เซ็นทรัล ชิดลม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เซ็นทรัล ชิดลม
เซ็นทรัล ชิดลม logo
แผนที่
ที่ตั้ง1027 ถนนเพลินจิต แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร
เปิดให้บริการ23 มกราคม พ.ศ. 2516 (เปิดให้บริการเต็มรูปแบบ 23 มกราคม พ.ศ. 2517)
ผู้บริหารงานบริษัท สรรพสินค้าเซ็นทรัล จำกัด
พื้นที่ชั้นขายปลีก68,000 ตารางเมตร[1]
จำนวนชั้น8 ชั้น
เว็บไซต์www.central.co.th

เซ็นทรัล ชิดลม (อังกฤษ: Central Chidlom) เป็นห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งกรุงเทพมหานคร บริหารงานโดย บริษัท สรรพสินค้าเซ็นทรัล จำกัด ตั้งอยู่บนถนนเพลินจิต เขตปทุมวัน ใกล้กับการไฟฟ้านครหลวง สำนักชิดลม ถือเป็นสาขาระดับเรือธงของบริษัทตั้งแต่เปิดให้บริการ และเป็นห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลในรูปแบบสแตนอโลนหนึ่งในสองแห่งที่เปิดดำเนินการจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ยังเป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่กลุ่มเซ็นทรัล และเป็นส่วนหนึ่งของโครงการเซ็นทรัลแบงค็อกอีกด้วย

ประวัติ[แก้]

ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล สาขาชิดลม ก่อสร้างเมื่อ พ.ศ. 2513 บนที่ดินริมถนนเพลินจิตขนาด 7 ไร่ ซึ่งเดิมเป็นที่ตั้งของตำหนักหม่อมเจ้าวิมวาทิตย์ รพีพัฒน์[2] เมื่อแรกเริ่มทางบริษัทได้กู้เงินจากธนาคารกรุงเทพ จำนวน 60 ล้านบาท เพื่อก่อสร้างและตกแต่งอาคาร[3] โดยสร้างเป็นอาคารห้างสรรพสินค้าหลังเล็กความสูง 4 ชั้น ออกแบบโดย ศาสตราจารย์กิตติคุณ ร้อยเอก กฤษฎา อรุณวงษ์ ณ อยุธยา[4]

หลังเปิดทำการใน พ.ศ. 2516 เซ็นทรัล ชิดลม มีจุดเด่นที่ถูกกล่าวขานในช่วงแรกจนเป็นนิยามของสาขาคือ "กระเบื้องสีส้ม เด่นสุดในชิดลม" ด้วยการใช้กระเบื้องสีส้มตัดกับสีขาวซึ่งเป็นสีหลักของอาคาร[5] โดยสาขานี้สามารถคืนทุนการก่อสร้างได้อย่างรวดเร็ว ด้วยสินค้าจากต่างประเทศที่ไม่เคยมีในห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลสาขาก่อนหน้านี้ จนทำให้ยอดขายของสาขาสูงกว่าห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลสาขาอื่น ๆ ในสมัยนั้น[6]

ต่อมาในวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2538 อาคารห้างสรรพสินค้าเกิดเพลิงไหม้เกือบทั้งหลัง มีผู้เสียชีวิต 4 ราย บาดเจ็บสาหัส 11 ราย[5][7] คิดเป็นมูลค่าความเสียหายไม่ต่ำกว่า 1,500 ล้านบาท ซึ่งความเสียหายยังรวมไปถึงสินค้าและเอกสารสำคัญของห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลที่ไม่สามารถนำออกมาจากตัวอาคารได้ บริษัทสรุปสาเหตุเบื้องต้นว่าเกิดจากไฟฟ้าลัดวงจร แต่มีกระแสข่าวว่าอาจเป็นการลอบวางเพลิงจากกลุ่มคนที่ไม่พอใจผู้บริหารเครือเซ็นทรัล[8] บางก็ว่าเป็นการเผาทางการเมือง

ความเสียหายดังกล่าว ทำให้กลุ่มเซ็นทรัลตัดสินใจรื้อก่อสร้างอาคารใหม่ทั้งหมด โดยสร้างเป็นอาคารสูง 7 ชั้น[5] และย้ายสำนักงานใหญ่ของห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลไปที่สาขาลาดพร้าวเป็นการชั่วคราว ท่ามกลางวิกฤตต้มยำกุ้งที่สภาพเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศยังไม่ฟื้นตัวดี รวมถึงการก่อสร้างรถไฟฟ้าบีทีเอสบนถนนเพลินจิตในขณะนั้นด้วย[8] เซ็นทรัล ชิดลม เปิดทำการอีกครั้งในวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2540 โดยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดอาคารห้างสรรพสินค้า[9] และมีการอัญเชิญครุฑตราตั้งห้าง ที่ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ขึ้นประดิษฐานบนอาคารเป็นโครงการแรกของห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล ในวันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2549[10][11]

ในปี พ.ศ. 2567 เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น ได้ดำเนินการปรับปรุงห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล ชิดลม ครั้งใหญ่ ใช้แนวคิด "The Store of Bangkok" งบลงทุน 4 พันล้านบาท โดยปรับปรุงเปลือกนอกอาคาร เพิ่มแผนกรวมสินค้าหรูหราพร้อมทางเชื่อมจากสถานีรถไฟฟ้าเข้าสู่ส่วนนี้โดยตรง[12] เพิ่มร้านอาหารและคาเฟ่ อีกทั้งปรับปรุงอัตลักษณ์โดยใช้โทนสีชมพูกุหลาบเฉพาะเซ็นทรัลสาขานี้แห่งเดียว ทั้งนี้ การปรับปรุงทั้งหมดจะแล้วเสร็จในช่วงปลายปีเดียวกัน[13][14]

การดำเนินงานและภาพลักษณ์[แก้]

ปัจจุบัน เซ็นทรัล ชิดลม ถือเป็นห้างสรรพสินค้าระดับเรือธงของกลุ่มเซ็นทรัล โดยเป็นสาขาที่รวบรวมสินค้าเอาไว้อย่างหลากหลาย มีโซนสินค้าระดับสูง (ภายหลังได้เปิดโซนดังกล่าวเพิ่มที่สาขาลาดพร้าว, ภูเก็ต[15], พัทยา และบางนา) โซนร้านอาหาร และโซนสินค้าโดยนักออกแบบชาวไทยให้บริการในสาขา นอกจากนี้ยังเป็นสาขาที่ทำรายได้สูงเป็นอันดับต้น ๆ ของธุรกิจห้างสรรพสินค้าในกลุ่มเซ็นทรัล[16] รวมถึงมีกลุ่มลูกค้าที่ชัดเจนและมีความพึงพอใจต่อการบริการสูง แม้จะมีโครงการศูนย์การค้าระดับหรูหรา เช่น สยามพารากอน และเอ็มโพเรียม มาเปิดในละแวกใกล้เคียงก็ตาม[17]

เซ็นทรัล ชิดลม ยังเป็นห้างสรรพสินค้าของไทยแห่งแรก ๆ ที่มีบริการผู้ช่วยช้อปปิ้งส่วนบุคคล (Personal Shopper) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540[18] ก่อนที่กลุ่มเซ็นทรัลจะขยายบริการนี้ไปยังห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลและโรบินสันสาขาอื่น ๆ รวมถึงช่องทางออนไลน์ในเวลาต่อมา[19] อีกทั้งยังเป็นส่วนหนึ่งของโครงการเซ็นทรัลแบงค็อก ซึ่งมีเซ็นทรัลเวิลด์ รวมถึงเซ็นทรัล เอ็มบาสซี เป็นสมาชิกของโครงการ[20] นอกจากนี้ยังเป็นห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลในรูปแบบอาคารแยกเฉพาะ หรือสแตนอโลน หนึ่งในสองแห่งที่ยังเปิดดำเนินการจนถึงปัจจุบัน โดยอีกแห่งหนึ่งคือ เซ็นทรัล ป่าตอง จังหวัดภูเก็ต[21]

การจัดสรรพื้นที่[แก้]

เซ็นทรัล ชิดลม เป็นอาคารห้างสรรพสินค้าครบวงจรแบบตอนเดียว ความสูง 8 ชั้น รวมชั้นใต้ดิน โดยมีพื้นที่สำคัญ ได้แก่ ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล, ท็อปส์ ฟู้ด ฮอลล์[22] ซึ่งปรับปรุงมาจาก ท็อปส์ มาร์เก็ต เพลส[23], ซูเปอร์สปอตส์, เพาเวอร์บาย, บีทูเอส ธิงค์สเปซ[24], มูจิ ซึ่งเป็นสาขาแรกในไทยที่มีมุมอาหารกล่องและบริการออกแบบตกแต่งภายในบ้าน[25], ศูนย์อาหารลอฟท์เตอร์[26], ดิ อีเวนต์ ฮอลล์, พับบลิก มาร์เก็ต[27][28], พับบลิก เลน[29] และอาคารสำนักงานเซ็นทรัลชิดลม ซึ่งเป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ บจก.กลุ่มเซ็นทรัล[30] และ บมจ.เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น[31] โดยมีทางเชื่อมไปยังสถานีชิดลมของรถไฟฟ้าบีทีเอส สายสุขุมวิทที่ชั้น 1 และ 2 รวมถึงทางเชื่อมไปยังเซ็นทรัล เอ็มบาสซีที่ชั้น 1 นอกจากนี้ เซ็นทรัลชิดลมยังเคยเป็นที่ตั้งของร้านสตาร์บัคส์สาขาแรกในประเทศไทย ซึ่งเปิดบริการเมื่อปี พ.ศ. 2541[32]

อ้างอิง[แก้]

  1. "เซ็นทรัล ชิดลม …to be More-Luxury Store". เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-08-10. สืบค้นเมื่อ 2017-09-04.
  2. กิติวัฒนา (ไชยันต์) ปกมนตรี, หม่อมราชวงศ์. สายพระโลหิตในพระพุทธเจ้าหลวง. กรุงเทพฯ : ดีเอ็มดี, พ.ศ. 2551. 290 หน้า. ISBN 978-974-312-022-0
  3. ""จิราธิวัฒน์และห้างเซ็นทรัลกำลังจะผ่านเข้าสู่ยุคที่สาม ยุคที่ห้างเซ็นทรัลอาจไม่ใช่ของจิราธิวัฒน์!?" - gotomanager.com". info.gotomanager.com. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-06-29. สืบค้นเมื่อ 2022-06-29.
  4. "กรุงเทพฯหลังยุคอาจารย์กฤษฎา". คมชัดลึกออนไลน์. 2010-01-21. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-07-21. สืบค้นเมื่อ 2022-06-29.
  5. 5.0 5.1 5.2 "วิวัฒนาการของเซ็นทรัลชิดลม จากอดีตสู่ปัจจุบัน | Dek-D.com". Dek-D.com > Board (ภาษาอังกฤษ). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-06-12. สืบค้นเมื่อ 2022-06-29.
  6. "จากวันนั้น...ถึงวันนี้ ห้างเซ็นทรัลชิดลม สาขาเรือธงของห้างเซ็นทรัล". www.oknation.net. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-08-22. สืบค้นเมื่อ 2022-06-29.
  7. "ห้างเซ็นทรัล : 3 ครั้ง ใน 24 ปี ย้อนรอยเหตุเพลิงไหม้ใหญ่ในห้างดัง". เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-06-29. สืบค้นเมื่อ 2022-06-29.
  8. 8.0 8.1 "ย้อนเหตุการณ์ ไฟไหม้เซ็นทรัล ชิดลม สูญนับพันล้าน ร้ายแรงที่สุดในรอบ 50 ปี". kapook.com. 2019-04-11. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-08-15. สืบค้นเมื่อ 2022-06-29.
  9. "ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล จัดงานฉลองครบรอบ 50 ปี และเปิดห้างเซ็นทรัลชิดลม". ryt9.com. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-07-21. สืบค้นเมื่อ 2022-06-29.
  10. "สรรพสินค้าเซ็นทรัล จัดพิธีบวงสรวงอัญเชิญตราตั้งครุฑ". ryt9.com. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-06-30. สืบค้นเมื่อ 2022-06-30.
  11. "ข่าวรอบเมืองภูเก็ต". poc.phuket.go.th. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-07-19. สืบค้นเมื่อ 2022-06-30.
  12. Nommaneewong, Muttira (2024-03-26). "CRC ทุ่ม 4 พันล้านพลิกโฉม "เซ็นทรัลชิดลม" สู่ห้างลักชัวรีคอนเซปต์ The Store of Bangkok ตอบโจทย์กลุ่มไฮเอนด์ : อินโฟเควสท์". สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  13. ทุ่ม 4 พันล้าน พลิกโฉมเซ็นทรัลชิดลมครั้งใหญ่ รอบ 50 ปี สู่ห้างลักชัวรี
  14. "ส่องโฉมใหม่ "เซ็นทรัลชิดลม" เมกะสโตร์ยอดขายสูงสุดของ CRC พร้อมเปิดโซนลักชัวรี-บิวตี้-แฟชัน เม.ย.นี้ ก่อนเผยโฉมเต็มรูปแบบธ.ค.67 - Brand Buffet" (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 2024-03-26.
  15. ""เซ็นทรัลกรุ๊ป" ทุ่ม3,500ล้าน สานฝันรัฐสร้างภูเก็ตเมืองศก". gotomanager.com.[ลิงก์เสีย]
  16. "เตรียมตัวมา 2 ปีแล้ว". gotomanager.com. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-06-29. สืบค้นเมื่อ 2022-06-29.
  17. "เซ็นทรัลทุ่มงบตลาด 150 ล.รับมือพารากอน". gotomanager.com. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-06-29. สืบค้นเมื่อ 2022-06-29.
  18. "แปลงโฉมนางซินฯ ที่เซ็นทรัล ชิดลม". gotomanager.com. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-06-29. สืบค้นเมื่อ 2022-06-29.
  19. "เซ็นทรัล โชว์ 6 กลยุทธ์เด็ด ดันยอดขายห้างในเครือเติบโต 2 เท่าใน 5 ปี". www.brandage.com. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-07-21. สืบค้นเมื่อ 2022-06-29.
  20. "ซิกเนเจอร์ของเทศกาลอาหารระดับโลกกลับมาอีกครั้ง "เทสต์ ออฟ เดอะ เวิลด์ แอท เซ็นทรัล แบงค็อก" (Tastes of The World @ Central Bangkok) ดินแดนแห่งอรรถรสด้านอาหาร ที่สตรีทฟู้ดและมิชลินสตาร์ จะรวมเป็นหนึ่ง". Positioning Magazine (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 2017-06-28. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-06-29. สืบค้นเมื่อ 2022-06-29.
  21. "อัปเดตห้างใหม่ "เซ็นทรัล ป่าตอง" หนึ่งในแลนด์มาร์ก "ภูเก็ต" ของกลุ่มเซ็นทรัล". mgronline.com. 2019-02-15. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-07-21. สืบค้นเมื่อ 2022-06-30.
  22. "เซ็นทรัล ฟู้ด ฮอลล์ ชิดลม เผยโซนใหม่ 'New Dining Experience' เอาใจฟู้ดดี้ตัวจริง". BKKMENU. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-08-09. สืบค้นเมื่อ 2022-06-29.
  23. admin (2005-09-05). "TOPS โฉมใหม่ต้องเฟี้ยวกว่าเก่า". Positioning Magazine (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-06-29. สืบค้นเมื่อ 2022-06-29.
  24. trainee1 (2021-02-23). "B2S Think Space อุโมงค์หนังสือไซส์ยักษ์กลางเซ็นทรัลชิดลม การพลิกโฉมใหม่ของร้านหนังสือกลางห้าง". The Cloud. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-02-04. สืบค้นเมื่อ 2022-06-29.
  25. "พาชม MUJI สาขาใหม่ใหญ่กว่าเดิมในเซ็นทรัลชิดลม มาพร้อมโซนคาเฟ่ เบนโตะ และบ้านตัวอย่าง". Time Out กรุงเทพมหานคร. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-06-29. สืบค้นเมื่อ 2022-06-29.
  26. "Lofter (ลอฟท์เตอร์) ศูนย์รวมความอร่อยระดับตำนาน เปิดแล้วที่เซ็นทรัลชิดลม". www.gourmetandcuisine.com (ภาษาอังกฤษ). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-11-20. สืบค้นเมื่อ 2022-06-29.
  27. atkitchenmag (2022-07-26). "เปิดแล้ว! "PUBLIC MARKET" คอมมูนิตี้แห่งใหม่ใจกลางกรุงฯ ที่ห้างเซ็นทรัลชิดลม". Kitchen & Home.
  28. "ห้างเซ็นทรัลชิดลม ชวนสายกินเช็คอิน "PUBLIC MARKET" ฟู้ดคอมมูนิตี้แห่งใหม่ใจกลางกรุงฯ พร้อมโปรโมชั่นฉลองเปิดโซน! สเปเชียลเมนู ลดสูงสุด 50%". Positioning Magazine (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 2022-07-12.
  29. "PUBLIC LANE เส้นทางความอร่อยของนักชิม". www.thairath.co.th. 2023-02-21.
  30. "ติดต่อเราและสถานที่". www.centralgroup.com. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-07-31. สืบค้นเมื่อ 2022-06-29.
  31. "ติดต่อเรา". www.centralretail.com. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-07-26. สืบค้นเมื่อ 2022-06-29.
  32. "Starbucks และการกำเนิด "เพลงร้านกาแฟ"". เสพย์สากล. 2022-02-20. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-07-21. สืบค้นเมื่อ 2022-07-01.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]