เนื้อนางเพา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เนื้อนางเพา
มื้อกับข้าว, กับแกล้ม
แหล่งกำเนิดประเทศไทย
ผู้สร้างสรรค์ชาวไทยเชื้อสายเปอร์เซีย[1][2]
อุณหภูมิเสิร์ฟร้อน, อุณหภูมิห้อง
ส่วนผสมหลักเนื้อวัว (หรือหมู), พริกแกงคั่ว, กะทิ, น้ำปลา, น้ำตาลปี๊บ, ไข่เค็ม
พลังงาน
(ต่อ 1 จาน หน่วยบริโภค)
1,386.74 กิโลแคลอรี[2]
โปรตีน67.01 กรัม
ไขมัน110.35 กรัม
คาร์โบไฮเดรต47.13 กรัม

เนื้อนางเพา เป็นอาหารไทยโบราณชนิดหนึ่ง คือเป็นเนื้อย่างราดน้ำราดที่มีลักษณะข้นอย่างแกงกินเคียงกับไข่แดงเค็ม[1] และเป็นกับแกล้มสุราอย่างหนึ่ง[3] สันนิษฐานว่าเดิมคงเป็นอาหารของชาวไทยเชื้อสายเปอร์เซีย แต่ก็ยังไม่มีที่มาชัดเจน[1][2] ชื่ออาหารนี้ยังเป็นปริศนา วันดี ณ สงขลา ผู้เชี่ยวชาญด้านอาหาร ให้คำอธิบายว่า "เพา" แปลว่า "ส่วย"[2] และมีการผูกนามอาหารชนิดนี้เข้ากับวรรณกรรมพื้นบ้านเรื่อง นางสิบสอง ซึ่งมีตัวละครหนึ่งชื่อนางเภา[1][2]

โดยเนื้อหาที่ผูกกับวรรณกรรมพื้นบ้านเรื่อง นางสิบสอง ระบุว่า มีหญิงสาวสิบสองคนเข้าเป็นลูกเลี้ยงของนางยักษ์ แต่เมื่อหญิงสาวเหล่านี้ทราบว่าแม่เลี้ยงเป็นยักษ์ก็พากันหลบหนี ทำให้นางยักษ์ทั้งรักทั้งแค้นจึงจับนางทั้งสิบสองคนที่กำลังตั้งครรภ์ไปไว้ในถ้ำพร้อมกับควักลูกตาออก เหลือแต่นางเภาที่นางยักษ์ควักลูกตาออกเพียงข้างเดียว เพราะนางยักษ์รักนางเภากว่าลูกคนอื่น นางเภาจึงรับหน้าที่หุงหาอาหารให้พี่ ๆ ได้รับประทาน แต่ลูก ๆ เหล่าพี่สาวของนางเภากลับเป็นทารกตายคลอดจำนวน 11 คน นางเภาจึงแบ่งเนื้อทารกออกเป็น 12 กอง ทยอยนำมาปรุงเป็นอาหารให้พี่สาวประทังชีวิต ขณะที่นางเภาได้ลอบคลอดบุตรมาคนหนึ่งชื่อว่า รถเสน ซึ่งมีชีวิตรอดและเติบโตอยู่ในถ้ำ ไม่ถูกนำไปปรุงเป็นอาหารของป้า ๆ[1] จึงคาดว่าอาหาร "เนื้อนางเพา" นี้ คงเป็นเนื้อสำหรับทำอาหารกองที่ 12 ที่นางเภาปรุงเป็นยำเนื้อหลอกให้เหล่าพี่สาวได้รับประทานโดยคิดว่าเป็นเนื้อของลูกนางเภา[2][3]

ส่วนขั้นตอนการทำเนื้อนางเพา เริ่มจากการนำเนื้อวัว (หรือหมู) หมักกะทิและเกลือห่อใบตองไปย่างไฟ แล้วนำมาหั่นเป็นชิ้นบางพอคำ[3] ส่วนน้ำราดทำจากหัวกะทิผัดกับพริกแกงคั่ว ปรุงรสด้วยน้ำปลา และน้ำตาลปี๊บ ส่วนไข่เค็ม จะต้องนำไข่ธรรมดาเอาเฉพาะไข่ขาวไปนึ่ง จากนั้นปั้นไข่แดงเค็มเป็นก้อนเล็ก ๆ วางลงบนไข่ขาว แล้วใช้แม่พิมพ์กดไข่ขาวให้มีรูปร่างสวยงามตามที่ต้องการ[2] ตกแต่งจานด้วยไข่เค็ม แตงกวา พริกชี้ฟ้า โหระพา รับประทานคู่กับข้าวสวย[2] หรือเป็นกับแกล้ม[3]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 อาสา คำภา (2565). รสไทย(ไม่)แท้: ถอดรูปทิพย์อาหารไทยในสนามการเมืองวัฒนธรรม. กรุงเทพฯ: มติชน. p. 284-285.
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 2.5 2.6 2.7 "อึ้ง!! ตำนาน "เนื้อนางเพา" เมื่อเรื่องเล่านางสิบสองกลายเป็นอาหาร สูตรโบราณควรค่าแชร์เก็บไว้เป็นสมบัติ". ชีวจิต. 11 มีนาคม 2560. สืบค้นเมื่อ 8 มกราคม 2567. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 "แม่เรไร ตอนที่ ๙ - ยำเนื้อนางเพา". ธัญวลัย. สืบค้นเมื่อ 8 มกราคม 2567. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)