แกงเหงาหงอด

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
แกงเหงาหงอด
มื้ออาหารหลัก
ภูมิภาคประเทศไทย
ผู้สร้างสรรค์ชาวโปรตุเกสในอยุธยา[1][2]
อุณหภูมิเสิร์ฟร้อน
ส่วนผสมหลักพริกแกง, ปลาสังกะวาด, ฟักแฟง, แตงโมอ่อน, มะขามเปียก
รูปแบบอื่นแกงส้ม, แกงชักส้ม

แกงเหงาหงอด เป็นแกงไทยชนิดหนึ่ง ให้รสเปรี้ยวคล้ายแกงส้มของภาคกลางหากแต่มีน้ำแกงใสกว่า[3][4] ถือเป็นแกงโบราณที่มาตั้งแต่ยุคอาณาจักรอยุธยา[1][5][6] และเชื่อว่าเป็นอาหารที่ดัดแปลงมาจากบูยาแบ็ส (ฝรั่งเศส: bouillabaisse) ซึ่งได้รับผ่านนักเดินเรือชาวโปรตุเกสอีกทอดหนึ่ง[1][5][6] แกงเหงาหงอดนี้มีรสชาติอย่างแกงส้มผสมแกงป่า เพราะโดดเด่นด้านความเผ็ดร้อน[1][2]

ประวัติ[แก้]

สันนิษฐานกันว่าแกงเหงาหงอด คืออาหารที่ชาวโปรตุเกสปรุงเป็นบูยาแบ็ส โดยใช้วัตถุดิบที่มีอยู่ในท้องถิ่น เช่น เปลี่ยนปลาค็อดมาใช้ปลาสังกะวาด เพิ่มเติมด้วยสมุนไพร ได้แก่ กระเทียม หอมแดง กระชาย พริกชี้ฟ้า กะปิ และใช้ความเปรี้ยวจากส้มมะขาม (หรือมะขามเปียก) แต่สิ่งที่ยังคงเดิมตามรูปแบบของบูยาแบ็ส คือการโรยหน้าด้วยใบโหระพา[2] ในเวลาต่อมาแกงเหงาหงอดได้กลายเป็นหนึ่งในเครื่องเสวยของเจ้านายในราชสำนักอยุธยา[1] เพราะแกงนี้มีสรรพคุณทำให้คลายหนาว รักษาระบบเลือดลมได้เป็นอย่างดี[2] อาหารชนิดนี้ได้ตกทอดมาจนถึงยุครัตนโกสินทร์ ท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงศ์ ได้บันทึกถึงแกงเหงาหงอดนี้ไว้ว่า "...แกงเหงาหงอด จึงกลายเป็นซุปฝาหรั่งในสำรับเครื่องคาวชาวกรุงศรีฯ ที่มีการผสมผสานด้านวัฒนธรรมการกินในรูปแบบใหม่ โดยชาวกรุงศรีอยุธยารู้จักดัดแปลงให้เหมาะสมกับวัฒนธรรมการกินอยู่และวัตถุดิบในพื้นถิ่นจนกลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว และยังสืบทอดเป็นภูมิปัญญาในกลุ่มชาวไทยเชื้อสายโปรตุเกสมาจนกระทั่งทุกวันนี้..."[1][2] อย่างไรก็ตาม กฤช เหลือลมัย คอลัมนิสต์ แสดงความเห็นว่า แกงนี้ดูไม่เหมือนอาหารโปรตุเกสเท่าใด[3]

ชื่อ "แกงเหงาหงอด" นี้ ยังคงเป็นปริศนาถึงที่มาและความหมาย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สกุลตรา ค้ำชู สันนิษฐานว่าอาจเป็นชื่อที่คล้องจองกับอาหารโปรตุเกสก็เป็นได้[5] ส่วนกฤช เหลือลมัย สันนิษฐานว่าอาจมาจากคำ "กระเง้ากระงอด" เพราะแม่ครัวต้องกรองน้ำแกงให้ใสอยู่คนเดียว "...นี่อาจจะคือ ‘แกงกระเง้ากระงอด’ (?) ที่แสดงอาการแง่งอน การหลบลี้ เฝ้านั่งก้มหน้ากรองน้ำแกงซ้ำแล้วซ้ำเล่าอยู่คนเดียวจนใสกิ๊ก แล้วครั้นงอนแต่ลำพังคนเดียวหนักเข้า คนทำเหตุเองก็พลอยลืมโทษแห่งตน จดจำเคลื่อนคลาดเป็นแกงเหงาหงอดไป ก็อาจเป็นได้..."[3]

ส่วนผสม[แก้]

พริกแกงที่ใช้ทำแกงเหงาหงอดมีลักษณะใกล้เคียงกับพริกแกงสำหรับทำแกงส้ม ประกอบไปด้วย พริกชี้ฟ้าเหลืองสด พริกชี้ฟ้าแดงแห้ง กระเทียม หอมแดง กระชาย กะปิ[5] (บางสูตรใส่ข่าลงไปด้วย)[1][3][4] จากนั้นนำพริกแกงไปละลายน้ำแล้วกรองด้วยผ้าขาวบางให้เหลือแต่น้ำสีใส นำน้ำที่ได้จากการกรองนี้ไปต้มจนเดือดจึงใส่ปลาลงไป ดั้งเดิมจะใช้ปลาสังกะวาดเป็นหลัก แต่ในปัจจุบันนิยมใช้ปลาสวาย[4] ปลาเนื้ออ่อน[2][5] หรือปลาน้ำดอกไม้แทน[1][5] ปรุงรสด้วยเกลือ น้ำส้มมะขาม อาจใช้น้ำมะนาวหรือน้ำมะกรูดให้รสเปรี้ยว[1][2][4] และด้วยความที่เป็นแกงโบราณ จึงใช้ความหวานที่ได้จากพืช ได้แก่ ฟักแฟง และแตงโมอ่อนแบบไม่ปอกเปลือก (เพื่อรักษาคุณค่าทางโภชนาการ) ไม่ใช้น้ำตาลตัดรสหวาน[5] แล้วโรยหน้าด้วยใบโหระพา[2][4]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 1.5 1.6 1.7 1.8 โรม บุนนาค (10 กุมภาพันธ์ 2566). "เคยกินกันมั๊ย "แกงเหงาหงอด"! ซุปโปรตุเกสกลายเป็นแกงสุขภาพของเจ้านายกรุงศรีอยุธยา!!". The Cloud. สืบค้นเมื่อ 7 มกราคม 2567. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 2.5 2.6 2.7 มนชนก จุลสิกขี (22 ธันวาคม 2565). การสร้างแรงจูงใจในการท่องเที่ยวเชิงอาหาร ชุมชนกุฎีจีน เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร (PDF). ทีทัศน์วัฒนธรรม สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา. p. 199-200.
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 กฤช เหลือลมัย (16 กรกฎาคม 2561). "นานา 'โอชารมณ์'". Way. สืบค้นเมื่อ 7 มกราคม 2567. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  4. 4.0 4.1 4.2 4.3 4.4 "สำรับสำราญอาหารสยาม-โปรตุเกส ชุมชนกุฎีจีน". มิวเซียมไทยแลนด์. 1 กรกฎาคม 2560. สืบค้นเมื่อ 7 มกราคม 2567. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  5. 5.0 5.1 5.2 5.3 5.4 5.5 5.6 ปิ่นอนงค์ ปานชื่น (31 พฤษภาคม 2559). "อาหารโบราณ 4 แผ่นดิน". กรุงเทพธุรกิจ. สืบค้นเมื่อ 7 มกราคม 2567. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  6. 6.0 6.1 ภานุภน บุลสุวรรณ และเฉลิมพล โรหิตรัตนะ (23 กุมภาพันธ์ 2566). "ออกรส แกงส้ม". The Cloud. สืบค้นเมื่อ 7 มกราคม 2567. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)