มหาจุฬาลงกรณ์
เพลงประจำของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย | |
เนื้อร้อง | สมโรจน์ สวัสดิกุล ณ อยุธยา สุภร ผลชีวิน |
---|---|
ทำนอง | พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร |
รับไปใช้ | 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2492 |
มหาจุฬาลงกรณ์ เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 11 ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร[1] พระองค์ทรงพระราชนิพนธ์ทำนองเพลง โดยมีท่านผู้หญิงสมโรจน์ สวัสดิกุล ณ อยุธยา[1] และ สุภร ผลชีวิน[1] เป็นผู้ประพันธ์เนื้อเพลง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเพลงมหาจุฬาลงกรณ์ให้เป็นเพลงประจำสถาบันของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถือเป็นเพลงจำประจำมหาวิทยาลัยที่เป็นเพลงพระราชนิพนธ์เพลงแรกของประเทศไทย นิสิตและบุคคลากรที่เกี่ยวข้องกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะยืนตรงเมื่อเพลงมหาจุฬาลงกรณ์ดังขึ้น
ประวัติ
[แก้]พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทรงพระราชนิพนธ์ทำนองเพลงเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2492 โดยเป็นเพลงพระราชนิพนธ์เพลงแรกที่ใช้ทำนองเพลงแบบ Pentatonic Scale หรือ Five Tone Scale ซึ่งหมายถึง ในบทเพลงจะประกอบด้วยตัวโน้ตทั้งหมดเพียง 5 เสียงเท่านั้น[2]
เมื่อปี พ.ศ. 2492 เนื่องจากในขณะนั้นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยยังไม่มีเพลงประจำสถาบัน ศาสตราจารย์ ม.ร.ว.สุมนชาติ สวัสดิกุล ซึ่งขณะนั้นเป็นอาจารย์อยู่ที่คณะอักษรศาสตร์ได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานเพลงประจำมหาวิทยาลัย ซึ่งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานทำนองเพลงนี้ โดยมีท่านผู้หญิงสมโรจน์ สวัสดิกุล ณ อยุธยา ภริยาของ ม.ร.ว. สุมนชาติ และ สุภร ผลชีวิน น้องชายของท่านผู้หญิงสมโรจน์เป็นผู้ประพันธ์คำร้องขึ้นถวาย[3] ดังนั้น เพลงมหาจุฬาลงกรณ์จึงใช้เป็นเพลงประจำสถาบันของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยตั้งแต่นั้นมา
หลังจากนั้น ในปี พ.ศ. 2497 พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นายเทวาประสิทธิ์ พาทยโกศล นำทำนองเพลง "มหาจุฬาลงกรณ์" ซึ่งเป็นเพลงที่มีทำนองเพลงในแนวสากลมาปรับปรุงให้มีทำนองเพลงในแนวไทยเดิมเพื่อใช้สำหรับเป็นเพลงโหมโรงก่อนการบรรเลงดนตรีไทย นายเทวาประสิทธิ์รับพระราชทานลงมาทำและบรรเลงถวายด้วยวงปี่พาทย์ถึงสองครั้งด้วยกัน หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรแก้ไขจนเป็นที่พอพระราชหฤทัยแล้วจึงพระราชทานเพลงนี้แก่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งนับเป็นเพลงไทยเพลงแรกที่ประดิษฐ์ขึ้นมาจากเพลงไทยสากล[4] ต่อมา เมื่อนายเทวาประสิทธิ์ไปสอนดนตรีไทยให้แก่ชมรมดนตรีของสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงได้นำ "เพลงโหมโรงมหาจุฬาลงกรณ์" มาสอนนิสิตชมรมดนตรีไทย และใช้เป็นเพลงโหมโรงในการบรรเลงดนตรีไทยของชมรมฯ ตลอดมา
เพลงพระราชนิพนธ์มหาจุฬาลงกรณ์ จัดเป็นเพลงพระราชนิพนธ์ที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรพระราชทานให้เป็นเพลงประจำมหาวิทยาลัย 1 ใน 3 แห่ง ซึ่งอีก 2 เพลง ได้แก่ เพลง "ยูงทอง" ซึ่งพระราชทานให้เป็นเพลงประจำมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเพลง "เกษตรศาสตร์" ซึ่งพระราชทานให้เป็นเพลงประจำมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยพระองค์มีพระราชดำรัสถึงการแต่งเพลงประจำสถาบันไว้ว่า[5]
เรื่องเพลงที่แต่งขึ้นใหม่นี้ต้องขอชี้แจงไว้นิด ฟังแล้วอาจจะตกใจ เพราะว่าเพลงที่ประจำมหาวิทยาลัยในเมืองไทยเดี๋ยวนี้ ก็มีของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แล้วก็ของธรรมศาสตร์ที่ได้ให้ทั้งสองเพลงนี้ กับเพลงมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์นี้ ต้องบอกว่ายาวเท่ากัน ไม่ต้องอิจฉาว่าของเขายาวกว่าหรือสั้นกว่ายาวเท่ากัน แล้วก็การสร้างเพลงนี้ก็สร้างในแบบเดียวกัน ไม่ต้องต้องอิจฉาอะไร แล้วก็บอกว่าชอบ ถ้าไม่ชอบก็ไม่รู้จะทำอย่างไร อาจจะแก้ไข อย่างไรก็ตามแต่ก็มีอย่างหนึ่งคือ เพลงของจุฬาฯ เขาก็บอกว่าเพลงของเขาเพราะที่สุด ถ้าไปถามชาวธรรมศาสตร์ ว่าเพลงไหนเพราะที่สุด เขาก็บอกว่า เพลงธรรมศาสตร์ แล้วก็ถ้าถามพวกเกษตรน่ากลัวบอกเพลงเกษตรเพราะกว่า ก็เลยไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรนะ แต่ว่าเพลงของจุฬา ฯ เขาโอ้อวดว่าสง่าผ่าเผยมาก แล้วก็เพราะมาก ถ้าพูดถึงเพลงธรรมศาสตร์เขาก็บอกว่า องอาจดี เดินก็ได้ จุฬาฯ เขาก็ตอบว่า ของเขาก็เดินได้เหมือนกัน เป็นเพลงสำหรับนำแถวได้ เพลงของเกษตรนี้ก็ที่จริงก็ควรจะตัดสินเอาเองว่า เป็นยังไง แต่ความคิดส่วนตัวของผู้แต่ง รู้สึกว่าเป็นเพลงที่อ่อนหวาน อ่อนหวานกว่าเพลงโน้น แต่อ่อนหวาน นี่ไม่ได้หมายความว่าไม่เข้มแข็ง แต่อ่อนหวานนี่อาจจะมีความหมายได้ว่า ผลิตผลของทางการเกษตรรวมทั้งผลไม้หรือสิ่งที่บริโภค ถ้ารสหวาน รู้สึกว่าดี เพราะว่าเขานิยมกันอย่างนั้น ข้าวโพดหวานเขาก็ชอบ ก็เลยคิดว่า เพลงหวานไม่เป็นไร แต่ถ้านำไปเดินสำหรับนำแถวก็อาจจะได้เปลี่ยนแปลงไปหน่อย ก็อาจจะเป็นเพลงสำหรับแตรวงเดินก็อาจจะพอได้ แต่ขออย่างเดียวอย่าเดินขบวน
นอกจากนี้ ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร เมื่อครั้งได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้เป็นผู้ประพันธ์คำร้องเพลงเกษตรศาสตร์นั้น ได้กล่าวถึงเพลงมหาจุฬาลงกรณ์ว่า
เนื้อเพลงมหาจุฬาลงกรณ์ดีเยี่ยม จนทำให้ผู้เขียนแหยงว่าไม่มีทางประพันธ์ให้ไพเราะใกล้เคียงกับเพลงนั้นได้
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 1.2 ชมรมนักร้องประสานเสียง สโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. "เพลงมหาจุฬาลงกรณ์." CU CHORUS. Accessed September 20, 2017. http://cuchorus.clubs.chula.ac.th/wp/?page_id=486.
- ↑ มหาจุฬาลงกรณ์ จาก เว็บไซต์เครือข่ายกาญจนภิเษก
- ↑ ความเป็นมาของเพลงมหาจุฬาลงกรณ์ จาก เว็บไซต์หอประวัติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- ↑ "พระปรีชาสามารถในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในด้านดนตรี". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-09-19. สืบค้นเมื่อ 2008-09-30.
- ↑ หออัครศิลปิน: พระอัจฉริยภาพด้านพระราชพิพนธ์บทเพลง เก็บถาวร 2006-07-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จาก สำนักงานคณะกรรมการแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม
- ↑ "ประวัติเพลงพระราชนิพนธ์เกษตรศาสตร์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-01-08. สืบค้นเมื่อ 2008-09-30.