ทอดมัน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ทอดมัน
ชื่ออื่นปลาเห็ด
ประเภททอด
มื้ออาหารจานหลัก
แหล่งกำเนิดไทย
ส่วนผสมหลักปลาหรือกุ้ง พริกแกง ถั่วฝักยาวหรือถั่วพูซอย ใบมะกรูดหั่นละเอียด

ทอดมัน เป็นอาหารไทยชนิดหนึ่ง ที่นำกุ้งหรือปลา (ส่วนใหญ่ใช้เนื้อปลากราย ปลาดาบลาว ปลาทู ปลาน้ำดอกไม้ ปลายี่สก ปลาสลาด) มาขูดตำ นวดกับน้ำเกลือจนเหนียว คลุกเคล้าผสมพริกแกง ถั่วฝักยาวหรือถั่วพูซอย ใบมะกรูดหั่นละเอียด บางสูตรผสมไข่ไก่ ปั้นแผ่เป็นแผ่นกลมหนา ทอดน้ำมันจนสุก กินกับน้ำจิ้มอาจาดสามรส โรยถั่วลิสงคั่วบด แนมแตงกวาหั่น ในบางพื้นที่ เช่น จังหวัดเพชรบุรี นิยมกินทอดมันกับขนมจีน โดยเนื้อทอดมันจะแผ่เป็นแผ่นบางใหญ่ และร้านส่วนมากจะผสมใบกะเพราลงไปในเนื้อทอดมันด้วย[1]

ชื่อและประวัติ[แก้]

ในบางพื้นที่เรียกทอดมันว่า "ปลาเห็ด" โดยเฉพาะตามชุมชนริมแม่น้ำทุกสายในภาคกลางตอนบน อย่างจังหวัดพิษณุโลกหรือจังหวัดสุโขทัยเป็นต้น คำว่า ปลาเห็ด เพี้ยนมาจากคำเขมรว่า ปฺรหิต (อ่านว่า [ปรอเหิต]) หมายถึง ลูกชิ้นหรืออาหารที่เอาเนื้อสับปั้นเป็นก้อนเล็ก ๆ แล้วทำให้สุก บางพื้นที่เรียก "ปลาเห็ด" เมื่อใช้ปลาน้ำจืดหรือปลาเล็กปลาน้อยสับทั้งก้าง เมื่อใช้เนื้อปลากราย ปลายี่สก หรือปลาสลาดขูด จึงเรียกว่า "ทอดมัน" แต่บางพื้นที่ก็เรียกทอดมันทั้งสองแบบว่า "ปลาเห็ด" เหมือนกัน อย่างไรก็ดี เชื่อว่าคำว่า ปลาเห็ด เป็นคำเกิดใหม่ เพราะปรากฏการใช้คำว่า ทอดมัน มานานตั้งแต่สมัยอยุธยาแล้ว[2] เช่นในเสภาเรื่อง ขุนช้างขุนแผน ความว่า[3]

๏ ฝ่ายว่าสายทองกับข้าคน ทำสำรับสับสนทอดมันกุ้ง
พริกส้มข่าตะไคร้ใส่ปรุง แกงอ่อมหอมฟุ้งทั้งต้มยำฯ

ในสมัยรัตนโกสินทร์ปรากฏสูตรทอดมันปลากรายในหนังสือ ประติทินบัตรแลจดหมายเหตุ เล่ม 1 (พ.ศ. 2432) และ ตำหรับสายเยาวภา ของสายปัญญาสมาคม (พ.ศ. 2478) ซึ่งดูใกล้เคียงทอดมันปัจจุบัน ใน ปะทานุกรม การทำของคาวหวานอย่างฝรั่งแลสยาม (พ.ศ. 2441) ปรากฏชื่อทอดมันปลาและทอดมันหมู[2]

อ้างอิง[แก้]

  1. อรุณวตรี รัตนธารี. "ความหลากหลายของ 'ทอดมัน' ตำรับฉันและเธอ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-12-30. สืบค้นเมื่อ 2022-12-30.
  2. 2.0 2.1 "เปิดข้อสันนิษฐาน คำว่า "ปลาเห็ด" มาจากไหน? ใช่อาหารชนิดเดียวกับ "ทอดมัน" หรือไม่!?". ศิลปวัฒนธรรม.
  3. "ตอนที่ ๘ พลายแก้วถูกเกณฑ์ทัพ". วัชรญาณ.