คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
Chulalongkorn Business School | |
ชื่อเดิม | แผนกวิชาพาณิชยศาสตร์ แผนกวิชาการบัญชี |
---|---|
ชื่อย่อ | CBS |
สถาปนา | 22 ตุลาคม พ.ศ. 2481 |
สังกัดการศึกษา | จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย |
คณบดี | รองศาสตราจารย์ ดร.ธารทัศน์ โมกขมรรคกุล |
ที่อยู่ | |
สี | สีฟ้า |
เว็บไซต์ | www |
คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก่อตั้งเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2481 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเริ่มเปิด "แผนกวิชาการบัญชี" และ "แผนกวิชาพาณิชยศาสตร์" สังกัดคณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ จนกระทั่งวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2486 จึงได้สถาปนาเป็นคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี เป็นสถาบันการศึกษาแห่งแรกของประเทศไทยที่ผลิตบุคลากรเพื่อสนองความต้องการของธุรกิจของประเทศซึ่งมีการพัฒนาและเจริญก้าวหน้ามากขึ้น[2][3] คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับการจัดอันดับให้เป็นอันดับหนึ่งของไทยในสาขา การเงินและการบัญชี (อันดับที่ 101 - 150 ของโลก และเป็นแห่งเดียวในประเทศที่ติดอันดับ) และ การบริหารธุรกิจและการจัดการ (อันดับที่ 151 - 200 ของโลก) จากการจัดอันดับของ QS world university ranking by Subject[4]
ประวัติ
[แก้]เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตั้งกรมสถิติพยากรณ์ ขึ้นในกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ (ต่อมาคือกระทรวงพาณิชย์) ความต้องการความรู้และบุคลากรในด้านเศรษฐกิจจึงมีมากยิ่งขึ้น มีการส่งนักเรียนออกไปศึกษาวิชาทางเศรษฐศาสตร์ การพาณิชย์ และการบัญชีในต่างประเทศ เพื่อให้กลับมารับราชการในกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ และกระทรวงพาณิชย์เป็นกำลังสำคัญด้านเศรษฐกิจของชาติ จนถึงยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สมัยที่จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นอธิการบดี จึงได้จัดการศึกษาพาณิชยศาสตร์เศรษฐศาสตร์ และการบัญชีขึ้น โดยได้เชิญศาสตราจารย์อุปการคุณ พระยาไชยยศสมบัติ (เสริม กฤษณามระ) นักเรียนทุนกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ผู้สำเร็จการศึกษาจากสถาบัน The Institute of Chartered Accountant in England & Wales เป็นประธานคณะกรรมการวางหลักสูตรการสอนในแผนกวิชาการบัญชีและพาณิชย์ ซึ่งประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิอีก 5 ท่านในคณะกรรมการชุดนี้ ประกอบด้วย
- พระมนูภาณวิมลศาสตร์ (ชม จามรมาน)
- ศาสตราจารย์ หลวงพรตพิทยพยัต (พรต เดชา)
- ศาสตราจารย์อุปการคุณอาภรณ์ กฤษณามระ
- นายศิริ ฮุนตระกูล
- ศาสตราจารย์ สุกิจ นิมมานเหมินทร์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีคำสั่งที่ ๒๓/๒๑๕๘ วันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2481 ได้จัดตั้งขึ้นเป็น "แผนกวิชาการบัญชีและพาณิชย์" สังกัดคณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ โดยมีพระยาไชยยศสมบัติ เป็นหัวหน้าแผนก จากนั้นได้มีการพิจารณาจัดทำหลักสูตรให้มีลักษณะอิสระแตกต่างจากหลักสูตรของคณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ โดยกำหนดให้ผู้ที่จะศึกษาวิชาการบัญชีเรียนภาคทฤษฎี 4 ปี และภาคปฏิบัติ 1 ปี ภายหลังได้ตัดภาคปฏิบัติออกไปทำให้หลักสูตรเป็น 4 ปีจนถึงปัจจุบัน และได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นแผนกวิชาอิสระการบัญชีและพาณิชย์ เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2483 ขึ้นตรงต่อมหาวิทยาลัย เช่นเดียวกับแผนกอิสระอื่น ๆ ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
พุทธศักราช 2486 มีการตราพระราชบัญญัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. ๒๔๘๖ ยกฐานะแผนกอิสระขึ้นเป็น "คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี" ประกอบไปด้วย 3 แผนกวิชา คือ แผนกวิชาการบัญชี แผนกวิชาพาณิชยศาสตร์ แผนกวิชาเศรษฐศาสตร์ และศาสตราจารย์อุปการคุณ พระยาไชยยศสมบัติ ได้รับแต่งตั้งให้เป็นคณบดีคนแรกของคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี
ปัจจุบัน คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชีมีการพัฒนาหลักสูตรเพื่อให้สอดคล้องต่อความต้องการของธุรกิจ และอุตสาหกรรมของประเทศ โดยจัดหลักสูตรการเรียนการสอนเพิ่มเติมขึ้น ทั้งยังปรับปรุงหลักสูตรเดิมให้มีความทันสมัยอยู่ตลอดเวลา ครอบคลุมในทุกระดับการศึกษา เพื่อรับรองการขยายตัวทางศึกษาในอนาคต ในฐานะ "Chulalongkorn Business School" หรือ CBS ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานระดับโลก AACSB (The Association to Advance Collegiate Schools of Business) เปิดสอนระดับปริญญาบัณฑิตและระดับบัณฑิตศึกษา ในสาขาวิชาซึ่งสังกัดภาควิชาต่าง ๆ เช่น ภาควิชาการบัญชี พาณิชยศาสตร์ การธนาคารและการเงิน การตลาด และสถิติ รวมทั้งเปิดสอนหลักสูตรนานาชาติ Business Administration ในระดับปริญญาตรี โท และเอกด้วย
- พ.ศ. 2481 จอมพล ป.พิบูลสงคราม อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในขณะนั้น ได้มีคำสั่งลงวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2481 แต่งตั้งคณะกรรมการผู้วางหลักสูตรการศึกษาวิชาการบัญชีการพาณิชย์และเศรษฐศาสตร์ โดยเปิดแผนกวิชาการบัญชีและพาณิชย์ สังกัดคณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และถือเป็นวันสถาปนาคณะฯ[5]
- พ.ศ. 2482 การจัดวางหลักสูตรได้ลุล่วงโดยแผนกวิชาการบัญชีและพาณิชย์ได้เริ่มเปิดสอนครั้งแรกในวันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2482 โดยกำหนดให้ผู้ที่จะศึกษาวิชาการบัญชีทั้งหมด 5 ปี ซึ่งจะเรียนภาคทฤษฎี 4 ปี และภาคปฏิบัติ 1 ปี นิสิตการบัญชีและพาณิชย์รุ่นแรกหรือรุ่น 1 ในปี พ.ศ. 2482 นั้น มีทั้งรุ่น 1 ปี 1 และรุ่น 1 ปี 2 รวมทั้งสิ้น 88 คน รุ่น 1 ปี 1 หมายถึงนิสิตปี 1 ที่สอบมาโดยตรงกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยรวมกับนิสิตที่ผ่านปี 1 แล้ว แต่สนใจจะมาเรียนทางการบัญชีและพาณิชย์ ก็มาเรียนได้โดยไม่ต้องสอบโดยโอนมาเรียนปี 1 ได้ทันทีอีกจำนวนหนึ่ง รุ่น 1 ปี 1 นี้มีรวมทั้งสิ้นจำนวนรวม 51 คน ส่วนรุ่น 1 ปี 2 หมายถึงนิสิตที่ผ่านปี 2 แล้ว (เกือบทั้งหมดเป็นนิสิตอักษรศาสตร์ บางคนผ่านปี 3 แล้วบางคนก็จบปี 4 แล้ว) สนใจจะมาเรียนการบัญชีพาณิชย์ก็โอนมาเรียนการบัญชีและพาณิชย์ปี 2 ได้ทันที แต่การเรียนจะเรียนวิชาปี 1 และปี 2 ควบคู่กันไป ในส่วนรุ่น 1 ปี 2 นี้มีจำนวนทั้งสิ้น 37 คน[6]
- พ.ศ. 2483 ศาสตราจารย์อุปการคุณ พระยาไชยยศสมบัติ ได้รับแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าแผนกวิชาการบัญชีและพาณิชย์ และคณะกรรมการวิชาการได้พิจารณาจัดหลักสูตรให้มีลักษณะอิสระ แตกต่างจากหลักสูตรของคณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ โดยแยกตัวออกจากคณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ เป็นแผนกวิชาอิสระการบัญชีและพาณิชย์ เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2483 ขึ้นตรงต่อมหาวิทยาลัย เช่นเดียวกับแผนกอิสระอื่น ๆ ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- พ.ศ. 2486 หลังจากแผนกวิชาอิสระได้ดำเนินการสอนมาเกือบ 5 ปี ก็ได้รับการสถาปนาเป็นคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2486 ประกอบไปด้วย 3 แผนกวิชา คือ แผนกวิชาการบัญชี แผนกวิชาพาณิชยศาสตร์ แผนกวิชาเศรษฐศาสตร์ และศาสตราจารย์อุปการคุณ พระยาไชยยศสมบัติ ได้รับแต่งตั้งให้เป็นคณบดีคนแรกของคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี
- พ.ศ. 2487 แผนกวิชาการบัญชี ได้ตัดภาคปฏิบัติของหลักสูตรบัญชีออก คงเรียนแต่เฉพาะภาคทฤษฎีเป็นเวลา 4 ปี ผู้สำเร็จการศึกษาจะได้รับปริญญาบัญชีบัณฑิต ส่วนแผนกพาณิชยศาสตร์ ได้กำหนดหลักสูตรไว้ 4 ปี ผู้สำเร็จการศึกษาจะได้รับปริญญาพาณิชยศาสตรบัณฑิต
- พ.ศ. 2494 คณะฯ ได้เปิดแผนกวิชาเศรษฐศาสตร์หลักสูตร 4 ปี ผู้ที่เรียนสำเร็จการศึกษาจะได้รับปริญญาเศรษฐศาสตรบัณฑิต
- พ.ศ. 2500 สภามหาวิทยาลัยได้อนุมัติให้เปิดแผนกวิชาสถิติ หลักสูตร 4 ปี โดยผู้ที่เรียนสำเร็จการศึกษาในระหว่างปีการศึกษา 2500 – 2513 จะได้รับปริญญาพาณิชยศาสตรบัณฑิต (สถิติ) ส่วนผู้ที่สำเร็จการศึกษาตั้งแต่ปีการศึกษา 2514 เป็นต้นมาจะได้รับปริญญาสถิติศาสตรบัณฑิต
- พ.ศ. 2503 เปิดสอนปริญญาโท หลักสูตรบัญชีมหาบัณฑิต
- พ.ศ. 2504 ได้เปิดสอนระดับปริญญาโท หลักสูตรพาณิชยศาสตรมหาบัณฑิต
- พ.ศ. 2513 สภามหาวิทยาลัยได้อนุมัติให้เปิดแผนกวิชาการธนาคารและการเงิน หลักสูตร 4 ปี (ปริญญาบัญชีบัณฑิต)
- พ.ศ. 2520 สภามหาวิทยาลัยได้อนุมัติให้เปิดแผนกวิชาการตลาด โดยมี ศาสตราจารย์กิตติคุณ ปรียา วอนขอพร เป็นหัวหน้าภาควิชาท่านแรก และเปิดสอนปริญญาตรี 4 ปี ในหลักสูตร พาณิชยศาสตรบัณฑิต
- พ.ศ. 2522 ได้กำหนดให้ใช้คำว่า "ภาควิชา" แทน "แผนกวิชา" ตามพระราชบัญญัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2522
- พ.ศ. 2525 ภาควิชาการตลาด ก่อตั้งบริษัทจำลอง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นบริษัทฝึกงานนิสิต ดำเนินงานแบบธุรกิจจริง และในปีเดียวกันได้ เปลี่ยนชื่อหลักสูตรปริญญาโท พาณิชยศาสตรมหาบัณฑิต เป็นหลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต
- พ.ศ. 2526 คณะฯ เปลี่ยนหลักสูตรพาณิชยศาสตรบัณฑิตเป็นหลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต เปิดสอนปริญญาตรีหลักสูตรปริญญาบริหารธุรกิจบัณฑิต โดยรับผิดชอบร่วมกันระหว่าง 3 ภาควิชา ได้แก่ ภาควิชาพาณิชยศาสตร์ ภาควิชาการธนาคารและการเงิน และภาควิชาการตลาด
- พ.ศ. 2529 พัฒนาหลักสูตรใหม่ บริหารธุรกิจมหาบัณฑิต (MBA) สำหรับนักบริหาร ซึ่งเป็นหลักสูตรแรกของคณะฯ ที่เปิดสอนนอกเวลาราชการ
- พ.ศ. 2531 เปิดสอนหลักสูตรปริญญาเอก บัญชีดุษฎีบัณฑิต เป็นแห่งแรกในประเทศไทย
- พ.ศ. 2535 เปิดสอนหลักสูตรปริญญาเอก (JDBA) บริหารธุรกิจดุษฎีบัณฑิต (หลักสูตรภาษาอังกฤษ) ร่วมกับ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และสถาบันพัฒนบริหารศาสตร์ และเปิดหลักสูตรปริญญาโท 2 หลักสูตรคือ วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศทางธุรกิจ และ วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการประกันภัย
- พ.ศ. 2539 คณะฯ ได้เปิดหลักสูตรปริญญาบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการธุรกิจระหว่างประเทศ (หลักสูตรนานาชาติ) ซึ่งนับว่าเป็นหลักสูตรนานาชาติหลักสูตรแรกที่เปิดสอนในระดับปริญญาตรีปริญญาแรกในจุฬาฯ
- พ.ศ. 2540 เปิดสอนปริญญาโท หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการเงิน ซึ่งเป็นหลักสูตรปริญญาโททางการเงินแห่งแรกของประเทศไทย
- พ.ศ. 2543 คณะฯ ได้เปิดหลักสูตรปริญญาตรี บริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาวิชาการบัญชี (หลักสูตรนานาชาติ)[7]
- พ.ศ. 2544 หลักสูตรปริญญาตรี สถิติศาสตรบัณฑิตได้เปิดสาขาวิชาใหม่เพิ่ม คือ สาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อธุรกิจ
- พ.ศ. 2547 เปิดหลักสูตรปริญญาโท การจัดการมหาบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการธุรกิจระหว่างประเทศ (หลักสูตรนานาชาติ)
- พ.ศ. 2549 เปิดหลักสูตรปริญญาโทอีก 3 หลักสูตร คือ วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการตลาด, วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการกำกับดูแลกิจการ, หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการพัฒนาซอฟต์แวร์ด้านธุรกิจ
- พ.ศ. 2551 เปิดหลักสูตรปริญญาเอก วิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการเงินเชิงปริมาณ (หลักสูตรภาษาอังกฤษ) (ภาคนอกเวลาราชการ)
- พ.ศ. 2552 เปิดหลักสูตรปริญญาโท บริหารธุรกิจมหาบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการโรงพยาบาลและการรักษาสุขภาพ
- พ.ศ. 2554 เปิดหลักสูตรปริญญาโท วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมการเงิน (หลักสูตรภาษาอังกฤษ) (ภาคนอกเวลาราชการ)
- พ.ศ. 2554 ปรับปรุงหลักสูตรปริญญาเอก บริหารธุรกิจดุษฎีบัณฑิต (หลักสูตรภาษาอังกฤษ) เปิดสอนใน 3 สาขาวิชา คือ สาขาวิชาการเงิน สาขาวิชาการจัดการ สาขาวิชาการตลาด (เดิมคือหลักสูตรปริญญาเอกร่วม 3 สถาบัน JDBA ที่เปิดสอนตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535)[8]
- พ.ศ. 2566 เปิดหลักสูตรปริญญาโท วิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาธุรกิจ (MSB)
สัญลักษณ์คณะ
[แก้]ชื่อของคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชีในภาษาอังกฤษ คือ Faculty of Commerce and Accountancy นั้น มักจะต้องมีการชี้แจงเพิ่มเติมว่าหมายถึง Business School ที่มีการเรียนการสอนทางด้านบริหารธุรกิจ ซึ่งคำว่า Business School นั้นเป็นชื่อที่เข้าใจได้ทันทีและใช้กันอย่างแพร่หลายในคณะฯที่มีการเรียนการสอนทางด้านบริหารธุรกิจ และมักจะใช้ควบคู่ไปกับชื่อของมหาวิทยาลัย เช่น Harvard Business School ซึ่งหมายถึง School of Business ของ Harvard University ดังนั้น เพื่อให้การสื่อสารประชาสัมพันธ์ของคณะฯ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ให้สังคมภายนอกได้รับทราบว่า คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชีเป็นสถาบันการศึกษาทางด้านบริหารธุรกิจแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะฯ จึงได้เริ่มใช้ชื่อ Chulalongkorn Business School พร้อมกับสัญลักษณ์ใหม่ที่ได้คัดเลือกจากแบบที่ออกมาหลาย ๆ แบบ ซึ่งสัญลักษณ์ใหม่นี้จะใช้คู่ไปกับชื่อที่เป็นทางการของคณะฯ ทั้งที่เป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษ โดยได้เริ่มใช้กับกิจกรรมที่จัดขึ้นในการฉลองครบรอบ 70 ปี ของการดำเนินงานของคณะฯ เป็นครั้งแรก และต่อไปก็จะใช้ในการประชาสัมพันธ์คณะฯ ทั้งในเอกสารคู่มือ รวมถึงในนามบัตรของอาจารย์และบุคลากรของคณะฯ ด้วยคำอธิบายตราสัญลักษณ์ CBS ซึ่งย่อมาจาก Chulalongkorn Business school[9]
การรับรองมาตรฐาน
[แก้]คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้รับการรับรองคุณภาพมาตรฐานการศึกษาจาก AACSB (The Association to Advance Collegiate Schools of Business)[10] จากประเทศสหรัฐอเมริกา[11] และ EFMD (The European Foundation for Management Development)[12] จากยุโรป โดย AACSB ให้การรับรองหลักสูตรทั้งคณะเป็นเวลา 5 ปี ขณะที่ EFMD ให้การรับรองเฉพาะหลักสูตรที่ยื่น ได้แก่ หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการเงิน (หลักสูตรภาษาอังกฤษ) เป็นเวลา 3 ปี และหลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต (หลักสูตรนานาชาติ) เป็นเวลา 5 ปี ซึ่งหลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิตเป็นหลักสูตรเดียวที่เปิดสอนนอกยุโรปแล้วได้รับการรับรอง EPAS (EFMD Programme Accreditation System) นาน 5 ปี[13][14] คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นสถาบันการศึกษาด้านบริหารธุรกิจแห่งแรกในไทยที่ได้รับรองคุณภาพมาตรฐานการศึกษาระดับโลกจาก AACSB ครบทั้งระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก อีกด้วย[15]
ทั้งนี้ AACSB ยังได้รับรองคุณภาพมาตรฐานการศึกษาด้านบริหารธุรกิจและการบัญชีให้กับสถาบันการศึกษาที่มีชื่อเสียงเป็นอย่างมากในระดับโลก ในประเทศสหรัฐอเมริกา เช่น สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT), มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด[16], มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด[17], มหาวิทยาลัยเยล, มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย[18] และ มหาวิทยาลัยซีราคิวส์[19] และในประเทศสหราชอาณาจักร อาทิ ราชวิทยาลัยลอนดอน (Imperial College London)[20]
จากการจัดอันดับของ QS world university ranking by subject พบว่า [4]
สาขาการเงินและการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ติดอันดับ 101 – 150 ของโลก อันดับ 1 ในไทย และยังเป็นแห่งเดียวในประเทศที่ติดอันดับในสาขานี้
สาขาบริหารธุรกิจและการจัดการ ติดอันดับ 151 – 200 ของโลก อันดับ 1 ในไทย
ทำเนียบคณบดี
[แก้]1. ศาสตราจารย์อุปการคุณ พระยาไชยยศสมบัติ พ.ศ. 2486 – 2507
2. ศาสตราจารย์อุปการคุณ อาภรณ์ กฤษณามระ พ.ศ. 2507 – 2514
3. ศาสตราจารย์กิตติคุณ เติมศักดิ์ กฤษณามระ พ.ศ. 2514 – 2518
4. ศาสตราจารย์กิตติคุณ เถาวัลย์ นันทาภิวัฒน์ พ.ศ. 2518 – 2522
5. รองศาสตราจารย์สุธี เอกะหิตานนท์ พ.ศ. 2522 – 2530
6. ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร. นราศรี ไววนิชกุล พ.ศ. 2530 – 2534
7. ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร. คุณหญิงสุชาดา กีระนันทน์ พ.ศ. 2534 – 2542
8. รองศาสตราจารย์ ดร. วิรัช อภิเมธีธำรง พ.ศ. 2542 – 2546
9. รองศาสตราจารย์ ดร. ดนุชา คุณพนิชกิจ พ.ศ. 2546 – พ.ศ. 2550
10. รองศาสตราจารย์ ดร. อรรณพ ตันละมัย พ.ศ. 2550 – พ.ศ. 2554
11. รองศาสตราจารย์ ดร.พสุ เดชะรินทร์ พ.ศ. 2554 – พ.ศ. 2562
12. ศาสตราจารย์ ดร.วิเลิศ ภูริวัชร พ.ศ. 2562 – 2567
13.รองศาสตราจารย์ ดร.ธารทัศน์ โมกขมรรคกุล พ.ศ. 2567 – ปัจจุบัน
คณาจารย์
[แก้]รายชื่ออาจารย์จำแนกตามหน่วยงาน (ยกเว้น ภาควิชาการตลาด) เป็นดังนี้
- ภาควิชาการบัญชี เก็บถาวร 2015-09-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ภาควิชาสถิติ เก็บถาวร 2006-07-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ภาควิชาการธนาคารและการเงิน
ภาควิชาและหลักสูตร
[แก้]
|
|
ระดับปริญญาตรี | ระดับปริญญาโท | ระดับปริญญาเอก |
---|---|---|
หลักสูตรบัญชีบัณฑิต เก็บถาวร 2008-10-17 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต
|
หลักสูตรบัญชีมหาบัณฑิต เก็บถาวร 2008-10-17 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (ภาคนอกเวลาราชการ)
หลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต(MBA)
หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต
หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต
หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต
หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต
หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต
หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต
หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต
หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต
หลักสูตรการจัดการมหาบัณฑิต
|
ศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิต วิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิต วิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิต
บริหารธุรกิจดุษฎีบัณฑิต เก็บถาวร 2011-09-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
|
บุคคลที่มีชื่อเสียง
[แก้]ดูเพิ่มที่ รายนามบุคคลจากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- ดร.อำนวย วีรวรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
- ศาสตราจารย์ ดร.วิเลิศ ภูริวัชร คณบดี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดำรงตำแหน่งคณบดีวาระที่ 2
- คณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ
- ศ.ดร.คุณหญิง สุชาดา กีระนันทน์ อดีตอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอดีตนายกสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- นาย บดี จุณณานนท์ อดีตผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ
- รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
- นาย ยิ่งพันธ์ มนะสิการ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์
- คุณหญิง จารุวรรณ เมณฑกา ผู้ว่าการสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน
- คุณหญิง สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ นักการเมือง, หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย และอดีตรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
- ศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คนที่ 18 อดีตคณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ อดีตหัวหน้าภาควิชาการตลาด คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ นักการตลาดที่มีชื่อเสียง นักสร้างแบรนด์ของบริษัทชั้นนำในประเทศ ประธานที่ปรึกษาบริษัทสปาฮาคุโฮโด ที่ปรึกษาบริษัทและองค์กรชั้นนำทั้งระดับประเทศและนานาชาติ
- ดร.สาคร สุขศรีวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทเงินทุน กรุงเทพธนาทร จำกัด (มหาชน) และกรรมการและผู้จัดการทั่วไป ร้านภูฟ้า
- สันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมฯ
- เลอศักดิ์ จุลเทศ ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน
- นวลพรรณ ล่ำซำ นายกสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูประถัมภ์
- ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กรรมการบริษัท แลนด์แอนด์เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน)
- กันต์ กันตถาวร นายแบบ, นักแสดง และพิธีกรสังกัดเวิร์คพอยท์ เอ็นเตอร์เทนเมนท์
- วศิน อัศวนฤนาท นายแบบ, นักแสดงอิสระ
- ธนันต์ธรญ์ นีระสิงห์ สมาชิกวง เฟย์ ฟาง แก้ว สังกัด kamikaze เครืออาร์เอส
- พชร จิราธิวัฒน์ นักแสดงภาพยนตร์, ซีรีส์, เพลง และโฆษณา
- จุฑาวุฒิ ภัทรกำพล นักแสดงละคร, ซิทคอม, ภาพยนตร์, ซีรีส์
- บุษกร หงษ์มานพ นักแสดง, นางแบบ, พิธีกร, ผู้กำกับละคร
- ปีติภัทร คูตระกูล พิธีกร, ผู้ประกาศข่าวช่อง 3 เอชดี
กิจกรรมของคณะ
[แก้]- SMO Banshi (สโมสรนิสิตคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี)
- Shidebate (ชมรมโต้วาทีแห่งคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี)
- Stacklub (Stat Case Club)
- Shi Radio (ฝ่ายโสตและทัศนูปกรณ์)
- ชุมนุมสถิติ
- BANdSHI (วงดนตรีสากล)
- เภตรา (วงดนตรีไทย)
- Teamball Banshi (ชมรมฟุตบอล)
- Shirunning (ชมรมวิ่ง)
- SHIleader (กลุ่มผู้นำเชียร์คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี)
- BBA Chula
- Shia Leader (หลีดปีศาจ)
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี
- สมาคมนิสิตเก่าคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี เก็บถาวร 2009-04-18 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- แผนที่และภาพถ่ายทางอากาศของ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- ภาพถ่ายดาวเทียมจากวิกิแมเปีย หรือกูเกิลแมปส์
- แผนที่จากลองดูแมป หรือเฮียวีโก
- ภาพถ่ายทางอากาศจากเทอร์ราเซิร์ฟเวอร์
13°44′03″N 100°31′49″E / 13.734113°N 100.530148°E
ดูเพิ่ม
[แก้]ช่องทางการติดต่อ
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-07-29. สืบค้นเมื่อ 2015-06-02.
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-07-29. สืบค้นเมื่อ 2015-06-02.
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-07-29. สืบค้นเมื่อ 2015-06-02.
- ↑ 4.0 4.1 https://www.topuniversities.com/subject-rankings/2017
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-07-29. สืบค้นเมื่อ 2015-06-02.
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-08-13. สืบค้นเมื่อ 2015-06-02.
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-07-29. สืบค้นเมื่อ 2015-06-02.
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-07-29. สืบค้นเมื่อ 2015-06-02.
- ↑ http://www.acc.chula.ac.th/index.php/template/faculty-logo-th.html เก็บถาวร 2015-07-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน สัญลักษณ์คณะฯ
- ↑ https://datadirect.aacsb.edu/public/profiles/profile.cfm?interstitialComplete=1&runReport=1&unitid=55197&userType=All
- ↑ (มหาชน), บริษัท มติชน จำกัด. "โครงการChAMPบัญชีฯจุฬาฯ สุดยอดนวัตกรรมการศึกษาฯ หนึ่งเดียวของไทยที่ได้รับยกย่องระดับสากล." Prachachat Online. May 16, 2017. Accessed May 17, 2017. http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1494922845.
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-04-15. สืบค้นเมื่อ 2015-06-02.
- ↑ http://www.manager.co.th/Qol/ViewNews.aspx?NewsID=9580000045990[ลิงก์เสีย]
- ↑ http://www.mahidol.ac.th/th/twitter/news-2015-04-27-13.pdf[ลิงก์เสีย]
- ↑ http://www.manager.co.th/Qol/ViewNews.aspx?NewsID=9580000045990[ลิงก์เสีย]
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-07-29. สืบค้นเมื่อ 2015-06-02.
- ↑ https://datadirect.aacsb.edu/public/profiles/profile.cfm?interstitialComplete=1&runReport=1&unitid=54901&userType=All
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-05-06. สืบค้นเมื่อ 2015-06-02.
- ↑ http://www.syr.edu
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 2015-06-02.