โจ๊ก

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
โจ๊ก
โจ๊กของจีน
ประเภทข้าวต้ม
อุณหภูมิเสิร์ฟร้อน
ส่วนผสมหลักข้าว

โจ๊ก เป็นข้าวต้มชนิดหนึ่งที่ใช้ปลายข้าวต้มจนเละ นิยมรับประทานกันในหลายประเทศในเอเชีย ในบางวัฒนธรรมจะรับประทานโจ๊กเป็นอาหารเช้าหรืออาหารมื้อค่ำแทนอาหารหลักในบางมื้อ ส่วนเทศกาลวันตรุษจีนจะมีข้อห้ามกินโจ๊กเพราะการกินโจ๊กวันตรุษจีนเหมือนกับการขัดขวางไม่ให้ตัวเองร่ำรวยเนื่องจากคนจนจะนิยมกินโจ๊ก โจ๊กยังสามารถทำได้ในหม้อธรรมดาหรือหม้อหุงข้าว

คำว่า congee ในภาษาอังกฤษน่าจะมีความเป็นไปได้ว่ามาจากคำในภาษาดราวิเดียน คำว่า kanji [1] และเว็บสเตอร์ดิกชันนารี ระบุว่าคำว่า Congee มาจากอินเดีย[2] ส่วนคำว่า โจ๊ก ในภาษาไทย เลียนเสียงมาจากภาษาจีนกวางตุ้ง จ๊ก (粥 zuk1) [3] บ้างก็ว่ามาจากคำว่า ล่าปาเจี๋ย (腊八节) ซึ่งแปลว่า "เทศกาลลาป่า" อันเป็นประเพณีตั้งแต่โบราณ ตั้งแต่ยุคสามราชาห้าจักรพรรดิ (2852 ก่อนคริสตกาล ถึง 2070 ก่อนคริสตกาล) ซึ่งเป็นการล่าสัตว์เพื่อบูชาบรรพบุรุษและเทพเจ้า ตามคติของพุทธศาสนาแบบมหายานของจีน เล่าว่า เจ้าชายสิทธัตถะขณะกำลังบำเพ็ญทุกรกิริยาจนกระทั่งสลบไป หญิงเลี้ยงวัวคนหนึ่งมาพบเข้าได้นำอาหารที่ติดตัวมาผสมกับนมวัวรวมกับผลไม้ป่าหลายชนิดป้อนให้เจ้าชายสิทธัตถะให้รับประทานจนกระทั่งฟื้นคืนสติ และได้ตรัสรู้ในคืนนั้นสำเร็จเป็นพระพุทธเจ้า ตรงกับวันขึ้น 8 ค่ำ เดือน 12 ตามปฏิทินจีน ในยุคราชวงศ์หมิง (ค.ศ. 1368 ถึง ค.ศ. 1644) เล่ากันว่าจูหยวนจาง ปฐมจักรพรรดิขณะยังมีสถานะเป็นสามัญชน เป็นผู้ที่มีความเป็นอยู่แร้นแค้นมาก วันหนึ่งได้ขุดรูหนูเพื่อจับหนูกิน แต่ได้ไปพบข้าวฟ่างและธัญพืชหลายชนิด จึงนำมาต้มรวมกัน เรียกว่า ล่าปาโจว (腊八粥; แปลว่า ข้าวต้มล่าปา) ในประเทศไทยบางพื้นที่ออกเสียงคำว่า "โจว" (节) เพี้ยนเป็น "โจ๊ก" จนกลายมาเป็นโจ๊กดังในปัจจุบัน [4]

อ้างอิง[แก้]

  1. Dravidian Studies 1, by T. Burrow Bulletin of the School of Oriental Studies, University of London © 1938
  2. "congee". Webster's Revised Unabridged Dictionary. MICRA, Inc. 23 November 2008.
  3. เธียรชัย เอี่ยมวรเมธ. พจนานุกรม จีน-ไทย (จีนกลาง กวางตุ้ง แต้จิ๋ว) . กรุงเทพฯ : รวมสาส์น, 2541. หน้า 405. ISBN 978-974-246-307-6
  4. หน้า 3, เทศกาลล่าปา โดย กิเลน ประลองเชิง. "ชักธงรบ". ไทยรัฐปีที่ 68 ฉบับที่ 21842: วันพฤหัสบดีที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560 แรม 6 ค่ำ เดือน 12 ปีระกา

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]