ข้ามไปเนื้อหา

รอเยาะ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
รอเยาะ
รอเยาะมามะก์ในมาเลเซีย
ชื่ออื่นเต้าขั้ว โรจัก รูจัก
ประเภทสลัด
แหล่งกำเนิดอินโดนีเซีย[1]
ภูมิภาคเกาะชวา
ชาติที่มีอาหารประจำชาติที่เกี่ยวข้องอินโดนีเซีย, มาเลเซีย, สิงคโปร์
อุณหภูมิเสิร์ฟสดในอุณหภูมิห้อง
ส่วนผสมหลักผลไม้, ผัก, น้ำตาลปี๊บ, ถั่วลิสง และน้ำสลัดพริก

รอเยาะ หรือ เต้าขั้ว ประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์เรียกว่า โรจัก (มลายู: rojak) อินโดนีเซียเรียกว่า รูจัก (อินโดนีเซีย: rujak) เป็นยำประเภทหนึ่งในอาหารมลายูและอินโดนีเซีย น้ำยำทำจากกะปิเคี่ยวกับน้ำตาลโตนด น้ำมะขามเปียก พริก มีรสหวาน โรยถั่วลิสงคั่ว ในปีนังจะเพิ่มน้ำผึ้ง นิยมกินกับผลไม้ เช่น ชมพู่ มะม่วงดิบ ฝรั่ง มันแกว สับปะรด ผักลวกเช่น ถั่วงอก ผักบุ้ง มันเทศต้ม เต้าหู้ทอด

ในพิธีครรภ์เจ็ดเดือนในเกาะชวา จะมีรอเยาะเป็นอาหารสำคัญในพิธีและใช้เสี่ยงทายเพศทารก ถ้าหญิงมีครรภ์ชอบรอเยาะหวาน ทารกจะเป็นผู้หญิง ถ้าชอบรสเผ็ดจะเป็นผู้ชาย

ในภาคใต้ของประเทศไทยมีอาหารชนิดเช่นกัน ในจังหวัดปัตตานีเรียกว่า รอเยาะ, สงขลาเรียกว่า เต้าขั้ว[2] หรือ สลัดทะเลสาบ, สุราษฎร์ธานีเรียกว่า ผักบุ้งไต่ราว, ภูเก็ตเรียกว่า อูแช่, และสตูลเรียกว่า ปัสมอส[3]

ความสำคัญทางวัฒนธรรม

[แก้]

ในมาเลเซียและสิงคโปร์ คำว่าโรจักใช้สื่อถึงการผสม เช่นสังคมพหุวัฒนธรรมในมาเลเซียและสิงคโปร์ ในอินโดนีเซีย ในหมุ่ชาวชวา รูจักเป็นส่วนหนึ่งของการฉลองก่อนเด็กเกิด ที่เรียกตูยุห์ บูลานัน (ตรงตัว “เจ็ดเดือน”) รูจักผลไม้จะทำขึ้นพิเศษให้หญิงตั้งครรภ์และแขกที่มาในงาน โดยเชื่อว่ารสหวาน เผ็ดและเปรี้ยวของรูจักดีสำหรับหญิงตั้งครรภ์ รูจักในงานนี้จะคล้ายรูจักแบบมาตรฐานในอินโดนีเซีย เพียงแต่จะหั่นหยาบมากกว่าจะเฉือนเป็นชิ้นบางๆ และส้มโอกับเกรปฟรุตสีชมพูถือเป็นเครื่องปรุงสำคัญ เชื่อกันว่าถ้ารูจักรสหวานนำจะได้ล๔กสาว ถ้ารสเผ็ดนำจะได้ลูกชาย

การทำรูจักเป็นสิ่งพิเศษสำหรับชาวบาตักมันไดลิงในตาปานูลี ประเทศอินโดนีเซีย โดยทั้งหมู่บ้านจะมาร่วมกันทำและกินด้วยกัน

โรจักในมาเลเซียและสิงคโปร์

[แก้]
โรจักแบบอินเดียในสิงคโปร์
โรจักผลไม้ในสิงคโปร์
โรจักปีนังในมาเลเซีย

โรจักแบบมามักหรือแบบอินเดีย

[แก้]

หรือปาเซิมบูร์ ส่วนผสมหลักเป็นแป้งทอดกรอบ เต้าหู้ มันฝรั่งต้ม กุ้งทอด ไข่ต้ม ถั่วงอก ปลาดุก และแตงกวาผสมกับซอสถั่วลิสงรสเผ็ดและข้น ชาวทมิฬมุสลิมหรือมามักนิยมดัดแปลงรถจักรยานยนต์เพื่อใช้ขายโรจัก ปาเซิมบูร์ในสิงคโปร์ใส่มันฝรั่ง ไข่ เต้าหู้ และกุ้งทอด กินกับซอสพริกรสหวานและเผ็ด ในปีนัง เรียกอาหารชนิดนี้ว่าปาเซิมบอร์ ส่วนในกัวลาลัมเปอร์และสิงคโปร์เรียกโรจัก

โรจักผลไม้

[แก้]

ส่วนผสมพื้นฐานได้แก่เต้าหู้ทอด ฟริตเตอร์แบบจีน มะม่วงดิบ และแอปเปิลเขียว น้ำราดทำจากน้ำ กะปิ น้ำตาล พริก และน้ำมะนาว บางที่จะใส่กะปิกุ้ง มะขามหรือถั่วดำบดด้วย ส่วนผสมหั่นเป็นชิ้นพอคำ คลุกกับน้ำราดในชาม โรยด้วยถั่วลิสงและขิง

โรจักปีนัง

[แก้]

เป็นโรจักอีกแบบหนึ่ง พบในปีนัง ประเทศมาเลเซีย คล้ายกับโรจักผลไม้ แต่ใส่ชมพู่ ฝรั่ง หมึกทอด และน้ำผึ้ง แทนที่จะใช้มะม่วงดิบและแอปเปิลเขียว ไม่ใส่ถั่วงอกและเต้าหู้ทอด น้ำราดข้นเหนียว

รูจักในอินโดนีเซีย

[แก้]
รูจักผลไม้ในชวาตะวันตก
ซอสรูจักรสหวานทำจากน้ำตาลมะพร้าว มะขาม ถั่วลอสงและพริก

รูจักผลไม้ในอินโดนีเซีย

[แก้]

รูจักผลไม้ประกอบด้วยผลไม้เมืองร้อนหั่นเป็นชิ้น เช่น ชมพู่ สับปะรด มะม่วงดิบ มันแกว แตงกวา มะกอกฝรั่ง และมันเทศดิบ ในมาลังจะใส่แอปเปิลเขียว ส้มโอ และตะลิงปลิง ซอสรสหวานและเผ็ดทำจากน้ำ น้ำตาลมะพร้าว มะขาม ถั่วลิสงบด กะปิ เกลือ พริก หั่นผลไม้ให้เป็นชิ้นพอคำ ใส่ลงในจาน แล้วราดซอสลงไป ผงซัมบังฆารัมจะวางข้างๆ สำหรับผู้ชอบรสเค็ม

รูจัก ตุมบุก

[แก้]

เป็นรูจักผลไม้อีกแบบของอินโดนีเซีย ส่วนผสมคล้ายรูจักผลไม้ เพียงแต่นำส่วนผสมมาตำในครกไม้ ใส่ซอสลงไปผสมให้เข้ากัน

รูจัก เซอรุต

[แก้]

เป็นรูจักผลไม้อีกแบบของอินโดนีเซีย แต่ไม่หั่นผลไม้เป็นชิ้นพอคำ ใช้การขูดแทน

รูจัก อูโกรเอะห์

[แก้]

เป็นรูจักแบบาเจะห์ ใส่มะพร้าวอ่อน มะละกอดิบ พริก น้ำตาล น้ำแข็ง เกลือ และมะนาว นิยมกินขณะเย็น

รูจัก เปองันติน

[แก้]

เป็นอาหารอินโดนีเซียในยุคอาณานิคม ประกอบด้วยไข่ต้มหั่น มันฝรั่ง เต้าหู้ทอด สับปะรด แครอท ถั่วงอก ผักดอง พริก ผักกาดดอง กะหล่ำปลี แตงกวา ข้าวเกรียบ ถั่วลิสงอบ ซอสถั่วลิสงที่ผสมน้ำส้มสายชูเล็กน้อย มีลักษณะคล้ายกาโด-กาโดในชวากลาง

รูจัก กูอะห์ ปินดัง

[แก้]

เป็นอาหารว่างแบบบาหลี โดยนำผลไม้ไปคลุกกับซอสที่ทำจากกะปิกุ้ง เกลือ พริก และน้ำปลา

รูจัก จิงอูร์

[แก้]

เป็นโรจักแบบสุราบายา ใส่ปากวัวหรือควาย มะม่วงดิบ สับปะรด แตงกวา ผักบุ้ง ลนตง เต้าหู้ เทมเป้ และมันแกว ราดด้วยซอสทำจากกะปิ และถั่วลิสงบด โรยกระเทียมเจียวและกรูปุก

รูจัก เปอติส

[แก้]

เป็นรูจักอีกแบบหนึ่งของสุราบายา ใส่ผักบุ้ง มะม่วงดิบ แตงกวา มันแกว เต้าหู้ ถั่วเหลืองงอก มะกอกฝรั่ง ราดด้วยซอสทำจากกะปิ หอมเจียว เกลือ น้ำตาลมะพร้าว กล้วยดิบ และถั่วลิสงดิบ

รูจักโตเลต

[แก้]

ลักษณะคล้ายรูจักผลไม้ มาจากสุราบายา เครื่องปรุงประกอบด้วยเต้าหู้ทอด กระเทียมเจียว และเอ็นวัว ซอสประกอบด้วยน้ำตาลมะพร้าว พริก และซีอิ๊วหวาน

รูจัก ยูฮี

[แก้]

ในภาษาอินโดนีเซีย ยูฮีหมายถึงปลาดุก รูจักประเภทนี้ใส่เต้าหู้ทอด มันฝรั่ง ปลาดุกเค็มทอด แตงกวา เส้นหมี่ ผักกาดหอม กะหล่ำปลี ซอสถั่วลิสง น้ำส้มสายชู พริก และกระเทียมเจียว อาหารนี้กำเนิดจากกลุ่มชาวจีนในจาการ์ตา และปัจจุบันจัดเป็นอาหารเบอตาวีชนิดหนึ่ง

รูจักเซี่ยงไฮ้

[แก้]

เป็นอาหารของชาวจีนในอินโดนีเซีย ใส่อาหารทะเล เช่น หมึกต้ม ปลิงทะเล ใส่ผักบุ้ง ราดด้วยซอสข้นสีแดง ใส่น้ำสับปะรด และถั่วลิสงบด กินกับซอสพริกและมันแกว

รูจัก โซโต

[แก้]

เป็นอาหารที่พบในชวาตะวันออก เป็นส่วนผสมระหว่างโซโตเนื้อ และรูจัก จินฆูร์ เกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2518

อ้างอิง

[แก้]
  1. "Menguak Fakta Menu Lalapan Sunda Lewat Prasasti Taji". beritasatu.com (ภาษาอินโดนีเซีย). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-12-20. สืบค้นเมื่อ 23 December 2017.
  2. ประพนธ์ เรืองณรงค์. บุหงาปัตตานี คติชนไทยมุสลิมชายแดนภาคใต้. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ:สถาพรบุ๊คส์, 2554, หน้า 266-268
  3. "เต้าคั่ว-รอเยาะ อาหารคู่แฝด". เส้นทางเศรษฐี. 22 มีนาคม 2556. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-06-09. สืบค้นเมื่อ 28 มกราคม 2558. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  • นันทนา ปรมานุศิษฏ์. โอชาอาเซียน. กรุงเทพฯ : มติชน, 2556, หน้า 261.