คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
Faculty of Education, Chulalongkorn University | |
![]() | |
สถาปนา | 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2500 |
---|---|
คณบดี | รศ.ดร.ศิริเดช สุชีวะ |
ที่อยู่ | |
วารสาร | วารสารครุศาสตร์ (J. Education) |
เพลง | สีเพลิง |
สี | ███ สีเพลิง (สีแสด)[1] |
มาสคอต | คบเพลิง |
สถานปฏิบัติ | คณะครุศาสตร์ |
เว็บไซต์ | www.edu.chula.ac.th |
คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อังกฤษ: Faculty of Education, Chulalongkorn University) ถือกำเนิดมาจากแนวคิดของ "โรงเรียนฝึกหัดครู" โดยการพัฒนาหลักสูตรผลิตครูของโรงเรียนข้าราชการพลเรือน และเป็นแผนกวิชาหนึ่งในคณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ พร้อมกับการสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้มีพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งเป็นคณะครุศาสตร์ เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2500 นับเป็นคณะที่ 7 ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ส่วนคำขวัญประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คือ “ความเรืองปัญญาและคุณธรรม คือมาตรฐานคุณภาพบัณฑิตครุศาสตร์"
เพลงประจำคณะ คือ เพลง สีเพลิง [2]
"สีเพลิงเถกิงงามเฉิดธวัช ปลิวเด่นเห็นชัดพระพฤหัสสีสดใส เป็นเครื่องหมายสวยสง่าน่าภูมิใจ เกียรติก้องเกริกไกรคณะครุศาสตร์ปราชญ์จุฬา
พวกเราครุศาสตร์พร้อมหน้า ร่วมสามัคคีพลีชีวัน ขอจงรักษาความดีชั่วนิรันดร์ เพื่อเป็นมิ่งขวัญจุฬา
เรียนเด่นอีกเล่นดีไม่มีสอง ดุจดั่งเทียนทองส่องกมลชนทั่วหล้า ชื่อจะยงคงอยู่คู่ดินฟ้า เพราะการศึกษานั้นเป็นหลักประจักษ์จริง"
ประวัติ[แก้]
- พ.ศ. 2435 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงธรรมการ ณ ขณะนั้น ทรงได้รับพระบรมราชานุญาตจัดตั้งโรงเรียนฝึกอาจารย์ ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น "โรงเรียนฝึกหัดครู"
- 1 มกราคม พ.ศ. 2453 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาโรงเรียนมหาดเล็กเป็นสถาบันอุดมศึกษาและพระราชทานนามว่า "โรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว" ซึ่งโรงเรียนฝึกหัดครูเป็นส่วนหนึ่งของโรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
- 26 มีนาคม พ.ศ. 2459 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยแผนกครุศึกษารวมอยู่ในคณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ใช้ชื่อว่า "แผนกฝึกหัดครู" และเมื่อคณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์แยกจากกัน แผนกฝึกหัดครูเปลี่ยนชื่อเป็น แผนกครุศาสตร์ สังกัดคณะอักษรศาสตร์และครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2500 คณะครุศาสตร์ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นคณะที่ 7 ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตาม"พระราชกฤษฎีกาแยกแผนกวิชาครุศาสตร์จากคณะอักษรศาสตร์" ออกประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 74 ตอนที่ 63 ลงวันที่ 23 กรกฎาคม 2500 หน้า 1164 - 1166 ประกอบด้วย 4 มาตรา มาตราที่ 3 ระบุว่า "ให้จัดตั้งคณะครุศาสตร์ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยขึ้นใหม่อีกคณะหนึ่ง" เหตุผลในการประกาศพระราชกฤษฎีกา ระบุท้ายประกาศว่า เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประสงค์จะเป็นครู อาจารย์ และเจ้าหน้าที่บริหารการศึกษา ได้เข้าศึกษาทางวิชาการและการวิจัยในวิชาครุศาสตร์ และวิชาอื่นที่เกี่ยวข้องมากขึ้น และเพื่อส่งเสริมมาตรฐานการสอน และการประกอบอาชีพเกี่ยวกับวิชาดังกล่าวให้กว้างขวางขึ้นจนถึงขั้นปริญญาโท และปริญญาเอกในโอกาสต่อไป โดยมีศาสตราจารย์พูนทรัพย์ นพวงศ์ ณ อยุธยา หัวหน้าแผนกวิชาครุศาสตร์ในขณะนั้น (ศาสตราจารย์กิตติคุณ ท่านผู้หญิงพูนทรัพย์ นพวงศ์ ณ อยุธยา) เป็นคณบดีคนแรก ประกอบกับคณะครุศาสตร์มีโครงการจัดตั้งโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อใช้ทดลองฝึกปฏิบัติงานครูและวิจัยงานวิชาการของคณะครุศาสตร์ จึงได้รับการจัดสรรเนื้อที่จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยบริเวณด้านทิศตะวันตกของถนนพญาไท จำนวน 4 หมอน หรือประมาณ 40 ไร่ (1 หมอน เท่ากับสิบไร่) นับเป็น "คณะแรกที่ได้บุกเบิกออกนอกรั้วมหาวิทยาลัย" และเมื่อเป็น “คณะครุศาสตร์” ได้แบ่งการสอนออกเป็น 4 แผนกวิชา คือ 1. แผนกวิชาสารัตถศึกษา 2. แผนกวิชาประถมศึกษา 3. แผนกวิชามัธยมศึกษา และ 4. แผนกวิชาวิจัยการศึกษา [3]
- 10 มิถุนายน พ.ศ. 2501 ได้จัดตั้งโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยขึ้น เพื่อเป็นแหล่งปฏิบัติการวิจัยในการทดลองสอนของนิสิตคณะครุศาสตร์ในการฝึกประสบการณ์วิชาชีพ พ.ศ. 2502 มีพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งแผนกวิชาพลศึกษา พ.ศ. 2506 มีพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งแผนกวิชาจิตวิทยา แผนกวิชานิเทศและบริหารการศึกษาและแผนกวิชาโสตทัศนศึกษา พ.ศ. 2510 มีพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งแผนกวิชาพยาบาลศึกษา พ.ศ. 2512 แยกการบริหารงานโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยออกเป็นฝ่ายประถมและฝ่ายมัธยม และมีพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งแผนกวิชาศิลปศึกษา พ.ศ. 2513 เปิดโครงการทดลองชั้นอนุบาล พ.ศ. 2520 มีพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งแผนกวิชาอุดมศึกษา
- พ.ศ. 2522 มีพระราชบัญญัติให้เปลี่ยนชื่อหน่วยงานจาก “แผนกวิชา” เป็น “ภาควิชา” พ.ศ. 2529 มีพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งภาควิชาการศึกษานอกโรงเรียน พ.ศ. 2531 ภาควิชาพยาบาลศึกษาได้รับการสถาปนาเป็นคณะพยาบาลศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2536 มีพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งภาควิชาดนตรีศึกษา พ.ศ. 2539 ภาควิชาจิตวิทยาได้รับการสถาปนาเป็นคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2541 ภาควิชาพลศึกษาได้รับการสถาปนาเป็นสำนักวิชาวิทยาศาสตร์การกีฬา ซึ่งต่อมาเป็น คณะวิทยาศาสตร์การกีฬา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- พ.ศ. 2547 คณะครุศาสตร์ได้แบ่งภาควิชาออกเป็น 4 ภาควิชา ประกอบด้วย 1. ภาควิชาหลักสูตร การสอนและเทคโนโลยีการศึกษา 2.ภาควิชาศิลปะ ดนตรีและนาฏศิลป์ศึกษา 3.ภาควิชานโยบาย การจัดการและความเป็นผู้นำทางการศึกษา และ 4.ภาควิชาวิจัยและจิตวิทยาการศึกษา
- พ.ศ. 2554 มีการแบ่งภาควิชาใหม่ แบ่งออกเป็น 6 ภาควิชา ประกอบไปด้วย 1. ภาควิชาหลักสูตรและการสอน 2. ภาควิชาศิลปะ ดนตรีและนาฏศิลป์ศึกษา 3. ภาควิชานโยบาย การจัดการและความเป็นผู้นำทางการศึกษา 4. ภาควิชาวิจัยและจิตวิทยาการศึกษา 5. ภาควิชาการศึกษาตลอดชีวิต และ 6. ภาควิชาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา และแบ่งการบริหารจัดการออกเป็น 2 ฝ่าย คือ 1. ฝ่ายวิชาการ และ 2. ฝ่ายบริหาร
- 26 มีนาคม พ.ศ. 2555 มีพิธีเปิดแพรคลุมป้าย “อาคารพระมิ่งขวัญการศึกษาไทย”
หน่วยงาน[4][แก้]
|
|
หน่วยงานและหลักสูตร[แก้]
หน่วยงาน | ระดับปริญญาตรี | ระดับปริญญาโท | ระดับปริญญาเอก |
---|---|---|---|
ภาควิชาหลักสูตรและการสอน |
หลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต
|
หลักสูตรครุศาสตรมหาบัณฑิต
|
หลักสูตรครุศาสตรดุษฎีบัณฑิต
|
ภาควิชาศิลปะ ดนตรีและนาฏศิลป์ศึกษา |
หลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต
|
หลักสูตรครุศาสตรมหาบัณฑิต
|
หลักสูตรครุศาสตรดุษฎีบัณฑิต
|
ภาควิชานโยบาย การจัดการ และความเป็นผู้นำทางการศึกษา |
หลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต
|
หลักสูตรครุศาสตรมหาบัณฑิต
|
หลักสูตรครุศาสตรดุษฎีบัณฑิต
|
ภาควิชาวิจัยและจิตวิทยาการศึกษา |
หลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต
|
หลักสูตรครุศาสตรมหาบัณฑิต
|
หลักสูตรครุศาสตรดุษฎีบัณฑิต
|
ภาควิชาการศึกษาตลอดชีวิต |
หลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต
|
หลักสูตรครุศาสตรมหาบัณฑิต
|
หลักสูตรครุศาสตรดุษฎีบัณฑิต
|
ภาควิชาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา |
หลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต
|
หลักสูตรครุศาสตรมหาบัณฑิต
|
หลักสูตรครุศาสตรดุษฎีบัณฑิต
|
ทำเนียบคณบดี[แก้]
ทำเนียบคณบดีคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย | ||
---|---|---|
รายนามคณบดี | วาระการดำรงตำแหน่ง | |
1. ศาสตราจารย์ ท่านผู้หญิง พูนทรัพย์ นพวงศ์ ณ อยุธยา | พ.ศ. 2500 - พ.ศ. 2514 | |
2. ศาสตราจารย์ ดร.ประชุมสุข อาชวอำรุง | พ.ศ. 2514 - พ.ศ. 2518 | |
3. ศาสตราจารย์ ดร.ภิญโญ สาธร | พ.ศ. 2518 - พ.ศ. 2519 | |
4. ศาสตราจารย์ อำไพ สุจริตกุล | พ.ศ. 2519 - พ.ศ. 2523 | |
5. รองศาสตราจารย์ ดร.ประสาร มาลากุล ณ อยุธยา | พ.ศ. 2523 - พ.ศ. 2527 | |
6. รองศาสตราจารย์ ดร.อนันต์ อัตชู | พ.ศ. 2527 - พ.ศ. 2531 | |
7. ศาสตราจารย์ ดร.สมหวัง พิธิยานุวัฒน์ | พ.ศ. 2531 - พ.ศ. 2535 | |
8. ศาสตราจารย์ ดร.ไพฑูรย์ สินลารัตน์ | พ.ศ. 2535 - พ.ศ. 2539 , พ.ศ. 2543 - พ.ศ. 2547 | |
9. ศาสตราจารย์ ดร.พฤทธิ์ ศิริบรรณพิทักษ์ | พ.ศ. 2539 - พ.ศ. 2543 , พ.ศ. 2547 - พ.ศ. 2551 | |
10. ศาสตราจารย์ ดร.ศิริชัย กาญจนวาสี | พ.ศ. 2551 - พ.ศ. 2555 | |
11. ศาสตราจารย์ ดร.ชนิตา รักษ์พลเมือง | พ.ศ. 2555 - พ.ศ. 2557 | |
12. รองศาสตราจารย์ ดร.บัญชา ชลาภิรมย์ | พ.ศ. 2557 - 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2559 | |
13. รองศาสตราจารย์ ดร.ศิริเดช สุชีวะ | 30 กันยายน พ.ศ. 2559 - ปัจจุบัน |
บุคลากรที่มีชื่อเสียง[แก้]
ดูเพิ่ม รายนามบุคคลจากคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
อาคารของคณะครุศาสตร์[แก้]
อาคาร ครุศาสตร์ 1 ชื่ออาคาร พูนทรัพย์ นพวงศ์ ณ อยุธยา ที่ตั้งของห้องประชุม อำไพ สุจริตกุล และห้องอเนกประสงค์ขนาดใหญ่
อาคาร ครุศาสตร์ 2 ชื่ออาคาร พระมิ่งขวัญการศึกษาไทย ที่ตั้งของภาควิชาหลักสูตรและการสอน ภาควิชาการศึกษาตลอดชีวิต ภาควิชาวิจัยและจิตวิทยาการศึกษา สาขาวิชาดนตรีศึกษา ภาควิชาศิลปะ ดนตรีและนาฏศิลป์ศึกษา ภาควิชานโยบาย การจัดการและความเป็นผู้นำทางการศึกษา ภาควิชาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา และศูนย์บรรณสารสนเทศทางการศึกษา
อาคาร ครุศาสตร์ 3 ชื่ออาคาร ประชุมสุข อาชวอำรุง ที่ตั้งของห้องเรียนต่าง ๆ ศูนย์หนังสือจุฬาฯ สหกรณ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร้านกาแฟทรูคอฟฟี่
อาคาร ครุศาสตร์ 4 ที่ตั้งของห้องเรียน ห้องละหมาด ศูนย์วารสารครุศาสตร์
อาคาร ครุศาสตร์ 6 คือ อาคารของสมาคมครุศาสตร์สัมพันธ์ ซึ่งเทียบได้กับสมาคมนิสิตเก่าประจำคณะ ที่ตั้งของคณะกรรมการนิสิตระดับปริญญาบัณฑิต คณะครุศาสตร์ (กนค.) และคณะกรรมการนิสิตระดับบัณฑิตศึกษา คณะครุศาสตร์ (กนบค.)[5]
อาคาร ครุศาสตร์ 8 คือ อาคารของสาขาวิชาศิลปศึกษา ภาควิชาศิลปะ ดนตรี และนาฏศิลป์ศึกษา
กิจกรรม[แก้]
1. ดนตรีเที่ยงวัน เป็นอีกกิจกรรมหนึ่งที่นิสิตชั้นปีที่ 2 ในรายวิชา "ดนตรีศึกษาขั้นนำ" วิชาบังคับในหลักสูตร เป็นผู้รับผิดชอบในการจัดการแสดงและร่วมแสดงด้วย เป็นกิจกรรมฝึกหัดในการจัดการแสดงดนตรี เพื่อพัฒนาประสบการณ์การจัดแสดงดนตรี และนำไปใช้ในการจัดแสดง "ครุศาสตร์คอนเสิร์ต" ต่อไป ความสำคัญของดนตรีเที่ยงวัน คือ นิสิตที่เรียนวิชาดังกล่าว จะจัดการแสดงตลอดภาคการศึกษาต้นเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการวัดผล และนิสิตต้องรับผิดชอบในการจัดดนตรีเที่ยงวันต่อไปอีกหนึ่งภาคการศึกษา โดยเป็นการจัดการแสดงที่มิได้มีคะแนน แต่เป็นการฝึกการจัดการแสดงในลักษณะกิจกรรมเสริมประสบการณ์ ดนตรีเที่ยงวันมีการแสดงตลอดทั้งปี สถานที่แสดงส่วนใหญ่อยู่ในบริเวณคณะครุศาสตร์ บางครั้งมีการจัดแสดงที่อื่นบ้างตาม การวางแผนเป็นหน้าที่ของนิสิตเอง ดังนั้น ดนตรีเที่ยงวันจึงเป็นกิจกรรมหนึ่งที่ช่วยสร้างเสริมพัฒนาศักยภาพของนิสิตในเชิงการจัดการและการแสดงควบคู่ไปกับความเสียสละและจิตอาสา [6]
2. ครุศาสตร์คอนเสิร์ต นับตั้งแต่เริ่มมีการเรียนการสอนดนตรีขึ้นในคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อปี พ.ศ. 2500 เป็นต้นมา นโยบายการสร้างสรรค์ผลิตบัณฑิตผู้มีความรู้คู่คุณธรรมเป็นครูดนตรีที่ดียังคงเป็นหลักการสำคัญ นอกจากนี้ กิจกรรมดนตรีมีการพัฒนาเป็นรูปแบบมากขึ้น จนเป็นที่ยอมรับของประชาชนทั่วไป กิจกรรมหนึ่งที่สำคัญและจัดเป็นประจำทุกปีคือ ครุศาสตร์คอนเสิร์ต ในบางปีได้จัดการแสดงเนื่องในโอกาสพิเศษด้วย[7]
3. กีฬาของคณะที่ตั้งอยู่ที่ฝั่งสามย่าน หรือ สามย่านเกมส์ ประกอบไปด้วย คณะครุศาสตร์ คณะนิเทศศาสตร์ และคณะนิติศาสตร์ นอกจากมีการแข่งกีฬาแล้ว ยังมีการแสดงดนตรีของทั้งสามคณะด้วย
4. กีฬาคณะครุศาสตร์-ศึกษาศาสตร์ของ 5 มหาวิทยาลัย หรือไม้เรียวเกมส์ กีฬาการแข่งขันและสานความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันการศึกษาสายครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ ประกอบไปด้วย คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา
5. งานเทศกาลของขวัญ หรือ กิ๊ฟท์เฟสต์ ของสาขาวิชาศิลปศึกษา ภาควิชาศิลปะ ดนตรี และนาฏศิลป์ศึกษา เป็นกิจกรรมของนิสิตสาขาวิชาศิลปศึกษา เพื่อเปิดโอกาสให้นิสิตขายของขวัญทำมือจากนิสิตเอง ได้แสดงผลงานศิลปะของนิสิต การเดินแบบด้วยเครื่องแต่งกายผลงานการออกแบบของนิสิต การประกวดการระบายสีตามร่างกายระดับอุดมศึกษา นอกจากนี้ ศิลปินที่มีชื่อเสียงได้มาร่วมแสดงดนตรีในกิจกรรมนี้ด้วย [8]
อ้างอิง[แก้]
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยปริญญาในสาขาวิชา อักษรย่อสำหรับสาขาวิชา ครุยประจำตำแหน่ง ครุยวิทยฐานะ และเข็มวิทยฐานะของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2541, เล่ม 115, ตอน 21 ก, 22 เมษายน พ.ศ. 2541, หน้า 1.
- ↑ edu.chula.ac.th
- ↑ คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, คู่มือนิสิตปริญญาตรี คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2563, 2563, หน้า 1.
- ↑ ประกาศคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่อง การกำหนดพันธกิจภาควิชาและสาขาวิชาภายในภาควิชา พ.ศ. 2548[ลิงก์เสีย]
- ↑ https://www.facebook.com/USCE.CU/
- ↑ ประวัติ | คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (chula.ac.th) เข้าถึงเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2564
- ↑ ประวัติ | คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (chula.ac.th) เข้าถึงเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2564
- ↑ เทศกาลของขวัญและขนมครั้งที่ 25 "โรงงานกิ๊ฟท์" (chula.ac.th) เข้าถึงเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2564
ดูเพิ่ม[แก้]
โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย