วิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วิทยาลัยประชากรศาสตร์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
College of Population Studies, Chulalongkorn University
วปก logo.jpg
สถาปนา23 ธันวาคม พ.ศ. 2509
คณบดีศ.ดร.วิพรรณ ประจวบเหมาะ
ที่อยู่
254 อาคารวิศิษฐ์ ประจวบเหมาะ ถนนพญาไท แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330
เว็บไซต์www.cps.chula.ac.th

วิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นสถาบันการศึกษาแห่งแรกของประเทศ ที่เปิดสอนหลักสูตรประชากรศาสตร์ ระดับบัณฑิตศึกษา นอกจากนี้ ยังเปิด "ศูนย์สารสนเทศทางประชากรศาสตร์" เพื่อให้บริการด้านการเผยแพร่ความรู้ด้านวิชาการและข้อมูลต่าง ๆ ด้านประชากรศาสตร์ให้แก่ผู้สนใจด้วย

ประวัติ[แก้]

เมื่อปี พ.ศ. 2501 ม.จ.อธิพรพงศ์ เกษมศรี ผู้อำนวยราชการสถิติ สำนักงานสถิติกลาง ได้ให้การสนับสนุนคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อส่งอาจารย์ไปศึกษาต่อด้านประชากรศาสตร์และกลับมาสอนในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยการติดต่อกับสภาประชากรแห่งนครนิวยอร์ก ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2505 มูลนิธิฟอร์ด ได้ส่งคณะทำงาน ซึ่งมีศาสตราจารย์ฟิลลิป เอ็ม เฮาเซอร์ จาก มหาวิทยาลัยชิคาโก เป็นหัวหน้าคณะ เสนอให้ความช่วยเหลือด้านวิชาการแก่หน่วยงานราชการไทย รวมทั้งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการจัดตั้งศูนย์วิจัยและฝึกอบรมทางด้านประชากร โดยทางคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ร่างโครงการจัดตั้งศูนย์วิจัยและฝึกอบรมทางประชากร เมื่อปี พ.ศ. 2508 ซึ่งได้รับทุนดำเนินการเริ่มแรกมาจากสภาประชากรแห่งนครนิวยอร์ก และนายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่งเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2509 แต่งตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษา กรรมการบริหาร และเจ้าหน้าที่ของ "ศูนย์วิจัยและฝึกอบรมทางประชากร" เพื่อเริ่มดำเนินงานเป็นทางการ ต่อมาเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2513 "ศูนย์วิจัยและฝึกอบรมทางประชากร" ได้รับการยกฐานะเป็น "สถาบันประชากรศาสตร์" ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยแห่งแรกของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยที่มีฐานะเทียบเท่าคณะ และสถาบันประชากรศาสตร์ได้รับการยกฐานะอีกครั้งเป็น "วิทยาลัยประชากรศาสตร์" เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2541 เพื่อเพิ่มศักยภาพในการพัฒนาด้านการวิจัย รวมทั้งเป็นแหล่งข้อมูลด้านประชากรศาสตร์ของประเทศ และระดับนานาชาติ

หลักสูตร[แก้]

  • หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาประชากรศาสตร์
  • หลักสูตรศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาประชากรศาสตร์

ประวัติศูนย์สารสนเทศทางประชากรศาสตร์[แก้]

พ.ศ. 2509 ห้องสมุดมีขึ้นมาพร้อมกับการตั้งศูนย์วิจัยและฝึกอบรมทางประชากร แต่อยู่ในลักษณะของ หน่วยบริการค้นคว้าเอกสารสิ่งพิมพ์ทางประชากร" ของอาจารย์และนักวิจัย มีที่ตั้งอยู่ในที่ทำการของศูนย์วิจัยฯ ใน “อาคารรัฐศาสตร์ 3” (อาคารเกษม อุทยานิน ในปัจจุบัน)

พ.ศ. 2513 ได้มีการเปลี่ยนจากหน่วยบริการค้นคว้าเอกสารสิ่งพิมพ์มาเป็นห้องสมุดสถาบัน ประชากรศาสตร์ เนื่องจากเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2513 ศูนย์วิจัย และฝึกอบรมทางประชากร ได้รับการยกฐานะตามพระราชกฤษฎีกา เป็นสถาบันประชากรศาสตร์

พ.ศ. 2518 ได้ย้ายสถานที่ตั้งห้องสมุดมาที่ อาคารสถาบัน 1 (อาคารวิศิษฐ์ ประจวบเหมาะในปัจจุบัน) ซึ่งเป็นที่ทำการใหม่ของสถาบันประชากรศาสตร์ในขณะนั้น

พ.ศ. 2529 ห้องสมุดสถาบันประชากรศาสตร์ เข้าเป็นสมาชิกข่ายงานสมาคมห้องสมุดเฉพาะทางด้านประชากรในระดับนานาชาติ (Association for Population / Family Planning Libraries and Information Centers-International - APLIC) ซึ่งให้ความช่วยเหลือทางด้านเอกสารสิ่งพิมพ์ และการแลกเปลี่ยนความรู้ทางประชากร

พ.ศ. 2530 ห้องสมุดสถาบันประชากรศาสตร์ เข้าเป็นสมาชิกข่ายงานสารสนเทศด้านประชากร และการวางแผนครอบครัวอาเซียนฝ่ายประเทศไทย (ASEAN POPIN: THAILAND) ซึ่งมีกระทรวงสาธารณสุขเป็นแม่ข่าย

พ.ศ. 2533 ห้องสมุดสถาบันประชากรศาสตร์ได้เข้าร่วมมือประสานงานกับ Center for Communication Programs, Johns Hopkins University ในการให้ข้อมูลจัดทำ ฐานข้อมูล POPLINE (Population Information Online) ซึ่งเป็นฐานข้อมูลทางประชากรที่ใหญ่ที่สุดของโลก

พ.ศ. 2534 ห้องสมุดสถาบันประชากรศาสตร์ได้รับเงินช่วยเหลือจากมูลนิธิฮิวเล็ท (Hewlett Foundation) ในการจัดหาทรัพยากรทางห้องสมุด เป็นเวลาต่อเนื่องหลายปี

พ.ศ. 2536 ห้องสมุดสถาบันประชากรศาสตร์ ได้เปลี่ยนชื่อเป็น ศูนย์สารสนเทศทางประชากรศาสตร์ และย้ายสถานที่ตั้งมาอยู่ที่ ชั้น 2 และ ของอาคารประชาธิปก-รำไพพรรณี บนพื้นที่ประมาณ 180 ตร.ม.

พ.ศ. 2537 วันที่ 4 สิงหาคม 2537 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ทรงประกอบพิธีเปิดอาคารประชาธิปก-รำไพพรรณี และทรงทอดพระเนตรกิจกรรมในศูนย์สารสนเทศทางประชากรศาสตร์

พ.ศ. 2539 ศูนย์สารสนเทศทางประชากรศาสตร์ได้รับเงินทุนสนับสนุนจากโครงการ INT/96/PO3 Inter-Regional Project on South-South Cooperation จำนวนเงิน US $20,000.00 ซึ่งเป็นโครงการรับผิดชอบร่วมกันระหว่างสถาบันประชากรศาสตร์ กับ United Nations Population Fund (UNFPA) ในการพัฒนางานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศฯ และพัฒนาระบบข่ายงานด้านข้อมูลทางประชากรให้มีการให้บริการที่หลากหลายขึ้น

ในปัจจุบันศูนย์สารสนเทศทางประชากรศาสตร์ทำหน้าที่หลักในการให้บริการข้อมูลสารสนเทศด้านประชากรศาสตร์และสาขาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องในรูปแบบต่าง ๆ เช่น เอกสารสิ่งพิมพ์ วารสารทางวิชาการ แผ่นพับข้อมูล บริการข้อมูลผ่านระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ (IT Network) ข้อมูลในรูปของ Electronic, Website, แผ่น CD-Rom สำหรับบุคคลและหน่วยงาน สถานภาพของศูนย์สารสนเทศฯ ในปัจจุบันจึงอาจถือว่าเป็นแหล่งอ้างอิงข้อมูลประชากรที่มีความพร้อมและมีประสิทธิภาพสูงแห่งหนึ่งของประเทศ ที่สามารถให้บริการด้านวิชาการและข้อมูลแก่ผู้สนใจศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับประชากรและอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยมีนางสาวดาราวรรณ เจียมเพิ่มพูน และนายอรรจน์ ศุทธากรณ์ เป็นผู้ริเริ่มจัดสร้าง homepage ศูนย์สารสนเทศทางประชากรศาสตร์

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]