หอยตาก

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
หอยตาก
ชื่ออื่นเลียะฮ์ฮาล
มื้ออาหารว่าง
แหล่งกำเนิดประเทศกัมพูชา · ประเทศไทย
ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ส่วนผสมหลักหอยทราย, เกลือ

หอยตาก และ เลียะฮ์ฮาล (เขมร: លៀសហាល, เลียสฺหาลฺ; แปลว่า หอยตากแห้ง) เป็นอาหารว่างของประเทศไทยและประเทศกัมพูชา มีวัตถุดิบหลักคือ หอยทราย ซึ่งเป็นหอยน้ำจืดพบได้ทั่วไปตามแหล่งน้ำต่าง ๆ โดยนำหอยดังกล่าวมาตากแดด ก่อนนำไปคลุกเคล้าให้เข้ากับเกลือและเครื่องปรุงอื่น ๆ เพื่อแต่งรส ถือเป็นอาหารข้างถนนที่พบได้ที่อำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง และพบได้ทั่วไปในประเทศกัมพูชา อย่างไรก็ตามหอยตากของทั้งสองประเทศนี้จะมีลักษณะต่างกัน คือ ในประเทศไทยจะนำหอยทรายไปคลุกเคล้าด้วยเครื่องเทศและเกลือเพื่อดับคาว รวมทั้งใช้เวลาประกอบอาหารค่อนข้างนาน ก่อนนำไปตากแดดอีกราวครึ่งวัน[1][2] ขณะที่กัมพูชาจะนำหอยไปคลุกเคล้ากับเกลือหรือพริก ใช้ระยะเวลาตากแดดสั้น ๆ เพียง 15 นาที[3]

ความหลากหลาย[แก้]

ประเทศกัมพูชา[แก้]

ในประเทศกัมพูชา มีหอยตากเช่นกัน เรียกว่า เลียะฮ์ฮาล เป็นอาหารว่างชนิดหนึ่งของกัมพูชา มีวัตถุดิบหลักคือ หอยทราย ในภาษาเขมรเรียกว่า เลียะฮ์ (លៀស)[4] ซึ่งเป็นหอยน้ำจืดที่พบได้ทั่วไปในโตนเลสาบ[5][6] หรือตามลำน้ำต่าง ๆ[3] นำมาตากแดดบนกระบะสังกะสีหรือกระบะอลูมิเนียม โดยใช้ความร้อนจากแสงอาทิตย์ทำให้หอยสุกทีละน้อย[5][6] ใช้ระยะเวลาราว 15 นาที[3] บ้างก็นำหอยมาลวกให้สุกดี ก่อนนำไปตากแดดก็มี[4] จากนั้นนำหอยดังกล่าวไปคลุกเคล้าเข้ากับเกลือ ให้มีรสชาติเค็ม ถือว่าเป็นรสดั้งเดิม[5]

ปัจจุบันเลียะฮ์ฮาลมีหลายรูปแบบ ได้แก่ หอยคลุกเกลือล้วน หอยคลุกพริกกับเกลือ หอยคลุกพริกสด และหอยคลุกพริกกับน้ำตาล[6] บางเจ้ามีหอยคลุกพริกสดและบีบน้ำมะนาว[3] และบางเจ้ามีน้ำจิ้มทำจากน้ำมะขามเปียกซึ่งมีลักษณะและรสชาติใกล้เคียงกับน้ำจิ้มทะเลของไทย ไว้ให้รับประทานเคียงด้วย[6] รสชาติที่ขายดีที่สุดคือหอยที่มีรสชาติเผ็ด[3]

เลียะฮ์ฮาลเป็นที่นิยมเพราะมีราคาถูก[3] สนนราคากระป๋องละ 1,500 เรียล[3][4] ถึง 5,000 เรียล[6] สามารถพบได้ทั่วไปในประเทศกัมพูชา เช่น ตามถนนสายใหญ่และตลาดกลางในกรุงพนมเปญ[3][4] เสียมราฐ ปอยเปต ในประเทศไทยพบได้ในหลักแหล่งที่มีชาวกัมพูชาอาศัยอยู่ โดยเฉพาะตลาดโรงเกลือ อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว[5]

อย่างไรก็ตามเลียะฮ์ฮาลถือว่าเป็นอาหารกึ่งสุกกึ่งดิบที่พึงระมัดระวัง แม้จะเป็นอาหารที่ชาวกัมพูชาคุ้นเคย แต่สำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่รับประทานอาจเกิดอาการท้องร่วงได้[3][5]

ประเทศไทย[แก้]

ในประเทศไทยมีการนำหอยทรายมาทำเป็นหอยตากในช่วงเดือนมีนาคมจนถึงพฤษภาคมของทุกปี พบได้ในหมู่บ้านอาพัด ตำบลจองถนน อำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง ซึ่งเป็นชุมชนริมทะเลสาบสงขลา โดยจะคราดหอยบริเวณปากคลองบางแก้ว จากนั้นนำหอยทรายไปล้างให้สะอาดก่อนนำไปขังน้ำราวหกชั่วโมงแล้วจึงเทน้ำออก ต่อมานำตะไคร้ หอม กระเทียม และเครื่องเทศซึ่งตำละเอียดไปคลุกเคล้ากับหอยทราย จากนั้นนำไปใส่ในภาชนะและเติมเกลือเพื่อหมักหอยเป็นระยะเวลาแปดชั่วโมง เมื่อครบกำหนดแล้ว ก็จะนำหอยที่ผ่านการหมักมาแล้วไปตากแดดบนแผ่นสังกะสี ตั้งแต่ช่วงเช้าไปจนถึงเที่ยงเพื่อให้หอยสุกและแห้งสนิท บางคนก็นำหอยที่ตากจนแห้งดีแล้วไปต้มกับน้ำเดือดก่อนรับประทาน โดยหอยตากจะมีรสชาติเค็มปนหวาน[1][2]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 "ชาวเขาชัยสนงมหา "หอยทราย" นำมาหมักเครื่องเทศ แล้วตากแห้งวางขายถ้วยละ 10 บาท". ผู้จัดการออนไลน์. 6 มีนาคม 2564. สืบค้นเมื่อ 17 พฤษภาคม 2566. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  2. 2.0 2.1 "งมหอยทรายแปรรูป จ.พัทลุง". เช้าข่าว 7 สี. 9 มีนาคม 2564. สืบค้นเมื่อ 17 พฤษภาคม 2566. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 3.5 3.6 3.7 3.8 "Street Clams". Ask a Cambodian. 14 June 2015. สืบค้นเมื่อ 17 May 2023.
  4. 4.0 4.1 4.2 4.3 Nathalie Abejero (10 March 2012). "Dried freshwater clams anyone?". Kampuchea Crossings. สืบค้นเมื่อ 17 May 2023.
  5. 5.0 5.1 5.2 5.3 5.4 "'เลี้ยะฮาร์' หอยตากแดด เมนูแปลกสุดฮอต ของคนเขมรที่ตลาดโรงเกลือ". ไทยรัฐออนไลน์. 21 สิงหาคม 2560. สืบค้นเมื่อ 17 พฤษภาคม 2566. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  6. 6.0 6.1 6.2 6.3 6.4 "ท้าให้ลอง "เลี้ยะฮาร์" หอยตากแดด เมนูยอดฮิตของชาวกัมพูชา". ไทยรัฐออนไลน์. 10 พฤษภาคม 2566. สืบค้นเมื่อ 17 พฤษภาคม 2566. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)