ข้ามไปเนื้อหา

พระยาฤทธิอัคเนย์ (สละ เอมะศิริ)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระยาฤทธิอัคเนย์
(สละ เอมะศิริ)
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตราธิการ
ดำรงตำแหน่ง
12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2479 – 9 สิงหาคม พ.ศ. 2480
นายกรัฐมนตรีพระยาพหลพลพยุหเสนา
ก่อนหน้าพระสารสาสน์ประพันธ์
ถัดไปพระยาพหลพลพยุหเสนา
ดำรงตำแหน่ง
21 ธันวาคม พ.ศ. 2480 – 16 ธันวาคม พ.ศ. 2481
นายกรัฐมนตรีพระยาพหลพลพยุหเสนา
ก่อนหน้าพระยาพหลพลพยุหเสนา
ถัดไปพระเวชยันต์รังสฤษฎ์
รัฐมนตรี
ดำรงตำแหน่ง
10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 – 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476
นายกรัฐมนตรีพระยามโนปกรณนิติธาดา
กรรมการราษฎร
ดำรงตำแหน่ง
28 มิถุนายน – 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475
ประธานพระยามโนปกรณนิติธาดา
สมาชิกวุฒิสภา
ดำรงตำแหน่ง
18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 – 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2494
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด14 มกราคม พ.ศ. 2432
เมืองพระนคร ประเทศสยาม
เสียชีวิต23 ธันวาคม พ.ศ. 2509 (77 ปี)
จังหวัดพระนคร ประเทศไทย
บุตร7 คน
บุพการี

พันเอก พระยาฤทธิอัคเนย์ สมาชิกคณะราษฎร 1 ใน "4 ทหารเสือ" คือ ทหารบกชั้นผู้ใหญ่ เป็นระดับผู้บังคับบัญชาและคุมกำลังพล

ประวัติ

[แก้]

พระยาฤทธิอัคเนย์ มีชื่อเดิมว่า สละ เอมะศิริ เกิดเมื่อวันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2432 เป็นบุตรชายของพระยามนูสารศาสตรบัญชา (ศิริ เอมะศิริ) และคุณหญิง เหลือบ เอมะศิริ เป็นนายทหารปืนใหญ่ ในช่วงการเปลี่ยนแปลงการปกครอง มีตำแหน่งเป็น ผู้บังคับการกรมทหารปืนใหญ่ที่ 1 รักษาพระองค์ (ป. 1 รอ.) และถือเป็นผู้เดียวที่มีกองกำลังพลในบังคับบัญชา [1] ในเช้าตรู่ของวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ที่เป็นวันเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้น พระยาฤทธิอัคเนย์ได้แสร้งทำเป็นเดินตรวจความเรียบร้อยของพาหนะต่าง ๆ ในสังกัดของตนเอง และเป็นผู้ออกคำสั่งให้ทหารปืนใหญ่ในบังคับบัญชาตนเองรวมพลกับทหารม้าจากกรมทหารม้าที่ 1 รักษาพระองค์ (ม. 1 รอ.) เมื่อเดินทางมาถึง เพื่อต้อนขึ้นรถบรรทุกไปยังลานพระบรมรูปทรงม้าเพื่อลวงเอากำลังมาเปลี่ยนแปลงการปกครอง ตามแผนของพระยาทรงสุรเดช จึงทำให้แผนการปฏิวัติสำเร็จลุล่วงด้วยดี

การทำงาน

[แก้]

ก่อนหน้านั้น ในการประชุมวางแผน พระยาทรงสุรเดช ซึ่งเป็นเสนาธิการผู้วางแผนการปฏิวัติทั้งหมด ได้เสนอให้ใช้กำลังบุกจู่โจมพระที่นั่งอัมพรสถานในยามวิกาล อันเป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) เพื่อทำการควบคุมพระองค์ พระยาฤทธิ์อัคเนย์เห็นด้วยกับแผนการนี้ แต่ที่ประชุมส่วนใหญ่ นำโดย พระประศาสน์พิทยายุทธ ไม่เห็นด้วย เพราะเห็นว่าค่อนข้างเสี่ยงว่าจะมีการปะทะกันด้วยความรุนแรง แผนการนี้จึงตกไป และตัวของพระยาฤทธิ์อัคเนย์เกือบจะถอนตัวไป เนื่องจากเห็นว่าคงกระทำการไม่สำเร็จ[2]

หลังจากนั้นแล้ว พระยาฤทธิอัคเนย์ ได้ถูกแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการราษฎร ซึ่งถือได้ว่าเป็นคณะรัฐมนตรีคณะแรกของประเทศไทย โดยมี พระยามโนปกรณ์นิติธาดา เป็นนายกรัฐมนตรี

ในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 ได้เกิดเหตุการณ์พระยามโนปกรณ์นิติธาดาสั่งปิดรัฐสภา และงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา พระยาทรงสุรเดช 1 ใน 4 ทหารเสือที่มีบทบาทสูงสุดในการปฏิวัติ มีความขัดแย้งกับคณะราษฎรฝ่ายทหารคนอื่น ๆ จึงชักชวนให้พระยาฤทธิอัคเนย์ และพระประศาสน์พิทยายุทธ ลาออกจากตำแหน่ง ซึ่งความขัดแย้งนี้ ต่อมาได้เป็นปฐมเหตุของการรัฐประหารในวันที่ 20 มิถุนายน ปีเดียวกัน[3]

ในรัฐบาลที่มี พระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นนายกรัฐมนตรี พระยาฤทธิอัคเนย์ ได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตราธิการ ถึง 2 สมัยพร้อมกันนี้ยังได้รับแต่งตั้งเป็น ข้าหลวงใหญ่เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2477[4]

ต่อมาเมื่อ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในปี พ.ศ. 2482 เกิดกรณีกบฏพระยาทรงสุรเดช ได้มีการกำจัดนักการเมืองและทหารฝ่ายที่อยู่ตรงข้าม จอมพล ป. พระยาฤทธิอัคเนย์ ได้ถูกแต่งตั้งให้เป็นกรรมการในคณะศาลพิเศษที่ถูกตั้งขึ้นมาพิจารณาในกรณีนี้ และได้ถูกแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมราชทัณฑ์ด้วย แต่ต่อมา ก็ต้องลี้ภัยการเมืองไปพำนักอยู่ยังเมืองปีนัง ประเทศมาเลเซีย ด้วย ร้อยเอก ชลอ เอมะศิริ หลานชายของตนเองเป็นผู้ถูกจับกุมด้วย ตัวของพระยาฤทธิอัคเนย์มีรางวัลนำจับจากทางรัฐบาลเป็นจำนวนเงิน 10,000 บาท ซึ่งพระยาฤทธิอัคเนย์ก็ได้หลบภัยการเมืองจนสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2

เมื่อ นายควง อภัยวงศ์ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีต่อจากจอมพล ป. หลังสงคราม นายควงได้ออกพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมนักโทษการเมือง เมื่อปี พ.ศ. 2489 พระยาฤทธิอัคเนย์จึงได้เดินทางกลับสู่ประเทศไทย และยังได้รับแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) แทนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 ที่ถูกยกเลิกไปอีกด้วย ในสมัยรัฐบาลที่มี พลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี

ยศ บรรดาศักดิ์ และตำแหน่ง

[แก้]
  • 28 เมษายน พ.ศ. 2458 - ร้อยเอก[5]
  • – รักษาราชการแทนผู้บังคับการกรมทหารปืนใหญ่ที่ 6
  • ตุลาคม พ.ศ. 2462 - ผู้บังคับการกรมทหารปืนใหญ่ที่ 5[6]
  • 10 มีนาคม พ.ศ. 2464 - ผู้บังคับการกรมทหารปืนใหญ่ที่ 10[7]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

[แก้]

ถึงแก่อสัญกรรม

[แก้]

ในบั้นปลายชีวิตได้ปลีกตัวไปปฏิบัติธรรม ศึกษาพุทธศาสนา ที่วัดบางปิ้ง จังหวัดสมุทรปราการ โดยไม่ยุ่งเกี่ยวกับเรื่องราวทางโลกและการเมืองใด ๆ อีก จนกระทั่งถึงแก่อนิจกรรมด้วยโรคมะเร็งปอด เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2509 เวลา 02.55 น. ณ โรงพยาบาลศิริราช สิริอายุได้ 77 ปี

ด้านชีวิตครอบครัว พระยาฤทธิอัคเนย์สมรสกับคุณหญิง อิน ฤทธิอัคเนย์ เมื่อ พ.ศ. 2455 มีบุตรธิดารวมทั้งสิ้น 7 คน

พิธีพระราชทานเพลิงศพพระยาฤทธิอัคเนย์ มีขึ้น ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2510[11]

ลำดับสาแหรก

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. "นักเรียนนายร้อยไทยในเยอรมัน ยุค ไกเซอร์ โดย สรศัลย์ แพ่งสภา". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-08-08. สืบค้นเมื่อ 2012-06-26.
  2. นายหนหวย. ทหารเรือปฏิวัติ. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน, พฤศจิกายน 2555 (พิมพ์ครั้งที่ 3). 124 หน้า. ISBN 9789740210252
  3. จากรัฐประหาร20มิถุนายน2476สู่ความร้าวฉานในคณะราษฎร จากโลกวันนี้
  4. ประกาศ ตั้งข้าหลวงใหญ่
  5. พระราชทานยศนายทหารบก (หน้า ๒๗๗)
  6. แจ้งความกระทรวงกลาโหม เรื่อง เลื่อนย้ายนายทหารรับราชการ
  7. แจ้งความกระทรวงกลาโหม เรื่องย้ายนายทหารรับราชการ
  8. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2011-11-10 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๕๔ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๒๒๑๓, ๑๓ ธันวาคม ๒๔๘๐
  9. ราชกิจจานุเบกษา, ส่งเครื่องราชอิสริยาภรณ์ไปพระราชทาน, เล่ม ๓๙ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๓๖๐๒, ๑๘ มีนาคม ๒๔๖๕
  10. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๔๑ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๓๔๖๗, ๑ มกราคม ๒๔๖๗
  11. หนังสือ อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พันเอก พระยาฤทธิอัคเนย์ ป.ม. ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส 25 พฤษภาคม 2510