พะโล้

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พะโล้
หมูพะโล้ในไทย
มื้อจานหลัก
แหล่งกำเนิดจีน
อุณหภูมิเสิร์ฟร้อน
ส่วนผสมหลักเนื้อสัตว์ต้มกับเครื่องพะโล้
รูปแบบอื่นห่าน เป็ด หมู ไข่ เต้าหู้

พะโล้ เป็นการปรุงอาหารแบบจีนที่แพร่หลายไปทั่วประเทศจีน และได้แพร่หลายเข้ามาในประเทศไทยด้วย พะโล้ในภาษาไทยเป็นคำยืมจากภาษาจีนฮกเกี้ยน[1] คำว่า 拍滷 ซึ่งอ่านว่า "พะล่อ" (phah-ló͘) ในภาษาจีนฮกเกี้ยน หรืออ่านว่า "พะโล่ว" (pah4 lou2) ในภาษาจีนแต้จิ๋ว ซึ่งหมายถึงขั้นตอนหนึ่งในการทำเนื้อพะโล้ ซึ่งเป็นการเคี่ยวน้ำตาลทรายแดงให้ละลายในกระทะ ใส่เกลือ ซีอิ๊ว เนื้อสัตว์หรือเครื่องปรุงอื่น ๆ ลงไป เคล้าให้ทั่ว พอสีสวยใส่เครื่องเทศ ใส่น้ำ แล้วเคี่ยวจนสุก ถ้าเป็นเป็ดหรือห่านจะเพิ่มตะไคร้และข่าด้วยเพื่อดับกลิ่นสาบ ลวกด้วยน้ำพะโล้ให้สีสวยแล้วจึงนำลงต้มในน้ำพะโล้ต่อ คำว่าโล่วในภาษาจีนแต้จิ๋วตรงกับหลู่ในภาษาจีนกลางซึ่งหมายถึงน้ำแกงสีเข้ม ใส่เครื่องเทศ เกลือ ซีอิ๊ว ใช้ปรุงเนื้อสัตว์ให้มีสีออกน้ำตาลอมแดง[2]

พะโล้ในจีนแต่เดิมแบ่งเป็นพะโล้ภาคเหนือและพะโล้ภาคใต้ ส่วนของพะโล้ภาคใต้แบ่งเป็นพะโล้เสฉวน พะโล้กวางตุ้ง พะโล้แต้จิ๋ว พะโล้แคะ ซึ่งในกลุ่มนี้ พะโล้เสฉวนมีชื่อเสียงที่สุดโดยเฉพาะพะโล้ซี่โครงหมู[2] พะโล้ในแต่ละเมืองมีเอกลักษณ์ต่างกันไป เช่น พะโล้ที่เมืองซูโจวรสหวานนำ ของมณฑลซานตงสีออกแดงและเค็มนำ ของเสฉวนหอมและเผ็ด และพะโล้แบบแต้จิ๋วที่เป็นพะโล้แดงและมีกลิ่นหอม[3]

สูตรเครื่องเทศหรือเครื่องพะโล้มีได้หลายแบบ เครื่องพะโล้ที่นิยมใช้ได้แก่ อบเชย กานพลู โป๊ยกั้ก เปลือกส้มแมนดารินตากแห้ง เม็ดผักชี ยี่หร่า ใบเฉาก๊วย หล่อฮังก๊วย พริกไทย พริกเสฉวน ชะเอมเทศ ซังยิ้ง ใบเฮียวเฮียะ นอกจากนั้นจะใส่เครื่องปรุงอื่น ได้แก่ หอมแดง กระเทียม รากผักชี ข่า[3] ขิงแห้ง กระวาน เปราะหอม เร่วหอม พะโล้ที่ดีจะปรุงให้ได้ 5 รสโดยใช้เครื่องเทศจีน 5 ชนิด (ผงห้าเครื่องเทศ)[2] พะโล้ที่ทำโดยคนไทยจะปรับให้ปรุงง่ายขึ้น ใส่เครื่องเทศจีนเพียงไม่กี่อย่าง และใส่ไม่มากนัก โดยมากนิยมใส่โป๊ยกั้กและอบเชย ในแต้จิ๋วนิยมทำห่านพะโล้และเป็ดพะโล้ โดยจะกินกับน้ำจิ้มที่ทำจากต้นกระเทียมสับใสน้ำส้มสายชู น้ำพะโล้ที่เหลือจากการต้มห่านและเป็ดจะนำไปต้มขาหมู เครื่องใน เลือด และเต้าหู้เป็นอย่างสุดท้าย[3]

อ้างอิง[แก้]

  1. http://sealang.net/thai/chinese/modern.htm
  2. 2.0 2.1 2.2 อดุลย์ รัตนมั่นเกษม. พะโล้. ครัว. ปีที่ 19 ฉบับที่ 227. พฤษภาคม 2556. หน้า 83 - 89
  3. 3.0 3.1 3.2 สุทัศน์ ศุกลรัตนเมธี. สืบสานตำนานอาหารแต้จิ๋ว. กทม. ตู้กับข้าว. 2556หน้า 27 – 29