ข้าวยาคู

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ข้าวยาคู
ชื่ออื่นข้าวกระยาคู ข้าวยาคุ ข้าวยาโค ข้าวมธุปายาส มธุปายาสยาคู ข้าวทิพย์ ข้าวกระยาทิพย์[1]
ประเภทขนม
แหล่งกำเนิดประเทศไทย
ส่วนผสมหลักข้าวอ่อนที่มีน้ำนม น้ำตาลทราย แป้งมัน กะทิสดผสมเกลือเล็กน้อย

ข้าวยาคู เป็นขนมไทยชนิดหนึ่ง ที่นำข้าวอ่อนนำมาตำให้เม็ดแหลก แล้วกรองเอาส่วนที่เป็นน้ำมาต้มกับน้ำตาล ทำให้มีลักษณะคล้ายแป้งเปียกสีเขียวอ่อน เมื่อกินอาจราดหน้าด้วยน้ำกะทิเล็กน้อยหรือใส่มะพร้าวอ่อนก็ได้[2]

ประวัติ[แก้]

ข้าวยาคูอาจถือว่าเป็นขนมไทยที่มีความเก่าแก่ที่สุด[3] มีความเกี่ยวข้องกับความเชื่อทางพระพุทธศาสนา คำว่า "ยาคู" มาจากภาษาบาลีว่า "ยาคุ" ตามความเชื่อที่ปรากฏในพระไตรปิฎกที่กล่าวถึงที่มาของข้าวยาคูว่าพราหมณ์คนหนึ่งนำข้าวยาคูมาถวายพระพุทธเจ้า ผลบุญจึงส่งให้เป็นผู้รู้ธรรมองค์แรก ชาวพุทธส่วนหนึ่งจึงเชื่อว่า อานิสงส์ของการให้ทานข้าวยาคูหรือให้ข้าวยาคูแก่ผู้อื่น คือการให้อายุ วรรณะ สุข กำลัง และปฏิภาณผู้มีปัญญา ในหลายพื้นที่ของประเทศไทยมีประเพณีกวนข้าวยาคู ชาวบ้านจะช่วยกันกวนข้าวยาคู[4]

ใน ไตรภูมิพระร่วง วรรณกรรมสมัยสุโขทัย ปรากฏในเนื้อหาส่วนที่ว่าด้วยเรื่องของพระเจ้าอโศกมหาราช กล่าวถึงพระนางอสันธิมิตตาถวายจังหันแด่พระสงฆ์ ว่า "นางจิงแต่งจังหันแลเข้ายาคูอีกสรรพาหารแลหมากพลู อังคาสแด่พระสงฆ์ทั้งหลาย" ในวินัยปิฎกและพระสูตรอังคุตตรนิกาย กล่าวว่า ข้าวยาคูมีประโยชน์ 5 ประการ คือ ช่วยบรรเทาความหิว บรรเทาความกระหาย ทำให้ลมเดินสะดวก ช่วยชำระลำไส้ และช่วยย่อยอาหาร[5]

ใน กำสรวลสมุทร วรรณกรรมสมัยอยุธยาตอนต้น กล่าวถึงการกินข้าว ยาคูว่าไม่อิ่มท้องเหมือนการกินข้าวที่เป็นอาหารมื้อหลัก ความว่า

บได้กล้ำข้าวแต่ วันมา
กลืนแต่ยาคูกวน กึ่งช้อน

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชาธิบายว่าข้าวยาคูเป็นอาหารที่รับมาจากวัฒนธรรมอินเดียหรือของพราหมณ์[6]

อ้างอิง[แก้]

  1. "ยาคู ข้าวมธุปายาส". หอสมุดแห่งชาติ นครศรีธรรมราช.
  2. "ข้าวยาคู". สำนักงานราชบัณฑิตยสภา.
  3. ณวรา เปลี่ยนบุญเลิศ. "ข้าวยาคู". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-12-29. สืบค้นเมื่อ 2022-12-29.
  4. สุริวัสสา กล่อมเดช. "ข้าวยาคู ขนมสะท้อนวัฒนธรรมและศาสนาที่หากินยาก".
  5. "ข้าวยาคูในสมัยพุทธกาลเป็นอย่างไร".
  6. ธนภัทร พิริย์โยธินกุล. "วัฒนธรรมอาหารในวรรณคดีไทยสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น" (PDF). จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. คณะอักษรศาสตร์. p. 39.