แคบหมู

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
แคบหมูในเม็กซิโกซิตี รับประทานกับพริกแห้ง, หัวหอม ต้นหอม ผักชี และมะนาวซอย, และซอสโมเล (Mole) ซึ่งทำจากพริกผสมช็อกโกแลต
แคบหมูที่จังหวัดเชียงใหม่ อยู่เคียงกับน้ำพริกหนุ่ม
แคบหมูซึ่งขายในสหราชอาณาจักร

แคบหมู คือ หนังหมูหรือหนังหมูติดมันทอดให้พองและกรอบ เป็นอาหารที่ปรากฏในทุกภูมิภาคของโลก ในภาษาอังกฤษเรียก pork snack, pork rind, pork scratching หรือ pork crackling

ในประเทศไทยพบในภาคเหนือ แล้วได้แพร่หลายไปทั่วประเทศและเรียกขานกันตามภาษาเหนือว่า แคบหมู เป็นที่รู้จักกันทั่วไป รวมทั้งถ้าใช้หนังสัตว์อื่น จะเปลี่ยนไปเรียกชื่อตามสัตว์นั้น ๆ เช่น แคบควาย ทำจากหนังกระบือ แต่ถ้าทำจากหนังโค จะเรียก หนังพอง มักใช้รับประทานเป็นเครื่องเคียงอาหารอื่น ๆ เช่น น้ำพริก ก๋วยเตี๋ยว น้ำเงี้ยว ฯลฯ หรือเป็นส่วนผสมประกอบอาหารอื่น ๆ เช่น พวกน้ำพริกหรือแกง

ภาพรวม[แก้]

แคบหมูปรากฏในอาหารของทุกภูมิภาคที่บริโภคสุกร มักเป็นผลิตผลของการทำน้ำมันหมู และบางทีก็เป็นวิธีทำให้หนังสุกรที่หนาและแข็งนั้นรับประทานสะดวกขึ้น ในวัฒนธรรมโบราณหลายรูปแบบ น้ำมันสำหรับปรุงอาหารนั้นได้มาก็แต่โดยอาศัยไขมันสัตว์ นอกจากนี้ แคบหมูยังเคยใช้เป็นอาหารควบคุมน้ำหนัก จนกระทั่งมีการปฏิวัติอุตสาหกรรม น้ำมันพืชจึงค่อยแพร่หลายขึ้น

แคบหมูแบบอุ่นด้วยเตาไมโครเวฟก็มีขาย มีลักษณะทำนองเดียวกับข้าวโพดคั่วที่อุ่นด้วยเตาไมโครเวฟ และจะบริโภคเสียในขณะที่ยังอุ่นอยู่นั้นก็ได้ ส่วนแคบหมูหมักมักแช่เย็นและรับประทานกันเย็น ๆ แต่แคบหมูหมักนี้ต่างจากแคบหมูทอดตรงที่มีความมันและเค็มเป็นอันมาก คล้ายคลึงกับฟัวกรา (foie gras)

ประเด็นสุขภาพ[แก้]

แคบหมูมีคาร์โบไฮเดรตต่ำ จึงใช้เป็นของคบเคี้ยวทางเลือกตามการควบคุมน้ำหนักแบบแอตกินส์ (Atkins diet) ทว่า แคบหมูมีไขมันและโซเดียมสูง ไขมันในแคบหมูนั้นทัดเทียมกับในมันฝรั่งทอด ขณะที่โซเดียมในแคบหมูซึ่งบริโภคแต่ละครั้งนั้นมีปริมาณมากกว่าที่ได้จากการบริโภคมันฝรั่งทอดครั้งหนึ่ง ๆ ถึงราวห้าเท่า นิตยสาร เมนส์เฮลธ์ (Men's Health) ประเมินว่า การบริโภคแคบหมูครั้งละยี่สิบแปดกรัม (หนึ่งออนซ์) จะได้โปรตีนมากกว่าการบริโภคมันฝรั่งทอดถุงหนึ่งราวเก้าเท่า และในแคบหมูชนิดไขมันต่ำ มีไขมันน้อยกว่ามันฝรั่งทอดชนิดไขมันสูง แต่ในขณะที่ 97% ของไขมันในมันฝรั่งทอดเป็นไขมันไม่อิ่มตัว มีเพียงร้อยละ 43 ของไขมันแคบหมูนั้นไม่อิ่มตัว ส่วนใหญ่เป็นกรดโอเลอิก (oleic acid) อันเป็นไขมันที่เป็นผลดีต่อสุขภาพชนิดเดียวกับที่พบในน้ำมันมะกอก ขณะที่อีกร้อยละสิบสามของไขมันแคบหมูนั้นเป็นกรดสตีแอริก (stearic acid) อันเป็นไขมันอิ่มตัวที่เชื่อกันว่าไม่เพิ่มระดับคอเลสเทอรอล แต่ทั้งนี้เมื่อนับปริมาณไขมันอิ่มตัวในแคบหมู ก็มีถึง 53% ซึ่งยังนับว่าเป็นอาหารไขมันสูงอยู่ดี[1]

ในภูมิภาคต่าง ๆ[แก้]

ประเทศแคนาดา[แก้]

ในประเทศแคนาดาเรียกแคบหมูต่าง ๆ กันไปตามภูมิภาค เช่น ในรัฐนิวฟันด์แลนด์เรียก "สกรันเชียน" (scrunchion) มักเป็นแคบหมูชิ้นเล็ก ๆ นิยมใช้เป็นเครื่องชูรสอาหารอื่น เช่น ปลาเค็ม และใช้ปรุงอาหารที่เรียก "ปลากับบรูอิส" (fish and brewis) ส่วนในรัฐควิเบกเรียกแคบหมูว่า "ออเรยเดอกริสต์" (oreilles de Christ) แปลว่า พระกรรณพระคริสต์ เพราะมักใช้บริโภคเป็นส่วนหนึ่งของอาหารกาบานอาซูเกร (cabane a sucre) ตามประเพณี

อ้างอิง[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]