ครุยและเข็มวิทยฐานะของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

นี่คือบทความคุณภาพ คลิกเพื่อดูรายละเอียดเพิ่มเติม
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ครุยวิทยฐานะของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นเสื้อครุยที่ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวให้จัดสร้างขึ้นเพื่อเป็นเกียรติยศสำหรับผู้สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ต่อมา คือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) เมื่อสามารถจัดการเรียนการสอนถึงขั้นปริญญาได้ แต่ในขณะนั้นโรงเรียนข้าราชการพลเรือนจัดการเรียนการสอนในระดับประกาศนีบัตรเท่านั้นจึงไม่มีการจัดสร้างครุยขึ้น แต่ในเบื้องต้นพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเข็มที่ทำด้วยเงินล้วนเป็นรูปพระเกี้ยว เรียกว่า เข็มบัณฑิต (เข็มวิทยฐานะ ในปัจจุบัน) เพื่อใช้เป็นเครื่องหมายเพื่อแสดงว่าเป็นผู้สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนข้าราชการพลเรือนตั้งแต่ พ.ศ. 2457 ปัจจุบัน ผู้สำเร็จการศึกษาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนั้นยังคงได้รับเข็มวิทยฐานะเพื่อใช้เป็นเครื่องหมายของบัณฑิตสืบมา

เมื่อโรงเรียนข้าราชการพลเรือนได้รับการประดิษฐานขึ้นเป็นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและมีการปรับปรุงการจัดการเรียนการสอนถึงขั้นปริญญาแล้ว จึงมีการจัดสร้างครุยขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2473 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว มีลักษณะเป็นครุยผ้าโปร่งขาว มีสำรดติดขอบโดยรอบ รวมทั้งบริเวณแขนและปลายแขน พื้นสำรดนั้นมีสีแตกต่างกันตามชนิดของครุย กล่าวคือ ครุยพระบรมราชูปถัมภก พื้นสำรดสีเหลือง, ครุยประจำตำแหน่งคณาจารย์และผู้บริหารมหาวิทยาลัย พื้นสำรดสีชมพู, ครุยดุษฎีบัณฑิต พื้นสำรดสีแดง ส่วนครุยมหาบัณฑิตและครุยบัณฑิต พื้นสำรดสีดำ มีพระเกี้ยวติดตามแนวดิ่งกลางสำรดบริเวณหน้าอก สำหรับครุยวิทยฐานะนั้นจะใช้แถบสีตามสีประจำคณะบริเวณตอนกลางสำรดเพื่อระบุคณะที่บัณฑิตสังกัด

ผู้มีสิทธิใช้ครุยสามารถสวมครุยทับเครื่องแบบหรือเครื่องแต่งกายที่สุภาพได้ในงานพระราชพิธี งานรัฐพิธี หรืองานพิธีที่กำหนดให้สวมครุยวิทยฐานะและให้ประดับเข็มวิทยฐานะบนอกเสื้อข้างซ้ายของเครื่องแบบหรือเครื่องแต่งกายที่สุภาพได้ในโอกาสอันสมควร โดยผู้ใดที่ใช้ครุยหรือแสดงด้วยประการใด ๆ ว่าตนมีปริญญา ประกาศนียบัตรบัณฑิตชั้นสูง ประกาศนียบัตรบัณฑิต อนุปริญญา ประกาศนียบัตร หรือมีตำแหน่งใดในมหาวิทยาลัยโดยที่ตนไม่มีสิทธิต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 15,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ประวัติ[แก้]

ในปี พ.ศ. 2457 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยยังคงเป็นโรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวอยู่นั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริว่า นักเรียนที่สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนข้าราชการพลเรือนฯ ยังไม่มีเครื่องหมายเพื่อแสดงว่าเป็นผู้สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนแห่งนี้ พระองค์จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเข็มที่ทำด้วยเงินล้วนเป็นรูปพระเกี้ยวอันเป็นสัญลักษณ์ของโรงเรียน เรียกว่า "เข็มโรงเรียนข้าราชการพลเรือน" หรือ "เข็มบัณฑิต" สำหรับประดับที่อกเสื้อ[1] นอกจากนี้ เมื่อโรงเรียนข้าราชการพลเรือนฯ สามารถจัดการเรียนการสอนจนถึงชั้นปริญญาได้แล้ว พระองค์ก็มีพระบรมราชานุญาตให้ผู้สำเร็จการศึกษาใช้เสื้อครุยเพื่อเป็นเกียรติยศได้[2] อย่างไรก็ตาม ในขณะนั้นโรงเรียนข้าราชการพลเรือนฯ จัดการเรียนการสอนได้เพียงระดับประกาศนียบัตรเท่านั้น จึงไม่มีการจัดสร้างเสื้อครุยและใช้เพียงเข็มบัณฑิตเพื่อแสดงว่าเป็นผู้สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนแห่งนี้เท่านั้น

ในเบื้องต้นโรงเรียนข้าราชการพลเรือนฯ ได้กำหนดเข็มบัณฑิตไว้ 3 อย่าง ได้แก่ เข็มรัฏฐประศาสตรบัณฑิต เข็มเนติบัณฑิต (ภายหลังเปลี่ยนเป็นธรรมศาสตรบัณฑิต เนื่องจากคำว่า "เนติบัณฑิต" ไปพ้องกับ "เนติบัณฑิต" ของเนติบัณฑิตยสภา[3]) และเข็มคุรุบัณฑิต โดยเมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินวางศิลาฤกษ์โรงเรียนข้าราชการพลเรือนฯ ในวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2458 กรรมการโรงเรียนข้าราชการพลเรือนฯ ได้ทูลเกล้าฯ ถวายเข็มบัณฑิตทั้ง 3 แด่พระองค์ด้วย[4]

เมื่อ พ.ศ. 2460 โรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้รับการประดิษฐานขึ้นเป็นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่การจัดการเรียนการสอนยังคงอยู่ในระดับประกาศนียบัตรเท่านั้น ต่อมา พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมขุนสงขลานครินทร์ (สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก) ทรงเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยในการติดต่อขอความร่วมมือจากมูลนิธิร็อกเกอะเฟลเลอร์เพื่อปรับปรุงมาตรฐานการศึกษาของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเพื่อให้สามารถจัดการศึกษาจนถึงระดับปริญญาได้[5]

จนกระทั่ง ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสามารถจัดการศึกษาถึงระดับปริญญาได้เป็นผลสำเร็จ โดยนิสิตที่สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญารุ่นแรก ได้แก่ บัณฑิตจากคณะแพทยศาสตร์ (เวชชบัณฑิต) เมื่อปี พ.ศ. 2471[5] ด้วยเหตุนี้ จึงมีความคิดที่จะสร้างเสื้อครุยสำหรับบัณฑิตจุฬาฯ ขึ้นเป็นครั้งแรก แต่เนื่องจากเสื้อครุยเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องแบบเต็มยศซึ่งใช้เฉพาะในพระราชพิธีและมีพระราชกำหนดเสื้อครุย ร.ศ. 130 กำหนดไว้ ดังนั้น ทางมหาวิทยาลัยจึงกราบบังคมทูลขอพระบรมราชานุญาตใช้ครุย พร้อมทั้งได้หารือกับกระทรวงยุติธรรมและกระทรวงธรรมการเพื่อร่างพระราชกำหนดเสื้อครุยบัณฑิตของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยขึ้น [6] ในครั้งนั้นได้มีการพิจารณาถึงรูปแบบของครุยวิทยฐานะโดยมีการเลือกแบบไว้ 5 แบบ แล้วนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อขอพระบรมราชวินิจฉัยจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยควรใช้ครุยวิทยฐานะแบบใด โดยพระองค์ทรงสั่งการให้นำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมเสนาบดีสภาและได้พระราชทานพระบรมราชวินิจฉัยให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยใช้ครุยวิทยฐานะในรูปแบบที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน[7]

ถึงแม้จะมีผู้สำเร็จการศึกษาขั้นปริญญาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมาตั้งแต่ พ.ศ. 2471 แล้วก็ตาม แต่การพิจารณาเรื่องเสื้อครุยสำหรับบัณฑิตนั้นได้ดำเนินการพิจารณาเรื่องรูปแบบเสื้อครุย จนกระทั่ง ออกเป็นพระราชกำหนดเสื้อครุยบัณฑิตของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ในปี พ.ศ. 2473[8] ดังนั้น บัณฑิตที่เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรในครั้งแรกนี้จึงเป็นบัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาเมื่อ พ.ศ. 2471 และ 2472[7]

ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรครั้งแรกของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนั้น มหาอำมาตย์เอกพระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร เสนาบดีกระทรวงธรรมการ ได้ทูลเกล้าฯ ถวายฉลองพระองค์ครุยบัณฑิตพิเศษแด่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นปฐม หลังจากนั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานครุยกิตติมศักดิ์บัณฑิตชั้นโท (มหาบัณฑิต) ทางวิทยาศาสตร์แก่ พระยาภะรตราชา (หม่อมหลวงทศทิศ อิศรเสนา) อธิการบดี และครุยกิตติมศักดิ์บัณฑิตชั้นเอก (ดุษฎีบัณฑิต) แก่ ศาสตราจารย์ นายแพทย์ แอลเลอร์ เอลลิส คณบดีคณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาล (ขณะนั้นยังคงสังกัดอยู่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) และพระราชทานปริญญาแก่เวชชบัณฑิตเป็นลำดับต่อมา[7]

ครุย[แก้]

ฉลองพระองค์ครุยพระบรมราชูปถัมภกในรัชกาลที่ 7

ครุยพระบรมราชูปถัมภก[แก้]

ครุยพระบรมราชูปถัมภก หรือ ครุยบัณฑิตพิเศษ เป็นฉลองพระองค์ครุยสำหรับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวซึ่งเป็นพระบรมราชูปถัมภกของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดสร้างขึ้นตามพระบรมราชโองการในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อครั้งโปรดเกล้าฯ สถาปนาโรงเรียนข้าราชการพลเรือนฯ ที่ให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นพระบรมราชูปถัมภกแห่งโรงเรียนนี้ นอกจากนี้ การทูลเกล้าฯ ถวายฉลองพระองค์ครุยพระบรมราชูปถัมภกนั้น จะถวายเฉพาะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวหลังพระราชพิธีพระบรมราชาภิเษกแล้วเท่านั้น

ครุยพระบรมราชูปถัมภกมีลักษณะเป็นครุยผ้าโปร่งขาว มีสำรดติดขอบรอบแขนและปลายแขน พื้นสำรดใช้สักหลาด "สีเหลือง" เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบรมราชจักรีวงศ์[9] มีขนาดกว้าง 10 เซนติเมตร มีแถบทองกว้าง 1 เซนติเมตร ทาบทับบนริมทั้ง 2 ข้าง ตอนกลางติดแถบทองกว้าง 5 เซนติเมตร และมีตราพระเกี้ยวเงินติดทับบนสำรดตรงหน้าอกทั้ง 2 ข้าง

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ทูลเกล้าฯ ถวายฉลองพระองค์ครุยพระบรมราชูปถัมภกแด่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นปฐม เมื่อคราวเสด็จพระราชดำเนินมาพระราชทานปริญญาบัตรครั้งแรก ในวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2473 และได้ถวายฉลองพระองค์ครุยพระบรมราชูปถัมภกแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชเมื่อ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2533

สำหรับพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น เนื่องจากในรัชสมัยของพระองค์การจัดการเรียนการสอนยังไม่ถึงขั้นปริญญา จึงมีการทูลเกล้าฯ ถวายเข็มบัณฑิตพิเศษของโรงเรียนข้าราชการพลเรือนฯ ในฐานะพระบรมราชูปถัมภกแทนการถวายฉลองพระองค์ครุยพระบรมราชูปถัมภก ส่วนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลนั้น เนื่องจากพระองค์ยังไม่ได้ทรงรับพระราชพิธีบรมราชาภิเษก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงไม่ได้ทูลเกล้าฯ ถวายฉลองพระองค์ครุยพระบรมราชูปถัมภก[4]

ครุยวิทยฐานะ[แก้]

รูปครุยดุษฎีบัณฑิต (บัณฑิตวิทยาลัย) สวมทับเครื่องแบบปกติขาว

ครุยดุษฎีบัณฑิต[แก้]

ครุยดุษฎีบัณฑิต หรือ ครุยบัณฑิตชั้นเอก เป็นครุยผ้าโปร่งขาว มีสำรดติดขอบรอบแขนและปลายแขน พื้นสำรดทำด้วยสักหลาด "สีแดง" ตามสีพื้นของครุยดุษฎีบัณฑิตแห่งมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด[10] และเพื่อเป็นพระบรมราชานุสรณ์แด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งมีพระบรมราชสมภพในวันอังคาร[9] มีขนาดกว้าง 10 เซนติเมตร มีแถบทองกว้าง 1 เซนติเมตร ทาบทับบนริมทั้ง 2 ข้าง เว้นระยะไว้ 7.5 มิลลิเมตร มีแถบทองขนาด 5 มิลลิเมตร ทั้งสองข้าง เว้นระยะอีก 7.5 มิลลิเมตร มีแถบทองขนาด 1 เซนติเมตร ทั้งสองข้าง ตอนกลางสำรดมีแถบสักหลาดขนาด 1 เซนติเมตร สีตามสีประจำคณะ และมีตราพระเกี้ยวทำด้วยโลหะสีเงิน ขนาดสูง 3.5 เซนติเมตร ติดตามทางดิ่งกลางสำรด บนแถบสักหลาดตอนหน้าอกทั้งสองข้าง[11]

สำหรับการแต่งกายของบัณฑิตชายนั้น ให้ใส่ชุดสากลสีกรมท่า สวมทับเสื้อเชิ้ตสีขาวแล้วผูกเนคไทสีกรมท่าที่มีรูปพระเกี้ยวน้อยหลายองค์ สวมถุงเท้าและรองเท้าหุ้มส้นสีดำ สวมครุยวิทยฐานะ ส่วนบัณฑิตหญิงนั้น สวมกระโปรงสีกรมท่าไม่มีลวดลาย ความยาวคลุมเข่า ไม่ผ่าด้านข้างหรือผ่าด้านหน้า สวมเสื้อเชิ้ตสีขาวแขนยาวมีปกไม่มีลวดลาย สวมถุงน่องใยบัวสีเนื้อและรองเท้าหุ้มส้นสีดำ สวมครุยวิทยฐานะ ถ้าบัณฑิตเป็นข้าราชการพลเรือน ทหาร ตำรวจ ให้แต่งแบบปกติขาวสวมครุยวิทยฐานะ ไม่สวมหมวก

ครุยมหาบัณฑิต[แก้]

ครุยมหาบัณฑิต หรือ ครุยบัณฑิตชั้นโท มีลักษณะเช่นเดียวกับครุยดุษฎีบัณฑิต แต่พื้นสำรดทำด้วยสักหลาด "สีดำ"[11] ตามสีของครุยมหาบัณฑิตและบัณฑิตแห่งมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด[10] และเพื่อเป็นพระบรมราชานุสรณ์แด่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งมีพระบรมราชสมภพในวันเสาร์[9] ส่วนการแต่งกายของบัณฑิตชายและหญิงนั้น มีลักษณะเช่นเดียวกับดุษฎีบัณฑิต

ครุยบัณฑิต[แก้]

ครุยบัณฑิต หรือ ครุยบัณฑิตชั้นตรี มีลักษณะเช่นเดียวกับครุยมหาบัณฑิต แต่ตอนกลางสำรดมีเส้นไหมกลม ขนาด 2 มิลลิเมตร สีตามสีประจำคณะ แทนแถบสักหลาด[11]

สำหรับการแต่งกายของบัณฑิตชาย สวมเครื่องแบบงานพระราชพิธีและรัฐพิธีสำหรับนิสิตชาย กล่าวคือ เสื้อคอปิดสีขาวแบบราชการ แนวอกเสื้อกลัดด้วยดุมโลหะสีเงินรูปพระเกี้ยว 5 ดุม แผงคอทำด้วยผ้าสักหลาดหรือกำมะหยี่ สีตามสีประจำคณะ กางเกงขายาวสีขาว ถุงเท้าและรองเท้าหุ้มส้นสีดำ ส่วนบัณฑิตหญิง สวมเครื่องแบบงานพระราชพิธีและรัฐพิธีสำหรับนิสิตหญิง

ครุยประจำตำแหน่ง[แก้]

ไฟล์:ครุยประจำตำแหน่ง จุฬาฯ.JPG
ครุยประจำตำแหน่งต่าง ๆ ของ จุฬาฯ

คณาจารย์ประจำ[แก้]

ครุยคณาจารย์ประจำ เป็นครุยผ้าโปร่งขาว มีสำรดติดขอบ รอบแขนและปลายแขน พื้นสำรดทำด้วยสักหลาด "สีชมพู" มีขนาดกว้าง 10 เซนติเมตร มีแถบทองกว้าง 1 เซนติเมตร ทาบทับบนริมทั้ง 2 ข้าง เว้นระยะไว้ 7.5 มิลลิเมตร มีแถบทองขนาด 1 เซนติเมตร ทั้งสองข้าง เว้นระยะอีก 7.5 มิลลิเมตร มีแถบทองขนาด 1 เซนติเมตร ทั้งสองข้าง ตอนกลางสำรดมีเส้นไหมกลมสีทองขนาด 2 มิลลิเมตร และมีตราพระเกี้ยวทำด้วยโลหะสีเงิน ขนาดสูง 3.5 เซนติเมตร ติดตามทางดิ่งกลางสำรด บนแถบสักหลาดตอนหน้าอกทั้งสองข้าง[11]

คณาจารย์พิเศษ มีสิทธิใช้ครุยแบบเดียวกับคณาจารย์ประจำเฉพาะปีการศึกษาที่ตนได้รับแต่งตั้ง ทั้งนี้คณาจารย์ทั้งประจำและพิเศษหากพ้นตำแหน่งไปแล้วยังคงสามารถใช้ครุยเช่นเดิมในพิธีการซึ่งกำหนดให้สวมครุย[12]

อุปนายกสภามหาวิทยาลัย กรรมการสภามหาวิทยาลัย และผู้บริหาร[แก้]

ครุยประจำตำแหน่งอุปนายกสภามหาวิทยาลัยและกรรมการสภามหาวิทยาลัย มีลักษณะเช่นเดียวกับครุยคณาจารย์ประจำ แต่ตราพระเกี้ยวทำด้วยโลหะสีทอง[11]

ครุยประจำตำแหน่งผู้บริหารอื่น ๆ เช่น รองอธิการบดี ผู้ช่วยอธิการบดี และหัวหน้าส่วนงานของมหาวิทยาลัย (เช่น คณบดี ผู้อำนวยการ) มีลักษณะเช่นเดียวกับครุยอุปนายกสภามหาวิทยาลัยและกรรมการสภามหาวิทยาลัย แต่ตราพระเกี้ยวมีขนาดย่อมกว่า คือสูง 2.2 เซนติเมตร[12]

นายกสภามหาวิทยาลัยและอธิการบดี[แก้]

ครุยประจำตำแหน่งนายกสภามหาวทยาลัยและอธิการบดี มีลักษณะเช่นเดียวกับครุยประจำตำแหน่งอุปนายกสภามหาวิทยาลัยและกรรมการสภามหาวิทยาลัย แต่มีสายสร้อยทำด้วยโลหะสีทอง พร้อมด้วยเครื่องหมายประจำคณะต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยตามแบบที่สภามหาวิทยาลัยกำหนด ประดับระหว่างตราพระเกี้ยวทั้ง 2 ข้าง[11]

ตัวอย่างแถบสำรด[แก้]

เข็มวิทยฐานะ[แก้]

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงประดับเข็มโรงเรียนข้าราชการพลเรือน
เข็มวิทยฐานะ (บัณฑิตวิทยาลัย) ในปัจจุบัน

เดิมนักเรียนจากโรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้นยังไม่มีเครื่องหมายใดที่แสดงว่าเป็นผู้ที่สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนข้าราชการพลเรือนฯ ดังนั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเข็มรูปพระเกี้ยวทำด้วยโลหะเงินสำหรับประดับเสื้อขึ้น เรียกว่า "เข็มโรงเรียนข้าราชการพลเรือน" หรือ "เข็มบัณฑิต" (เข็มวิทยฐานะ ในปัจจุบัน) โดยผู้มีสิทธิที่จะประดับเข็มนี้ได้ ได้แก่[1]

  • ผู้ที่สอบไล่ได้เป็นบัณฑิต ประดับเข็มไว้บนอกเสื้อข้างซ้าย
  • ผู้ที่ได้รับการโปรดเกล้าให้เป็นบัณฑิตพิเศษ ประดับเข็มไว้บนอกเสื้อข้างซ้าย
  • เจ้าพนักงานประจำโรงเรียนให้ประดับเข็มไว้บนอกเสื้อข้างซ้าย โดยสามารถประดับเข็มได้เฉพาะเมื่ออยู่ในตำแหน่งเจ้าพนักงานเท่านั้น เมื่ออกจากตำแหน่งแล้วไม่สามารถประดับเข็มได้
  • ผู้ที่สอบไล่ได้ประกาศนียบัตรและรับราชการไม่น้อยกว่า 3 ปี ให้ประดับเข็มบนอกข้างขวา

ปัจจุบัน เข็มวิทยฐานะยังคงเป็นตราพระเกี้ยวที่ทำด้วยโลหะสีเงิน มีขนาดสูง 5 เซนติเมตร โดยมีอักษรย่อประจำคณะหรือแผนกวิชาจารึกอยู่ที่ใต้พระเกี้ยว สีอักษรย่อตามสีประจำคณะ[11] ด้านหลังเข็มวิทยฐานะจารึกชื่อ-สกุล ระดับชั้นปริญญาและปีที่สำเร็จการศึกษา (บางปีไม่มีการจารึกด้านหลังเข็ม)

สำหรับการประดับเข็มวิทยฐานะนั้น ผู้ที่ได้รับปริญญาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและผู้ที่ได้รับเข็มโรงเรียนข้าราชการพลเรือนมีสิทธิใช้เข็มวิทยฐานะได้ โดยให้ประดับเข็มวิทยฐานะไว้บนอกเสื้อข้างซ้ายของเครื่องแบบหรือเครื่องแต่งกายที่สุภาพ[13]

แถบสีและอักษรย่อประจำคณะ[14][12][แก้]

คณะ แถบสีประจำคณะ อักษรย่อ (เข็มวิทยฐานะ)
หลักสูตรกลาง[หมายเหตุ 1]   สีชมพู จฬ.
คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี   สีฟ้า พศ.
คณะรัฐศาสตร์   สีดำ ร.
คณะครุศาสตร์   สีแสด ค.
คณะจิตวิทยา   สีน้ำเงินแก่อมม่วง จ.
คณะทันตแพทยศาสตร์   สีม่วง ท.
คณะนิติศาสตร์   สีขาว น.
คณะนิเทศศาสตร์   สีน้ำเงิน นศ.
คณะพยาบาลศาสตร์   สีแดงชาด พย.
คณะแพทยศาสตร์   สีเขียวแก่ พ.
คณะเภสัชศาสตร์   สีเขียวมะกอก ภ.
คณะวิทยาศาสตร์   สีเหลือง วท.
คณะวิทยาศาสตร์การกีฬา   สีส้ม วก.
คณะวิศวกรรมศาสตร์   สีเลือดหมู วศ.
คณะศิลปกรรมศาสตร์   สีแดงเลือดนก ศป.
คณะเศรษฐศาสตร์   สีทอง ศ.
คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์   สีน้ำตาล สถ.
คณะสหเวชศาสตร์   สีม่วงคราม สว.
คณะสัตวแพทยศาสตร์   สีฟ้าหม่น สพ.
คณะอักษรศาสตร์   สีเทา อ.
สำนักวิชาทรัพยากรการเกษตร   สีแดงอิฐ ทก.
วิทยาลัยประชากรศาสตร์   สีม่วงสดใส ปก.
วิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี   สีทองมุก ปป.
วิทยาลัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข   สีฟ้าน้ำทะเล วส.
บัณฑิตวิทยาลัย   สีบานเย็น บ.
สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย   สีฟ้า ศศ.
วิทยาลัยพยาบาลสภากาชาดไทย[หมายเหตุ 2]   สีแดงชาด -
วิทยาลัยพยาบาลตำรวจ[หมายเหตุ 3]   สีแดงชาด -
  1. หลักสูตรซึ่งไม่สังกัดคณะ หรือยังไม่มีประกาศของมหาวิทยาลัยกำหนดสีประจำคณะ ใช้สีเดียวกับสีประจำมหาวิทยาลัย
  2. เคยเป็นสถาบันสมทบของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปัจจุบันคือสถาบันการพยาบาลศรีสวรินทิรา สภากาชาดไทย มีสถานะเป็นสถาบันอุดมศึกษาอิสระในกำกับของรัฐ ใช้ครุยวิทยฐานะทำด้วยผ้าพื้นสีแดงชาด
  3. เป็นสถาบันสมทบของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

การนำมาใช้และบทกำหนดโทษ[แก้]

ตามข้อบังคับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยว่าด้วยโอกาสและเงื่อนไขในการใช้ ครุยวิทยฐานะ เข็มวิทยฐานะ และครุยประจำตำแหน่ง พ.ศ. 2553 ระบุให้ผู้มีสิทธิใช้ครุยวิทยฐานะสวมครุยวิทยฐานะทับเครื่องแบบหรือเครื่องแต่งกายที่สุภาพได้ในงานพระราชพิธี งานรัฐพิธี หรืองานพิธีที่กำหนดให้สวมครุยวิทยฐานะ และให้สวมครุยประจำตำแหน่งทับเครื่องแบบหรือเครื่องแต่งกายที่สุภาพได้ในงานพิธีที่มหาวิทยาลัยกำหนด ส่วนเข็มวิทยฐานะนั้น ให้ผู้มีสิทธิใช้เข็มวิทยฐานะประดับเข็มวิทยฐานะบนอกเสื้อข้างซ้ายของเครื่องแบบหรือเครื่องแต่งกายที่สุภาพได้ในโอกาสอันสมควร[13]

นอกจากนี้ ทางมหาวิทยาลัยได้ขอให้บัณฑิตงดเว้นการประดับดอกไม้บนเสื้อครุย รวมทั้ง งดเว้นการประดับดอกไม้บนศีรษะ คาดสายสะพายข้างหรือสะพายเอวโดยเด็ดขาด เพราะเสื้อครุยจุฬาฯ เป็นเสื้อครุยพระราชทานและมีพระเกี้ยวประดับอยู่ การแต่งกายชุดครุยไม่ว่าอยู่ในอิริยาบถใดจึงควรกระทำด้วยความสุภาพ[15]

สำหรับบทลงโทษแก่ผู้ใดที่ใช้ครุยพระบรมราชูปถัมภก ครุยวิทยฐานะ เข็มวิทยฐานะ ครุยประจำตำแหน่ง หรือสิ่งใดที่เลียนแบบสิ่งดังกล่าวโดยไม่มีสิทธิที่จะใช้ หรือแสดงด้วยประการใด ๆ ว่าตนมีปริญญา ประกาศนียบัตรบัณฑิตชั้นสูง ประกาศนียบัตรบัณฑิต อนุปริญญา ประกาศนียบัตร หรือมีตำแหน่งใดในมหาวิทยาลัยโดยที่ตนไม่มีสิทธิ ถ้าได้กระทำเพื่อให้บุคคลอื่นเชื่อว่าตนมีสิทธิที่จะใช้หรือมีวิทยฐานะ หรือมีตำแหน่งเช่นนั้นต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 15,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ[16]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 ราชกิจจานุเบกษา, พระราชกำหนดเข็มโรงเรียนข้าราชการพลเรือน เก็บถาวร 2009-03-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๓๑, ตอน ๐ ก, ๑๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๕๗, หน้า ๑๒๙
  2. ราชกิจจานุเบกษา, ระเบียบการทั่วไปแห่งโรงเรียนข้าราชการพลเรือน ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าอยู่หัว, เล่ม ๓๑, ตอน ๐ ง, ๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๗, หน้า ๒๐๑๑
  3. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศ แก้ระเบียบการโรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, เล่ม ๓๒, ตอน ๐ ก, ๑๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๘, หน้า ๓๒๑
  4. 4.0 4.1 ราชกิจจานุเบกษา, คำกราบบังคมทูล ของสภากรรมการทูลเกล้าฯถวายเข็มบัณฑิตโรงเรียนข้าราชการพลเรือน ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว วันที่ ๓ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๕๘, เล่ม ๓๒, ตอน ง, ๒๓ มกราคม พ.ศ. ๒๔๕๘, หน้า ๒๕๗๕
  5. 5.0 5.1 วิวัฒนาการของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, หอประวัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  6. คู่มือนิสิตใหม่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประจำปีการศึกษา 2555, หน้า 29-31
  7. 7.0 7.1 7.2 พิธีพระราชทานปริญญาบัตรครั้งแรกแห่งกรุงสยาม
  8. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชกำหนดเสื้อครุยบัณฑิตของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พุทธศักราช ๒๔๗๓ เก็บถาวร 2007-09-30 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๔๗, ตอน ๐ ก, ๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๗๓, หน้า ๙๒
  9. 9.0 9.1 9.2 เสื้อครุยพระราชทาน เก็บถาวร 2011-05-10 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, เข้าถึงวันที่ 5 มกราคม 2556
  10. 10.0 10.1 "Regulations relating to Academic Dress made by the Vice-Chancellor, as Authorised by Council". University of Oxford. 2002. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-10-13. สืบค้นเมื่อ 2017-12-16.
  11. 11.0 11.1 11.2 11.3 11.4 11.5 11.6 ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่อง การกำหนดปริญญาในสาขาวิชา อักษรย่อสำหรับสาขาวิชา ครุยวิทยฐานะ เข็มวิทยฐานะ และครุยประจำตำแหน่ง พ.ศ. ๒๕๕๓ เก็บถาวร 2015-05-02 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๒๗, ตอนพิเศษ ๕๒ ง, ๒๖ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๓, หน้า ๒๐
  12. 12.0 12.1 12.2 ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่อง ลักษณะครุยวิทยฐานะ เข็มวิทยฐานะ และครุยประจำตำแหน่ง พ.ศ.๒๕๖๔ เก็บถาวร 2022-01-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เลม ๑๓๙ ตอนพิเศษ ๕ ง, ๘ มกราคม ๒๕๖๕
  13. 13.0 13.1 ข้อบังคับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยว่าด้วยโอกาสและเงื่อนไขการใช้ครุยวิทยฐานะ เข็มวิทยฐานะ และครุยประจำตำแหน่ง พ.ศ. ๒๕๕๓, เข้าถึงเมื่อวันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2556
  14. https://www.chula.ac.th/wp-content/uploads/2017/12/CU_CI_Guidelines_20180621.pdf
  15. ข้อห้ามการประดับตกแต่งชุดครุย, คณะกรรมการบัณฑิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, เข้าถึงเมื่อวันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2556
  16. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. ๒๕๕๑, เล่ม ๑๒๕, ตอน ๒๙ ก, ๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๑, หน้า ๕๖

ดูเพิ่ม[แก้]