สวนปทุมวนานุรักษ์

พิกัด: 13°44′55″N 100°32′24″E / 13.748743662925792°N 100.54009643192248°E / 13.748743662925792; 100.54009643192248
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สวนปทุมวนานุรักษ์
แผนที่
ประเภทสวนชุมชน
ที่ตั้ง5/1-5/40 ถนนราชดำริ แขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร
พื้นที่27 ไร่ (4.3 เฮกตาร์; 11 เอเคอร์)
เปิดตัว20 พฤษภาคม พ.ศ. 2566 (เปิดอย่างไม่เป็นทางการ)[1]
30 กรกฎาคม พ.ศ. 2566 (เปิดอย่างเป็นทางการ)[2]
ผู้ก่อตั้งมูลนิธิปทุมวนานุรักษ์
ผู้ออกแบบ
  • กลุ่มสถาปนิกอาสาและวิศวกรใจดี
  • บริษัท สำนักงานออกแบบระฟ้า จำกัด
  • บริษัท แลนด์ โปรเซส จำกัด
  • อินเตอร์แพค (อาสาสมัคร)
เจ้าของมูลนิธิปทุมวนานุรักษ์ (โครงการ)
สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ (พื้นที่)
ผู้ดำเนินการตราสัญลักษณ์กรุงเทพมหานคร  กรุงเทพมหานคร
เวลาให้บริการ10:00 - 18:00 น.

สวนปทุมวนานุรักษ์ (อังกฤษ: Pathumwananurak Park) เป็นสวนชุมชนในพื้นที่ใจกลางกรุงเทพมหานคร ตั้งอยู่บนพื้นที่ 27 ไร่ทางทิศเหนือของศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ทางทิศใต้ของคลองแสนแสบ ทางฝั่งตะวันตกของถนนราชดำริ ในพื้นที่แขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน บนพื้นที่ของสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ พัฒนาโดยมูลนิธิปทุมวนานุรักษ์ ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ร่วมกับเอกชนในพื้นที่ใกล้เคียง และอาสาสมัครส่วนต่าง ๆ ภายใต้การดูแลและการเช่าพื้นที่โดยกรุงเทพมหานคร[3]

ในอดีตพื้นที่สวนปทุมวนานุรักษ์นี้เคยเป็นพื้นที่ส่วนหนึ่งของวังเพ็ชรบูรณ์ หลังจากวังถูกคณะราษฎรยึดไป จึงถูกโอนมาอยู่ในกรรมสิทธิ์ของสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ โดยวิทยาลัยพณิชยการอินทราชัยได้ใช้วังเพ็ชรบูรณ์เป็นที่ทำการแห่งแรกตั้งแต่ปี พ.ศ. 2481 ก่อนจะถูกย้ายไปยังทุ่งสีกัน เขตดอนเมือง ในปี พ.ศ. 2521 - 2522 จากนั้นจึงกลายเป็นชุมชนโรงปูน ก่อนจะเริ่มมีการเวนคืนเมื่อปี พ.ศ. 2538 เพื่อปรับปรุงพื้นที่เป็นสวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 5 ธันวาคม 2542 โดยเริ่มก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2557 และเสร็จสิ้นเมื่อปี พ.ศ. 2561 อย่างไรก็ตาม ยังมีผู้บุกรุกที่ไม่ยอมย้ายออกจากพื้นที่จึงไม่สามารถเปิดให้บริการได้ จนกระทั่งสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ได้เจรจาจนผู้บุกรุกยอมออกจากพื้นที่เมื่อต้นปี พ.ศ. 2566 จึงเริ่มเปิดอย่างไม่เป็นทางการตั้งแต่วันที่ 20 พฤษภาคม และเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม

สวนปทุมวนานุรักษ์ประกอบด้วย สวนหย่อม สวนป่า บึงรับน้ำ ลานกิจกรรม พื้นที่นิทรรศการกลางแจ้ง และอาคารอเนกประสงค์ อันจะเพิ่มพื้นที่สีเขียว สร้างพื้นที่ซึ่งก่อประโยชน์ให้กับคนเมือง ภายใต้แนวความคิด "สวนเพื่อพ่อ" เพื่อเผยแพร่หลักการทรงงาน โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ รวมถึงปรัชญาคำสอนของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

ประวัติ[แก้]

สมัยแรก[แก้]

พื้นที่ที่ตั้งของสวนปทุมวนานุรักษ์ในปัจจุบันนี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งเขตพระราชฐานและสร้างพระราชวัง พระราชทานนามว่า พระราชวังปทุมวัน พร้อมขุดสระใหญ่ ไขน้ำจากคลองแสนแสบจำนวน 2 สระ เรียกว่า สระปทุม แบ่งออกเป็น สระนอก สำหรับประชาชนใช้แข่งเรือในฤดูน้ำหลาก และ สระใน สำหรับใช้สำราญพระอิริยาบถส่วนพระองค์ และสร้างพระอารามหลวง พระราชทานนามว่า วัดปทุมวนาราม

ในกาลต่อมา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพื้นที่เพื่อสร้างวังจำนวน 2 แห่ง คือ วังสระปทุม สำหรับสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก[4] และ วังเพ็ชรบูรณ์ สำหรับสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราไชย[5]

ในปี พ.ศ. 2475 เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง วังหลายแห่งถูกคณะราษฎรเข้ายึดครองและตกเป็นสมบัติของรัฐ รวมถึงวังเพ็ชรบูรณ์ด้วย แต่อยู่ในกรรมสิทธิ์ของสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์มาโดยตลอด[6][7] โดยกระทรวงศึกษาธิการได้เช่าวังเพ็ชรบูรณ์ส่วนหนึ่งเพื่อสร้างเป็นวิทยาลัยพณิชยการอินทราชัย และใช้เป็นที่ทำการแห่งแรกตั้งแต่ปี พ.ศ. 2481[8] ก่อนจะถูกย้ายไปยังทุ่งสีกัน เขตดอนเมือง ในปี พ.ศ. 2521 - 2522 และตำหนักสันนิบาตน้อยภายในวังยังคงเป็นที่ประทับของหม่อมเจ้าบุญจิราธร จุฑาธุช พระชายาสมเด็จเจ้าฟ้าจุฑาธุชฯ จนสิ้นชีพิตักษัยเมื่อปี พ.ศ. 2523[9] จากนั้นที่ดินบางส่วนถูกเช่าเพื่อก่อสร้างศูนย์การค้า (​เวิลด์​เทรด​เซ็น​เตอร์ และเซ็นทรัลเวิลด์ ตามลำดับ) และบางส่วนเป็นชุมชนโรงปูนที่มีผู้อาศัยหลากหลายและแออัดกว่า 1,000 หลังคาเรือน[10] ซึ่งได้ขึ้นทะเบียนเป็นชุมชนของกรุงเทพมหานครในช่วงพุทธทศวรรษ 2530[11]

ช่วงเริ่มต้นศึกษาโครงการ[แก้]

ในปี พ.ศ. 2538 สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ได้จัดสรรที่ดินบริเวณวังเพ็ชรบูรณ์เดิม เพื่อพัฒนาเป็นอุทยานเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 5 ธันวาคม 2542 ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยร่วมกับรัฐบาลในขณะนั้น แต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินโครงการพัฒนาวัดปทุมวนาราม และคณะกรรมการโครงการอุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ เพื่อดำเนินโครงการอุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ บริเวณข้างวัดปทุมวนารามราชวรวิหาร โรงแรมสยามอินเตอร์คอนติเนนตัล (ปัจจุบันปรับเปลี่ยนเป็นศูนย์การค้าสยามพารากอน) และเวิลด์เทรดเซนเตอร์ (ปัจจุบันคือเซ็นทรัลเวิลด์) ติดถนนราชดำริ เนื้อที่ประมาณ 40 ไร่ ซึ่งมีชุมชนแออัดอาศัยอยู่ ต่อมาในปี พ.ศ. 2542 คณะกรรมการโครงการฯ ได้มอบหมายให้สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่ ยกเลิกสัญญาเช่าที่ดินจากคนในชุมชน และช่วยเจรจารื้อย้ายราษฎรจนได้รับพื้นที่คืนบางส่วน (โดยมีการสร้างอาคารแฟลตจำนวน 3 หลัง ในบริเวณพื้นที่ใกล้เคียงเป็นการทดแทน)[12] และส่งมอบพื้นที่ดังกล่าวให้คณะกรรมการโครงการฯ รับพื้นที่ไปดำเนินการ แต่ก็ทำให้เกิดปัญหาการไล่ที่ขึ้นมาจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566[11]

ในปี พ.ศ. 2540 มีย้ายพระที่นั่งทรงธรรม พระที่นั่งกาญจนาภิเษก รวมทั้งอาคารประกอบพระราชพิธีและศาลาข้าราชการ ซึ่งก่อสร้างขึ้นเมื่อครั้งพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เมื่อ 10 มีนาคม พ.ศ. 2539 และพระราชพิธีกาญจนาภิเษกของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2539 จากมณฑลพิธีท้องสนามหลวง มาประดิษฐานไว้ในพื้นที่ที่ตั้งอุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ ตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่พระราชทานอาคารดังกล่าวให้แก่วัดปทุมวนารามราชวรวิหาร แต่ต่อมาพระที่นั่งและอาคารต่างๆ มีความทรุดโทรมจนยากที่จะรักษาให้อยู่ในสภาพดีดังเดิม จึงมีการรื้อถอนลงทั้งหมด และสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ได้เสนอการจัดการผังการใช้ที่ดินใหม่ โดยแบ่งพื้นที่ 3 ส่วนคือ

  1. พื้นที่วัดปทุมวนารามราชวรวิหาร
  2. พื้นที่ก่อสร้างอาคารเหรียนหลังใหม่ของโรงเรียนวัดปทุมวนาราม ในพระราชูปถัมภ์ฯ[13]
  3. พื้นที่ก่อสร้างอุทยานเฉลิมพระเกียรติ

ซึ่งสอดคล้องกับพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงต้องการให้ปรับปรุงพื้นที่ส่วนที่ 3 ให้เป็นสวนสาธารณะ โดยการปลูกต้นไม้เพื่อความร่มรื่นและสวยงาม[12]

การดำเนินการในช่วงแรก เป็นการทำงานของอาสาสมัครในภาคส่วนที่หลากหลาย ร่วมศึกษาพื้นที่ประมาณ 7 ไร่ ที่เคยประดิษฐานพระที่นั่งและอาคารประกอบต่าง ๆ จนสรุปการออกแบบเป็นสวนป่า ปรับปรุงดิน ขุดบึงรับน้ำ และปลูกต้นไม้ โดยจะปล่อยให้ต้นไม้ได้เติบโตสักระยะหนึ่ง จึงจะออกแบบอาคารและทางเดินแทรกเป็นองค์ประกอบใต้สวนป่านี้

ช่วงพัฒนาโครงการและปัญหาการไล่ที่ชุมชน[แก้]

พ.ศ. 2551 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานชื่อสวนแห่งนี้ว่า สวนปทุมวนานุรักษ์ และพระราชทานพระราชานุญาตให้ใช้ชื่อ มูลนิธิปทุมวนานุรักษ์ ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อรองรับการพัฒนาพื้นที่ และบริหารจัดการสวนปทุมวนานุรักษ์ พร้อมทรงรับไว้ในพระราชูปถัมภ์ โดยรองศาสตราจารย์ จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา เป็นผู้จดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิดังกล่าวเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน[12] โดยก่อนหน้านั้นเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินมาทรงปลูกต้นไม้ในสวนปทุมวนานุรักษ์

ต่อมาสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ได้รับคืนพื้นที่จากชุมชนเพิ่มอีกประมาณ 10 ไร่ และได้มอบพื้นที่ให้มูลนิธิปทุมวนานุรักษ์นำไปสร้างเป็นสวนปทุมวนานุรักษ์ส่วนเพิ่มเติม งานออกแบบสวนส่วนนี้เริ่มในปี พ.ศ. 2554 แต่ด้วยปัญหาเรื่องที่ดินและผู้บุกรุก จึงได้เริ่มก่อสร้างในปี พ.ศ. 2557 และก่อสร้างเสร็จในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2558 สวนส่วนนี้มีแนวคิดการออกแบบเพื่อเผยแพร่หลักคำสอน โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในลักษณะพื้นที่นิทรรศการกลางแจ้ง อาคารอเนกประสงค์ สนามและลานเพื่อการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ผสมผสานกับการนำเสนอการอยู่ร่วมกันระหว่างเมืองและธรรมชาติ สร้างสภาพแวดล้อมที่ดีให้กับเมือง รวมทั้งเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจของประชาชนทั่วไป อย่างไรก็ตาม แม้การก่อสร้างส่วนนี้จะเสร็จแล้ว ก็ยังไม่สามารถเปิดให้ประชาชนเข้าชมพื้นที่ได้ เนื่องจากติดปัญหาเรื่องการเข้าถึงสวนโดยสะดวกและปลอดภัย และผู้บุกรุกที่ยังอยู่ในสวนไม่ยินยอมย้ายออก

ต่อมาในปี พ.ศ. 2560 สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ได้มอบที่ดินให้แก่มูลนิธิปทุมวนานุรักษ์เพิ่มเติมอีกประมาณ 8 ไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่อยู่ติดกับถนนราชดำริ ทำให้สวนปทุมวนานุรักษ์สามารถเปิดทางเข้าออกที่สะดวกและปลอดภัยมากขึ้น รวมถึงการสร้างสะพานเดินเชื่อมจากย่านราชประสงค์ที่เปิดมุมมองให้เห็นสวนปทุมวนานุรักษ์ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ส่วนการออกแบบพื้นที่ส่วนนี้ก็ยังมีแนวความคิดต่อเนื่องกับพื้นที่นิทรรศการกลางแจ้ง มีการออกแบบลานสนามหญ้าและทางเดินเพื่อรองรับกิจกรรมและการปลูกต้นไม้สำคัญ พร้อมบึงหน่วงน้ำกลางสวน ซึ่งจะเป็นอีกพื้นที่ซับน้ำให้กับเมือง สวนส่วนขยายนี้ก่อสร้างเสร็จในปี พ.ศ. 2561 แต่ด้วยเหตุผู้บุกรุกในสวนที่ไม่ยินยอมย้ายออก ทำให้ยังคงไม่สามารถเปิดสวนปทุมวนานุรักษ์ได้เช่นเดิม

ช่วงปี พ.ศ. 2563 - 2564 เกิดการระบาดทั่วของโควิด-19 ในประเทศไทยเป็นวงกว้าง สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์จึงชะลอการเจรจากับผู้บุกรุกเพื่อย้ายออกจากพื้นที่ จนกระทั่งโรคระบาดเริ่มเบาบางลง จึงมีการเจรจาร่วมกับกรมบังคับคดีอีกครั้ง และในปี พ.ศ. 2565 ศาลได้มีคำสั่งให้ย้ายบ้านทั้ง 3 หลังออกจากพื้นที่[14] ทำให้ในที่สุดเมื่อต้นปี พ.ศ. 2566 ผู้บุกรุกที่ยังเหลือจึงยินยอมย้ายออกจากพื้นที่สวนปทุมวนานุรักษ์ทั้งหมด มูลนิธิปทุมวนานุรักษ์จึงสามารถเข้าไปปรับปรุงพื้นที่เพื่อเปิดให้บริการได้อย่างเรียบร้อยและปลอดภัย[3]

เริ่มเปิดดำเนินการ[แก้]

หลังจากผู้บุกรุกยินยอมย้ายออกจากสวนปทุมวนานุรักษ์แล้ว มูลนิธิปทุมวนานุรักษ์จึงได้รับความร่วมมือจากกรุงเทพมหานคร รวมถึงเอกชนในพื้นที่ใกล้เคียง และอาสาสมัครจากภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อดำเนินการปรับปรุงสวนปทุมวนานุรักษ์ให้เรียบร้อย โดยมีการทำความสะอาดครั้งใหญ่ (Big cleaning) เมื่อวันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2566[15] จากนั้นจึงเปิดอย่างไม่เป็นทางการให้ประชาชนได้ใช้งานเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม โดยเปิดให้บริการตั้งแต่ 10:00 - 18:00 น.[1] โดยระหว่างนี้ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้ใช้บริการ เพื่อนำไปปรับปรุงและพัฒนาส่วนที่เหลือ[16] จนกระทั่งเปิดสวนอย่างเป็นทางการในวันที่ 30 กรกฎาคม[2] โดยในวันเดียวกัน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินมาทรงปลูกต้นไม้ในสวนนี้อีกครั้งด้วย[17]

ภาพรวม[แก้]

สวนปทุมวนานุรักษ์ มีพื้นที่ประมาณ 40 ไร่ เป็นสวนแห่งแรกของประเทศไทยที่รวบรวมพันธุ์ไม้ที่พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงปลูก หรือทรงปลูกพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง โดยคัดเลือกพันธุ์ไม้ที่เป็นไม้ระดับสูง (Tall Plants) ให้ร่มเงาและมีระบบรากที่ไม่ชอนไชทำลายอาคาร รวมทั้งรวบรวมดินจากพื้นที่ที่เคยเสด็จพระราชดำเนินไปทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจในจังหวัดต่าง ๆ ทุกจังหวัดทั่วประเทศ โดยจัดทำประติมากรรมเป็นแนวกำแพงดินในสวนปทุมวนานุรักษ์ โดยกำแพงดินแสดงถึงความจงรักภักดีของประชาชนชาวไทย โดยรวบรวมดินเผามาตำบลละ 9 ก้อน ซึ่งหากนำอิฐทุกก้อนมาจัดเรียงสีและก่อให้เป็นภาพจะได้กำแพงดิน[12]

สวนปทุมวานุรักษ์ แบ่งพื้นที่ออกเป็น 3 ส่วน คือ

  1. ส่วนที่ 1 เนื้อที่ 7 ไร่ ออกแบบผังเป็นรูปเลข ๙ ไทย ดำเนินการปลูกต้นไม้ และปล่อยให้ต้นไม้โตตามธรรมชาติให้เป็นลักษณะสวนป่า[18]
  2. ส่วนที่ 2 เนื้อที่ 6 ไร่ ซึ่งได้รับมอบคืนจากบริษัท ผลิตภัณฑ์และวัตถุก่อสร้าง จำกัด (CPAC) เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2559 จัดทำสวนตามแนวคิด "สวนเพื่อพ่อ" แบ่งพื้นที่เป็นส่วนต่าง ๆ ดังนี้
    • พื้นที่บำบัดน้ำ ซึ่งเป็นการจำลองพื้นที่บำบัดน้ำทางธรรมชาติ
    • ลานอัฒจันทร์ เป็นพื้นที่สำหรับชมการแสดงริมน้ำ
    • ป่าของเมือง เป็นทางเดินสู่อาคารหลักแสดงเรื่องความสัมพันธ์ของต้นไม้และเมือง
    • พื้นที่พักผ่อน
  3. ส่วนที่ 3 เนื้อที่ 12 ไร่ เป็นพื้นที่ชุมชน และอาคารแฟลต 3 หลัง

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 "สวนปทุมวนานุรักษ์ เตรียมเปิดให้เข้าชม 20 พ.ค. นี้". สนุก.คอม. 2023-05-17. สืบค้นเมื่อ 2023-05-17.
  2. 2.0 2.1 "ผุด'ปอดใหญ่' 27 ไร่ กลางกรุง สวนปทุมวนานุรักษ์เปิดทางการวันแรก". เดลินิวส์. 2023-07-30. สืบค้นเมื่อ 2023-07-30.
  3. 3.0 3.1 "Houses razed for new park" [บ้านถูกรื้อเพื่อสร้างสวนสาธารณะใหม่]. บางกอกโพสต์ (ภาษาอังกฤษ). 2023-01-20. สืบค้นเมื่อ 2023-01-20.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  4. "พระตำหนักใหม่ วังสระปทุม ลักษณะบ้านเพื่ออาศัยมิใช่วังเจ้านาย ที่ประทับราชสกุลมหิดล". ศิลปวัฒนธรรม. 2022-06-03. สืบค้นเมื่อ 2023-06-03.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  5. "ประกาศพระราชทานนามวัง" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 36 (0): 1597. 1919-09-07. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2023-06-03. สืบค้นเมื่อ 2020-01-08.
  6. https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=2298898076840544&id=1174884455908584
  7. เด็กดี.คอม (2010-09-30). "อาถรรพ์วังเพชรบูรณ์ - - สถานที่ตั้งห้างเซนทรัลเวิด์ล". www.dek-d.com. สืบค้นเมื่อ 2019-07-21.
  8. "วิทยาลัยพณิชยการอินทราชัย". Bloggang. 2011-04-24. สืบค้นเมื่อ 2023-04-06.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  9. "จากสระอโนดาตแหล่งสำราญของสนมนางในสมัย ร.๔! มาเป็นแดนอาถรรพ์ราชประสงค์!!". ผู้จัดการออนไลน์. 2020-12-03. สืบค้นเมื่อ 2023-06-04.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  10. "ผู้คนเดินผ่านไปมาถึงกับแปลกใจ บ้านสังกะสีสภาพสุดโทรม แต่วิวรอบข้างมูลค่าหลักล้าน". ทีนิวส์. 2020-08-28. สืบค้นเมื่อ 2023-06-04.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  11. 11.0 11.1 คัยนันทน์, อนันตญา (2017). "บทที่ 3 พื้นที่ศึกษา: ชุมชนแออัดหลังวัดปทุมวนารามราชวรวิหาร, กรุงเทพมหานคร". การบำบัดน้ำเสียด้วยวิธีธรรมชาติในชุมชน: กรณีศึกษาชุมชนแออัดหลังวัดปทุมวนารามราชวรวิหาร กรุงเทพมหานคร (PDF) (วิทยานิพนธ์ ปริญญามหาบัณฑิต). มหาวิทยาลัยศิลปากร. pp. 39–40. สืบค้นเมื่อ 2023-06-04.
  12. 12.0 12.1 12.2 12.3 "'สวนปทุมวนานุรักษ์' พื้นที่สีเขียวท่ามกลางย่านธุรกิจ โดย สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ เพื่อคนกรุงเทพฯ". Lue History. 2023-01-22. สืบค้นเมื่อ 2023-04-06.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  13. "ประวัติโรงเรียนวัดปทุมวนาราม ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี". โรงเรียนวัดปทุมวนาราม ในพระราชูปถัมภ์ฯ. 2023-06-04. สืบค้นเมื่อ 2023-06-04.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  14. "ปัญหาย้ายบ้าน 3 หลัง ภายใน "สวนปทุมวนานุรักษ์"". สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส. 2022-04-19. สืบค้นเมื่อ 2023-06-04.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  15. "กทม. Big Cleaning สวนปทุมวนานุรักษ์ คืนสวนสาธารณะกลางเมืองให้ประชาชนได้ใช้บริการ". เดอะสแตนดาร์ด. 2023-04-12. สืบค้นเมื่อ 2023-06-03.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  16. "เปิดพิกัด 'สวนปทุมวนานุรักษ์' สวนป่ากลางเมือง พื้นที่สาธารณะ มุมพักผ่อนหย่อนใจแห่งใหม่ของกรุงเทพฯ". เดอะสแตนดาร์ด. 2023-05-27. สืบค้นเมื่อ 2023-06-04.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  17. "กรมสมเด็จพระเทพฯ ทรงปลูกต้นไม้ สวนปทุมวนานุรักษ์". กรุงเทพธุรกิจ. 2023-07-30. สืบค้นเมื่อ 2023-07-30.
  18. "เปิดซักที !! 20 พ.ค. นี้ "สวนปทุมวนานุรักษ์" ข้างเซ็นทรัลเวิลด์ - แพลทินัม". Realist Blog. 2023-05-17. สืบค้นเมื่อ 2023-06-04.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

13°44′55″N 100°32′24″E / 13.748743662925792°N 100.54009643192248°E / 13.748743662925792; 100.54009643192248