แมวไทย
มุมมองและกรณีตัวอย่างในบทความนี้อาจไม่ได้แสดงถึงมุมมองที่เป็นสากลของเรื่อง |
แมวไทย คือแมวที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศไทย คุณสมบัติที่ทำให้แมวไทยเหนือกว่าแมวชนิดอื่น คือ เรื่องอุปนิสัย แมวไทยมีความฉลาด มีความเป็นตัวของตัวเอง รู้จักคิด รู้จักประจบ รักบ้าน รักเจ้าของ และเหนืออื่นใด คือ รักความอิสระของตัวเองเป็นชีวิตจิตใจ อิสระที่ จะกิน จะดื่ม หรือจะไปไหนตามที่ใจชอบ ซึ่งถือว่าเป็นบุคลิกประจำตัวที่ทำให้แตกต่างจากแมวพันธุ์อื่น สีสันตามตัวของแมวไทย เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้นักรักแมวรู้สึกสุขใจยามได้มอง ไม่ว่าจะเป็น วิเชียรมาศ เก้าแต้ม ขาวมณีหรือขาวปลอด นิลรัตน์หรือดำปลอด ศุภลักษณ์หรือ ทองแดง สีสวาดหรือแมวไทยพันธุ์โคราช ต่างล้วนได้รับความสนใจ จากเจ้าของและผู้สนใจทั้งสิ้น
ประวัติ
[แก้]แมวถือเป็นหนึ่งในสัตว์เลี้ยงของคนไทยมาช้านาน และได้รับสิทธิในการขึ้นไปอาศัยอยู่บนเรือนร่วมกับมนุษย์ ดังปรากฏในประเพณีขึ้นบ้านใหม่ที่จะมอบของมงคลต่าง ๆ แก่เจ้าของเรือน ซึ่งมีสัตว์เลี้ยงสองชนิดไก่และแมว ทั้งยังปรากฏแมวในสำนวนหรือสุภาษิตต่าง ๆ เป็นต้นว่า "หุงข้าวประชดหมา ปิ้งปลาประชดแมว" "ฝากปลาย่างไว้กับแมว" และ "แมวนอนหวด" เป็นต้น[1] นอกจากเลี้ยงในเรือนแล้ว พระสงฆ์ก็นิยมเลี้ยงแมวในวัดด้วย เพราะป้องกันมิให้หนูมากัดทำลายพระไตรปิฏก[2]
ตำราดูลักษณะแมว เกิดขึ้นมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาซึ่งเป็นหนึ่งในตำราพรหมชาติซึ่งคัดลอกต่อ ๆ กันมา ฉบับหนึ่งอยู่ในการครอบครองของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (นวม พุทฺธสโร) สมเด็จพระราชาคณะฝ่ายมหานิกาย ผู้โปรดปรานการเลี้ยงแมว ตำราดังกล่าวเป็นสมุดข่อย เนื้อหาแต่งเป็นโคลงและกาพย์ แบ่งแมวไทยออกเป็น 23 สายพันธุ์ เป็นแมวมงคล 17 สายพันธุ์ และแมวให้โทษ 6 สายพันธุ์[1][3] ส่วนตำราแมวฉบับอื่น ๆ ก็ระบุไว้ใกล้เคียงกัน[4][5] จากเนื้อหาแสดงให้เห็นถึงค่านิยมของคนไทยด้านรูปลักษณ์ เพราะแมวมงคลนั้นล้วนมีลักษณะที่งาม อันแสดงให้เห็นว่าแมวเป็นสัตว์เลี้ยงที่เป็นบ้านเป็นตาของบ้าน[1] ทั้งนี้แมวไทยส่วนใหญ่มีอุปนิสัยดี ไม่ดุร้าย ฉลาด รู้จักประจบประแจง รักเจ้าของ และมีความเป็นต้วของตัวเอง[2] และมีข้อดีที่สำคัญคือมีภูมิต้านทานต่อโรคเขตร้อนสูง ขนสั้น ไม่มีปัญหาด้านเชื้อราจากความชื้น[6]
เมื่อปี พ.ศ. 2427 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานแมววิเชียรมาศคู่หนึ่งให้แก่ กงสุลอังกฤษชื่อ โอเวน กูลด์ แมวไทยคู่นี้ชนะการประกวดแมวที่ กรุงลอนดอน และทำให้ชาวอังกฤษนิยมเลี้ยงแมวไทยมากขึ้น ในที่สุดก็แพร่หลายไปทั่วโลก และแมววิเชียรมาศก็เป็นที่รู้จักในภาษาอังกฤษว่า "Siamese Cat" หรือ แมวสยาม
สำหรับในประเทศไทย คนไทยที่เป็นที่รับรู้ดีว่าชอบเลี้ยงแมวไทย เช่น สมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรีและอดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร, พิชัย วาสนาส่ง อดีตผู้เชี่ยวชาญเรื่องการต่างประเทศ และ ดร.สมเกียรติ อ่อนวิมล อดีตผู้อำนวยการ อสมท. เป็นต้น
แมวไทยในระดับนานาชาติ
[แก้]ในสหรัฐอเมริกา แมวไทยตัวแรกเป็นแมวของ ลูซี่ เว็บบ์ ภรรยาของ รัทเทอร์ฟอร์ด บี. เฮส์ ประธานาธิบดีคนที่ 29 ของสหรัฐอเมริกา[7]
ทั้งนี้แมววิเชียรมาศได้รับการยกย่องจากนักจิตบำบัดในฐานะแมวที่ช่วยเสริมสร้างความสดใสและสมดุลทางอารมณ์ให้กับผู้เลี้ยง และมักถูกแนะนำให้ผู้ป่วยโรคทางจิตเวชที่มีโรคซึมเศร้าหรือวิตกกังวล เพื่อเป็นตัวช่วยในการบำบัดอาการ[6] ชาวต่างชาตินิยมนำแมวไทยไปผสมกับแมวพันธุ์ที่มีอุปนิสัยดุ เพื่อให้ลูกที่เกิดมาเชื่องหรือดุน้อยลง[2]
ปัจจุบันแมวไทยที่ปรากฏในตำราซึ่งยังหลงเหลืออยู่คือ วิเชียรมาศ, โกนจา, ขาวมณี มาเลศ และศุภลักษณ์ ได้มีสิทธิบัตร แบ่งเป็น วิเชียรมาศ (พ.ศ. 2471) จดโดยอังกฤษ โกนจา, ขาวมณี (พ.ศ. 2542) และมาเลศ (พ.ศ. 2502) จดโดยสหรัฐ ศุภลักษณ์ (พ.ศ. 2567) จดโดยไทย[6][8][9]
ปัจจุบันยีนของแมวไทยได้กระจายไปสู่แมวสายพันธุ์ต่างประเทศทั่วโลกมากถึง 40 สายพันธุ์ด้วยกัน[10]
ชนิด
[แก้]สมุดข่อยโบราณได้กล่าวถึงแมวไทยไว้ 23 ชนิด ซึ่งเป็นแมวดีให้คุณ 17 ชนิด และแมวร้ายให้โทษ 6 ชนิด แมวไทย (วิฬาร) ที่ยังเหลือให้พบเห็นในปัจจุบันนี้มี 6 ชนิดคือ วิเชียรมาศ สีสวาด ศุภลักษณ์ โกญจา ขาวมณี และแซมเสวตร[11] แต่แท้จริงแล้วในสมุดข่อยโบราณได้กล่าวถึงแมวไทยว่ามีทั้งหมด 23 สายพันธุ์ แบ่งออกเป็นแมวให้คุณ 17 ชนิด และ แมวร้ายให้โทษอีก 6 ชนิด
แมวดีให้คุณ
[แก้]รูป | ชื่อ | ลักษณะ |
---|---|---|
กรอบแว่น, อานม้า | มีขนสีขาวทั้งตัว ส่วนขอบตาและกลางแผ่นหลังมีสีดำ คล้ายกรอบแว่นตาและอานม้าตามลำดับ | |
กระจอก | มีขนสีดำมันทั้งตัว ตาสีเหลือง รอบปากมีสีขาว | |
การเวก | ขนมีสีดำทั้งตัว ปลายจมูกมีสีขาว สีเหลืองอำพัน | |
เก้าแต้ม | ขนมีสีขาวทั้งตัว มีจุดสีดำรอบตัวเก้าแห่ง คือ หัว คอ โคนขาหน้าและหลังทั้งสี่ ไหล่ทั้งสอง และโคนหาง | |
โกนจา, โกญจา, ร่องมด, ดำปลอด | ขนสั้นเรียบละเอียดสีดำสนิททั้งตัวนัยน์ตาสีเหลืองอมเขียว ปากเรียว หูตั้ง | |
จตุบท | มีสีดำ นอกจากปลายเท้าขึ้นมาจนถึงข้อพับทั้งสี่ข้างเป็นสีขาว นัยน์ตาเป็นสีเหลือง | |
แซมเสวตร | มีลักษณะเดียวกับโกนจา ตาสีเขียว แต่มีขนสีขาวแซม | |
นิลจักร | มีขนสีดำ บริเวณลำคอมีขนสีขาวเป็นวงเหมือนคล้องพวงมาลัย | |
นิลรัตน์ | มีลักษณะเดียวกับโกนจา ต่างกันตรงที่มีเล็บดำ ลิ้นดำ ฟันดำ และนัยน์ตาสีดำ | |
ปัดเสวตร, ปัดตลอด | มีขนสีดำเป็นมันเรียบ ยกเว้นปลายจมูกจนถึงปลายหางมีขาว ดวงตามีสีเหลืองคล้ายพลอย | |
มาเลศ, สีสวาด, โคราช, ดอกเลา[12] | มีขนสั้นสีสวาด ผิวหนังบริเวณจมูกและริมฝีปากมีสีเงินหรือม่วงอ่อน นัยน์ตาสีเขียว | |
มุลิลา | มีขนสีดำ ขนเรียบเป็นมัน แต่บริเวณสองหูเป็นสีขาว นัยน์ตาสีเหลือง | |
รัตนกำพล | มีขนสีขาว ยกเว้นลำตัวจะมีสีดำคาด นัยน์ตาสีทอง | |
วิเชียรมาศ | มีขนสั้นสีน้ำตาลอ่อน แต้มสีครั่งหรือน้ำตาลบนใบหน้า หูสองข้าง เท้าทั้งสี่ หาง และอวัยวะเพศ นัยน์ตาสีฟ้า | |
วิลาศ | มีขนเรียบสีดำ ยกเว้นใบหูทั้งสองข้าง ปากล่างลงมาถึงหน้าอก ปลายเท้าทั้งสี่ และจากท้ายทอย หลัง จนถึงปลายหางมีสีขาว | |
ศุภลักษณ์, ทองแดง | มีขนสีทองแดง นัยน์ตาสีเหลืองอำพัน อุ้งเท้ามีสีชมพู[12] | |
สิงหเสพย์, โสงหเสพย | มีขนสีดำทั้งตัว แต่มีสีขาวอยู่บริเวณริมฝีปาก จมูกและรอบคอ นัยน์ตาสีเหลืองทอง |
แมวร้ายให้โทษ
[แก้]รูป | ชื่อ | ลักษณะ |
---|---|---|
กอบเพลิง | มีนิสัยชอบอยู่ลำพังในที่ลับตา เมื่อพบคนจะหลบหนี | |
ทุพลเพศ | มีสีขาวหม่น หางขอดหรือม้วน นัยน์ตาสีแดงเหมือนเลือด | |
ปีศาจ | มีรูปร่างผอม ผิวหนังเหี่ยวยาน หางขอด นัยน์ตาสีแดง เมื่อออกลูกก็จะกินลูกของตัวเอง | |
พรรณพยัคฆ์, ลายเสือ | มีขนหยาบสีมะกอกเขียวหรือมะกอกแดงคาดลายอย่างเสือ นัยน์ตาสีแดง ชอบร้องเสียงโหยหวน | |
หิณโทษ | เป็นแมวเพศเมียลักษณะสวยงาม ขนงาม แต่มักแท้งลูกในท้อง | |
เหน็บเสนียด | เป็นแมวรูปพรรณพิกลพิการ โคนหางสีออกด่างและมักเอาหางซ่อนไว้ใต้ก้น และชอบกัดแมวตัวอื่นเสมอ |
อื่น ๆ
[แก้]เป็นแมวไทยที่พบในยุครัตนโกสินทร์ และไม่ปรากฏในสมุดข่อยในสมัยกรุงศรีอยุธยา ได้แก่
รูป | ชื่อ | ลักษณะ |
---|---|---|
กลีบบัว, สีกลีบบัว | ขนมีสีเทาอมชมพูล้วนทั้งตัว[13] คล้ายกลีบดอกบัวบูชาพระ อุ้งเท้ามีสีชมพู พบในปี พ.ศ. 2559 มีจำนวน 6 ตัวทั่วประเทศ[14] | |
ขาวมณี, ขาวปลอด | มีสีขาวปลอด มีตาสองสี เพิ่งถือกำเนิดในต้นยุครัตนโกสินทร์ | |
ท็องกินีส | เป็นแมวลูกผสมวิเชียรมาศกับเบอร์มีส ทำให้กลายเป็นแมวพันธุ์แท้ได้ หากนำท็องกินีสผสมกันก็จะออกลูกมาเป็นทั้งวิเชียรมาศและเบอร์มีส[15] | |
เบอร์มีส, ทองแดง, ศุภโชค | เป็นแมวไทยที่ไม่ปรากฏในสมุดข่อย ผู้คนมักเรียกว่า "ทองแดง" และสับสนกับศุภลักษณ์ ต่างตรงที่เบอร์มีสมีตาสีทอง[16] | |
วิฬาร์กรุงเทพ (เดิม มอคค่า)[17] |
เป็นแมวไทยสายพันธุ์ใหม่ พบในปี พ.ศ. 2558[18] มีจำนวน 25 ตัวทั่วประเทศ[19] |
ความเชื่อ
[แก้]คนไทยมีความเชื่อเรื่องลูกกรอกแมว คือซากลูกแมวที่ตายในท้อง หากนำมาบูชาจะเกิดลาภผล นอกจากนี้ยังเชื่อในเรื่องเพชรตาแมว คือลูกตาของแมวที่เป็นต้อหิน เมื่อแมวนั้นตาย ดวงตาที่เป็นต้อจะแข็งเป็นหิน หากใครครอบครองจะเกิดโชคลาภ คิดสิ่งใดหรือปรารถนาสิ่งใดก็จะสมประสงค์ดังหวัง[20]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 1.2 "ตำราดูแมว" (PDF). สถาบันไทยศึกษา. สืบค้นเมื่อ 20 พฤษภาคม 2018.
- ↑ 2.0 2.1 2.2 "แมวมงคง...ในตำราสมุดข่อยโบราณวัดทองนพคุณ". โพสต์ทูเดย์. 31 กรกฎาคม 2013. สืบค้นเมื่อ 20 พฤษภาคม 2018.
- ↑ "ตำราดูลักษณะแมว (วิฬาร์) ของวัดอนงคาราม". สยามบรรณาคม. สืบค้นเมื่อ 20 พฤษภาคม 2018.
- ↑ "ตำราแมวไทย". มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 18 กันยายน 2018. สืบค้นเมื่อ 20 พฤษภาคม 2018.
- ↑ "ก่อนหมดวันแมวโลก! เปิดภาพชุดสมุดข่อย "ตำราแมวไทย" นักวิชาการเชื่อ ลอกต่อกันมาตั้งแต่ยุคอยุธยา". มติชนออนไลน์. 8 สิงหาคม 2016. สืบค้นเมื่อ 19 พฤษภาคม 2022.
- ↑ 6.0 6.1 6.2 วรรณนัช ท้วมสมบูรณ์ (1 กันยายน 2017). "เลี้ยงแมวไทยกันไหม? แมวศุภลักษณ์ กับโอกาสสุดท้ายที่ทาสแมวจะได้เป็นเจ้าของแมวไทยขึ้นทะเบียน". เดอะสแตนดาร์ด. สืบค้นเมื่อ 20 พฤษภาคม 2018.
- ↑ "ประธานาธิบดีสหรัฐ". เดลินิวส์. 31 สิงหาคม 2014. สืบค้นเมื่อ 30 สิงหาคม 2014.
- ↑ "ไทยเชื่องช้า แมวไทยสี่ชนิดกลายเป็นของต่างชาติไปแล้ว". โลกสีเขียว. 9 ตุลาคม 2016. สืบค้นเมื่อ 20 พฤษภาคม 2018.
- ↑ เหล่าทาสฮือฮา! สหพันธ์แมวโลกรับรอง สายพันธุ์ ‘ศุภลักษณ์’ ของไทยแล้ว... สามารถติดตามต่อได้ที่ : https://www.dailynews.co.th/news/3773272/
- ↑ Cats 101 - EPISODE 3, สารคดีอนิมอลพลาเน็ต. ทรูวิชั่นส์. พฤหัสบดีที่ 27 มิถุนายน 2556.
- ↑ ""แซมเสวตร" การกลับมาของแมวไทยโบราณ ?". ผู้จัดการรายวัน. 7 มิถุนายน 2005. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 5 กรกฎาคม 2017.
- ↑ 12.0 12.1 "หาตัวแมวมงคล "ศุภลักษณ์" 1 ใน 5 เหมียวไทยแท้". มติชนออนไลน์. 9 ตุลาคม 2016. สืบค้นเมื่อ 20 พฤษภาคม 2018.
- ↑ "แมวกลีบบัว แมวสายพันธุ์ใหม่ของไทยที่หายากกว่าแมวศุภลักษณ์ มีสีเทาอมชมพู ฝรั่งเรียก Thai Lilac". แมวสยาม. 25 เมษายน 2016. สืบค้นเมื่อ 19 พฤษภาคม 2018.
- ↑ "แมวไทยสีกลีบบัว แมวไทยชนิดใหม่ที่หายากมาก". แมวสยาม. 8 ตุลาคม 2016. สืบค้นเมื่อ 19 พฤษภาคม 2018.
- ↑ "แมวท็องกินีส". แมวสยาม. 13 กุมภาพันธ์ 2018. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 15 ตุลาคม 2017. สืบค้นเมื่อ 19 พฤษภาคม 2018.
- ↑ "ปัญหาโลกแตก แมวเบอร์มีสกับแมวศุภลักษณ์ต่างกันอย่างไร ?". แมวสยาม. 13 กุมภาพันธ์ 2018. สืบค้นเมื่อ 19 พฤษภาคม 2022.
- ↑ "เปลี่ยนชื่อแมวมอคค่า เป็น "แมววิฬาร์กรุงเทพ"". แมวสยาม. 12 กุมภาพันธ์ 2018. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 19 พฤษภาคม 2022. สืบค้นเมื่อ 19 พฤษภาคม 2022.
- ↑ "สายพันธุ์แมวไทย". แมวสยาม. สืบค้นเมื่อ 19 พฤษภาคม 2022.
- ↑ "รายชื่อแมววิฬาร์กรุงเทพ". แมวสยาม. 8 กุมภาพันธ์ 2018. สืบค้นเมื่อ 19 พฤษภาคม 2022.
- ↑ "แมว เทพเจ้าแห่งลาภผล (๒)". เสรีชัย. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 28 มีนาคม 2019. สืบค้นเมื่อ 20 พฤษภาคม 2018.
ดูเพิ่ม
[แก้]แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- แมวไทย
- ชนิดของแมวไทย เก็บถาวร 16 มีนาคม 2007 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- แมวไทย ที่เฟซบุ๊ก