ข้ามไปเนื้อหา

ลุดตี่

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ลุดตี่
ลุดตี่ในภาพถูกตัดให้มีขนาดเล็กพอ ๆ กับถ้วยตะไล
ชื่ออื่นแป้งกลอก, ขนมกลอก
มื้ออาหารว่าง
แหล่งกำเนิดประเทศไทย
ภูมิภาคย่านคลองบางหลวง กรุงเทพมหานคร
ส่วนผสมหลักแป้งข้าวเจ้า, น้ำ, ไข่ไก่, หญ้าฝรั่น

ลุดตี่ เป็นอาหารว่างของไทยอย่างโบราณชนิดหนึ่ง ปัจจุบันยังปรากฏอยู่ในสำรับอาหารงานบุญของชาวไทยมุสลิมแถบคลองบางหลวง ฝั่งธนบุรี กรุงเทพมหานคร[1] และพบในกลุ่มชาวมุสลิมย่านหัวแหลม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา[2] มีลักษณะเป็นแป้งสีเหลืองแผ่นกลมคล้ายโรตี รับประทานเคียงด้วยการห่อเข้ากับแกงไก่ หรือแกงเขียวหวานเนื้อ[3] บางแห่งรับประทานเล่นเป็นขนมใส่ไส้สังขยาหรือไส้เค็มที่ทำจากกุ้ง ก็จะเรียกว่า ขนมกลอก หรือ แป้งกลอก[2]

ลุดตี่เป็นหนึ่งในอาหารไทยที่ปรากฏใน กาพย์เห่เรือชมเครื่องคาวหวาน พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ความว่า

๏ ลุดตี่นี้น่าชม แผ่แผ่นกลมเพียงแผ่นแผง
โอชาน่าไก่แกง แคลงของแขกแปลกกลิ่นอาย
กาพย์เห่เรือชมเครื่องคาวหวาน[4]

ตัวแป้งลุดตี่ทำจากแป้งข้าวเจ้า ที่มาจากข้าวสารแช่น้ำหนึ่งคืน ก่อนนำไปโม่เจือน้ำ แล้วนำแป้งที่ได้ไปผสมกับไข่ไก่ ใส่สีเหลืองที่ได้จากหญ้าฝรั่นหรือผงขมิ้น จากนั้นนำแป้งที่ผสมแล้วไปหยอดลงบนกระทะ กลอกแป้งให้เป็นแผ่นกลม รอจนแป้งสุกจึงนำขึ้นจากกระทะ[2]

ปรกติลุดตี่จะรับประทานคู่กับแกงไก่หรือแกงแดง จะเรียกว่า ลุดตี่จิ้มคั่ว หรือ ลุดตี่หน้าไก่แกง ประกอบไปด้วยเนื้อไก่ หอมแดง และกระเทียมชิ้นเล็ก ๆ อย่างละเท่า ๆ กัน เข้าเครื่องแกงและเครื่องเทศอย่างแกงมัสมั่น เพียงแต่ไม่ใส่มันฝรั่ง เมื่อจะรับประทาน ก็จะแผ่แป้งลุดตี่ออกแล้วใส่แกง โรยผักชีสดและพริกชี้ฟ้าแดงพอชม ห่อม้วนเป็นคำพอรับประทาน[2] หากรับประทานลุดตี่เป็นของหวาน จะเรียกว่า แป้งกลอก หรือ ขนมกลอก มีสองไส้ คือไส้หวาน เป็นสังขยาที่ทำจากไข่เป็ดกวนกับน้ำตาลปึก กับไส้เค็ม ที่ทำจากกุ้งสับ ผัดกับรากผักชี กระเทียม และพริกไทยโขลก ใส่มะพร้าวขูด มันกุ้ง โรยด้วยใบมะกรูดหั่นฝอย ก่อนห่อกับแป้ง จะใส่ถั่วงอกลวกรองก้นเอาไว้[2]

นอกจากนี้ ชื่อ ลุดตี่ ยังนำไปใช้เรียกแป้งนานสำหรับรับประทานคู่กับน้ำตาลทรายแดงกับน้ำมันเนยว่า ลุดตี่แป้งดำ ซึ่งวิธีทำแป้งต่างจากลุดตี่ เรียกของว่างชนิดนี้ว่ามะนิด่า[2]

อ้างอิง

[แก้]
  1. สุนิติ จุฑามาศ (18 กันยายน 2561). "ล้อมวงกิน 'ตับซี' สำรับอาหรับที่หาได้ในมัสยิดเท่านั้น". The Cloud. สืบค้นเมื่อ 14 ตุลาคม 2563. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 2.5 ธีรนันท์ ช่วงพิชิต (เมษายน 2544). "ตามรอย สำรับแขกคลองบางหลวง". สารคดี. สืบค้นเมื่อ 14 ตุลาคม 2563. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  3. สันติ เศวตวิมล (13 ธันวาคม 2561). "อาหารอิสลามในประวัติศาสตร์ไทย". ทางอีศาน. สืบค้นเมื่อ 14 ตุลาคม 2563. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  4. พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ ๒). "กาพย์เห่เรือชมเครื่องคาวหวานและงานนักขัตฤกษ์" – โดยทาง วิกิซอร์ซ.