ถนนสีลม
สีลม | |
---|---|
ถนนสีลม | |
ข้อมูลของเส้นทาง | |
ความยาว | 2.300 กิโลเมตร (1.429 ไมล์) |
ประวัติ | |
ทางแยกที่สำคัญ | |
ปลายทางทิศตะวันออก | ถนนพระรามที่ 4 / ถนนราชดำริ ในเขตบางรัก / เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร |
ปลายทางทิศตะวันตก | ถนนเจริญกรุง ในเขตบางรัก กรุงเทพมหานคร |
ถนนสีลม เป็นถนนสายสำคัญในเขตบางรัก กรุงเทพมหานคร โดยเป็นถนนคอนกรีตขนาดกว้าง 6 ช่องทางจราจร มีช่องจอดรถและบาทวิถีทั้ง 2 ข้าง ความยาวประมาณ 2.78 กิโลเมตร เริ่มตั้งแต่ถนนพระรามที่ 4 ไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ตัดกับถนนศาลาแดง ถนนคอนแวนต์ ถนนนราธิวาสราชนครินทร์ ถนนเดโช ถนนปั้น ถนนประมวญ ถนนสุรศักดิ์ และถนนมเหสักข์ ทางพิเศษศรีรัช และไปสิ้นสุดที่ถนนเจริญกรุง สีลมเป็นถนนที่มีเกาะกลางและมีต้นไม้ใหญ่ปลูกเรียงรายไปตลอดแนวถนนจำนวน 483 ต้น และเป็นถนนสำคัญสายแรกที่เดินสายไฟฟ้าและสายโทรศัพท์ไว้ใต้ดิน
ถนนสีลมเป็นถนนธุรกิจสายสำคัญสายหนึ่งของกรุงเทพมหานคร มีผู้ขนานนามถนนสีลมว่า "ถนนคนเดินของกรุงเทพฯ" เป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ธนาคาร โรงแรม อาคารสำนักงาน ตลอดจนศูนย์การค้าขนาดใหญ่เรียงรายอยู่ทั้งสองฟากถนน และเป็นถนนท่องเที่ยวที่เป็นแหล่งซื้อสินค้าและขายของที่ระลึกสำหรับนักท่องเที่ยวตามบาทวิถีในเวลากลางคืน เช่น ซอยละลายทรัพย์ ถนนพัฒน์พงศ์ นอกจากนี้ยังเคยมีโครงการพัฒนาเป็นย่านถนนคนเดินในวันอาทิตย์
นอกจากนี้ยังถือได้ว่าถนนสีลมเป็นย่านที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมและความเชื่อทั้งชาวไทย จีน ฝรั่ง และแขก ดังจะเห็นได้จากบริเวณทางแยกเดโชซึ่งเป็นที่ตั้งของวัดพระศรีมหาอุมาเทวี ศาสนสถานของชาวทมิฬ ครั้งหนึ่งถนนสายนี้ยังเคยเป็นที่ตั้งของสุสานสาธารณะและสุสานเอกชนทั้งสุสานคริสต์คาทอลิก สุสานคริสต์โปรเตสแตนต์ สุสานจีน สุสานแขก รวมแล้วกว่า 13 แห่ง ที่ยังคงหลงเหลืออยู่ในปัจจุบัน เช่น สุสานปาร์ซี สุสานคริสเตียน สุสานและฌาปนสถานสมาคมจีนแคะ สุสานฮกเกี้ยน สุสานจีนบาบ๋า[1]
ถนนสีลมมีรถไฟฟ้าบีทีเอส สายสีลม วิ่งบนเกาะกลางจากถนนราชดำริข้ามถนนพระรามที่ 4 และมาจอดรับส่งผู้โดยสารที่สถานีศาลาแดง ก่อนเลี้ยวออกจากถนนสีลมไปถนนนราธิวาสราชนครินทร์ที่สถานีช่องนนทรี
ประวัติ
[แก้]ช่วงต้น
[แก้]ที่ดินยุคแรก ๆ ละแวกถนนสีลม บริเวณศาลาแดงเป็นที่นา แถววัดพระศรีมหาอุมาเทวีเป็นสวนผักของนางปั้น อุปการโกษากร[2] บริเวณปากซอยสุรศักดิ์เป็นที่ดินของแขก
สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการตัดถนน 3 สาย คือ ถนนเจริญกรุง (ตอนนอก) ถนนหัวลำโพง และถนนสีลมพร้อม ๆ กัน หลังจากที่พ่อค้าและกงสุลต่างประเทศขอให้รัฐบาลสร้างถนนขึ้นเพื่อเป็นที่ขี่ม้าตากอากาศ โดยชาวบ้านเรียกถนนสีลมว่า "ถนนขวาง" ถนนมีความกว้าง 5 ศอก ยาว 68 เส้น 16 วา ซึ่งได้นำดินที่ขุดคลองเชื่อมแม่น้ำเจ้าพระยากับคลองถนนตรง (ถนนพระรามที่ 4 ในปัจจุบัน) เฉพาะถนนสีลมนั้น ได้มาจากการขุดคลองขวางจากบางรักไปถึงคลองถนนตรง ณ ศาลาที่เจ้าพระยาทิพากรวงศมหาโกษาธิบดี (ขำ บุนนาค) สร้างไว้ จากนั้นได้ทำถนนขนานคลองนี้ทางทิศใต้[3] เป็นคลองกว้าง 6 วา ลึก 6 ศอก เรียกคลองนี้ว่า คลองบางรัก หรือ คลองบางรักปากคลองขวางขุดใหม่ รู้จักในเวลาต่อมาว่า คลองสีลม คลองนี้อยู่ทางฝั่งเหนือของถนนสีลม ริมคลองปลูกต้นอโศกสีส้มขนานกับประดู่ที่ริมถนน
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงชักชวนให้บริจาคการสร้างทางคมนาคม หลวงพิศาลศุภผล จ้างเหมาสร้างสะพานอิฐถือปูนด้านถนนเจริญกรุง เจ้าพระยาพลเทพ (หลง) จ้างเหมาทำสะพานก่ออิฐถือปูนข้ามปลายคลองสีลมต่อถนนสีลม และพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นวิษณุนาถนิภาธรทรงบริจาคทรัพย์ทำสะพานข้ามคลองถนนตรง ต่อเนื่องมาอีกสะพานหนึ่ง
ย่านที่อยู่อาศัยนอกเมือง
[แก้]ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีชาวต่างประเทศตั้งโรงสีลมที่ถนนขวาง ซึ่งใช้สำหรับการวิดน้ำ โดยที่บริเวณทั่วไปยังเป็นทุ่งนาโล่ง เครื่องสีลมวิดน้ำจึงดูเด่น จึงพากันเรียกถนนเส้นนี้ว่า "ถนนสีลม" หรือ Wind Mill Road ตั้งแต่ พ.ศ. 2450 เป็นต้นมาเริ่มมีการตัดถนนขนานกับถนนสีลม คือ ถนนสาทร ถนนสุรวงศ์ และถนนสี่พระยา ทำให้ถนนบริเวณนี้เริ่มมีคนเข้ามาอยู่อาศัยมากขึ้น
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมีการสร้างสวนลุมพินีที่สุดถนนสีลม เพื่อเป็นที่จัดงานแสดงนิทรรศการ สยามรัฐพิพิธภัณฑ์ และเปิดสัมปทานเดินรถรางถนนสีลมเป็นครั้งแรก (จากบางรักถึงประตูน้ำ) ทำให้การคมนาคมสะดวก ธุรกิจเติบโตอย่างรวดเร็ว จนเมื่อสงครามโลกครั้งที่สองจบลง ธุรกิจของชาวต่างประเทศที่แต่เดิมตั้งสำนักงานอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ขยายดำเนินกิจการบนถนนสีลมมากขึ้น ในรัฐบาลสฤษดิ์ ธนะรัชต์มีมติรื้อรถรางและถมคลองสีลมเมื่อประมาณ พ.ศ. 2506 อีกแหล่งบอกคลองถูกถมเพื่อขยายถนนเมื่อ พ.ศ. 2500[4] การถมคลองทำให้ถนนสีลมมีขนาดกว้างขวางกว่าถนนอื่นในละแวกเดียวกัน
ย่านธุรกิจ
[แก้]ความเป็นย่านธุรกิจเห็นได้จากการสร้างตึกแถวและอาคารสูง โดยเริ่มมีการสร้างอาคารพาณิชย์สูง 3–5 ชั้นเมื่อราว พ.ศ. 2490 ต่อมา พ.ศ. 2509 มีการสร้างอาคารสูงมากกว่า 10 ชั้น เช่น อาคารสำนักงานใหญ่ธนาคารกสิกรไทยในขณะนั้น โรงแรมนารายณ์ อาคารอาคเนย์ประกันภัย โรงแรมดุสิตธานี อาคารสำนักงานใหญ่ธนาคารไทยทนุ อาคารบุญมิตร ถนนสีลมกลายเป็นศูนย์กลางการเงินเนื่องจากมีสำนักงานธนาคาร บริษัทเงินทุน บริษัทหลักทรัพย์ รวมถึงบริษัทประกันภัยจำนวนมาก[5] มีอาคารสำนักใหญ่ธนาคารกรุงเทพ เคยเป็นอาคารสูงที่สุดในประเทศไทยเมื่อ พ.ศ. 2525[6]
พ.ศ. 2527 เริ่มมีการร้อยท่อสายไฟฟ้าของอาคารต่าง ๆ บนถนนมาไว้ใต้ดินแทน เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงของบ้านเรือนและอาคาร สุสานถูกรื้อถอน มีการสร้างอาคารสูงตั้งแต่ 20 ชั้นขึ้นไป เช่น อาคารสีลมเซ็นเตอร์ (พ.ศ. 2528) อาคารไอทีเอฟสีลมพาเลซ (พ.ศ. 2530) อาคารธนิยะพลาซ่า (พ.ศ. 2530) อาคารซีพีทาวเวอร์ (พ.ศ. 2533) อาคารทรินิตีคอมเพล็กซ์ (พ.ศ. 2533) และอาคารซีเคเค (พ.ศ. 2535) เป็นต้น[7]
พ.ศ. 2536 มีการเปลี่ยนแปลงการเดินระบบสายไฟฟ้าฝังลงใต้ดิน และ พ.ศ. 2539 มีการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าบีทีเอส มีการตัดต้นไม้บริเวณเกาะกลางถนน แต่เดิมนั้นบริเวณสีลมมีนกนางแอ่นบ้านที่หนีความหนาวเย็นจากประเทศรัสเซียและประเทศจีน จากข้อมูลเมื่อ พ.ศ. 2527 เคยมีจำนวนมากถึง 270,000 ตัว แต่หลังจากการก่อสร้างดังกล่าวทำให้ประชากรนกนางแอ่นบ้านลดลงอย่างมาก[8]
จากข้อมูล พ.ศ. 2564 ถนนสีลมเป็นจุดเชื่อมต่อการคมนาคม โดยมีรถไฟฟ้าบีทีเอส สายสีลม และรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล เป็นระบบขนส่งมวลชนหลัก มีอาคารสำนักงานรวมกว่า 43 แห่ง มีคอนโดมิเนียมทุกระดับ โรงเรียน 23 แห่ง โรงพยาบาล 3 แห่ง โครงการค้าปลีก 3 แห่ง และธุรกิจกลางคืนอันโด่งดัง บริเวณหัวถนนมีโครงการดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค ซึ่งปรับรูปแบบมาจากโรงแรมดุสิตธานีเดิม[9]
รายชื่อทางแยก
[แก้]จังหวัด | กม.ที่ | ชื่อจุดตัด | ซ้าย | ขวา | |
---|---|---|---|---|---|
พระรามที่ 4 – เจริญกรุง (ถนนสีลม) | |||||
กรุงเทพมหานคร | 0+000 | แยกศาลาแดง | เชื่อมต่อจาก: ถนนราชดำริ จากราชประสงค์ | ||
ถนนพระรามที่ 4 ไปวิทยุ | ถนนพระรามที่ 4 ไปอังรีดูนังต์ | ||||
ถนนศาลาแดง ไปถนนสาทรเหนือ | ไม่มี | ||||
แยกคอนแวนต์ | ถนนคอนแวนต์ ไปถนนสาทรเหนือ | ไม่มี | |||
แยกพิพัฒน์ | ซอยสีลม 3 (พิพัฒน์) ไปถนนสาทรเหนือ | ไม่มี | |||
แยกสีลม–นราธิวาส | ถนนนราธิวาสราชนครินทร์ ไปสาทร | ถนนนราธิวาสราชนครินทร์ ไปถนนสุรวงศ์ | |||
แยกเดโช | ไม่มี | ถนนเดโช ไปถนนสุรวงศ์ | |||
ถนนปั้น ไปถนนสาทรเหนือ | ไม่มี | ||||
แยกประมวญ | ถนนประมวญ ไปถนนสาทรเหนือ | ไม่มี | |||
แยกสุรศักดิ์ | ถนนสุรศักดิ์ ไปสาทร | ถนนมเหสักข์ ไปถนนสุรวงศ์ | |||
แยกด่วนสีลม | ทางพิเศษศรีรัช ไปดาวคะนอง, บางนา | ทางพิเศษศรีรัช ไปดินแดง, แจ้งวัฒนะ | |||
ถนนจรูญเวียง ไปถนนสาทรเหนือ | ถนนจรูญเวียง ไปซอยเจริญกรุง 45 (ซอยพุทธโอสถ) | ||||
แยกบางรัก | ถนนเจริญกรุง ไปบางรัก, ถนนตก | ถนนเจริญกรุง ไปสี่พระยา | |||
สะพาน กำลังก่อสร้างหรือโครงการในอนาคต |
สถานที่สำคัญ
[แก้]- สีลมเอดจ์
- เซ็นทรัล ดีพาร์ทเมนท์ สโตร์ สีลมคอมเพล็กซ์
- สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส ศาลาแดง
- อาคารธนิยะ พลาซ่า
- ถนนพัฒน์พงษ์
- อาคาร ซี.พี. ทาวเวอร์
- โรงพยาบาลกรุงเทพคริสเตียน
- ธนาคารกรุงเทพ สำนักงานใหญ่สีลม
- ย่านการค้าซอยละลายทรัพย์
- เซ็นทรัล สีลม ทาวเวอร์
- โรงพยาบาลเลิดสิน
- วัดพระศรีมหาอุมาเทวี
- สุสานและฌาปนสถานสมาคมจีนแคะ
- สุสานฮกเกี้ยน
- สุสานจีนบาบ๋า
อ้างอิง
[แก้]- ↑ อรุโณประโยชน์, ศุภณัฐ (2021). แนวทางการอนุรักษ์และพัฒนาภูมิทัศน์สุสานจีนในเขตชั้นในกรุงเทพมหานคร. ภาควิชาภูมิสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. p. 125. สืบค้นเมื่อ 8 August 2022.
- ↑ "วัดพระศรีมหาอุมาเทวี". กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์.
- ↑ สุมิตรา จันทรเงา. ""ถนนสีลม" มาจากไหน??". ศิลปวัฒนธรรม.
- ↑ โรม บุนนาค. "ถนนตรง คลองตรง ถนนขวาง คลองขวาง อยู่ที่ไหน! ถนนราชดำริเคยปลูกมะพร้าวริมถนน!!". ผู้จัดการออนไลน์.
- ↑ ชีวารัตน์ กลับคุณ. "แนวทางการพัฒนาพื้นที่บริเวณย่านธุรกิจสีลมช่วงถนนคอนแวนต์ถึงถนนนราธิวาสราชนครินทร์" (PDF). จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์.
- ↑ "ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สำนักงานใหญ่ ถนนสีลม".
- ↑ พัชราภา แก่นหอม. "ปัจจัยทางกายภาพที่มีต่อการค้าในย่านธุรกิจ : กรณีศึกษาซอยละลายทรัพย์ ถนนสีลม กรุงเทพมหานคร" (PDF). มหาวิทยาลัยศิลปากร.
- ↑ "ตรวจนกอพยพสีลมป้องหวัดนก". ไทยรัฐ.
- ↑ สรัญญา จันทร์สว่าง / พรไพลิน จุลพันธ์. "ทุนยักษ์เร่งพลิก "สีลม-พระราม4" ดัน "กรุงเทพฯ" สู่โกลบอลแลนด์มาร์ค". กรุงเทพธุรกิจ.