ข้ามไปเนื้อหา

แซนโม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
แซนโม
ชื่ออื่นซัลโม
มื้ออาหารหลัก
แหล่งกำเนิดประเทศไทย
ภูมิภาคชุมชนกุฎีจีน กรุงเทพมหานคร
อุณหภูมิเสิร์ฟร้อน
ส่วนผสมหลักเนื้อวัว (หรือเนื้อหมู), พริกไทย, เกลือ, หอมแดง, ลูกกระวาน, กานพลู, อบเชย, ซีอิ๊วดำ

แซนโม หรือ ซัลโม เป็นอาหารประเภทตุ๋นอย่างหนึ่งของไทย พบได้ในชุมชนกุฎีจีน เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นชุมชนของผู้มีเชื้อสายโปรตุเกสในไทย เป็นอาหารพิเศษที่จะทำให้ช่วงเทศกาลคริสต์มาส วันขึ้นปีใหม่ หรือเทศกาลสำคัญอื่น ๆ ทางศาสนาของชุมชน[1] เพราะมีกรรมวิธียุ่งยาก[2] ทั้งนี้แซนโมจะมีรูปลักษณ์และรสชาติเข้มข้นหรือหวานฉ่ำไปตามความนิยมของแต่ละบ้าน[3] อย่างไรก็ตามแซนโมถือเป็นอาหารที่ยังมีเค้าของอาหารยุโรปมากที่สุด[4]

แซนโมจะใช้เนื้อวัวหรือเนื้อหมูเป็นส่วนประกอบหลักก็ได้ตามความชอบ โดยมากนิยมใช้เนื้อสะโพก บ้างใช้เนื้อสัน หากใช้เนื้อสะโพกจะตัดแบ่งเป็นชิ้น ๆ ชิ้นหนึ่งมีความหนา 2 นิ้ว และความกว้าง 16 นิ้ว แล้วนำมีดแหลมแทงไปในเนื้อเพื่อที่จะเอามันหมูที่หั่นเป็นเส้นยาวซึ่งคลุกเคล้าเข้ากับพริกไทย เกลือ และหอมแดงบุบยัดเข้าไป[5] เพื่อทำให้เนื้อนิ่มขึ้น[3] จากนั้นนำเนื้อดังกล่าวไปคลุกเคล้ากับพริกไทย เกลือ และหอมแดงบุบ ไปทอดในน้ำมันพอหอมแต่ไม่ถึงกับสุก แล้วนำเนื้อดังกล่าวไปต้มในน้ำแกงที่ผสมหัวหอม เกลือ ซอส และซีอิ๊วดำ เพียงเล็กน้อยเพื่อแต่งสีให้สวยงาม จากนั้นใส่ซอสที่หมักเนื้อก่อนหน้าลงไป พร้อมกับนำลูกกระวาน กานพลู พริกไทย และอบเชย ห่อใส่ผ้าขาวใส่ลงในหม้อ เมื่อเนื้อนุ่มดีแล้ว ก็เสิร์ฟด้วยการหั่นเป็นแว่น แลเห็นมันหมูเป็นไส้ข้างใน[5] ส่วนน้ำมันที่ใช้ทอดจะนำไปเคี่ยวให้ข้นเป็นซอสไว้ราดบนเนื้อก่อนเสิร์ฟ[4][6] โดยรับประทานกับข้าวสวย ขนมปัง[5] หรือรับประทานกับซอสพริก[4] รับประทานเคียงกับมันฝรั่ง แคร์รอต และถั่วลันเตาต้ม[6]

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. ข่ายทอง ชุนหสุวรรณ และคณะ (2558). วัฒนธรรมอาหารในเขตธนบุรี กรณีศึกษาอาหารโปรตุเกส และอาหารมอญ (PDF). มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี. p. 27.
  2. "สำรับสำราญอาหารสยาม-โปรตุเกส ชุมชนกุฎีจีน". Museum Thailand. 20 กรกฎาคม 2560. สืบค้นเมื่อ 28 ธันวาคม 2565. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  3. 3.0 3.1 ปิ่นอนงค์ ปานชื่น (27 มกราคม 2560). "เปิดสำรับโปรตุเกส-ไทย บ้านสกุลทอง". กรุงเทพธุรกิจ. สืบค้นเมื่อ 28 ธันวาคม 2565. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  4. 4.0 4.1 4.2 TU KEIZAI-MAN (20 เมษายน 2564). "นัมบังซุเกะ อาหารฝรั่งโปรตุเกสที่ถูกแปลงเป็นอาหารญี่ปุ่นไปเสียสนิท". Anngle. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-12-28. สืบค้นเมื่อ 28 ธันวาคม 2565. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  5. 5.0 5.1 5.2 ข่ายทอง ชุนหสุวรรณ และคณะ (2558). วัฒนธรรมอาหารในเขตธนบุรี กรณีศึกษาอาหารโปรตุเกส และอาหารมอญ (PDF). มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี. p. 28.
  6. 6.0 6.1 เกษศิรินทร์ ผลธรรมปาลิต. "บ้านสกุลทอง สำรับโปรตุเกส จีน ไทย ที่สะท้อนพหุวัฒนธรรมของย่านกุฎีจีน". สารคดี. สืบค้นเมื่อ 28 ธันวาคม 2565. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)