ข้ามไปเนื้อหา

ข้าวต้มมัด

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก ข้าวต้มมัดไต้)
ข้าวต้มมัด
ข้าวต้มมัดไส้เนื้อหมู
ชื่ออื่นข้าวต้มผัด
ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ส่วนผสมหลักข้าวเหนียว, กะทิ, กล้วย

ข้าวต้มมัด หรือ ข้าวต้มผัด เป็นขนมชนิดหนึ่งที่ทำด้วยข้าวเหนียวผัดกับกะทิ แล้วนำไปห่อด้วยใบตองหรือใบมะพร้าวอ่อน ใส่ไส้กล้วย นำไปนึ่งให้สุก ทางภาคใต้ใช้ข้าวเหนียวกับน้ำกะทิ ห่อด้วยใบพ้อ เรียกห่อต้ม ถ้าห่อด้วยใบมะพร้าว และมัดด้วยเชือกเรียกห่อมัด ขนมแบบเดียวกับข้าวต้มยังพบในประเทศอื่นอีก เช่นในฟิลิปปินส์เรียก อีบอส หรือ ซูมัน ที่แบ่งย่อยได้หลายชนิดเช่นเดียวกับข้าวต้มมัดของไทย [1]

อีบอส ขนมของฟิลิปปินส์ที่คล้ายข้าวต้มมัดของไทย
ข้าวต้มมัดไส้กล้วย หรือ ข้าวต้มกล้วย

ข้าวต้มมัดอีกชนิดหนึ่งเรียก ข้าวต้มลูกโยน เป็นขนมที่ใช้ในเทศกาลออกพรรษา ห่อด้วยใบพ้อหรือยอดมะพร้าวเป็นรูปรี ข้างในเป็นข้าวเหนียวผสมถั่วดำไม่มีไส้ ผูกเข้าด้วยกันเป็นพวงแล้วนำไปต้ม ส่วน ข้าวต้มมัดไต้ เป็นข้าวต้มที่ห่อแล้วมัดให้มีลักษณะเหมือนไต้ที่ใช้จุดไฟ ไส้เป็นถั่วทองโขลกกับรากผักชี กระเทียม พริกไทย ใส่หมู มันหมู ปรุงรสด้วยเกลือ น้ำ น้ำตาลทราย ห่อด้วยใบตองเป็นแท่ง มัดเป็นเปลาะ 4-5 เปลาะ แล้วนำไปต้ม บางท้องที่ใช้เป็นขนมไหว้เจ้าในเทศกาลตรุษจีนและสารทจีนด้วย

ในปี พ.ศ. 2557 กรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) ในสังกัดกระทรวงวัฒนธรรม ได้ขึ้นทะเบียนข้าวต้มมัดให้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ในสาขาความรู้และแนวปฏิบัติเกี่ยวกับธรรมชาติและจักรวาล เพื่อป้องกันมิให้สูญหาย พร้อมกับมรดกทางวัฒนธรรมอย่างอื่น[2]

ประเภท[แก้]

ภาคกลาง[แก้]

เรียกว่า “ข้าวต้มมัด” โดยเรียกตามรูปลักษณ์ที่มีห่อและมัดเป็นกลีบโดยใช้ใบตองและเชือกกล้วย

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ[แก้]

เรียกข้าวต้มมัดว่า ข้าวต้มกล้วย ใช้ข้าวเหนียวดิบมาห่อ ปรุงรสด้วยเกลือนิดหน่อย ใส่ถั่วลิสงต้มสุกเคล้าให้เข้ากันแล้วจึงห่อเป็นมัด ใส่ไส้กล้วย เอาไปต้มให้สุก ถ้าเป็นแบบผัด จะผัดข้าวเหนียวกับกะทิก่อนแล้วจึงห่อใส่ไส้กล้วย แล้วต้มให้สุก ถ้าต้องการหวานจะเอามาจิ้มน้ำตาล[3]

ภาคเหนือ[แก้]

เรียกข้าวต้มมัดว่า ข้าวต้มผัด โดยเรียกตามกรรมวิธีที่ต้องมีการผัดก่อนนำไปห่อ และมีข้าวต้มอีกแบบหนึ่งที่นิยมนำข้าวต้มมัดที่สุกแล้วมาหั่นเป็นชิ้นๆ คลุกกับมะพร้าวขูด โรยน้ำตาลทราย เรียก ข้าวต้มหัวหงอก[4]

ภาคใต้[แก้]

ข้าวต้มมัดไม่มีไส้ เป็นข้าวเหนียวผัดกับกะทิ ใส่ถั่วขาว ไม่นิยมใช้ถั่วดำ ออกรสเค็มเป็นหลัก ถ้าต้องการให้มีรสหวานจะเอาไปจิ้มน้ำตาล[3] ส่วนทางนครศรีธรรมราชจะเรียกว่า “เหนียวห่อกล้วย” เพราะ ลักษณะท่เห็น ประกอบกับวิธีการทาท่เป็นการนาข้าวเหนียวมาห่อกล้วยเอาไว้และห่อปิดด้วยใบตองอีกช้นหนึ่ง นอกจากนี้  และมีขนมชนิดหนึ่งเรียก ข้าวต้มญวน มีลักษณะคล้ายข้าวต้มมัดแต่ห่อใหญ่กว่า ทำให้สุกด้วยการต้ม เมื่อจะรับประทานจะหั่นเป็นชิ้นๆ คลุกกับมะพร้าวขูด เกลือและน้ำตาลทราย[5]

ภูมิภาคอื่น[แก้]

ในประเทศลาวมีข้าวต้มมัดเช่นเดียวกันเรียกว่า "เข้าต้ม" (ลาว: ເຂົ້າຕົ້ມ) ไส้เค็มใส่มันหมูกับถั่วเขียว ไส้หวานใส่กล้วย

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  • อรวสุ นพพรรค์. ขนมไทย. กทม. โอเดียนสโตร์. 2542
  1. Nocheseda, Elmer I. "IN PRAISE OF SUMAN PAST". Tagalog Dictionary. สืบค้นเมื่อ 2008-01-27.
  2. "ประกาศ! ข้าวต้มมัด-เมี่ยงคำ เป็นมรดกเสี่ยงสูญหายของชาติ". เอ็มไทยดอตคอม. 11 September 2014. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-10-26. สืบค้นเมื่อ 13 September 2014.
  3. 3.0 3.1 เส้นทางขนมไทย. กทม. แสงแดด. 2553. หน้า 69-73
  4. "อาหารล้านนา: ข้าวต้มหัวหงอก". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-06-20. สืบค้นเมื่อ 2010-05-01.
  5. สารานุกรมวัฒนธรรมภาคใต้. กทม. สถาบันทักษิณคดีศึกษา. 2527

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]