ไตปลา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
แกงไตปลา

ไตปลา (ภาคกลาง) หรือ พุงปลา (ภาคใต้) เป็นการถนอมอาหารแบบหมักดองชนิดหนึ่ง โดยใช้กระเพาะของปลา เช่น ปลาทู ปลาลัง ปลาดุก ปลาช่อน หรือปลาอื่น ๆ มาหมักกับเกลือ โดยนำขี้และดีออกจากกระเพาะก่อน หมักไว้ 10 – 30 วันก็ใช้ได้ ไตปลาที่หมักได้ที่จะเหลวและมีมันไหลออกมา นำไปทำเป็นอาหารได้หลายชนิด เช่น ไตปลาที่เป็นเครื่องจิ้มคล้ายน้ำพริกของทางภาคกลาง หรือแกงพุงปลาที่เป็นอาหารที่มีชื่อเสียงของจังหวัดพัทลุง นอกจากนั้น ยังนำไตปลาไปผัดกับน้ำพริกแกง ใส่ปลาจิ้งจ้างและผัก เรียกไตปลาแห้ง[1]

ไตปลาที่เป็นเครื่องจิ้มนี้เป็นที่มาของอาหารชาววังที่เรียกว่าแสร้งว่าหรือแสร้งว่าไตปลา ซึ่งเป็นการปรุงแบบเดียวกับน้ำพริกไตปลาเพียงแต่ตัดไตปลาที่มีกลิ่นเหม็นคาวออกไป ใส่เครื่องปรุงอื่นลงไปแทน เช่น กุ้ง[2] แสร้งว่านี้ เป็นอาหารที่มีในกาพย์เห่ชมเครื่องคาวหวานของรัชกาลที่ 2

แกงไตปลา[แก้]

แกงไตปลา หรือแกงพุงปลาเป็นแกงที่มีไตปลาเป็นส่วนประกอบที่สำคัญ มีทั้งแบบที่ใสและไม่ใส่กะทิ แบบใส่กะทิเป็นที่นิยมในบางท้องที่ เช่นที่จังหวัดยะลา การแกงจะต้มกะทิแค่พอสุก ไม่แตกมัน น้ำพริกแกงประกอบด้วย พริกขี้หนูแห้ง เกลือ พริกไทยเม็ด ตะไคร้ ผิวมะกรูด กระเทียม ขมิ้น หอมแดง กะปิ[3]

แกงไตปลาแบบชุมพรจะไม่ใส่ข่า กระชาย หอมแดง กระเทียมในน้ำพริกแกง แต่จะซอยละเอียดใส่ลงในแกง เรียกแกงแบบนี้ว่าแกงไตปลาเครื่องซอย[4]

อ้างอิง[แก้]

  1. สุทัศน์ ศุกลรัตนเมธี; อติพจน์ ศรีสุคนธ์. หรอยอย่างแรง อร่อยอิ่มริมฝั่งอันดามัน. กรุงเทพฯ: ตู้กับข้าว. 2557. ISBN 978-616-91-4183-9.
  2. "แสร้งว่ากุ้ง". สกุลไทย. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-01-05. สืบค้นเมื่อ 2022-01-05. ปีที่ 50 ฉบับที่ 2608. กรุงเทพฯ: อักษรโสภณ. 12 ตุลาคม 2547. ISSN 0125-068X.
  3. ครัวปักษ์ใต้. กรุงเทพฯ: แสงแดด. พิมพ์ครั้งที่ 4. หน้า 26. ISBN 9747588935
  4. ครัวปักษ์ใต้. กรุงเทพฯ: แสงแดด. พิมพ์ครั้งที่ 4. หน้า 188. ISBN 9747588935

บรรณานุกรม[แก้]

  • ซวา มาลี (2551). อาหารการกินแห่งลุ่มทะเลสาบ: รายการอาหารที่ไม่ใช่แค่เพียงการกิน. เครือข่ายสตรีรอบทะเลสาบ. กรุงเทพฯ: ภาพพิมพ์. หน้า 37 ISBN 9789740472377.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]