ขนมโตเกียว
ประเภท | อาหารว่าง |
---|---|
แหล่งกำเนิด | ประเทศไทย |
ภูมิภาค | เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ |
ผู้สร้างสรรค์ | คนไทย |
ส่วนผสมหลัก | ไข่, แป้งสาลี , เกลือ , นม, และ เบคกิ้งโซดา |
ขนมโตเกียว เป็นขนมไทยชนิดหนึ่ง คล้ายกับโดรายากิของญี่ปุ่น คือ เป็นแป้งแพนเค้กชิ้นบาง ๆ ทำให้ร้อนบนเตาขนาดเล็กที่มีหน้าเตาแบน แล้วม้วนห่อไส้ซึ่งมีด้วยกันหลากหลายไส้ เช่น ไส้กรอก, ไข่นกกระทา, ไส้ครีมรสหวานต่าง ๆ รวมถึงอาจจะมีไส้พิเศษในบางร้าน เช่น ชีส, บิ๊กไบต์, ไก่ยอ หรือแซลมอน[1]
ที่มาของขนมโตเกียวนั้นไม่เป็นที่ทราบอย่างแน่นอน บ้างก็ว่ามาจากขนมยัตสึฮาชิ (ญี่ปุ่น: 八ツ橋)[2] บ้างก็ว่าน่าจะมาจากขนมโดรายากิ (どら焼き) ของญี่ปุ่น บ้างก็ว่ามาจากการที่ผู้ขายละเลงแป้งแล้วบีบแป้งเป็นเส้นคล้ายตัวอักษรญี่ปุ่นด้านข้าง ก่อนจะม้วนแป้ง แต่ที่มาที่เชื่อถือกันมากที่สุด[1] เชื่อว่าในราว พ.ศ. 2510 ที่ห้างสรรพสินค้าไทยไดมารู ซึ่งเป็นกิจการห้างสรรพสินค้าของญี่ปุ่นมาเปิดดำเนินกิจการครั้งแรกในประเทศไทย ที่ย่านราชประสงค์ ห้างนี้เป็นที่นิยมมาก เพราะเป็นสถานที่แห่งแรกในประเทศไทยที่มีบันไดเลื่อนและเครื่องปรับอากาศ เชื่อว่าจุดกำเนิดของขนมโตเกียวมาจากการที่มีผู้ขายอยู่ที่ห้างแห่งนี้ โดยดัดแปลงมาจากขนมโดรายากิของญี่ปุ่น แล้วตั้งชื่อขนมของตนเองที่ทำขึ้นใหม่นี้ว่า "ขนมโตเกียว" เนื่องจากไทยไดมารูนำเข้าสินค้าจากประเทศญี่ปุ่นรวมถึงอาหารด้วย[3] ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับมหานครโตเกียว เมืองหลวงของประเทศญี่ปุ่นแต่อย่างใด[4] โดยที่คำว่า "ได" (ญี่ปุ่น: 大) หมายถึง "ใหญ่" และ "มารุ" (マル) หมายถึง "วงกลม" รวมความหมายถึง "วงกลมใหญ่"
ปัจจุบัน สามารถพบเห็นขนมโตเกียวขายอยู่ทั่วไป โดยเฉพาะเป็นรถเข็นหรือแผงลอยตามริมถนน[3]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 ศรีโช, สิทธิโชค (กันยายน 2016). "ไทยแลนด์โอนลี่ 8 อาหารชื่อญี่ปุ่นเหล่านี้ มีเฉพาะเมืองไทย!". SPECIAL SCOOP. HEALTH & CUISINE. Vol. 16 no. 188. p. 32. ISSN 1513-7589.
- ↑ "ที่มาของ "ขนมโตเกียว" ไทย ในมุมมองของ "สาวเกียวโต" !". - CookieCoffee -. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 6 ตุลาคม 2016. สืบค้นเมื่อ 20 กันยายน 2016.
- ↑ 3.0 3.1 Sereemongkonpol, Pornchai (4 มีนาคม 2016). "Throw out the cookbook". Guru. บางกอกโพสต์ (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 17 กรกฎาคม 2016.
- ↑ "เกร็ดความรู้-10 อาหารไทยที่ชื่อไม่ไทย". centrallabthai. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 18 กรกฎาคม 2016. สืบค้นเมื่อ 17 กรกฎาคม 2016.