ข้ามไปเนื้อหา

น้ำพริกลงเรือ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
น้ำพริกลงเรือ
มื้อเครื่องจิ้ม
แหล่งกำเนิดไทย
ภูมิภาคภาคกลาง
ผู้สร้างสรรค์เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับ ในรัชกาลที่ 5
ส่วนผสมหลักกะปิ พริก กระเทียม น้ำปลา น้ำตาล มะนาว กระเทียมดอง ไข่เค็ม ปลาดุกฟู หมูหวาน
รูปแบบอื่นข้าวผัดน้ำพริกลงเรือ

น้ำพริกลงเรือ เป็นน้ำพริกกะปิชนิดหนึ่งในตำรับอาหารชาววัง ที่มีรสชาติเปรี้ยวเค็มเผ็ดหวานอย่างกลมกลืน รับประทานเคียงกับทั้งผักต้มและผักสด คิดค้นโดยเจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับ เป็นอาหารที่พระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้านิภานภดล วิมลประภาวดี กรมขุนอู่ทองเขตขัตติยนารีโปรด[1]

ประวัติ

[แก้]

น้ำพริกลงเรือ เป็นน้ำพริกที่ทำขึ้นครั้งแรกโดยเจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับ ในรัชกาลที่ 5 ที่ปฏิบัติงานในห้องพระเครื่องต้นในราชสำนักที่หม่อมเจ้าสะบาย นิลรัตน์ เป็นหัวหน้าห้องเครื่อง และพระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดาเป็นผู้คุมห้องต้นเครื่อง[1][2]

หม่อมหลวงเนื่อง นิลรัตน์ หลานสาวของหม่อมเจ้าสะบาย นิลรัตน์ที่เข้ามาในห้องเครื่องวังสวนสุนันทามาแต่ยังเยาว์ได้อธิบายที่มาของชื่อน้ำพริกลงเรือไว้ว่า[3]

"...เจ้านายเล็ก ๆ เสด็จเล่นเรือกันไง เดือน 11-12 น้ำมันเจิ่ง ทีนี้มืดค่ำแล้วถึงเวลาเสวย ไม่เสด็จขึ้นจากเรือ คุณจอมสดับก็ไปชวนเชียว "มาเพคะ เสด็จเลิกเล่นเพคะ ขึ้นเสวยถึงเวลาเสวยแล้ว ประเดี๋ยวท่านป้า [พระวิมาดาเธอฯ] กริ้วเอาเพคะ" พระวิมาดาฯ ไง ท่านป้า กลัวถูกกริ้ว คุณจอมสดับเรียกท่านก็ไม่ขึ้น ไม่ยอมขึ้นมาเสวย คุณจอมสดับก็ตัวสั่นเลย กลัวจะถูกกริ้ว วิ่งขึ้นมาห้องเสวยที่เค้ามีโต๊ะใหญ่ พักเครื่องเวลาเครื่องเชิญมาจากห้องเครื่องพักวาง จนกว่าจะเลื่อนออกไปที่โต๊ะเสวย คุณจอมสดับเข้าไปก็ไปเปิดฝาชามดูเครื่องมีอะไร วันนั้นมีเครื่องน้ำพริกกะปิ หมูหวาน ไข่เค็ม ปลาช่อนทอดฟู ปลาทู ปลาดุกย่างทอด กระเทียมดอง หมูพะโล้ คุณจอมก็เทข้าวลง หยิบเครื่องทุกอย่างใส่จาน มะเขือ แตงกวา วางลง ใส่ช้อนส้อม เอาไปถวายเจ้านายเล็ก ๆ [...] ท่านเสวยหมดทุกองค์ แล้วบอกว่าอร่อยมาก ข้าวอันนี้อร่อยมาก ก็ข้าวคลุกน้ำพริกนี่แหละ แต่เครื่องน้ำพริกมันเยอะเจ้านายอยากเสวยอีก ก็บอกว่าเอาอย่างวันกินน้ำพริกลงเรือ ก็เลยเรียก น้ำพริกลงเรือ..."

ขณะที่พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุไรรัตนศิริมาน[4] และนิจ เหลี่ยมอุไร บุตรบุญธรรมของหม่อมหลวงเนื่อง นิลรัตน์ อธิบายไว้ใกล้เคียงกัน ความว่า[1][2]

"... วันหนึ่งพระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ฯ มีพระประสงค์จะเสวยอาหารในเรือ จึงรับสั่งกับหม่อมราชวงศ์สดับ ลดาวัลย์ให้ไปดูในครัวว่ามีอะไรบ้าง เมื่อเดินเข้าไปสำรวจอาหารในห้องเครื่อง ก็พบว่าเหลือเพียงปลาดุกทอดฟูและน้ำพริกตำไว้เท่านั้น จึงนำน้ำพริกกับปลามาผัดรวมกัน เติมหมูหวานลงไปเล็กน้อย ตามด้วยไข่เค็ม ทิ้งไข่ขาว ใช้เฉพาะไข่แดงดิบ วางเรียงรายลงไป แล้วจัดเครื่องเคียง อาทิ ผักต้ม ผักสด ถวายเป็นอาหารมื้อเย็นบนเรือ ซึ่งทั้งพระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ฯ และกรมขุนอู่ทองเขตขัตติยนารี ทรงโปรดน้ำพริกถ้วยนี้มาก..."

ส่วนผสม

[แก้]

น้ำพริกลงเรือ ประกอบไปด้วยกะปิ พริกขี้หนู พริกชี้ฟ้า กระเทียม น้ำปลา น้ำตาล มะนาว กระเทียมดอง ไข่เค็ม (เฉพาะไข่แดง) ปลาดุกฟู และหมูหวาน โดยตำเช่นน้ำพริกทั่วไปก่อนใส่หมูหวานลงไปคลุกเคล้า เสร็จสรรพจึงตักใส่ชาม แล้วโรยด้วยปลาดุกฟูกรอบ ไข่เค็ม และกระเทียมดองตกแต่งให้สวยงาม เคียงด้วยผักต้มหรือผักสดตามชอบ[2][5] และควรปรุงให้มีรสชาติครบทั้งสามรส[3] คือมีทั้งรสเปรี้ยวเค็มหวานกลมกล่อมอย่างเท่า ๆ กันไม่มีรสใดนำโดดเด็ดขาด[2] ในงานเขียน เจ้าจอมก๊กออ ของกัณฑาทิพย์ สิงหะเนติ ซึ่งเป็นเครือญาติของเจ้าจอมก๊กออแห่งวังสวนปาริจฉัตก์ ได้อธิบายเกี่ยวกับน้ำพริกลงเรือไว้ว่า "...ที่เป็นต้นฉบับน้ำพริกลงเรือจริง ๆ แนมกับปลาดุกฟู (ลอกหนังออกแล้วทอดให้ฟู) และหมูหวานมาก ๆ มะเขือเปราะนั้นหั่นสี่เหลี่ยมแช่น้ำไม่ให้ดำ สงขึ้นมาใส่อ่างผสมรวมกับปลาดุกฟู หมูหวาน กระเทียมดอง ไข่เค็ม (เอาเฉพาะไข่แดงตรงกลางไว้ประดับ) แล้วตำน้ำพริกกะปิรสเปรี้ยว เค็ม หวาน ตามใจชอบ ตำครกเบ้อเร่อ เอามาเทลงไปเคล้า ๆ กับเครื่องข้างต้น จะได้น้ำพริกลงเรือต้นตำหรับ ไม่ต้องกินกับผักอะไรอีกเลย เพราะผักคลุกอยู่ในนั้นเสร็จ"[6]

แต่ในปัจจุบันได้มีการดัดแปลงส่วนประกอบเพื่อให้เข้ากับรสชาติที่นิยมในปัจจุบัน เช่น ใส่มะดัน มะอึกเพื่อเพิ่มรสเปรี้ยว หรือไม่ใส่หมูหวานและปลาดุกฟู ดั่งในโรงแรมสวนสุนันทาที่ยังคงรักษาสูตรดั้งเดิมไว้ ทั้งมีการดัดแปลงส่วนประกอบตามความประสงค์ของผู้รับประทานด้วย[2]

นอกจากนี้ยังมีการดัดแปลงข้าวผัดที่มีส่วนประกอบเดียวกับน้ำพริกลงเรือ แต่นำเข้าไปผัดกับข้าวแล้วจัดจานด้วยผักตามชอบ เรียกข้าวผัดน้ำพริกลงเรือ[7]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 1.2 "เปิดสำรับ น้ำพริกลงเรือ ถ้วยเก่าคู่ครัวไทย". กระปุกดอตคอม. 2 Sep 2013. สืบค้นเมื่อ 23 Apr 2016.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 ภัทริน อิ่มแก้ว และอื่น ๆ (1 Mar 2012). "'วังสุนันทา' ต้นกำเนิด 'น้ำพริกลงเรือ'". สวนสุนันทานิวส์. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-04-22. สืบค้นเมื่อ 23 Apr 2016.
  3. 3.0 3.1 เนื่อง นิลรัตน์ ม.ล.. ตำรากับข้าวในวัง ของหม่อมหลวงเนื่อง นิลรัตน์. กรุงเทพฯ : บัวสรวง, 2549, หน้า 35-36
  4. ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย. หอมติดกระดาน. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ : มติชน, 2553, หน้า 8
  5. "น้ำพริกลงเรือ อาหารไทยตำรับชาววังสุดอร่อย". กระปุกดอตคอม. 16 Dec 2013. สืบค้นเมื่อ 23 Apr 2016.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  6. กัณฑาทิพย์ สิงหะเนติ. เจ้าจอมก๊กออ. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, 2558, หน้า 233
  7. "ข้าวผัดน้ำพริกลงเรือ". แม่และเด็ก. สืบค้นเมื่อ 23 Apr 2016.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)[ลิงก์เสีย]