ศูนย์การแพทย์ปัญญานันทภิกขุ ชลประทาน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ศูนย์การแพทย์ปัญญานันทภิกขุ ชลประทาน
มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
ศูนย์การแพทย์ปัญญานันทภิกขุ ชลประทาน มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.jpg
ศูนย์การแพทย์ปัญญานันทภิกขุ ชลประทาน (ธันวาคม 2022).jpg
Map
ภูมิศาสตร์
ที่ตั้งถนนติวานนท์ ตำบลบางตลาด
อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี, ไทย
หน่วยงาน
ประเภทโรงพยาบาลเพื่อการเรียนการสอน
สังกัดมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
บริการสุขภาพ
แผนกฉุกเฉินมี
จำนวนเตียง400
ประวัติ
ชื่อเดิมโรงพยาบาลชลประทาน
เปิดให้บริการพ.ศ. 2550
ลิงก์
เว็บไซต์pcmc.swu.ac.th
ลิงก์อื่นคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

ศูนย์การแพทย์ปัญญานันทภิกขุ ชลประทาน มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เป็นโรงพยาบาลในสังกัดคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ตั้งอยู่ ณ เลขที่ 222 หมู่ 1 ถนนติวานนท์ ตำบลบางตลาด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี

ประวัติ[แก้]

ศูนย์การแพทย์ปัญญานันทภิกขุ ชลประทาน ถือกำเนิดมาจากกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้จัดบริการด้านการแพทย์การสาธารณสุขเอง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2457 โดยจัดตั้งเป็นสถานพยาบาลชั่วคราว ดูแลรักษาผู้ป่วยในที่ทำการก่อสร้างเขื่อนพระราม 6 ตำบลท่าหลวง อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จนกระทั่งปี พ.ศ. 2487 จึงได้จัดหน่วยแพทย์ขึ้นเป็นครั้งแรกในสำนักงานเลขานุการกรม ในปี พ.ศ. 2489 ได้ขยายหน่วยงานแพทย์เป็นแผนกแพทย์ และในปี พ.ศ. 2493 ได้จัดตั้งกองแพทย์ โดยสร้างอาคารสถานพยาบาลขึ้นในบริเวณกรมชลประทาน สามเสน เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร และที่ทำการก่อสร้างกรมชลประทาน อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี เป็นอาคารไม้ 2 ชั้น รับผู้ป่วยได้ 20 เตียงและขยายเป็นโรงพยาบาลขนาด 90 เตียง เมื่อปี พ.ศ. 2498 รับผู้ป่วยที่เป็นข้าราชการ ลูกจ้างและครอบครัวทั้งจากส่วนกลางและจากท้องถิ่น ของกรมชลประทาน รวมทั้งผู้รับบริการจากจังหวัดนนทบุรี ปทุมธานี และส่วนรอบนอกด้านทิศเหนือของกรุงเทพมหานคร ด้วยเหตุนี้เองจึงมีผู้ป่วยจำนวนมากขึ้น มาขอรับบริการเป็นเหตุที่ต้องขยายโรงพยาบาลและปรับปรุงให้มีขีดความสามารถในการรักษาโรคเฉพาะทางได้โดยไม่ต้องส่งต่อ ดังนั้น ในปี พ.ศ. 2510 จึงมีโครงการขยายโรงพยาบาลตามขั้นตอน และปรับสภาพเป็นโรงพยาบาลทั่วไปขนาด 320 เตียง

เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2539 โรงพยาบาลชลประทานได้จัดแบ่งรูปงานใหม่เพื่อเตรียมความพร้อมให้สอดคล้องกับโครงสร้างใหม่ของกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในปี พ.ศ. 2541 โดยปรับรูปแบบการดำเนินการเป็นโรงพยาบาลทั่วไปขนาด 300 เตียง มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทุกสาขาวิชาทางการแพทย์ที่จำเป็น ให้บริการแก่เจ้าหน้าที่กรมชลประทาน ครอบครัวและประชาชนทั่วไป รวมทั้งให้บริการงานผู้ป่วยนอกสามเสน กรมชลประทาน กรุงเทพมหานคร ตามพระราชกฤษฎีกา โอนกิจการบริหารและอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 ให้โอนย้ายไปสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2545

ปัจจุบัน ศูนย์การแพทย์ปัญญานันทภิกขุ ชลประทาน เป็นโรงพยาบาลทุติยภูมิระดับสูง ขนาด 400 เตียง สังกัด มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กระทรวงศึกษาธิการ ตั้งอยู่เลขที่ 222 หมู่ 1 ถนนติวานนท์ ตำบลบางตลาด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี โรงพยาบาลชลประทาน ได้เปลี่ยนชื่อเป็น ศูนย์การแพทย์ปัญญานันทภิกขุ ชลประทาน มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ซึ่งชื่อดังกล่าวได้แจ้งต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2550 และกราบเรียนหลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ และขออนุญาตใช้นามของท่านเป็นชื่อโรงพยาบาลไว้แล้ว เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2550 และโรงพยาบาลชลประทานได้มาสังกัดมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2550 มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒได้จัดตั้งกองทุนหลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ เพื่อสืบทอดความตั้งใจของท่าน เพื่อนำกองทุนดังกล่าวมาพัฒนาโรงพยาบาลชลประทาน ให้เป็นโรงพยาบาลที่ดีที่สุดโรงพยาบาลหนึ่ง

บริการทางการแพทย์[แก้]

ห้องผ่าตัดหนึ่งของศูนย์การแพทย์ปัญญานันทภิกขุ ชลประทาน

สามารถรับผู้ป่วยนอกได้วันละ 5000 คน ผู้ป่วยใน 400 เตียง โดยได้เปิดบริการรักษาด้วยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ปัจจุบันเปิดบริการทั้งสิ้น 11 สาขา

  • แผนกอายุรกรรม
  • แผนกศัลยกรรมกระดูก
  • แผนกศัลยกรรมทั่วไป
  • แผนกศัลยกรรมระบบทางเดินปัสสาวะ
  • แผนกกุมารเวชกรรม
  • แผนกสูติกรรม
  • แผนกนรีเวชกรรม
  • แผนกเวชศาสตร์ครอบครัว
  • แผนกจักษุ
  • หู คอ จมูก
  • ตรวจโรคทั่วไป

ดูเพิ่ม[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

พิกัดภูมิศาสตร์: 13°53′52″N 100°30′15″E / 13.8978683°N 100.5041742°E / 13.8978683; 100.5041742