พื้นที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นมหาวิทยาลัยและสถาบันอุดมศึกษาแห่งแรกของประเทศไทย ตั้งอยู่ในเขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นมหาวิทยาลัยที่มีพื้นที่กว้างขวางมาก โดยมีพื้นที่ทั้งหมด 1,153 ไร่ แบ่งออกเป็น 3 ส่วน ตามลักษณะการใช้พื้นที่ ได้แก่ พื้นที่เขตการศึกษา 595 ไร่ พื้นที่ส่วนราชการเช่าใช้ 184 ไร่ และพื้นที่เขตพาณิชย์ 374 ไร่[1]
แต่เดิมพื้นที่ทั้งหมดมี 1,309 ไร่ แต่ในปัจจุบันวัดได้ 1,153 ไร่ เพราะตัดที่ดินส่วนที่ใช้เป็นถนนและซอยต่าง ๆ ในเขตที่ดินของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยออกไป[2][3]
พื้นที่การศึกษา
[แก้]จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีพื้นที่การศึกษา 595 ไร่ แบ่งออกเป็น 6 ส่วน[4] ซึ่งอยู่บริเวณ แขวงวังใหม่และแขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร ได้แก่
ส่วนที่ 1 ฝั่งตะวันออกของถนนพญาไท ตั้งอยู่ในแขวงปทุมวัน ประกอบด้วย สระน้ำ สนามรักบี้ พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระปิยมหาราชและสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ อาคารมหาวชิราวุธ ศาลาพระเกี้ยว ศูนย์หนังสือจุฬาฯ (สาขาศาลาพระเกี้ยว) ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (สาขาศาลาพระเกี้ยว) หอประวัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ตึกจักรพงษ์) อาคารจุลจักรพงษ์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ คณะเศรษฐศาสตร์ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี วิทยาลัยประชากรศาสตร์ สถาบันภาษา สถาบันวิจัยสังคม สถาบันเอเชียศึกษา และสถาบันการขนส่ง พื้นที่ส่วนนี้เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้ามหานคร สถานีสามย่าน
ส่วนที่ 2 ฝั่งตะวันตกของถนนพญาไท ตั้งอยู่ในแขวงวังใหม่ ประกอบด้วย สำนักงานมหาวิทยาลัย (กลุ่มอาคารจามจุรี 1–5, 8–9) บัณฑิตวิทยาลัย สนามกีฬาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อาคารเฉลิมราชสุดากีฬาสถาน (อาคารศูนย์กีฬาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) ฟิตเนสเซ็นเตอร์ คณะนิเทศศาสตร์ คณะครุศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี สถาบันวิจัยโลหะและวัสดุ สำนักงานวิทยทรัพยากร สถานีวิทยุจุฬาฯ โรงพิมพ์จุฬาฯ ธรรมสถาน สมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในพระบรมราชูปถัมภ์ หอพักนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อาคารวิทยพัฒนา อาคารแว่นแก้ว อาคารเฉลิมราชกุมารี 60 พรรษา (อาคารจามจุรี 10) ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล สถาบันนวัตกรรมบูรณาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หอพักศศนิเวศ อาคารศศปาฐศาลา ซึ่งเป็นที่ตั้งของสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์
ส่วนที่ 3 ตั้งอยู่ในฝั่งตะวันออกของถนนพญาไท ทิศใต้ของถนนพระรามที่ 1 ด้านหลังสยามสแควร์ อยู่ในแขวงปทุมวัน ประกอบด้วย คณะทันตแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลสัตว์เล็ก คณะสัตวแพทยศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ โอสถศาลาหรือสถานปฏิบัติการเภสัชกรรมชุมชนของคณะเภสัชศาสตร์ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข อาคารวิทยกิตติ์ ซึ่งเป็นที่ตั้งของศูนย์หนังสือจุฬาฯ พื้นที่ส่วนนี้เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าบีทีเอส สถานีสยามด้านถนนพระรามที่ 1
ส่วนที่ 4 ทิศตะวันออกของถนนอังรีดูนังต์ ตั้งอยู่ในแขวงปทุมวัน บริเวณตั้งแต่สี่แยกศาลาแดง จนถึงสี่แยกอังรีดูนังต์ ซึ่งเป็นพื้นที่ของสภากาชาดไทย โดยมีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาสภากาชาดไทยและสถาบันการพยาบาลศรีสวรินทิรา สภากาชาดไทย พื้นที่ส่วนนี้เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าบีทีเอส สถานีศาลาแดงและรถไฟฟ้ามหานคร (MRT) สถานีสีลม บริเวณสี่แยกศาลาแดง
ส่วนที่ 5 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้รับพื้นที่ส่วนนี้คืนจากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (พลศึกษา) และกรมพลศึกษา ตั้งอยู่ในแขวงวังใหม่ คือ พื้นที่บริเวณระหว่างห้างมาบุญครอง และสนามกีฬาแห่งชาติ ในส่วนนี้เป็นกลุ่มอาคารจุฬาพัฒน์ ซึ่งเป็นที่ตั้งของคณะสหเวชศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์การกีฬา คณะพยาบาลศาสตร์ คณะจิตวิทยา สำนักวิชาทรัพยากรการเกษตร และอาคารบรมราชชนนีศรีศตพรรษ ซึ่งเป็นที่ตั้งของศูนย์บริการวิทยาศาสตร์สุขภาพ พื้นที่ส่วนนี้เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าบีทีเอส สถานีสนามกีฬาแห่งชาติ
ส่วนที่ 6 คือ พื้นที่ภายในโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา และโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ปทุมวัน (ได้รับคืนจากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ปทุมวัน) ในส่วนนี้เป็นกลุ่มอาคารจุฬาวิชช์ อันเป็นส่วนขยายของคณะศิลปกรรมศาสตร์ คณะจิตวิทยา และโครงการขยายโอกาสอุดมศึกษาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พื้นที่ส่วนนี้ตั้งอยู่ฝั่งตะวันออกของถนนพญาไทจึงอยู่ในแขวงปทุมวัน
ในส่วนพื้นที่การศึกษานี้ มีต้นไม้สำคัญของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยรวม 6 ต้น ได้แก่ ต้นจามจุรีพระราชทาน 5 ต้น ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จพระราชดำเนินมาทรงปลูกไว้บริเวณเสาธง หน้าหอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยซึ่งอยู่ในพื้นที่ฝั่งตะวันออกของถนนพญาไท และต้นพระศรีมหาโพธิ์ ตั้งอยู่บริเวณระหว่างอาคารมหาธีรราชานุสรณ์ (หอสมุดกลาง) และอาคารจามจุรี 5 ใกล้คณะครุศาสตร์ ทางฝั่งตะวันตกของถนนพญาไท นอกจากนี้ บริเวณพื้นที่ลานจอดรถศาลาพระเกี้ยวด้านคณะเศรษฐศาสตร์ ทุก ๆ วันศุกร์ (หรือตามแต่กรรมการสโมสรอาจารย์เป็นผู้กำหนด) จะจัดเป็นตลาดนัดตั้งแต่เช้าจรดเย็น เรียกกันว่า "ตลาดพิกุล" เนื่องจากพื้นที่นั้นมีต้นพิกุล กิจกรรมดังกล่าวดำเนินการโดยสโมสรอาจารย์
พิพิธภัณฑ์และหอศิลป์
[แก้]ภายในพื้นที่ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนอกจากเป็นที่ตั้งของคณะวิชาและหน่วยงานต่าง ๆ แล้ว ยังประกอบด้วยพิพิธภัณฑ์และหอศิลป์ที่ตั้งอยู่ทั้งภายในพื้นที่ของมหาวิทยาลัยเพื่อเป็นแหล่งถ่ายทอดความรู้ทั้งในเชิงวิชาการและการอนุรักษ์
- อาคารพิพิธภัณฑ์มหาวิทยาลัย ตั้งอยู่ใกล้กับคณะศิลปกรรมศาสตร์และคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์[5] จัดแสดงพัฒนาการของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยด้านวิชาการ ด้านกายภาพและประวัติความเป็นมาด้วยสื่อผสมหลายรูปแบบ
- หอประวัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งอยู่ที่อาคารจักรพงษ์ ด้านหน้าลานจักรพงษ์ ด้านข้างลานพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระปิยมหาราชและสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า[6] อาคารนี้จัดแสดงพระเกี้ยว ซึ่งเป็นสัญลักษณ์สูงสุดของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และหลักฐานในเหตุการณ์สำคัญต่าง ๆ เช่น ครุยพระบรมราชูปถัมภก เปียโนทรงบรรเลงของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
- หอศิลปวิทยนิทรรศน์ ตั้งอยู่บริเวณ ชั้น 7 อาคารมหาธีรราชานุสรณ์หรือหอสมุดกลาง เป็นพื้นที่ขนาดใหญ่สำหรับจัดนิทรรศการหมุนเวียนด้านศิลปะร่วมสมัยของประเทศไทยและต่างชาติ ทำหน้าที่เป็นห้องปฏิบัติการทางศิลปะของนิสิตทั้งระดับปริญญาบัณฑิตและระดับบัณฑิตศึกษา ปัจจุบันพื้นที่นี้ใช้จัดนิทรรศการ "จุฬาลงกรณ์ราชบรรณาลัย" แหล่งรวบรวมข้อมูลของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในรูปแบบดิจิทัล
- หอศิลป์จามจุรี ตั้งอยู่ที่อาคารจามจุรี 8 ด้านข้างสมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นหอศิลป์ที่เปิดให้บุคคลภายนอกสามารถจัดแสดงผลงานได้จัดแสดงศิลปกรรมประเภททัศนศิลป์เป็นส่วนใหญ่ เปิดให้ประชาชนเข้าชมโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
นอกจากนี้ ยังมีพิพิธภัณฑ์แห่งอื่นที่อยู่ภายใต้การดูแลของคณะต่าง ๆ
อาคารที่มีสถาปัตยกรรมโดดเด่น
[แก้]ภายในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีพัฒนาการทางด้านกายภาพมาเป็นเวลายาวนาน นับตั้งแต่เป็นโรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทำให้เขตมหาวิทยาลัยมีอาคารและกลุ่มอาคารที่แสดงถึงแต่ละยุคสมัยได้เป็นอย่างดี มีลักษณะทางสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ ศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต จุลาสัย กรรมการสภาสถาปนิกและอดีตคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเคยกล่าวว่า[7]
...ผมคิดว่าตึกในจุฬาฯ บ่งบอกถึงยุคสมัยของตัวเอง ตึกเป็นตัวแทนอธิบายยุคสมัยของสถาปัตยกรรมไปแล้วด้วยซ้ำ... จุฬาฯ ก็เป็นโรงเรียนสถาปัตย์ คือ ตึกในมหาวิทยาลัยอธิบายสถาปัตยกรรมได้เลย
- อาคารมหาจุฬาลงกรณ์[8] เป็นอาคารที่มีเอกลักษณ์ทางสถาปัตยกรรมไทย ก่อสร้างขึ้นใน พ.ศ. 2457 เพื่อเป็นตึกบัญชาการของโรงเรียนข้าราชการพลเรือนในช่วงแรกสถาปนาและเป็นอาคารเรียนของคณะวิศวกรรมศาสตร์และคณะรัฏฐประศาสนศาสตร์ เมื่อวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2459 จึงได้ใช้เป็นอาคารเรียนของคณะอักษรศาสตร์ อาคารนี้ได้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่นจากสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ เมื่อ พ.ศ. 2530[9]
- อาคารมหาวชิราวุธ ก่อสร้างขึ้นใน พ.ศ. 2496 โดยถอดแบบจากอาคารมหาจุฬาลงกรณ์ทุกประการ มีจุดเด่นคือหน้าบันกรุด้วยกระจกและเปิดออกได้ทุกบาน มีการสร้างทางเดินเชื่อมกับอาคารมหาจุฬาลงกรณ์ด้วยสถาปัตยกรรมไทยเช่นเดียวกับตัวอาคารทั้งสอง อาคารทั้งสองจึงเรียกว่า "เทวาลัย" ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของสำนักคณบดีคณะอักษรศาสตร์ สำนักงานเลขานุการคณะอักษรศาสตร์ สมาคมนิสิตเก่าคณะอักษรศาสตร์ ศูนย์สารนิเทศมนุษยศาสตร์ นอกจากนี้ยังเป็นที่ตั้งของห้องพิพิธพัสดุ์ไท-กะไดและห้องโครงการเผยแพร่ผลงานวิชาการคณะอักษรศาสตร์[10]
- หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สร้างขึ้นในสมัย จอมพล แปลก พิบูลสงคราม เป็นอธิการบดี โดยมีความมุ่งหวังให้เป็นที่รับรองพระบรมวงศานุวงศ์ที่เสด็จมาประกอบพระกรณียกิจที่มหาวิทยาลัย และใช้เป็นสถานที่ประกอบกิจกรรมต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัย ตัวอาคารมีลักษณะคล้ายกับพระอุโบสถของวัดราชาธิวาสราชวรวิหาร ที่สมเด็จฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงออกแบบ หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับรางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่นประจำ พ.ศ. 2545 จากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมป์[11]
- พระบรมราชานุสาวรีย์สองรัชกาล หรือ พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระปิยมหาราชและสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า เป็นอนุสรณ์สถานระลึกถึงพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระผู้พระราชทานกำเนิดและพระผู้สถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งอยู่ด้านหน้าหอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและเสาธงประจำมหาวิทยาลัย[12] ถูกออกแบบให้เป็นจุดสนใจทางภูมิสถาปัตยกรรม (Focal Point) ในพื้นที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยฝั่งตะวันออกของถนนพญาไท[13]
- เรือนภะรตราชา สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวตั้งแต่สมัยก่อตั้งมหาวิทยาลัย เพื่อเป็นที่พักของผู้บริหาร อาจารย์ชาวต่างประเทศ และข้าราชการของมหาวิทยาลัย หลังจากเกิดการชำรุดตามกาลเวลา เรือนหลังนี้จึงได้รับการบูรณะเพื่อเป็นอนุสรณ์สถานและเป็นการระลึกถึงพระยาภะรตราชา (หม่อมหลวงทศทิศ อิศรเสนา) อดีตผู้บัญชาการมหาวิทยาลัย ที่เคยพำนักอยู่ ณ เรือนแห่งนี้ เรือนภะรตราชาได้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่นจากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ เมื่อ พ.ศ. 2540[14][15]
- เรือนไทย สร้างขึ้นในโอกาสครบรอบ 70 ปีแห่งการสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อ พ.ศ. 2530 โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานในพิธียกเสาเอก ประกอบด้วย เรือน 5 หลัง โดยเรือนประธานเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปพระราชทาน ศีรษะครูเทพเจ้าทางดนตรีไทย เครื่องดนตรีไทยปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์ และระนาดทรงของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เรือนที่เหลือจัดแสดงเครื่องใช้และวัตถุโบราณ เครื่องจักสานไทยของภาคต่าง ๆ และมีศาลากลางน้ำสำหรับจัดกิจกรรมต่าง ๆ[16]
- ศาลาพระเกี้ยว เริ่มการก่อสร้างใน พ.ศ. 2508 แล้วเสร็จใน พ.ศ. 2509 ในสมัยจอมพล ประภาส จารุเสถียร ดำรงตำแหน่งอธิการบดี ออกแบบให้มีโครงสร้างคล้ายพระเกี้ยวเพื่อควบคุมคุณภาพเสียงอีกทั้งยังสื่อถึงสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัย มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นสถานที่ทำกิจกรรมของนิสิตเช่น การลงทะเบียนแรกเข้าของนิสิตชั้นปีที่ 1 งานจุฬาฯ วิชาการ แต่ในระหว่างการก่อสร้างได้มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขในส่วนชั้นใต้ดินให้เป็นที่ทำการต่าง ๆ เช่น ศูนย์หนังสือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สาขาศาลาพระเกี้ยว, ร้านสหกรณ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งในระยะแรกนั้นมีแผนที่จะทำเป็นสถานที่จอดรถ[17] ใน พ.ศ. 2559 ศาลาพระเกี้ยวได้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์ศิลปะสถาปัตยกรรมดีเด่น ประเภทอาคารสถาบันและอาคารสาธารณะ[18]
ในพื้นที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยยังมีสถาปัตยกรรมสำคัญอีกหลายแห่ง แต่ละแห่งมีเอกลักษณ์เป็นที่จดจำของนิสิตและบุคลากรรวมทั้งผู้เข้ามาเยือน อาคารที่มีสถาปัตยกรรมแบบไทย เช่น อาคารสำราญราษฎร์บริรักษ์ คณะรัฐศาสตร์ เรือนภะรตราชา และยังมีอาคารที่เป็นสถาปัตยกรรมร่วมสมัย เช่น อาคารวิศวกรรมศาสตร์ 1 อาคารวิศวกรรมศาสตร์ 2 และลานเกียร์ และอาคารนารถ โพธิประสาท คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์
-
อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ -
อาคารมหาวชิราวุธ -
ศาลาพระเกี้ยว -
อาคารสำราญราษฎร์บริรักษ์ คณะรัฐศาสตร์
-
คณะวิศวกรรมศาสตร์ -
เรือนไทย
พื้นที่ให้ส่วนราชการเช่าใช้
[แก้]จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้จัดสรรพื้นที่ไว้สำหรับให้หน่วยงานราชการเช่าใช้ เป็นจำนวน 184 ไร่ ได้แก่
- กรีฑาสถานแห่งชาติ เป็นสนามกีฬาแห่งชาติของประเทศไทย อยู่ในความดูแลของกรมพลศึกษา กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โดยส่งคืนสถานที่บางส่วนแก่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อใช้ประโยชน์ทางการศึกษา กรมพลศึกษาใช้อาคารสถานที่ในส่วนที่ยังเช่าอยู่เพื่อเป็นที่ทำการของกรมฯ ตลอดจนสมาคมหรือองค์กร ที่เกี่ยวข้องกับการกีฬา และนันทนาการต่าง ๆ เช่น สำนักงานลูกเสือแห่งชาติ (ปัจจุบัน ย้ายที่ตั้งอยู่ ณ ค่ายลูกเสือวชิราวุธ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี) มีสนามหลัก ๆ ได้แก่ สนามศุภชลาศัย สนามเทพหัสดิน สนามจินดารักษ์
- โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา โรงเรียนมัธยมศึกษาที่จัดการเรียนการสอนเฉพาะระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย
- โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ปทุมวัน โรงเรียนมัธยมศึกษา ในสังกัดคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
- มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย
- สถานีตำรวจนครบาลปทุมวัน
- สถานีดับเพลิงบรรทัดทอง
พื้นที่พาณิชยกรรม
[แก้]เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวสถาปนาโรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในเวลาต่อมา) พระองค์มีพระราชประสงค์ให้ใช้ที่ดินส่วนหนึ่งเพื่อเป็นที่ปลูกสร้างสถานศึกษาและอีกส่วนหนึ่งให้ใช้จัดหาผลประโยชน์เพื่อนำมาปรับปรุงพัฒนาการศึกษาของโรงเรียนซึ่งจะต้องเติบโตขึ้นในอนาคต โดยไม่ต้องพึ่งพางบประมาณแผ่นดินแต่เพียงอย่างเดียว พบหลักฐานว่ามีการปรับรูปแบบการจัดการที่ดินเชิงพาณิชยกรรมมาโดยตลอดนับแต่ประดิษฐานมหาวิทยาลัย[19][20] โดยพื้นที่ของมหาวิทยาลัยในเขตปทุมวัน มีการแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ตามลักษณะการใช้พื้นที่ ได้แก่ พื้นที่เขตการศึกษา 595 ไร่ พื้นที่ส่วนราชการเช่าใช้ 184 ไร่ และพื้นที่เขตพาณิชย์ 374 ไร่ รวม 1,153 ไร่[21] โดยแต่เดิมพื้นที่ทั้งหมดมี 1,309 ไร่ แต่ในปัจจุบันวัดได้ 1,153 ไร่ เพราะตัดที่ดินส่วนที่ใช้เป็นถนนและซอยต่าง ๆ ในเขตที่ดินของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยออกไป[22][3]
พื้นที่พาณิชย์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนั้นแยกออกจากพื้นที่การศึกษาเป็นสัดส่วนอย่างชัดเจน[23] โดยพื้นที่เขตพาณิชย์จะเป็นส่วนมุมของที่ดินซึ่งมีถนนสายสำคัญตัดผ่านเพื่อเป็นประโยชน์แก่การเดินทางและการค้าขาย โดยมีพื้นที่พาณิชย์ทั้งหมด 374 ไร่[24] ปัจจุบันสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นหน่วยงานที่ดำเนินงานพัฒนาพื้นที่เขตพาณิชย์เหล่านี้[25]
โซนสยาม
[แก้]- สยามสแควร์ เป็นศูนย์การค้าแนวราบและเปิดโล่ง มีเนื้อที่ 63 ไร่ มีพื้นที่อยู่ระหว่างสี่แยกปทุมวันและทางแยกเฉลิมเผ่า มีถนนพญาไทตัดผ่านทางทิศตะวันตก ถนนพระรามที่ 1 ตัดผ่านทางทิศเหนือและถนนอังรีดูนังต์ตัดผ่านทางทิศตะวันออก ตรงข้ามศูนย์การค้าสยามพารากอน สยามเซ็นเตอร์ สยามดิสคัฟเวอรี่เซ็นเตอร์และวัดปทุมวนารามราชวรวิหาร ยังมีทางวิ่งรถไฟฟ้าบีทีเอสและสถานีสยาม ตั้งอยู่เหนือผิวถนนพระรามที่ 1 ในบริเวณนี้ด้วย[26][27]
- เอ็มบีเคเซ็นเตอร์ บริษัท เอ็มบีเค พรอพเพอร์ตีส์ แอนด์ ดีเวลอปเมนต์ จำกัด เช่าที่ดินจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเพื่อทำเป็นศูนย์การค้าขนาดใหญ่ มีพื้นที่ใช้สอยประมาณ 89,000 ตารางเมตร ตั้งอยู่บริเวณมุมถนนพญาไทและถนนพระรามที่ 1 หรือแยกปทุมวัน มีพื้นที่ติดกับกรีฑาสถานแห่งชาติและตรงข้ามกับหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ในบริเวณนี้มีทางวิ่งรถไฟฟ้าบีทีเอสและสถานีสนามกีฬาแห่งชาติตั้งอยู่เหนือผิวถนนพระรามที่ 1[28]
- สยามสแควร์วัน ศูนย์การค้าในพื้นที่สยามสแควร์ สร้างบนพื้นที่ 8 ไร่ ที่ตั้งเดิมของโรงภาพยนตร์สยามที่ถูกไฟไหม้เสียหายไปเมื่อ พ.ศ. 2553 มีพื้นที่ใช้สอย 74,100 ตารางเมตร สวนลอยฟ้าที่ชั้นดาดฟ้าสยามสแควร์วันเป็นพื้นที่สาธารณะลอยฟ้าที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยชื่อว่า สยามกรีนสกาย (Siam Green Sky)[29]
- เซ็นเตอร์พอยท์ ออฟ สยามสแควร์ ศูนย์การค้าในพื้นที่สยามสแควร์ สร้างบนพื้นที่ 2 ไร่ ซึ่งเป็นการปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์เดิมในชื่อ ดิจิตอล เกตเวย์ (Digital Gateway) โดยเป็นการเข้ามาลงทุนของกลุ่มทีซีซีแลนด์[30]
- สยามกิตติ์ พื้นที่ให้เช่าทำการค้าปลีก สถาบันกวดวิชา ร้านสะดวกซื้อ ร้านอาหารและพื้นที่จอดรถ[31]
- โรงแรมโนโวเทลกรุงเทพ สยามสแควร์ เป็นโรงแรมในเครือโนโวเทล ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่สยามสแควร์ มีห้องพักทั้งหมด 423 ห้อง[32]
- สยามสเคป ประกอบด้วย อาคารสำนักงาน ศูนย์การเรียนรู้ สถานเสริมความงาม พื้นที่ค้าปลีก และพื้นที่จอดรถ[33]
โซนสวนหลวง–สามย่าน
[แก้]เมื่อกล่าวถึงคำว่า "สามย่าน" สามารถอนุมานถึงจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ เพราะอาณาเขตของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยติดต่อกับสี่แยก 2 แห่ง คือแยกสามย่านและแยกปทุมวัน ทั้งสองแห่งเป็นพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญของกรุงเทพมหานครและประเทศไทย[34] จนกลายเป็นภาพลักษณ์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย[27]
- จัตุรัสจามจุรี เป็นศูนย์การค้าและอาคารสำนักงานเนื้อที่ประมาณ 21 ไร่ ตั้งอยู่บนมุมถนนพญาไทกับถนนพระรามที่ 4 หรือทางแยกสามย่านฝั่งคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตรงข้ามวัดหัวลำโพง พระอารามหลวง จัตุรัสจามจุรีมีทางเชื่อมต่อกับสถานีรถไฟฟ้ามหานคร สถานีสามย่าน นับเป็นการเชื่อมต่อกับอาคารแห่งแรกของไทย[35]
- ตลาดสามย่าน เป็นตลาดสดในพื้นที่สามย่าน มีสองชั้น ชั้นล่างเป็นตลาดสดและชั้นบนเป็นร้านอาหาร มีพื้นที่ใช้สอย 6,200 ตารางเมตร เดิมเคยตั้งอยู่ที่แยกสามย่านติดกับคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่ปัจจุบันได้ย้ายไปตั้งอยู่ด้านหลังสนามกีฬาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซอยจุฬาลงกรณ์ 9 ใกล้กับสถานีตำรวจนครบาลปทุมวันและสถานีดับเพลิงบรรทัดทอง[36]
- แอมพาร์ค เป็นศูนย์การค้าแบบเปิดโล่งตั้งอยู่ด้านข้างอุทยาน 100 ปี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นส่วนหนึ่งในพื้นที่พาณิชกรรม สวนหลวง–สามย่าน
- พื้นพาณิชยกรรม สวนหลวง–สามย่าน ด้านหลังพื้นที่การศึกษาฝั่งตะวันตกของถนนพญาไท ประกอบด้วยอุทยาน 100 ปี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นจุดกึ่งกลางของเขตพาณิชบริเวณนี้ ทิศเหนือของอุทยานเป็นที่ตั้งของตลาดสามย่านแห่งใหม่ แหล่งธุรกิจอะไหล่เก่าแก่ของกรุงเทพมหานคร ร้านอาหารและสถานีตำรวจนครบาลปทุมวัน ทิศเหนือของอุทยาน 100 ปี เป็นที่ตั้งของย่านพาณิชกรรมแห่งใหม่ คือ สวนหลวงสแควร์ และ CU Sport Zone เป็นแหล่งรวมร้านอุปกรณ์กีฬา[37] ทั้งนี้การก่อสร้างอุทยาน 100 ปี เป็นการลดพื้นที่พาณิชกรรมเก็บรายได้ลงกว่า 29 ไร่[38]
- อุทยาน 100 ปี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สวนสาธารณะที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสร้างขึ้นเพื่อเป็นพื้นที่นันทนาการสาธารณะให้กับชุมชนสวนหลวง–สามย่านและบรรทัดทอง และเพื่อเฉลิมฉลองวาระ 100 ปีแห่งการสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย[39] ออกแบบให้เป็นพื้นที่หน่วงน้ำของกรุงเทพมหานคร มีแนวพื้นที่รับน้ำ (Rain Garden) และระบบระบายน้ำใต้ดิน[40]
พื้นที่ต่างจังหวัด
[แก้]นอกจากพื้นที่ในกรุงเทพมหานครแล้ว จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยยังมีพื้นที่การศึกษาในจังหวัดต่าง ๆ (ไม่ใช่วิทยาเขต) ได้แก่
- พื้นที่จังหวัดนครปฐม
พื้นที่จังหวัดนครปฐมเกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2511 หลังจากการโอนย้ายคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ส่วนที่ตั้งอยู่บนพื้นที่ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกลับคืนมาเป็นคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยพลเอก ประภาส จารุเสถียร อดีตอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ปรารภว่า "การโอนคณะสัตวแพทยศาสตร์โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้น การโอนก็ไม่มีความหมาย" ดังนั้น จึงได้โอนที่ดินของกระทรวงมหาดไทยที่ขณะนั้นว่างเปล่าอยู่ 79 ไร่ ในเขตตำบลบ่อพลับ อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม เพื่อจัดเป็นไร่ฝึกแก่นิสิตใช้ฝึกปฏิบัติวิชาสัตวบาลจนพัฒนาเป็น "ศูนย์ฝึกนิสิตคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย" และ "โรงพยาบาลปศุสัตว์" ดังนั้น มหาวิทยาลัยจึงขอใช้ชื่อว่า "ไร่ฝึกนิสิตจารุเสถียร" นอกจากจะใช้พื้นที่สำหรับสนับสนุนการเรียนการสอน การค้นคว้าวิจัย และตรวจรักษาปศุสัตว์และสัตว์เลี้ยงของประชาชนแล้ว คณะสัตวแพทยศาสตร์ยังใช้ผลผลิตฟาร์มเป็นผลพลอยได้จำหน่ายเป็นสวัสดิการให้อาจารย์-บุคลากรของคณะและมหาวิทยาลัย[41]
- พื้นที่จังหวัดน่าน
พื้นที่จังหวัดน่านเป็นที่ตั้งของ "ศูนย์การเรียนรู้และบริการวิชาการเครือข่ายแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย" สำหรับให้บริการการศึกษาเรียนรู้สำหรับนิสิตโดยเฉพาะในหลักสูตรศิลปศาสตรบัณทิต สาขาวิชาการบริหารจัดการทรัพยากรการเกษตร ประกอบด้วย อาคารวิชชาคาม 1 อาคารวิชชาคาม 2 และกลุ่มอาคารชมพูภูคา[42]
- พื้นที่จังหวัดสระบุรี
การพัฒนาที่ดินจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่เขตอำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี เริ่มขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2532 โดยมีพื้นที่ทั้งหมดรวม 3,364 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ที่กรมป่าไม้อนุญาตให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยใช้ประโยชน์ 2,632 ไร่ และพื้นที่ที่มูลนิธินิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยให้ใช้ประโยชน์ 732 ไร่ โดยมีการแบ่งเขตพื้นที่ออกเป็น 5 เขต ได้แก่ เขตพื้นที่อนุรักษ์ธรรมชาติ เขตศูนย์วิจัยเฉพาะทาง เขตโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย-สระบุรี เขตบริการวิชาการและการศึกษา และเขตบริหารจัดการ โดยได้รับความร่วมมือจาก 6 คณะที่จะเข้าไปจัดทำโครงการในเขตพื้นที่ดังกล่าว ได้แก่ คณะเภสัชศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ คณะครุศาสตร์ และคณะวิศวกรรมศาสตร์[43][44]
พื้นที่การศึกษาเหล่านี้เป็นเพียงพื้นที่ใช้สนับสนุนการสอนและการวิจัยเท่านั้น มิได้มีสถานะเป็นวิทยาเขต เพราะมหาวิทยาลัยมีนโยบายที่ชัดเจนว่าจะไม่จัดตั้งวิทยาเขต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยต้องเป็นหนึ่งเดียว[45] นอกจากนี้ยังมีพื้นที่ในความดูแลของมหาวิทยาลัยแห่งอื่น เช่น พระตำหนักดาราภิรมย์ อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่,[46] พระจุฑาธุชราชฐานและพิพิธภัณฑ์ชลทัศนสถาน เกาะสีชัง จังหวัดชลบุรี[47][48]
ดูเพิ่ม
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ↑ ความเป็นมาขององค์กร:สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, เข้าถึงวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556
- ↑ [1] วิดีโอวันสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ใต้ร่มพระราชปณิธานพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, เข้าถึงวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2558
- ↑ 3.0 3.1 ราชกิจจานุเบกษา. “พระราชบัญญัติโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินอันเป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ตำบลปทุมวัน อำเภอปทุมวัน จังหวัดพระนคร ให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พุทธศักราช 2482.” เว็บไซต์ ราชกิจจานุเบกษา. 30 ตุลาคม 2482.http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2478/D/549.PDF (1 ธันวาคม 2559 ที่เข้าถึง).
- ↑ แผนที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- ↑ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. อาคารพิพิธภัณฑ์มหาวิทยาลัย. 2558. http://www.chula.ac.th/th/archive/museum/3577 เก็บถาวร 2017-01-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (1 กันยายน 2559 ที่เข้าถึง).
- ↑ หอประวัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. ที่ตั้ง. 2558. http://www.memocent.chula.ac.th/knowus/ที่ตั้ง (1 กันยายน 2559 ที่เข้าถึง).
- ↑ บัณฑิต จุลาสัย. “อาคารสำคัญในมหาวิทยาลัย.” ใน 9 ทศวรรษ พัฒนาการทางกายภาพ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, โดย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 184. กรุงเทพ: บริษัท แปลนพริ้นติ้ง จำกัด, 2552.
- ↑ http://www.prm.chula.ac.th/cen67.html อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ หรือ ตึกบัญชาการ หรือ อาคารอักษรศาสตร์ 1 (เดิม)
- ↑ http://www.asa.or.th/01about/c2530/2530h.htm เก็บถาวร 2005-02-12 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน รางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่น : ตึกอักษรศาสตร์ 1 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย]
- ↑ http://www.arts.chula.ac.th/06about/tour.html ท่องแดนเทวาลัย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ
- ↑ http://www.prm.chula.ac.th/cen28.html หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- ↑ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. (23 พฤศจิกายน 2530). สูจิบัตรเนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์สองรัชกาล ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันจันทร์ที่ 23 พฤศจิกายน 2530. สูจิบัตร , หน้า 1-39.
- ↑ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. (2558). โครงการผังแม่บทภูมิสถาปัตยกรรม. Retrieved พฤษภาคม 30, 25ุจ, from เว็บไซต์ โครงการมหาวิทยาลัยสีเขียว จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย: http://www.green.chula.ac.th/campus01.html[ลิงก์เสีย]
- ↑ "รางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่น : เรือนภะรตราชา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-10-17. สืบค้นเมื่อ 2020-08-11.
- ↑ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย : เรือนภะรตราชา
- ↑ "ศูนย์ส่งเสริมวัฒนธรรมแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย; เรือนไทยแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-05-14. สืบค้นเมื่อ 2020-08-11.
- ↑ http://www.prm.chula.ac.th/cen31.html ศาลาพระเกี้ยว. สำนักบริหารระบบกายภาพ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- ↑ สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์. ประกาศผลการคัดเลือก รางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรม ประจำปี 2559. 27 เมษายน 2559. http://www.asa.or.th/th/node/140800 เก็บถาวร 2016-05-26 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (30 เมษายน 2559 ที่เข้าถึง).
- ↑ บัณฑิต จุลาสัยและคณะ, เอกสารประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2453-2475
- ↑ บัณฑิต จุลาสัยและคณะ, การออกแบบวางผังจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2453-2475. สาระศาสตร์สถาปัตย์ ฉบับที่ 2 กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ณ หอประวัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2531.
- ↑ ความเป็นมาขององค์กร:สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, เข้าถึงวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556
- ↑ [2] วิดีโอวันสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ใต้ร่มพระราชปณิธานพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, เข้าถึงวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2558
- ↑ [3] ข้อเท็จจริงกรณีที่ดินจุฬาฯ, เข้าถึงวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2558
- ↑ http://www.property.chula.ac.th/web/sites/default/files/area-map-04-10-56-zoom.jpg แผนผังที่ดินเชิงพาณิชย์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- ↑ http://www.property.chula.ac.th/web/units หน่วยธุรกิจในความรับผิดชอบของสำนักงานจัดการทรัพย์สิน
- ↑ http://www.property.chula.ac.th/web/node/1375 ศูนย์การค้าสยามสแควร์
- ↑ 27.0 27.1 PCL., The Post Publishing. "จุฬาฯโมเดล สูตรมหาวิทยาลัยดันเมืองโต." www.posttoday.com. Accessed May 20, 2017. http://www.posttoday.com/property/mrt/news/495368.
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-07-26. สืบค้นเมื่อ 2020-08-04.
- ↑ http://www.property.chula.ac.th/web/node/1378 สยามสแควร์วัน
- ↑ http://marketeer.co.th/2015/06/centerpoint-of-siam-square/ เซนเตอร์พอยท์ ออฟ สยามสแควร์
- ↑ "สยามกิตติ์." สยามกิตติ์ | สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. Accessed March 11, 2017. http://www.property.chula.ac.th/web/node/1374.
- ↑ "Bangkok Hotel." Novotel Bangkok on Siam Square. Accessed April 29, 2017. http://www.novotelbkk.com/.
- ↑ SIAMSCAPE - PMCU
- ↑ "Siam Square - Siam-Square.com". Siam-Square.com. Retrieved 2016-12-10.
- ↑ http://www.property.chula.ac.th/web/node/1372 จัตุรัสจามจุรี
- ↑ http://www.property.chula.ac.th/web/node/1371 ตลาดสามย่าน
- ↑ "เขตพาณิชย์สวนหลวง-สามย่าน." เขตพาณิชย์สวนหลวง-สามย่าน | สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. Accessed March 10, 2017. http://www.property.chula.ac.th/web/node/1376.
- ↑ http://www.property.chula.ac.th/web/about/แผนผังพื้นที่เขตจัดการผลประโยชน์บริเวณเขตปทุมวัน
- ↑ "จุฬาฯ สร้าง 'อุทยาน 100 ปี' สวนสาธารณะ ปอดแห่งใหม่ของคนกรุง". www.thairath.co.th (in Thai). Retrieved 2017-09-18.
- ↑ Chulalongkorn University. "อุทยานจุฬาฯ 100 ปี – CU100". CU100. Retrieved 2017-09-18.
- ↑ ประวัติการจัดการศึกษาด้านสัตวแพทยศาสตร์และคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เก็บถาวร 2021-06-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, สืบค้นข้อมูลวันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554
- ↑ ศูนย์การเรียนรู้และบริการวิชาการ เครือข่ายแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เก็บถาวร 2013-04-02 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, สืบค้นข้อมูลวันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554
- ↑ โครงการพัฒนาที่ดินจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, สืบค้นข้อมูลวันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554
- ↑ "โครงการ | สำนักบริหารระบบกายภาพ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย." โครงการ | สำนักบริหารระบบกายภาพ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. Accessed March 30, 2017. http://www.prm.chula.ac.th/projects03.html.
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-05. สืบค้นเมื่อ 2020-08-04.
- ↑ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. พิพิธภัณฑ์พระตำหนักดาราภิรมย์. 2558. http://www.chula.ac.th/th/archive/museum/3628 เก็บถาวร 2017-01-30 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (1 กันยายน 2559 ที่เข้าถึง).
- ↑ หอประวัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. (7 พฤศจิกายน 2552). พิพิธภัณฑ์พระจุฑาธุชราชฐาน. เรียกใช้เมื่อ 25 พฤศจิกายน 2559 จาก เว็บไซต์ หอประวัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย: http://www.memocent.chula.ac.th/article/พิพิธภัณฑ์พระจุฑาธุชราชฐาน/
- ↑ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. พิพิธภัณฑ์ชลทัศนสถาน. 2558. http://www.chula.ac.th/th/archive/museum/3586 (1 กันยายน 2559 ที่เข้าถึง).