พริกชี้ฟ้า

พริกชี้ฟ้า (ชื่อวิทยาศาสตร์ Capsicum annuum Linn. Var acuminatum Fingerh.) เป็นพืชวงศ์ Solanaceae เป็นพริกอีกหนึ่งชนิดที่ได้รับความนิยมในการนำมาประกอบเมนูอาหารแทบทุกเมนู โดยให้รสชาติเผ็ดร้อนแบบกำลังดี ไม่เผ็ดมากจนเกินไปเมื่อเทียบกับพริกขี้หนู พริกชนิดนี้เป็นพืชที่ปลูกและเจริญเติบโตได้ง่าย มีถิ่นกำเนิดอยู่ในอเมริกาใต้ แต่ได้มีการนำมาปลูกกันทั่วโลกในปัจจุบัน และเนื่องจากมีสรรคุณทางยามากมาย จึงสามารถนำมาใช้บำรุงร่างกายได้เป็นอย่างดี[1]
ชื่ออื่น ๆ
[แก้]- ชื่ออังกฤษ: spur chilli, spur chili pepper, spur pepper, long red pepper
- ชื่อพื้นเมือง: พริกชี้ฟ้า พริกเดือยไก่ พริกบางช้าง พริกชี้ฟ้า (ภาคเหนือ) พริกมัน (กรุงเทพฯ) พริกแล้ง (เชียงใหม่) พริกซ่อม พริกขี้หนู พริกนก พริกขี้นก ดีปลีขี้นก (ใต้) ดีปลี (ปัตตานี) ปะแกว (นครราชสีมา) หมักเพ็ด พริกแกว (อีสาน) พริกยักษ์ - พริกหวาน พริกฝรั่ง พริกหลวง พริกแม้ว พริกกะเหรี่ยง พริกหัวเรือ พริกห้วยสีทน พริกสันป่าตอง พริกภูเรือ พริกจีน พริกเจแปน พริกต้ม และพริกแจว เป็นต้น
ลักษณะ
[แก้]ไม้ล้มลุก สูง 0.5-1.5 เมตร ใบเดี่ยวออกตรงกันข้ามหรือออกสลับ รูปใบหอก กว้าง 1-4 เซนติเมตร ยาว 2-8 เซนติเมตร ดอกสีขาว ออกเดี่ยวตามซอกใบและปลายกิ่ง โคนกลีบดอกเชื่อมกัน ปลายแยกเป็น 5 แฉก ดอกห้อยลง เมื่อบานเส้นผ่าศูนย์กลาง 1-1.5 เซนติเมตร เกสรตัวผู้ 5 อัน ผลรูปทรงกระบอกยาว ปลายเรียวแหลม มักโค้งงอ ยาว 6-9 เซนติเมตร ผิวเป็นมันสีเขียว เมื่อสุกเปลี่ยนเป็นสีเหลืองหรือสีแดง มีเมล็ดแบนสีนวลจำนวนมาก
การปลูก
[แก้]มีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกาใต้ จัดเป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก มีอายุยืน 1-3 ปี ในประเทศไทยมีการนำเข้าและเพาะปลูกกันมานานแล้ว เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนระบายน้ำดีหรือปลูกบนดินรังปลวกก็จะมีอายุอยู่ได้นาน พบได้ในทุกภาคของประเทศไทย มีสรรพคุณช่วยให้เจริญอาหาร บำรุงธาตุในร่างกาย ลดความดันโลหิต เพราะทำให้เลือดอ่อนตัว และทำให้ระบบการไหลเวียนของเลือดเป็นไปได้ด้วยดี ช่วยเร่งการย่อยสลาย ขับเหงื่อ และช่วยลดน้ำหนักได้ดี ช่วยกระตุ้นการทำงานของกระเพาะ ทำให้ระบบการย่อยอาหารทำงานได้ดียิ่งขึ้น ทั้งนี้พริกชี้ฟ้ามีรสชาติที่เผ็ดร้อนน้อยกว่าพริกขี้หนูมาก[2]
ในพริกชี้ฟ้า 100 กรัม ประกอบไปด้วยพลังงาน 129 แคลอรี่ น้ำ 63.8 เปอร์เซ็นต์ โปรตีน 1.5 กรัม ไขมัน 0.5 กรัม ใยอาหาร 2.2 วิตามินเอ 1917 หน่วยสากล วิตามินบี1 0.07 มิลลิกรัม วิตามินบี2 0.01 มิลลิกรัม วิตามินบี3 0.1 มิลลิกรัม วิตามินซี 204 มิลลิกรัม แคลเซียม 103 กรัม ธาตุเหล็ก 0.5 กรัม ฟอสฟอรัส 27 มิลลิกรัม
1. เสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย ในพริกชี้ฟ้ามีวิตามินเอและวิตามินซีสูง ซึ่งวิตามินทั้ง 2 ชนิด เป็นสารอาหารที่จะช่วยส่งเสริมระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย และช่วยในการป้องกันไข้หวัดได้เป็นอย่างดี ในพริกชี้ฟ้ายังมีสารเบต้าแคโรทีนรวมถึงสารต้านอนุมูลอิสระ จึงทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายแข็งแรงยิ่งขึ้น
2. ช่วยลดน้ำตาลในเลือด จากการศึกษาพบว่า สารแคปไซซินที่อยู่ในพริกชี้ฟ้าจะช่วยยับยั้งการดูดซึมน้ำตาลกลูโคส ซึ่งได้มีการทดลองกับกลุ่มผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน 10 คน โดยให้ดื่มน้ำตาลกลูโคส 75 กรัม หลังจากนั้นจึงทำการเจาะเลือดเก็บข้อมูล ก่อนดื่มและหลังดื่ม 15 นาที กระทั่งเวลา 30 นาที และ 60 นาที ในวันต่อมา ก็ให้กลุ่มอาสาสมัครดื่มน้ำตาลกลูโคสเหมือนเดิม แต่ให้เพิ่มการทานพริกเข้าไป ซึ่งพบว่าระดับน้ำตาลในวันที่มีการทานพริกชี้ฟ้าเข้าไปด้วย มีระดับต่ำกว่าวันที่ไม่ทานพริกชี้ฟ้าประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ จึงสรุปได้ว่า การทานพริกชี้ฟ้า มีส่วนช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้
3. ทำให้เลือดไหลเวียนดีขึ้น ระบบการไหลเวียนเลือดจะทำงานดีขึ้น หากทานพริกเป็นประจำ เนื่องจากสารแคปไซซิน จะช่วยลดการหดตัวของหลอดเลือด ส่งผลทำให้หลอดเลือดขยายตัว ทำหน้าที่ส่งเลือดไปหล่อเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ในร่างกายได้เป็นอย่างดี ในพริกยังมีสารเบต้าแคโรทีนและวิตามินเอสูง ซึ่งมีคุณสมบัติทำให้ผนังหลอดเลือดยืดหยุ่น ส่งเสริมการสร้างผนังหลอดเลือดให้แข็งแรง จึงช่วยลดความเสี่ยงจากการเกิดหลอดเลือดอุดตันได้
4.ควบคุมระดับคอเลสเตอรอล ได้มีการทดลองให้ผู้ป่วยที่มีไขมันในเลือดสูง ทานพริกชี้ฟ้าวันละ 5 กรัม และให้ทานอาหารตามปกติในระยะเวลา 4 สัปดาห์ แล้วจึงนำผลมาเปรียบเทียบกับผู้ป่วยที่ไม่ทานพริกชี้ฟ้า จากการทดลองพบว่า ผู้ป่วยที่ทานพริกชี้ฟ้า จะมีระดับคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดีคงที่ แต่มีระดับคอเลสเตอรอลชนิดที่ดีเพิ่มขึ้น สำหรับผู้ป่วยที่ไม่ทานพริกชี้ฟ้าเลย จะมีระดับคอเลสเตอรอลทั้งหมดสูงขึ้น ดังนั้นการทานพริกชี้ฟ้าจึงช่วยเพิ่มระดับคอเลสเตอรอลที่ดี โดยที่ยังคงสามารถช่วยควบคุมระดับคอเลสเตอรอลที่ไม่ดีให้คงที่ สารแคปไซซินที่อยู่ในพริกชี้ฟ้า ยังสามารถช่วยป้องกันไม่ให้ร่างกายสร้างคอเลสเตอรอลที่ไม่ดี ทำให้มีระดับไตรกลีเซอไรด์ที่ต่ำลงอีกด้วย
5. ป้องกันโรคโลหิตจาง โรคโลหิตจาง มีสาเหตุหลักเกิดจากการขาดธาตุเหล็กในร่างกาย เพราะธาตุเหล็กเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ใช้ในการสร้างเม็ดเลือด โดยจะช่วยผลิตเซลล์เม็ดเลือดแดงรวมทั้งฮีโมโกลบินให้มีปริมาณมากขึ้น ในพริกชี้ฟ้ามีธาตุเหล็กอยู่ในปริมาณที่เหมาะสม นอกจากนี้ ยังมีทองแดง ทำให้ร่างกายสามารถดูดซึมธาตุเหล็กไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในพริกชี้ฟ้ายังมีกรดโฟลิกที่จะทำให้เซลล์เม็ดเลือดแดงแข็งแรง นอกจากนี้ พริกชี้ฟ้ายังช่วยป้องกันโรคโลหิตจางได้ด้วย
6. ป้องกันโรคมะเร็ง วิตามินซีที่อยู่ในพริกชี้ฟ้า มีส่วนช่วยป้องกันการสร้างไนโตรซามีน ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งในระบบทางเดินอาหาร มีส่วนช่วยสร้างคอลลาเจน ซึ่งเป็นโปรตีนที่มีคุณสมบัติหยุดยั้งการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง ดังนั้นวิตามินซีที่มีอยู่มากในพริก จึงช่วยป้องกันโรคมะเร็งได้ดี นอกจากนี้ ในพริกยังเต็มไปด้วยสารเบต้าแคโรทีน เรารู้จักกันดีว่าสารเบต้าแคโรทีนเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ที่จะช่วยป้องกันการกลายพันธุ์ของเซลล์ ช่วยทำลายมะเร็ง โดยเฉพาะมะเร็งปอดและมะเร็งช่องปาก
7. ลดความเสี่ยงโรคหัวใจ เพียงแค่ทานพริกชี้ฟ้าอย่างเป็นประจำ ก็สามารถช่วยลดความเสี่ยงจากโรคหัวใจได้แล้ว พริกชี้ฟ้ามีคุณสมบัติช่วยลดการจับกลุ่มของเกล็ดเลือด มีส่วนช่วยละลายลิ่มเลือด ทำให้เลือดไม่จับตัวกันเป็นก้อน จนทำให้หลอดเลือดอุดตัน การทานพริกชี้ฟ้ายังคงช่วยควบคุมระดับคอเลสเตอรอล ลดระดับไตรกลีเซอไรด์ให้ต่ำลง และทำให้สุขภาพหัวใจแข็งแรง
พริกชี้ฟ้าได้มีการนำมาใช้เป็นสมุนไพรบำบัดอาการเจ็บป่วยต่างๆ ได้อย่างมากมาย โดยจะช่วยแก้อาการปวดเมื่อย บรรเทาอาการปวดหัว แก้พิษแมลงต่าง และช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดได้เป็นอย่างดี ดังนั้น เรามาดูวิธีการใช้พริกชี้ฟ้าเพื่อสุขภาพกันเลย
1.รักษาอาการปวดเอว นำผงพริกชี้ฟ้า วาสลีนและแป้งหมี่ เติมเหล้าเหลืองลงไป แล้วคนให้เข้ากันจนกลายเป็นเนื้อครีม เสร็จแล้วนำมาทาลงบนกระดาษแก้ว เอามาปิดไว้บริเวณที่ปวด แล้วใช้พลาสเตอร์ปิดรอบ ๆ จะทำให้เหงื่อออก ทำให้เคลื่อนไหวคล่องขึ้น อาการปวดจะบรรเทาลง เนื่องจากบริเวณที่พอกจะมีความรู้สึกร้อน ทำให้เลือดไหลเวียนดีขึ้น
2.แก้ส้นเท้าแตก ให้นำพริกชี้ฟ้าทั้งต้นมาผสมกับปูนขาว ในปริมาณที่พอเหมาะ จากนั้นนำมาต้ม เอาน้ำที่ได้ มาแช่เท้าที่แตกลงไป ถ้าไม่หายให้นำต้นสลัดไดและรากหนอนตายหยาบใส่ลงไปด้วยทั้งต้น
3.ใช้แก้พิษแมลง ให้นำพริกชี้ฟ้าแห้งมาตำให้ละเอียดละลายกับน้ำมะนาว แล้วนำมาทาบริเวณที่ถูกแมลงกัด จะทำให้อาการปวดหายไปได้อย่างรวดเร็ว
4.แก้อาการปวดศีรษะ ให้นำใบพริกชี้ฟ้าสด มาตำกับดินสอพอง แล้วนำมาปิดบริเวณขมับ จะช่วยแก้อาการปวดศีรษะอันเนื่องมาจากไข้หวัด
การกินพริกชี้ฟ้า มีข้อควรระวังเช่นกัน เนื่องจากพริกก็ทำให้เกิดสิวได้ เพราะมีคุณสมบัติขับของเสียออกจากร่างกาย ของเสียจะถูกขับออกมาทางผิวหนังในรูปแบบเหงื่อ หากเราทำความสะอาดผิวไม่ดีเพียงพอ อาจก่อให้เกิดการอุดตันและทำให้ผิวเกิดการอักเสบหรือเป็นสิวขึ้นได้ง่ายนั่นเอง สำหรับผู้ที่ไม่เคยทานเผ็ด ให้ระวังความเผ็ดของพริกที่มากกว่าปกติ ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพเกี่ยวกับกระเพาะอาหาร ไม่ควรทานพริก เพราะจะทำให้เกิดการระคายเคืองมากขึ้น พริกชี้ฟ้าเป็นสมุนไพรที่มีสรรพคุณหลายด้าน ช่วยป้องกันโรคหัวใจ โรคมะเร็ง มีวิตามินซีสูง เต็มไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ ที่ช่วยปกป้องเซลล์ในร่างกายจากการถูกทำลาย นอกจากนี้ พริกชี้ฟ้ายังช่วยเพิ่มรสชาติในอาหาร ช่วยทำให้อาหารมีรสชาติอร่อยมากยิ่งขึ้น