โรตี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
โรตี
โรตีแบบอินเดีย หรือ จปาตี
ชื่ออื่นRuti
แหล่งกำเนิดอนุทวีปอินเดีย[1][2][3]
ผู้สร้างสรรค์อารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุ[1]
ส่วนผสมหลักแป้งสาลี

โรตี เป็นอาหารชนิดหนึ่ง ทำจากแป้ง นวดแล้วนำไปทอดหรือปิ้งเป็นแผ่นบาง ๆ รับประทานเป็นของหวานหรือรับประทานพร้อมอาหารคาวอื่น ๆ ในประเทศไทยมักจะคุ้นกับโรตีที่ทอดเป็นแผ่นนุ่ม ราดด้วยนมข้นและน้ำตาลทรายเป็นของหวาน

คำว่า โรตี เป็นคำศัพท์ที่พบได้ในหลายภาษา ได้แก่ ภาษาฮินดี, อุรดู, ปัญจาบี, โซมาลี, อินโดนีเซีย และมลายู ซึ่งทั้งหมดมีความหมายว่า ขนมปัง

ชื่อ[แก้]

โดยทั่วไปแล้ว คำว่า โรตี นั้น อาจหมายถึง ขนมปัง หรือผลิตภัณฑ์จากแป้งหลากหลายชนิด เช่น จปาตี และผุลกา ซึ่งผลิตภัณฑ์แป้งหรือขนมปังแต่ละอย่างต่างก็มีชื่อเฉพาะแตกต่างกันไป สำหรับในภาษามราฐี มักจะเรียกว่า จปาตี หรือ โปลี ส่วนในคุชรตี เรียกว่า "โรตลี" ในภาษาปัญจาบีเรียกว่า ผุลกา (Phulka) และมักจะใช้เรียกขนมปัง โดยมากจะการใช้คำนี้จะหมายถึงแป้งแบนกลม ไม่ขึ้นฟู อย่างที่รับประทานกันทั่วไปในประเทศอินเดียและปากีสถาน ส่วนแป้งแบบใส่ยีสต์ให้ขึ้นฟูนั้น จะเรียกว่า "นาน" (naan) ซึ่งเดิมมีกำหนดจากทางตะวันตกเฉียงเหนือของเอเชียใต้และเอเชียกลาง บางครั้งชาวตะวันตกจะเรียกโรตีแบบนี้ว่า 'balloon bread' หรือ ขนมปังพอง

นอกเอเชียใต้[แก้]

ในประเทศมาเลเซีย คำนี้มีความหมายรวมถึงผลิตภัณฑ์แป้งทุกอย่าง รวมทั้งขนมปังแบบตะวันตกและขนมปังดั้งเดิมของปัญจาบี โรตีนั้นส่วนใหญ่จะทำมาจากแป้งข้าวสาลี ทอดบนกระทะแบนหรือโค้งเล็กน้อย เรียกว่า ตาวา (tawa) โดยนิยมทานเป็นอาหารหลักร่วมกับกับข้าวหรืออาหารอื่น อาจทาด้วยเนยใสหรือโยเกิร์ตขาว

โรตีไทย[แก้]

โรตีใส่กล้วยและไข่ในเชียงใหม่

ในประเทศไทยนั้น คำว่า "โรตี" หมายถึง แป้งชนิดที่เรียกว่า "ไมทาปราฐา" แบบเดียวกันกับ โรตีมาเรียม โรตีจาเน หรือ โรตีกอนเด ในอาหารอินโดนีเซีย โรตีจาไน ในอาหารมาเลเซีย และ โรตีปราตา ในอาหารสิงคโปร์ แต่คนไทยไม่นิยมรับประทานโรตีกับแกงที่มีกลิ่นเครื่องเทศรุนแรง จึงนิยมโรยหน้าด้วยนมข้นหวาน น้ำตาลทราย บางครั้งก็ใส่ไข่ไก่ลงไปขณะกำลังทอดแป้งบนกระทะ รับประทานขณะร้อนหรืออุ่น โดยมีลักษณะเป็นของหวานมากกว่าของคาว[4] แต่โรตีที่รับประทานกับแกง หรือที่เรียกว่า โรตีจิ้มแกง มีจำหน่ายอยู่ชุมชนมุสลิมในกรุงเทพมหานคร และจังหวัดในแถบภาคใต้[5] โดยมากจะรับประทานคู่กับแกงไก่ และแกงมัสมั่นเนื้อ เสิร์ฟพร้อมกับอาจาด[6]

ปัจจุบันมีการทำโรตีหลายรสชาติ โดยที่นิยมกันมากคือการใส่กล้วยหอม โดยนำมาสับเป็นแว่นเล็ก ๆ แล้วโรยไปบนแป้งโรตีขณะทอดร้อน ๆ นอกจากนี้ยังมีโรตีราดแยมผลไม้และใส่เครื่องปรุงรสอื่น ๆ เช่น ช็อกโกแลต กาแฟ และยังมีโรตีพิซซ่า ซึ่งเป็นการผสมผสานรสชาติของตะวันออกและตะวันตกไว้ด้วยกัน

โรตีในประเทศไทย มีทั้งในร้านอาหารและขายตามรถเข็น ผู้ขายจะทอดโรตีตามคำสั่งลูกค้า เมื่อปรุงเสร็จ จะพับและม้วนเป็นท่อนยาว ห่อด้วยกระดาษ หากเป็นโรตีที่มีไส้ ก็จะมีการหั่นเป็นชิ้นสี่เหลี่ยมเล็ก ๆ ราดด้วยนมข้นและน้ำตาลทราย ปัจจุบันพบว่าผู้ขายจำนวนมากในประเทศไทยเป็นผู้สืบเชื้อสายมาจากเอเชียใต้ ได้แก่ ปากีสถาน อินเดีย และบังกลาเทศ

ราคาโรตีแต่ละร้านจะแตกต่างกันออกไป เริ่มจากประมาณ 10 บาท ขึ้นไปจนถึง 60 บาท

โรตีของอินเดียตะวันตก[แก้]

ในอินเดีย นอกจากคำว่า โรตี ยังมีชื่อเรียกว่า จปาตีหรือนาน โดยส่วนมากใช้แป้งสาลีผสมน้ำเปล่านวดจนเนียน จากนั้นแบ่งแป้งออกเป็นก้อน เพื่อนำไปทาบกระทะให้ร้อนและกรอบ หรือนำไปนาบไว้ภายในโอ่งขนาดใหญ่ที่สุ่มไฟใว้ข้างในจนร้อน เพื่อให้แป้งแห้งและกรอบฟู โดยทานกับเครื่องเคียงประเภทแกงเนื้อหรือแกงรสจัดแบบต่าง ๆ ในท้องถิ่น [7] [8] [9]

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 Alan Davidson (21 August 2014). The Oxford Companion to Food. OUP Oxford. pp. 692–. ISBN 978-0-19-104072-6.
  2. Jim Smith (15 April 2008). Technology of Reduced Additive Foods. John Wiley & Sons. pp. 113–. ISBN 978-1-4051-4795-8.
  3. Bruce Kraig; Colleen Taylor Sen (9 September 2013). Street Food Around the World: An Encyclopedia of Food and Culture. ABC-CLIO. pp. 301–. ISBN 978-1-59884-955-4.
  4. "รอบโลก.. โรตี". The Connecion. สืบค้นเมื่อ 31 ธันวาคม 2565. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  5. ปรัชวิชญ์ บุญยะวันตัง (30 กรกฎาคม 2565). "ชายคาเรื่องสั้น (7) – ประชากรแฝงในโรตีแกง". เดอะอีสานเรคคอร์ด. สืบค้นเมื่อ 31 ธันวาคม 2565. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  6. "โรตีน้ำแกงแถวน้ำ". เทศบาลนครภูเก็ต. สืบค้นเมื่อ 31 ธันวาคม 2565. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  7. http://www.oknation.net/blog/laemkcl/2007/12/11/entry-1
  8. http://www.ksa.deeanddang.com/tag/%E0%B9%82%E0%B8%A3%E0%B8%95%E0%B8%B5/[ลิงก์เสีย]
  9. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-10-19. สืบค้นเมื่อ 2010-09-07.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]