มัศกอด

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
มัศกอด
ชื่ออื่นมัดสะกอด, มัสสะกอด
มื้ออาหารหวาน
แหล่งกำเนิดประเทศไทย
ส่วนผสมหลักแป้งสาลี, ไข่เป็ด (หรือไก่), น้ำตาล

มัศกอด, มัสสะกอด หรือ มัดสะกอด เป็นขนมหวานชนิดหนึ่งของไทย ซึ่งได้รับอิทธิพลจากอิหร่าน ทั้งยังเป็นอาหารเก่าแก่ที่มีมายาวนานตั้งแต่สมัยอาณาจักรอยุธยา และปรากฏใน กาพย์เห่เรือชมเครื่องคาวหวาน พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย[1] ปัจจุบันถือเป็นหนึ่งในขนมหวานที่หารับประทานได้ยากในประเทศไทย[2]

อย่างไรก็ตามมัศกอดในไทยแบ่งวิธีทำออกเป็นสามรูปแบบ รูปแบบแรกปรากฏในหนังสือ แม่ครัวหัวป่าก์ (2451) ของท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงศ์ ระบุชื่อว่า มัสสะกอด มีลักษณะเดียวกับขนมไข่ ซึ่งเป็นขนมอบที่ใกล้เคียงกับคัปเค้ก[1] แบบที่สองเรียกว่า สะกัดมัสสะกอด (อย่างสมเด็จพระพันพรรษา) ปรากฏอยู่ในหนังสือเล่มเดียวกัน มีลักษณะคล้ายเมอแร็งก์โรยมะพร้าวทึนทึกขูด[1][3] แต่มัศกอดซึ่งยังตกทอดอยู่ในสำรับอาหารของแขกเจ้าเซ็นริมคลองบางหลวง กลับมีลักษณะเดียวกับฮะหรั่ว ซึ่งเป็นขนมกวน[4][5]

ประวัติ[แก้]

มีการสันนิษฐานว่า มัศกอดนี้เป็นขนมหวานที่มีมาแต่ยุคอาณาจักรอยุธยา[1][4][6] โดยได้รับอิทธิพลจากชาวเปอร์เซียที่เข้ามาค้าขายในยุคสมัยนั้น โดยชื่อ "มัศกอด" มาจากชื่อเมืองมัสกัต เมืองท่าบริเวณอ่าวโอมาน และปัจจุบันเมืองท่าแห่งนี้ได้กลายเป็นเมืองหลวงของประเทศโอมาน[1][4] บ้างก็อ้างว่าถูกทำขึ้นโดยท้าวทองกีบม้า (มารี กีมาร์) ซึ่งเป็นหญิงสยามเชื้อสายโปรตุเกส-ญี่ปุ่นก็ว่า[2] มัศกอดมีเรื่อยมาและแพร่หลายไปยังราชสำนักในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยแห่งยุครัตนโกสินทร์ เข้าใจว่าขนมนี้คงเข้าไปโดยผ่านนางบาทบริจาริกาหรือนางในมุสลิมที่รับราชการเป็นเครื่องต้นหวาน[5] ได้แก่ เจ้าจอมหงษ์ และเจ้าจอมจีบ (หรือจิตร) ซึ่งทั้งสองท่านเป็นธิดาของพระยาจุฬาราชมนตรี[7] นอกจากนี้ยังมีเจ้านายชั้นสูงที่มีพระอัจฉริยภาพด้านการประกอบอาหาร คือ สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี ก็ทรงทำมัศกอดได้ด้วยพระองค์เอง[1] ดังปรากฏใน กาพย์เห่เรือชมเครื่องคาวหวาน พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ความว่า

มัดสะกอดกอดอย่างไร น่าสงสัยใคร่ขอถาม
กอดเคล้นจะเห็นความ ขนมนามนี้ยังแคลง
กาพย์เห่เรือชมเครื่องคาวหวาน[8]

ส่วนผสม[แก้]

ในหนังสือ แม่ครัวหัวป่าก์ (2451) ของท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงศ์ บันทึกสูตรมัศกอดไว้สองสูตร โดยสูตรแรกเรียกว่า มัสสะกอด มีลักษณะเป็นขนมไข่ ประกอบด้วย ไข่เป็ดหรือไข่ไก่ แป้งสาลี น้ำมันมะพร้าวสำหรับทาถ้วยขนม น้ำตาล โดยนำไข่ น้ำตาล และแป้งมาผสมกันวิธีการทำดังเช่นทำขนมไข่หรือขนมฝรั่งกุฎีจีน คือใช้การอบแบบสุมไฟทั้งด้านบนและด้านล่าง หากแต่ตกแต่งด้วยไข่ขาวกวนน้ำตาลตีจนตั้งยอดแข็ง แล้วนำไปอบอีกครั้ง และโรยด้วยมะพร้าวทึนทึกขูดฝอย[1][6] ขณะที่สูตรที่สองจะเรียกว่า สะกัดมัสสะกอด (อย่างสมเด็จพระพันพรรษา) จะมีลักษณะคล้ายเมอแร็งก์โรยมะพร้าวทึนทึกขูด ประกอบด้วย น้ำตาลทราย ไข่ และน้ำมันมะพร้าวสำหรับทาพิมพ์ โดยมีวิธีทำใกล้เคียงกันกับมัศกอดอย่างแรก แต่ต่างตรงที่ไม่ใช้ไข่แดงเป็นส่วนผสมหลัก และจะไม่ใช้แป้งสาลี[1][3] โดยท่านผู้หญิงเปลี่ยนระบุถึงความแตกต่างของขนมทั้งสองอย่างนี้ไว้ว่า "...ขนมนี้พิมพ์เปนเฟืองกลมก็เรียกว่า ขนมมัดสะกอด ถ้าพิมพ์ ๔ เหลี่ยมเรียกขนมสะกัด แต่แป้ง ฤๅ ไข่วิธีทำอย่างเดียวกัน จึงได้รวมลงชื่อเรียกว่า ขนมสะกัดมัดสะกอด ตามแต่ผู้ทำจะเลือกทำเอาเอง ฉันบอกไว้ทั้งสองอย่างตามที่รู้"[3]

ขณะที่มัศกอดของแขกเจ้าเซ็นริมคลองบางหลวง กรุงเทพมหานคร จะมีลักษณะที่ต่างออกไปคือจะมีลักษณะคล้ายกับฮะหรั่ว ซึ่งเป็นขนมกวน[4][5] โดยจะกวนโดยใช้น้ำมันเนยแทนกะทิ จากนั้นใส่เมล็ดอัลมอนด์บุบ (แขกเจ้าเซ็นเรียก มะด่ำ หรือ บอดำ) ลงในขนม ด้วยเหตุนี้จึงเรียกนามขนมนี้ว่า ฮะหรั่วเนย หรือ ฮะหรั่วมัศกอด โดยจะรับประทานคู่กันกับแป้งข้าวเจ้าที่ต้องผ่านการนวด ต้ม และย่างจนแป้งสุกเสมอกัน เรียกว่า "ลุดตี่" (ซึ่งเป็นแป้งคนละชนิดกับอาหารคาวที่เรียกว่าลุดตี่เช่นกัน) โดยนำแป้งลุดตี่นี้ห่อเข้ากับฮะหรั่วมัศกอด ก็จะได้รสกลมกล่อมไม่หวานเลี่ยนเกินไป[4]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 1.5 1.6 1.7 สุริวัสสา กล่อมเดช (13 ตุลาคม 2564). "มัศกอด คัพเค้กโบราณแสนน่ารัก". ครัว. สืบค้นเมื่อ 4 มกราคม 2566. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  2. 2.0 2.1 "เสียดายความเชย ..คาวหวาน ที่คนไทยไม่เคยได้กิน". ไทยรัฐออนไลน์. 10 มีนาคม 2554. สืบค้นเมื่อ 4 มกราคม 2566. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  3. 3.0 3.1 3.2 เปลี่ยน ภาสกรวงศ์, ท่านผู้หญิง. "แม่ครัวหัวป่าก์ (บริจเฉท 6 ของหวานขนม)". วชิรญาณ. สืบค้นเมื่อ 5 มกราคม 2566. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  4. 4.0 4.1 4.2 4.3 4.4 ธีรนันท์ ช่วงพิชิต (เมษายน 2544). "ตามรอย สำรับแขกคลองบางหลวง". สารคดี. สืบค้นเมื่อ 4 มกราคม 2566. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  5. 5.0 5.1 5.2 จิราพร แซ่เตียว (9 พฤษภาคม 2563). "ขนมแม่เอ๊ย". เมืองโบราณ. สืบค้นเมื่อ 4 มกราคม 2566. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  6. 6.0 6.1 pimtp__ (18 ตุลาคม 2563). "วิธีทำ "มัศกอด" เมนูขนมไทยโบราณสมัยอยุธยาหากินยากที่คุณก็ทำเองได้!". วงใน. สืบค้นเมื่อ 4 มกราคม 2566. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  7. จักรพันธ์ กังวาฬ. และคนอื่น ๆ. กรุ่นกลิ่นอารยธรรมเปอร์เซียในเมืองสยาม. กรุงเทพฯ : มติชน. 2550, หน้า 162
  8. พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ ๒). "กาพย์เห่เรือชมเครื่องคาวหวานและงานนักขัตฤกษ์" – โดยทาง วิกิซอร์ซ.