ข้ามไปเนื้อหา

เซ็นทรัล เอ็มบาสซี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เซ็นทรัล เอ็มบาสซี
เซ็นทรัล เอ็มบาสซี logo
แผนที่
ที่ตั้ง1031 ถนนเพลินจิต (ศูนย์การค้าและห้างสรรพสินค้า)
88 ถนนวิทยุ (โรงแรม)[1]
แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร
เปิดให้บริการ9 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 (ศูนย์การค้าและห้างสรรพสินค้า)
7 มิถุนายน พ.ศ. 2557 (โรงภาพยนตร์)
12 พฤษภาคม พ.ศ. 2560 (โรงแรม)[1]
ผู้บริหารงาน
  • บริษัท เซ็นทรัลแอมบาสซีพลาซา จำกัด
  • บริษัท เซ็นทรัลแอมบาสซีโฮเต็ล จำกัด
เจ้าของ
  • บริษัท เตียง จิราธิวัฒน์ จำกัด
  • บริษัท เซ็นทรัล แอนด์ ฮ่องกงแลนด์ จำกัด
พื้นที่ชั้นขายปลีก144,000 ตารางเมตร
จำนวนชั้น41 ชั้น (อาคารเอ็มบาสซีปาร์ค)
56 ชั้น (อาคารเอ็มบาสซี เฟส 2)
ที่จอดรถ1,100 คัน
ขนส่งมวลชน เพลินจิต
รถโดยสารประจำทาง สาย 2, 13, 25, 40, 501, 508, 511, 3-1, 3-11, 3-53, 3-54, 4-3
เว็บไซต์www.centralembassy.com

เซ็นทรัล เอ็มบาสซี (อังกฤษ: Central Embassy) เป็นโครงการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชยกรรมแบบผสมใจกลางกรุงเทพมหานคร บนที่ดินจำนวน 35 ไร่ บริเวณหัวมุมทิศตะวันตกเฉียงเหนือของแยกเพลินจิต จุดตัดระหว่างถนนเพลินจิตและถนนวิทยุ ในพื้นที่แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน ซึ่งเป็นที่ตั้งเดิมของสถานเอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักรประจำประเทศไทย โครงการประกอบด้วยศูนย์การค้าระดับบน ห้างสรรพสินค้า โรงแรม และอาคารสำนักงาน บริหารงานโดยกลุ่มธุรกิจบริหารสรรพสินค้าของ บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด และบริษัท สรรพสินค้าเซ็นทรัล จำกัด เป็นส่วนหนึ่งของโครงการเพลินจิตซิตี้ ที่นำโครงการโดย บริษัท ยูนิเวนเจอร์ จำกัด (มหาชน) เจ้าของอาคารปาร์คเวนเชอร์ อีโคเพล็กซ์ รวมทั้งโรงแรมดิ โอกุระ เพรสทีจ และยังเป็นส่วนหนึ่งของโครงการเซ็นทรัลแบงค็อก ของกลุ่มเซ็นทรัล ที่เชื่อมต่อศูนย์การค้าเซ็นทรัล เอ็มบาสซี, ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล ชิดลม และศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ เข้าเป็นพื้นที่เดียวกัน

ประวัติ

[แก้]

ความเป็นมา

[แก้]

ตามประวัติที่ดินอันเป็นที่ตั้งของศูนย์การค้าเซ็นทรัล เอ็มบาสซี เดิมเคยเป็นส่วนหนึ่งของ สถานเอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักรประจำประเทศไทย โดยสถานกงสุลอังกฤษ (สถานะเดิมของสถานเอกอัครราชทูตในขณะนั้น) ได้ซื้อที่ดินต่อมาจาก พระยาภักดีนรเศรษฐ (เลิศ เศรษฐบุตร) เพื่อสร้างเป็นกงสุลแห่งใหม่ ในอดีตพื้นที่แห่งนี้ก่อนที่พระยาภักดีนรเศรษฐหรือนายเลิศเป็นเจ้าของนั้น พื้นที่เป็นทุ่งนาโล่งกว้างห่างไกลชุมชน การเดินทางทางเรือเป็นหลักโดยใช้ คลองแสนแสบ ซึ่งขณะนั้นยังไม่มีถนนตัดผ่าน นายเลิศได้เล็งการณ์ไกลไว้ว่าถ้ามีสถานกงสุลอังกฤษมาตั้งในย่านนี้ พื้นที่ย่านนี้จะเจริญขึ้นในอนาคตแน่นอน ซึ่งก็เป็นจริงตามที่คาดการณ์ไว้เมื่อทางราชการได้มีการตัด ถนนวิทยุ และ ถนนเพลินจิต ขึ้น

การประมูลพื้นที่

[แก้]

โครงการศูนย์การค้าเซ็นทรัล เอ็มบาสซี มีจุดเริ่มต้นมาจาก เมื่อปี พ.ศ. 2549 ที่กลุ่มเซ็นทรัลได้ชนะการประมูลที่ดินบริเวณด้านหน้าของ สถานเอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักรประจำประเทศไทย ติดกับถนนเพลินจิต โดยได้รับการจัดอันดับจากสื่อมวลชนหลายแขนงว่าเป็นที่ดินที่มีราคาสูงที่สุดในประเทศไทยในขณะนั้น ซึ่งทางสถานทูตชี้แจงว่าสาเหตุที่ขายออกเพราะต้องการนำเงินจากการขายที่ดินไปปรับปรุงอาคารสถานทูตเก่าที่อยู่ในสภาพทรุดโทรม หลังจากชนะการประมูลแล้ว กลุ่มเซ็นทรัล ได้มอบหมายให้เซ็นทรัลพัฒนาเป็นผู้รับผิดชอบโครงการนี้ แต่เนื่องจากในขณะนั้นเซ็นทรัลพัฒนาเองมีโครงการที่อยู่ในระหว่างการดำเนินการหลายโครงการ กลุ่มเซ็นทรัลจึงนำโครงการมาบริหารและพัฒนาด้วยตนเอง โดยจัดตั้ง บริษัท เซ็นทรัลแอมบาสซีพลาซา จำกัด สำหรับบริหารศูนย์การค้า และ บริษัท เซ็นทรัลแอมบาสซีโฮเต็ล จำกัด สำหรับบริหารโรงแรม โดยความร่วมมือกับกลุ่มโรงแรมไฮแอท ซึ่งก่อนหน้านี้เคยร่วมกันบริหารพื้นที่โรงแรมในโครงการเซ็นทรัลลาดพร้าว[2] ส่วนเซ็นทรัลพัฒนาซึ่งมีประสบการณ์ในการบริหารศูนย์การค้าจะเป็นผู้ช่วยดูแลโครงการ

การเปิดให้บริการ

[แก้]

ตามแผนแล้ว เซ็นทรัล เอ็มบาสซี มีแผนเปิดศูนย์การค้าอย่างเป็นทางการในปลายปี พ.ศ. 2556 แต่เนื่องจากความล่าช้าในการก่อสร้าง ทำให้ต้องเลื่อนการเปิดศูนย์การค้ามาเป็นช่วงเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557 แต่หลังจากที่กลุ่ม กปปส. ได้เริ่มปักหลักชุมนุมในพื้นที่บริเวณกรุงเทพมหานครชั้นใน ทำให้การก่อสร้างโครงการต้องหยุดชะงักลงตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา และทำให้เซ็นทรัล เอ็มบาสซีต้องเลื่อนเปิดศูนย์การค้าอีกครั้ง เป็นเดือนมีนาคม พ.ศ. 2557 แต่จากสถานการณ์ที่ไม่น่าไว้วางใจ ทำให้กลุ่มเซ็นทรัลต้องเลื่อนการเปิดศูนย์การค้าอีกครั้งนับเป็นครั้งที่ 4 คือภายในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2557 หลังจากเหตุสงบลง กลุ่มเซ็นทรัลก็ได้ประกาศวันเปิดตัวศูนย์การค้าเซ็นทรัล เอ็มบาสซี ซึ่งก็คือวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 โดยในวันดังกล่าวจะมีร้านค้าบางส่วนเปิดทำการ

ปัจจุบันทั้งตัวศูนย์การค้าและโรงแรมปาร์ค ไฮแอท กรุงเทพฯ ได้เปิดบริการครบทุกส่วนแล้ว ซึ่งกลุ่มเซ็นทรัลได้จัดงานเปิดตัวศูนย์การค้าและโรงแรมอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2560 ภายใต้แนวคิด "นี่ คือสิ่งที่พาฉันมา" (This Brings Me Here)[3]

โครงการส่วนขยาย

[แก้]

ใน พ.ศ. 2560 กระทรวงการต่างประเทศแห่งประเทศอังกฤษ และรัฐบาลอังกฤษได้ประกาศขายที่ดินอันเป็นที่ตั้งของสถานเอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักรประจำประเทศไทยในส่วนที่เหลือทั้งหมดจำนวน 9.2 เอเคอร์ หรือ 23 ไร่ 1 งาน 80 ตารางวา โดยมีผู้เข้าร่วมประมูลคือ กลุ่มทีซีซี และกลุ่มเซ็นทรัล และเป็นกลุ่มเซ็นทรัลที่ชนะการประมูล โดยร่วมทุนกับกลุ่มทุนฮ่องกงแลนด์ จากฮ่องกง ซึ่งประมูลไปในราคา 420 ล้านปอนด์ หรือคิดเป็นเงินไทยที่กว่า 19,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นราคาที่ดินสูงที่สุดในประเทศไทยที่ตารางวาละ 2.2 ล้านบาท และยังทำลายสถิติเดิมของราคาที่ดินสถานทูตอังกฤษเดิมที่กลุ่มเซ็นทรัลประมูลมาพัฒนาศูนย์การค้าเซ็นทรัล เอ็มบาสซี ที่ราคา 900,000 บาทต่อตารางวา

โดยที่ดินผืนดังกล่าวจะถูกนำไปพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์แบบประสมอันประกอบด้วย ศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า โรงแรม และอาคารชุดพักอาศัย โดยกลุ่มเซ็นทรัลจะเป็นผู้ลงทุนในส่วนโครงการทั้งหมด และกลุ่มฮ่องกงแลนด์จะเป็นผู้ลงทุนในโครงการอาคารชุดพักอาศัย หรือคอนโดมิเนียม และเป็นนายหน้าในการขายโครงการให้กับผู้ที่สนใจจากต่างประเทศ

ต่อมาในวันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2562 กลุ่มเซ็นทรัลได้มอบหมายให้เซ็นทรัลพัฒนาเป็นผู้พัฒนาโครงการเฟสที่ 2 นี้ โดยเซ็นทรัลพัฒนาได้ตั้งบริษัทร่วมทุนระหว่างบริษัทฯ และเอชเคแอล ในนาม บริษัท ซีพีเอ็น แอนด์ เอชเคแอล จำกัด[4] แต่อย่างไรก็ตามในพ.ศ. 2566 ได้มีการปรับโครงสร้างการถือหุ้นในโครงการใหม่ โดยเซ็นทรัลพัฒนา และบริษัท ห้างเซ็นทรัล ดีพาร์ทเมนท์สโตร์ จำกัด ได้จัดตั้งบริษัทร่วมทุนในนาม บริษัท ซีอี โฮลดิงส์ จำกัด ในสัดส่วนร้อยละ 49:51 และบริษัทดังกล่าวได้เข้าร่วมลงทุนกับเอชเคแอลในนาม บริษัท เซ็นทรัล แอนด์ เอชเคแอล จำกัด ในสัดส่วนร้อยละ 50:50 โดยซีพีเอ็นจะรับผิดชอบในการพัฒนาโครงการอาคารสำนักงานและส่วนห้างสรรพสินค้า และเอชเคแอลจะรับผิดชอบในส่วนของการพัฒนาโครงการที่พักอาศัย (เรสซิเดนซ์) พร้อมทั้งการเป็นตัวแทนขายในต่างประเทศอีกด้วย

การจัดสรรพื้นที่

[แก้]

ปัจจุบัน เซ็นทรัล เอ็มบาสซี แบ่งโครงการออกเป็นสองส่วน ได้แก่ อาคารเอ็มบาสซีปาร์ค เป็นอาคารศูนย์การค้าแบบตอนเดียว ออกแบบอาคารโดยบริษัทสถาปนิก อมานดา เลเวนเต จากประเทศอังกฤษ ตัวอาคารมีรูปทรงคล้ายกับสัญลักษณ์อนันต์เมื่อมองจากมุมมองด้านบน อันแสดงถึงการพัฒนาอย่างไม่สิ้นสุดของกลุ่มเซ็นทรัล ตั้งแต่อดีต จนถึงปัจจุบัน และก้าวไปยังอนาคต และอาคารเอ็มบาสซี เฟส 2 เป็นอาคารศูนย์การค้า,ห้างสรรพสินค้า พร้อมอาคารสำนักงาน ออกแบบอาคารโดย บริษัท แทนเดม อาร์คิเทค (2001) จำกัด ภายใต้การปรึกษาและแนะนำจากกลุ่มสถาปนิก บีอาร์ก อินเกิลส์ จากประเทศเดนมาร์ก ปัจจุบันอยู่ในระหว่างการปรับพื้นที่เตรียมการก่อสร้าง โดยมีพื้นที่สำคัญดังนี้

เอ็มบาสซีปาร์ค

[แก้]
  • อีตไทย
  • ยูนิโคล่
  • มูจิ
  • ศิวิลัย สโตร์
  • ศิวิลัย ซิตี้ คลับ
  • โอเพ่น เฮาส์ โค ลิฟวิ่งสเปซ
  • โรงแรมปาร์ค ไฮแอท กรุงเทพฯ โรงแรมระดับสูงสุดของกลุ่มไฮแอท จำนวน 222 ห้อง[1]

นอกจากนี้ยังมีทางเชื่อมไปยังสถานีเพลินจิตของรถไฟฟ้าบีทีเอส สายสุขุมวิท ที่ชั้น 1 และทางเชื่อมไปยังเซ็นทรัล ชิดลม ที่ชั้น 2

เอ็มบาสซี เฟส 2

[แก้]
  • ศูนย์การค้าและร้านค้าระดับบน
  • อาคารสำนักงานเซ็นทรัล เอ็มบาสซี
  • อาคารชุดเพื่อการพักอาศัย จำนวน 141 หน่วย

โดยทั้งสองอาคารจะเชื่อมต่อกันที่ชั้นบี5 ถึงบี2 และชั้นจี ถึงชั้น 6

การคมนาคม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 1.2 "Park Hyatt Bangkok". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-02-03. สืบค้นเมื่อ 2017-03-10.
  2. ทรัพย์ไพบูลย์, ธนวัฒน์ (2013). กลยุทธ์สู่ความร่ำรวยตระกูล "มหาเศรษฐีอาเซียน". เนชั่นบุ๊คส์. ISBN 6-1675-3641-4.
  3. กลุ่มเซ็นทรัลเผยโฉมโรงแรม พาร์ค ไฮแอท กรุงเทพฯ เก็บถาวร 2017-10-12 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เว็บไซต์ครอบครัวข่าว
  4. แจ้งการจัดตั้งบริษัทร่วมทุน

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]