แกงขนุน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
แกงขนุน
ประเภทแกง
มื้ออาหารจานหลัก
แหล่งกำเนิดไทย
ส่วนผสมหลักเนื้อสัตว์ (เนื้อหมูหรือกระดูกอ่อน) มะเขือเทศ ชะอม ชะพลู พริกแกง

แกงขนุน หรือในภาษาไทยถิ่นเหนือเรียก แก๋งบ่าหนุน และภาษาพวนเรียก แกงมะมี้ เป็นอาหารไทยประเภทแกงที่ได้รับความนิยมแพร่หลายทางภาคเหนือของประเทศไทย ทำจากขนุนอ่อน นิยมเติมเนื้อหมูหรือกระดูกอ่อน มะเขือเทศ ชะอม ชะพลู บางแห่งนิยมใส่ข่า ตะไคร้ทุบ และอาจมีจักข่าน (สะค้าน) บ่าแขว่น (ผลกำจัด) โขลกใส่ลงไปในแกงด้วย[1] ส่วนพริกแกงประกอบด้วยพริกแห้ง กะปิ หอมแดง กระเทียม ข่า และตะไคร้

มักจะทำรับประทานในช่วงวันที่ 16 เมษายน ที่ถือว่าเป็นวันปากปี๋หรือวันแรกของปีใหม่ (วันพญาวัน)[2] บางท่านนิยมแกงกินในงานแต่งงาน ถือว่าเป็นแกงที่มีชื่อเป็นมงคลด้วยความเชื่อว่าชื่อ "ขนุน" จะช่วยหนุนนำสิ่งดี ๆ ยางขนุนมียางเหนียวหมายถึงให้คู่แต่งงานอยู่ร่วมกันอย่างยาวนาน[3] หากได้แกงใส่หมูการงานต่าง ๆ ก็จะทำสำเร็จโดยง่ายเหมือนเป็นเรื่องหมู ๆ[4]

ด้านคุณค่าทางอาหาร ขนุนอ่อนมีแคลเซียม ฟอสฟอรัส เหล็ก วิตามินเอ วิตามินบีหนึ่ง วิตามินบีสอง วิตามินซี และมีโปรตีนจากซี่โครงหมู มีสรรพคุณในการบำรุงน้ำนม สมานแผลในกระเพาะ และลำไส้ ทำให้ระบบย่อยอาหารทำงานได้ดีขึ้น[5]

อ้างอิง[แก้]

  1. "แกงขนุน". มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
  2. "ชวนไปทำ "แกงขนุน" อาหารเหนือเพื่อสุขภาพ รสชาติกลมกล่อม".
  3. นฤมล นันทรักษ์. "อาหารเหนือ". p. 4.
  4. "กินแกงขนุนวันปากปีจะมีโชคหนุนจุนเจือตลอดปี". พีพีทีวี.
  5. "แกงขนุน". ศูนย์การเรียนรู้ อาหารไทย.