เล้งแซ่บ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เล้งแซ่บ
ชื่ออื่นเล้งต้มแซ่บ ต้มแซ่บเล้ง
ประเภทซุป
มื้ออาหารจานหลัก
แหล่งกำเนิดไทย
ส่วนผสมหลักกระดูกสันหลังหมู น้ำมะนาว น้ำปลา พริกขี้หนู

เล้งแซ่บ หรือ เล้งต้มแซ่บ เป็นอาหารไทยประเภทต้มแซ่บ โดยใช้ส่วนที่เรียกว่า เอียเล้ง คือกระดูกสันหลังของหมู[1] ที่เลาะเนื้อส่วนเต็ม ๆ ออกไป เหลือเพียงเนื้อติดกระดูกบ้างเล็กน้อย นำมาเคี่ยว ปรุงรสด้วยน้ำมะนาว น้ำปลา และพริกขี้หนูจำนวนมาก (โดยมากใช้พริกขี้หนูสีเขียว) จากนั้นโรยผักชีก่อนเสิร์ฟ

แต่เดิมเอียเล้งเป็นเพียงส่วนประกอบหนึ่งของน้ำก๋วยเตี๋ยวเท่านั้น ร้านก๋วยเตี๋ยวจะนำกระดูกส่วนนี้มาต้มเพื่อให้น้ำก๋วยเตี๋ยวมีรสชาติหวาน หอม และกลมกล่อม พอขายก๋วยเตี๋ยวหมดในแต่ละวันก็จะทิ้งกระดูกส่วนนี้ไป[2] ภายหลังมีผู้นำมาขายเป็นเล้งแซ่บ จึงตัดคำว่า เอียเล้ง ให้สั้นลงเหลือเพียง เล้ง[3] บ้างสันนิษฐานว่าอาหารจานนี้อาจประยุกต์มาจากอาหารที่เรียกว่า "ขาไก่ซุปเปอร์" ซึ่งแพร่หลายตามร้านข้าวต้มในกรุงเทพมหานครมาไม่ต่ำกว่า 4–5 ทศวรรษก่อนจะมีเล้งแซ่บ[4]

ความนิยมของเล้งแซ่บทำให้มีตราสินค้าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปออกสินค้ารสชาติใหม่คือ "เส้นเล็กรสเล้งแซบ"[5] นอกจากนี้เล้งแซ่บยังได้กลายเป็นอาหารอย่างหนึ่งที่เสิร์ฟในร้านอาหารไทยในต่างประเทศ เช่น จีน[6] เกาหลีใต้[7] เป็นต้น ในไทเปมีผู้เปิดร้านอาหารไทยและขายอาหารจานนี้โดยตั้งชื่อเป็นภาษาจีนว่า หั่วชานผายกู่ แปลว่า "ซี่โครงหมูภูเขาไฟ"[8]

อ้างอิง[แก้]

  1. "เล้งไหน ไฟแรงเฟร่อ!?".
  2. "เปิดที่มาความแซ่บ..รู้มั้ยทำไมเรียก 'เล้ง'". ไทยรัฐ.
  3. "ทำความรู้จัก ต้มเล้ง คืออะไร?".
  4. "ทำ 'เล้งต้มแซ่บ' กินเองดีกว่า". เทคโนโลยีชาวบ้าน.
  5. "บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ต้องแซบแค่ไหน? มาม่า ส่งรสชาติใหม่ "เล้ง" ก็มา "ต้มแซบ" ก็มี หรือแค่ต้มยำกุ้งไม่พอเสียแล้ว". แบรนด์บุฟเฟต์.
  6. "'เมนูอาหารไทย' กำลังกลายเป็น 'ขาประจำ' บนโต๊ะอาหารชาวจีน". โพสต์ทูเดย์.
  7. "เสวฤทธิ์ บุญกนิษฐ เชฟอาหารไทยที่ทำให้ต้มเล้งแซ่บไกลถึงเกาหลี". อะเดย์.
  8. "อาหารไทยที่1ของโลก! ล่าสุดต่างชาติเปิดขาย "เล้งแซ่บ" อร่อยจนคนท้องถิ่นยังต้องยอม".