แต่รายได้กลับไม่ได้มาถึงจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปัญหาเหล่านี้ทำให้ทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยต้องเปลี่ยนแปลงระบบการเช่าที่ในสยามสแควร์ เพื่อให้ประโยชน์มาตกแก่การพัฒนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมากที่สุด ตามพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวที่พระราชทานที่ดินโดยรอบเพื่อให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสามารถหารายได้มาบำรุงมหาวิทยาลัยเองได้

หลังจากที่ทางสำนักงานได้ดำเนินมาตรการขอคืนทางเท้าจากผู้ค้าที่ผิดกฎหมาย บริเวณถนนพระรามที่ 1 ถนนอังรีดูนังต์ และถนนพญาไท เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2553 จึงได้ปรับปรุงภูมิทัศน์ทางเท้าจากแบบประกวด เริ่มจากฝั่งถนนพระรามที่ 1 บริเวณใต้สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสสยาม ไปจนถึงโรงภาพยนตร์สกาลา ด้วยการนำกระถางต้นไม้มาประดับตกแต่ง โดยได้ย้ายผู้ค้าบางส่วนไปที่อาคารจตุจักรสแควร์[57]

สยามสแควร์ในวัฒนธรรมสมัยนิยม

[แก้]
จากภาพยนตร์เรื่องรักแห่งสยาม ที่มีฉากหลังส่วนใหญ่อยู่ที่สยามสแควร์

สยามสแควร์เป็นสถานที่ที่เป็นศูนย์กลางของวัยรุ่นตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน จึงทำให้มีภาพยนตร์ไทยใช้สยามสแควร์เป็นฉากหลังในการดำเนินเรื่อง รวมถึงเนื้อหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นที่สยาม ซึ่งได้แก่

นอกจากนี้สยามสแควร์ยังเป็นสถานที่ที่ถ่ายมิวสิกวิดีโออยู่หลายตัว ไม่ว่าจะเป็น มิวสิกวิดีโอเพลง "Gossip" ของวงเกิร์ลลี่ เบอร์รี่[61], เพลง "SAY Hi" ของ ฟิล์ม รัฐภูมิ[62], "กันและกัน" ของคิว วงฟลัวร์[63] และเพลง "ลำพัง" ของวงเบิร์น เป็นต้น

เชิงอรรถ

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. เส้นทางเดินเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในวโรกาสทรงเจริญพระชนมพรรษา 48 พรรษา เก็บถาวร 2005-03-13 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน สำนักงานพัฒนาการท่องเที่ยว
  2. "สยามสแควร์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-02-29. สืบค้นเมื่อ 2007-12-23.
  3. "การเดินทางไปสยามสแควร์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-02-29. สืบค้นเมื่อ 2007-12-23.
  4. ""เซ็นทรัลพัฒนา" รับมอบพื้นที่สยามสแควร์-สกาล่าจากจุฬาฯ". thansettakij. 2021-09-06.
  5. 5.0 5.1 Lucky Charm สยามสแควร์ Positioning Magazine ตุลาคม 2550
  6. 6.0 6.1 6.2 6.3 6.4 6.5 วัฒนะชัย ยะนินทร, จากสลัม สู่เซ็นเตอร์ของวัยโจ๋ Positioning Magazine ตุลาคม 2550
  7. อรวรรณ บัณฑิตกุล, สยามสแควร์ในอดีต นิตยสารผู้จัดการ กุมภาพันธ์ 2545
  8. 8.0 8.1 8.2 "ย้อนตำนาน"สยามสแควร์" จากปาก กอบชัย ซอโสตถิกุล". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-05-12. สืบค้นเมื่อ 2006-11-19.
  9. "สยามสแควร์ หลากรสนิยมของคนหลากรุ่น". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-02-08. สืบค้นเมื่อ 2022-02-08.
  10. 10.0 10.1 10.2 10.3 สยามสแควร์ สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  11. ประวัติและความเป็นมาของสยามสแควร์ เก็บถาวร 2007-10-23 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน siam-square.com
  12. "รื้อเซ็นเตอร์พอยท์แหล่งวัยรุ่นสยามสแควร์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-08-31. สืบค้นเมื่อ 2007-12-24.
  13. ที่ดินสยามราคาพุ่งวาเฉียด “ล้าน” เก็บถาวร 2009-02-12 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน โดย บิสิเนสไทย 20-9-2007
  14. อำลา "เซ็นเตอร์ พ้อยท์" ปาร์ตี้สุขปนเศร้า วัยรุ่นนับหมื่นตบเท้าเข้าร่วมงาน เก็บถาวร 2008-01-08 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน newswit.com
  15. “เซ็นเตอร์พ้อยท์ฯ” เตรียมปิดพื้นที่ จัดงานอำลาใหญ่ส่งท้ายปี เก็บถาวร 2007-12-30 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน centerpoint108.com
  16. ปิดฉากตำนานเซ็นเตอร์พ้อยท์ gotomanager.com
  17. หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 26 กันยายน 2551 หน้า 1
  18. วัฒนะชัย ยะนินทร, ทศวรรษใหม่... สยามสแควร์ Positioning Magazine ตุลาคม 2550
  19. ดิจิตอล เกตเวย์ ไสฟ์สไตล์ของคนเจน ดี เก็บถาวร 2012-11-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ผู้จัดการ 360° รายสัปดาห์
  20. Digital Gateway เก็บถาวร 2012-11-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน chicministry.com
  21. "มาร์ค" ตรวจดูงานก่อสร้างอาคารสยามกิตติ์กะทันหัน มติชนออนไลน์
  22. 22.0 22.1 อาคารสยามกิตติ์ แม็กเนตใหม่ของสยามสแควร์ เก็บถาวร 2010-11-10 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน buildernews.in.th
  23. คอลัมน์ การ์ดเชิญ หนังสือพิมพ์บ้านเมือง ฉบับ อาทิตย์ที่ 31 กรกฎาคม 2554
  24. “สยามสแควร์วัน” เพิ่มดีกรีค้าปลีก 2014 พระราม 1 เดือด เก็บถาวร 2012-06-26 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ผู้จัดการ 360° รายสัปดาห์
  25. ""เลิฟอิส"ปลุกชีพ"ลิโด้"". ผู้จัดการออนไลน์. 2018-12-19. สืบค้นเมื่อ 2021-03-01.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  26. "LIDO CONNECT ชีวิตใหม่ของโรงหนังที่หลายคนรัก". ประชาชาติธุรกิจ. 2019-08-07. สืบค้นเมื่อ 2021-03-01.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  27. "3 ยักษ์ค้าปลีก ผนึก 'พลังสยาม' เทียบชั้นมหานครใหญ่". วอยซ์ทีวี. 2015-10-02. สืบค้นเมื่อ 2021-02-27.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  28. "พันธมิตรพลังสยามผนึกกำลังครั้งประวัติศาสตร์ ผลักดัน "ย่านสยาม" ยุทธศาสตร์สำคัญทางเศรษฐกิจการค้า". สมาคมการค้าพลังสยาม. 2015-09-30. สืบค้นเมื่อ 2021-02-27.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  29. "จุฬาเท 6.2 พันล้าน ผุดโครงการมิกซ์ยูส ดึงเอกชนร่วมทุน"ศูนย์สุขภาพ-รพ."". ประชาชาติธุรกิจ. 2019-10-11. สืบค้นเมื่อ 2021-02-27.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  30. 30.0 30.1 "เติมเสน่ห์ สยามสแควร์ สร้าง "Value Added" ทุก ตร.ม." ประชาชาติธุรกิจ. 2019-11-07. สืบค้นเมื่อ 2021-02-27.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  31. SIAMSCAPE - PMCU
  32. เตรียมไล่รื้อสยามสแควร์ทำช็อปตึกสูง เก็บถาวร 2012-03-17 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน thaipost.net
  33. ‘เซ็นทรัล’ คว้าที่ดินจุฬา ‘โรงหนังสกาลา’ ผุดศูนย์การค้าใหม่ เผย รักษาโครงสร้างสถาปัตย์เดิม
  34. 34.0 34.1 วัฒนะชัย ยะนินทร, คุณรู้อะไรไหมในสยามสแควร์ Positioning Magazine ตุลาคม 2550
  35. สุกรี แมนชัยนิมิต,ร.ร.กวดวิชา-ลมหายใจสยามฯ Positioning Magazine ตุลาคม 2550
  36. เคมีอ.อุ๊เปิดตัวคอมเพล็กซ์พันล้าน +ศูนย์รวมสถาบันกวดวิชาชั้นนำ-แหล่งช็อปปิ้งความรู้ใจกลางกรุง หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 2268 08 พ.ย. - 10 พ.ย. 2550
  37. อรรถสิทธิ์ เหมือนมาตย์, สนามประลองสื่อแปลกแหวกแนว Positioning Magazine ตุลาคม 2550
  38. นิตยสาร Positioning ฉบับที่ 41 เดือนตุลาคม 2550
  39. อรรถสิทธิ์ เหมือนมาตย์, กิน ดื่ม เที่ยว ตั้งแต่ยาจกถึงเศรษฐี Positioning Magazine ตุลาคม 2550
  40. ศศิขวัญ ศรีกระจ่าง, ที่สุดของร้านตัดผม Positioning Magazine ตุลาคม 2550
  41. 41.0 41.1 อรรถสิทธิ์ เหมือนมาตย์, ถนนสายแฟชั่น Positioning Magazine ตุลาคม 2550
  42. รัตนาวลี เกียรตินิยมศักดิ์, Niche Market ช่องว่างที่ต้องการเติมเต็ม เก็บถาวร 2009-02-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ttisfashionbiz.com
  43. สมคิด เอนกทวีผล, เปี๊ยก ดีเจสยาม ตำนานบนแผงเทป Positioning Magazine ตุลาคม 2550
  44. ร้านซีดี : ทางรอดยุคขาลง เก็บถาวร 2007-05-23 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน bangkokbiznews.com
  45. ประวัติโรงภาพยนตร์สยาม ลิโด้ และสกาลา เก็บถาวร 2009-02-10 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน thaifilm.com
  46. โรงหนังสยาม เพลิงไหม้ อาคารถล่มแล้ว
  47. สมคิด เอนกทวีผล, ร้านถ่ายรูป “วัยใส” Positioning Magazine ตุลาคม 2550
  48. สุกรี แมนชัยนิมิต , จุดนัดฝันคนทำหนังสือ Positioning Magazine ตุลาคม 2550
  49. รายละเอียดร้านค้าใน สยามสแควร์ สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  50. นายสิทธา กองสาสนะ, แนวทางการฟื้นฟูศูนย์การค้าสยามสแควร์
  51. "ห้วยขวางแชมป์แหล่งมั่วสุมใกล้ ร.ร. สำรวจพบเกือบ100-ศธ.เตรียมเชอญร.ร.ในเขตร่วมแก้". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-02-06. สืบค้นเมื่อ 2007-12-31.
  52. Center Point พลิกโฉม Shopping Center สู่ Media Center เก็บถาวร 2007-10-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน brandage.com
  53. จุฬาฯตอกกลับ'แม้ว'ไม่ลดค่าเช่าสยาม เก็บถาวร 2009-02-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน thaipost.net
  54. “จุฬาฯ” หักเหลี่ยมโหด เบื้องหลังปฏิบัติการเซ็งลี้แสนล้าน ผู้จัดการรายสัปดาห์13 สิงหาคม 2550
  55. ชมรมสยามสแควร์รบแตกหักจุฬา ฟ้องค่าเช่า"สัญญาไม่เป็นธรรม"
  56. ปัญหาค่าเช่า บั่นทอนชุมชนการค้าสยามสแควร์ เก็บถาวร 2007-08-08 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน bangkokbiznews.com
  57. เด็กสยามชอบปรับภูมิทัศน์ทางเท้า ปลอดผู้ค้า เก็บถาวร 2011-11-10 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ASTVผู้จัดการออนไลน์ 24 พฤศจิกายน 2553 16:19 น.
  58. สมเกียรติ บุญศิริ, วิทยา ศุภพรโอภาส ผมชอบถูกบันทึก นิตยสารผู้จัดการ ธันวาคม 2550
  59. รักแห่งสยาม thaicinema.org
  60. "สยามสแควร์ (Siam Square)". สหมงคลฟิล์ม อินเตอร์เนชั่นแนล. สืบค้นเมื่อ 3 เมษายน 2560.
  61. 4 สาว “เกิร์ลลี่ เบอร์รี่” ...เซ็กซี่ ป่วน! กลางสยามสแควร์ จนถึง สี่แยกราชประสงค์! เก็บถาวร 2009-02-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน yimsiam.com
  62. ""ฟิล์ม-รัฐภูมิ" เผลอใจ...เกือบหอมแก้ม"พิตต้า" หวานใจเพื่อนซี้ โชว์แร็พกลางสยามสแควร์ ลงมิวสิกเพลง "SAY Hi"". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-11-06. สืบค้นเมื่อ 2007-12-23.
  63. คิว วงฟลัว ทำกล้ากลางสยาม ฉายเดี่ยวถ่ายเอ็มวีเขินสุดๆ dailynews.co.th

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]