พระยามนูสารศาสตรบัญชา (ศิริ เอมะศิริ)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระยามนูสารศาสตรบัญชา
เกิด4 สิงหาคม พ.ศ. 2389
เสียชีวิต18 กันยายน พ.ศ. 2459
ผลงานโคลงภาพเรื่องรามเกียรติ์
โคลงภาพพระราชพงศาวดาร
ยุทธกรรม ในโคลงยอเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์
คู่สมรสคุณหญิงเหลือบ มนูสารศาสตรบัญชา
บุตรพันเอก พระยาฤทธิอัคเนย์ (สละ เอมะศิริ)
บิดามารดา
  • หลวงพลาอาศรัย (อิ่ม อมาตยกุล) (บิดา)
  • เอี่ยม (มารดา)

อำมาตย์เอก[1] พระยามนูสารศาสตรบัญชา (ศิริ เอมะศิริ) (4 สิงหาคม พ.ศ. 2389–18 กันยายน พ.ศ. 2459) ขุนนางชาวสยามผู้รับราชการใน กรมวัง และ กระทรวงยุติธรรม ช่วงกลาง รัชกาลที่ 5 ถึงกลางรัชกาลที่ 6 เป็น ผู้พิพากษาศาลต่างประเทศ เป็นต้นตระกูลเอมะศิริ[2] และเป็นบิดาของ พันเอก พระยาฤทธิอัคเนย์ (สละ เอมะศิริ) หนึ่งในสี่ทหารเสือของคณะราษฎร ผู้เปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อวันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475

ประวัติ[แก้]

พระยามนูสารศาสตรบัญชา เกิดเมื่อประมาณ พ.ศ. 2389/90 มีนามเดิมว่า ศิริ เป็นบุตรชายของ หลวงพลาอาศรัย (อิ่ม อมาตยกุล) กับภรรยาชื่อเอี่ยม และเป็นหลานปู่ของหลวงพิพิธสมบัติ (เอม อมาตยกุล) โดยตั้งนามสกุลใหม่เป็น เอมะศิริ ด้วยนำชื่อตนเองและปู่มาผูกเป็นสกุลใหม่[3]

เริ่มต้นเข้ารับราชการในตำแหน่ง นายสนองราชบรรหาร มหาดเล็กหุ้มแพร นายยามเวรสิทธิ์ ต่อมาจึงได้เลื่อนบรรดาศักดิ์ขึ้นเป็น นายเสถียรรักษา ปลัดวังซ้าย ต่อมาในวันจันทร์ แรม 14 ค่ำ เดือน 8 อุตราสาธ ปีชวด สัมฤทธิศก พ.ศ. 2431 ได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น จมื่นจงภักดีองค์ขวา กรมพระตำรวจวังขวา ถือศักดินา ๘๐๐ [4] จากนั้นในวันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2434 จึงได้รับพระราชทานสัญญาบัตรบรรดาศักดิ์เป็น พระยาอนุรักษ์ราชมณเฑียร กรมพระตำรวจวัง ถือศักดินา ๑๐๐๐ [5]

ในวันที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2436 พระยาอนุรักษ์ราชมณเฑียร ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรบรรดาศักดิ์เป็น พระยามนูสารศาสตรบัญชา ถือศักดินา ๓๐๐๐[6] ด้านชีวิตครอบครัวสมรสกับ คุณหญิงเหลือบ มีบุตรชายคือ พันเอก พระยาฤทธิอัคเนย์ หนึ่งในสี่ทหารเสือของ คณะราษฎร

พระยามนูสารศาสตรบัญชาถึงแก่กรรมด้วย โรคโบราณกรรม เมื่อวันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2459[7] โดยพระราชทานเพลิงศพเมื่อวันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2460 ที่ วัดพระยาทำ ธนบุรี พระราชทานผ้าไตร ๑ ไตร ผ้าขาว ๔ พับ เงิน ๒๐๐๐ สตางค์[8]

ยศ[แก้]

  • 7 สิงหาคม พ.ศ. 2454 - อำมาตย์เอก
  • 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2455 - นายหมู่ตรี[9]

ผลงานการประพันธ์[แก้]

  • โคลงภาพเรื่องรามเกียรติ์ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
    • ห้องที่ 17 รวมโคลง 28 บท เนื้อความตั้งแต่เมืองอยุธยาเตรียมงานถวายพระเพลิงท้าวทศรถจนเสร็จงานถวายพระเพลิง
    • ห้องที่ 28 - 29 รวมโคลง 56 บท เนื้อความตั้งแต่หนุมานรบกับฤทธิกันจนถึงพระรามเล่าเรื่องการยกศรในเมืองมิถิลาให้หนุมานฟัง
  • โคลงภาพพระราชพงศาวดาร
    • โคลงประกอบรูปที่ 42 แผ่นดินสมเด็จพระศรีสุธรรมราชา ภาพพระนารายณ์ยกเข้าไปตีพระราชวัง
    • โคลงประกอบรูปที่ 77 แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ภาพตีเมืองตานีได้ปืนใหญ่
  • ยุทธกรรม ในโคลงยอพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมสมเด็จพระบำราบปรปักษ์

เครื่องราชอิสริยาภรณ์[แก้]

ลำดับสาแหรก[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. ประกาศพระบรมราชโองการ ประกาศพระราชทานยศ แก่ข้าราชการกระทรวงยุติธรรม
  2. ประกาศกระทรวงมุรธาธร เรื่อง ประกาศพระราชทานนามสกุล ครั้งที่ ๕ (หน้า ๑๒๓๙ ลำดับที่ ๓๑๐)
  3. ประวัติบรรพบุรุษ และสกุลวงศ์อมาตยกุล. พระนคร : รุ่งเรืองรัตน์, 2507, หน้า 19
  4. พระราชทานสัญญาบัตรข้าราชการ
  5. พระราชทานสัญญาบัตร
  6. พระราชทานสัญญาบัตร
  7. ข่าวตาย
  8. พระราชทานเพลิงศพ (หน้า ๒๙๔)
  9. พระราชทานสัญญาบัตรเสือป่า (หน้า ๙๐๓)
  10. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2022-08-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๓๑ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๒๓๙๕, ๑๐ มกราคม ๒๔๕๗
  11. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2022-04-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๒๙ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๓๔๒๑, ๒๒ มกราคม ๑๓๑
  12. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเหรียญจักรพรรดิมาลา, เล่ม ๒๐ ตอนที่ ๒๗ หน้า ๔๔๕, ๔ ตุลาคม ๑๒๒
  13. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ ๔ เก็บถาวร 2016-03-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๒๑ ตอนที่ ๓๒ หน้า ๕๖๘, ๖ พฤศจิกายน ๑๒๓

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]