แพนเค้ก
![]() แพนเค้กแบบอเมริกันที่ถูกวางซ้อนกันและถูกราดด้วยน้ำผึ้ง | |
ประเภท | แบตเตอร์ |
---|---|
แพนเค้ก (อังกฤษ: pancake) หรือที่รู้จักในชื่อฮอตเค้ก (Hotcake), กริดเดิลเค้ก (Griddlecake) หรือแฟลปแจ็ก (Flapjack) เป็นขนมเค้กที่มีลักษณะแบนและมักมีลักษณะเป็นแผ่นกลมบาง โดยทำจากแป้งเหลว และอาจมีไข่ นม และเนยผสมอยู่ จากนั้นนำไปปรุงบนพื้นผิวร้อน เช่น กระทะแบนหรือกระทะทอด แพนเค้กจัดเป็นขนมปังประเภทแป้งเหลวปรุงสุก (Batter bread) ทั้งนี้ หลักฐานทางโบราณคดีบ่งชี้ว่าแพนเค้กน่าจะเป็นอาหารที่มีการบริโภคในสังคมยุคก่อนประวัติศาสตร์[1]
รูปร่างและโครงสร้างของแพนเค้กมีความหลากหลายไปตามแต่ละภูมิภาคทั่วโลก ในประเทศอังกฤษนั้นการทำแพนเค้กมักไม่มีการใช้สารช่วยขึ้นฟูและมีลักษณะคล้ายเครป (Crêpe)[2] ขณะที่ในประเทศสกอตแลนด์และอเมริกาเหนือ มีการใช้สารช่วยขึ้นฟู เช่น ผงฟู (Baking powder) ทำให้แพนเค้กมีความหนาและเนื้อนุ่มฟู สำหรับเครป ซึ่งมีต้นกำเนิดจากแคว้นเบรอตาญ (Breton) ในประเทศฝรั่งเศส เป็นแพนเค้กบางที่ปรุงโดยใช้กระทะพิเศษหรือเครื่องทำเครป โดยให้เกิดโครงสร้างฟองอากาศละเอียดคล้ายลูกไม้ แพนเค้กอีกหนึ่งรูปแบบที่มีชื่อเสียงซึ่งมีต้นกำเนิดจากยุโรปตะวันออกเฉียงใต้ คือ พาลัทชิงเคอ (Palatschinke) ซึ่งเป็นแพนเค้กบางชุ่มชื้นที่ผ่ายการทอดทั้งสองด้านและสามารถนำไปเติมไส้ต่าง ๆ เช่น แยม, ครีมชีส, ช็อกโกแลต หรือวอลนัทบด ทั้งนี้ สามารถใช้ไส้ชนิดอื่นได้อีกหลากหลาย ทั้งในรูปแบบของหวานและของคาว
ในบางประเทศ มีการจำหน่ายแป้งแพนเค้กสำเร็จรูปเพื่อความสะดวกในการทำแพนเค้ก เช่นเดียวกับวาฟเฟิล แพนเค้กแช่แข็งสำเร็จรูปนั้นมีวางจำหน่ายจากบริษัทต่าง ๆ ด้วยเช่นกัน ตัวอย่างเช่นยี่ห้อเอกโก้ (Eggo) หากใช้นมบัตเตอร์มิลค์แทนที่นมหรือใช้ร่วมกับนมแพนเค้กที่ได้จะมีรสเปรี้ยวอ่อน ๆ และเรียกว่าบัตเตอร์มิลค์แพนเค้ก (Buttermilk pancake) ซึ่งเป็นที่นิยมในสกอตแลนด์, ไอร์แลนด์ และสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ยังสามารถใช้แป้งบักวีตเป็นส่วนประกอบหลักของแป้งแพนเค้กได้ ซึ่งจะได้แพนเค้กประเภท แพนเค้กบักวีต (Buckwheat pancake) ที่มีหลากหลายรูปแบบ เช่น บลินี (Blini), กาเลเตซ (Kaletez), ปลัว (Ploye) และ เมมิล-บุชิมแก (Memil-buchimgae) หากมันฝรั่งเป็นส่วนประกอบหลักของแป้งแพนเค้ก ผลลัพธ์ที่ได้คือแพนเค้กมันฝรั่ง (Potato pancake) ซึ่งเป็นอาหารที่พบในหลายวัฒนธรรมทั่วโลก
แพนเค้กสามารถรับประทานได้ทุกช่วงเวลาของวันหรือปี พร้อมกับเครื่องเคียงหรือไส้ที่หลากหลาย อย่างไรก็ตาม ในแต่ละภูมิภาค แพนเค้กมักมีความเกี่ยวข้องกับช่วงเวลาหรือเครื่องเคียงเฉพาะที่แตกต่างกันไป ในอเมริกาเหนือ แพนเค้กมักถูกมองว่าเป็นอาหารเช้าและมีบทบาทคล้ายกับวาฟเฟิล ขณะที่ในสหราชอาณาจักรและเครือจักรภพ แพนเค้กมีความเกี่ยวข้องกับวันอังคารแห่งการสารภาพบาป (Shrove Tuesday) หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า "วันแพนเค้ก" (Pancake Day) ซึ่งในอดีตเป็นวันที่ต้องใช้วัตถุดิบที่เน่าเสียได้ เช่น ไข่ นม และเนย ก่อนเข้าสู่ช่วงถือศีลอดในเทศกาลมหาพรต (Lent)
ประวัติศาสตร์
[แก้]ชาวกรีกโบราณทำแพนเค้กที่เรียกว่า τηγανίτης (เตกานิเตส – tēganitēs), ταγηνίτης (ตาเกนิเตส – tagēnitēs)[3] หรือ ταγηνίας (ตาเกนิอัส – tagēnias)[4] ซึ่งทั้งหมดมีรากศัพท์มาจากคำว่า τάγηνον (ตาเกนอน – tagēnon) ที่แปลว่า "กระทะทอด"[5] โดยมีการกล่าวถึงคำว่า tagenias ครั้งแรกในผลงานของกวีชาวกรีกในศตวรรษที่ 5 ก่อนคริสต์ศักราช ได้แก่ คราทินัส (Cratinus)[6] และ แมกเนส (Magnes)[7] ตาเกนิเตสนั้นทำจากแป้งสาลี, น้ำมันมะกอก, น้ำผึ้ง และนมเปรี้ยว และนิยมรับประทานเป็นอาหารเช้า[8][9][10] แพนเค้กอีกประเภทหนึ่งในกรีกโบราณคือ σταιτίτης (สไตติเตส – staititēs) ซึ่งมีรากศัพท์มาจาก σταίτινος (สไตตินอส – staitinos) อันหมายถึง "ทำจากแป้งหรือแป้งโดของข้าวสเปลต์"[11] โดยมีต้นกำเนิดจากคำว่า σταῖς (สไตส์ – stais) ที่หมายถึง "แป้งจากข้าวสเปลต์"[12] นักเขียนชาวกรีกนามว่าอาธีนีอุส (Athenaeus) ได้กล่าวถึง staititas ในหนังสือเดปโนโซฟิสเต (Deipnosophistae) โดยระบุว่าแพนเค้กชนิดนี้มักรับประทานคู่กับน้ำผึ้ง, งา และชีส[13][14][15] สำหรับคำว่าแพนเค้ก (pancake) ในภาษาอังกฤษสมัยกลาง (Middle English) นั้นปรากฏครั้งแรกในศตวรรษที่ 15[16][17]
ชาวโรมันโบราณเรียกขนมทอดของพวกเขาว่า alia dulcia (อาเลีย ดุลเกีย) ซึ่งเป็นภาษาละตินที่แปลว่า "ขนมหวานอื่น ๆ" อย่างไรก็ตาม ขนมดังกล่าวมีลักษณะแตกต่างจากแพนเค้กในปัจจุบันอย่างมาก[18]
รูปแบบท้องถิ่น
[แก้]
แอฟริกา
[แก้]จะงอยแอฟริกา
[แก้]แพนเค้กในภูมิภาคจะงอยแอฟริกา (จิบูตี, เอริเทรีย, เอธิโอเปีย และโซมาเลีย) เรียกว่า อึนเจอรา (injera) ซึ่งบางครั้งสะกดเป็น เอนเจรา (enjera), บูเดนา (budenaa) ในภาษาโอโรโม หรือ คานเยโร (canjeero) ในภาษาโซมาลี อึนเจอราเป็นขนมปังแบนที่ผ่านกระบวนการหมัก มีเนื้อสัมผัสที่เป็นรูพรุนเล็กน้อยและนุ่มฟู โดยทั่วไปทำจากแป้งข้าวเทฟฟ์ (teff) และถือเป็นอาหารประจำชาติของเอธิโอเปียและเอริเทรีย คานเยโรหรือที่เรียกว่า ลาฮูห์ (lahooh หรือ lahoh) เป็นขนมปังแบนที่มีลักษณะคล้ายกัน ซึ่งนิยมรับประทานในโซมาเลียและเยเมน

ในเอริเทรียและเอธิโอเปีย injera มักรับประทานร่วมกับสตูว์ที่เรียกว่า วัต (wat) หรือกับสลัด (โดยเฉพาะในช่วงถือศีลอดของคริสตจักรออร์โธดอกซ์เอธิโอเปีย) นอกจากนี้ยังสามารถนำไปทำเป็น อึนเจอรา ฟีร์ฟีร์ (injera firfir) ซึ่งเป็นเมนูที่ใช้อึนเจอราฉีกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยแล้วคลุกกับซอส ตามธรรมเนียม ผู้รับประทานจะใช้มือขวาฉีกอึนเจอราเป็นชิ้นเล็กเพื่อนำมาหยิบสตูว์หรือสลัด เมื่อรับประทานเสร็จอึนเจอราที่รองอยู่ด้านล่างซึ่งดูดซับน้ำแกงและรสชาติจากสตูว์จะถูกรับประทานไปด้วยเช่นกัน ดังนั้นอึนเจอราจึงทำหน้าที่เป็นทั้งอาหาร, อุปกรณ์รับประทานอาหาร และภาชนะรองอาหารไปพร้อมกัน เมื่ออึนเจอราที่ใช้รองเป็น "ผ้าปูโต๊ะ" หมดลง มื้ออาหารจึงจะถือว่าสิ้นสุด
ลาฮูห์เป็นขนมปังแผ่นบางที่มีลักษณะคล้ายแพนเค้ก มีต้นกำเนิดจากโซมาเลีย, จิบูตี และเยเมน[19][20] มักรับประทานร่วมกับน้ำผึ้ง, เนยใสฆี (ghee) และชา สำหรับมื้อกลางวันนั้นลาฮูห์ในบางครั้งนิยมรับประทานคู่กับแกง, ซุป หรือสตูว์
เคนยา
[แก้]ในเคนยานั้นแพนเค้กเป็นอาหารเช้าที่ใช้รับประทานเป็นทางเลือกแทนขนมปัง ซึ่งมักเสิร์ฟโดยไม่มีเครื่องเคียงเพิ่มเติมเนื่องจากมีการเติมน้ำตาลลงไปในแป้งก่อนปรุงเพื่อให้มีรสหวาน แพนเค้กของเคนยามีลักษณะคล้ายกับแพนเค้กแบบอังกฤษและเครปแบบฝรั่งเศส
แอฟริกาใต้
[แก้]ในแอฟริกาใต้ คำว่า "แพนเค้ก" (pancake) หมายถึงเครป ในภาษาอาฟรีกานส์นั้นแพนเค้กจะถูกเรียกว่าปันเนิงกุค (pannekoek, พหูพจน์ – ปินเนิงกุเคอ (pannekoeke)) ซึ่งตามประเพณีนิยมแล้วนั้นจะทำโดยใช้เตาแก๊สและรับประทานในวันที่อากาศเย็นและชื้น ปันเนิงกุคมักถูกเสิร์ฟพร้อมน้ำตาลปรุงรสด้วยอบเชย (บางครั้งอาจเป็นน้ำมะนาว) โดยสามารถปล่อยให้น้ำตาลละลายซึมเข้าไปในแป้งเพื่อให้เนื้อนุ่ม หรือรับประทานทันทีหากต้องการคงความกรอบเอาไว้ แพนเค้กชนิดนี้เป็นอาหารหลักที่พบได้ทั่วไปในงานเทศกาลของโบสถ์ดัตช์รีฟอร์ม (Dutch Reformed Church)[21]
ปลาตกุคีส์ (Plaatkoekies – แปลว่า "flapjacks" หรือ "plate cookies") คือแพนเค้ก "ซิลเวอร์ดอลลาร์" แบบอเมริกัน
ยูกันดา
[แก้]ในยูกันดา แพนเค้กท้องถิ่นจะถูกปรุงขึ้นจากกล้วย (หนึ่งในอาหารหลักของประเทศนี้) และมักจะถูกเสิร์ฟในฐานะอาหารเช้า หรือในฐานะตัวเลือกของขนมขบเคี้ยว
เอเชียตะวันออก
[แก้]จีน
[แก้]แพนเค้กจีนนั้นมีทั้งแบบคาวและหวาน โดยทั่วไปทำจากแป้งโดแทนที่จะเป็นแป้งเหลว (batter)[22] ส่วนผสมหลักประกอบด้วยน้ำ, แป้งสาลี และน้ำมันพืช[23] แพนเค้กจีนสามารถเสิร์ฟเป็นเครื่องเคียง ซึ่งมักรับประทานคู่กับเป็ด หรือเป็นของว่างโดยโรยหน้าด้วยต้นหอมและรับประทานพร้อมซอสรสเผ็ดและเปรี้ยว[23]
ญี่ปุ่น
[แก้]
ในประเทศญี่ปุ่น โอโกโนมิยากิ (お好み焼き) ทำจากแป้ง, ไข่, กะหล่ำปลี และวัตถุดิบที่สามารถเลือกใส่ได้ตามต้องการ ส่วนโอยากิ (おやき) เป็นแพนเค้กที่มักมีไส้ เช่น อังโกะ (あんこ หรือ 小豆餡), มะเขือยาว หรือโนะซาวานะ (野沢菜) นอกจากนี้ยังมีโดรายากิ (どら焼き, どらやき, 銅鑼焼き, ドラ焼き) ซึ่งเป็นขนมที่ทำจากแพนเค้กสไตล์ตะวันตกสองชิ้นประกบกัน โดยมีไส้อังโกะอยู่ตรงกลาง นอกจากนี้ เครปแบบหวานก็ได้รับความนิยมอย่างมากในญี่ปุ่น
ชาวญี่ปุ่นยังได้พัฒนาแพนเค้กแบบซูเฟล (soufflé pancake) ซึ่งทำโดยใช้แม่พิมพ์วงแหวนระหว่างการปรุง ทำให้แพนเค้กมีความหนาและฟูมากกว่าแพนเค้กแบบอเมริกันที่เป็นต้นแบบ[24] แพนเค้กประเภทนี้สามารถพบได้ในสิงคโปร์,[25] โทรอนโต,[26] ออสเตรเลีย และสหราชอาณาจักร[27]
เกาหลี
[แก้]ในเกาหลี แพนเค้กมีหลายประเภท ได้แก่ ปูชิมแก (부침개) ซึ่งเป็นแพนเค้กแบบคาว, ช็อน (전) ซึ่งเป็นอาหารชุบแป้งทอดที่บางครั้งเรียกว่าแพนเค้ก, ปินแดต็อก (빈대떡) ซึ่งเป็นแป้งถั่วเขียวทอด และ โฮต็อก (호떡) ซึ่งเป็นแพนเค้กไส้หวาน แพนเค้กเหล่านี้สามารถรับประทานได้ตลอดทั้งวันทั้งในฐานะเครื่องเคียงหรือของว่าง นอกจากนี้ยังมีเมนูที่นำแป้งแพนเค้กไปใช้ทำอาหารทอดแบบอื่น เช่น ผักชุบแป้งทอด, เนื้อชุบแป้งทอดทอด หรือปลาชุบแป้งทอด[28]
เอเชียใต้
[แก้]อินเดีย
[แก้]ในประเทศอินเดียนั้นมีแพนเค้กหลากหลายรูปแบบ ซึ่งแตกต่างกันทั้งในด้านรสชาติและวัตถุดิบหลัก โดยแพนเค้กเหล่านี้ทำโดยไม่ใช้สารช่วยขึ้นฟู แพนเค้กที่ปรุงตามรูปแบบของอาหารอินเดียตอนเหนือเรียกว่าชีลา (cheela) ซึ่งมีทั้งแบบหวานและคาว โดยชีลาหวานนั้นทำจากแป้งสาลีโดยผสมน้ำตาลหรือน้ำตาลโตนด ขณะที่ชีลาแบบคาวจะใช้แป้งที่ทำจากแป้งถั่ว (gram flour) หรือถั่วเขียวบด (moong daal) และบางครั้งนิยมโรยหน้าด้วยปานีร์ (paneer) ซึ่งเป็นชีสสดแบบของอินเดีย
โดซา (dosa), อาโป้ง (appam), นีร์โดซา (neer dosa) และอุตตาปัม (uttapam) เป็นแพนเค้กที่ทำตามรูปแบบของอาหารอินเดียตอนใต้ โดยใช้แป้งข้าวที่ผ่านการหมักร่วมกับถั่วดำปอกเปลือกแล้วนำไปผสมกับน้ำก่อนปรุง นอกจากนี้ยังมีมีทาปูดา (meetha pooda) เป็นแพนเค้กหวานที่มักรับประทานคู่กับผักดองและซอสจัฏณี (chutney) ซึ่งเป็นเมนูอาหารเช้าทั่วไปในแคว้นปัญจาบ ส่วนในรัฐอัสสัมนั้นมีอาหารที่เรียกว่าพิถา (pitha) ซึ่งเป็นแพนเค้กที่มักทำขึ้นในโอกาสพิเศษ เช่น เทศกาลบิฮู (Bihu) ปาติชัปตา (pati-shapta) เป็นแพนเค้กกึ่งหวานในรูปแบบของเบงกอล โดยมีไส้ที่ทำจากมะพร้าวขูดหรือนมข้น
ในอินเดียตะวันตก ถาลีปีฐ (thalipeeth) ซึ่งเป็นแพนเค้กธัญพืชผสมหลายชนิดนั้นเป็นเมนูที่ได้รับความนิยม ส่วนในรัฐกัว มีแพนเค้กแบบเครปดั้งเดิมที่เรียกว่าอะเลเบเล (alebele) หรือ อัลเลเบลเล (alle belle) ซึ่งมักรับประทานในช่วงน้ำชายามบ่าย โดยมีไส้ที่ทำจากน้ำตาลโตนดและมะพร้าว ในอินเดียตะวันออกมีมัลปัว (malpua) ที่บางครั้งทำออกมาในลักษณะของแพนเค้ก ส่วนในบางภูมิภาคของอินเดียตอนกลางมีอาหารที่เรียกว่าชีลาบางสีเขียว (thin green cheelas) ที่ทำจากแป้งข้าวผสมกับขิงหรือใบกระเทียมบด และปรุงรสด้วยเกลือ, เมล็ดยี่หร่า, พริกเขียว, น้ำมัน, ใบแกง (curry leaves) และผักชี
เนปาล
[แก้]ในเนปาล ชาวเนวาร์มีแพนเค้กข้าวคาวที่เรียกว่าจะตานมะริ หรือชาตามารี (chataamari) ซึ่งปรุงด้วยการใส่เนื้อสัตว์หรือไข่ไว้ด้านบน อาหารจานนี้มักถูกเรียกว่าพิซซ่าเนวาร์ (Newari Pizza) เนื่องจากมีวิธีการเสิร์ฟและรับประทานคล้ายกับพิซซ่าแบบอเมริกัน นอกจากการใส่เนื้อหรือไข่แล้ว จะตานมะริยังสามารถเสิร์ฟแบบธรรมดาโดยไม่มีเครื่องเคียงเพิ่มเติมได้เช่นกัน[29]
บังกลาเทศ
[แก้]ชิโตอิพิถา (Chitoi Pitha) เป็นแพนเค้กนึ่งแบบดั้งเดิมของบังกลาเทศ ซึ่งทำจากแป้งข้าว และเป็นอาหารที่นิยมรับประทานในช่วงเทศกาลหรือโอกาสพิเศษ ตัวแป้งนั้นทำจากแป้งข้าวผสมกับน้ำ และบางครั้งอาจเติมส่วนผสมอื่น เช่น กะทิหรือน้ำตาลโตนด จากนั้นจึงนำแป้งไปเทลงในกระทะร้อนหรือแม่พิมพ์เพื่อนึ่งจนสุก ชิโตอิพิถานั้นสามารถเสิร์ฟพร้อมเครื่องเคียงได้ทั้งแบบหวานและคาว โดยแบบหวานมักรับประทานกับน้ำตาลโตนด หรือกากน้ำตาล ส่วนแบบคาวนิยมรับประทานกับแกงถั่ว หรือแกงปลา
ปากีสถาน
[แก้]ในตำรับอาหารปากีสถานมีสิ่งที่เรียกว่า "ริชิกิ" (rishiki) ซึ่งเป็นแพนเค้กที่มีความหนามากกว่าเครปเล็กน้อย ทำจากแป้งสาลีโฮลวีตผสมกับน้ำและไข่ โดยมักเสิร์ฟคู่กับน้ำผึ้ง ริชิกิเป็นอาหารที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในพื้นที่ทางตอนเหนือของประเทศ และถือเป็นอาหารหลักของชาวชิตราลี (Chitrali)
ศรีลังกา
[แก้]แพนเค้กมะพร้าวศรีลังกา หรือ පොල් පැණි පෑන්කේක් (โปล ปะนิแพนเค้ก) เป็นแพนเค้กไส้มะพร้าวหวานปรุงรส โดยห่อไว้ในแป้งเครปบางที่ทำจากแป้งสาลี ไข่ และกะทิ และมีการเติมขมิ้นเพื่อให้มีสีเหลืองสวยงาม เป็นขนมหวานที่ได้รับความนิยมในศรีลังกา
เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
[แก้]
แพนเค้กกล้วยเป็นเมนูที่พบได้ทั่วไปในคาเฟ่ที่มุ่งเน้นในการให้บริการนักเดินทางแบบแบ็คแพ็คในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปรากฏการณ์นี้นำไปสู่การเกิดคำว่าเส้นทางแพนเค้กกล้วย (Banana Pancake Trail หรือ Banana Pancake Circuit) ซึ่งหมายถึงเส้นทางที่นักเดินทางแบ็คแพ็คเดินทางไปยังประเทศต่าง ๆ เช่น มาเลเซีย, ไทย, กัมพูชา และเวียดนาม ซึ่งวัฒนธรรมการท่องเที่ยวเช่นนี้กำลังเติบโตขึ้นมาบนเส้นทางนี้[30]
อินโดนีเซีย
[แก้]ในอินโดนีเซียนั้นแพนเค้กจะถูกเรียกว่าปาเนกุก (panekuk) โดยหนึ่งในแพนเค้กที่มีชื่อเสียงคือเซราบี (serabi) ซึ่งทำจากแป้งข้าวและกะทิ เซราบี มักเสิร์ฟพร้อมกับคินชา (kinca) ซึ่งเป็นน้ำเชื่อมน้ำตาลมะพร้าวข้นสีน้ำตาล นอกจากนี้ ยังสามารถรับประทานคู่กับท็อปปิ้งชนิดอื่น เช่น น้ำตาล, ถั่วลิสง, กล้วยหั่น, ขนุน และผลไม้ชนิดอื่น หรือช็อกโกแลต นอกเหนือจากรสหวานแล้ว ยังมีเซราบีแบบคาวที่เติมส่วนผสมอย่างอื่น เช่น ชีสเชดดาร์, เนื้อวัวคอร์นบีฟ, ไส้กรอก และไก่ฉีก[31]
แพนเค้กของอินโดนีเซียในรูปแบบอื่นได้แก่ บูร์โก, ดาดาร์กูลุง, กูเวอาเป, กูเวอาเปม, กูเวจูบิต, กูเวจูจูร์, กูเวเลเกร์, กูเวเตรังบูลัน, ลักลัก, มะตะบะ, ปันเนิงกุค, โปฟเฟอร์เจิส, โรตีจาไน และโรตีจาลา
มาเลเซีย
[แก้]
แพนเค้กแบบดั้งเดิมของชาวมลายูในมาเลเซียเรียกว่าเปกงา (Pek Nga) หรือ เลมเปงเกลาปา (Lempeng Kelapa) แพนเคกชนิดนี้มีวิธีทำคล้ายกับแพนเค้กแบบอเมริกันหรือแคนาดา แต่ไม่มีสารช่วยให้ขึ้นฟู โดยเป็นแพนเค้กรสคาวที่นิยมรับประทานในช่วงเช้า เปกงามักถูกเสิร์ฟพร้อมกับแกงปลา, ข้าวเหนียวมะพร้าว, ปลาแห้ง, เรินดัง (rendang),[32] หรือซัมบัล (sambal)
เมียนมาร์ (พม่า)
[แก้]แพนเค้กแบบดั้งเดิมของพม่าเรียกว่าเบอินมอน (bein mont) ซึ่งเป็นขนมพื้นเมืองประเภทหนึ่งของชาวพม่า แพนเค้กชนิดนี้ทำจากแป้งข้าวเจ้า โดยนำไปอบพร้อมกับน้ำตาลโตนดและมะพร้าวขูด จากนั้นตกแต่งด้วยงา, ถั่วลิสง และเมล็ดป๊อปปี้[33]
ฟิลิปปินส์
[แก้]
ในฟิลิปปินส์ แพนเค้กแบบดั้งเดิมที่เป็นขนมหวาน ได้แก่ซาลูคารา (salukara) ซึ่งทำจากข้าวเหนียว, ไข่ และกะทิ โดยที่ตัวแป้งนั้นจะถูกนำไปเทลงในหม้อดินหรือกระทะที่รองด้วยใบตองหรือทาน้ำมัน (เดิมใช้น้ำมันหมู) แล้วอบด้วยถ่านร้อน ซาลูคารา เป็นหนึ่งในรูปแบบของบิบีงคา (bibingka) ซึ่งเป็นเค้กข้าวอบของฟิลิปปินส์[34] อีกเมนูที่คล้ายกันคือ ปันยาลัม (panyalam) ซึ่งเป็นแพนเค้กข้าวจากมินดาเนา แต่ใช้วิธีทอดแทนการอบ[35]
แพนเค้กรสคาวแบบดั้งเดิมในฟิลิปปินส์ ได้แก่ปุดปอด (pudpod) ซึ่งเป็นแพนเค้กที่ทำจากเนื้อปลารมควันฉีกฝอย และโอโคย (okoy) ซึ่งเป็นแพนเค้กที่ทำจากกุ้งชุบแป้ง, ฟักทอง หรือมันเทศทอด

แพนเค้กสไตล์อเมริกันเป็นเมนูที่พบได้ทั่วไปในร้านอาหารจานด่วนในฟิลิปปินส์ ซึ่งมักจะถูกเสิร์ฟเป็นอาหารเช้า และมีจำหน่ายในร้านอาหารเฉพาะทาง เช่น ไอฮอป (IHOP) และแบรนด์ร้านอาหารท้องถิ่นอย่างแพนเค้กเฮาส์ (Pancake House) นอกจากนี้ ยังมีแพนเค้กแบบท้องถิ่นที่มีราคาถูกกว่าที่เรียกว่า ฮอตเค้ก ซึ่งนอกจากจะนิยมรับประทานเป็นอาหารเช้าแล้ว ยังเป็นของว่างยามบ่ายด้วยเช่นกัน ร้านแผงลอยริมถนนมักขายฮอตเค้กแบบชิ้นเล็ก โดยสามารถเลือกท็อปปิ้งได้ เช่น มาการีน, น้ำตาล, นมข้น หรือน้ำเชื่อมแต่งกลิ่น
เวียดนาม
[แก้]
ในตำรับอาหารเวียดนามนั้นมีอาหารหลายชนิดที่เรียกว่าแพนเค้ก เช่น บั๊ญแส่ว (bánh xèo) และ บั๊ญข็อต (bánh khọt) ซึ่งบางครั้งถูกเรียกว่าแพนเค้กเวียดนาม นอกจากนี้ยังมีอาหารที่คล้ายกัน เช่น บั๊ญกัน (bánh căn) และ บั๊ญคว้าย (bánh khoái) ซึ่งเป็นเมนูแพนเค้กที่พบได้ในภาคกลางของเวียดนาม[36]
ยุโรป
[แก้]
ออสเตรีย, สาธารณรัฐเช็ก, โรมาเนีย, สโลวาเกีย และอดีตยูโกสลาเวีย
[แก้]ในประเทศออสเตรีย, สาธารณรัฐเช็ก และสโลวาเกีย แพนเค้กจะมีชื่อเรียกที่แตกต่างกันไป ได้แก่ พาลัตชินเคอ (palatschinke), ปาลาชิงกา (palačinka) และ ปาลาซิงกา (palacinka) ตามลำดับ (รูปพหูพจน์: palatschinken, palačinky, และ palacinky) ในออสเตรียยังมีแพนเค้กชนิดพิเศษที่เรียกว่าไคเซอร์ชมาร์น (Kaiserschmarrn) ซึ่งเป็นแพนเค้กที่ฉีกเป็นชิ้นขนาดเล็กและผสมลูกเกด, อัลมอนด์, แยมแอปเปิล หรือชิ้นแอปเปิล แล้วโรยด้วยน้ำตาลไอซิง ส่วนในโรมาเนีย แพนเค้กจะถูกเรียกว่าคลาติตา (clătită, พหูพจน์: clătite) และในประเทศที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของยูโกสลาเวียนั้นจะใช้คำว่า ปาลาชิงกา (palačinka, พหูพจน์: palačinke) ซึ่งทั้งหมดมีรากศัพท์มาจากภาษาละตินคำว่า placenta ที่แปลว่า "เค้ก" แพนเค้กเหล่านี้มีลักษณะบางและมักจะใส่ไส้ เช่น แยมแอปริคอต, พลัม, ลิงกอนเบอร์รี, แอปเปิล หรือสตรอว์เบอร์รี รวมถึงซอสช็อกโกแลต หรือเฮเซลนัทบด โดยที่แบรนด์ยอดนิยมในหมู่เยาวชนนั้นได้แก่ ยูโรเครม (Eurokrem), นูเทลลา (Nutella), และลิโน-ลาดา (Lino-Lada) นอกจากนี้ ยังมีแพนเค้กรูปแบบดั้งเดิมที่นำแพนเค้กมายัดไส้ชีส, ราดโยเกิร์ต และนำไปอบในเตา
ยุโรปตะวันออก
[แก้]
อาหารในกลุ่มวัฒนธรรมสลาฟตะวันออกมีประเพณีการทำแพนเค้กมาอย่างยาวนาน และมีแพนเค้กหลากหลายประเภท ในเบลารุส, รัสเซีย และยูเครนนั้นแพนเค้กสามารถรับประทานได้ในทุกมื้อ ตั้งแต่อาหารเช้า, อาหารเรียกน้ำย่อย, อาหารจานหลัก ไปจนถึงของหวาน
บลินี (ภาษารัสเซีย: блины) หรือ มลินซี (ภาษายูเครน: млинцi) เป็นแพนเค้กแบบบางที่มีความหนากว่าเครปเล็กน้อย ทำจากแป้งสาลีหรือแป้งบัควีท, เนย, ไข่ และนม โดยมีการเติมยีสต์ลงในแป้ง แพนเค้กชนิดนี้มีประวัติยาวนานตั้งแต่ยุคเพแกนและถูกนำมาใช้ในงานเฉลิมฉลองต่าง ๆ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงเทศกาล "สัปดาห์แพนเค้ก" (Pancake Week) ที่จัดขึ้นในช่วงฤดูหนาวก่อนเข้าสู่เทศกาลมหาพรตใหญ่ (Great Lent) ในยุคก่อนคริสต์ศาสนานั้นบลินีและมลินซีถือเป็นสัญลักษณ์ของดวงอาทิตย์ในความเชื่อของชาวสลาฟโบราณ เนื่องจากมีรูปร่างเป็นวงกลม[37]

บลินตซ์ (blintz) (ภาษารัสเซีย: блинчики, บลินชิกิ) เป็นเครปบางที่ทำโดยไม่ใช้ยีสต์ แพนเค้กชนิดนี้เมื่อมีไส้จะเรียกว่านาลีสนีกี (ภาษายูเครน: налисники, nalysnyky), นาลีสต์นิกิ (ภาษารัสเซีย: налистники, nalistniki) หรือ นาเลสนิกิ (ภาษารัสเซีย: налесники, nalesniki)[38] ไส้ที่ใช้นั้นมีหลากหลาย เช่น แยม, ผลไม้, ควาร์ก หรือคอทเทจชีส, มันฝรั่ง, เนื้อสัตว์บดปรุงสุก, ไก่ รวมถึงเห็ด, ถั่วงอก, กะหล่ำปลี และหัวหอม โดยไส้จะถูกห่อหรือม้วนไว้ในแผ่นบลินตซ์ที่ทอดไว้ก่อนหน้านั้น จากนั้นจึงนำไปทอดซ้ำ, ผัด หรืออบให้สุกอีกครั้ง
ชาวยิวอัชเคนาซี (Ashkenazi Jews) ซึ่งก่อนปี 1945 นั้นได้อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ปัจจุบันนี้คือโปแลนด์, ส่วนหนึ่งของสาธารณรัฐเช็ก, ฮังการี และบางพื้นที่ของอดีตดินแดนพาเลออฟเซตเทิลเมนต์ ได้มีการทำบลินตซ์ขึ้นมาเช่นกัน โดยมีจุดเด่นที่แตกต่างกันคือใช้การสอดไส้เป็นชีสโคเชอร์ (kosher cheese) ที่ไม่มีเรนเนต (rennet) โดยที่สูตรส่วนใหญ่นั้นเป็นแบบหวาน มักเสิร์ฟพร้อมเบอร์รี่หรือครีมเปรี้ยว แพนเค้กชนิดนี้มักถูกนำมาเสิร์ฟในช่วงเทศกาลชาวูโอต (Shavuot) และในปัจจุบันนั้นสูตรดั้งเดิมยังคงอยู่ในสถานที่อย่างอิสราเอลและนิวยอร์ก นอกจากนี้ ลัตเก (latke) ซึ่งเป็นแพนเค้กมันฝรั่งที่ทำจากมันฝรั่งขูดละเอียดหรือขูดฝอย ก็เป็นอาหารที่นิยมรับประทานในช่วงเทศกาลฮานุกกะห์อีกด้วย
แพนเค้กขนาดเล็กและหนาเรียกว่าโอลาดยิ (oladyi) (ภาษารัสเซีย: оладьи) หรือโอลัดกี (oladky) (ภาษายูเครน: оладки) แป้งที่ใช้ทำนั้นอาจมีส่วนผสมเพิ่มเติม เช่น แอปเปิลและลูกเกด
นอกจากนี้ยังมีแพนเค้กอีกประเภทที่ทำจากควาร์ก เรียกว่าเซียร์นิกิ (syrniki)
เดนมาร์ก
[แก้]
เอเบลอสกีเวอร์ (Æbleskiver) เป็นแพนเค้กแบบดั้งเดิมของเดนมาร์กที่มีลักษณะเป็นทรงกลม (ชื่อของมันแปลว่า "ชิ้นแอปเปิล" ในภาษาเดนมาร์ก แม้ว่าแอปเปิลจะไม่ใช่ส่วนผสม) เอเบลอสกีเวอร์จะถูกปรุงบนเตาด้วยกระทะเหล็กหล่อพิเศษที่มีหลุมครึ่งวงกลมหลายหลุม โดยแป้งจะถูกเทลงในหลุมที่ทาน้ำมันไว้ และเมื่อเริ่มสุกนั้นตัวแพนเค้กจะถูกพลิกโดยใช้เข็มถักผ้า, ไม้เสียบ หรือส้อม เพื่อให้ได้รูปทรงกลมที่เป็นเอกลักษณ์ เอเบลอสกีเวอร์ไม่ได้มีรสหวานโดยตัวมันเอง แต่โดยทั่วไปจะเสิร์ฟคู่กับแยมราสป์เบอร์รี, สตรอว์เบอร์รี, ลิงกอนเบอร์รี หรือแบล็กเบอร์รี และโรยด้วยน้ำตาลไอซิ่ง
ฟินแลนด์
[แก้]
แพนเค้กของฟินแลนด์มีลักษณะคล้ายกับแพลตตาร์ (plättar) (ดูรายละเอียดในส่วนของสวีเดน) และมีชื่อเรียกในภาษาฟินแลนด์ว่าเลตตู (lettu), แลตตี (lätty), ไรสแกเล (räiskäle) หรือโอฮูไคเน็น (ohukainen) โดยทั่วไปแพนเค้กในฟินแลนด์จะรับประทานเป็นของหวานคู่กับวิปครีม, แยมแพนเค้ก, น้ำตาล หรือน้ำแข็งไสวานิลลา นอกจากเลตตูแบบปกติแล้ว ยังมีเลตตูแบบที่ใส่ตำแยสายพันธุ์ สติงกิงเน็ตเติล (stinging nettle) ลงไปเป็นส่วนผสมอีกด้วย (น็อคโคสเลตตู (nokkoslettu), พหูพจน์ น็อคโคสเลตูต (nokkosletut))[40] ในภาษาฟินแลนด์คำว่าเลตตู (lettu) และพันนูคัคคู (pannukakku) (แปลตรงตัวว่า "แพนเค้ก") มีความหมายต่างกัน โดยพันนูคัคคูจะมีโครงสร้างที่คล้ายกับฮอตเค้กมากกว่า และอบในเตาอบแทนการทอดในกระทะ โอลันด์สปันน์คาคา (Ålandspannkaka) หรือ "แพนเค้กของหมู่เกาะโอลันด์" เป็นแพนเค้กอบชนิดหนาพิเศษที่ใส่กระวาน และเติมพุดดิ้งข้าวหรือโจ๊กเซโมลินาเข้าไปในแป้ง นิยมรับประทานเฉพาะในหมู่เกาะโอลันด์และมักถูกเสิร์ฟในวันแห่งการปกครองตนเอง (Autonomy Day)[39] นอกจากเลตตูแบบหวานที่รับประทานเป็นของหวานแล้ว ยังมีแพนเค้กผักโขม (พินาตติเลตตู (pinaattilettu), พหูพจน์ พินาตติเลตูต (pinaattiletut))ซึ่งเป็นอาหารคาวและมักรับประทานเป็นอาหารจานหลักควบคู่กับมันฝรั่งต้มและแยมลิงงอนเบอร์รี โดยแพนเค้กชนิดนี้มีจำหน่ายในรูปแบบสำเร็จรูปจากหลายยี่ห้อ[41]
ฝรั่งเศส, เบลเยียม, อิตาลี, โปรตุเกส และสวิตเซอร์แลนด์
[แก้]
เครป (crêpes) เป็นแพนเค้กที่ได้รับความนิยมในฝรั่งเศส, เบลเยียม, สวิตเซอร์แลนด์ และโปรตุเกส ซึ่งทำจากแป้ง, นม และไข่ มีลักษณะบางและสามารถเสิร์ฟได้ทั้งแบบหวาน (เช่น ผลไม้, ไอศกรีม, แยม, ช็อกโกแลต, น้ำตาลไอซิ่ง) และแบบคาว (เช่น ชีส, แฮม, อาหารทะเล, ผักโขม) ในประเทศที่ใช้ภาษาฝรั่งเศสในยุโรปนั้นเครปมักจะถูกขายตามร้านหรือแผงขายแบบเฉพาะ ในอิตาลีมีอาหารที่คล้ายกันที่ถูกเรียกว่าเกรสเปลลา (crespella) หรือสกริปเปลลา (scrippella) นอกจากนี้ ยังมีขนมวาฟเฟิลโบราณที่เรียกว่าปิซเซลเล (pizzelle) และในบางพื้นที่ของแคว้นตอสคานามีแพนเค้กบางกรอบแบบดั้งเดิมชื่อบริกิดินี (brigidini) ซึ่งทำจากเมล็ดยี่หร่า (aniseed) ในแคว้นเบรอตาญของฝรั่งเศสนั้นมีแพนเค้กชนิดหนึ่งที่เรียกว่ากาเลตต์ (galette) (หรือ กาเลตต์เบรอตอน (galette bretonne)) ซึ่งเป็นแพนเค้กแผ่นใหญ่ทำจากแป้งบักวีต โดยมักจะปรุงสุกเพียงด้านเดียว
เครปนั้นได้รับความนิยมในหลายประเทศในอเมริกาใต้ เช่น อาร์เจนตินา, บราซิล และชิลี โดยมักรับประทานคู่กับไส้หวาน เช่น แยมมาร์มาเลด (marmalade) หรือดุลเซเดเลเช (dulce de leche) และไส้คาว เช่น เนื้อบด (โดยเฉพาะในบราซิล), ผัก, ซอสมะเขือเทศ และชีส
ฟารินาตา (Farinata) เป็นอาหารยอดนิยมในภูมิภาคเมดิเตอร์เรเนียน รวมถึงเมืองนีซ ประเทศฝรั่งเศส โดยมีอีกชื่อเรียกว่าซ็อกคา (socca) เป็นแพนเค้กที่ทำจากแป้งถั่วหัวช้าง (chickpea) ปรุงรสด้วยพริกไทยดำ และมักเป็นอาหารข้างทางยอดนิยมในเมืองนีซ
เยอรมนี
[แก้]
แพนเค้กของเยอรมันนั้นเรียกว่าฟันน์คูเชิน (Pfannkuchen) ซึ่งมาจากคำในภาษาเยอรมันคำว่าฟันเนอ (Pfanne) ที่แปลว่า "กระทะ" และคำว่าคูเชิน (Kuchen) ที่แปลว่า "เค้ก" ยกเว้นในเบอร์ลิน, บรันเดินบวร์ค และแซกโซนี ซึ่งคำว่าฟันน์คูเชินนั้นจะหมายถึงขนมเบอร์ลินเนอร์ ส่วนแพนเค้กจะเรียกว่าไอเออร์คูเชิน (Eierkuchen) แพนเค้กเยอรมันนั้นมักจะมีความหนากว่าเครปแบบฝรั่งเศสและสามารถเสิร์ฟกับไส้หวานหรือในบางครั้งก็เป็นไส้คาว การใช้สารทำให้ขึ้นฟูหรือยีสต์ไม่เป็นที่นิย นอกจากนี้ยังมีแพนเค้กที่เป็นชิ้นแอปเปิลที่หั่นเป็นวงและนำลงทอดและห่อด้วยแป้งแพนเค้กและเสิร์ฟพร้อมน้ำตาลกับอบเชยที่เรียกว่าอัปเฟิลคูชเลอ (Apfelküchle) ส่วนไคเซอร์ชมาร์น (Kaiserschmarrn) เป็นแพนเค้กหนานุ่มที่ผ่านการเคี่ยวไหม้ ซึ่งเป็นนิยมในแคว้นบาวาเรียและอดีตดินแดนของออสเตรีย-ฮังการี โดยมักจะถูกฉีกเป็นชิ้นขนาดเล็กและใส่ผลไม้หรือถั่ว, โรยน้ำตาลไอซิ่ง และเสิร์ฟพร้อมซอสผลไม้
ในพื้นที่สวาเบียนั้นแพนเค้กจะถูกหั่นเป็นชิ้นยาวเหมือนริบบิ้น (แฟลเดิล (Flädle))
บริเตนใหญ่
[แก้]อังกฤษ
[แก้]
แพนเค้กอังกฤษมีส่วนประกอบหลักสามอย่าง ได้แก่แป้งสาลี, ไข่ และนม อย่างไรก็ตาม ในปี 1615 เกอร์เวส มาร์แคม (Gervase Markham) ได้บันทึกสูตรการทำแพนเค้กในหนังสือ ดิอิงลิชฮัสไวฟ์ (The English Huswife) โดยใช้น้ำแทนนมและเติมเครื่องเทศหวาน[42] ตัวแป้งแพนเค้กนั้นมีลักษณะเหลว เมื่อตะแคงกระทะจะไหลเคลือบก้นกระทะเป็นชั้นบาง ระหว่างปรุงอาจเกิดฟองอากาศขนาดเล็กที่ทำให้เกิดจุดสีเข้มบนพื้นผิว แต่แป้งจะไม่ขึ้นฟู แพนเค้กอังกฤษคล้ายกับเครปฝรั่งเศสและเกรสเปลเล (crespelle) ของอิตาลี แพนเค้กของอังกฤษนี้มักจะรับประทานเป็นของหวานโดยเติมน้ำมะนาวและน้ำตาล หรือน้ำเชื่อมสีทอง (golden syrup) หรืออาจห่อไส้คาวเพื่อรับประทานเป็นอาหารจานหลัก ในวันอังคารแห่งการสารภาพบาป (Shrove Tuesday) นั้นมีธรรมเนียมการรับประทานแพนเค้กกับเครื่องเคียงต่าง ๆ นอกจากนี้ยังมียอร์กเชอร์พุดดิง (Yorkshire pudding) ที่ทำจากสูตรที่คล้ายกัน แต่ใช้การอบแทนการทอด ซึ่งทำให้แป้งฟูขึ้นจากอากาศที่ถูกตีเข้าไปในแป้งโดยไม่ต้องใช้ผงฟู ผลลัพธ์ที่ได้คือมักถูกเสิร์ฟเป็นส่วนหนึ่งของมื้ออาหารที่มีเนื้ออบแบบดั้งเดิม นอกจากนี้ยังมีสแตฟฟอร์ดเชอร์โอ๊ตเค้ก (Staffordshire oatcakes) ซึ่งเป็นแพนเค้กแบบคาวที่มีเอกลักษณ์เฉพาะของทางมณฑล
แพนเค้กอีกชนิดหนึ่งที่มีชื่อว่าครัมเป็ต (crumpet) นั้นทำจากแป้งที่หมักด้วยยีสต์ (หรือทั้งยีสต์และผงฟู) แล้วทอดในเนย ซึ่งทำให้ได้แป้งที่มีลักษณะนุ่มฟูเล็กน้อยแต่ยังคงความแบนอยู่ โดยมันเป็นที่นิยมรับประทานในสหราชอาณาจักร, ไอร์แลนด์ และบางพื้นที่ในเครือจักรภพ
สกอตแลนด์
[แก้]
แพนเค้กแบบสกอตแลนด์ (Scotch pancake หรือ Scottish pancake) มีลักษณะคล้ายกับแพนเค้กแบบอเมริกัน ในบางพื้นที่ของสกอตแลนด์นั้นแพนเค้กชนิดนี้ถูกเรียกว่าดรอปสโคน (drop scone) หรือดรอปท์สโคน (dropped scone)[43][44][45] ส่วนผสมประกอบด้วยแป้ง, ไข่, น้ำตาล, บัตเตอร์มิลค์หรือนม, เกลือ, ผงฟู และครีมทาร์ทาร์[43][44][45] โดยมันมีขนาดที่เล็กกว่าแพนเค้กของอเมริกันและอังกฤษ ซึ่งมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางอยู่ที่ประมาณ 9 ซม. (3.5 นิ้ว) วิธีทำแบบดั้งเดิมคือการตักแป้งหยอดลงบนกระทะเหล็กเรียบ (griddle หรือที่เรียกว่า girdle ในนอร์ทัมเบอร์แลนด์ (Northumberland) และในภาษาถิ่นสกอต) มักรับประทานพร้อมแยมและครีม หรือทาเนยเพียงอย่างเดียว โดยทั่วไปในสกอตแลนด์นั้นแพนเค้กประเภทนี้นิยมเสิร์ฟในช่วงน้ำชา
เวลส์
[แก้]แพนเค้กแบบเวลส์นั้นมีชื่อเรียกหลากหลาย เช่นเครมพ็อก (crempog) และโฟรอีส (ffroes) และมีรูปแบบที่หลากหลาย โดยทั่วไปแล้วจะมีเนื้อหนาและซ้อนกันเป็นชั้นคล้ายเค้กจำลอง แต่บางชนิดก็มีลักษณะคล้ายแพนเค้กแบบอเมริกัน ในขณะที่บางสูตรใช้ยีสต์ (เครมพ็อกฟุรุม (crempog furum)) หรือข้าวโอ๊ตเป็นส่วนผสม (ซึ่งเป็นลักษณะที่พบในแพนเค้กอเมริกันเช่นกัน) นอกจากนี้ ยังมีบางชนิดที่คล้ายกับแพนเค้กแบบสกอตแลนด์[46][47] ทั้งนี้ ในบางครั้งครัมเป็ตและพิเคเล็ต (pikelet) ก็ถูกจัดว่าเป็นแพนเค้กประเภทหนึ่งด้วย
กรีซและไซปรัส
[แก้]แพนเค้กแบบกรีกเรียกว่าเตกานิเตส (teganites – τηγανίτες) ซึ่งเป็นแพนเค้กขนาดเล็กที่สามารถเป็นได้ทั้งแบบหวานและคาว ส่วนผสมหลักได้แก่ แป้ง, น้ำมันมะกอกหรือเนย, นม, และไข่ โดยปกติแล้วจะราดด้วยน้ำตาลหรือน้ำผึ้งและอบเชย และบางครั้งอาจมีชีส, ถั่ว, ผลไม้ หรือผักเป็นท็อปปิ้ง ตาเกนิเตสสามารถเสิร์ฟเป็นอาหารเช้าหรือของหวานก็ได้ และในบางพื้นที่ เช่น เกาะคอร์ฟู (Corfu) และเมืองเพทรัส (Patras) นั้นมักจะมีแพนเค้กที่ทำขึ้นเป็นพิเศษในวันฉลองนักบุญสไปรีดอน (Saint Spyridon) และนักบุญแอนดรูว์ (Saint Andrew)
ในไซปรัส แพนเค้กถูกเรียกว่าเตกานิเตสเช่นกัน และถูกนำมาใช้ในเมนูทางเลือกที่เรียกว่าเจโนสคันเนลโลนี (Genoese cannelloni) ซึ่งประกอบด้วยเนื้อบดผสมซอสมะเขือเทศ, ชีส และบางครั้งอาจมีซอสเบชาเมล (bechamel) เพิ่มเข้าไปด้วย
ฮังการี
[แก้]ในฮังการี แพนเค้กจะถูกเรียกว่า พาลาซินตา (palacsinta) ซึ่งมีรากศัพท์มาจากภาษาละตินคำว่า ปลาเชนตา (placenta) ซึ่งทำจากแป้ง, นมหรือน้ำโซดา, น้ำตาล และไข่ ในบางครั้งอาจเติมไวน์หวานลงไปในแป้งด้วย ส่วนไส้ที่นิยมใช้นั้นได้แก่ แยม, วอลนัตหรือเมล็ดป๊อปปี้บดผสมน้ำตาล, คอทเทจชีสผสมน้ำตาล, โกโก้ผสมน้ำตาลหรือผงอบเชย นอกจากนี้ยังมีไส้เนื้อและเห็ดที่ใช้ทำฮอร์โตบายีพาลาซินตา (Hortobágyi palacsinta) แพนเค้กแบบพิเศษที่มีชื่อเสียงอีกชนิดหนึ่งคือ กุนเดลพาลาซินตา (Gundel palacsinta) ซึ่งเป็นแพนเค้กสอดไส้วอลนัต, เปลือกส้ม, ลูกเกด และรัม แล้วจึงราดด้วยซอสช็อกโกแลต โดยในบางครั้งเสิร์ฟแบบฟล็องเบ (flambé) แพนเค้กของฮังการีสามารถเสิร์ฟเป็นอาหารจานหลักหรือของหวานก็ได้
ไอซ์แลนด์
[แก้]
แพนเค้กแบบเครปของไอซ์แลนด์นั้นเรียกว่า เพินนูคากะ (pönnukaka, พหูพจน์: เพินนูเคอคูร์ – pönnukökur) ส่วนแพนเค้กที่หนาและแน่นกว่าและคล้ายกับแพนเค้กแบบอเมริกัน เรียกว่า ลุมมา (lumma) หรือ สโกนซา (skonsa) แพนเค้กของไอซ์แลนด์มักจะมีสีเข้มกว่าของสวีเดนเล็กน้อย เพินนูคากะนั้นมักจะปรุงบนกระทะแพนเค้กแบบพิเศษของไอซ์แลนด์ ซึ่งออกแบบมาให้ทอดแพนเค้กได้บางที่สุด และตามธรรมเนียมแล้วนั้นกระทะชนิดนี้จะไม่ถูกล้างหรือล้างโดยไม่ใช้น้ำเลย แพนเค้กชนิดนี้มักถูกเสิร์ฟเป็นรูปแบบม้วนพร้อมกับน้ำตาล หรือพับพร้อมแยมและวิปครีม แต่หากรับประทานในคาเฟ่ก็อาจใส่ไอศกรีมแทน นอกจากนี้ เพินนูคากะ ยังเป็นของหวานยอดนิยมในอเมริกาเหนือในกลุ่มผู้ที่มีเชื้อสายไอซ์แลนด์อีกด้วย
ในไอซ์แลนด์ แพนเค้กแบบอเมริกันมักถูกตัดครึ่งและใช้แทนขนมปังแซนด์วิช คล้ายกับขนมปังแผ่นแบนของไอซ์แลนด์
ไอร์แลนด์
[แก้]
แพนเค้กในภาษาไอริชนั้นเรียกว่า พันโคกา (Pancóga) มักมีลักษณะที่หนาและมักถูกทำให้คล้ายกับแพนเค้กแบบอเมริกัน[48] โดยเฉพาะแพนเค้กที่ใช้บัตเตอร์มิลค์ซึ่งเป็นที่นิยมมาก นอกจากนี้ ยังมีการรับประทานแพนเค้กแบบดั้งเดิมที่คล้ายกับเครปด้วย โดยทั่วไปนั้นนิยมรับประทานกับนูเทลลา (หรือช็อกโกแลตสเปรดชนิดอื่น), ผลไม้, น้ำเชื่อมเมเปิล หรือเนยกับน้ำตาล
บ็อกซ์ตี (Boxty) คือแพนเค้กมันฝรั่งแบบไอริช ทำจากมันฝรั่งและแป้ง มักรับประทานเป็นส่วนหนึ่งของอาหารเช้าแบบไอริชเต็มรูปแบบ (Full Irish Breakfast) และมักรับประทานแบบไม่ใส่เครื่องเคียง
เนเธอร์แลนด์
[แก้]
ในเนเธอร์แลนด์ แพนเค้กถูกเรียกว่า ปันเนิงกุค (pannenkoek) (พหูพจน์: ปันเนิงกุเคิน – pannenkoeken) ซึ่งมักจะรับประทานในมื้อกลางวันและมื้อเย็น โดยที่ร้านแพนเค้กนั้นเป็นที่นิยมในหมู่ครอบครัวและมีให้เลือกทั้งแบบหวาน, คาว และแบบสอดไส้ต่าง ๆ ปันเนิงกุคมีความหนากว่าเครปเล็กน้อยและมักมีขนาดใหญ่ ประมาณ 30 ซม. (12 นิ้ว) แป้งของปันเนิงกุคทำจากไข่เป็นหลัก และสามารถใส่ไส้ได้หลากหลาย เช่น ชิ้นแอปเปิล, ชีส, แฮม, เบคอน และขิงเชื่อม ซึ่งอาจใช้เป็นไส้แบบเดี่ยวหรือผสมกันก็ได้
สโตรป (Stroop) ซึ่งเป็นน้ำเชื่อมที่มีลักษณะคล้ายกากน้ำตาลและทำจากน้ำตาลหัวบีตก็เป็นที่นิยมเช่นกัน โดยเฉพาะเมื่อนำมาใช้เป็นไส้แบบดั้งเดิมร่วมกับเบคอน
โปฟเฟอร์เจิส (Poffertjes) เป็นขนมปังอบ (ควิกเบรด) แบบดัตช์อีกชนิดหนึ่งที่คล้ายกับแพนเค้กของอเมริกัน แต่มีรสหวานที่มากกว่าและมีขนาดเล็กกว่ามาก พวกมันปรุงขึ้นในกระทะพิเศษที่มีหลุมตื้นที่ทำจากทองแดงหรือเหล็กหล่อ จึงทำให้มันมีรูปร่างที่กลมเล็ก และจะถูกพลิกกลับด้านเพียงแค่ครั้งเดียวด้วยส้อม โปฟเฟอร์เจิสนั้นต่างจากแพนเค้กดัตช์ทั่วไป โดยที่แป้งของมันนั้นมีส่วนผสมของผงฟู จึงทำให้เนื้อภายในมีความนุ่มกว่าแพนเค้กปกติ
สเป็กดิค (Spekdik) เป็นอาหารที่มีลักษณะคล้ายแพนเค้ก ซึ่งเป็นอาหารที่ถูกรับประทานตามธรรมเนียมในจังหวัดโกรนิงเงินและเดรนเทอของเนเธอร์แลนด์ในช่วงเทศกาลปีใหม่ มันแตกต่างจากแพนเค้กทั่วไปตรงที่มันจะถูกอบในเตาวาฟเฟิล โดยส่วนผสมหลัก ได้แก่ น้ำเชื่อม, ไข่ และแป้งข้าวไรย์ นอกจากนี้ในบางสูตรอาจมีเบคอนเป็นส่วนประกอบด้วย
โปแลนด์
[แก้]
ในโปแลนด์ แพนเค้กแบบบางคล้ายเครปนั้นจะถูกเรียกว่า นาเลชนิกิ (naleśniki) ซึ่งมักจะถูกม้วนและเสิร์ฟพร้อมไส้ที่หลากหลายทั้งคาวและหวาน โดยอาจเป็นอาหารจานหลักหรือของหวานก็ย่อมได้ ไส้หวานที่นิยม ได้แก่ ผลไม้สด (เช่น บิลเบอร์รี), แยม (มักเป็นแอปเปิล) และชีสนุ่มผสมกับน้ำตาล ส่วนไส้คาวอาจมีผักทอด, ไก่ทอด, เนื้อบด, ปวยเล้ง และส่วนผสมอื่น ๆ เช่น มันฝรั่ง, เห็ด, กะหล่ำปลี หรือแฮม อีกเมนูหนึ่งของโปแลนด์ที่คล้ายแพนเค้กคือ ราซูคี (racuchy) ซึ่งมีขนาดเล็กกว่าและหนากว่านาเลชนิกิ บางครั้งมีชิ้นแอปเปิลฝานเป็นไส้ภายใน
สเปนและโปรตุเกส
[แก้]
แพนเค้กในคาบสมุทรไอบีเรียนั้นถูกเรียกว่า ฟริซูเอโลส (frixuelos) หรือ ฟิโยอัส (filloas) ซึ่งเป็นที่นิยมอย่างมากในโปรตุเกสและทางตะวันตกเฉียงเหนือของสเปน โดยมันทำจากแป้ง, นม และไข่ มีลักษณะบาง และมักเสิร์ฟพร้อมน้ำตาลหรือน้ำผึ้งจำนวนมาก นอกจากนี้มันยังเป็นของหวานที่นิยมในช่วงเทศกาลคาร์นิวัลในโปรตุเกส, แคว้นกาลิเซีย, อัสตูเรียส และเลออนอีกด้วย
สวีเดนและนอร์เวย์
[แก้]
แพนเค้กในแถบนอร์ดิกนั้นมีลักษณะคล้ายกับเครปแบบฝรั่งเศส ในบางประเทศในแถบนอร์ดิกนั้นนิยมเสิร์ฟพร้อมแยมหรือผลไม้ โดยเฉพาะแยมลิงงอนเบอร์รีหรือแยมสตรอว์เบอร์รีซึ่งเป็นของหวาน หรืออาจมีไส้แบบคาวในหลากหลายรูปแบบเช่นกัน ในสำรับอาหารสวีเดนแบบดั้งเดิมนั้นมีแพนเค้กหลากหลายรูปแบบที่เป็นเอกลักษณ์ นอกจากแพนเค้กแบบบางที่เรียกว่า พันน์คาโกร์ (pannkakor) ซึ่งคล้ายกับเครปแบบฝรั่งเศสที่มักเสิร์ฟพร้อมวิปครีมและแยม โดยแพนเค้กชนิดนี้นิยมรับประทานเป็นมื้อกลางวันในวันพฤหัสบดีพร้อมซุปถั่วลันเตาแล้วนั้นยังมี แพลต์ตาร์ (plättar) ซึ่งเป็นแพนเค้กขนาดเล็กมาก คล้ายกับแพนเค้กขนาดเล็กของอังกฤษ โดยมักถูกทอดในกระทะพิเศษที่เรียกว่า แพลตต์ลักก์ (plättlagg) ซึ่งเป็นกระทะที่มีหลุมขนาดเล็กที่ทำให้สามารถทอดแพนเค้กหลายชิ้น (ปกติ 7 ชิ้น) พร้อมกันได้ นอกจากนี้ยังมี อูกึนสปันน์คากะ (ugnspannkaka) หรือแพนเค้กอบ ซึ่งมีความหนามาก คล้ายกับแพนเค้กของเยอรมัน และอบในเตาอบ นอกจากนี้ยังมีแพนเค้กอีกหนึ่งรูปแบบคือ แฟลสก์พันน์คากะ (fläskpannkaka) ซึ่งเป็นแพนเค้กที่มีหมูทอดผสมอยู่ในเนื้อแป้ง (แพนเค้กเนื้อหมู)
นอกจากนี้ยังมีแพนเค้กมันฝรั่งที่เรียกว่า รักก์มุงค์ (raggmunk) ที่ทำจากมันฝรั่งดิบขูดฝอย และอาจมีผักอื่นผสมอยู่ด้วย (บางครั้งแป้งแพนเค้กจะถูกตัดออกไปและกลายเป็น รอราโกร์ (rårakor)) ทั้งรักก์มุงค์และรอราโกร์มักจะถูกรับประทานคู่กับแคบหมูและแยมลิงงอนเบอร์รี แพนเค้กสวีเดนที่มีความพิเศษอีกชนิดหนึ่งคือแพนเค้กหญ้าฝรั่นจากเกาะก็อตลันด์ ซึ่งทำจากหญ้าฝรั่นและข้าว หลังจากนั้นจึงนำไปอบในเตาอบ มักนิยมเติมน้ำมะนาวลงไปในน้ำตาลเพื่อเพิ่มรสชาติ แพนเค้กชนิดนี้มักรับประทานเป็นของหวานหลังจากซุป แพนเค้กสวีเดนแบบพิเศษอีกชนิดคือ แอ็กกาคากะ (äggakaka) หรือที่รู้จักกันว่า สกอนสก์แอ็กกาคากะ (skånsk äggakaka) หรือ "แพนเค้กไข่ของสกัวเนอ" ซึ่งคล้ายกับแพนเค้กสวีเดนทั่วไปแต่มีความหนามากกว่า ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 4-5 ซม. หรือ 1½ ถึง 2 นิ้ว และทำยากกว่ามากเนื่องจากเสี่ยงต่อการไหม้ แอ็กกาคากะนั้นจะถูกทอดในกระทะและเสิร์ฟพร้อมแยมลิงงอนเบอร์รีและเบคอน ในนอร์เวย์นั้นมีแพนเค้กที่มีลักษณะคล้ายกันซึ่งนิยมรับประทานเป็นมื้อเย็น โดยมักเสิร์ฟพร้อมเบคอน, แยม (มักเป็นแยมบิลเบอร์รี) หรือโรยน้ำตาล
อเมริกาเหนือ
[แก้]คอสตาริกา
[แก้]โชเรียดาส (chorreadas) ของคอสตาริกานั้นมีลักษณะคล้ายกับ คาชาปา (cachapa)
กัวเตมาลา
[แก้]แพนเค้กของกัวเตมาลานั้นเรียกว่า ปันเกเกส (panqueques) ซึ่งทำจากส่วนผสมเดียวกับแพนเค้กแบบอเมริกัน โดยมักมีท็อปปิ้งเป็นผลไม้และน้ำผึ้ง ปันเกเกสถือเป็นอาหารเช้ายอดนิยมในกัวเตมาลา นอกจากนี้มันอาจมีลักษณะที่บางเหมือนเครปหรือนุ่มฟูเหมือนแพนเค้กแบบอเมริกันเหนือก็ย่อมได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับภูมิภาค
เม็กซิโก
[แก้]ฮอตเค้กแบบเม็กซิโกมีลักษณะคล้ายแพนเค้กอเมริกัน ส่วนเครปนั้นเริ่มได้รับความนิยมในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 หลังจากถูกนำเข้ามาโดยชาวฝรั่งเศสระหว่างการแทรกแซงของฝรั่งเศสครั้งแรก (1838) และครั้งที่สอง (1861–1867)[49][50] โดยฮอตเค้กนั้นมักทำจากแป้งข้าวโพดแทนหรือร่วมกับแป้งสาลี เป็นอาหารเช้ายอดนิยมในร้านอาหารทั่วประเทศ และยังมีขายโดยพ่อค้าเร่ในเมืองต่าง ๆ ในงานเฉลิมฉลองของท้องถิ่นตลอดทั้งวัน นอกจากนี้ยังมีขายตามงานเทศกาลดัวยเช่นกัน โดยพ่อค้าจะเสิร์ฟฮอตเค้กชิ้นเดี่ยวและราดซอสต่าง ๆ เช่น นมข้นหวาน, แยมผลไม้ หรือ กาเฆตา (cajeta) ซึ่งเป็นซอสนมแพะหวาน
สหรัฐและแคนาดา
[แก้]แพนเค้กอเมริกันและแคนาดา หรือในบางครั้งเรียกว่า ฮอตเค้ก (hotcake), กริดเดิลเค้ก (griddlecake) หรือ แฟลปแจ็ค (flapjack) มักเสิร์ฟเป็นอาหารเช้าโดยวางซ้อนกันสองหรือสามชิ้น และราดด้วยน้ำเชื่อมเมเปิลหรือน้ำเชื่อมบนโต๊ะพร้อมกับเนย และบ่อยครั้งที่แพนเค้กเหล่านี้ได้ถูกเสิร์ฟคู่กับเบคอน, ขนมปังปิ้ง, ไข่ หรือไส้กรอก นอกจากนี้ยังมีท็อปปิ้งยอดนิยมชนิดอื่น ซึ่งได้แก่ แยม, เนยถั่ว, ถั่ว, ผลไม้, น้ำผึ้ง, น้ำตาลไอซิง, วิปครีม, น้ำเชื่อมอ้อย, อบเชยผสมน้ำตาล และกากน้ำตาล หากเสิร์ฟเป็นของหวาน อาจเพิ่มไอศกรีม, ซอสช็อกโกแลต และผลไม้ชนิดต่าง ๆ เข้าไปด้วย
แป้งแพนเค้กชนิดนี้จะมีลักษณะข้น โดยมีส่วนประกอบหลักได้แก่ ไข่, แป้ง, นม และสารช่วยขึ้นฟู เช่น ผงฟู (baking powder) นอกจากนี้ยังสามารถเพิ่มส่วนผสมอื่น ๆ ลงไปได้ เช่น บัตเตอร์มิลค์, บลูเบอร์รี, สตรอว์เบอร์รี, กล้วย, แอปเปิล, ช็อกโกแลตชิป, ชีส หรือน้ำตาล รวมถึงเครื่องเทศอย่างอบเชย, วานิลลา และลูกจันทน์เทศ โยเกิร์ตอาจถูกใช้เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้เนื้อแพนเค้ก โดยทั่วไปแล้วนั้นแพนเค้กเหล่านี้จะมีความหนาประมาณ 1 ซม. (1/2 นิ้ว) และมีเส้นผ่านศูนย์กลางอยู่ระหว่าง 10 ถึง 25 ซม. (4 ถึง 10 นิ้ว)
แบนน็อก (Bannock) เป็นแพนเค้กชนิดหนึ่งจากสกอตแลนด์ที่ทำจากข้าวโอ๊ต (oatmeal) ส่วนแบนน็อกของชนพื้นเมืองอเมริกันเหนือดั้งเดิมนั้นทำจากแป้งข้าวโพด, แป้งถั่ว (nut meal) และแป้งจากหัวพืช (plant bulb meal) โดยในแต่ละภูมิภาคมีรูปแบบของแป้งและผลไม้ที่แตกต่างกันไป ในปัจจุบัน แบนน็อกมักถูกนำไปทอดแบบน้ำมันท่วม (deep-fried), ทอดในกระทะ หรืออบในเตาอบ[51]
จอห์นนี่เค้ก (Johnnycake หรือ jonnycake, johnny cake, journey cake หรือ Johnny Bread) เป็นขนมปังแบนที่ทำจากแป้งข้าวโพด ซึ่งเคยเป็นอาหารหลักในยุคต้นของอเมริกา และยังคงนิยมรับประทานในแถบเวสต์อินดีสและเบอร์มิวดา[52] จอห์นนี่เค้กสมัยใหม่มักเกี่ยวข้องกับอาหารพื้นเมืองของรัฐโรดไอแลนด์ แต่ยังคงถือเป็นอาหารวัฒนธรรมในหลายพื้นที่ของภาคเหนือของสหรัฐอเมริกา[53] โดยทั่วไปจอห์นนี่เค้กในปัจจุบันคือแป้งข้าวโพดต้มที่นำไปทอด ซึ่งทำจากข้าวโพดสีเหลืองหรือขาวผสมกับเกลือและน้ำร้อนหรือนม และมักเติมรสหวานเล็กน้อย
ยานิเกเกส (Yaniqueques) หรือ ยานิเกเก (Yanikeke) เป็นจอห์นนี่เค้กในแบบสาธารณรัฐโดมินิกัน โดยเป็นขนมปังทอดมากกว่าจะเป็นแพนเค้ก และเป็นอาหารยอดนิยมที่มักรับประทานตามชายหาด[54][55]
แป้งเปรี้ยว (sourdough) เคยเป็นวัตถุดิบหลักที่นักสำรวจแร่และนักบุกเบิกในอดีตนิยมใช้ในการทำแพนเค้กโดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพายีสต์ในเชิงพาณิชย์ โดยนักสำรวจมักพกหม้อแป้งเปรี้ยวไว้ใช้สำหรับทำแพนเค้กและขนมปัง เนื่องจากสามารถเก็บรักษาไว้ได้นานโดยไม่เน่าเสีย และเพียงเติมแป้งกับน้ำก็สามารถฟื้นฟูสภาพการหมักได้[56] แพนเค้กแป้งเปรี้ยวได้กลายเป็นอาหารพิเศษประจำถิ่นในรัฐอะแลสกาในปัจจุบัน[57] และยังสามารถพบได้ในร้านอาหารและร้านแพนเค้กหลายแห่งในสหรัฐอเมริกา
แพนเค้กเหรียญเงินดอลลาร์ (Silver Dollar Pancake) หมายถึงแพนเค้กขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 5–7 เซนติเมตร (2–3 นิ้ว) ซึ่งมีขนาดเล็กกว่าปกติ แต่มีขนาดใหญ่กว่าเหรียญเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ในยุคก่อนปี ค.ศ. 1979 โดยได้ชื่อจากการมีขนาดใกล้เคียงกับเหรียญเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งแพนเค้กลักษณะนี้มักปรุงโดยการตักแป้งแพนเค้กเพียงเล็กน้อยลงทอดในกระทะ หนึ่งหน่วยบริโภคมักประกอบด้วยแพนเค้กเหรียญเงินดอลลาร์ประมาณห้าถึงสิบชิ้น
แพนเค้กแบบเยอรมัน (German Pancake) หรือ แพนเค้กดัตช์เบบี้ (Dutch Baby Pancake) ที่นิยมเสิร์ฟในร้านแพนเค้กของสหรัฐอเมริกามีลักษณะเป็นรูปชามเว้า โดยนิยมรับประทานร่วมกับเลมอนและน้ำตาลไอซิ่ง, แยม หรือแอปเปิลเคลือบน้ำตาล รวมถึงขนมทอดชนิดต่าง ๆ[58] นอกจากนี้ยังมีแพนเค้กแบบเดวิด แอร์ (David Eyre's Pancake) อันเป็นรูปแบบหนึ่งของแพนเค้กเยอรมัน โดยตั้งชื่อตามนักเขียนและบรรณาธิการชาวอเมริกันนามว่า เดวิด ดับเบิลยู. แอร์ (David W. Eyre) ซึ่งมีชีวิตอยู่ระหว่างปี ค.ศ. 1912–2008
เทาตัน (Touton) คือแพนเค้กขนาดเล็กและค่อนข้างหนาแบบดั้งเดิมของนิวฟันด์แลนด์ โดยทั่วไปจะรับประทานคู่กับกากน้ำตาลเข้ม
โอเชียเนีย
[แก้]ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์
[แก้]ในออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ แพนเค้กขนาดเล็ก (ประมาณ 75 มิลลิเมตร หรือ 3 นิ้ว) ที่เรียกว่า ไพค์เล็ต (pikelet) หรือ ดรอปสโคน (drop scone) นั้นเป็นที่นิยมรับประทานเช่นกัน โดยปกติจะเสิร์ฟพร้อมแยม หรือแยมกับวิปครีม หรือเพียงแค่เนยในช่วงน้ำชายามบ่าย แต่ก็สามารถรับประทานในช่วงน้ำชายามเช้าได้เช่นกัน ส่วนผสมประกอบด้วยนม, แป้งสาลีพร้อมขึ้นฟู, ไข่ และบางครั้งอาจเติมน้ำตาลไอซิงเล็กน้อย
ในผู้คนบางกลุ่มในประเทศนิวซีแลนด์ แพนเค้กที่มีความบางมากคล้ายเครปหรือแพนเค้กแบบอังกฤษ (มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 20 เซนติเมตร หรือ 8 นิ้ว) จะถูกเสิร์ฟพร้อมกับเนย, เนยและน้ำมะนาว, น้ำตาล จากนั้นจึงม้วนและรับประทาน
แพนเค้กสไตล์อเมริกันนั้นได้รับความนิยมเช่นกัน โดยมักรับประทานเป็นอาหารเช้าหรือของหวาน ซึ่งเสิร์ฟพร้อมน้ำมะนาวและน้ำตาล, เนยและน้ำเชื่อมเมเปิล, ผลไม้ (บางครั้งเป็นผลไม้ตุ๋น) เช่น สตรอว์เบอร์รีและครีม, ไอศกรีม หรือมาสคาร์โปเน (mascarpone)
อเมริกาใต้
[แก้]บราซิล
[แก้]ทาปิโอกา (Tapioca), เบฌู (beiju) หรือ บีฌู (biju) คือแพนเค้กที่ทำจากแป้งมันสำปะหลัง ซึ่งไม่ใส่สารทำให้ขึ้นฟู มีลักษณะหนากว่าเครปเล็กน้อย และสามารถรับประทานเปล่า ๆ หรือใส่หน้าทั้งแบบหวานและคาวได้ แป้งมันสำปะหลังต้องถูกทำให้ชื้นและกรองผ่านตะแกรงเพื่อให้ได้แป้งหยาบ จากนั้นเมื่อนำไปลงบนกระทะหรือแผ่นเหล็กร้อนที่ไม่ทาน้ำมัน เม็ดแป้งจะหลอมรวมกันเป็นแผ่นแบนที่มีลักษณะคล้ายแพนเค้กหยาบ ท็อปปิ้งยอดนิยมได้แก่ เนยละลายและมะพร้าวขูดแห้ง
แพนเค้กแบบบราซิลที่เรียกว่า ปังเกกา (panqueca) นั้นโดยทั่วไปทำจากนมวัวและแป้งสาลีขัดขาว มักรับประทานแบบม้วนคู่กับไส้คาว (แม้จะมีไส้หวานบ้างในบางครั้ง) สำหรับผู้ที่แพ้กลูเตนสามารถใช้แป้งข้าวโพดแทนได้[59] ไส้ยอดนิยมได้แก่ อกไก่ฉีกปรุงรสกับซอสมะเขือเทศ และเนื้อวัวบดปรุงรสด้วยหัวหอมผัด หรือกระเทียมบดโรยเกลือผัด (เรโฟกาโด (refogado)) และมักมีพริกหยวกที่หั่นเป็นลูกบาศก์กับซอสมะเขือเทศด้วย ทั้งสองชนิดมักโรยหน้าด้วยชีสพาร์เมซาน สูตรมังสวิรัติก็มีเช่นกัน โดยใช้โปรตีนถั่วเหลือง (การ์เนเดโซฌา (carne de soja)) ซึ่งเป็นที่นิยม ปังเกกาแบบคาวมักรับประทานเป็นอาหารกลางวันหรืออาหารเย็น โดยมีข้าวขาวและสลัดเป็นเครื่องเคียง และบางครั้งเสิร์ฟคู่กับพืชตระกูลถั่ว (โดยเฉพาะถั่วที่เป็นเอกลักษณ์ของอาหารบราซิล)
แพนเค้กแบบบราซิลแบบหนึ่งที่แปลกตาคือ บลินี (blini) ทำจากส่วนผสมของกะทิ (เลทีดีโกโก - leite de coco) และ ปูบา (puba) ซึ่งเป็นแป้งที่ได้จากมันสำปะหลังหมัก โดยนิยมมากในบริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของบราซิล แต่พบเจอได้น้อยในภูมิภาคอื่น ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้จะมีความเหลว, รสจัด และให้ความรู้สึกอิ่มกว่าแป้งมันสำปะหลังไม่ผ่านการหมัก แพนเค้กชนิดนี้แตกง่ายหากต้องการม้วน ดังนั้นต้องใช้ความระมัดระวัง ท็อปปิ้งทั่วไปได้แก่ เนยละลาย หรือไส้แพนเค้กคาวแบบทั่วไป นอกจากนี้ยัวมีสูตรที่สร้างสรรค์เพิ่มเติมด้วย เช่น ลาซานญาเทียม[60]
โคลอมเบียและเวเนซูเอลา
[แก้]คาชาปาคือแพนเค้กที่ทำจากข้าวโพด ซึ่งได้รับความนิยมในอาหารเวเนซูเอลา
ในโคลอมเบียนั้นมีการเตรียมสำรับอาหารที่คล้ายกับคาชาปา ซึ่งถูกเรียกว่า "อาเรปาดีโชโกล" (arepa de choclo) แปลว่าอาเรปาข้าวโพดหวาน (sweetcorn arepa)
อาร์เจนตินาและอุรุกวัย
[แก้]ในประเทศอาร์เจนตินาและอุรุกวัย แพนเค้กถูกเรียกว่า ปังเกเกส และโดยทั่วไปมักเป็นเมนูหวาน โดยมีไส้เช่นดุลเซเดเลเช (dulce de leche) หรือวิปครีมและสตรอว์เบอร์รี สำหรับเมนูคาวนั้นแพนเค้กจะถูกนำมาใช้ทำคานเนลโลนี (cannelloni)
เครือข่ายร้านอาหาร
[แก้]
ในสหรัฐอเมริกา, เม็กซิโก และแคนาดา ร้านอาหารแฟรนไชส์อินเตอร์เนชันแนลเฮาส์ออฟแพนเค้กส์ หรือไอฮอป (International House of Pancakes (IHOP)) ให้บริการเสิร์ฟแพนเค้กตลอดทั้งวัน ดิออริจินอลแพนเค้กเฮาส์ (The Original Pancake House) เป็นอีกหนึ่งเครือข่ายร้านแพนเค้กที่มีสาขาทั่วสหรัฐอเมริกา และวอล์คเกอร์บราเธอร์ส (Walker Brothers) ซึ่งเป็นกลุ่มร้านแพนเค้กในเขตชิคาโกที่พัฒนาขึ้นในฐานะแฟรนไชส์สปินออฟจากดิออริจินอลแพนเค้กเฮาส์
ความนิยมในแพนเค้กในออสเตรเลียนั้นได้นำไปสู่การก่อตั้งร้านอาหารแฟรนไชส์แพนเค้กพาร์เลอร์ (Pancake Parlour) และแพนเค้กส์ออนเดอะร็อกส์ (Pancakes on the Rocks) ในรัฐบริติชโคลัมเบียและแอลเบอร์ตาในประเทศแคนาดานั้นมีเครือข่ายร้านอาหารดีดัทช์ (De Dutch) ซึ่งให้บริการแพนเค้กสไตล์ดัตช์และเฟลมิชที่เรียกว่าปันเนิงกุค
กลุ่มอาการ
[แก้]กลุ่มอาการแพนเค้ก (Pancake syndrome) คืออาการแพ้ที่บางคนได้ประสบเจอหลังจากการรับประทานแพนเค้กในพื้นที่เขตร้อน ซึ่งแป้งที่ใช้ทำแพนเค้กอาจปนเปื้อนไรบางชนิดที่พบในภูมิภาคดังกล่าว[61]
วันสำคัญ
[แก้]แพนเค้กถูกรับประทานกันตามประเพณีในวันอังคารสารภาพบาป (Shrove Tuesday) ซึ่งเรียกกันว่า "วันแพนเค้ก" (Pancake Day) ในประเทศแคนาดา,[62] สหราชอาณาจักร,[63] ไอร์แลนด์,[64] นิวซีแลนด์ และออสเตรเลีย[65] และถูกเรียกว่า "วันอังคารแพนเค้ก" (Pancake Tuesday) ในไอร์แลนด์และสกอตแลนด์ (ในสหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส และประเทศอื่น ๆ วันอังคารสารภาพบาปนั้นเป็นที่รู้จักกันมากกว่าในชื่อมาร์ดิกรา หรือวันอังคารอ้วน - Mardi Gras หรือ Fat Tuesday) โดยตามประวัติศาสตร์แล้วนั้น แพนเค้กจะถูกทำขึ้นในวันอังคารสารภาพบาปเพื่อนำไขมันหรือมันหมูที่เหลืออยู่มาใช้ให้หมดก่อนเข้าสู่เทศกาลมหาพรต ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ไม่ควรบริโภคผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์

ในวันแพนเค้กจะมีการจัดกิจกรรมการกุศลและกิจกรรมของโรงเรียน เช่น การแข่งขันวิ่งแพนเค้ก (pancake race) โดยผู้เข้าแข่งขันแต่ละคนจะต้องถือแพนเค้กในกระทะทอดขณะวิ่ง และต้องโยนแพนเค้กขึ้นไปในอากาศแล้วจับกลับมาในกระทะระหว่างวิ่งด้วย กิจกรรมนี้กล่าวกันว่ามีต้นกำเนิดที่เมืองโอลนีย์ (Olney) ประเทศอังกฤษ ในปี ค.ศ. 1445 เมื่อแม่บ้านคนหนึ่งกำลังยุ่งอยู่กับการทอดแพนเค้กเพื่อรับประทานก่อนเข้าสู่เทศกาลมหาพรต (Lent) แต่แล้วได้ยินเสียงระฆังของโบสถ์เซนต์ปีเตอร์และเซนต์พอล เรียกให้ไปเข้าพิธีสารภาพบาป และด้วยความรีบร้อนเธอจึงวิ่งออกจากบ้านโดยยังถือกระทะพร้อมแพนเค้กอยู่ในมือ และคอยโยนแพนเค้กขึ้นเพื่อไม่ให้แพนเค้กนั้นไหม้เกรียม พร้อมทั้งสวมผ้ากันเปื้อนและผ้าคลุมศีรษะ[66][67] นับตั้งแต่ปี 1950 เป็นต้นมา ในทุกวันอังคารสารภาพบาปที่เมืองโอลนีย์[68] และเมืองลิเบอรัลในรัฐแคนซัสในสหรัฐอเมริกา ได้มีการจัดงานแข่งขันกันในชื่องานว่า "การแข่งขันวิ่งแพนเค้กนานาชาติ" (International Pancake Race) โดยผู้เข้าแข่งขันต้องเป็นผู้หญิงในท้องถิ่นเท่านั้น ซึ่งจะใช้วิธีการเปรียบเทียบเวลาเข้าเส้นชัยเพื่อหาผู้ชนะระดับนานาชาติ ทว่าในเมืองโอลนีย์นั้นนอกจากการแข่งขันหลักสำหรับผู้หญิงแล้ว ยังมีการแข่งขันสำหรับเด็กนักเรียนท้องถิ่นและผู้ชายด้วย
การแข่งขันแพนเค้กรัฐสภาแห่งสหราชอาณาจักร (Rehab UK Parliamentary Pancake Race) จัดขึ้นในทุกวันอังคารสารภาพบาป โดยมีทีมจากสภาสามัญชน (House of Commons), สภาขุนนาง (House of Lords) และฐานันดรที่สี่ (Fourth Estate) เข้าแข่งขันเพื่อชิงตำแหน่งแชมป์การแข่งขันแพนเค้กรัฐสภา การแข่งขันวิ่งผลัดที่สนุกสนานนี้จัดขึ้นเพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับงานขององค์กรการกุศลด้านการบาดเจ็บทางสมองแห่งชาติที่เรียกว่ารีแฮบยูเค (Rehab UK) และความต้องการของผู้ที่มีภาวะบาดเจ็บทางสมองที่เกิดขึ้นภายหลัง[69][70]
ระเบียงภาพ
[แก้]-
แพนเค้กแบบอเมริกาเหนือ (สหรัฐและแคนาดา) บางทีก็มาพร้อมกล้วยชิ้นเล็ก
-
แพนเค้กแบบชาวสก็อต พร้อมกับครัมเป็ต (แป้งแผ่นกลมจืด) ผลไม้
-
เครป (Crêpe) หรือแพนเค้กแบบฝรั่งเศส ที่ถูกกางออก
-
พาลาทชินเกน (Palatschinken) ที่ยัดไส้ช็อกโกแลต ครีมตีฟู (whipped cream) และแยม หรือถั่ว
-
แพนเค้กหนาของชาวหมู่เกาะโอลันด์
-
แพนเค้กของชาวโปแลนด์ ยัดไส้ด้วยมะเขือเทศ หอมหัวใหญ่ และเนยแข็งที่มาจากแพะ
ดูเพิ่มเติม
[แก้]- รายชื่ออาหารเช้า
- รายชื่ออาหารประเภทควิกเบรด
- ศิลปะแพนเค้ก
- อาหารเช้าแพนเค้ก
- กิสติบิ
- โรตีจาลา
- ซาร์วาปินดี
- วาฟเฟิล
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Jones, Martin (2007). Feast : why humans share food. Oxford: Oxford University Press. ISBN 9780199209019. OCLC 75713258.
- ↑ Nelson, Libby (2015-11-29). "British desserts, explained for Americans confused by the Great British Baking Show". Vox (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
- ↑ "Henry George Liddell, Robert Scott, A Greek-English Lexicon, τα^γην-ίτης". www.perseus.tufts.edu.
- ↑ "Henry George Liddell, Robert Scott, A Greek-English Lexicon, τα^γην-ίας". www.perseus.tufts.edu.
- ↑ "Henry George Liddell, Robert Scott, A Greek-English Lexicon, τάγηνον". www.perseus.tufts.edu.
- ↑ Cratinus, 125, Comicorum Atticorum Fragmenta
- ↑ Magnes, 1
- ↑ Eugenia Salza Prina Ricotti, Meals and recipes from ancient Greece, J. Paul Getty Museum, 2007, p. 111
- ↑ Dalby, Andrew (1996) Siren feasts: a history of food and gastronomy in Greece, Routledge, p. 91
- ↑ Spiller, Gene A. (1991) The Mediterranean diets in health and disease, AVI/Van Nostrand Reinhold, 1991, p. 34
- ↑ "Henry George Liddell, Robert Scott, A Greek-English Lexicon, σταίτ-ι^νος". www.perseus.tufts.edu.
- ↑ "Henry George Liddell, Robert Scott, A Greek-English Lexicon, σταῖς". www.perseus.tufts.edu.
- ↑ "Athenaeus, The Deipnosophists, casaubonpage 646b". www.perseus.tufts.edu.
- ↑ Andrew Dalby, Food in the ancient world from A to Z, Routledge, p. 71
- ↑ Athenaeus and Olson, S. Douglas (2011) The Learned Banqueters, Volume VII: Books 13.594b-14, Loeb Classical Library, pp. 277-278
- ↑ "Definition of PANCAKE". www.merriam-webster.com (ภาษาอังกฤษ). 2025-01-25.
- ↑ "p | Search Online Etymology Dictionary". www.etymonline.com.
- ↑ "The Food Timeline--history notes: muffins to yogurt". www.foodtimeline.org.
- ↑ Abdullahi, Mohamed Diriye (2001), Culture and Customs of Somalia, Greenwood Press, p. 113.
- ↑ [https://archive.today/20110928085026/http://www.yobserver.com/news-varieties/printer-1002499.html "Little Business Women Small enterprises supporting Yemen�s poorest families"]. web.archive.org. 2011-09-28. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-09-28. สืบค้นเมื่อ 2025-02-03.
{{cite web}}
: replacement character ใน|title=
ที่ตำแหน่ง 57 (help)CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์) - ↑ "Landbou.com". web.archive.org. 2008-02-21. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-02-21. สืบค้นเมื่อ 2025-02-04.
- ↑ Liu, Junru (2011). Chinese Food (3rd ed.). Cambridge University Press. p. 12. ISBN 978-0521186742.
- ↑ 23.0 23.1 "Pan-Fried Chinese Pancakes". Allrecipes (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ Green, Jade Simon, translated by Stephanie (2018-05-04). "These Japanese fluffy pancakes are the ultimate new food trend". Vogue France (ภาษาฝรั่งเศส).
- ↑ "Get your fill of fluffy wobbly Japanese souffle pancakes at these new eateries". The Straits Times (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2025-02-04.
- ↑ Star, Diane Peters Special to the (2018-05-24). "Fuwa Fuwa: Japanese pancakes find their happy place". Toronto Star (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ Morley, Katie (2018-02-12). "Forget flipping - wobbly pancakes are the latest food trend". The Telegraph (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). ISSN 0307-1235. สืบค้นเมื่อ 2025-02-04.
- ↑ "Korean pancake recipes by Maangchi" (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
- ↑ Prashanta (2014-03-15). "Chatamari". The Nepali Food Blog | theGundruk.com (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). สืบค้นเมื่อ 2025-02-05.
- ↑ "Mass tourism swamps Asia's once unique, remote places - USATODAY.com". www.usatoday.com. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-11-29. สืบค้นเมื่อ 2025-02-08.
- ↑ "Serabi - Indonesian Pancakes - Aussie Taste Recipes". web.archive.org. 2020-08-06. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-08-06. สืบค้นเมื่อ 2025-02-08.
{{cite web}}
: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์) - ↑ Zaifah, Ida Ku. "Malay Pancake (Lempeng Kelapa) Recipe - Food.com". www.food.com (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2025-02-09.
- ↑ "ဘိန္းမုန္႔ | Food Magazine Myanmar". web.archive.org. 2020-08-06. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-08-06. สืบค้นเมื่อ 2025-02-09.
- ↑ UY, Text and photos by AMY A. (2013-09-01). "Rice cakes, roscas, and more eats at the Samar Food Fest". GMA News Online (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2025-02-10.
- ↑ Edgie Polistico (2017). Philippine Food, Cooking, & Dining Dictionary. Anvil Publishing, Incorporated. ISBN 9786214200870.
- ↑ BeeTrip.net. "What Is Vietnamese Pancake? | Vietnamese Food | Beetrip". BeeTrip.net (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). สืบค้นเมื่อ 2025-02-10.
- ↑ Marks, Gil (2010). Encyclopedia of Jewish Food. Wiley. pp. 56–58. ISBN 9780470391303. Retrieved 18 April 2012.
- ↑ "НАЛЕСНИКИ в кулинарном словаре". www.langet.ru. สืบค้นเมื่อ 2025-02-18.
- ↑ 39.0 39.1 "Åländska flaggan i topp - självstyrelsedagen firas med pannkaka och konsert". Svenska Yle (ภาษาสวีเดน). 2017-06-09. สืบค้นเมื่อ 2025-02-18.
- ↑ "Nokkosletut". Martat (ภาษาฟินแลนด์). 2019-11-19. สืบค้นเมื่อ 2025-02-18.
- ↑ Baraka, Josefiina (2019-04-05). "Martat maistelivat ja arvioivat einespinaattilettuja – tuoteselosteita tutkiessa löytyi pieni yllätys". Ilta-Sanomat (ภาษาฟินแลนด์). สืบค้นเมื่อ 2025-02-18.
- ↑ "Gervase Markham". web.archive.org. 2016-02-16. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-02-16. สืบค้นเมื่อ 2025-02-25.
- ↑ 43.0 43.1 Maw Broon (2007). Maw Broon's Cookbook. Waverley Books; (18 October 2007) ISBN 1-902407-45-8, p131
- ↑ 44.0 44.1 S.W.R.I. (1977). S.W.R.I. Jubilee Cookery Book. Edinburgh: Scottish Women's Rural Institutes; Reprint of 8th Edition (1968), p117
- ↑ 45.0 45.1 McNeill, F. Marian (1929). The Scots Kitchen. Paperback: 259 pages, Edinburgh: Mercat Press; New Ed edition (25 October 2004) ISBN 1-84183-070-4, p179
- ↑ Freeman, Bobby (2006) First catch your peacock: her classic guide to Welsh food, Y Lolfa; New edition, ISBN 978-0-86243-315-4 pp. 195–196
- ↑ Tibbit, Sara Minwell (1991) Baking in Wales, National Museums and Galleries of Wales, ISBN 978-0-7200-0346-8 p. 13
- ↑ "IRISH PANCAKES". The Kitchy Kitchen (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 2019-09-26. สืบค้นเมื่อ 2025-03-07.
- ↑ Fernández-del-Villar, Miguel Angel and Ruiz-Naufal, Víctor M., Mesa Mexicana (1993), Fundación Cultural Bancomer, ISBN 9789686084948
- ↑ "The French Influence On Mexican Cooking: La Comida Afrancescada : Mexico Cuisine". web.archive.org. 2015-07-03. สืบค้นเมื่อ 2025-04-20.
- ↑ "Southern Interior Forest Region". web.archive.org. 2008-12-01. สืบค้นเมื่อ 2025-04-20.
- ↑ Porter, Darwin; Prince, Danforth (2009-08-24). Frommer's Bermuda 2010 (ภาษาอังกฤษ). Wiley. ISBN 978-0-470-54345-0.
- ↑ Smith, Peter W. (2003-02-01). New England Country Store Cookbook (ภาษาอังกฤษ). iUniverse. ISBN 978-0-595-25396-8.
- ↑ "Antojos criollos - Hoy Digital". web.archive.org. 2010-03-01. สืบค้นเมื่อ 2025-04-21.
- ↑ "DR1 - Daily News Thursday, 11 December 2008". web.archive.org. 2018-10-01. สืบค้นเมื่อ 2025-04-21.
- ↑ Ridgwell, Jenny (2000). Finding out about food (Repr ed.). Oxford: Oxford University Press. ISBN 978-0-19-832716-5.
- ↑ DuFresne, Jim; Aaron Sprizter Alaska Lonely Planet Publications; 6th Revised edition (1 April 2006) ISBN 978-1-74059-991-7 p.40
- ↑ "Rezept für »German Pancake«: Der »deutsche Pfannkuchen«, den in Deutschland niemand kennt - DER SPIEGEL". web.archive.org. 2023-03-01. สืบค้นเมื่อ 2025-04-21.
- ↑ "Panqueca – Receita básica sem glúten – Especial Dia Internacional dos Celíacos | Blog Aqui na Cozinha |". web.archive.org. 2015-01-07. สืบค้นเมื่อ 2025-04-22.
- ↑ "Lasanha de Panqueca de Puba Com Carne Seca | Aqui na Cozinha". web.archive.org. 2015-04-04. สืบค้นเมื่อ 2025-04-27.
- ↑ Sánchez-Borges, Mario; Suárez-Chacon, Raúl; Capriles-Hulett, Arnaldo; Caballero-Fonseca, Fernan; Iraola, Victor; Fernández-Caldas, Enrique (2009-05). "Pancake syndrome (oral mite anaphylaxis)". The World Allergy Organization Journal. 2 (5): 91–96. doi:10.1186/1939-4551-2-5-91. ISSN 1939-4551. PMC 3651046. PMID 23283016.
{{cite journal}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|date=
(help) - ↑ "The Presbyterian Church in Canada". Archived from the original (PDF) on 5 March 2011
- ↑ "Pancake Day (Shrove Tuesday) in the UK". www.britainusa.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-06-22. สืบค้นเมื่อ 2025-04-27.
- ↑ "Shrove Tuesday - Pancake Day - World Cultures European". web.archive.org. 2006-12-09. สืบค้นเมื่อ 2025-04-27.
- ↑ "Easter in Australia - Australia's Culture and Recreation Portal". web.archive.org. 2007-03-18. สืบค้นเมื่อ 2025-04-27.
- ↑ "BBC - Religions - Christianity: Lent". web.archive.org. 2017-12-10. สืบค้นเมื่อ 2025-04-27.
- ↑ "Olney Pancake Race". web.archive.org. 2015-07-29. สืบค้นเมื่อ 2025-04-27.
- ↑ "Pancake Race 2007 - OLNEY100". web.archive.org. 2010-02-06. สืบค้นเมื่อ 2025-04-27.
- ↑ "BBC NEWS | Politics | Peers batter MPs in pancake race". web.archive.org. 2009-02-27. สืบค้นเมื่อ 2025-04-27.
- ↑ "BBC News - Lords win Westminster's Parliamentary pancake race". web.archive.org. 2011-03-09. สืบค้นเมื่อ 2025-04-27.